คำสอนของประธานศาสนจักร
ชีวิตและการปฏิบัติศาสนกิจของกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์


ชีวิตและการปฏิบัติศาสนกิจของกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์

วันที่ 16 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1998 วิสุทธิชนยุคสุดท้ายประมาณ 6,700 คนมาชุมนุมกันที่อินดิเพนเดนซ์สแควร์ในเมืองอักกรา ประเทศกานา พวกเขามาต้อนรับประธานกอร์ดอน บี.ฮิงค์ลีย์ศาสดาพยากรณ์ของพวกเขา1 ท่านยืนต่อหน้าพวกเขา มีรอยยิ้มบนใบหน้า และประกาศข่าวที่รอคอยมานานว่าจะสร้างพระวิหารในบ้านเกิดเมืองนอนของพวกเขา เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองกล่าวว่าเมื่อประธานฮิงค์ลีย์ประกาศเรื่องนี้ ผู้คน “ยืนเปล่งเสียงไชโย หลั่งน้ำตา เต้นระบำ จับมือกัน และร้องไห้”2 หลายปีต่อมา หลังจากสร้างและอุทิศพระวิหารแล้ว สตรีผู้หนึ่งที่อยู่ในวันนั้นจำความรู้สึกปีติได้และบอกว่าพระวิหารเป็นพรแก่เธออย่างไร

“ดิฉันยังคงมีภาพชัดเจนในความคิดเมื่อครั้งประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์มาเยือนกานาและประกาศสร้างพระวิหารในแผ่นดินเกิดของเรา ความตื่นเต้นทางสีหน้าของทุกคน ความสุข เสียงโห่ร้องยินดียังคงชัดเจนในความคิดของดิฉัน …

“วันนี้ เพราะพระวิหารในแผ่นดินของเรา ดิฉันจึงแต่งงานและรับการผนึกกับสามีเพื่อกาลเวลาและชั่วนิจนิรันดร พรของการอยู่กับครอบครัวหลังความเป็นมรรตัยให้ความหวังอันยิ่งใหญ่ขณะที่ดิฉันพยายามทำสุดความสามารถเพื่อจะได้อยู่กับครอบครัวชั่วนิรันดร์”3

ประธานฮิงค์ลีย์ช่วยให้คนทั่วโลกพบ “ความหวังอันยิ่งใหญ่” นี้ในการพยายามดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ เหตุการณ์ในกานาแสดงให้เห็นว่าท่านมักจะปฎิบัติศาสนกิจต่อคนหลายพันคนในเวลาเดียวกัน ท่านเอื้อมไปหาพวกเขาทีละคนเช่นกัน เอ็ลเดอร์แอดนีย์ วาย. โคมัตสุแห่งสาวกเจ็ดสิบพูดถึงความรู้สึกของเขาสมัยเป็นประธานคณะเผยแผ่เมื่อประธานฮิงค์ลีย์ไปเยี่ยมคณะเผยแผ่ของเขาว่า

“ท่านไม่เคยวิจารณ์ข้าพเจ้าแม้แต่ครั้งเดียวในช่วงสามปีของข้าพเจ้า ทั้งที่ข้าพเจ้ามีความอ่อนแอสารพัด … และนั่นทำให้ข้าพเจ้ามีกำลังใจ … ทุกครั้งที่ท่านลงจากเครื่องบินท่านจะจับมือข้าพเจ้าเหมือนท่านกำลังสูบน้ำออกจากบ่อด้วยความกระตือรือร้นมาก ‘ประธานโคมัตสุครับ คุณเป็นอย่างไรบ้าง … คุณทำงานได้ดีมากครับ’ ท่านให้กำลังใจข้าพเจ้าเช่นนั้น … และเมื่อท่านจากไปท่านทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกว่าข้าพเจ้าควรให้ 105 เปอร์เซ็นต์ ไม่ใช่แค่ 100 เปอร์เซ็นต์”4

ผู้คนรู้สึกได้รับกำลังใจจากประธานฮิงค์ลีย์ไม่เพียงเพราะคำพูดที่สร้างแรงบันดาลใจของท่านเท่านั้นแต่เพราะวิธีที่ท่านดำเนินชีวิตด้วย ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองเล่าว่า

“ขณะ [ประธานและซิสเตอร์ฮิงค์ลีย์] ออกจากโบสถ์ไปสนามบินในอเมริกากลาง รถที่ท่านนั่งประสบอุบัติเหตุ ซิสเตอร์เนลสันกับข้าพเจ้าเดินทางตามหลังพวกท่านและเห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รถบรรทุก [ที่] ขนท่อนเหล็กมาเต็มคันรถแต่ไม่ผูกให้ดีวิ่งเข้าหาพวกท่านตรงทางแยก เพื่อไม่ให้ชนประสานงา คนขับรถบรรทุกจึงหยุดรถทันที ส่งผลให้ท่อนเหล็กเหล่านั้นพุ่งใส่รถของฮิงค์ลีย์เหมือนหอกซัด กระจกหน้าต่างแตก บังโคลนรถกับประตูเป็นรอยบุบ อาจเป็นอุบัติเหตุที่รุนแรงมาก ขณะเอาเศษกระจกที่แตกละเอียดออกจากเสื้อผ้าและเนื้อตัวของพวกท่าน ประธานฮิงค์ลีย์พูดว่า ‘ขอบพระทัยพระเจ้าสำหรับพรของพระองค์ ตอนนี้เราไปขึ้นรถอีกคันเพื่อเดินทางต่อกันเถอะ’”5

ข้อความนี้ที่พูดขึ้นมาทันทีในช่วงวิกฤติแสดงให้เห็นถึงชีวิตและการปฏิบัติศาสนกิจของประธานฮิงค์ลีย์ในฐานะสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์ เอ็ลเดอร์ฮอลแลนด์ตั้งข้อสังเกตว่า ท่าน “เปี่ยมด้วยศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้าและในอนาคตเสมอ”6

ภาพ
กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์

มรดกครอบครัว-รากฐานของศรัทธาและความวิริยะอุตสาหะ

กอร์ดอน บิทเนอร์ ฮิงค์ลีย์เกิดเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน ค.ศ. 1910 ท่านเป็นลูกคนแรกของมารดาท่าน แต่พี่ๆ แปดคนยินดีต้อนรับท่านเข้ามาในครอบครัว ไบร์อันท์ สตริงแฮม ฮิงค์ลีย์ บิดาของกอร์ดอนแต่งงานกับเอดา บิทเนอร์ หลังจากคริสตีนภรรยาคนแรกของเขาสิ้นชีวิต เอดากับไบรอันท์มีลูกอีกสี่คนต่อจากกอร์ดอนพวกเขาเลี้ยงดูครอบครัวใหญ่ด้วยความรัก-โดยไม่มีการแบ่งลูกเขาและลูกเรา กอร์ดอนเรียนรู้คุณค่าของครอบครัวตั้งแต่ท่านอายุยังน้อยมาก

นามสกุลและชื่อกลางของกอร์ดอนเป็นเครื่องเตือนใจให้นึกถึงมรดกอันสูงค่าของท่าน บรรพชนฮิงค์ลีย์รวมไปถึงนักแสวงบุญยุคแรกในแผ่นดินที่จะกลายเป็นสหรัฐอเมริกา บางคนถูกเนรเทศไปแผ่นดินนั้นในทศวรรษ 1600 เพราะความเชื่อในคริสต์ศาสนาของพวกเขา หลายคนเคยเป็นผู้โดยสารในปี ค.ศ. 1620 บนเรือ Mayflower หนึ่งในเรือชุดแรกที่ขนผู้อพยพจากยุโรปไปอเมริกาเหนือ กว่าสองศตวรรษต่อมา ไอรา นาธาเนียล ฮิงค์ลีย์คุณปู่ของกอร์ดอนเป็นผู้บุกเบิกวิสุทธิชนยุคสุดท้ายรุ่นแรกๆ คนหนึ่ง ในปี 1843 ไอราเด็กกำพร้าวัย 14 ปีเข้าร่วมศาสนจักรในเมืองนอวู รัฐอิลลินอยส์หลังจากได้ยินโจเซฟกับไฮรัม สมิธสั่งสอน แอนนา บาร์ มัสเซอร์ บิทเนอร์ สตาร์คุณยายทวดของกอร์-ดอนเป็นผู้บุกเบิกเช่นกัน ต่อมาเบรเนแมน บาร์ บิทเนอร์บุตรชายของเธอ ซึ่งเป็นคุณตาของกอร์ดอนพูดถึงการเดินทางไปหุบเขาซอลท์เลคในปี 1849 ว่า “ผม [อายุ 11 ขวบ] ขับรถเทียมวัวสองตัวที่บรรทุกของหนักฝ่าร้อนหนาวข้ามทะเลทราย แม่น้ำ และเทือกเขามาหุบเขาแห่งนี้”7

ไบรอันท์ ฮิงค์ลีย์มักจะเตือนลูกหลานของเขาให้นึกถึงมรดกอันล้ำค่าของตน เมื่อพูดถึงการเดินทางที่เต็มไปด้วยภยันตรายของนักแสวงบุญบนเรือ Mayflower และฤดูหนาวที่หนาวเหน็บยาวนานเมื่อพวกเขามาถึงจุดหมาย เขากล่าวดังนี้ “เมื่อ Mayflower พร้อมจะกลับในฤดูใบไม้ผลิ มีเพียง 49 คน [จาก 102 คน] รอดชีวิต ไม่มีใครกลับ [ไปอังกฤษ] ความตั้งใจเช่นนี้เกิดมาพร้อมสหายอย่างพวกท่าน—ความตั้งใจว่าจะไม่มีวันหวนกลับ”8 เมื่อกอร์ดอนยึดมั่นหลักธรรมนี้ ท่านได้มีโอกาสเรียนรู้ รับใช้ และเป็นพยานอย่างที่ท่านไม่นึกไม่ฝันมาก่อน

วัยเด็ก—เรียนรู้การเป็นคนมองโลกในแง่ดี ขยันหมั่นเพียร และเปี่ยมด้วยศรัทธา

สมัยเด็ก กอร์ดอน ฮิงค์ลีย์ไม่ใช่คนแข็งแรงมีกำลังวังชาอย่างที่รู้ในระยะหลัง ท่านเป็น “เด็กผอมสูงอ่อนแอ” ขี้โรค9 เมื่อกอร์ดอนวัยสองขวบ “ติดโรคไอกรนขั้นรุนแรง … แพทย์บอกอดาว่าวิธีรักษามีอยู่วิธีเดียวคืออากาศปลอดโปร่งแบบชนบท ไบรอันทำตามโดยซื้อฟาร์มห้าเอเคอร์ … และสร้างบ้านฤดูร้อนหลังเล็ก”10 ฟาร์มดังกล่าวตั้งอยู่ในเขตหุบเขาซอลท์เลคเรียกว่าอีสต์มิลล์ครีก เป็นพรแก่ทุกคนในครอบครัว ทำให้เด็กๆ มีที่วิ่งเล่นและเรียนรู้บทเรียนอันล้ำค่าขณะพวกเขาทำงานด้วยกัน

เอดากับไบรอันท์ ฮิงค์ลีย์เป็นพ่อแม่ที่ขยันขันแข็งและมองโลกในแง่ดีผู้สร้างโอกาสให้ลูกๆ ได้เติบโตและประสบความสำเร็จ พวกท่านจัดสังสรรค์ในครอบครัวทันทีที่แนะนำโปรแกรมนี้ในปี 1915 พวกท่านเล่านิทานก่อนนอนซึ่งบ่อยครั้งมาจากพระคัมภีร์ พวกท่านจัดห้องหนึ่งในบ้านเป็นห้องสมุดให้ลูกๆ ได้อ่านหนังสือดีๆ พวกท่านสร้างวินัยให้ลูกๆ โดยให้กำลังใจและคาดหวังให้พวกเขาทำให้ดีที่สุด

ขณะที่กอร์ดอนเติบใหญ่ ศรัทธาของท่านเพิ่มขึ้นเพราะอิทธิพลของศรัทธาที่บิดามารดามีมาไม่ขาดสาย วันหนึ่ง ท่านมีประสบการณ์ที่ช่วยก่อรากฐานของประจักษ์พยานที่ท่านมีเกี่ยวกับศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ

“เมื่อข้าพเจ้าเป็นเด็กอายุสิบสองขวบ คณพ่อพาข้าพเจ้าไปการประชุมของฐานะปุโรหิตในสเตคที่เราอยู่ ข้าพเจ้านั่งแถวหลังขณะท่านนั่งบนยกพื้นในฐานะประธานสเตค ขณะเปิดการประชุมที่ข้าพเจ้าเคยเข้าร่วมแบบนั้นครั้งแรก ชายสามถึงสี่ร้อยคนลุกขึ้นยืน พวกเขาเป็นชายที่มีพื้นเพต่างกันและอาชีพหลากหลาย แต่ทุกคนมีความเชื่อมั่นในใจแบบเดียวกัน และพร้อมใจกันร้องเพลงที่มีเนื้อร้องดีมากดังนี้

สรรเสริญบุรุษผู้ติดต่อพระเยโฮวาห์

พระเยซูเจิมศาสดาพยากรณ์

รับพรได้เปิดสมัยการประทานสุดท้าย

กษัตริย์ถวายเกียรติท่านชนชาติวันทา

“มีบางอย่างเกิดขึ้นในใจข้าพเจ้าขณะฟังบุรุษผู้มีศรัทธาเหล่านี้ร้องเพลง พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงใส่ความรู้เข้ามาในใจวัยเด็กของข้าพเจ้าว่าโจเซฟ สมิธเป็นศาสดาพยากรณ์ของพระผู้ทรงฤทธานุภาพอย่างแท้จริง”11

ภาพ
เด็กหนุ่มกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์

กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์สมัยเป็นเยาวชนชาย

การศึกษาต่อเนื่องและช่วงเวลาที่ยากลำบาก

ในวัยเด็กของกอร์ดอน ท่านไม่ชอบไปโรงเรียน แต่ชอบอยู่นอกบ้านมากกว่าอยู่ในผนังห้องเรียนและโต๊ะเรียน แต่เมื่อท่านเป็นผู้ใหญ่ ท่านเริ่มเห็นคุณค่าของหนังสือ โรงเรียน และห้องสมุดที่บ้านมากเท่าๆ กับท้องทุ่งที่ท่านเคยวิ่งเท้าเปล่าสมัยเด็ก ท่านเรียนจบมัธยมปลายในปี 1928 และเริ่มศึกษาที่มหาวิทยาลัยแห่งยูทาห์ปีเดียวกัน

สี่ปีที่มหาวิทยาลัยมีปัญหาท้าทายที่แทบจะรับไม่ไหว คริสต์ศักราช 1929 ตลาดหุ้นสหรัฐล่ม และเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ทั่วประเทศและทั่วโลก จำนวนคนว่างงานมีประมาณ 35 เปอร์เซ็นต์ในซอลท์เลคซิตี้ แต่กอร์ดอนโชคดีได้งานเป็นเจ้าหน้าที่ซ่อมบำรุงมีเงินมาจ่ายค่าเล่าเรียนและอุปกรณ์การเรียน ไบรอันท์ซึ่งทำงานเป็นผู้จัดการที่เดเซเร็ทยิมของศาสนจักรลดเงินเดือนของท่านเพื่อลูกจ้างคนอื่นๆ จะยังทำงานของพวกเขาได้12

ที่สาหัสกว่าภาวะกดดันด้านการเงินคือการค้นพบว่าคุณแม่ของกอร์ดอนเป็นมะเร็ง เธอสิ้นชีวิตในปี 1930 เมื่ออายุ 50 ปี ขณะกอร์ดอนอายุ 20 ปี บาดแผลที่มากับการสิ้นชีวิตของมารดา “ลึกและเจ็บปวด” กอร์ดอนกล่าว13 การทดลองส่วนตัวครั้งนี้ ผสมผสานกับอิทธิพลของปรัชญาทางโลกและการเยาะเย้ยถากถางในสมัยนั้นทำให้ท่านเกิดคำถามที่ตอบยาก “นั่นเป็นเวลาของความท้อแท้อย่างยิ่ง” กอร์ดอนเล่า “และความรู้สึกนั้นแรงกล้ามากที่โรงเรียน ตัวข้าพเจ้ารู้สึกท้อบ้าง ข้าพเจ้าเริ่มตั้งคำถามบางอย่าง รวมทั้งเรื่องศรัทธาของคุณพ่อคุณแม่ข้าพเจ้าในระดับหนึ่งด้วย นั่นไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัย แต่บรรยากาศเวลานั้นสาหัสนัก”14

ความสงสัยที่เกิดขึ้นแม้จะรบกวนจิตใจแต่ไม่ได้ทำให้กอร์ดอนหวั่นไหวในศรัทธา “ข้าพเจ้ามีรากฐานของความรักที่มาจากบิดามารดาผู้ประเสริฐและครอบครัวที่ดี อธิการที่ยอดเยี่ยม ครูที่เปี่ยมด้วยศรัทธาและทุ่มเท มีพระคัมภีร์ให้อ่านและไตร่ตรอง” ท่านหวนคิด เมื่อพูดถึงความท้าทายในเวลานั้นสำหรับท่านและคนวัยเดียวกัน ท่านกล่าวว่า “แม้เราไม่เข้าใจหลายเรื่องในวัยเยาว์ แต่ในใจเรามีความรักต่อพระผู้เป็นเจ้าและงานอันสำคัญยิ่งของพระองค์ที่พาเราให้อยู่เหนือความสงสัยและความกลัว เรารักพระเจ้า เรารักเพื่อนๆ ที่ดีและน่าเคารพนับถือ เราดึงพลังมากมายมาจากความรักเช่นนั้น”15

