2017
ช้างในห้องเรียน
ตุลาคม 2017


การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด

ช้างในห้องเรียน

การประชุมสภาครูไม่เพียงเปลี่ยนวิธีที่เราสอนเท่านั้น แต่เปลี่ยนวิธีที่เราเรียนรู้ด้วย

ภาพ
elephant

มิสวาเค ไซโตลพบความท้าทายอย่างหนึ่ง ในฐานะประธานโรงเรียนวันอาทิตย์วอร์ด พระผู้เป็นเจ้าทรงมอบความรับผิดชอบให้เขาช่วยปรับปรุงการเรียนและการสอนพระกิตติคุณในวอร์ด1

แต่สมาชิกวอร์ดของเขาในโจฮันเนสเบิร์ก แอฟริกาใต้มีภูมิหลังและความคาดหวังต่างกันมากในบางกรณี บางคนมีพื้นความรู้ดี แต่บางคนไม่ หลายคนได้รับการสอนมาว่าหน้าที่ของนักเรียนคือฟัง ไม่ใช่พูด อีกหลายคนมีอุปสรรคทางวัฒนธรรมจึงไม่เข้าใจว่า ทั้ง ชายและหญิงควรร่วมมือกันในการสอนที่โบสถ์และที่บ้าน

“เรามีคนพูดภาษาต่างกันด้วย” บราเดอร์ไซโตลกล่าว “แต่พระวิญญาณทรงต้องการกระตุ้นเตือนแต่ละคน”

เมื่อเริ่มใช้การประชุมสภาครูและ การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด ปีที่แล้ว วอร์ดและสาขาทั่วศาสนจักรเริ่มจัดการประชุมสภาครูเพื่อสนทนา เรียนรู้ และปฏิบัติตามสิ่งที่มีความหมายว่าสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด

ตอนนั้นเองที่บราเดอร์ไซโตลเริ่มเห็นว่าการประชุมสภาครูจะเป็นพรแก่วอร์ดของเขาได้อย่างไร การประชุมจะแก้ปัญหายุ่งยากทางวัฒนธรรม จะเพิ่มการมีส่วนร่วมในชั้นเรียน และทัศนะต่างกันของสมาชิกจะกลายเป็นพร

เหมือนอีกมากมายหลายคนทั่วโลก บราเดอร์ไซโตลตระหนักว่าพระเจ้าไม่ทรงใช้การประชุมสภาครูเพียงเพื่อเปลี่ยนวิธีสอนเท่านั้น แต่พระองค์ทรงใช้การประชุมนี้เปลี่ยนวิธีเรียนรู้ด้วย

ช้างกับมุมมองต่างกัน

การค้นพบที่น่าสนใจที่สุดอย่างหนึ่งสำหรับบราเดอร์ไซโตลคือเมื่อครูให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ของตน ทุกคนได้ประโยชน์จากทัศนะที่กว้างขึ้นซึ่งได้จากมุมมองที่ต่างกัน

บราเดอร์ไซโตลเกิดความเข้าใจนั้นระหว่างการประชุมสภาครูครั้งหนึ่ง เมื่อสมาชิกวอร์ดคนหนึ่งเล่าอุปมาเรื่องชายตาบอดที่มีมุมมองต่างกันกับช้าง อุปมาบอกว่าชายตาบอดหกคนบรรยายลักษณะช้างต่างกัน (ขาเหมือนเสา หางเหมือนเชือก งวงเหมือนท่อพ่นน้ำ เป็นต้น) เพราะแต่ละคนสัมผัสอวัยวะคนละส่วน2

ภาพ
parts of an elephant

“แต่สมมติว่าช้างแทนการสอนพระกิตติคุณ” บราเดอร์ไซโตลกล่าว “เราต้องทำให้สมาชิกชั้นเรียนแต่ละคนสามารถบอกมุมมองของตนทั้งนี้เพื่อเราจะเข้าใจตรงกันว่าพระกิตติคุณเป็นพรแก่เราทุกคนอย่างไร”

นั่นคือสาเหตุที่ครูในวอร์ดของบราเดอร์ไซโตลมักจะนั่งล้อมโต๊ะตัวหนึ่งระหว่างการประชุมสภาครู—เพื่อจะสนทนากันได้สะดวก “นั่นเตือนเราว่าทุกคนมีสิทธิ์พูดเท่ากัน” เขากล่าว

