2017
จงเป็นแบบอย่างของผู้เชื่อ
มีนาคม 2017


จงเป็นแบบอย่างของผู้เชื่อ

จากคำปราศรัยให้ข้อคิดทางวิญญาณเรื่อง “แบบอย่างของผู้เชื่อ” ที่มหาวิทยาลัยบริคัม ยังก์–ไอดาโฮเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน ค.ศ. 2016 ดูบทความเต็มเป็นภาษาอังกฤษที่ web.byui.edu/devotionalsandspeeches

ท่านจะสอนและปกป้องหลักคำสอนพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ให้ดีที่สุดได้อย่างไรขณะแสดงความรัก ความอ่อนโยน และความเข้าใจไปด้วย

ภาพ
Young adults

มีเรื่องเล่าว่าทหารหน่วยเล็กหน่วยหนึ่งได้รับมอบหมายพันธกิจที่ยากมากไกลถึงแดนศัตรู ขณะเข้าใกล้เป้าหมาย ทหารฝ่ายตรงข้ามรู้ว่าพวกเขาอยู่ที่นั่น กองกำลังที่เหนือกว่าตีโอบกองทหารอย่างรวดเร็วและเริ่มล้อมยิงพวกเขา เมื่อพวกเขาพบว่าตนเองถูกล้อมและเริ่มถูกยิงกราด ทหารกลุ่มเล็กนี้เงยหน้ามองผู้บังคับกองร้อยที่ยืนปลุกขวัญกำลังใจอยู่บนโขดหิน

ขณะมองดูทหารของเขา ผู้บังคับกองร้อยตะโกนว่า “ทหารทั้งหลาย พวกเขามาอยู่ตรงที่เราอยากให้อยู่แล้ว พวกคุณจะยิงไปทางไหนก็ได้!”

ท่านและข้าพเจ้ามีพันธกิจยุ่งยากในโลกทุกวันนี้เช่นกัน พันธกิจนั้นคือสอนและปกป้องความจริงที่อยู่ในพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ ในโลกที่เราอาศัยอยู่ ข้าพเจ้ารู้ว่าเราเข้าใจได้ยากว่าวิธีใดดีที่สุดในการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีเสียงท้าทายความจริงอยู่มากมายรอบตัวท่าน มักจะมีการโจมตีไม่หยุดจากมุมต่างๆ ที่ยากจะรู้วิธีตอบสนอง

ข้าพเจ้าต้องการพูดเกี่ยวกับความหมายของสิ่งที่อัครสาวกเปาโลเรียกว่า “แบบอย่าง [ของผู้เชื่อ]” (1 ทิโมธี 4:12)—ความหมายของการสอนและปกป้องความจริงนิรันดร์ในวิธีที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงปรารถนาขณะเป็นแบบอย่างของความเคารพ ความเห็นใจ และความรักลึกซึ้งที่พระคริสต์ทรงแสดงให้เห็นเป็นแบบอย่าง รวมถึงความหมายของการตั้งใจปกป้องสิ่งที่เรารู้ว่าถูกต้องโดยไม่เพียงยิงกราดใส่ศัตรูที่มองเห็น

โดยแท้แล้ว หลักธรรมสองข้อนั้นมักจะดูเหมือนขัดแย้งกัน ใช่หรือไม่ เราได้รับการสอนว่าเราต้องต่อสู้ “กับพวกวิญญาณชั่ว” (เอเฟซัส 6:12) ทุกรูปแบบ เราต้อง “ยืนเป็นพยานเกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้าทุกเวลาและในทุกสิ่ง, และในทุกแห่ง” (โมไซยาห์ 18:9) และเราต้องไม่ “ละอายในเรื่องข่าวประเสริฐ” (โรม 1:16) เราได้รับการสอนเช่นกันว่าเราควรหลีกเลี่ยงความขัดแย้งและไม่ “ยั่วยุใจมนุษย์ให้มีความโกรธกัน” (3 นีไฟ 11:30) ว่าเราไม่ควร “อยู่อย่างสงบสุขกับทุกคน” เท่านั้น (โรม 12:18) แต่เราควร “มุ่งประพฤติในสิ่งซึ่งทำให้เกิดความสงบสุข” ด้วย (โรม 14:19)

แล้วเราจะทำหน้าที่ซึ่งพระผู้เป็นเจ้าทรงมอบให้เรายืนหยัดในพระกิตติคุณและสอนให้คนอื่นๆ รู้ความจริงโดยไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งและความโกรธได้อย่างไร ดูเหมือนว่าการพูดอะไรก็ตามสามารถทำให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้งและความขัดแย้งได้อย่างรวดเร็วโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อจัดการกับประเด็นโต้แย้งของยุคสมัย เท่าที่ท่านทราบดี โลกทุกวันนี้ดูเหมือนจะมีความอดทนน้อยกับคนที่ต้องการแสดงทัศนะไม่สอดคล้องกับแนวโน้มที่พบใหม่

