เลียโฮนา
ฉันทำเต็มที่แล้วในฐานะมารดา ลูกของฉันยังจะละทิ้งศาสนจักรได้อย่างไร?
เมษายน 2024


ดิจิทัลเท่านั้น

ฉันทำเต็มที่แล้วในฐานะมารดา ลูกของฉันยังจะละทิ้งศาสนจักรได้อย่างไร?

ผู้เขียนอาศัยอยู่ในยูทาห์ สหรัฐอเมริกา

เมื่อลูกบางคนไม่แข็งขันในศาสนจักร ดิฉันสงสัยว่าเหตุใดดิฉันจึงไม่ประสบพรที่สัญญาไว้ถึงกิจกรรมเกี่ยวกับพระกิตติคุณทั้งหมดที่เราทำร่วมกันเป็นครอบครัวตลอดหลายปีที่ผ่านมา คําปราศรัยการประชุมใหญ่สามัญสามเรื่องช่วยให้ดิฉันเดินหน้าต่อด้วยศรัทธา

ภาพ
ครอบครัวหัวเราะด้วยกัน

เมื่อดิฉันเป็นมารดา ดิฉันรู้สึกถึงความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่ที่ต้องเลี้ยงดูลูกๆ บนเส้นทางพันธสัญญาและทำให้แน่ใจว่าพวกเขาทำตามแผนของพระบิดาบนสวรรค์

ตั้งแต่สมัยเป็นวัยรุ่น ดิฉันสังเกตเห็นคำแนะนำที่ให้กับบิดามารดาในการประชุมใหญ่สามัญเกือบทุกครั้ง รวมถึงคำแนะนำต่อไปนี้

  • ประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสัน (1899–1994) บอกว่าหากเราจะ “เริ่มศึกษาพระคัมภีร์มอรมอนอย่างจริงจัง” เราจะ “พบพลังการต้านทานการล่อลวงมากขึ้น … พลังหลีกเลี่ยงการหลอกลวง … [และ] พลังอยู่บนทางคับแคบและแคบ”1 ดังนั้นดิฉันจึงรู้ว่าครอบครัวจะอ่านพระคัมภีร์มอรมอนเป็นครอบครัวทุกวัน

  • ถ้อยแถลงเรื่องครอบครัวสอนว่า “บิดามารดามีหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์ที่จะเลี้ยงดูบุตรธิดาด้วยความรักและความชอบธรรม … สอนพวกเขาให้รักและรับใช้กัน [และ] ให้เชื่อฟังพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า … สามีและภรรยา— บิดาและมารดา—จะมีความรับผิดชอบต่อพระผู้เป็นเจ้าในการปฏิบัติภาระหน้าที่เหล่านี้ให้ลุล่วง”2

  • ประธานเอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด (1928–2023) เตือนเราว่าเพื่อ “คุ้มครอง พิทักษ์ เสริมสร้างบ้านและครอบครัวในโลกที่กำลังดึงเราไปในทิศทางตรงข้าม” เราต้อง “เสมอต้นเสมอปลายในการสวดอ้อนวอนเป็นครอบครัวทุกวันและจัดสังสรรค์ในครอบครัวทุกสัปดาห์ … สอนพระกิตติคุณและค่านิยมพื้นฐานในบ้านท่าน [และ] … สร้างความสัมพันธ์ที่มีความหมายในครอบครัวเพื่อให้ลูกมีเอกลักษณ์เฉพาะตนแข็งแกร่งกว่าสิ่งที่เขาจะหาได้ในกลุ่มเพื่อน ที่โรงเรียน หรือที่อื่น”3

ในฐานะคุณแม่ยังสาว ดิฉันตีความคำแนะนำทั้งหมดนี้ว่าเป็นความรับผิดชอบของดิฉันที่ต้องช่วยลูกๆ ให้รอด ดิฉันรู้สึกว่าหากทำทั้งหมดนี้กับครอบครัว ลูกๆ จะมีภูมิต้านทานการล่อลวงและการคุกคามประจักษ์พยานของพวกเขา

อย่างไรก็ตาม ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เมื่อลูกๆ เผชิญการคุกคามประจักษ์พยานของพวกเขาเพิ่มมากขึ้นและบางคนหยุดไปโบสถ์ ดิฉันจึงรู้สึกว่าถูกทรยศ ดิฉันสงสัยว่าเหตุใดดูเหมือนคำสัญญาของประธานเบ็นสันที่ว่าลูกๆ จะได้รับการปกป้องด้วยพลังต้านทานการล่อลวงและการหลอกลวง และอยู่บนทางคับแคบและแคบไม่ได้เกิดขึ้นกับเรา

