เลียโฮนา
จุดหมายปลายทางแห่งสวรรค์ของบุตรหลานเรา
เมษายน 2024


“จุดหมายปลายทางแห่งสวรรค์ของบุตรหลานเรา,” เลียโฮนา, เม.ย. 2024.

จุดหมายปลายทางแห่งสวรรค์ของบุตรหลานเรา

สี่วิธีที่บิดามารดาสามารถช่วยให้บุตรหลานเรียนรู้เกี่ยวกับพระเยซูคริสต์และรับรู้ถึงศักยภาพอันศักดิ์สิทธิ์ที่พวกเขามี

ภาพ
เยาวชนชายกำลังสวดอ้อนวอน

เด็กๆ มักถูกถามว่า “โตขึ้นหนูอยากเป็นอะไร?” ในชีวิตก่อนเกิด หากมีคนถามคำถามคล้ายกัน คำตอบของเราอาจเป็นเพียง “ฉันอยากเป็นเหมือนพระบิดาพระมารดาบนสวรรค์ของเรา”

คนเป็นบิดามารดามักจะวุ่นอยู่กับเวลาเข้านอนและเวลาอาบน้ำ การสอนและอารมณ์โมโห การแก้ไขให้ถูกต้องและการปลอบโยน ทั้งนี้ เราสามารถถอยออกมาสักครู่และมองการเป็นบิดามารดาของเราจากมุมมองที่กว้างขึ้น โดยนึกถึงธรรมชาติแห่งสวรรค์ของบุตรหลานเรา—ว่าพวกเขาเป็นลูกของพระผู้เป็นเจ้าเช่นกัน—และพวกเขามีจุดหมายปลายทางอันศักดิ์สิทธิ์ กระทั่งจะได้เป็นเหมือนพระผู้เป็นเจ้าในวันหนึ่ง (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 132:20)

ประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์ ที่ปรึกษาที่หนึ่งในฝ่ายประธานสูงสุดสอนว่า “คำสอนของศาสนาเราเริ่มต้นด้วยบิดามารดาบนสวรรค์ ความมุ่งหวังสูงสุดของเราคือได้รับความสมบูรณ์แห่งความสูงส่งนิรันดร์”1 และ เราแต่ละคน มีศักยภาพอันสูงส่งนั้น “ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก” กล่าวว่า “มนุษย์ทั้งหลาย—ชายกับหญิง—ได้รับการสร้างในรูปลักษณ์ของพระผู้เป็นเจ้า แต่ละคนเป็นปิยบุตรหรือปิยธิดาทางวิญญาณของพระบิดาพระมารดาบนสวรรค์ และด้วยเหตุนี้แต่ละคนจึงมีลักษณะและจุดหมายปลายทางแห่งสวรรค์”2

บิดามารดาสามารถช่วยนำทางบุตรหลานและช่วยให้พวกเขาประสบความสำเร็จในเส้นทางที่จะเป็นเหมือนพระผู้เป็นเจ้าของตนได้ แต่เพื่อเป็นเหมือนพระองค์มากขึ้น บุตรหลานของเราต้องเรียนรู้มากขึ้นก่อนว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นอย่างไร เหตุผลหนึ่งที่พระเยซูคริสต์เสด็จมายังแผ่นดินโลกคือเพื่อช่วยให้เราเข้าใจพระบิดาบนสวรรค์ของเรา ดังที่พระผู้ช่วยให้รอดตรัสว่า “เรากับพระบิดาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน” (ยอห์น 10:30); “คนที่ได้เห็นเราก็ได้เห็นพระบิดา” (ยอห์น 14:9) เพื่อเป็นเหมือนพระผู้เป็นเจ้า เราหันไปหาพระผู้ช่วยให้รอด แล้วเรียนรู้จากพระองค์

ต่อไปนี้เป็นสี่อย่างที่เราทำได้เพื่อช่วยให้บุตรหลานเรียนรู้ว่าพระเยซูคริสต์ทรงเป็นใครและรู้จักพระบิดาบนสวรรค์ของพวกเขา:

  1. สอนพวกเขาให้วางใจอัครสาวกและศาสดาพยากรณ์ของพระผู้ช่วยให้รอด

  2. สอนพวกเขาให้กระทำด้วยศรัทธา

  3. สอนพวกเขาถึงความสำคัญของการเปิดเผย

  4. เป็นแบบอย่างของพระคุณลักษณะของพระผู้ช่วยให้รอด

วางใจอัครสาวกและศาสดาพยากรณ์

วิธีสำคัญที่สุดวิธีหนึ่งที่บุตรหลานของเราจะรู้จักพระเยซูคริสต์คือการฟังพยานพิเศษที่พระองค์ทรงเลือก อัครสาวกในปัจจุบันช่วยให้เราเข้าใจพระอุปนิสัยและงานของพระองค์เช่นเดียวกับในสมัยพันธสัญญาใหม่ ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันสอนว่า “อัครสาวกที่ได้รับแต่งตั้งของพระเยซูคริสต์เป็นพยานถึงพระองค์เสมอ ชี้ทางขณะเราเดินผ่านเขาวงกตที่บีบคั้นหัวใจของประสบการณ์มรรตัย”3 และเอ็ลเดอร์นีล แอล. แอนเดอร์เซ็น แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่า “ศาสดาพยากรณ์ไม่ได้ยืนระหว่างท่านกับพระผู้ช่วยให้รอด แต่ยืนข้างท่านและชี้ทางให้ท่านไปหาพระผู้ช่วยให้รอด”4

สิ่งสำคัญคือต้องสอนบุตรหลานของเราให้มีความอ่อนน้อมถ่อมตนและมีความอดทนเมื่อพวกเขาฟังผู้นำที่ได้รับการดลใจของเรา เอ็ลเดอร์แอนเดอร์เซ็นกล่าวว่า “อย่าประหลาดใจถ้าบางครั้งความเห็นส่วนตัวของท่านไม่ตรงกับคำสอนของศาสดาพยากรณ์ของพระเจ้าในตอนแรก นี่เป็นช่วงเวลาของการเรียนรู้ ความอ่อนน้อมถ่อมตน เมื่อเราคุกเข่าสวดอ้อนวอน เราเดินหน้าด้วยศรัทธา วางใจในพระผู้เป็นเจ้า โดยรู้ว่าเมื่อเวลาผ่านไปเราจะได้รับความชัดเจนทางวิญญาณมากขึ้นจากพระบิดาบนสวรรค์”5 พระเจ้าทรงสอนหลักธรรมสำคัญข้อหนึ่งเมื่อพระองค์ตรัสถึงศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธว่า “เพราะคำของเขาเจ้าจงรับ, ราวกับมาจากปากเราเอง, ด้วยความอดทนอย่างที่สุดและศรัทธา” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 21:5) การสอนให้บุตรหลานมีความอดทนและพยายามทำความเข้าใจจะทำให้พวกเขาพึ่งพาตนเองทางวิญญาณไปตลอดชีวิต

กระทำด้วยศรัทธา

การรู้บางสิ่งบางอย่างต้องอาศัยมากกว่าการท่องจำข้อเท็จจริง ผู้คนสามารถอ่านหนังสือเกี่ยวกับการเล่นเปียโนได้ แต่หากพวกเขาไม่เคยเล่นสักตัวโน้ตเลย ความรู้ของพวกเขาก็จะไม่ได้ช่วยให้พวกเขา กลายเป็น นักเปียโนได้ การรู้จักพระเยซูคริสต์ก็เช่นเดียวกัน การมารู้จักพระองค์ต้องอาศัยมากกว่าการรู้ข้อเท็จจริง เพื่อมารู้จักพระองค์ เราต้องทำตามแบบอย่างที่พระองค์ทรงทำ

พระผู้ช่วยให้รอดทรงเน้นว่า การกระทำ เป็นส่วนสำคัญของ การรู้: “ถ้าใครตั้งใจประพฤติตามพระประสงค์ของพระองค์ คนนั้นก็จะรู้ว่าคำสอนนั้นมาจากพระเจ้า หรือว่าเราพูดตามใจชอบเอง” (ยอห์น 7:17) เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองกล่าวว่า “เราเริ่มทำความรู้จักพระผู้ช่วยให้รอดเมื่อเราปลุกความสามารถทางวิญญาณของเราและทดลองคำสอนของพระองค์”6 กษัตริย์เบ็นจามินตรัสถามว่า “เพราะคนจะรู้จักผู้เป็นนายซึ่งเขาไม่เคยรับใช้ได้อย่างไร?” (โมไซยาห์ 5:13)