การรับใช้เป็นผู้สอนศาสนาและการเปลี่ยนใจเลื่อมใส

กอร์ดอนสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแห่งยูทาห์ในเดือนมิถุนายน ปี 1932 โดยเรียนภาษาอังกฤษเป็นวิชาเอกและภาษาโบราณเป็นวิชาโท ปีต่อมาท่านพบตนเองอยู่ตรงทางแยก ท่านตั้งใจว่าจะศึกษาต่อเพื่อเป็นนักหนังสือพิมพ์ แม้จะอยู่ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ แต่ท่านเก็บเล็กผสมน้อยจนมีเงินออมมากพอจะช่วยเรื่องการศึกษาของท่าน ท่านกำลังคิดเรื่องแต่งงานเช่นกัน ท่านกับมาร์จอรี เพย์ หญิงสาวที่อยู่ถนนฝั่งตรงข้ามชอบพอกันมากขึ้น

ต่อจากนั้น ก่อนวันคล้ายวันเกิดปีที่ 23 ของท่าน กอร์ดอนพบกับจอห์น ซี. ดันแคนอธิการของท่าน เขาถามว่าท่านเคยคิดเรื่องรับใช้งานเผยแผ่หรือไม่ นี่เป็น “คำแนะนำที่น่าตกใจ” สำหรับกอร์ดอน16 เพราะมีชายหนุ่มไม่กี่คนได้รับเรียกให้เป็นผู้สอนศาสนาในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เพียงเพราะว่าครอบครัวไม่มีเงินสนับสนุนพวกเขา

กอร์ดอนบอกอธิการดันแคนว่าท่านจะรับใช้ แต่เป็นห่วงว่าครอบครัวท่านจะบริหารการเงินอย่างไร ความกังวลของท่านเพิ่มขึ้นเมื่อทราบว่าธนาคารที่มีบัญชีออมทรัพย์ของท่านล้ม “กระนั้นก็ตาม” ท่านกล่าว “ข้าพเจ้ายังจำที่คุณพ่อพูดได้ ‘เราจะทำสุดความสามารถเพื่อให้แน่ใจว่าลูกมีสิ่งที่ลูกจำเป็นต้องใช้’ และท่านกับพี่ชายข้าพเจ้ารับปากว่าจะดูแลข้าพเจ้าจนจบงานเผยแผ่ เวลานั้นเองที่เราค้นพบเงินออมเล็กๆ น้อยๆ ที่คุณแม่ทิ้งไว้—เงินทอนที่เก็บจากการซื้อของชำและของอื่น ๆ ด้วยความช่วยเหลือเพิ่มอีกนิดหน่อย ปรากฏว่าข้าพเจ้าสามารถไปเป็นผู้สอนศาสนาได้ ท่านถือว่าเงินเหรียญของคุณแม่เป็นเงินศักดิ์สิทธิ์ “ข้าพเจ้าพิทักษ์เงินเหล่านั้นด้วยเกียรติของข้าพเจ้า” ท่านกล่าว17 ท่านได้รับเรียกให้รับใช้ในคณะเผยแผ่ยูโรเปียน

โดยรู้สึกว่าบุตรชายยังรู้สึกกังวลใจ ไบรอันท์ ฮิงค์ลีย์จึงเตรียมบางอย่างเพื่อเตือนสติเขาให้นึกถึงแหล่งพลังที่แท้จริง “เมื่อข้าพเจ้าไปเป็นผู้สอนศาสนา” กอร์ดอนกล่าวในเวลาต่อมา “คุณพ่อที่แสนดียื่นการ์ดใบหนึ่งซึ่งมีข้อความเขียนไว้ในนั้นให้ข้าพเจ้า ‘อย่าวิตกเลย จงเชื่อเท่านั้น’ (มาระโก 5:36)”18 ข้อความนั้นสร้างแรงบันดาลใจให้เอ็ลเดอร์กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์รับใช้งานเผยแผ่อย่างซื่อสัตย์และสมเกียรติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผนวกกับข้อความจากปากกาของบิดาท่านในอีกหลายสัปดาห์ต่อมา

ข้อความนั้นมาถึงท่านขณะที่ท่านเกิดความท้อใจแสนสาหัส ซึ่งเริ่มเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน ค.ศ. 1933 วันแรกของเอ็ลเดอร์ฮิงค์ลีย์ในเมืองเพรสตัน ประเทศอังกฤษ เมื่อมาถึงอพาร์ตเมนต์ คู่ของท่านบอกว่าพวกท่านจะพูดที่จัตุรัสกลางเมืองเย็นนั้น “คุณชวนผิดคนแล้ว” เอ็ลเดอร์ฮิงค์ลีย์ตอบ แต่สุดท้ายก็พบตนเองกำลังร้องเพลงและพูดบนยกพื้นในอีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมา เผชิญหน้ากับกลุ่มผู้ฟังที่ไม่ให้ความร่วมมือ19

เอ็ลเดอร์ฮิงค์ลีย์ค้นพบว่าคนจำนวนมากไม่เต็มใจฟังข่าวสารของพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟู ความยากจนอันเกิดจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกดูเหมือนจะแทงทะลุจิตวิญญาณของคนที่ท่านพบเจอบนท้องถนน และท่านไม่มีเหตุให้ต้องเข้าไปสนิทชิดเชื้อกับพวกเขา นอกจากนี้ท่านยังรู้สึกไม่สบายกายด้วย ท่านจำได้ว่า “ในอังกฤษหญ้าส่งละอองเกสรและกลายเป็นเมล็ดปลายเดือนมิถุนายนและต้นเดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็นเวลาที่ข้าพเจ้ามาถึงพอดี”20 นี่ทำให้อาการภูมิแพ้ของข้าพเจ้ากำเริบ ซึ่งทำให้ทุกอย่างแย่ลง ท่านคิดถึงครอบครัวของท่าน ท่านคิดถึงมาร์จอรี ท่านคิดถึงความคุ้นเคยกับประเทศของท่าน งานทำให้ท้อแท้ ท่านกับเพื่อนผู้สอนศาสนามีโอกาสสอนผู้สนใจน้อยมาก แต่ก็สอนและพูดในสาขาเล็กๆ ทุกวันอาทิตย์

ความรู้สึกว่าท่านกำลังเสียเวลาและทำให้ครอบครัวเสียเงินโดยใช่เหตุ เอ็ลเดอร์ฮิงค์ลีย์จึงเขียนจดหมายถึงบิดาอธิบายสถานการณ์ที่ท่านไม่มีความสุขให้ฟัง ไบรอัน ฮิงค์ลีย์ตอบโดยให้คำแนะนำที่บุตรชายทำตามชั่วชีวิต “กอร์ดอนลูกรัก” เขาเขียน “พ่อได้รับจดหมายฉบับล่าสุดของลูกแล้ว พ่อมีคำแนะนำอย่างเดียว” และคำแนะนำนั้นได้เพิ่มน้ำหนักให้กับข้อความที่ท่านเขียนไว้ก่อนหน้านี้ “ลืมตนเองและไปทำงาน”21 คำแนะนำดังกล่าวสะท้อนพระคัมภีร์ข้อหนึ่งที่เอ็ลเดอร์ฮิงค์ลีย์อ่านกับคู่ในช่วงเช้าวันนั้น “เพราะว่าใครต้องการจะเอาชีวิตรอด คนนั้นจะเสียชีวิต แต่ใครยอมเสียชีวิตเพราะเห็นแก่เราและข่าวประเสริฐ คนนั้นจะได้ชีวิตรอด” (มาระโก 8:35)

เอ็ลเดอร์ฮิงค์ลีย์วัยหนุ่มถือจดหมายของบิดา ท่านคุกเข่าและปฏิญาณว่าท่านจะถวายตนแด่พระเจ้า ผลเกิดขึ้นแทบจะทันที “ทั้งโลกเปลี่ยนไป” ท่านกล่าว “หมอกหายไป ดวงตะวันเริ่มส่องแสงในชีวิตข้าพเจ้า ข้าพเจ้ามีความสนใจใหม่ ข้าพเจ้าเห็นความสวยงามของแผ่นดินนี้ ข้าพเจ้าเห็นความยิ่งใหญ่ของผู้คน ข้าพเจ้าเริ่มรู้สึกเหมือนอยู่บ้านในดินแดนอันแสนวิเศษนี้”22

ภาพ
เอ็ลเดอร์กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์

เอ็ลเดอร์กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์สมัยเป็นผู้สอนศาสนาเต็มเวลากำลังสั่งสอนในไฮด์พาร์คของลอนดอน

เมื่อนึกถึงวันเวลาเหล่านั้น กอร์ดอนอธิบายว่าท่านได้รับความช่วยเหลือจากมารดาท่านเช่นกัน ท่านรู้สึกเหมือนเธออยู่ปลอบโยนท่านโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาท้อแท้และมืดมน “ต่อจากนั้นและนับแต่นั้นข้าพเจ้าพยายามดำเนินชีวิตและปฎิบัติหน้าที่เพื่อนำเกียรติยศชื่อเสียงมาให้คุณแม่” ท่านกล่าว “ความคิดที่ว่าจะดำเนินชีวิตต่ำกว่าความคาดหวังของมารดาข้าพเจ้านั้นช่างแสนเจ็บปวดและต้องใช้วินัยที่ข้าพเจ้าอาจจะยังขาดอยู่”23

ท่านกลายเป็นผู้สอนศาสนาที่มีจุดประสงค์และความกระตือรือร้น บันทึกจากงานเผยแผ่ของท่านช่วงแปดเดือนแรกแสดงให้เห็นว่าถึงแม้ท่านไม่ได้ให้บัพติศมาใครเลย แต่ท่านแจกจุลสาร 8,785 ฉบับ ใช้เวลากับสมาชิกมากกว่า 440 ชั่วโมง เข้าร่วมการประชุม 191 แห่ง มีการสนทนาพระกิตติคุณ 220 ครั้งและยืนยันหนึ่งคน24

ในเดือนมีนาคม ปี 1934 เอ็ลเดอร์ฮิงค์ลีย์ถูกย้ายจากเพรสตันไปลอนดอนเพื่อทำงานเป็นผู้ช่วยของเอ็ลเดอร์โจเซฟ เอฟ. เมอร์ริลล์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองผู้เป็นประธานดูแลคณะเผยแผ่บริติชและยูโรเปียน25 ท่านใช้ช่วงงานเผยแผ่ที่เหลือทำงานในสำนักงานช่วงกลางวันและสอนพระกิตติคุณในช่วงเย็น บัพติศมาผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสมีไม่มาก แต่ในใจบุตรชายของไบรอันกับเอดา ฮิงค์ลีย์นั้น ประกายของการเปลี่ยนใจเลื่อมใสกลายเป็นเปลวเพลิงที่ไม่รู้ดับ

โอกาสใหม่ให้รับใช้พระเจ้า

เมื่อกอร์ดอนกลับจากงานเผยแผ่ ท่านกล่าวว่า “ข้าพเจ้าไม่อยากเดินทางอีกเลย ข้าพเจ้าได้เดินทางไกลเท่าที่อยากเดินทางแล้ว”26 ท่านกับคู่ผู้สอนศาสนาสองคนทัวร์ยุโรปและสหรัฐระหว่างทางกลับบ้านซึ่งเป็นการปฏิบัติทั่วไปในสมัยนั้น และท่านเหนื่อย เมื่อครอบครัวท่านไปพักผ่อนในวันหยุดหลังจากท่านกลับมาไม่นาน ท่านอยู่บ้าน แม้จะหมดแรง แต่ท่านมีความพอใจอยู่บ้างเมื่อใคร่ครวญการเดินทางของท่าน ท่านรู้สึกว่าท่านได้เห็นสัมฤทธิผลของปิตุพรส่วนหนึ่งของท่าน หลายปีต่อมาท่านกล่าวว่า

“ข้าพเจ้าได้รับปิตุพรเมื่อยังเด็ก ในพรนั้นกล่าวว่าข้าพเจ้าจะเปล่งเสียงแสดงประจักษ์พยานถึงความจริงในประเทศต่างๆ ของแผ่นดินโลก ข้าพเจ้าได้ทำงานในลอนดอนนานมาก และแสดงประจักษ์พยานที่นั่นหลายครั้ง เรา [ไปอัมสเตอร์ดัม] ข้าพเจ้ามีโอกาสพูดสั้นๆ ในการประชุมและแสดงประจักษ์พยาน จากนั้นเราไปเบอร์ลิน ที่นั่นข้าพเจ้ามีโอกาสคล้ายกัน จากนั้นเราไปปารีส ที่นั่นข้าพเจ้ามีโอกาสคล้ายกัน จากนั้นเราไปสหรัฐ ไปวอชิงตัน ดี.ซี. และในวันอาทิตย์วันหนึ่งเรามีโอกาสคล้ายกันที่นั่น เมื่อข้าพเจ้ากลับถึงบ้าน ข้าพเจ้าเหนื่อย … ข้าพเจ้ากล่าวว่า ‘… ข้าพเจ้าทำปิตุพรส่วน [นั้น] สำเร็จ ข้าพเจ้าได้เปล่งเสียงในเมืองหลวงของโลก …’ และข้าพเจ้ารู้สึกอย่างนั้นจริงๆ”27

ก่อนกอร์ดอนจะถือว่าพันธกิจของท่านลุล่วง ท่านต้องทำงานมอบหมายอีกอย่างให้สำเร็จ เอ็ลเดอร์โจเซฟ เอฟ. เมอร์ริลล์ขอให้ท่านนัดหมายกับฝ่ายประธานสูงสุดของศาสนจักรเพื่อรายงานสิ่งที่ต้องทำในคณะเผยแผ่บริติชและยูโรเปียน เช้าวันที่ 20 สิงหาคม ค.ศ. 1935 หลังจากกลับบ้านไม่ถึงเดือน มีคนนำกอร์ดอนเข้าไปในห้องสภาที่อาคารบริหารงานศาสนจักร ขณะจับมือทักทายสมาชิกแต่ละท่านในฝ่ายประธานสูงสุด—ประธานฮีเบอร์ เจ. แกรนท์ ประธานเจ. รูเบ็น คลาร์ก จูเนียร์ และประธานเดวิด โอ. แมคเคย์—ท่านรู้สึกหนักใจทันทีกับภารกิจที่ได้รับมอบหมาย ประธานแกรนท์กล่าวว่า “บราเดอร์ฮิงค์ลีย์ เราจะให้เวลาคุณสิบห้านาทีบอกเราว่าเอ็ลเดอร์เมอร์ริลล์ต้องการให้เรารับฟังเรื่องอะไร”28

สิบห้านาทีต่อจากนั้น ผู้สอนศาสนาที่เพิ่งกลับมานำเสนอข้อกังวลของเอ็ลเดอร์เมอร์ริลล์—ว่าผู้สอนศาสนาต้องมีสื่อสิ่งพิมพ์ที่ดีกว่านี้ไว้ในงานของพวกเขา ประธานแกรนท์กับที่ปรึกษาของท่านรับฟังและถามหลายคำถาม การประชุมยืดเวลาจากที่วางแผนไว้ออกไปอีกหนึ่งชั่วโมง

ระหว่างกลับจากการประชุม กอร์ดอนไม่สามารถคาดเดาได้เลยว่า 75 นาทีนั้นจะมีผลต่อชีวิตท่านอย่างไร สองวันต่อมาท่านได้รับโทรศัพท์จากประธานแมคเคย์ผู้เสนองานให้ท่านเป็นเลขาธิการของคณะกรรมการวิทยุ โฆษณา และข้อมูลข่าวสารงานเผยแผ่ของศาสนจักรที่เพิ่งจัดตั้ง คณะกรรมการชุดนี้ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกโควรัมอัครสาวกสิบสองหกคน จะทำงานสนองความต้องการที่กอร์ดอนสรุปไว้ในการประชุมของท่านกับฝ่ายประธานสูงสุด29

ภาพ
กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์

กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์สมัยเป็นเจ้าหน้าที่ของคณะกรรมการวิทยุ โฆษณา และข้อมูลข่าวสารงานเผยแผ่ของศาสนจักร

กอร์ดอนต้องเลื่อนแผนการเรียนมหาวิทยาลัยและอาชีพเป็นนักหนังสือพิมพ์ออกไปอีกครั้ง ท่านไปทำงานเขียนบทให้รายการวิทยุและฟิล์มภาพยนตร์ เขียนจุลสารให้ผู้สอนศาสนา พัฒนาความสัมพันธ์ด้านอาชีพกับผู้บุกเบิกด้านสื่อ อีกทั้งทำการค้นคว้าและเขียนประวัติศาสนจักรด้วย ท่านเขียนข้อความที่ออกแบบไว้สร้างศรัทธาของสมาชิกศาสนจักรและเชื่อมโยงกับคนนอกศาสนจักร เพื่อนคนหนึ่งเคยส่งจดหมายมาชมท่านเรื่องบทวิทยุและถามว่าท่านพัฒนาของประทานในการเขียนและพูดเช่นนั้นอย่างไร กอร์ดอนตอบว่า