ดิฉันเข้าสู่ช่วงการประชุมใหญ่สามัญเดือนเมษายนปี 2022 ด้วยใจที่หนักอึ้ง ลูกอีกคนหนึ่งเพิ่งบอกดิฉันว่าเธอกำลังประสบปัญหากับประจักษ์พยานของเธอ ดิฉันเริ่มดูการประชุมใหญ่สามัญโดยถามคําถามเดิมที่ต่อมาเอ็ลเดอร์เอเดรียน โอชวาแห่งสาวกเจ็ดสิบกล่าวในคำปราศรัยภาคบ่ายวันเสาร์ว่า “แผนได้ผลไหม?”4 ในความคิด ดิฉันกลัวว่าแผนนั้นไม่ได้ผล

ดิฉันสวดอ้อนวอนขอให้รู้ว่าจะทําอะไรได้บ้างเพื่อช่วยให้ลูกๆ ปรารถนาจะกลับไปมีส่วนร่วมในศาสนจักร ทันที ถ้าเป็นไปได้ คําตอบมาถึงดิฉันระหว่างการประชุมใหญ่สามัญ แต่คําตอบที่ได้รับกลับไม่ใช่อย่างที่คาดไว้

บทเรียนสามบทช่วยให้ดิฉันเปลี่ยนใจ

บทเรียนที่ 1: ดิฉันไม่สามารถพาลูกๆ ไปสวรรค์ได้

ในเช้าวันอาทิตย์ เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองกล่าวดังนี้

“บางคนเข้าใจผิดว่าคำสัญญาของพระผู้เป็นเจ้าหมายความว่าการเชื่อฟังพระองค์จะส่งผลเฉพาะอย่างตามตารางเวลาที่กำหนด พวกเขาอาจคิดว่า ‘ถ้าฉันขยันรับใช้เป็นผู้สอนศาสนาเต็มเวลา พระผู้เป็นเจ้าจะทรงอวยพรฉันให้มีชีวิตแต่งงานที่มีความสุขและมีลูก’ หรือ ‘ถ้าฉันไม่ทำการบ้านในวันสะบาโต พระผู้เป็นเจ้าจะทรงอวยพรให้ฉันได้คะแนนดี’ หรือ ‘ถ้าฉันจ่ายส่วนสิบ พระผู้เป็นเจ้าจะทรงอวยพรฉันให้ได้งานที่ฉันอยากทำ’ ถ้าชีวิตไม่ได้เป็นไปตามนี้หรือตามตารางเวลาที่คาดหวัง พวกเขาอาจรู้สึกว่าถูกพระผู้เป็นเจ้าทรยศ แต่สิ่งต่างๆ ไม่ได้เป็นไปตามกลไกขนาดนั้นในระบบสวรรค์ เราไม่ควรคิดว่าแผนของพระผู้เป็นเจ้าเป็นตู้ขายสินค้าครอบจักรวาลที่เราจะ (1) เลือกพรตามที่ปรารถนา (2) หยอดงานดีให้เพียงพอตามที่กำหนด และ (3) สินค้าก็ถูกจัดส่งทันที

“พระผู้เป็นเจ้าจะทรงรักษาพันธสัญญาและคำสัญญาของพระองค์ต่อเราแน่นอน เราไม่ต้องกังวลเรื่องนั้น [ดู หลักคําสอนและพันธสัญญา 82:10] อำนาจการชดใช้ของพระเยซูคริสต์—ผู้เสด็จลงต่ำกว่าสิ่งทั้งปวงแล้วจึงเสด็จขึ้นสูง [ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:6] และผู้ทรงมีเดชานุภาพทั้งหมดในสวรรค์และในแผ่นดินโลก [ดู มัทธิว 28:18]—ทำให้มั่นใจได้ว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงสามารถและจะทรงทำให้คำสัญญาของพระองค์เกิดสัมฤทธิผล สำคัญที่เราต้องให้เกียรติและเชื่อฟังกฎของพระองค์ แต่ใช่ว่าทุกพรที่กำหนดไว้บนการเชื่อฟังกฎ [ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 130:20–21] จะมีแนวทาง รูปแบบ และเวลาตามความคาดหวังของเรา เราทำให้สุดความสามารถแต่ต้องปล่อยให้พระองค์ทรงบริหารพรทั้งทางโลกและทางวิญญาณ”5