เมื่อความท้าทายเช่นนั้นเกิดกับเรา ท่านและข้าพเจ้ามักจะทำหนึ่งในสองสิ่งนี้ คือ เราปลีกตัวออกจากวงสนทนาอย่างรวดเร็ว โดยเลือกไม่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่อาจทำให้อึดอัดใจหรือไม่เป็นมิตร หรือเราตั้งรับในการถกประเด็นต่างๆ ที่ดูแล้วเพลินแต่ทำให้เกิดความร้อนมากกว่าความสว่าง

จะดีกว่าถ้าศึกษาไตร่ตรองในความคิดของเรา (ดู คพ. 9:8) และจากนั้นตั้งใจฟังการนำทางจากสวรรค์ จงรวบรวมความกล้าของท่านและใช้ความสว่างในตัวท่าน

ข้าพเจ้าขอชี้ให้เห็นบางอย่างที่พึงพิจารณาเสมอเมื่อเราสอนและปกป้องพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าสุดความสามารถขณะเดียวกันก็แสดงความรักและความเห็นใจทุกคน

ปกป้องพระวจนะ

หนึ่ง เราจะมีความสำเร็จมากสุดเมื่อเราทำงานกับผู้อื่นเป็นรายตัว ในวัฒนธรรมสมัยใหม่ของการแบ่งแยกชัดเจนระหว่างการพูดคำคมประโยคเดียวกับการพยายามพูดไม่หยุดเพื่อแสดงตนเหนือกว่าผู้อื่น มักไม่มีใครประสบผลสำเร็จในการถกเถียงที่ทุกคนแสดงความเห็นได้อย่างเสรี เรื่องดังกล่าวจริงเป็นพิเศษกับสื่อสังคม ที่เราต้องระวังอย่าให้ความเห็นของเราเกี่ยวกับประเด็นที่ละเอียดอ่อนทางสังคมหันเหจากเจตนารมณ์ที่พระคริสต์ทรงประสงค์ให้เราถ่ายทอด

หากเรายอมให้ตัวเราถูกจำกัดอยู่กับออนไลน์ 140 ตัวอักษร เรามักจะถูกเข้าใจผิด โดยปกติ เราจะประสบผลสำเร็จมากยิ่งขึ้นเป็นรายบุคคล ซึ่งๆ หน้าเมื่อแต่ละคนเข้าใจกัน นั่นตรงกับวิธีที่ประธานโธมัส เอส. มอนสันสอนเราว่าเราควรยื่นมือช่วยเหลือ—ทีละคน และมักเป็นวิธิที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงยื่นพระหัตถ์ไปสัมผัสชีวิตระหว่างปฏิบัติศาสนกิจของพระองค์บนแผ่นดินโลก

สอง ถึงแม้เราจะลิงโลดอย่างไม่ต้องสงสัยหากคนอื่นเห็นแสงสว่างทันทีและยอมต้อนรับผู้สอนศาสนาในวันถัดไป แต่นั่นต้องไม่เป็นเป้าหมายแรกของเรา เป้าหมายแรกของเราคือเข้าใจพื้นเพของผู้อื่น—เคารพพวกเขาและเข้าใจทัศนะของพวกเขา ต่อเมื่อเราสามารถสื่อสารกับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่านั้นเราจึงจะรอดพ้นคำกล่าวหาและความเข้าใจผิดที่ครอบงำการสนทนาของเราบ่อยเกินไป

สาม ขอให้เรามองหาวิธีที่เราจะเคารพทัศนะต่างกันและยังคงอยู่ด้วยกันในสังคม แทนที่จะเพียงดำเนินชีวิตตามทัศนะของตนโดยไม่ลิดรอนเสรีภาพของผู้อื่น ขอให้เราพยายามทำบางสิ่งให้ดีขึ้นด้วย—บางสิ่งซึ่งเป็นรากฐานในสังคมที่มีหลายฝ่ายหากทุกคนต้องได้รับการปฏิบัติอย่างยุติธรรม เราต้องสนับสนุนสิทธิพลเมืองขั้นพื้นฐานของผู้อื่น โดยยอมรับสิทธิ์ในการแสดงความคิดเห็นและพูดสิ่งที่พวกเขาเชื่อ หากเราคาดหวังให้ผู้อื่นสนับสนุนสิทธิพลเมืองขั้นพื้นฐานของเรา

สุดท้าย การเข้าใจกันมักไม่เกิดขึ้นในเหตุการณ์ครั้งเดียว นี่เป็นขั้นตอน—ขั้นตอนที่มักจะใช้เวลามาก คนอื่นอาจไม่ยอมรับทัศนะของเรา แต่เราสามารถขจัดคำอย่างเช่น ทิฐิ และ เกลียดชัง ออกไปได้ ขอให้เรามองกันและกันในฐานะคนดีและมีเหตุผลอยู่ในตัว ถึงแม้เราจะมีทัศนะพื้นฐานที่คนอื่นอาจไม่ยอมรับ