“ถ้าผมมีพรสวรรค์ด้านการพูดหรือการเขียน ผมสำนึกคุณพระบิดาในสวรรค์ของผมอย่างยิ่ง ผมไม่คิดว่าผมมีความสามารถนี้แต่กำเนิด ถ้าจะพูดให้ถูกคือ พลังความสามารถใดก็ตามที่ผมมีมาจากโอกาสที่เปิดให้ผม”30

งานของกอร์ดอนกับคณะกรรมการขัดเกลาทักษะการเป็นนักเขียนของท่าน อีกทั้งมอบโอกาสที่มีค่าให้ท่านได้เรียนรู้จากอัครสาวกและศาสดาพยากรณ์ เมื่อกอร์ดอนเห็นสมาชิกอัครสาวกสิบสองหกท่านพินิจพิเคราะห์การตัดสินใจและสอนกัน ทำให้ท่านเข้าใจมากขึ้นถึงการเรียกอันศักดิ์สิทธิ์ของบุรุษที่ต่างกันเหล่านี้และขั้นตอนการเปิดเผยที่เกิดขึ้นเมื่อพวกท่านหารือกัน

เอ็ลเดอร์สตีเฟน แอล. ริชาร์ดส์ผู้รับใช้เป็นที่ปรึกษาที่หนึ่งในฝ่ายประธานสูงสุดในเวลาต่อมาได้เป็นประธานคณะกรรมการ กอร์ดอนอธิบายว่าเขาเป็น “คนช่างคิด สุขุม รอบคอบ และฉลาด เขาไม่ผลีผลามแต่พิจารณาอย่างถี่ถ้วนก่อนลงมือทำ ข้าพเจ้าเรียนรู้ว่าจะดีที่สุดถ้าท่านลงมือทำงานนี้อย่างรอบคอบ ไม่ว่าท่านจะตัดสินใจอะไรย่อมมีผลกระทบยาวไกลต่อชีวิตคนมากมาย”31

สมาชิกคณะกรรมการอีกห้าท่านคือเอ็ลเดอร์เมลวิน เจ. บัลลาร์ด เอ็ลเดอร์จอห์น เอ. วิดท์โซ เอ็ลเดอร์ชาร์ลส์ เอ. คอลลิส เอ็ลเดอร์อลอนโซ เอ. ฮิงค์ลีย์ (ลุงของกอร์ดอน) และเอ็ลเดอร์อัลเบิร์ต อี. โบเว็น เกี่ยวกับคนเหล่านี้ กอร์ดอนกล่าวว่า

“ข้าพเจ้าเข้ากันได้ดีกับบุรุษผู้ยิ่งใหญ่เหล่านี้ซึ่งมีน้ำใจต่อข้าพเจ้ามาก แต่ข้าพเจ้าเรียนรู้ว่าพวกท่านเป็นมนุษย์ พวกท่านมีความอ่อนแอและปัญหา แต่นั่นไม่ทำให้ข้าพเจ้ากังวลใจ ข้าพเจ้านับถือพวกท่านมากขึ้นเพราะข้าพเจ้ามองเห็นองค์ประกอบของความเป็นพระเจ้าเหนือความเป็นมนุษย์ของพวกท่าน หรืออย่างน้อยที่สุดก็มองเห็นองค์ประกอบของการอุทิศถวายเพื่ออุดมการณ์อันยิ่งใหญ่ที่มาเป็นอันดับแรกในชีวิตพวกท่าน ข้าพเจ้าเห็นการดลใจที่เกิดผลในชีวิตพวกท่าน ข้าพเจ้าไม่มีความสงสัยเกี่ยวกับการเรียกเป็นศาสดาพยากรณ์ของพวกท่านหรือข้อเท็จจริงที่ว่าพระเจ้าตรัสและทรงดำเนินงานผ่านพวกท่าน ข้าพเจ้าเห็นด้านมนุษย์ ข้อบกพร่องเล็กๆ น้อยๆ ของพวกท่าน—และพวกท่านทั้งหมดมีไม่มาก แต่ข้าพเจ้ามองเห็นพลังมหาศาลของศรัทธาและความรักที่พวกท่านมีต่อพระเจ้า ความภักดีโดยสมบูรณ์ต่องานและต่อความไว้วางใจที่มอบให้พวกท่าน”32

การแต่งงาน ครอบครัว และการรับใช้ศาสนจักร

แน่นอนว่ากอร์ดอนไม่คิดเฉพาะเรื่องงานเท่านั้น การผูกสมัครรักใคร่กับมาร์จอรี เพย์ดำเนินต่อเนื่องเมื่อท่านกลับจากอังกฤษ การจากไปของท่านเป็นเรื่องยากสำหรับมาร์จอรีและสำหรับท่านด้วย “ดิฉันกังวลมากเมื่อท่านรับใช้งานเผยแผ่” มาร์จอรีกล่าวในเวลาต่อมา “ดิฉันจะไม่มีวันลืมความว่างเปล่าและความเหงาที่ดิฉันรู้สึกเมื่อรถไฟขบวนนั้นเคลื่อนออกจากสถานี”33

ในฤดูใบไม้ร่วงปี 1929 สี่ปีก่อนกอร์ดอนไปอังกฤษ มาร์จอรีลงทะเบียนเรียนที่มหาวิทยาลัยแห่งยูทาห์แล้วจึงพบว่าบิดาของเธอตกงานเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ เธอหยุดเรียนทันทีและได้งานเป็นเลขานุการช่วยจุนเจือพ่อแม่กับน้องอีกห้าคน—เธอยังคงทำงานนั้นหลังกอร์ดอนกลับจากงานเผยแผ่ของเขาในปี 1935 เธอไม่มีโอกาสศึกษาในระบบ แต่ตั้งใจว่าจะเรียนรู้อยู่เรื่อยๆ เธอจึงหาความรู้ให้ตนเองโดยการอ่าน

นิสัยร่าเริงของมาร์จอรี จรรยาบรรณในการทำงาน ความมุ่งมั่นลึกซึ้งต่อพระกิตติคุณทำให้กอร์ดอนรักเธอ สำหรับมาร์จอรีเธอประทับใจความดีงามและศรัทธาของท่าน “เมื่อเราใกล้จะแต่งงานกัน” เธอกล่าว “ดิฉันรู้สึกมั่นใจเต็มที่ว่ากอร์ดอนรักดิฉัน แต่ดิฉันรู้เช่นกันว่าสำหรับเขาแล้วดิฉันจะไม่มาเป็นอันดับแรก ดิฉันรู้ว่าดิฉันจะเป็นอันดับสองในชีวิตเขาและพระเจ้าจะเป็นอันดับหนึ่ง และนั่นไม่เป็นไร” เธอกล่าวต่อไปว่า “สำหรับดิฉันดูเหมือนว่าถ้าคุณเข้าใจพระกิตติคุณและจุดประสงค์ของการดำรงอยู่ที่นี่ คุณจะอยากให้สามีให้พระเจ้ามาเป็นอันดับแรก ดิฉันรู้สึกสบายใจที่รู้ว่าเขาเป็นคนแบบนั้น”34

กอร์ดอนกับมาร์จอรีแต่งงานกันในพระวิหารซอลท์เลคเมื่อวันที่ 29 เมษายน ค.ศ. 1937 จากนั้นจึงย้ายไปอยู่บ้านฤดูร้อนของตระกูลฮิงค์ลีย์ในอิสต์มิลล์ครีก พวกท่านตั้งเตาเผา ปรับปรุงสิ่งอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตตลอดปี ดูแลสวนผักสวนผลไม้ และเริ่มสร้างบ้านของตนเองบนที่ดินละแวกนั้น ด้วยเหตุนี้แถบชนบทที่กอร์ดอนชอบในช่วงฤดูร้อนวัยเด็กจึงกลายเป็นที่ซึ่งท่านกับมาร์จอรีสร้างครอบครัวและเลี้ยงดูลูกๆ—แคธลีน ริชาร์ด เวอร์จิเนีย คลาร์ก และเจน

ภาพ
มาร์จอรี เพย์

มาร์จอรี เพย์

กอร์ดอนกับมาร์จอรีสร้างบ้านแห่งความรัก ความเคารพกัน การทำงานหนัก และการดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณ การสวดอ้อนวอนเป็นครอบครัวทุกวันเปิดหน้าต่างให้ลูกๆ มองเห็นศรัทธาและความรักของบิดามารดา เมื่อครอบครัวสวดอ้อนวอนด้วยกัน ลูกๆ รู้สึกเข้าใกล้พระบิดาในสวรรค์ของพวกเขาเช่นกัน

บ้านฮิงค์ลีย์เป็นสถานที่ซึ่งมีกฎเกณฑ์ไม่มากแต่มีความคาดหวังสูง มาร์จอรีพูดเกี่ยวกับเรื่องที่ไม่ควรทะเลาะกัน เธอพูดถึงวิธีที่เธอกับสามีใช้ในการเป็นบิดามารดาดังนี้ “ดิฉันเรียนรู้ว่าดิฉันต้องไว้ใจลูกๆ ด้วยเหตุนี้จึงพยายามไม่ตอบปฏิเสธถ้าดิฉันสามารถตอบรับได้ เมื่อเราเลี้ยงดูครอบครัว นั่นเป็นเรื่องของการผ่านพ้นในแต่ละวันไปให้ได้และมีความสนุกสนานเล็กๆ น้อยๆ ไปตามทาง เมื่อดิฉันเห็นว่าดิฉันไม่สามารถตัดสินใจทั้งหมดแทนลูกๆ ได้ ดิฉันจะพยายามไม่วิตกกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ทั้งหลาย”35 เนื่องจากความไว้วางใจของบิดามารดา ลูกจึงรู้สึกว่าตนได้รับความเคารพ ประสบการณ์ และความมั่นใจ เมื่อตอบว่าไม่ ลูกเข้าใจว่านั่นไม่ใช่การบังคับควบคุมโดยไร้เหตุผล

บ้านฮิงค์ลีย์เต็มไปด้วยเสียงหัวเราะเช่นกัน ครั้งหนึ่งมาร์จอรีกล่าวว่า “วิธีเดียวที่จะเอาชนะอุปสรรคในชีวิตคือหัวเราะจนเราชนะ คุณจะหัวเราะหรือร้องไห้ก็ได้ แต่ดิฉันชอบหัวเราะมากกว่า การร้องไห้ทำให้ดิฉันปวดศีรษะ”36 เนื่องจากบิดามารดาหัวเราะตนเองและมีอารมณ์ขันในชีวิตประจำวัน ลูกๆ จึงเห็นบ้านเป็นที่หลบภัยอันน่าเบิกบานใจ

การรับใช้ศาสนจักรเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตกอร์ดอนและมาร์จอรีเสมอ กอร์ดอนรับใช้เป็นประธานโรงเรียนวันอาทิตย์สเตคจากนั้นจึงได้รับเรียกให้อยู่ในคณะกรรมการโรงเรียนวันอาทิตย์สามัญที่ท่านรับใช้นานเก้าปี ต่อมาท่านรับใช้เป็นที่ปรึกษาในฝ่ายประธานสเตคและเป็นประธานสเตค ส่วนมาร์จอรีรับใช้ในปฐมวัย เยาวชนหญิง และสมาคมสงเคราะห์ ลูกๆ ของพวกท่านเป็นพยานว่าการรับใช้ในศาสนจักรเป็นสิทธิพิเศษอันน่ายินดี—ต้นแบบที่พวกเขาจะดำเนินตามในช่วงเป็นผู้ใหญ่

การเตรียมผ่านงานอาชีพ

ในช่วงชีวิตแต่งงานหกปีแรกของมาร์จอรีกับกอร์ดอน กอร์ดอนยังคงทำงานกับคณะกรรมการวิทยุ ประชาสัมพันธ์ และข้อมูลข่าวสารงานเผยแผ่ของศาสนจักร ท่านทุ่มเทให้งานของท่าน โครงการต่างๆ และเส้นตายมักจะทำให้ท่านต้องพยายามใช้ความสามารถและประสบการณ์อย่างเต็มที่—และมากกว่านั้น ในจดหมายถึงเพื่อนคนหนึ่ง ท่านเขียนว่า

“มีงานมากมายให้ทำ งานของคณะกรรมการที่มีชื่อยาวๆ ชุดนี้กำลังเติบโตมากขึ้น ซับซ้อนมากขึ้น และน่าสนใจมากขึ้น …

“… วิทยุ ภาพยนตร์ และข้อมูลข่าวสารหลากหลายแบบ … ทำให้ข้าพเจ้าต้องสวดอ้อนวอนเสมอ อ่อนน้อมถ่อมตน ขยัน และอยู่ที่ทำงานหลายชั่วโมง … ทั้งหมดนี้ทำให้ข้าพเจ้าต้องใช้แว่นตามากขึ้นอีกนิด … หลังค้อมลงอีกหน่อย ใจเย็นขึ้นอีกเล็กน้อย และเต็มไปด้วยความสงสัยมากขึ้นเล็กน้อยว่าทั้งหมดนี้จะทำให้เกิดอะไรขึ้น37

ต้นทศวรรษ 1940 สงครามโลกครั้งที่สองทำให้กอร์ดอนต้องเปลี่ยนงานอาชีพ งานเผยแผ่ศาสนาเต็มเวลาหยุดชะงักเพราะสงคราม ด้วยเหตุนี้งานด้านจัดเตรียมสื่อการเรียนการสอนให้ผู้สอนศาสนาจึงลดลง โดยรู้สึกว่าท่านมีหน้าที่ต้องช่วยเรื่องสงคราม ท่านจึงสมัครเข้าโรงเรียนคัดเลือกนายทหารในกองทัพเรือสหรัฐ แต่ประวัติภูมิแพ้ทำให้ท่านไม่มีสิทธิ์เป็นทหาร “ข้าพเจ้าเศร้าใจที่ถูกปฏิเสธ” ท่านยอมรับในเวลาต่อมา “สงครามยังไม่ยุติ และทุกคนกำลังทำบางอย่างเพื่อช่วย ข้าพเจ้ารู้สึกว่าควรมีส่วนร่วมทางใดทางหนึ่ง”38 ความปรารถนานี้นำท่านไปสมัครงานเป็นผู้ช่วยหัวหน้าคุมทางรถไฟสายเดนเวอร์และรีโอกรันเด เพราะรถไฟสำคัญต่อการเคลื่อนพลและลำเลียงเสบียงสงคราม กอร์ดอนจึงรู้สึกว่างานนี้ช่วยให้ท่านได้รับใช้ชาติ บริษัทจ้างท่านในปี 1943 ท่านทำงานที่คลังพลาธิการในซอลท์เลคซิตี้จนท่านกับครอบครัวย้ายไปเมืองเดนเวอร์ รัฐโคโลราโดในปี 1944

หัวหน้าการทางรถไฟประทับใจการทำงานของกอร์ดอน และเมื่อสงครามสิ้นสุดในปี 1945 พวกเขาเสนอตำแหน่งถาวรให้ท่านที่ดูเหมือนอนาคตด้านอาชีพจะสดใส ขณะเดียวกัน เอ็ลเดอร์สตีเฟน แอล. ริชาร์ดส์โทรศัพท์มาขอให้กอร์ดอนกลับไปทำงานเต็มเวลาให้ศาสนจักร ถึงแม้ทางรถไฟจะให้เงินเดือนสูงกว่าศาสนจักรมาก แต่กอร์ดอนทำตามที่ใจท่านเรียกร้องและกลับไปซอลท์เลคซิตี้39

ภาพ
กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์

กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ ค.ศ. 1951

ไม่นานงานอาชีพของกอร์ดอนที่สำนักงานใหญ่ของศาสนจักรก็ขยายจากความรับผิดชอบก่อนหน้านี้ของท่าน คริสต์ศักราช 1951 ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นเลขาธิการคณะกรรมการผู้สอนศาสนาสามัญของศาสนจักรและรับผิดชอบดูแลการดำเนินงานในแต่ละวันของแผนกผู้สอนศาสนาที่ตั้งใหม่ แผนกนี้ควบคุมดูแลทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการเผยแผ่พระกิตติคุณ รวมไปถึงการผลิต การแปล และการจำหน่ายสื่อการเรียนการสอนที่ผู้สอนศาสนาใช้ การอบรมผู้สอนศาสนาและประธานคณะเผยแผ่ รวมทั้งสื่อประชาสัมพันธ์ที่ใช้สร้างความสัมพันธ์และขจัดความคิดผิดๆ เกี่ยวกับศาสนจักร40

ในฤดูใบไม้ร่วงปี 1953 ประธานเดวิด โอ. แมคเคย์เรียกกอร์ดอนมาที่สำนักงานของท่านและขอให้พิจารณาคำถามที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับหน้าที่ในแผนกผู้สอนศาสนา “บราเดอร์ฮิงค์ลีย์” ท่านเริ่ม “เท่าที่คุณทราบ เรากำลังสร้างพระวิหารในสวิตเซอร์แลนด์ และพระวิหารที่นั่นจะต่างจากที่อื่นคือต้องรับใช้สมาชิกที่พูดหลายภาษา ผมอยากให้คุณหาวิธีนำเสนอการสอนในพระวิหารเป็นภาษาต่างๆ ของยุโรปโดยใช้เจ้าหน้าที่พระวิหารให้น้อยที่สุด”41