ดิฉันมั่นใจว่าเคยได้ยินคําสอนคล้ายกันนี้มาก่อน แต่ครั้งนี้คําสอนนั้นแทงลึกเข้าไปในใจดิฉัน ครั้งนี้ดิฉันพร้อมฟังและจำเป็นต้องได้ยินคำสอนนี้

และยังเตือนความจำของดิฉันถึงข่าวสารการประชุมใหญ่สามัญก่อนหน้านี้จากประธานดีเทอร์ เอฟ.อุคท์ดอร์ฟ ที่ปรึกษาที่สองในฝ่ายประธานสูงสุดในเวลานั้นด้วยว่า

“เราไม่อาจเปิดทางเข้าสู่สวรรค์ ข้อเรียกร้องของความยุติธรรมขวางกั้นอยู่ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่มีอำนาจจะเอาชนะได้ด้วยตนเอง

“แต่ยังไม่สิ้นหวัง

“พระคุณของพระผู้เป็นเจ้าคือความหวังที่ยิ่งใหญ่และยั่งยืน …

“ความรอดไม่สามารถซื้อได้ด้วยเงินตราของการเชื่อฟัง แต่ซื้อด้วยพระโลหิตของพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า [ดู กิจการ 20:28]”6

ดิฉันรู้เรื่องนี้ ดิฉันรู้ว่าไม่สามารถหาทางไปสวรรค์เองได้ แต่ด้วยเหตุผลบางอย่าง ดิฉันคิดว่าการเชื่อฟัง ของดิฉัน จะทําให้ ลูกๆ ได้ไปสวรรค์ ยิ่งศึกษาคำปราศรัยของเอ็ลเดอร์คริสทอฟเฟอร์สันและคนอื่นๆ ดิฉันก็ยิ่งตระหนักว่าตนเองถูกหลอกโดยคำโกหกของซาตานที่ว่าลูกๆ ไม่ต้องการพระผู้ช่วยให้รอดตราบใดที่ดิฉันเป็น “มารดาที่สมบูรณ์แบบ” ขณะศึกษาและไตร่ตรองคำปราศรัยเหล่านั้น พระวิญญาณช่วยให้ดิฉันเริ่มเข้าใจว่าทุกอย่างที่ทำเพื่อปกป้องลูกๆ ไม่ให้ถูกล่อลวงและถูกหลอก และเพื่อเสริมประจักษ์พยานของพวกเขาเป็นสิ่งที่สำคัญแต่ไม่รับประกันว่าลูกๆ จะอยู่บนเส้นทางพันธสัญญา

สิทธิ์เสรีเป็นส่วนสำคัญในแผนของพระบิดาบนสวรรค์ เราทุกคนล้วนได้รับของประทานแห่งการเลือกด้วยตนเอง แม้นั่นหมายความว่าลูกๆ ของเราอาจเลือกหันหลังให้กับสิ่งที่พวกเขาได้รับการสอนมาก็ตาม ถึงกระนั้น พระเจ้ายังทรงเอื้อมพระหัตถ์ช่วยเหลือบุตรธิดาที่ดื้อรั้นด้วยความรักเสมอ และในฐานะบิดามารดาทางโลกเราเองก็ทำเช่นเดียวกันได้

ในการประชุมใหญ่สามัญเดือนตุลาคมปี 2018 เอ็ลเดอร์เดล จี. เรนลันด์สอนว่า

“แม้พระผู้เป็นเจ้าทรงต้องการให้เราอยู่บนเส้นทางพันธสัญญา แต่พระองค์ประทานศักดิ์ศรีของการเลือกแก่เรา

“พระผู้เป็นเจ้าทรงปรารถนา ทรงคาดหวัง และทรงนำทางบุตรธิดาแต่ละคนให้เลือกด้วยตนเอง พระองค์จะไม่ทรงบังคับเรา โดยผ่านของประทานแห่งสิทธิ์เสรี พระผู้เป็นเจ้าทรงอนุญาตให้บุตรธิดาของพระองค์ ‘กระทำด้วยตนเองและมิถูกกระทำ’ [2 นีไฟ 2:26]”