บุตรหลานจะเรียนรู้เกี่ยวกับพระคริสต์ผ่านการศึกษาพระคัมภีร์ เซมินารี และการประชุมใหญ่สามัญ อย่างไรก็ตาม การเรียนรู้เหล่านี้จะไม่เพียงพอหากไม่ได้ ทำ สิ่งที่พระคริสต์ทรงทำ: การสั่งสอนข่าวประเสริฐ การดูแลคนขัดสน และการมุ่ง “ทำสิ่งดีๆ” (กิจการ 10:38)

โครงการเด็กและเยาวชนของศาสนจักรสามารถช่วยให้บุตรหลานกระทำด้วยศรัทธาได้ เราสามารถช่วยบุตรหลานพิจารณาเป้าหมายที่จะช่วยให้พวกเขา ทำ สิ่งที่พระคริสต์ทรงทำและรู้ว่าพระองค์ทรงเป็นใคร7

แสวงหาการเปิดเผย

เรามารู้จักพระคริสต์ในระดับส่วนตัวมากขึ้นเช่นกันเมื่อเราฟังพระองค์ผ่านพระวิญญาณ ดังที่ประธานเนลสันกระตุ้นว่า “เรา ฟังพระองค์ ชัดเจนขึ้นเช่นกันเมื่อเราขัดเกลาความสามารถในการรับรู้เสียงกระซิบของพระวิญญาณบริสุทธิ์ ไม่มีเวลาใดจำเป็นมากไปกว่าเวลานี้ที่ต้องรู้ว่าพระวิญญาณตรัสกับท่านอย่างไร ในพระผู้เป็นเจ้าสามพระองค์ พระวิญญาณบริสุทธิ์คือผู้ส่งสาร พระองค์จะทรงนำความคิดที่พระบิดาและพระบุตรทรงต้องการให้ท่านได้รับเข้ามาสู่จิตใจท่าน”8

บุตรหลานสามารถรู้จักพระผู้ช่วยให้รอดได้เมื่อพวกเขาได้ยินสิ่งที่พระองค์ทรงต้องการให้พวกเขาแต่ละคนรู้และทำ โครงการเด็กและเยาวชนส่งเสริมเด็กและเยาวชนว่า “ท่านสามารถสวดอ้อนวอนเพื่อเรียนรู้ว่าสิ่งเหล่านั้นคืออะไรและมีสิ่งใดบ้างที่ท่านจะเริ่มทำได้ในเวลานี้”9 ขณะที่บุตรหลานพยายามเข้าใจว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงประสงค์อะไรสำหรับพวกเขา โอกาสที่พวกเขาจะรู้สึกถึงความรักของพระองค์ก็จะเพิ่มขึ้นเป็นการส่วนตัว

เราสามารถสอนบุตรหลานได้ว่าอย่าท้อแท้ถ้าคำตอบไม่ได้มาในทันที พวกเขาสามารถทำต่อไปด้วยศรัทธา โดยรู้ว่าพวกเขาจะรู้สึกถึงความรักของพระผู้เป็นเจ้าขณะที่พยายามฟังพระองค์ ประธานเนลสันสรุปขั้นตอนที่จะช่วยเราตามถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธว่า “เติบโตไปสู่หลักธรรมแห่งการเปิดเผย” ซึ่งได้แก่ การจดจ่ออยู่กับพระคัมภีร์ การเข้าใกล้พระเจ้าในการสวดอ้อนวอน การฟังคำตอบและบันทึกความรู้สึกของเรา และการพยายามทุกวันเพื่อให้มีค่าควรมากขึ้น (โปรดทราบว่าเราไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบ)10