ประธานแมคเคย์จัดเตรียมที่หนึ่งให้กอร์ดอนได้แสวงหาการดลใจและพ้นจากข้อเรียกร้องของการทำงานในแผนกผู้สอนศาสนา ช่วงเย็นของวันธรรมดา วันเสาร์ และวันอาทิตย์บางวัน กอร์ดอนทำงานในห้องเล็กๆ บนชั้นห้าของพระวิหารซอลท์เลค เช้าวันอาทิตย์หลายวัน ประธานแมคเคย์มาร่วมแบ่งปันความคิด ดูการนำเสนอเอ็นดาวเม้นท์อย่างใกล้ชิด และสวดอ้อนวอนขอการนำทาง

หลังจากไตร่ตรอง สวดอ้อนวอน และแสวงหาการเปิดเผย กอร์ดอนแนะนำให้นำเสนอเอ็นดาวเมนท์เป็นภาพยนตร์ โดยบันทึกเสียงการสอนอันศักดิ์สิทธิ์นั้นเป็นภาษาต่างๆ หลายภาษา ประธานแมคเคย์และคนอื่นๆ อนุมัติข้อเสนอดังกล่าวและมอบหมายให้ท่านผลิตภาพยนตร์ กอร์ดอนทำงานกับทีมมืออาชีพที่มีพรสวรรค์และซื่อสัตย์ผู้ทำโครงการแล้วเสร็จในเดือนกันยายน ค.ศ. 1955 ต่อจากนั้นท่านนำภาพยนตร์ไปพระวิหารเบิร์น สวิตเซอร์แลนด์ด้วยตนเองและควบคุมดูแลการเตรียมด้านเทคนิคสำหรับเอ็นดาวเมนท์ภาคแรก42

กอร์ดอนตื้นตันใจที่เห็นงานของท่านนำปีติมาให้วิสุทธิชนในยุโรป “ขณะข้าพเจ้ามองดูคนเหล่านั้นจากสิบประเทศมาร่วมศาสนพิธีพระวิหาร ขณะข้าพเจ้ามองดูผู้สูงอายุจากหลังม่านเหล็กผู้สูญเสียครอบครัวในสงครามกวาดล้างพวกเขา เห็นสีหน้าเบิกบานและน้ำตาแห่งความยินดีซึ่งมาจากใจของพวกเขาเนื่องจากโอกาสที่มีให้ ขณะข้าพเจ้ามองดูสามีภรรยาหนุ่มสาวกับครอบครัวของพวกเขา—ลูกๆ ที่น่ารักสดใสของพวกเขา—และมองดูครอบครัวเหล่านั้นเป็นหนึ่งเดียวกันในความสัมพันธ์นิรันดร์ ข้าพเจ้ารู้แน่นอนแม้มากกว่าที่เคยรู้ก่อนหน้านั้นว่า [ประธานแมคเคย์] ได้รับการดลใจและการนำทางจากพระเจ้าให้นำพรอันประมาณค่ามิได้นี้เข้ามาในชีวิตชายหญิงผู้มีศรัทธาเหล่านั้นที่มารวมกันจากประเทศต่างๆ ของยุโรป”43

ยี่สิบปีผ่านไปตั้งแต่กอร์ดอนกลับจากงานเผยแผ่ ท่านไม่ได้ทำฝันให้เป็นจริงเรื่องเรียนปริญญาและเป็นนักหนังสือพิมพ์ แต่ท่านได้ฝึกใช้เทคโนโลยีใหม่เผยแพร่พระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า พัฒนาความสัมพันธ์อันดีกับผู้นับถือศาสนาอื่น ศึกษาและเขียนงานประวัติศาสนจักร ช่วยเตรียมทางให้วิสุทธิชนยุคสุดท้ายหลายพันคนได้รับพรของพระวิหาร ประสบการณ์เหล่านี้จะเป็นรากฐานสำหรับการรับใช้ที่ท่านจะให้ตลอดชีวิตที่เหลือ

การรับใช้เป็นผู้ช่วยอัครสาวกสิบสอง

วันเสาร์ที่ 5 เมษายน ค.ศ. 1958 ริชาร์ดบุตรชายของกอร์ดอนกับมาร์จอรีรับโทรศัพท์ คนที่โทรมาไม่บอกชื่อ แต่ริชาร์ดจำเสียงของประธานเดวิด โอ. แมคเคย์ได้และรีบบอกให้คุณพ่อทราบ หลังจากพูดสั้นๆ กับประธานแมคเคย์ กอร์ดอนรีบอาบน้ำ เปลี่ยนเสื้อผ้า และขับรถไปสำนักงานของประธานศาสนจักร เพราะท่านเคยได้รับงานมอบหมายจากประธานแมคเคย์มาก่อน ท่านจึงคาดว่าประธานจะขอให้ช่วยเตรียมบางอย่างสำหรับภาคการประชุมใหญ่สามัญวันรุ่งขึ้น ท่านตกใจมากเมื่อพบว่าประธานแมคเคย์มีเรื่องอื่นในใจ หลังจากทักทายอย่างเป็นมิตร ประธานแมคเคย์ขอให้กอร์ดอนรับใช้เป็นผู้ช่วยอัครสาวกสิบสอง พี่น้องชายที่รับใช้ในตำแหน่งนี้ ซึ่งยกเลิกในปี 1976 ถือเป็นเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ของศาสนจักร กอร์ดอนกำลังรับใช้เป็นประธานสเตคอีสต์มิลล์ครีกเมื่อประธานแมคเคย์ให้การเรียกนี้

วันรุ่งขึ้น เอ็ลเดอร์กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ได้รับเสียงสนับสนุนในการประชุมใหญ่สามัญ ถึงแม้ท่านยอมรับในคำพูดการประชุมใหญ่ครั้งแรกว่าท่าน “หนักใจกับความรู้สึกไม่คู่ควร” แต่ท่านก็น้อมรับความรับผิดชอบใหม่นี้ด้วยศรัทธาและความกระตือรือร้น44

หน้าที่หลักอย่างหนึ่งที่มาถึงเอ็ลเดอร์ฮิงค์ลีย์ในฐานะผู้ช่วยอัครสาวกสิบสองคือควบคุมดูแลการทำงานของศาสนจักรในเอเชียทั้งหมด ท่านรู้เล็กน้อยเกี่ยวกับคนที่นั่นและพูดภาษาของพวกเขาไม่ได้เลย แต่ท่านรักพวกเขาอย่างรวดเร็ว และพวกเขาก็รักท่าน เคนจิ ทานากะวิสุทธิชนยุคสุดท้ายชาวญี่ปุ่นพูดถึงการประชุมครั้งแรกของเอ็ลเดอร์ฮิงค์ลีย์ในญี่ปุ่นว่า “ความตื่นเต้นของเอ็ลเดอร์ฮิงค์ลีย์เห็นได้ในดวงตาเป็นประกายของท่าน คำแรกที่ท่านพูดกับเราคือ ซูบาราชิ! [‘ยอดเยี่ยม’] บรรยากาศของที่ประชุมเปลี่ยนจากเคร่งขึมและพิธีรีตองเป็นความใกล้ชิดและความเป็นมิตรกับท่าน ความรู้สึกอบอุ่นแผ่ซ่านไปทั่ว”45

นี่เป็นความรู้สึกที่ท่านทำให้เกิดขึ้นทุกแห่งที่ท่านไปในเอเชีย ท่านช่วยให้ผู้คนเห็นว่า ด้วยศรัทธาในพระเจ้า พวกเขาสามารถทำงานใหญ่สำเร็จและช่วยให้ศาสนจักรเติบโตในบ้านเกิดเมืองนอนของตน ท่านมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้สอนศาสนาเต็มเวลาเช่นกัน โดยรู้ว่าความขยันหมั่นเพียรของพวกเขาจะมีผลโดยตรงต่อคนที่พวกเขารับใช้

พยานพิเศษถึงพระนามของพระคริสต์

มีเสียงโทรศัพท์เปลี่ยนชีวิตอีกครั้งในวันเสาร์อีกวันหนึ่ง—วันที่ 30 กันยายน ค.ศ. 1961 ครั้งนี้มาร์จอรีผู้ได้ยินเสียงคุ้นหูของประธานแมคเคย์อยู่ในสาย กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์รีบไปสำนักงานของประธานศาสนจักรอีกครั้ง ท่านประหลาดใจและหมดกำลังอีกครั้งเมื่อทราบเหตุผลของการเข้าพบครั้งนี้ เมื่อมาถึง ประธานแมคเคย์บอกท่านว่า “ผมรู้สึกว่าต้องเสนอชื่อคุณให้ดำรงตำแหน่งว่างในโควรัมอัครสาวกสิบสอง และเราจะสนับสนุนคุณวันนี้ในการประชุมใหญ่”46 เอ็ลเดอร์ฮิงค์ลีย์ก้าวไปข้างหน้าด้วยศรัทธาและความกระตือรือร้นอีกครั้งแม้จะรู้สึกไม่คู่ควร

ในฐานะอัครสาวก เอ็ลเดอร์ฮิงค์ลีย์ได้รับความรับผิดชอบเพิ่มเติม ท่านเข้าพบหัวหน้ารัฐบาลและผู้ทรงเกียรติอีกหลายท่านเป็นครั้งคราว มีผู้ขอให้ท่านพูดต่อหน้าสาธารณชนแทนศาสนจักรบ่อยครั้งเพื่อแก้ไขคำวิพากษ์วิจารณ์และความวุ่นวายทางวัฒนธรรมในสหรัฐ ท่านเป็นผู้นำในความพยายามเสริมสร้างสมรรถภาพการออกอากาศของศาสนจักรและใช้เทคโนโลยีเผยแพร่พระกิตติคุณไปทั่วโลก แม้จะมีบทบาทกว้างขวางเหล่านี้ แต่ท่านไม่เคยมองข้ามความรับผิดชอบในการเสริมสร้างศรัทธาของแต่ละบุคคลและครอบครัว ไม่ว่าท่านจะพูดกับคนหนึ่งคนหรือคนหมื่นคน คำพูดของท่านมีผลต่อพวกเขาเป็นส่วนตัว คำพูดที่กลายเป็นตราสัญลักษณ์การปฏิบัติศาสนกิจของท่านคือ จงนำผู้คนมาหาพระคริสต์ทีละคน

เอ็ลเดอร์ฮิงค์ลีย์ดูแลการทำงานในเอเชียเจ็ดปีติดต่อกันและท่านชื่นชมยินดีที่ได้เห็นการเติบโตของเพื่อนๆ ที่นั่น ท่านตั้งข้อสังเกตว่า “นับเป็นประสบการณ์ที่สร้างแรงบันดาลใจ … เมื่อได้เห็นรูปแบบวิธีที่พระเจ้าทรงถักทอผืนพรมตามแบบแผนอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ในภูมิภาคเหล่านั้นของแผ่นดินโลก”47

เมื่องานมอบหมายเปลี่ยนไปในโควรัมอัครสาวกสิบสอง เอ็ลเดอร์ฮิงค์ลีย์ได้รับโอกาสให้รับใช้ในภูมิภาคอื่นของโลก ทุกแห่งที่ท่านไป ท่านแสดงความห่วงใยแต่ละคน คริสต์ศักราช 1970 เมื่อท่านกำลังตรวจตราการทำงานของศาสนจักรในอเมริกาใต้ ท่านเดินทางไปชิลีหลังจากเป็นประธานการประชุมใหญ่สเตคในเปรู สองวันหลังจากมาถึงชิลี ท่านทราบว่าได้เกิดแผ่นดินไหวทำลายล้างเปรู และผู้สอนศาสนาสี่คนหายไป ท่านวางแผนกลับไปเปรูทันทีแม้จะต้องเลื่อนวันกลับบ้านออกไป “ข้าพเจ้าจะกลับบ้านด้วยความรู้สึกดีไม่ได้ขณะที่ผู้สอนศาสนายังหายสาบสูญ” ท่านกล่าว48

ท่านมาถึงเมืองลิมา ประเทศเปรูเช้าวันต่อมา เมื่อผู้สอนศาสนาที่หายสาบสูญพบนักวิทยุสมัครเล่น พวกเขาสามารถโทรมาลิมาได้ และเอ็ลเดอร์ฮิงค์ลีย์พูดกับพวกเขา ผู้สอนศาสนาอยู่ในห้องเล็กๆ ที่เต็มไปด้วยผู้รอดชีวิตคนอื่นๆ การสนทนาของพวกเขาออกอากาศผ่านเครื่องขยายเสียง “เมื่อเสียงของเอ็ลเดอร์ฮิงค์ลีย์ดังออกเครื่องขยายเสียงในห้องที่คนเบียดกันแน่นขณะแย่งกันพูดออกวิทยุ ห้องเงียบกริบทันที แม้ท่านจะพูดเป็นภาษาอังกฤษ และคนเหล่านี้พูดภาษาสเปน แต่พวกเขาเริ่มกระซิบกันและถามว่า ‘คนนั้นเป็นใคร’ มีความรู้สึกท่ามกลางความโกลาหลว่าเสียงนั้นเป็นเสียงของคนไม่ธรรมดา”49

ในช่วงสองปีแรกของการตรวจตราศาสนจักรในอเมริกาใต้ เอ็ลเดอร์ฮิงค์ลีย์ไปเยี่ยมคณะเผยแผ่ทุกแห่ง ตั้งคณะเผยแผ่ใหม่ในโคลัมเบียและเอกวาดอร์ ช่วยตั้งสเตคใหม่ในลิมา เปรู และเซาเปาลู บราซิล ช่วยแก้ไขอุปสรรคเรื่องวีซ่าของผู้สอนศาสนาที่ได้รับเรียกให้รับใช้ในอาร์เจนตินา ท่านอยู่ระหว่างทำมากขึ้นเมื่อท่านได้รับมอบหมายในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1971 ให้ดูแลคณะเผยแผ่แปดแห่งในยุโรป50

เอ็ลเดอร์ฮิงค์ลีย์มักจะรู้สึกเหนื่อยล้าจากกำหนดการรัดตัวของท่าน ท่านมีความสุขเสมอเมื่อได้กลับบ้านและใช้เวลาอยู่กับมาร์จอรีและลูกๆ แต่มาร์จอรีบอกว่าเมื่อท่านออกจากบ้านไปทำงานนานเกินไป ท่านจะไม่ได้พักผ่อน การเรียกเป็นอัครสาวกของท่าน—หนึ่งใน “พยานพิเศษถึงพระนามของพระคริสต์ในทั่วโลก” (คพ. 107:23)—ไม่เคยอยู่ห่างจากความคิดท่านเลย

ความรับผิดชอบอันหนักหน่วงในฐานะที่ปรึกษาของฝ่ายประธานสูงสุด

วันที่ 15 กรกฎาคม ค.ศ. 1981 หลังจากรับใช้ในโควรัมอัครสาวกสิบสองประมาณ 20 ปี เอ็ลเดอร์ฮิงค์ลีย์ได้รับการเรียกที่ทำให้ประหลาดใจอีกครั้ง ประธานสเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์ผู้เป็นประธานศาสนจักรในเวลานั้นขอให้ท่านรับใช้เป็นที่ปรึกษาในฝ่ายประธานสูงสุด นอกเหนือจากประธานเอ็น. เอลดัน แทนเนอร์ และประธานมาเรียน จี. รอมนีย์ นี่เป็นเรื่องแปลกแต่การดำเนินงานต่างจากรูปแบบการมีที่ปรึกษาสองคนใช่ว่าจะไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ประธานคิมบัลล์กับที่ปรึกษาของท่านสุขภาพไม่ดีและต้องได้รับการสนับสนุนช่วยเหลือเป็นพิเศษในฝ่ายประธาน51

ที่การประชุมใหญ่สามัญครั้งแรกของท่านในตำแหน่งใหม่นี้ ประธานฮิงค์ลีย์กล่าวว่า “ความปรารถนาเพียงอย่างเดียวของข้าพเจ้าคือรับใช้ด้วยความภักดีไม่ว่าจะได้รับเรียกให้ทำอะไร … การเรียกอันศักดิ์สิทธิ์นี้ทำให้ข้าพเจ้ารู้ความอ่อนแอของตนเอง ถ้าข้าพเจ้าทำให้ขุ่นเคืองเมื่อใด ข้าพเจ้าขอโทษและหวังว่าท่านจะให้อภัยข้าพเจ้า ไม่ว่างานมอบหมายนี้จะมีระยะเวลานานหรือไม่นาน ข้าพเจ้าสัญญาว่าจะพยายามสุดความสามารถ จะทำด้วยความรักและศรัทธา”52

ศาสนจักรต้องการให้ท่านทำสุดความสามารถเมื่อประธานคิมบัลล์ ประธานแทนเนอร์ และประธานรอมนีย์มีปัญหาด้านสุขภาพ ในแต่ละวันงานส่วนใหญ่ของฝ่ายประธานสูงสุดตกอยู่กับประธานฮิงค์ลีย์ ท่านแบกภาระรับผิดชอบมากมายที่ต้องพยายามมากขึ้นเช่นกัน อาทิ การอุทิศพระวิหารจอร์แดนริเวอร์ ยูทาห์ นอกจากนี้ ท่านยังเผชิญกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ศาสนจักรและผู้นำทั้งในอดีตและปัจจุบันจากประชาชนทั่วไปด้วย ในการประชุมใหญ่สามัญเดือนเมษายน ปี 1982 ท่านแนะนำว่า

“เรามีชีวิตอยู่ในสังคมที่ชอบวิพากษ์วิจารณ์ … ข้าพเจ้าขอให้ท่านมองภาพใหญ่และเลิกวิตกกับคำตำหนิเล็กๆ น้อยๆ … นี่เป็นเพียงส่วนประกอบของความสำคัญในการรับใช้ [ของผู้นำศาสนจักร] และความยิ่งใหญ่ของผลงานของท่านเหล่านั้น”53