ดิฉันพบการปลอบโยนอย่างมากในสิ่งที่เอ็ลเดอร์เรนลันด์กล่าวต่อไปว่า

“ไม่ว่าเราจะออกนอกทางนานเท่าใดหรือหลงไปไกลเพียงใด ทันทีที่เราตัดสินใจเปลี่ยน พระผู้เป็นเจ้าจะทรงช่วยให้เรากลับมา [ดู แอลมา 34:31] จากมุมมองของพระผู้เป็นเจ้า ผ่านการกลับใจที่จริงใจและการมุ่งหน้าด้วยความแน่วแน่ในพระคริสต์ ทันทีที่กลับเข้ามา เราจะรู้สึกประหนึ่งเราไม่เคยออกนอกทาง พระผู้ช่วยให้รอดทรงชำระบาปของเรา ทรงทำให้เราเป็นอิสระจากการมีความสุขและพรที่ลดน้อยถอยลง”7

ดิฉันรู้ว่าเราทุกคนต้องการพระผู้ช่วยให้รอด ความจริงนี้ทําให้ดิฉันโล่งใจอย่างมาก แม้ดิฉันจะยังมีหน้าที่รับผิดชอบในการสอนลูกๆ และสนับสนุนพวกเขาบนเส้นทางพันธสัญญา แต่ไม่ใช่หน้าที่ของดิฉันที่จะช่วยตนเองหรือลูกๆ ให้รอด นั่นคืองานของพระผู้ช่วยให้รอด และพระองค์ทรงทํางานนั้นอย่างสมบูรณ์แบบ นี่เป็นงานของ พระบิดาบนสวรรค์ และรัศมีภาพ ของพระองค์ คือ “การทำให้เกิดความเป็นอมตะและชีวิตนิรันดร์ของมนุษย์” (โมเสส 1:39) พระองค์ทรงมีแผนแห่งความรอดสําหรับบุตรธิดาทุกคนของพระองค์ ดิฉันต้องวางใจในแผนของพระองค์ ไม่ใช่แผนของดิฉันเอง และดิฉันพยายามจดจําว่าพระองค์ทรงรักษาสัญญาของพระองค์ว่าจะปกป้องและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ครอบครัวเรา ดิฉันมีศรัทธาว่าพระองค์ทรงเชื้อเชิญลูกๆ ของดิฉันให้มาหาพระองค์เสมอ พระองค์จะทรงปลอบโยนและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ดิฉันขณะดิฉันพยายามทําเช่นเดียวกัน

บทเรียนที่ 2: การรอคอยพระเจ้าสามารถเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์

บทเรียนที่สองที่ดิฉันเรียนรู้มาจากซิสเตอร์เอมี่ เอ. ไรท์ ที่ปรึกษาที่หนึ่งในฝ่ายประธานปฐมวัยสามัญซึ่งเป็นผู้ที่พูดต่อจากเอ็ลเดอร์คริสทอฟเฟอร์สัน เธอสอนว่า

“เฉกเช่นขอทานง่อยตรงประตูพระวิหาร บ่อยครั้งเราจะพบตนเอง ‘รอ‍คอย​พระ‍เจ้า’ [อิสยาห์ 40:31] อย่างอดทน—หรือกระวนกระวายในบางครั้ง รอคอยที่จะได้รับการรักษาทางร่างกายหรือทางอารมณ์ รอคอยคำตอบที่เสียดแทงเข้าไปในส่วนลึกที่สุดของใจเรา รอคอยปาฏิหาริย์”8

คำสวดอ้อนวอนของดิฉันในการเข้าชมการประชุมใหญ่สามัญครั้งนั้นคือเพื่อได้รับคำตอบ ทันที ดิฉันรู้ว่าจะไม่เกิดขึ้นได้จริง แต่ดิฉันไม่คาดคิดว่าจะได้เรียนรู้บทเรียนเกี่ยวกับความสําคัญของการรอคอย

ซิสเตอร์ไรท์กล่าวต่อว่า “การรอคอยพระเจ้าสามารถเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์—สถานที่แห่งการขัดเกลาและกล่อมเกลาที่เราสามารถมารู้จักพระผู้ช่วยให้รอดในวิธีส่วนตัวแบบลึกซึ้ง การรอคอยพระเจ้าสามารถเป็นสถานที่ซึ่งบางครั้งเราอาจถามว่า ‘ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า, พระองค์ประทับอยู่ที่ใดเล่า?’ [หลักคําสอนและพันธสัญญา 121:1]—สถานที่ซึ่งความมุมานะทางวิญญาณเรียกร้องให้เราใช้ศรัทธาในพระคริสต์โดยเจตนาเลือกพระองค์ครั้งแล้วครั้งเล่า”9