ภาพ
แม่และลูกสาวกำลังสวดอ้อนวอนด้วยกัน

เป็นแบบอย่าง

สุดท้าย ในฐานะบิดามารดา วิธีหนึ่งที่ได้ผลมากที่สุดที่เราใช้ในการสอนบุตรหลานเกี่ยวกับพระคริสต์คือการเลียนแบบพระคุณลักษณะของพระองค์ในชีวิตเราเอง ประธานเจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์ รักษาการประธานโควรัมอัครสาวกสิบสองกล่าวว่า “เป็นสิ่งที่อาจหาญเกินไปหรือไม่ที่จะหวังให้บุตรหลานมีความรู้สึกเล็กๆ น้อยๆ ต่อเราอย่างที่พระบุตรศักดิ์สิทธิ์รู้สึกต่อพระบิดาของพระองค์ เราจะได้รับความรักนั้นมากขึ้นหรือไม่โดยการพยายามเป็นอย่างที่พระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นต่อบุตรของพระองค์? ไม่ว่าในกรณีใด เรารู้ว่าแนวคิดที่กำลังพัฒนาของคนหนุ่มสาวมีศูนย์กลางอยู่ที่คุณลักษณะที่สังเกตเห็นได้ในพ่อแม่ทางโลกของเด็กคนนั้น”11

เมื่อเราเลียนแบบพระคริสต์ นั่นคือการที่เราช่วยเปิดเผยพระองค์และพระบิดาแก่บุตรหลานของเรา พระคุณลักษณะบางประการของพระคริสต์มีสรุปไว้ใน โมโรไน 7:44–45 ซึ่งได้แก่ จิตกุศล ความหวัง ความกรุณา ความอ่อนโยน การไม่ขุ่นเคืองง่าย การอดทนนาน และการอดทนต่อทุกสิ่ง

ผู้หญิงคนหนึ่งที่ข้าพเจ้ารู้จักมีคุณพ่อที่มักจะโมโหบ่อยและหงุดหงิดง่าย เธอกล่าวว่า “เป็นเวลาหลายปีที่ฉันเห็นพระบิดาบนสวรรค์แบบเดียวกับที่ฉันเห็นพ่อของตัวเอง—คนที่รักษาระยะห่างและรู้สึกผิดหวังได้ง่ายเสียส่วนใหญ่” สิ่งนี้ส่งผลต่อความสามารถของเธอในการเข้าใจพระบิดาบนสวรรค์อย่างแท้จริง อย่างไรก็ตาม เธอเล่าว่าพระบิดาบนสวรรค์ทรงช่วยให้เธอเรียนรู้ว่า “พระองค์ทรงค่อยๆ พาฉันเดินออกจากความเกรงกลัวพระองค์และเข้าสู่เดชานุภาพแห่งความรักของพระองค์” เธอเริ่มมองเห็นพระองค์ที่แท้จริง

จุดประสงค์แรกของปฐมวัยคือช่วยให้บุตรหลานรู้สึกถึงความรักของพระบิดาบนสวรรค์12 นี่อาจเป็นหนึ่งในจุดประสงค์แรกๆ ของบิดามารดาเช่นเดียวกัน เมื่อบุตรหลานรู้สึกถึงความรักของพระบิดาบนสวรรค์ พวกเขาจะเข้าใจพระองค์ได้ดีขึ้นและต้องการเป็นเหมือนพระองค์

บุตรหลานอยากเป็นอะไรเมื่อโตขึ้น? ในฐานะบิดามารดา เราสามารถปลูกฝังความปรารถนาให้พวกเขาเป็นเหมือนพระบิดาพระมารดาบนสวรรค์ พระเยซูคริสต์ทรงเป็นแบบอย่างที่ดีพร้อมของเรา และเมื่อเราช่วยให้บุตรหลานมาหาพระองค์ พวกเขาก็มีแนวโน้มที่จะเพิ่มพูนความปรารถนานี้มากขึ้น เราสามารถช่วยให้พวกเขามารู้จักพระผู้เป็นเจ้าและพระเยซูคริสต์ได้โดยการสร้างความไว้วางใจในอัครสาวกและศาสดาพยากรณ์ ช่วยให้พวกเขากระทำดังที่พระเจ้าทรงทำ ช่วยให้พวกเขาฟังพระองค์ผ่านพระวิญญาณ และเลียนแบบพระเจ้าในการกระทำของเราเอง

แบบอย่างของเราและความสัมพันธ์แห่งพันธสัญญาระหว่างพวกเขากับพระเจ้าจะสร้างความมั่นคง ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่ง และให้ความรู้เรื่องความรักของพระผู้เป็นเจ้าที่บุตรหลานจำเป็นต้องรู้ โดยจะเป็นพรให้พวกเขาในปีต่อๆ ไป