ประธานแทนเนอร์ถึงแก่กรรมวันที่ 2 พฤศจิกายน ค.ศ. 1982 สุขภาพของประธานคิมบัลล์และประธานรอมนีย์เสื่อมลงจนถึงจุดที่ในการประชุมใหญ่สามัญเดือนเมษายน ปี 1983 ประธานฮิงค์ลีย์ผู้ซึ่งเวลานั้นได้รับเรียกเป็นที่ปรึกษาที่สองในฝ่ายประธานสูงสุด ต้องนั่งข้างเก้าอี้ว่างสองตัวบนยกพื้น โดยส่วนตัวแล้วท่านรู้สึกลึกๆ ในใจถึงสิ่งที่ท่านเคยเรียกว่า “ความโดดเดี่ยวของการเป็นผู้นำ”54

ภาพ
ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์

ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ในการประชุมใหญ่สามัญคราวที่ท่านเป็นสมาชิกคนเดียวในฝ่ายประธานสูงสุดที่สุขภาพดีพอจะเข้าร่วมการประชุมได้

ประธานฮิงค์ลีย์ดำเนินงานด้วยความระมัดระวังและการสวดอ้อนวอน ท่านไม่ต้องการข้ามหน้าศาสดาพยากรณ์ ท่านขอให้สมาชิกอาวุโสของโควรัมอัครสาวกสิบสอง—โดยเฉพาะเอ็ลเดอร์เอสรา แทฟท์ เบ็นสันประธานโควรัม—ช่วยดำเนินธุรกิจประจำวันของศาสนจักร ประธานฮิงค์ลีย์ทำงานคู่กับโควรัมอัครสาวกสิบสองโดยรับคำแนะนำจากประธานคิมบัลล์เสมอ กระนั้นก็ตาม ท่านยังรู้สึกว่าแบกภาระใหญ่หลวง

ถึงแม้ความรับผิดชอบของประธานฮิงค์ลีย์ในฝ่ายประธานสูงสุดทำให้ท่านอยู่ในซอลท์เลคซิตี้เป็นส่วนใหญ่ แต่ท่านเดินทางเป็นครั้งคราวไปปฏิบัติศาสนกิจต่อสมาชิกและผู้สอนศาสนาในภูมิภาคอื่นของโลกด้วย คริสต์ศักราช 1984 ท่านกลับไปฟิลิปปินส์ สิบแปดปีก่อนท่านอุทิศโบสถ์หลังแรกที่นั่น คราวนี้ท่านจะอุทิศพระวิหารแห่งแรก ในคำสวดอ้อนวอนอุทิศ ท่านทูลว่า

“ประเทศฟิลิปปินสต์เป็นประเทศที่มีเกาะมากมาย ประชาชนรักอิสรภาพ ความจริง ใจของพวกเขาละเอียดอ่อนต่อประจักษ์พยานของผู้รับใช้พระองค์ และตอบรับข่าวสารของพระกิตติคุณนิรันดร์ พวกข้าพระองค์ขอบพระทัยสำหรับศรัทธาของพวกเขา พวกข้าพระองค์ขอบพระทัยสำหรับวิญญาณแห่งการเสียสละของพวกเขา พวกข้าพระองค์ขอบพระทัยสำหรับปาฏิหาริย์แห่งความก้าวหน้าในงานของพระองค์ในแผ่นดินนี้”55

ความก้าวหน้าต่อเนื่องของศาสนจักรประจักษ์ชัดในเดือนมิถุนายน ปี 1984 เมื่อประธานฮิงค์ลีย์ ในนามของฝ่ายประธานสูงสุด ประกาศการเรียกฝ่ายประธานภาค—สมาชิกสาวกเจ็ดสิบผู้จะอยู่ทั่วโลกและตรวจตรางานของศาสนจักรในเขตภูมิศาสตร์ที่ได้รับมอบหมาย โดยทำงานภายใต้การกำกับดูแลของฝ่ายประธานสูงสุดและโควรัมอัคร-สาวกสิบสอง พี่น้องชายเหล่านี้จะจัดหาผู้นำและให้การอบรมมากเท่าที่จำเป็นในเขตของพวกเขา “เราจะตัดสินใจทุกอย่างในซอลท์เลคซิตี้ไม่ได้” ท่านกล่าว “เราต้องทำบางอย่างเกี่ยวกับการกระจายอำนาจ”56 ประมาณหนึ่งปีต่อมา ขณะพูดกับผู้นำศาสนจักรจากทั่วโลก ประธานฮิงค์ลีย์กล่าวว่า “ข้าพเจ้ามั่นใจว่านี่เป็นก้าวสำคัญที่ได้รับการดลใจในช่วงไม่กี่เดือนหลังนี้ ข้าพเจ้ามั่นใจว่าการที่คนดีๆ เหล่านี้อยู่ท่ามกลางพวกท่านบ่อยๆ ทำให้พวกท่านมีความเชื่อมั่นมาก พี่น้องชายเหล่านี้กำลังผูกทั้งศาสนจักรไว้ด้วยกัน”57

หลังจากนำศาสนจักรตลอด 12 ปีของการเติบโตอย่างน่าทึ่ง ประธานสเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์ถึงแก่กรรมวันที่ 5 พฤศจิกายน ค.ศ. 1985 ในฐานะอัครสาวกอาวุโส ประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสันได้รับการวางมือมอบหน้าที่เป็นประธานศาสนจักร ท่านขอให้กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์รับใช้เป็นที่ปรึกษาที่หนึ่งในฝ่ายประธานสูงสุดและโธมัส เอส. มอนสันรับใช้เป็นที่ปรึกษาที่สอง เนื่องจากสมาชิกสามท่านในฝ่ายประธานสูงสุดมีสุขภาพดี ประธานฮิงค์ลีย์จึงรู้สึกว่าภาระของท่านเบาลงและมีโอกาสไปเยี่ยมวิสุทธิชนทั่วโลกมากขึ้น

ภาพ
ฝ่ายประธานสูงสุด

ประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสัน (กลาง) กับที่ปรึกษาของท่าน ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ (ซ้าย) และประธานโธมัส เอส. มอนสัน (ขวา) ในการประชุมใหญ่สามัญ

ภายในไม่กี่ปี สุขภาพของประธานเบ็นสันเริ่มอ่อนแอ และความรับผิดชอบวันต่อวันของการดำเนินงานศาสนจักรตกอยู่กับประธานฮิงค์ลีย์อีกครั้ง อย่างไรก็ดี คราวนี้ท่านไม่โดดเดี่ยวในฝ่ายประธานสูงสุด ประธานฮิงค์ลีย์และประธานมอนสันดำเนินงานศาสนาจักรอย่างต่อเนื่องอย่างมีชีวิตชีวาและเปี่ยมด้วยพละกำลัง โดยเคารพการเรียกของประธานเบ็นสันในฐานะศาสดาพยากรณ์ ผู้หยั่งรู้ และผู้เปิดเผยเสมอ พวกท่านพัฒนาความสัมพันธ์และมิตรภาพอันแน่นแฟ้นยั่งยืน

ประธานเบ็นสันถึงแก่กรรมวันที่ 30 พฤษภาคม ค.ศ. 1994 และประธานฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์เป็นประธานศาสนจักร ประธานฮิงค์ลีย์และประธานมอนสันรับใช้เป็นที่ปรึกษาอีกครั้ง ในเดือนมิถุนายน ประธานและซิสเตอร์ฮิงค์ลีย์เดินทางร่วมกับประธานฮันเตอร์และไอนิสภรรยา กับเอ็ลเดอร์เอ็ม. รัสเซลล์ เนลสันและบาร์บาราภรรยาไปนอวู อิลลินอยส์เพื่อร่วมงานรำลึกมรณสักขีของโจเซฟและไฮรัม สมิธครบ 150 ปี การเดินทางครั้งนี้คงจะเป็นครั้งเดียวที่ประธานฮันเตอร์กับประธานฮิงค์ลีย์เดินทางด้วยกัน ประธานฮันเตอร์ต่อสู้กับปัญหาสุขภาพหลายปี สุขภาพของท่านเสื่อมโทรมอย่างรวดเร็วหลังจากการเดินทางครั้งนี้ วันที่ 27 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1995 ท่านขอพรฐานะปุโรหิตจากประธานฮิงค์ลีย์ ในพรนั้น ประธานฮิงค์ลีย์วิงวอนขอชีวิตประธานฮันเตอร์แต่ทูลด้วยว่าท่านอยู่ในพระหัตถ์ของพระเจ้า58 ไม่กี่วันต่อมา วันที่ 3 มีนาคม ค.ศ. 1995 ประธานฮันเตอร์ถึงแก่กรรม

ศาสดาพยากรณ์ ผู้หยั่งรู้ ผู้เปิดเผย และประธานศาสนจักร

มรณกรรมของประธานฮันเตอร์ แม้ไม่น่าแปลกใจ แต่ก็ทำให้ครอบครัวฮิงค์ลีย์ต้องรับภาระหนัก ในฐานะอัครสาวกอาวุโส ประธานฮิงค์ลีย์จะเป็นประธานศาสนจักรคนต่อไป ซิสเตอร์ฮิงค์ลีย์กล่าวถึงชั่วขณะที่พวกท่านทราบข่าวมรณกรรมของประธานฮันเตอร์ว่า “ประธานฮันเตอร์จากไปแล้วและเราถูกทิ้งให้สานต่อ ดิฉันรู้สึกเศร้ามาก ว้าเหว่มาก กอร์ดอนก็เช่นกัน เขาพูดไม่ออก และเขารู้สึกว้าเหว่มากๆ เขาไม่เหลือคนที่เข้าใจว่าเขากำลังประสบอะไร”59

หลังจากพิธีศพของประธานฮันเตอร์ ประธานฮิงค์ลีย์พบการปลอบโยนในพระวิหาร ขณะอยู่เพียงลำพังในห้องประชุมของฝ่ายประธานสูงสุดและโควรัมอัครสาวกสิบสองในพระวิหารซอลท์เลค ท่านตั้งใจอ่านพระคัมภีร์และตรึกตรองสิ่งที่อ่าน ท่านใคร่ครวญพระชนม์ชีพ การปฏิบัติศาสนกิจ และการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ จากนั้นท่านจึงศึกษาภาพเหมือนบนผนังซึ่งเป็นภาพของประธานศาสนจักรทุกท่านตั้งแต่โจเซฟ สมิธจนถึงฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์ ท่านบันทึกประสบการณ์ครั้งนี้ลงในบันทึกส่วนตัวว่า

“ข้าพเจ้าเดินวนหน้าภาพเหมือนเหล่านี้และมองเข้าไปในดวงตาของบุรุษที่อยู่ในภาพ ข้าพเจ้ารู้สึกประหนึ่งพูดกับพวกท่านได้ ข้าพเจ้ารู้สึกราวกับว่าพวกท่านกำลังพูดกับข้าพเจ้าและทำให้ข้าพเจ้าเกิดความเชื่อมั่นอีกครั้ง … ข้าพเจ้านั่งเก้าอี้ตัวที่ข้าพเจ้าเคยนั่งสมัยเป็นที่ปรึกษาที่หนึ่งของประธาน ข้าพเจ้าใช้เวลามองดูภาพเหมือนเหล่านั้นนานมาก ทุกคนดูเหมือนจะมีชีวิต ดวงตาของพวกท่านดูเหมือนจะจ้องมองข้าพเจ้า ข้าพเจ้ารู้สึกว่าพวกท่านกำลังให้กำลังใจข้าพเจ้าและตั้งใจจะสนับสนุนข้าพเจ้า ดูเหมือนพวกท่านจะพูดกับข้าพเจ้าว่าพวกท่านได้พูดแทนข้าพเจ้าในสภาที่จัดในสวรรค์ว่าข้าพเจ้าไม่มีความจำเป็นต้องกลัว ข้าพเจ้าจะได้รับพรและการสนับสนุนในการปฏิบัติศาสนกิจของข้าพเจ้า

“ข้าพเจ้าคุกเข่าทูลวิงวอนพระเจ้า ข้าพเจ้าพูดกับพระองค์นานมากในการสวดอ้อนวอน … ข้าพเจ้ามั่นใจว่าโดยอำนาจของพระวิญญาณ ข้าพเจ้าได้ยินพระดำรัสของพระเจ้า ไม่ใช่ได้ยินเสียง แต่เป็นความอบอุ่นที่ข้าพเจ้ารู้สึกในใจเกี่ยวกับคำถามที่ข้าพเจ้าถามในคำสวดอ้อนวอน”60

หลังจากประสบการณ์นี้ท่านบันทึกความคิดอีกครั้งว่า “ข้าพเจ้ารู้สึกดีขึ้น และข้าพเจ้ามีความเชื่อมั่นมากยิ่งขึ้นในใจว่าพระเจ้าทรงกำลังทำงานตามพระประสงค์ของพระองค์เกี่ยวกับอุดมการณ์และอาณาจักรของพระองค์ ข้าพเจ้าจะได้รับการสนับสนุนในฐานะประธานศาสนจักร ศาสดาพยากรณ์ ผู้หยั่งรู้ ผู้เปิดเผย และรับใช้ตามเวลาที่พระเจ้าทรงมีพระประสงค์ ด้วยการยืนยันของพระวิญญาณในใจ เวลานี้ข้าพเจ้าจึงพร้อมจะก้าวไปทำงานให้ดีที่สุดเท่าที่ข้าพเจ้ารู้วิธีทำ ข้าพเจ้าแทบไม่อยากเชื่อว่าพระเจ้าทรงมอบความรับผิดชอบอันสูงส่งและศักดิ์สิทธิ์ที่สุดนี้ให้ข้าพเจ้า … ข้าพเจ้าหวังว่าพระเจ้าได้ทรงฝึกข้าพเจ้าให้ทำสิ่งที่ทรงคาดหวังจากข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าจะถวายความจงรักภักดีทั้งหมดแด่พระองค์ และข้าพเจ้าจะแสวงหาคำแนะนำของพระองค์แน่นอน”61

ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ได้รับการวางมือมอบหน้าที่เป็นประธานศาสนจักรเมื่อวันที่ 12 มีนาคม ค.ศ. 1995 วันรุ่งขึ้นท่านพูดที่การประชุมแถลงข่าวและตอบคำถามของนักข่าว เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์รายงานว่า “เมื่อใกล้จบช่วงการสนทนาที่เป็นกันเอง เปี่ยมด้วยความรู้ และโน้มน้าวใจเสมอเกี่ยวกับคำถามหลายข้อที่นักข่าวถามในการประชุมแถลงข่าว นักข่าวคนหนึ่งถามประธานฮิงค์ลีย์ว่า ‘ท่านจะเน้นเรื่องอะไรครับ หัวข้อการบริหารงานของท่านคืออะไรครับ’

“ท่านตอบตามสัญชาตญาณว่า ‘สานต่อ ครับ หัวข้อของเราคือจะสานต่องานอันสำคัญยิ่งที่ผู้มาก่อนเราทำไว้ครับ’”62

ประธานฮิงค์ลีย์รักษาคำปฏิญาณนั้น ด้วยความเคารพเหล่าศาสดาพยากรณ์ผู้ล่วงลับไปก่อนท่าน ท่านสานต่องานที่ท่านเหล่านั้นทำไว้ ด้วยศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้าพระบิดาและพระเยซูคริสต์ ท่านทำตามการเปิดเผยให้ดำเนินงานนั้นในวิธีใหม่ๆ

ภาพ
ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์

ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ที่แท่นพูดในการประชุมใหญ่สามัญ

การนำศาสนจักร “ออกมาจากการปิดบัง” (คพ. 1:30)

ตั้งแต่เริ่มการปฏิบัติศาสนกิจของประธานฮิงค์ลีย์ เอ็ลเดอร์นีล เอ. แม็กซ์เวลล์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองตั้งข้อสังเกตว่า “ประธานฮิงค์ลีย์กำลังช่วยนำศาสนจักรออกมาจากการปิดบัง ศาสนจักรจะก้าวหน้าเท่าที่จำเป็นไม่ได้ถ้าเราถูกซ่อนไว้ในถัง บางคนต้องก้าวออกมา และประธานฮิงค์ลีย์เต็มใจทำเช่นนั้น ท่านเป็นคนเข้าใจอดีตและเข้าใจปัจจุบันไปพร้อมๆ กัน ท่านมีของประทานอันน่าอัศจรรย์ของการแสดงความคิดเห็นที่ทำให้ท่านสามารถนำเสนอข่าวสารในวิธีที่ดึงดูดใจคนทุกแห่งหน”63

ความรู้กว้างขวางของประธานฮิงค์ลีย์ด้านสื่อและการถ่ายทอดเสียงช่วยเตรียมท่านสำหรับงานนี้ ในฐานะประธานศาสนจักร ท่านให้สัมภาษณ์บ่อยครั้งกับนักหนังสือพิมพ์ทั่วโลก ตอบคำถามของพวกเขาเกี่ยวกับหลักคำสอนและนโยบายของศาสนจักร แสดงประจักษ์พยานถึงพระผู้ช่วยให้รอดและพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟู แต่ละครั้งทำให้ความเข้าใจเพิ่มขึ้นและมิตรภาพแน่นแฟ้นขึ้น