กระทำดังที่พระผู้ช่วยให้รอดจะทรงกระทำ

ภาพ
Bible video scene of Jesus and child

เมื่อท่านประสบสถานการณ์ยุ่งยากซึ่งท่านกำลังปกป้องพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ ข้าพเจ้าหวังว่าท่านจะจดจำไว้เสมอว่าท่านต้องกระทำดังที่พระองค์จะทรงกระทำ ดังที่อัคร-สาวกเปาโลสอน การเป็น “แบบอย่าง [ของผู้เชื่อ]” เป็นยิ่งกว่าการดำเนินชีวิตตามหลักธรรมพระกิตติคุณให้ผู้อื่นเห็นเท่านั้น เปาโลบอกเราชัดเจนว่าหลักธรรมพระกิตติคุณเดียวกันนั้นต้องเป็นส่วนหนึ่งของการสนทนาของเรา ส่วนหนึ่งของความรักที่เรามีต่อผู้อื่น ส่วนหนึ่งของเจตนารมณ์ที่เราถ่ายทอด และส่วนหนึ่งของศาสนาที่บ่งบอกว่าเราเป็นใคร (ดู 1 ทิโมธี 4:12)

สุดท้ายแล้วเมื่อเราเข้าใจถูกต้อง ย่อมไม่มีความขัดแย้งใดๆ ระหว่างหลักธรรมพระกิตติคุณสองข้อใหญ่นี้ของการสนับสนุนความจริงขณะเคารพและรักผู้อื่นไปด้วย ความเชื่อมั่นแรงกล้าของเราต่อความจริงไม่ควรทำให้เรากระทำในลักษณะที่ไม่เคารพหรือไม่พอใจผู้อื่น แต่ขณะเดียวกัน ความปรารถนาจะแสดงความอ่อนโยนและความรักต่อทุกคนไม่ควรบ่อนทำลายหน้าที่สนับสนุนความจริงของเรา

หลักธรรมสองข้อนี้จริงๆ แล้วเป็นเพียงสองด้านของเหรียญเดียวกัน ด้านหนึ่งของเหรียญคือหน้าที่ของเราในการอธิบายและปกป้องหลักคำสอนของพระคริสต์ อีกด้านหนึ่งของเหรียญเดียวกันคือหน้าที่ของเราในการกระทำเหมือนพระคริสต์ โดยแสดงความเคารพและความรักเสมอ

เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองกล่าวดังนี้

“ขันติธรรมและความเคารพที่เรามีต่อผู้อื่นและความเชื่อของพวกเขามิได้ทำให้เราเลิกยึดมั่นสัจธรรมที่เราเข้าใจและพันธสัญญาที่เราทำ … เราต้องยืนหยัดสนับสนุนความจริง แม้ขณะที่เราใช้ขันติธรรมและเคารพความเชื่อตลอดจนความคิดที่แตกต่างจากเรา รวมไปถึงเคารพคนที่ยึดถือสิ่งเหล่านั้นด้วย …

“คำเตือนที่ได้รับการดลใจนี้เตือนให้เราระลึกว่าสำหรับผู้ที่เชื่อในสัจธรรมสมบูรณ์ ขันติธรรมต่อพฤติกรรมเป็นเหมือนเหรียญสองด้าน ขันติธรรมหรือความเคารพอยู่ด้านหนึ่งของเหรียญ แต่สัจธรรมมักจะอยู่อีกด้านหนึ่งเสมอ”1

ในโลกที่แยกกันเป็นสองขั้วมากขึ้นและขัดแย้งกันมากขึ้นอย่างรวดเร็ว—ที่ซึ่งดูเหมือนจะสาดกระสุนใส่กันจากทั่วสารทิศ—ข้าพเจ้าขอท้าทายท่านให้สำรวจเหรียญทั้งสองด้านของท่าน ในแต่ละสภาวการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตท่าน จงถามตัวท่านว่าท่านจะสอนและปกป้องหลักคำสอนพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ให้ดีที่สุดได้อย่างไรขณะแสดงความรัก ความอ่อนโยน และความเข้าใจต่อคนที่อาจไม่ยอมรับหลักคำสอนนั้นไปด้วย

เมื่อท่านทำเช่นนั้น ข้าพเจ้าเป็นพยานว่าท่านจะได้รับความช่วยเหลือและการนำทางจากพระบิดาบนสวรรค์ของเรา ท่านจะรู้สึกว่าพระองค์ทรงกำลังนำท่าน ใส่ความคิดในจิตท่าน ใส่ความรู้สึกในใจท่าน และใส่คำพูดในปากท่านตรงจังหวะที่ท่านต้องการพอดี พระวิญญาณของพระองค์จะนำและนำทางท่าน โดยเปลี่ยนท่านให้เป็น “แบบอย่าง [แท้จริงของผู้อื่น]”—ไม่เพียงเป็นคนดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์เท่านั้นแต่เป็นคนปกป้องและอธิบายหลักคำสอนอย่างหนักแน่นด้วยความรักและความเอาใจใส่ด้วย

อ้างอิง

  1. ดัลลิน เอช. โอ๊คส์, “สร้างสมดุลสัจธรรมและขันติธรรม,” เลียโฮนา, ก.พ. 2013, 32.