ตามความต้องการ ของพวกเขา

ในโตเกียว ญี่ปุ่น นัตสุกะ โซเอะจิมะไม่แน่ใจว่าเธอจะสอนได้ดี “เมื่อดิฉันได้รับเรียกเป็นครูโรงเรียนวันอาทิตย์สอนเยาวชน” เธอกล่าว “ดิฉันบอกอธิการว่าดิฉันคงกลัว แต่เขาบอกว่าการเรียกมาจากพระผู้เป็นเจ้า ดิฉันจึงยอมรับ”

นักเรียนกลุ่มนั้นทำให้เธอกลัวเพราะความท้าทายที่แต่ละคนแสดงให้เห็น เยาวชนสองคนมีความพิการทางการได้ยิน สมาชิกชั้นเรียนบางคนที่ย้ายจากประเทศอื่นมาอยู่ญี่ปุ่นพูดแต่ภาษาอังกฤษ เธอกลัวความต่างวัยระหว่างเธอกับสมาชิกชั้นเรียนด้วย

ต่อจากนั้นในการประชุมสภาครูครั้งหนึ่ง ซิสเตอร์โซเอะจิมะพบคำตอบ “เราพูดคุยเกี่ยวกับการรักสมาชิกชั้นเรียนแต่ละคน รู้จักชื่อพวกเขา สวดอ้อนวอนให้พวกเขาทีละคน และสอน—โดยพระวิญญาณทรงนำ—ตามความต้องการ ของพวกเขา” เธออธิบาย “ดิฉันจึงเริ่มทำ” เธอทำเรื่องอื่นที่ได้เรียนรู้ในสภาด้วยเช่น “ดิฉันใช้คำพูดถ่ายทอดความรักของดิฉัน”

ผลหรือ “ใจดิฉันเปลี่ยน ดิฉันเริ่มรู้สึกรักนักเรียน ดิฉันเป็นห่วงคนที่ขาดเรียนและสวดอ้อนวอนให้พวกเขาด้วย ทันทีที่จบบทเรียน ดิฉันเริ่มเตรียมบทต่อไปเพื่อให้มีเวลาคิดเรื่องโอกาสการสอน ดิฉันท่วมท้นด้วยปีติ”

คำตอบเฉพาะเจาะจง

แบรด วิลสันประธานโรงเรียนวันอาทิตย์ในรัฐมินนิโซตา สหรัฐอเมริกาต้องแน่ใจว่าครูในการประชุมสภาครูไม่ออกจากห้องจนกว่าพวกเขาสนทนาว่าจะเปลี่ยนเพราะสิ่งที่ได้เรียนรู้อย่างไร

“เราทำตามหลักการที่ให้ไว้ใน การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด” บราเดอร์วิลสันกล่าว “เราสนทนาประสบการณ์ของครู จากนั้นจึงสนทนาหัวข้อหนึ่งที่แนะนำไว้ ในฐานะวิทยากรกระบวนการ ผมถามคำถามและสรุปความคิด จากนั้นเราฝึกนำไปปฏิบัติ เราแบ่งเป็นกลุ่มเล็กๆ และสนทนาว่า ‘ฉันจะทำอะไรต่างจากเดิมเพราะการประชุมของเราวันนี้’”

รอน กูดสันผู้สอนโควรัมมัคนายกในวอร์ดเดียวกันกล่าวว่าเขาประทับใจที่เห็นบราเดอร์วิลสัน “ฝึก” สภา “เราพูดคุยกันว่าพระผู้ช่วยให้รอดจะทรงสอนอย่างไร” เขากล่าว “จากนั้นเมื่อคุณรู้สึกถึงพระวิญญาณ คุณคิดว่า ‘ผมควรจะลองสิ่งนี้กับชั้นเรียนของผม’ การนึกถึงพระผู้ช่วยให้รอดเปลี่ยนวิธีของคุณ เราคิดน้อยลงเรื่อง ‘ผมต้องเตรียมบทเรียน’ และคิดมากขึ้นเรื่อง ‘มัคนายกเหล่านี้ต้องการอะไรและผมจะช่วยให้สิ่งนั้นแก่พวกเขาได้อย่างไร’”