ดิฉันไตร่ตรองมากถึงแนวคิดนี้ตั้งแต่การประชุมใหญ่สามัญครั้งนั้น การเรียนรู้ที่จะรอ อดทนกับลูกๆ และการเลือกของพวกเขา ตลอดจนวางใจว่าพระเจ้าทรงแสวงหาพวกเขาตลอดเวลาทำให้ดิฉันต้องใช้ความพยายามอย่างมาก ดิฉันอยากจะให้เรียบง่ายเหมือนการเลือกครั้งเดียวที่จะเชื่อ แล้วจากนั้นเปี่ยมด้วยสันติสุขไปตลอดวันเวลาที่เหลือของดิฉัน ขณะสวดอ้อนวอนขอให้ลูกๆ จะเลือกเอื้อมไปหาพระผู้ช่วยให้รอดและใช้ศรัทธาในพระองค์ แต่ไม่ได้เป็นอย่างนั้นสำหรับดิฉัน บางวันดิฉันรู้สึกว่าง่ายกว่าที่จะยอมแพ้ต่อความสิ้นหวังและหมดศรัทธา ยอมแพ้เพราะอาจดูเหมือน “แผนไม่ได้ผล” จำเป็นต้องใช้ความพยายามอย่างมากและความเพียรทางวิญญาณเพื่อใช้ศรัทธาและมีความหวังต่อไปในแผนของพระบิดาบนสวรรค์เมื่อดิฉันเห็นลูกๆ เลือกในสิ่งที่ไม่สะท้อนความจริงอันศักดิ์สิทธิ์ที่ดิฉันสอนพวกเขา แต่ทุกวันที่ดิฉันเลือกความหวังมากกว่าความสิ้นหวัง ดิฉันกำลังเลือกพระองค์ ครั้งแล้วครั้งเล่า

การต่อสู้ครั้งนี้ทําให้ดิฉันใกล้ชิดพระผู้เป็นเจ้ามากขึ้น ทําให้ดิฉันหันไปหาพระองค์ผ่านการสวดอ้อนวอน ทําให้ดิฉันมุ่งศึกษาพระคัมภีร์ ทําให้ดิฉันไปพระวิหาร เหนือสิ่งอื่นใด ทั้งหมดนี้ทําให้ดิฉันสํานึกคุณอย่างสุดซึ้งต่อการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ ดิฉันสํานึกคุณอย่างยิ่งที่รู้ว่าพระองค์ทรงรักลูกๆ ของดิฉันและพระองค์ทรงพลีพระชนม์ชีพเพื่อพวกเขา

การเรียนรู้ที่จะรอคอยพระเจ้ากลายเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สําหรับดิฉัน และกลายเป็นประสบการณ์ที่ช่วยขัดเกลา การศึกษาคําปราศรัยการประชุมใหญ่สามัญและการมุ่งศึกษาพระกิตติคุณทําให้ดิฉันเข้าใจหลักคําสอนลึกซึ้งขึ้นและเสริมสร้างศรัทธาของดิฉัน ดิฉันเรียนรู้บรรทัดมาเติมบรรทัด กฎเกณฑ์มาเติมกฎเกณฑ์ที่จะวางใจในพระเจ้าและในแผนแห่งการไถ่ของพระบิดาบนสวรรค์ขณะยังคงสวดอ้อนวอนขอให้ลูกๆ เลือกติดตามพระเยซูคริสต์และพระกิตติคุณของพระองค์ ดิฉันตั้งตารอการประชุมใหญ่สามัญครั้งต่อไปเพื่อเพิ่มเติมการเรียนรู้และประจักษ์พยานของดิฉัน

บทเรียนที่ 3: พระผู้เป็นเจ้าทรงเตรียมหนทางเปลี่ยนหินที่ทำให้สะดุดให้เป็นหินปูทาง

คําปราศรัยที่สามที่ทําให้ดิฉันมีความหวังในการประชุมใหญ่ครั้งนั้นคือคําปราศรัยของเอ็ลเดอร์แลร์รีย์ เอส. เคเชอร์ ขณะศึกษา คําปราศรัยนี้สอนดิฉันอย่างทรงพลัง ดิฉันเรียนรู้ว่าพระเจ้าทรงยอมให้เราประสบความซับซ้อนของชีวิตเพื่อช่วยให้เราหันไปหาพระองค์ เอ็ลเดอร์เคเชอร์สอนว่า “มีความเรียบง่ายอยู่อีกด้านหนึ่งของความซับซ้อนของชีวิต ขณะเรายังคง ‘[แน่วแน่] ในพระคริสต์, โดยมีความเจิดจ้าอันบริบูรณ์แห่งความหวัง’ [2 นีไฟ 31:20]

