การประชุมใหญ่สามัญ
พันธสัญญาและหน้าที่รับผิดชอบ
การประชุมใหญ่สามัญเดือนเมษายน 2024


พันธสัญญาและหน้าที่รับผิดชอบ

ศาสนจักรของพระเยซูคริสต์เป็นที่รู้จักกันว่าเป็นศาสนจักรที่เน้นการทำพันธสัญญากับพระผู้เป็นเจ้า

“ศาสนจักรของคุณแตกต่างจากที่อื่นอย่างไร?” คำตอบข้าพเจ้าต่อคำถามสำคัญนี้ต่างกันไปเมื่อข้าพเจ้าเป็นผู้ใหญ่ขึ้นและเมื่อศาสนจักรเติบโตขึ้น ตอนที่ข้าพเจ้าเกิดในยูทาห์ในปี 1932 สมาชิกภาพศาสนจักรของเรามีเพียง 700,000 คนเท่านั้น ส่วนใหญ่รวมกันอยู่ในยูทาห์และรัฐใกล้เคียง เวลานั้น เรามีพระวิหารเพียง 7 แห่ง ปัจจุบันสมาชิกภาพของศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายมีมากกว่า 17 ล้านคนในประมาณ 170 ชาติ ณ วันที่ 1 เมษายนนี้ เรามีพระวิหารที่อุทิศแล้ว 189 แห่งในหลายชาติและอีกกว่า 146 แห่งอยู่ในขั้นตอนการวางแผนและการก่อสร้าง ข้าพเจ้ารู้สึกว่าต้องพูดถึงจุดประสงค์ของพระวิหารเหล่านี้และประวัติศาสตร์กับบทบาทของพันธสัญญาในการนมัสการของเรา สิ่งนี้จะเสริมคำสอนที่ได้รับการดลใจของผู้พูดท่านก่อนๆ

1.

พันธสัญญาคือคำมั่นสัญญาที่จะบรรลุหน้าที่รับผิดชอบบางประการ คำมั่นสัญญาส่วนตัวจำเป็นอย่างยิ่งต่อการวางกฎเกณฑ์ชีวิตเราแต่ละคนและการทำหน้าที่ของสังคม แนวคิดนี้กำลังถูกท้าทายในปัจจุบัน เสียงส่วนน้อยต่อต้านอำนาจระบบและยืนกรานว่าบุคคลควรเป็นอิสระจากข้อจำกัดใดๆ ที่จำกัดเสรีภาพส่วนบุคคลของตน แต่เรารู้จากประสบการณ์มานับพันปีว่าบุคคลสละเสรีภาพส่วนบุคคลบางอย่างเพื่อได้รับประโยชน์จากการมีชีวิตอยู่ในครอบครัวและชุมชนที่มีระบบระเบียบ การสละเสรีภาพส่วนบุคคลดังกล่าวขึ้นอยู่กับคำมั่นสัญญาหรือพันธสัญญาเป็นหลัก ไม่ว่าจะโดยชัดเจนหรือโดยนัย

ภาพ
บุคลากรทางการทหาร
ภาพ
บุคลากรทางการแพทย์
ภาพ
นักผจญเพลิง
ภาพ
ผู้สอนศาสนาเต็มเวลา