เขาจำได้ตอนเขียนในบันทึกส่วนตัว “ผมเข้าร่วมการประชุมสภาครูวันนี้ และนี่คือสิ่งที่ผมต้องทำ” บันทึกส่วนตัวของเขาเต็มไปด้วยข้อความเช่นนั้น เวลานี้เขาเตรียมล่วงหน้า “เริ่มแต่เนิ่นๆ และคุณได้การกระตุ้นเตือนตลอดสัปดาห์” เขาถามมัคนายกว่าเกิดอะไรขึ้นในชีวิตพวกเขา “ผมช่วยพวกเขาได้มากขึ้นเมื่อผมรู้จักพวกเขาดีขึ้น” เขาเชิญมัคนายกให้ช่วยสอน “เมื่อพวกเขาช่วยสอน พวกเขาเรียนรู้มากขึ้นด้วย”3

ดิฉันร้องเพลงไม่หยุด

“ในสภาของเรา เราพูดคุยกันว่าดนตรีจะอัญเชิญพระวิญญาณได้อย่างไร” โจเซลีน เฮร์ริงตันครูปฐมวัยในวอร์ดมินนิโซตาเดียวกันกล่าว “ต่อมา ดิฉันกำลังสอนอรุโณทัย ดิฉันคิดว่า ‘ฉันจะร้องเพลงขณะพวกเขาระบายสี และนั่นจะดีมาก’ ดิฉันเริ่มร้องเพลง และพวกเขาทุกคนหยุดฟัง ดิฉันจึงร้องต่อไป นั่นทำให้เกิดพระวิญญาณ และเมื่อร้องจบ พวกเขาแสดงความคารวะขณะรอดิฉันพูด เราพูดคุย [ในสภา] ด้วยเรื่องการแสดงประจักษ์พยานเมื่อมีโอกาส ดิฉันจึงแสดงประจักษ์พยานโดยใช้คำพูดที่พวกเขาเข้าใจได้”

ซิสเตอร์เฮร์ริงตันกล่าวว่าเธอขอบคุณที่ให้ครูปฐมวัยอยู่ในการประชุมสภาด้วย “เราพูดคุยเกี่ยวกับการสอนผู้ใหญ่” เธอกล่าว “แต่จากนั้นบราเดอร์วิลสันจะพูดว่า ‘แล้วการสอนเยาวชนล่ะครับ แล้วการสอนเด็กล่ะครับ’ เขาดึงความสนใจของเรากลับมาว่ามีช่วงวัยต่างกันทั้งหมดอยู่”

จากสภาถึงสภา

อดัม มาร์ตินประธานโรงเรียนวันอาทิตย์วอร์ดในเมืองแคลกะรี รัฐแอลเบอร์ตา แคนาดา กล่าวว่าเขาขอบคุณข้อเสนอแนะจากสภาวอร์ด “ประธานสมาคมสงเคราะห์หรือประธานโควรัมเอ็ลเดอร์จะพูดว่า ‘เราอยากให้ครูเน้นเรื่องนี้’ เราจึงนำเรื่องนี้เสนอใน [การประชุม] สภาครู” เขากล่าว

เมื่อเริ่มการประชุมสภาครูครั้งแรก ครูไม่แน่ใจว่าจะคาดหวังอะไร เขาจึงเชิญหลายคนเป็นส่วนตัวและแนะนำเนื้อหาการอบรมที่อยู่ใน teaching.lds.org “ตอนนี้ลูกบอลกำลังกลิ้ง” เขากล่าว “พวกเขารู้ว่าที่นั่นเราสนทนากันว่าเกิดอะไรขึ้น”

การประชุมเมื่อเร็วๆ นี้ครั้งหนึ่งเน้นเรื่องการทำตามพระวิญญาณ “เราพูดเรื่องการเตรียมให้ดีแต่ไม่ต้องกังวลว่าต้องสอนให้ครอบคลุมทั้งหมด” เขากล่าว “ซิสเตอร์คนหนึ่งพูดว่าเธอรู้สึกเสมอว่าต้องพูดทุกข้อในแผนบทเรียนของเธอ คุณจะเห็นเธอเริ่มตระหนักเมื่อเราพูดเรื่องทำตามการดลใจขณะที่คุณนำการสนทนา”