“จุดประสงค์ส่วนหนึ่งของชีวิตคือยอมให้หินที่อาจทำให้สะดุดเหล่านี้กลายเป็นหินปูทางขณะเราปีนสิ่งที่ข้าพเจ้าเรียกว่า ‘บันไดแห่งศรัทธา’—ที่เรียกบันไดเพราะเป็นการบ่งบอกว่าศรัทธาไม่อยู่นิ่ง จะขึ้นหรือลงก็ได้ตามการเลือกของเรา”10

ดิฉันเติบโตผ่านการทดลองศรัทธานี้ ด้วยปัญญาอันน้อยนิด ดิฉันต้องการกันลูกๆ ออกจากการทดลองของชีวิต แต่ดิฉันจะปฏิเสธไม่ให้ลูกๆ เติบโตแบบเดียวกันนี้ได้หรือ? ในพระปรีชาญาณอันทรงอานุภาพของพระผู้เป็นเจ้า พระองค์ทรงเตรียมทางให้เราเดินตาม ซึ่งคือแผนแห่งความรอดของพระองค์ ขณะเราเดินบนทางนั้น เราเผชิญความท้าทายที่ทดสอบศรัทธาของเราในพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ ขึ้นอยู่กับเราที่จะใช้สิทธิ์เสรีเลือกติดตามพระคริสต์ในบันไดแห่งศรัทธาของเราเอง โดยยอมให้การทดลองของเราเป็นหินปูทางเดินแทนที่จะเป็นหินที่ทำให้สะดุด เอ็ลเดอร์เคเชอร์เตือนเราว่า “ความก้าวหน้าของเราเป็นความก้าวหน้านิรันดร์”11

เรื่องราวของลูกๆ ดิฉันยังไม่จบ แผนแห่งความรอดของพระผู้เป็นเจ้ามีอยู่จริง ดิฉันจำเป็นต้องมีศรัทธาในแผนของพระองค์และวางใจในจุดประสงค์ของพระองค์ ขณะลูกๆ ใช้สิทธิ์เสรีต่อไป ดิฉันพยายามจำไว้ว่าพระเจ้าจะทรงเอื้อมไปหาพวกเขาอย่างต่อเนื่องและพระองค์จะทรงช่วยให้พวกเขากลับมาหากพวกเขาเลือกทำเช่นนั้น พระองค์ทรงอานุภาพที่จะช่วยให้รอด

ดิฉันพบความหวังใน สุภาษิต 3:5–6:

“จงวางใจในพระยาห์เวห์ด้วยสุดใจของเจ้า และอย่าพึ่งพาความรอบรู้ของตนเอง

“จงยอมรับรู้พระองค์ในทุกทางของเจ้า แล้วพระองค์เองจะทรงทำให้วิถีของเจ้าราบรื่น”

ดิฉันแน่ใจว่ามีผู้อื่นที่ประสบการทดลองศรัทธาของตนเอง การทดลองศรัทธาของท่านอาจคล้ายกับการทดลองของดิฉันหรือท่านอาจมีปัญหากับคําถามอื่น ดิฉันขอเสนอแนะให้ท่านนําข้อกังวลไปทูลพระเจ้าก่อนการประชุมใหญ่สามัญและผ่านการศึกษาการประชุมใหญ่สามัญและพระคัมภีร์อย่างต่อเนื่องด้วย พยายาม “ฟังพระองค์”12 จากนั้นวางใจว่าพระองค์จะทรงสอนท่านถึงสิ่งที่ท่านจำเป็นต้องได้ยิน ดิฉันรู้ว่าพระองค์ทรงรักเรา และพระองค์ทรงมีเดชานุภาพที่จะช่วยเราให้รอดและช่วยลูกๆ ของเราให้รอดขณะที่เรา—และพวกเขา—แต่ละคนต่างเลือกหันไปหาพระองค์ด้วยศรัทธา