นี่เป็นบางตัวอย่างของหน้าที่รับผิดชอบเชิงพันธสัญญาในสังคมของเรา: (1) ผู้พิพากษา (2) ทหาร (3) บุคลากรทางการแพทย์ และ (4) นักผจญเพลิง ทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับอาชีพคุ้นเคยเหล่านี้ทำคำมั่นสัญญา—ซึ่งมักจะทำอย่างเป็นทางการด้วยคำปฏิญาณหรือพันธสัญญา—ว่าจะปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ผู้สอนศาสนาเต็มเวลาของเราก็เช่นเดียวกัน เครื่องแต่งกายหรือป้ายชื่อที่มีลักษณะเฉพาะมีไว้เพื่อแสดงว่าผู้สวมใส่อยู่ภายใต้พันธสัญญา ดังนั้นจึงมีหน้าที่สอนและรับใช้และควรได้รับการสนับสนุนในการรับใช้นั้น จุดประสงค์ที่เกี่ยวข้องคือเพื่อเตือนผู้สวมใส่ถึงหน้าที่รับผิดชอบตามพันธสัญญาของตน ไม่มี “มนต์ขลัง” ในเครื่องแต่งกายหรือสัญลักษณ์ที่มีลักษณะเฉพาะของพวกเขา มีเพียงการเตือนใจที่จำเป็นเกี่ยวกับความรับผิดชอบพิเศษที่ผู้สวมใส่ได้รับเท่านั้น เป็นความจริงเช่นเดียวกันกับสัญลักษณ์แหวนหมั้นกับแหวนแต่งงาน และบทบาทของแหวนในการประกาศให้ผู้พบเห็นทราบหรือเตือนผู้สวมใส่ถึงหน้าที่รับผิดชอบตามพันธสัญญาของตน

ภาพ
แหวนแต่งงาน

2.

ที่ข้าพเจ้าพูดเกี่ยวกับการที่พันธสัญญาเป็นรากฐานสำหรับการวางกฎเกณฑ์ชีวิตบุคคล ใช้ได้เป็นพิเศษกับพันธสัญญาทางศาสนา รากฐานและประวัติความเป็นมาของสังกัดและข้อกำหนดทางศาสนามากมายขึ้นอยู่กับพันธสัญญา ตัวอย่างเช่น พันธสัญญาแห่งอับราฮัมเป็นพื้นฐานของหลายๆ ประเพณีที่ยิ่งใหญ่ทางศาสนา แนะนำแนวคิดศักดิ์สิทธิ์ของคำสัญญาเชิงพันธสัญญาของพระผู้เป็นเจ้ากับบุตรธิดาของพระองค์ พันธสัญญาเดิมมักกล่าวถึงพันธสัญญาระหว่างพระผู้เป็นเจ้ากับอับราฮัมและพงศ์พันธุ์ของเขา1

ส่วนแรกของพระคัมภีร์มอรมอนซึ่งเขียนในช่วงสมัยพันธสัญญาเดิม แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงบทบาทของพันธสัญญาในประวัติศาสตร์และการนมัสการของชาวอิสราเอล นีไฟรับทราบว่างานเขียนของชาวอิสราเอลในยุคนั้นคือ “บันทึกของชาวยิว, ซึ่งมีพันธสัญญาของพระเจ้า, ที่พระองค์ทรงทำไว้กับเชื้อสายแห่งอิสราเอล”2 หนังสือนีไฟอ้างบ่อยๆ ถึงพันธสัญญาแห่งอับราฮัม3 และอ้างถึงอิสราเอลว่าเป็น “ผู้คนแห่งพันธสัญญาของพระเจ้า”4 ธรรมเนียมการทำพันธสัญญากับพระผู้เป็นเจ้าหรือผู้นำทางศาสนามีบันทึกไว้ในงานเขียนพระคัมภีร์มอรมอนด้วยเกี่ยวกับนีไฟ โยเซฟในอียิปต์ กษัตริย์เบ็นจามิน แอลมา และแม่ทัพโมโรไน5

3.