ตัวอย่างที่เด่นชัดครั้งหนึ่งคือการสัมภาษณ์ในปี 1996 กับไมค์ วอลเลซนักข่าวผู้มากประสบการณ์ของรายการโทรทัศน์ชื่อ 60 Minutes คุณวอลเลซขึ้นชื่อว่าเป็นผู้สัมภาษณ์ที่ไม่ไว้หน้าใคร ประธานฮิงค์ลีย์ยอมรับว่าท่านกังวลพอสมควรก่อนรายการออกอากาศทางโทรทัศน์ในสหรัฐ “ถ้าผลออกมาน่าพอใจ ข้าพเจ้าก็ยินดี” ท่านกล่าว “แต่ถ้าไม่ ข้าพเจ้าสัญญาว่าจะไม่ก้าวเข้าไปติดกับดักแบบนั้นอีก”64

การสัมภาษณ์เป็นที่น่าพอใจ โดยแสดงให้เห็นด้านบวกมากมายของศาสนจักร ผลที่เกิดขึ้นอีกอย่างหนึ่งคือไมค์ วอลเลซกับประธานฮิงค์ลีย์กลายเป็นเพื่อนกัน

คริสต์ศักราช 2002 ซอลท์เลคซิตี้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูหนาว ทำให้ศาสนจักรกลายเป็นจุดสนใจของนานาประเทศ ประธานฮิงค์ลีย์กับที่ปรึกษาของท่านให้คำปรึกษาในเรื่องการวางแผน “เราตัดสินใจอย่างรอบคอบว่าเราจะไม่ใช้โอกาสนี้เป็นเวลาหรือสถานที่เผยแผ่ศาสนา” ท่านกล่าว “แต่เรามั่นใจว่าจากเหตุการณ์สำคัญครั้งนี้จะมีสิ่งอัศจรรย์เกิดขึ้นกับศาสนจักร”65 ท่านพูดถูก ประชาชนหลายหมื่นคนไปเยือนหุบเขาซอลท์เลคและได้รับการต้อนรับจากเจ้าภาพที่มีมารยาท—วิสุทธิชนยุคสุดท้ายและคนอื่นๆ ทำงานด้วยกันเพื่อสร้างสรรค์ให้กีฬาโอลิมปิกประสบผลสำเร็จ ผู้มาเยือนเหล่านี้เดินรอบเทมเปิลสแควร์ ฟังคณะนักร้องประสานเสียงแทเบอร์นาเคิล และไปเยือนหอสมุดประวัติครอบครัว ประชาชนหลายพันล้านคนเห็นพระวิหารซอลท์เลคทางโทรทัศน์และเห็นนักข่าวนำเสนอเรื่องราวของศาสนจักรได้อย่างน่าพอใจ ตามที่ประธานฮิงค์ลีย์กล่าว นั่นเป็น “เรื่องอัศจรรย์สำหรับศาสนจักร”

นอกจากจะใช้ช่องทางการสื่อสารที่มีมานาน ประธานฮิงค์ลีย์ยังยอมใช้นวัตกรรมใหม่ด้วย ตัวอย่างเช่น ท่านถือว่าอินเทอร์เน็ตเป็นวิธีทำให้ศาสนจักรใกล้ชิดกับสมาชิกและแบ่งปันพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟูกับคนที่นับถือศาสนาอื่น ในช่วงการบริหารงานของท่าน ศาสนจักรเปิดตัว LDS.org, FamilySearch.org, และ Mormon.org

วันที่ 23 มิถุนายน ค.ศ. 2004 วันที่ประธานฮิงค์ลีย์อายุ 94 ปี ท่านได้รับรางวัลเหรียญแห่งอิสรภาพจากประธานาธิบดี ซึ่งเป็นเครื่องอิสริยาภรณ์สูงสุดที่มอบให้ในสหรัฐ ท่านตอบรับดังนี้ “ข้าพเจ้ารู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้จากประธานาธิบดีสหรัฐ ข้าพเจ้าซาบซึ้งใจเป็นอย่างยิ่ง ในความหมายที่กว้างขึ้นคือรางวัลดังกล่าวเป็นเกียรติแก่ศาสนจักรซึ่งได้ให้โอกาสมากมายแก่ข้าพเจ้าและประโยชน์ที่ข้าพเจ้าได้พยายามทำให้เกิดขึ้น”66 ท่านมองว่ารางวัลนี้เป็นสัญลักษณ์ของชื่อเสียงในทางดีขึ้นของศาสนจักรและเป็นหลักฐานยืนยันว่าท่านนำศาสนจักรออกมาจากการปิดบังอย่างแท้จริง

การเดินทางในหมู่วิสุทธิชนยุคสุดท้าย

ประธานฮิงค์ลีย์ไม่ชอบความลำบากของการเดินทาง แต่ความปรารถนาจะรับใช้บรรดาวิสุทธิชนยุคสุดท้ายมีพลังมากกว่าความปรารถนาจะอยู่บ้าน ท่านกล่าวว่าท่านต้องการ “ออกไปอยู่ท่ามกลางผู้คนของเราเพื่อกล่าวชื่นชม ให้กำลังใจ และแสดงประจักษ์พยานถึงความศักดิ์สิทธิ์ในงานของพระเจ้า”67 ช่วงแรกในการบริหารงานท่านแสดงความเห็นว่า “ข้าพเจ้าตั้งใจว่าขณะยังมีเรี่ยวแรงข้าพเจ้าจะออกไปอยู่ท่ามกลางผู้คนของเราทั้งที่บ้านและต่างแดน … ข้าพเจ้าตั้งใจจะทำงานด้วยความกระตือรือร้นตราบเท่าที่จะทำได้ ข้าพเจ้าประสงค์จะพบปะผู้คนที่ข้าพเจ้ารัก”68

ในช่วงรับใช้เป็นประธานศาสนจักร ท่านเดินทางทั่วสหรัฐและไปเยือนประเทศต่างๆ นอกสหรัฐกว่า 90 ครั้ง สรุปคือท่านเดินทางมากกว่าหนึ่งล้านไมล์ (1.6 ล้านกิโลเมตร) เมื่อครั้งเป็นประธานศาสนจักร โดยไปพบปะวิสุทธิชนในทุกภูมิภาคของโลก69

ภาพ
ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์

ประธานฮิงค์ลีย์ชอบ “ออกไปอยู่ท่ามกลางผู้คนทั้งที่บ้านและต่างแดน”

ในบางพื้นที่ คนต้องพยายามมาพบท่านมากกว่าท่านพยายามมาพบพวกเขา ตัวอย่างเช่น ในปี 1996 ท่านกับซิสเตอร์ฮิงค์ลีย์ไปเยือนฟิลิปปินส์ สมาชิกภาพศาสนจักรที่นั่นเพิ่มขึ้นจนมีมากกว่า 375,000 คน ประธานและซิสเตอร์ฮิงค์ลีย์มีกำหนดพูดเย็นวันหนึ่งที่การประชุมในสนามกีฬาอราเนต้าของมะนิลา ประมาณเที่ยงของวันนั้น สนามกีฬา “เต็มเกินพื้นที่รองรับ คนเริ่มต่อแถวตั้งแต่ 7 โมงเช้าเพื่อรอเข้าร่วมการประชุมที่จะเริ่มในอีกสิบสองชั่วโมงข้างหน้า จำนวนที่นับได้คือสมาชิกราว 35,000 คนแออัดอยู่ในที่นั่ง 25,000 ที่ของสนามกีฬา 25,000 ที่นั่งเช่นเดียวกับช่องทางเดินและลานกลางสนาม วิสุทธิชนจำนวนมากโดยสารเรือและรถโดยสารยี่สิบชั่วโมงเพื่อมาที่มะนิลา บางคนจ่ายค่าเดินทางเท่ากับเงินเดือนหลายเดือนของพวกเขา …

“เมื่อมีคนแจ้งประธานฮิงค์ลีย์ว่าสนามกีฬาเต็มและผู้จัดการอาคารสงสัยว่าเป็นไปได้ไหมที่พวกเขาจะเริ่มการประชุมเร็วขึ้น ท่านตอบทันทีว่า ‘ได้เลย’ ท่านกับซิสเตอร์ฮิงค์ลีย์เข้ามาในสนามกีฬากว้างใหญ่ … ประหนึ่งมีคนนำ ที่ประชุมลุกขึ้นยืนอย่างพร้อมเพรียง ปรบมือต้อนรับ แล้วเริ่มร้องเพลงสวด ‘เราขอบพระทัยสำหรับศาสดา’”70

โดยรู้ว่าท่านกับเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ไม่สามารถไปได้ทุกแห่งที่ต้องการ ประธานฮิงค์ลีย์จึงสนับสนุนให้ใช้เทคโนโลยีแนะนำสั่งสอนผู้นำทั่วโลก ท่านใช้เทคโนโลยีดาวเทียมควบคุมการถ่ายทอดการอบรมผู้นำทั่วโลกซึ่งจัดขึ้นครั้งแรกในเดือนมกราคม ปี 2003

การส่งเสริมความสำคัญของการเรียนและการสอนความจริงทางโลกและทางวิญญาณ

ประธานฮิงค์ลีย์กล่าวต่อไปว่า “พวกเราไม่มีใคร… รู้มากพอ ขั้นตอนการเรียนรู้เป็นขั้นตอนที่ไม่จบสิ้น เราต้องอ่าน เราต้องสังเกต เราต้องรับไว้ และเราต้องไตร่ตรองสิ่งซึ่งเผยต่อความคิดของเรา”71 ท่านกล่าวเช่นกันว่า “การสอนที่มีประสิทธิภาพเป็นส่วนสำคัญของการเป็นผู้นำในศาสนจักร ชีวิตนิรันดร์จะมาก็ต่อเมื่อชายหญิงได้รับการสอนอย่างมีประสิทธิภาพจนเปลี่ยนและขัดเกลาชีวิตพวกเขา เราไม่สามารถบังคับพวกเขาให้เป็นคนชอบธรรมหรือไปสวรรค์ได้ พวกเขาต้องได้รับการนำ และนั่นหมายถึงการสอน”72

ประธานฮิงค์ลีย์ปรารถนาจะให้การบำรุงเลี้ยงทางวิญญาณแก่วิสุทธิชนยุคสุดท้ายทั่วโลกมากขึ้น คริสต์ศักราช 1995 ท่านอนุมัติแผนอย่างกระตือรือร้นให้จัดพิมพ์หนังสือชุดหนึ่งซึ่งจะทำให้สมาชิกศาสนจักรมีคลังพระกิตติคุณ ไม่นานศาสนจักรเริ่มจัดพิมพ์หนังสือชุดนี้เรียกว่า คำสอนของประธานศาสนจักร ซึ่งหนังสือเล่มนี้ก็เป็นหนึ่งในนั้น

การเรียนรู้ทางโลกสำคัญต่อประธานฮิงค์ลีย์เช่นกัน ท่านห่วงใยสมาชิกของศาสนจักรในพื้นที่ยากไร้ของโลกผู้ไม่มีเงินจ่ายค่าเรียนขั้นอุดมศึกษาหรือฝึกอาชีพ หากไม่มีการศึกษาและการฝึกเช่นนั้น พวกเขาส่วนใหญ่จะยังอยู่ในความยากไร้ ในภาคฐานะปุโรหิตของการประชุมใหญ่สามัญเดือนเมษายน ปี 2001 ประธานฮิงค์ลีย์กล่าวว่า

“เพื่อแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าว เราจึงเสนอแผนหนึ่ง—ซึ่งเราเชื่อว่าได้รับการดลใจจากพระเจ้า ศาสนจักรกำลังจัดตั้งกองทุนซึ่งส่วนใหญ่จะมาจากเงินบริจาคของวิสุทธิชนยุคสุดท้ายที่ซื่อสัตย์ผู้บริจาคเพื่อจุดประสงค์นี้ เรารู้สึกขอบคุณพวกเขาอย่างสุดซึ้ง … เราจะเรียกว่ากองทุนต่อเนื่องเพื่อการศึกษา”73

ประธานฮิงค์ลีย์อธิบายว่าผู้รับประโยชน์จากโปรแกรมจะได้เงินกู้ยืมจากกองทุนที่สมาชิกศาสนจักรบริจาคให้เป็นค่าเรียนหรือค่าฝึกอาชีพ หลังจากเรียนจบหรือฝึกเสร็จแล้ว ศาสนจักรคาดหวังว่าพวกเขาจะคืนเงินกู้เพื่อจะสามารถใช้เงินกองทุนช่วยคนอื่นต่อไป ประธานฮิงค์ลีย์อธิบายเช่นกันว่ากองทุนต่อเนื่องเพื่อการศึกษาจะ “ยึดหลักธรรมคล้ายกับกองทุนต่อเนื่องเพื่อการอพยพ” ซึ่งศาสนจักรตั้งขึ้นในทศวรรษ 1800 เพื่อช่วยวิสุทธิชนที่ขัดสนอพยพไปไซอัน74

ภายในหกเดือน วิสุทธิชนยุคสุดท้ายบริจาคเงินหลายล้านดอลลาร์เข้ากองทุนต่อเนื่องเพื่อการศึกษา75 หนึ่งปีหลังจากแนะนำแผนดังกล่าว ประธานฮิงค์ลีย์ประกาศว่า “เวลานี้ความพยายามดังกล่าวอยู่บนรากฐานที่มั่นคง … เยาวชนชายหญิงในพื้นที่ด้อยโอกาสของโลก เยาวชนชายหญิงที่ส่วนใหญ่เป็นอดีตผู้สอนศาสนา จะได้รับการศึกษาที่ดี ซึ่งจะยกพวกเขาออกจากปลักของความยากไร้ที่บรรพบุรุษของพวกเขาหลายรุ่นต่อสู้ดิ้นรนมา”76 โปรแกรมนี้ยังคงเป็นพรแก่วิสุทธิชนยุคสุดท้ายทั้งผู้รับและผู้ให้

การเป็นพยานถึงความศักดิ์สิทธิ์ของการแต่งงานและครอบครัว

ในการประชุมสมาคมสงเคราะห์สามัญซึ่งจัดเมื่อวันที่ 23 กันยายน ค.ศ. 1995 ประธานฮิงค์ลีย์กล่าวว่า

“ด้วยการอ้างเหตุผลมากมายจนหลอกให้คนยอมรับว่าเป็นความจริง ด้วยการหลอกลวงมากมายเกี่ยวกับมาตรฐานและค่านิยม ด้วยสิ่งเย้ายวนและสิ่งล่อใจมากมายให้ยอมรับความสกปรกโสมมที่เกิดขึ้นช้าๆ ของโลก เราจึงรู้สึกว่าต้องเตือนและเตือนล่วงหน้า เพื่อทำเช่นนี้ เราฝ่ายประธานสูงสุดและสภาอัครสาวกสิบสองจึงได้ออกถ้อยแถลงต่อศาสนจักรและต่อโลกเป็นการประกาศและการยืนยันมาตรฐาน หลักคำสอน และหลักปฏิบัติอันเกี่ยวข้องกับครอบครัวซึ่งศาสดาพยากรณ์ ผู้หยั่งรู้ และผู้เปิดเผยของศาสนจักรนี้กล่าวย้ำหลายครั้งตลอดประวัติศาสตร์ของศาสนจักร”77

ต่อจากคำเกริ่นนำนี้ ประธานฮิงค์ลีย์อ่าน “ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก” ต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก

ภาพ
ครอบครัวฮิงค์ลีย์กับหลานๆ

“เราขอแนะนำบิดามารดาและลูกๆ ให้ความสำคัญสูงสุดแก่การสวดอ้อนวอนเป็นครอบครัว การสังสรรค์ในครอบครัว การศึกษาและการสอนพระกิตติคุณ และกิจกรรมที่ดีงามของครอบครัว”

ความศักดิ์สิทธิ์ของการแต่งงานและครอบครัวเป็นหัวข้อสำคัญในข่าวสารของประธานฮิงค์ลีย์เสมอ ท่านประณามการกระทำทารุณกรรมทุกรูปแบบ ท่านกระตุ้นให้บิดามารดาและบุตรอดทนต่อกัน รักกัน สอนกัน และรับใช้กัน ในจดหมายลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1999 ท่านกับที่ปรึกษาในฝ่ายประธานสูงสุดกล่าวว่า

“เราขอร้องให้บิดามารดาพยายามทุ่มเทเต็มที่กับการสอนและการเลี้ยงดูบุตรธิดาในหลักธรรมพระกิตติคุณซึ่งจะทำให้พวกเขาใกล้ชิดศาสนจักร บ้านคือพื้นฐานของชีวิตที่ชอบธรรม ไม่มีเครื่องมือใดมาแทนที่หรือมีสัมฤทธิผลในการดำเนินงานสำคัญยิ่งอันเป็นความรับผิดชอบที่พระผู้เป็นเจ้าประทานให้

“เราขอแนะนำบิดามารดาและลูกๆ ให้ความสำคัญสูงสุดแก่การสวดอ้อนวอนเป็นครอบครัว การสังสรรค์ในครอบครัว การศึกษาและการสอนพระกิตติคุณ ตลอดจนกิจกรรมที่ดีงามของครอบครัว แม้อาจจะมีข้อเรียกร้องหรือกิจกรรมอื่นที่เหมาะสมและทรงคุณค่า แต่ต้องไม่ยอมให้สิ่งเหล่านี้เข้ามาแทนหน้าที่ซึ่งพระเจ้าทรงกำหนดไว้เฉพาะบิดามารดาและครอบครัวเท่านั้นที่จะทำได้ดีพอ”78