การหาทางออกด้วยกัน

ภาพ
elephant on a table

การสอนแต่ละสถานการณ์มีทั้งโอกาส ความท้าทาย และพรที่แฝงอยู่ นั่นคือสาเหตุที่สภาได้ผล เพราะสภาให้ครูหาและพบวิธีตอบสนองความท้าทายเฉพาะด้าน ของพวกเขา ด้วยความช่วยเหลือจากพระวิญญาณ

เจฟฟรีย์ รีดประธานโรงเรียนวันอาทิตย์สเตคในรัฐแอริโซนา สหรัฐอเมริกากล่าวว่าการประชุมสภาครูได้ผลที่สุดเมื่อครูเข้าใจว่าจุดประสงค์ของพวกเขาคือหารือ “ต่อจากนั้นพวกเขาเห็นว่าพวกเขาสามารถช่วยกันได้”

เขากล่าวว่าสเตคกำลังเน้นเรื่องช่วยครูเปลี่ยนจากคิดว่า “ฉันสอนดีหรือไม่” เป็นคิดว่า “นักเรียนกำลังรับข่าวสารอย่างไร”

มาริสา โคโนวา ครูปฐมวัยในสเตคกล่าวว่าเพื่อตอบรับการกระตุ้นเตือนที่เธอรู้สึกในสภาครู ตอนนี้เธอกระตุ้นให้สมาชิกชั้นเรียนอัศวิน 8 ของเธอสวดอ้อนวอนให้กัน นั่นได้ผล แต่อาจใช้วิธีนี้ไม่ได้กับชั้นเรียนผู้ใหญ่ “การสวดอ้อนวอนให้สมาชิกทุกคนในชั้นเรียนหลักคำสอนพระกิตติคุณขนาดใหญ่อาจจะมากเกินไป” เธอกล่าว “โชคดีที่ครูเหล่านั้นพูดว่า ‘คุณคิดว่าเราจะปรับเรื่องนี้ให้เหมาะกับชั้นเรียนของเราได้อย่างไร’ และเราหาทางออกด้วยกัน

“สิ่งที่ดิฉันชื่นชอบเกี่ยวกับการประชุมสภาครู” เธอกล่าว “คือพวกเขาให้เวลาเราใคร่ครวญว่าเราจะทำอย่างไรและเรากำลังทำอะไร การสนับสนุนและคำติชมนับว่าเป็นประโยชน์ ทำให้รู้สึกว่าเราทุกคนกำลังทำงานให้บรรลุเป้าหมายเดียวกัน ดิฉันชอบมุมมองต่างกันที่หลายคนนำมาสนทนากันด้วย นั่นช่วยให้ดิฉันพิจารณาสิ่งที่ลำพังดิฉันคงไม่พิจารณา”

เมื่อเรามีส่วนร่วมและแบ่งปันในการประชุมสภาครู วิสัยทัศน์ของเราเรื่องช้างที่เรียกว่า “การสอนพระกิตติคุณ” เริ่มชัดขึ้น เหมือนบราเดอร์ไซโตลในแอฟริกา สมาชิกมากมายทั่วศาสนจักรกำลังพบว่าเมื่อเราสามารถสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอดได้ดีขึ้น นั่นไม่เพียงเปลี่ยนวิธีที่เราสอนเท่านั้นแต่เปลี่ยนวิธีที่เราเรียนรู้ด้วย

อ้างอิง

  1. ดู คู่มือเล่ม 2: การบริหารงานศาสนจักร (2010), 12.2.2.

  2. อุปมาอยู่ใน ดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ, “ความจริงคืออะไร” (การให้ข้อคิดทางวิญญาณของระบบการศึกษาของศาสนจักรสำหรับคนหนุ่มสาว, 13 ม.ค. 2013), broadcasts.lds.org; และ ดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ, “What Is the Truth?” Friend, Mar. 2017, 2.

  3. ดูข้อเสนอแนะเพิ่มเติมได้ที่ ไบรอัน เค. แอชตัน, “ช่วยเยาวชนสอน,” เลียโฮนา, ส.ค. 2016, 24–25.