เมื่อถึงเวลาฟื้นฟูความสมบูรณ์แห่งพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ พระผู้เป็นเจ้าทรงเรียกศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ เราไม่ทราบเนื้อหาทั้งหมดของคำแนะนำแรกๆ ที่เทพโมโรไนให้แก่ศาสดาพยากรณ์หนุ่มที่กำลังเป็นผู้ใหญ่คนนี้ เรารู้ว่าท่านบอกโจเซฟ สมิธว่า “พระผู้เป็นเจ้าทรงมีงานให้ [เขา] ทำ” และว่า “ความสมบูรณ์ของพระกิตติคุณอันเป็นนิจ” จะต้องถูกนำออกมา รวมถึง “สัญญาที่ทำกับบรรพบุรุษ”6 เรารู้เช่นกันว่าพระคัมภีร์ที่เด็กหนุ่มโจเซฟ สมิธอ่านอย่างจริงจังที่สุด—แม้กระทั่งก่อนที่เขาได้รับคำแนะนำให้จัดตั้งศาสนจักร—คือคำสอนมากมายเกี่ยวกับพันธสัญญาที่เขากำลังแปลในพระคัมภีร์มอรมอน พระคัมภีร์เล่มนั้นเป็นแหล่งที่มาหลักของการฟื้นฟูความสมบูรณ์ของพระกิตติคุณ รวมถึงแผนของพระผู้เป็นเจ้าสำหรับบุตรธิดาของพระองค์ และพระคัมภีร์มอรมอนเต็มไปด้วยข้ออ้างอิงถึงพันธสัญญา

ด้วยความรอบรู้ในพระคัมภีร์ไบเบิล โจเซฟคงรู้เกี่ยวกับหนังสือฮีบรูที่กล่าวถึงพระประสงค์ของพระผู้ช่วยให้รอดที่จะ “ทำพันธ‌สัญญาใหม่กับชน‍ชาติอิสรา‌เอลและกับชน‍ชาติยู‌ดาห์”7 ฮีบรูยังกล่าวถึงพระเยซูว่าทรงเป็น “คนกลางแห่งพันธสัญญาใหม่”8 ที่สำคัญเรื่องราวในพระคัมภีร์ไบเบิลของการปฏิบัติศาสนกิจของพระผู้ช่วยให้รอดขณะทรงเป็นมรรตัยก็มีชื่อที่ตรงความหมายว่า “พันธสัญญาใหม่”

พันธสัญญาเป็นรากฐานในการฟื้นฟูพระกิตติคุณ เห็นได้ชัดในขั้นตอนแรกๆ ที่พระเจ้าทรงสั่งให้ศาสดาพยากรณ์ทำในการจัดตั้งศาสนจักร ทันทีที่ตีพิมพ์พระคัมภีร์มอรมอน พระเจ้าทรงกำกับดูแลการจัดตั้งศาสนจักรที่ได้รับการฟื้นฟูของพระองค์ ซึ่งในไม่ช้าจะมีชื่อว่าศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย9 การเปิดเผยที่บันทึกไว้ในเดือนเมษายน 1830 ชี้ว่าบุคคล “จะได้รับโดยบัพติศมาเข้าในศาสนจักรของพระองค์” หลังจากพวกเขา “เป็นพยาน” (ซึ่งหมายถึงเป็นประจักษ์พยานอย่างจริงจัง) “ว่าพวกเขากลับใจอย่างแท้จริงจากบาปทั้งหมดของพวกเขา, และเต็มใจรับพระนามของพระเยซูคริสต์, โดยมุ่งมั่นรับใช้พระองค์จนกว่าชีวิตจะหาไม่”10

การเปิดเผยอย่างเดียวกันนี้แนะนำให้ศาสนจักร “ประชุมกันบ่อยเพื่อรับส่วนขนมปังและเหล้าองุ่นในความระลึกถึงพระเจ้า พระเยซู” ความสำคัญของศาสนพิธีนี้เห็นได้ชัดในถ้อยคำแห่งพันธสัญญาที่ระบุไว้สำหรับเอ็ลเดอร์หรือปุโรหิตผู้ประกอบพิธี เขาให้พรเครื่องหมายขนมปังสำหรับ “จิตวิญญาณของเขาทั้งหลายผู้ที่รับส่วน …, เพื่อพวกเขาจะ … เป็นพยานต่อพระองค์, ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า, พระบิดานิรันดร์, ว่าพวกเขาเต็มใจรับพระนามของพระบุตรของพระองค์, และระลึกถึงพระองค์ตลอดเวลา, และรักษาพระบัญญัติของพระองค์ซึ่งพระองค์ประทานให้พวกเขา”11