การยื่นมือช่วยเหลือผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสใหม่

ประธานฮิงค์ลีย์ชอบเห็นคนจำนวนมากเข้าร่วมศาสนจักร แต่ท่านเป็นห่วงแต่ละบุคคลที่อยู่ในกลุ่มคนเหล่านั้น ช่วงแรกของการบริหารงาน ท่านกล่าวว่า

“เนื่องจากจำนวนผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เราจึงต้องพยายามช่วยพวกเขามากขึ้นขณะพวกเขาหาทางของตนเอง พวกเขาทุกคนต้องการสามสิ่ง เพื่อน ความรับผิดชอบ และการบำรุงเลี้ยงด้วย ‘พระวจนะอันประเสริฐของพระผู้เป็นเจ้า’ (โมโรไน 6:4) หน้าที่และโอกาสของเราคือจัดหาสิ่งเหล่านี้ให้พวกเขา”79

การทำให้ผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสใหม่เข้มแข็งเป็นหัวข้อที่ประธานฮิงค์ลีย์พูดถึงเสมอ เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์เล่าเรื่องที่ประธานฮิงค์ลีย์เน้นหัวข้อนี้ว่า “เมื่อไม่นานมานี้ ท่านกล่าวกับอัครสาวกสิบสองด้วยดวงตาเป็นประกายพลางตบโต๊ะตรงหน้าท่านว่า ‘พี่น้องทั้งหลาย เมื่อชีวิตข้าพเจ้าสิ้นสุดและพิธีศพเสร็จสิ้น ข้าพเจ้าจะลุกขึ้นนั่งขณะอยู่ในโลง มองตาท่านแต่ละคน และพูดว่า “การรักษาให้คงอยู่ไปถึงไหนแล้ว”’”80

การสร้างพระวิหาร

ภาพ
ประธานฮิงค์ลีย์ฉาบปูน

ประธานฮิงค์ลีย์ฉาบปูนในพิธีวางศิลามุมเอกก่อนอุทิศพระวิหารนอวู อิลลินอยส์ในปี 2002

คริสต์ศักราช 1910 ปีก่อนกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์เกิด มีพระวิหารเปิดดำเนินการ 4 แห่งในโลกและทั้งหมดอยู่ในยูทาห์ ประมาณปี 1961 เมื่อท่านได้รับการวางมือแต่งตั้งเป็นอัครสาวก จำนวนพระวิหารเพิ่มเป็น 12 แห่ง ความก้าวหน้าครั้งนี้สำคัญอย่างยิ่ง แต่เอ็ลเดอร์ฮิงค์ลีย์มักแสดงความห่วงใยที่คนมากมายทั่วโลกไปรับพรพระวิหารได้จำกัด คริสต์ศักราช 1973 ขณะรับใช้เป็นประธานคณะกรรมการพระวิหารของศาสนจักร ท่านเขียนในบันทึกส่วนตัวว่า “ศาสนจักรสร้างพระวิหาร [ขนาดเล็กหลายแห่ง] ได้ด้วยเงินที่ใช้สร้างพระวิหารวอชิงตัน [เวลานั้นอยู่ระหว่างก่อสร้าง] เงินนี้จะนำพระวิหารไปให้ผู้คนแทนที่จะให้ผู้คนเดินทางไกลไปพระวิหาร”81

เมื่อท่านได้รับการสนับสนุนเป็นประธานศาสนจักรในปี 1995 จำนวนพระวิหารที่เปิดดำเนินการเพิ่มเป็น 47 แห่ง แต่ความปรารถนาจะสร้างพระวิหารเพิ่มยังคงแรงกล้าเหมือนเดิม ท่านกล่าวว่า “ความปรารถนาแรงกล้าของข้าพเจ้าคือมีพระวิหารทุกแห่งที่จำเป็นเพื่อให้ผู้คนของเรา ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ที่ใด สามารถมาทำศาสนพิธีของตนที่พระนิเวศน์ของพระเจ้าได้โดยไม่ต้องเสียสละมากเกินไปและมีโอกาสทำงานแทนผู้วายชนม์”82

ในการประชุมใหญ่สามัญเดือนตุลาคม ปี 1997 ประธานฮิงค์ลีย์ทำการประกาศครั้งประวัติศาสตร์ว่า ศาสนจักรจะเริ่มสร้างพระวิหารขนาดเล็กทั่วโลก83 ท่านกล่าวในเวลาต่อมาว่า “ข้าพเจ้าเชื่อว่าแนวคิดเรื่องพระวิหารขนาดเล็กเป็นการเปิดเผยโดยตรง84 ปี 1998 ท่านประกาศว่าพระวิหารขนาดเล็กอีก 30 แห่ง พร้อมด้วยพระวิหารอื่นที่วางแปลนแล้วหรือกำลังก่อสร้าง จะทำให้ “มีพระวิหารใหม่ทั้งหมด 47 แห่งเพิ่มจากที่เปิดดำเนินการอยู่เวลานี้ 51 แห่ง” ยังความปลาบปลื้มแก่ทุกคนที่ฟัง ประธานฮิงค์ลีย์กล่าวเพิ่มจากนั้นว่า “ข้าพเจ้าคิดว่าเราน่าจะเพิ่มอีก 2 แห่งเพื่อให้มีพระวิหารครบ 100 แห่งในช่วงปลายศตวรรษนี้ ซึ่งเป็น 2000 ปี ‘นับแต่การเสด็จมาในเนื้อหนังของพระเจ้าและพระผู้ช่วยให้รอดของเราพระเยซูคริสต์’ (คพ. 20:1)” ท่านสัญญาต่อจากนั้นว่า “จะยังมีมาอีกหลายแห่ง”85

วันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 2000 ประธานฮิงค์ลีย์อุทิศพระวิหารบอสตัน แมสซาชูเซตส์ พระวิหารที่เปิดดำเนินการเป็นแห่งที่ 100 ก่อนปลายปี 2000 ท่านอุทิศพระวิหารอีกสองแห่ง เมื่อท่านถึงแก่กรรมในปี 2008 ศาสนจักรมีพระวิหารเปิดดำเนินการ 124 แห่ง และประกาศสร้างเพิ่มอีก 13 แห่ง ประธานฮิงค์ลีย์มีส่วนร่วมในการวางแผนและการก่อสร้างพระวิหารส่วนใหญ่ ท่านอุทิศด้วยตนเอง 85 แห่งและอุทิศซ้ำ 13 แห่ง (8 แห่งที่อุทิศซ้ำเป็นพระวิหารที่ท่านเคยอุทิศ)

ศูนย์การประชุมใหญ่

ภาพ
ศูนย์การประชุมใหญ่

ศูนย์การประชุมใหญ่ซึ่งประธานฮิงค์ลีย์อุทิศในการประชุมใหญ่สามัญเดือนตุลาคม ปี 2000

ในการประชุมใหญ่สามัญเดือนตุลาคม ปี 1995 ประธานฮิงค์ลีย์แย้มความคิดที่อยู่ในใจท่านมานาน ท่านพูดจากแทเบอร์นาเคิลบริเวณเทมเปิลสแควร์ว่า “แทเบอร์นาเคิลใหญ่โตหลังนี้ดูเหมือนเล็กลงทุกปี เวลานี้เราประชุมกับคนกลุ่มใหญ่ขึ้นมากภายใต้หลังคาเดียวกันในการประชุมระดับเขตบางครั้ง”86 ในการประชุมใหญ่สามัญเดือนเมษายน ปี 1996 ประธานฮิงค์ลีย์พูดถึงความคิดนี้เพิ่มเติม

“ข้าพเจ้าเสียใจที่คนจำนวนมากผู้ประสงค์จะประชุมกับเราในแท-เบอร์นาเคิลเช้านี้ไม่สามารถเข้ามาข้างในได้ มีคนมากมายอยู่ในสนามด้านนอก หอประชุมพิเศษน่าทึ่งนี้ที่บรรพชนผู้บุกเบิกของเราสร้างและอุทิศเพื่อการนมัสการพระเจ้ามีที่นั่งสะดวกสบายประมาณ 6,000 ที่นั่ง บางท่านที่นั่งอยู่บนม้านั่งแข็งนานสองชั่วโมงอาจสงสัยคำว่า สะดวกสบาย

“ใจข้าพเจ้านึกถึงคนที่ประสงค์จะเข้ามาข้างในและไม่มีที่นั่งให้พวกเขา ประมาณหนึ่งปีก่อนข้าพเจ้าเสนอต่อเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ว่าน่าจะถึงเวลาที่เราต้องศึกษาความเป็นไปได้ของการก่อสร้างบ้านแห่งการนมัสการอีกแห่งให้ใหญ่กว่าเดิมมากเพื่อจะรองรับคนได้สามถึงสี่เท่าของจำนวนคนที่นั่งในอาคารหลังนี้”87

วันที่ 24 กรกฎาคม ค.ศ. 1997 วันครบรอบ 150 ปีที่ผู้บุกเบิกมาถึงหุบเขาซอลท์เลค มีพิธีเบิกดินสำหรับอาคารหลังใหม่—เรียกว่าศูนย์การประชุมใหญ่—ทางทิศเหนือของเทมเปิลสแควร์ ไม่ถึงสามปีต่อมา ในเดือนเมษายน ปี 2000 ศาสนจักรจัดการประชุมใหญ่สามัญภาคแรกที่นั่น แม้อาคารจะยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ประธานฮิงค์ลีย์อุทิศศูนย์การประชุมใหญ่ที่การประชุมใหญ่สามัญเดือนตุลาคม ปี 2000 ก่อนกล่าวคำสวดอ้อนวอนอุทิศ ท่านยืนที่แท่นพูดซึ่งทำจากต้นวอลนัทดำที่ท่านปลูกในสวนของท่าน และกล่าวว่า

“วันนี้เราจะอุทิศพระวิหารแห่งนี้ให้เป็นพระนิเวศน์ที่ใช้นมัสการพระผู้เป็นเจ้าพระบิดานิรันดร์และพระบุตรองค์เดียวที่ถือกำเนิดของพระองค์ พระเจ้าพระเยซูคริสต์ เราหวังและเราสวดอ้อนวอนขอให้การประกาศประจักษ์พยานและหลักคำสอน ศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงพระชนม์ และความสำนึกคุณต่อการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ของพระผู้ไถ่ของเรา”จะยังคงออกจากแท่นพูดนี้ไปสู่ชาวโลก”88

ประจักษ์พยานในพระเยซูคริสต์

วันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 2000 ประธานฮิงค์ลีย์ ที่ปรึกษาของท่านในฝ่ายประธานสูงสุด และโควรัมอัครสาวกสิบสองจัดพิมพ์ถ้อยแถลงเรื่อง “พระคริสต์ผู้ทรงพระชนม์: ประจักษ์พยานของอัครสาวก” ท่านเหล่านั้นประกาศเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดดังนี้ “ไม่มีผู้ใดอื่นอีกแล้วที่มีอิทธิพลลึกซึ้งเช่นนั้นต่อผู้คนที่มีชีวิตอยู่และยังจะมีชีวิตอยู่ต่อไปบนแผ่นดินโลก”89

ไม่มีผู้ใดอื่นมีอิทธิพลลึกซึ้งต่อชีวิตของประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์มากเท่านี้ เป็นเวลากว่า 46 ปีที่ท่านรับใช้เป็นพยานพิเศษถึงพระนามของพระเยซูคริสต์ ไม่กี่เดือนหลังจากท่านและพี่น้องชายจัดพิมพ์ “พระคริสต์ผู้ทรงพระชนม์” ประธานฮิงค์ลีย์ยืนต่อหน้าวิสุทธิชนยุคสุดท้ายและกล่าวว่า “ในบรรดาสิ่งสารพัดที่ข้าพเจ้ารู้สึกสำนึกคุณเช้านี้ มีอยู่สิ่งหนึ่งที่โดดเด่นกว่าอย่างอื่น นั่นคือประจักษ์พยานที่มีชีวิตเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ พระบุตรของพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงฤทธานุภาพ เจ้าชายแห่งสันติ พระผู้บริสุทธิ์”90

การทดลองและความหวัง

ช่วงท้ายการประชุมใหญ่สามัญเดือนเมษายน ปี 2004 ประธานฮิงค์ลีย์กล่าวว่า “ข้าพเจ้าใคร่ขอช่วงเวลานี้กล่าวถึงความรู้สึกส่วนตัวของข้าพเจ้าสักครู่ บางท่านอาจจะสังเกตว่าวันนี้ซิสเตอร์ฮิงค์ลีย์ไม่ได้อยู่ที่นี่ เป็นครั้งแรกในรอบ 46 ปีนับตั้งแต่ข้าพเจ้าเป็นเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ที่เธอไม่มาร่วมการประชุมใหญ่ … ตอนที่เธอล้มพับด้วยความอ่อนเพลียเรากำลังเดินทางกลับบ้าน [จากแอฟริกาในเดือนมกราคม] เธอไม่ค่อยสบายนับแต่นั้น … ข้าพเจ้าคิดว่าเข็มนาฬิกากำลังหมุนช้าลง และเราไม่รู้วิธีหมุนกลับ

“นี่คือเวลาที่เศร้าหมองสำหรับข้าพเจ้า เราแต่งงานครบ 67 ปีเดือนนี้ เธอเป็นคุณแม่ของลูกๆ ห้าคนที่มีพรสวรรค์และความสามารถ เป็นคุณยายของหลานๆ 25 คนและเหลนที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น เราเดินเคียงข้างกันตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เคียงบ่าเคียงไหล่เป็นมิตรแท้ทั้งในยามทุกข์และยามสุข เธอพูดไว้ลึกซึ้งและครอบคลุมในประจักษ์พยานของงานนี้ โดยให้ความรัก กำลังใจ และศรัทธาไม่ว่าเธอจะไปที่ใดก็ตาม”91

สองวันต่อมา วันที่ 6 เมษายน มาร์จอรี เพย์ ฮิงค์ลีย์ถึงแก่กรรม คนหลายล้านคนที่รักเธอเพราะใจห่วงหาอาทร ไหวพริบปฏิภาณ และศรัทธาอันมั่งของเธอพลอยโศกเศร้าไปกับประธานฮิงค์ลีย์ด้วย ท่านขอบคุณสำหรับจดหมายแสดงความรักและให้กำลังใจที่หลั่งไหลมาจากทั่วโลก ท่านกล่าวว่า การแสดงออกเหล่านี้ “ให้การปลอบโยนในยามที่เราทุกข์โศก”92 คนจำนวนมากทำการบริจาคในนามของซิสเตอร์ฮิงค์ลีย์เข้ากองทุนต่อเนื่องเพื่อการศึกษา

แม้จะทำใจได้ยากเรื่องการสูญเสียมาร์จอรีแต่ประธานฮิงค์ลีย์ยังคงทำงานของศาสนจักรต่อไปแม้สุขภาพของท่านจะเสื่อมโทรมไปบ้าง ท่านเริ่มถือไม้เท้า บางครั้งท่านใช้ไม้เท้าประคองตนเอง แต่บ่อยกว่านั้นคือใช้โบกทักทายสมาชิกศาสนจักร ประธานโธมัส เอส. มอนสันจำการสนทนากับแพทย์ประจำตัวประธานฮิงค์ลีย์ได้ เขากังวลกับวิธีที่ประธานฮิงค์ลีย์ใช้—และไม่ใช้—ไม้เท้า แพทย์คนนั้นพูดว่า “เรื่องสุดท้ายที่เราไม่ต้องการให้เกิดกับท่านคือหกล้มสะโพกหักหรือไม่ก็แย่กว่านั้น แต่ท่านโบกไม้เท้าไปทั่วแล้วก็ไม่ใช้ไม้เท้าเวลาเดิน บอกท่านหน่อยสิครับว่าแพทย์ประจำตัวสั่งให้ใช้ไม้เท้า และท่านต้องใช้ตามที่มีไว้ให้ใช้” ประธานมอนสันตอบว่า “คุณหมอครับ ผมเป็นที่ปรึกษาของประธานฮิงค์ลีย์นะครับ คุณเป็นหมอของท่าน คุณ บอกท่านเองสิครับ!”93

ต้นคริสต์ศักราช 2006 เมื่อประธานฮิงค์ลีย์อายุ 95 ปีแพทย์วินิจฉัยว่าท่านเป็นมะเร็ง ที่การประชุมใหญ่สามัญเดือนตุลาคมปีนั้น ท่านกล่าวว่า “พระเจ้าทรงอนุญาตให้ข้าพเจ้ามีชีวิตอยู่ ข้าพเจ้าไม่ทราบว่านานเท่าใด แต่ไม่ว่าเวลาใด ข้าพเจ้าจะยังคงทำภารกิจที่ได้รับมอบหมายให้ดีที่สุด … ข้าพเจ้ารู้สึกดี สุขภาพของข้าพเจ้าดีพอสมควร แต่เมื่อถึงเวลาของผู้สืบทอด การเปลี่ยนแปลงจะราบรื่นและเป็นไปตามพระประสงค์ของพระองค์ผู้เป็นเจ้าของศาสนจักรนี้”94

ปีต่อมาในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2007 ประธานฮิงค์ลีย์ปิดการประชุมใหญ่สามัญครั้งสุดท้ายของท่านโดยกล่าวว่า “เราตั้งตารอพบท่านอีกครั้งในเดือนเมษายนครั้งหน้า ข้าพเจ้าอายุ 97 ปี แต่หวังว่าข้าพเจ้าจะอยู่ถึงเวลานั้น ขอให้พรของสวรรค์สถิตกับท่านในระหว่างนี้ นี่คือคำสวดอ้อนวอนด้วยความอ่อนน้อมจริงใจของเราในพระนามของพระผู้ไถ่ แม้พระเจ้าพระเยซูคริสต์ เอเมน”95

เวอร์จิเนียบุตรสาวของประธานและซิสเตอร์ฮิงค์ลีย์เรียกสี่ปีหลังจากซิสเตอร์ฮิงค์ลีย์ถึงแก่กรรมว่าเป็น “ช่วงสุดท้าย” ของชีวิตประธานฮิงค์ลีย์ เธอกล่าวต่อจากนั้นเกี่ยวกับคำสวดอ้อนวอนของท่านเมื่อวันที่ 20 มกราคม ค.ศ. 2008 หนึ่งสัปดาห์ก่อนท่านถึงแก่กรรม คราวอุทิศโบสถ์ที่บูรณะใหม่ในซอลท์เลคซิตี้

“ในคำสวดอ้อนวอนที่ผิดธรรมดามากครั้งนั้น ท่านวิงวอนพระเจ้าเพื่อตัวท่านเองในฐานะศาสดาพยากรณ์ ท่านทูลด้วยความสำนึกในพระกรุณาธิคุณว่า ‘นับจากวันเวลาของโจเซฟ สมิธจนถึงปัจจุบัน พระองค์ทรงเลือกและทรงแต่งตั้งศาสดาพยากรณ์ให้คนเหล่านี้ พวกข้าพระองค์ขอบพระทัยพระองค์และทูลวิงวอนขอพระองค์ทรงปลอบโยนและสนับสนุนเขา ทรงอวยพรเขาตามความต้องการของเขาและตามจุดประสงค์อันยิ่งใหญ่ของพระองค์’”96

วันพฤหัสบดีที่ 24 มกราคม ค.ศ. 2008 ประธานฮิงค์ลีย์รู้สึกเป็นครั้งแรกว่าท่านไม่สามารถเข้าร่วมการประชุมประจำสัปดาห์ในพระวิหารกับเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ของท่านได้ วันอาทิตย์ต่อมา วันที่ 27 มกราคม ประธานมอนสันให้พรฐานะปุโรหิตแก่ท่าน โดยมีประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์และประธานบอยด์ เค. แพคเคอร์เป็นผู้ช่วย สายวันนั้น ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์จากไปอย่างสงบที่บ้าน รายล้อมไปด้วยบุตรธิดาของท่านและคู่สมรสของพวกเขา

ไม่กี่วันต่อมา คนหลายพันคนแสดงความเคารพขณะพวกเขาเดินผ่านหีบศพของประธานฮิงค์ลีย์ที่เปิดให้สาธารณชนแสดงความอาลัยในหอรูปปั้นศาสดาพยากรณ์ของศูนย์การประชุมใหญ่ ผู้นำจากศาสนจักรอื่นๆ และคณะรัฐบาลตลอดจนแวดวงธุรกิจส่งจดหมายแสดงความอาลัยโดยแสดงความสำนึกคุณต่ออิทธิพลและคำสอนของประธานฮิงค์ลีย์

พิธีศพจัดที่ศูนย์การประชุมใหญ่และแพร่ภาพไปอาคารศาสนจักรทั่วโลก คณะนักร้องประสานเสียงแทเบอร์นาเคิลร้องเพลงสวดเพลงใหม่อันเป็นส่วนหนึ่งของการประชุม เพลงนั้นชื่อว่า “What Is This Thing That Men Call Death?” คำร้องของเพลงสวดเพลงนี้ประพันธ์โดยประธานฮิงค์ลีย์—ประจักษ์พยานสุดท้ายของท่านเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ถึงมิตรสหายผู้นับถือท่านเป็นศาสดาพยากรณ์

ใดฤาคือมนุษย์เรียกมรณา

สงบงันผ่านมาในราตรี

มิใช่อวสาน แต่คือปฐมกาล

แห่งโลกเลิศเลอเจิดจ้ารัศมี

โอ พระเจ้า ขอทรงสัมผัสใจร้าวราน

บรรเทาความหวาดหวั่นตามราวี

ให้ความหวัง ศรัทธา พิศุทธิ์พ้น

ดลพลังลบหยาดน้ำตาข้า

เพียงเปลี่ยนแปลงแต่ไม่มีมรณา

ด้วยการชดใช้จึงมีชัยเหนือกว่า

ของขวัญจากพระองค์ผู้ทรงรักบุตรธิดา

องค์บริสุทธิ์ พระบุตรพระผู้เป็นเจ้า97

อ้างอิง

  1. ดู สตีฟ ฟิเดล, “A Temple to Be Built in Ghana,” Church News, Feb. 21, 1998, 3.

  2. เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์, “Emerging with Faith in Africa,” mormonnewsroom.co.za/article/emerging-with-faith-in-africa; accessed Feb. 11, 2015.

  3. Esther Korantemaa Abuyeh, ใน “Accra Ghana Temple: Commemoration of the Tenth Anniversary,” africawest.lds.org/accra-ghana-temple-commemoration-of-the-tenth-anniversary; accessed Feb. 11, 2015.

  4. แอดนีย์ วาย. โคมัตสุ ใน Sheri L. Dew, Go Forward with Faith: Teachings of Gordon B. Hinckley (1996), 288.

  5. รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “ความสามารถทางวิญญาณ,” เลียโฮนา, ม.ค. 1998, 18-19.

  6. เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์, “President Gordon B. Hinckley: Stalwart and Brave He Stands,” Ensign, June 1995, 4.

  7. ใน Benjamin F. Tibby, Biographical Sketch of Breneman Barr Bitner, Hinckley and Bitner family history collection, Church History Library, Salt Lake City; ดู Silas Richards Company schedule and reports, Sept. 1849, หอสมุดประวัติศาสนจักร ด้วย.

  8. ไบรอันท์ เอส. ฮิงค์ลีย์ ใน เชอรี แอล. ดิว, Go Forward with Faith, 193. ส่วนใหญ่คาดว่าจำนวนผู้รอดชีวิตบนเรือ Mayflower น่าจะเกิน 49 คน.

  9. เชอรี แอล. ดิว, Go Forward with Faith, 24.

  10. เชอรี แอล. ดิว, Go Forward with Faith, 25.

  11. กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์, “Joseph the Seer,” Ensign, May 1977, 66; อ้างอิง “สรรเสริญบุรุษ,” เพลงสวด, บทเพลงที่ 14.

  12. ดู เชอรี แอล. ดิว, Go Forward with Faith, 45.

  13. Teachings of Gordon B. Hinckley (1997), 388.

  14. กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ ใน เชอรี แอล. ดิว, Go Forward with Faith, 46–47.

  15. กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์, “God Hath Not Given Us the Spirit of Fear,” Ensign, Oct. 1984, 4–5.

  16. กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์, “The Question of a Mission,” Ensign, May 1986, 40.

  17. กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์, ใน เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์, “President Gordon B. Hinckley: Stalwart and Brave He Stands,” Ensign, June 7, -8.

  18. กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์, “Be Not Afraid, Only Believe,” Ensign, Feb. 1996, 2.

  19. กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ ใน เชอรี แอล. ดิว, Go Forward with Faith, 62.

  20. กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ ใน เชอรี แอล. ดิว, Go Forward with Faith, 64.

  21. ดู เชอรี แอล. ดิว, Go Forward with Faith, 64.

  22. กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ ใน “His Mission to England Was a Life-Changing Experience,” Deseret Morning News, Jan. 28, 2008, 11.

  23. กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ ใน เชอรี แอล. ดิว, Go Forward with Faith, 75.

  24. บันทึกการทำงานของเอ็ลเดอร์ในการประชุมใหญ่ลิเวอร์พูล คณะเผยแผ่บริติช ศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย, ก.ค. 1933 ถึง ก.พ. 1934; หอสมุดประวัติศาสนจักร, ซอลท์เลคซิตี้.

  25. ดู เชอรี แอล. ดิว, Go Forward with Faith, 69.

  26. Discourses of President Gordon B. Hinckley, Volume 1: 1995–1999 (2005), 348.

  27. Discourses of President Gordon B. Hinckley, Volume 1, 348.

  28. ฮีเบอร์ เจ. แกรนท์ ใน เชอรี แอล. ดิว, Go Forward with Faith, 84.

  29. ดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับประสบการณ์นี้ในบทที่ 2 ของหนังสือเล่มนี้

  30. กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์, จดหมายถึงพาร์ลีย์ กายล์, 7 ธ.ค. 1936; หอสมุดประวัติศาสนจักร ซอลท์เลคซิตี้.

  31. กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ ใน เชอรี แอล. ดิว, Go Forward with Faith, 151-52.

  32. กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ ใน เชอรี แอล. ดิว, Go Forward with Faith, 104.

  33. มาร์จอรี เพย์. ฮิงค์ลีย์ ใน เชอรี แอล. ดิว, Go Forward with Faith, 59.

  34. มาร์จอรี เพย์. ฮิงค์ลีย์ ใน เชอรี แอล. ดิว, Go Forward with Faith, 114-15.

  35. มาร์จอรี เพย์. ฮิงค์ลีย์ ใน เชอรี แอล. ดิว, Go Forward with Faith, 173-74.

  36. มาร์จอรี เพย์ ฮิงค์ลีย์ ใน Glimpses into the Life and Heart of Marjorie Pay Hinckley, ed. Virginia H. Pearce (1999), 107.

  37. กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์, จดหมายถึงจี. โฮเมอร์ เดอร์แฮม, 27 มี.ค. 1939; หอสมุดประวัติศาสนจักร ซอลท์เลคซิตี้.

  38. กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ ใน เชอรี แอล. ดิว, Go Forward with Faith, 126.

  39. ดู เชอรี แอล. ดิว, Go Forward with Faith, 135-36.

  40. ดู เชอรี แอล. ดิว, Go Forward with Faith, 143-44.

  41. เดวิด โอ. แมคเคย์ ใน เชอรี แอล. ดิว, Go Forward with Faith, 176.

  42. ดู เชอรี แอล. ดิว, Go Forward with Faith, 177-81.

  43. กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ ใน Conference Report, Apr. 1958, 123-24.

  44. กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ ใน Conference Report, Apr. 1958, 123.

  45. เคนจิ ทานากะ ใน เชอรี แอล. ดิว, Go Forward with Faith, 220.

  46. เดวิด โอ. แมคเคย์ ใน เชอรี แอล. ดิว, Go Forward with Faith, 234.

  47. กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ ใน Conference Report, Apr. 1962, 71.

  48. ดู อัลเล็น อี ลิทสเตอร์ ใน เชอรี แอล. ดิว, Go Forward with Faith, 313.

  49. อัลเล็น อี ลิทสเตอร์ ใน เชอรี แอล. ดิว, Go Forward with Faith, 314.

  50. ดู เชอรี แอล. ดิว, Go Forward with Faith, 315.

  51. ในช่วงปีท้ายๆ ของการรับใช้เป็นประธานศาสนจักร ประธานเดวิด โอ. แมคเคย์เรียกที่ปรึกษาเพิ่มในฝ่ายประธานสูงสุดเพื่อช่วยท่าน

  52. กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์, “Faith: The Essence of True Religion,” Ensign, Nov. 1981, 6.

  53. กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์, “Five Million Members—A Milestone and Not a Summit,” Ensign, May 1982, 46.

  54. กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์, “The Loneliness of Leadership” (Brigham Young University devotional, Nov. 4, 1969), speeches.byu.edu.

  55. กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ ใน ฟรานซิส เอ็ม. ออร์ควิโอลา, “Temple Dedication Rewards Faith of Filipino Saints,” Ensign, Nov. 1984, 106.

  56. กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ ใน “New Mission Presidents Receive Instruction from Church Leaders,” Ensign, Sept. 1984, 76.

  57. กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ ใน “Leadership Meetings Focus on Missionary Work, Activation, and Strengthening Members,” Ensign, May 1985, 96.

  58. ดู เชอรี แอล. ดิว, Go Forward with Faith, 505.

  59. มาร์จอรี เพย์. ฮิงค์ลีย์ ใน เชอรี แอล. ดิว, Go Forward with Faith, 505.

  60. กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ ใน เชอรี แอล. ดิว, Go Forward with Faith, 508.

  61. กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ ใน เชอรี แอล. ดิว, Go Forward with Faith, 508.

  62. เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์, “President Gordon B. Hinckley: Stalwart and Brave He Stands,” 2.

  63. นีล เอ. แม็กซ์เวลล์ ใน เชอรี แอล. ดิว, Go Forward with Faith, 536.

  64. กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์, “Remember … Thy Church, O Lord,” Ensign, May 1996, 83.

  65. กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์, “ศาสนจักรก้าวไปข้างหน้า,” เลียโฮนา, ก.ค. 2002, 7.

  66. กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ ใน “President Gordon B. Hinckley Awarded Presidential Medal of Freedom,” mormonnewsroom.org/article/president-gordon-b.-hinckley-awarded-presidential-medal-of-freedom; accessed Sept. 21, 2015.

  67. กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์, “การให้อภัย,” เลียโฮนา, พ.ย. 2005, 96.

  68. กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์, “เช้าวันอีสเตอร์อันทรงรัศมีภาพ,” เลียโฮนา, ก.ค. 1996, 80.

  69. ดู “Milestones in the Presidency of Gordon B. Hinckley,” In Memoriam: President Gordon B. Hinckley, 1910–2008 (บทแทรกของ Ensign, Mar. 2008), 13.

  70. เชอรี แอล. ดิว, Go Forward with Faith, 553–54.

  71. Teachings of Gordon B. Hinckley, 298.

  72. กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ ใน เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์, “A Teacher Come from God,” Ensign, May 1998, 26.

  73. กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์, “กองทุนต่อเนื่องเพื่อการศึกษา,” เลียโฮนา, ก.ค. 2001, 72.

  74. กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์, “กองทุนต่อเนื่องเพื่อการศึกษา,” 72.

  75. ดู กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์, “ยื่นมือออกไปพยุงอีกคนหนึ่ง,” เลียโฮนา, ม.ค. 2001, 74.

  76. กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์, “ศาสนจักรก้าวไปข้างหน้า,” 7.

  77. กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์, “ยืนหยัดต่อต้านแผนการร้ายของโลก,” เลียโฮนา, ม.ค. 1996, 112.

  78. จดหมายจากฝ่ายประธานสูงสุด, 11 ก.พ. 1999, ใน “Policies, Announcements, and Appointments,” Ensign, June 1999, 80. ดูหัวข้อนี้เพิ่มเติมในบทที่ 10 และ 11.

  79. กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์, “ผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสและคนหนุ่ม,” เลียโฮนา, ก.ค. 1997, 57. ดูหัวข้อนี้เพิ่มเติมในบทที่ 22

  80. เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์, “จงเข้าสนิทอยู่ในเรา,” เลียโฮนา, พ.ค. 2004, 39.

  81. กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ ใน เชอรี แอล. ดิว, Go Forward with Faith, 325.

  82. Teachings of Gordon B. Hinckley, 629.

  83. ดู กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์, “ความคิดบางประการเกี่ยวกับพระวิหาร การรักษาผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสให้คงอยู่ และการรับใช้งานเผยแผ่,” เลียโฮนา, ม.ค. 1998, 62-63.

  84. กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์, “The Quorum of the First Presidency,” Ensign, Dec. 2005, 50.

  85. กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์, “New Temples to Provide ‘Crowning Blessings’ of the Gospel,” Ensign, May 1998, 88. ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการดลใจให้สร้างพระวิหารขนาดเล็กในบทที่ 23

  86. กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์, “As We Gather Together,” Ensign, Nov. 1995, 4.

  87. กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์, “เช้าวันอีสเตอร์อันทรงรัศมีภาพ,” 80.

  88. กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์, “สหัสวรรษที่ยิ่งใหญ่,” เลียโฮนา, ม.ค. 2001, 98.

  89. “พระคริสต์ผู้ทรงพระชนม์: ประจักษ์พยานของอัครสาวก,” เลียโฮนา, เม.ย. 2000, 2.

  90. กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์, “ประจักษ์พยานของข้าพเจ้า,” เลียโฮนา, ม.ค. 2001, 89. ดูหัวข้อนี้เพิ่มเติมในบทที่ 8 และ 24.

  91. กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์, “สุนทรพจน์ปิดการประชุม,” เลียโฮนา, พ.ค. 2004, 128.

  92. กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์, “สตรีในชีวิตเรา,” เลียโฮนา, พ.ย. 2004, 102.

  93. โธมัส เอส. มอนสัน, “God Be with You Till We Meet Again,” In Memoriam: President Gordon B. Hinckley, 1910–2008, 30.

  94. กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์, “ศรัทธาที่จะเลื่อนภูเขา,” เลียโฮนา, พ.ย. 2006, 104.

  95. กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์, “การให้อภัย,” เลียโฮนา, พ.ย. 2007, 96.

  96. Virginia H. Pearce, “A Daughter’s Tribute,” In Memoriam: President Gordon B. Hinckley, 1910–2008, 18–19.

  97. กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์, “What Is This Thing That Men Call Death?” In Memoriam: President Gordon B. Hinckley, 1910–2008, 32.