บทบาทสำคัญของพันธสัญญาในศาสนจักรที่เพิ่งได้รับการฟื้นฟูใหม่ได้รับการยืนยันอีกครั้งในคำนำที่พระเจ้าประทานไว้สำหรับการตีพิมพ์การเปิดเผยของพระองค์ครั้งแรก ในนั้นพระเจ้าทรงประกาศว่าพระองค์ทรงเรียกโจเซฟ สมิธ เพราะผู้อยู่อาศัยของแผ่นดินโลก “หันไปจากศาสนพิธีของเรา, และล่วงละเมิดพันธสัญญาอันเป็นนิจของเรา”12 การเปิดเผยนี้อธิบายต่อไปว่าพระบัญญัติของพระองค์กำลังประทานให้ “เพื่อพันธสัญญาอันเป็นนิจของเราจะได้รับการสถาปนา”13

วันนี้เราเข้าใจบทบาทของพันธสัญญาในศาสนจักรที่ได้รับการฟื้นฟูและการนมัสการของสมาชิกศาสนจักร ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ให้ข้อสรุปเรื่องผลของบัพติศมาและการรับส่วนศีลระลึกทุกสัปดาห์ของเราว่า: “สมาชิกทุกคนของศาสนจักรนี้ผู้ที่เข้ามาในน้ำแห่งบัพติศมาได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของพันธสัญญาศักดิ์สิทธิ์ ทุกครั้งที่เรารับส่วนศีลระลึกแห่งพระกระยาหารของพระเจ้า เราต่อพันธสัญญานั้น”14

เราได้รับการเตือนจากผู้พูดหลายท่านที่การประชุมใหญ่นี้ว่า ศาสดาพยากรณ์ของเรา ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันมักกล่าวถึงแผนแห่งความรอดอยู่บ่อยๆ ว่าเป็น “เส้นทางพันธสัญญา” ที่ “นำเรากลับไปหา [พระผู้เป็นเจ้า]” และ “ทั้งหมดนี้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของเรากับพระผู้เป็นเจ้า”15 ท่านยังสอนถึงความสำคัญของพันธสัญญาในพิธีพระวิหารและกระตุ้นให้เรามองที่จุดจบจากจุดเริ่มต้นและ “คิดแบบซีเลสเชียล”16

4.

ต่อไปนี้ข้าพเจ้าจะพูดเพิ่มเติมถึงพันธสัญญาพระวิหาร เพื่อเป็นการบรรลุหน้าที่รับผิดชอบในการฟื้นฟูความสมบูรณ์แห่งพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธใช้เวลาส่วนใหญ่ช่วงหลายปีสุดท้ายกำกับดูแลการก่อสร้างพระวิหารในนอวู อิลลินอยส์ พระเจ้าทรงเปิดเผยคำสอนศักดิ์สิทธิ์ หลักคำสอน และพันธสัญญาผ่านท่านเพื่อให้ผู้สืบทอดปฏิบัติในพระวิหาร ที่นั่นผู้รับเอ็นดาวเม้นท์จะได้รับการสอนแผนแห่งความรอดของพระผู้เป็นเจ้าและได้รับการเชื้อเชิญให้ทำพันธสัญญาศักดิ์สิทธิ์ ผู้ที่ดำเนินชีวิตอย่างซื่อสัตย์ต่อพันธสัญญาเหล่านั้นได้รับสัญญาว่าจะได้รับชีวิตนิรันดร์ โดยในนั้น “สิ่งทั้งปวงเป็นของพวกเขา” และพวกเขา “จะพำนักในที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้าและพระคริสต์ของพระองค์ตลอดกาลและตลอดไป”17

เพิ่งมีการปฏิบัติพิธีเอ็นดาวเม้นท์ในพระวิหารนอวูก่อนหน้าผู้บุกเบิกยุคแรกของเราถูกขับไล่เพื่อเริ่มการเดินทางครั้งประวัติศาสตร์สู่เทือกเขาทางตะวันตก เรามีประจักษ์พยานเรื่องผู้บุกเบิกหลายคนว่าอำนาจที่พวกเขาได้รับจากการผูกมัดกับพระคริสต์ในเอ็นดาวเม้นท์ในพระวิหารนอวูให้พละกำลังแก่พวกเขาในการเดินทางครั้งยิ่งใหญ่และการตั้งถิ่นฐานในตะวันตก18

ผู้ที่ได้รับเอ็นดาวเม้นท์ในพระวิหารมีหน้าที่ต้องสวมการ์เม้นท์พระวิหาร ซึ่งเป็นชุดที่มองไม่เห็นเนื่องจากสวมไว้ใต้ชุดชั้นนอก เพื่อเตือนสมาชิกที่รับเอ็นดาวเม้นท์แล้วถึงพันธสัญญาศักดิ์สิทธิ์ที่ได้ทำและพรที่มีสัญญาไว้ในพระวิหารศักดิ์สิทธิ์ เพื่อให้บรรลุจุดประสงค์ศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้น เราได้รับคำแนะนำให้สวมการ์เม้นท์พระวิหารอยู่เสมอ โดยมีข้อยกเว้นเท่าที่เห็นได้ชัดว่าจำเป็น เนื่องจากพันธสัญญาไม่มีวันหยุด การถอดการ์เม้นท์จึงถือเป็นการปฏิเสธหน้าที่รับผิดชอบต่อพันธสัญญาและพรที่เกี่ยวข้อง ในทางตรงกันข้าม ผู้ที่สวมการ์เม้นท์อย่างซื่อสัตย์และรักษาพันธสัญญาพระวิหารอยู่เสมอยืนยันบทบาทของตนในการเป็นสานุศิษย์ของพระเจ้าพระเยซูคริสต์

ภาพ
แผนที่พระวิหาร

ศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายกำลังสร้างพระวิหารทั่วโลก จุดประสงค์ของพระวิหารคือเพื่อเป็นพรแก่บุตรธิดาในพันธสัญญาของพระผู้เป็นเจ้าด้วยการนมัสการในพระวิหาร และด้วยหน้าที่รับผิดชอบศักดิ์สิทธิ์กับพลังและพรพิเศษของการผูกมัดกับพระคริสต์ซึ่งพวกเขาได้รับโดยพันธสัญญา

ภาพ
พระวิหารเซาเปาลู บราซิล

ศาสนจักรของพระเยซูคริสต์เป็นที่รู้จักกันว่าเป็นศาสนจักรที่เน้นการทำพันธสัญญากับพระผู้เป็นเจ้า พันธสัญญามีอยู่ในแต่ละศาสนพิธีแห่งความรอดและความสูงส่งซึ่งศาสนจักรที่ได้รับการฟื้นฟูนี้ปฏิบัติ ศาสนพิธีบัพติศมาและพันธสัญญาที่เกี่ยวข้องเป็นข้อกำหนดเพื่อเข้าสู่อาณาจักรซีเลสเชียล ศาสนพิธีและพันธสัญญาพระวิหารที่เกี่ยวข้องเป็นข้อกำหนดสำหรับความสูงส่งในอาณาจักรซีเลสเชียล ซึ่งคือชีวิตนิรันดร์ “ของประทานยิ่งใหญ่ที่สุดในบรรดาของประทานทั้งหมดจากพระผู้เป็นเจ้า”19 นั่นเป็นสิ่งที่มุ่งเน้นของศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย

ข้าพเจ้าเป็นพยานถึงพระเยซูคริสต์ผู้ทรงเป็นประมุขของศาสนจักรนั้นและทรงขอพรของพระองค์แก่ทุกคนที่หมายมั่นจะรักษาพันธสัญญาศักดิ์สิทธิ์ของพวกเขา ในพระนามของพระเยซูคริสต์ เอเมน