เลียโฮนา
น้อมรับเดชานุภาพการเยียวยาของการกลับใจและการให้อภัย
เมษายน 2024


ดิจิทัลเท่านั้น

น้อมรับเดชานุภาพการเยียวยาของการกลับใจและการให้อภัย

จากคำปราศรัยการให้ข้อคิดทางวิญญาณเรื่อง “Asking, Seeking, and Knocking: A Compassionate Pattern” ที่มหาวิทยาลัยบริคัมยังก์–ฮาวายเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2023 ดูบทความเต็มเป็นภาษาอังกฤษได้ที่ speeches.byu.edu

พบคำตอบของคำถามสามข้อเกี่ยวกับการกลับใจและการให้อภัย

ภาพ
ชายคนหนึ่งสวดอ้อนวอนและดูมีความหวัง

ไม่กี่เดือนก่อน ข้าพเจ้าเชื้อเชิญให้นักเรียนบีวายยู–ฮาวายส่งคำถามถึงอัครสาวกที่เกี่ยวข้องกับพวกเขามากที่สุดในฐานะสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์ ข้าพเจ้าจัดกลุ่มคำถามออกเป็นหัวข้อที่คล้ายกัน กลุ่มหนึ่งเกี่ยวข้องกับการกลับใจและได้รับการให้อภัยบาป ความรู้สึกมีค่าควรรับส่วนศีลระลึก และความรู้สึกถึงความรักที่พระผู้เป็นเจ้าทรงมีต่อเราแม้เมื่อเรารู้สึกไม่มีค่าควร ข้าพเจ้าอยากพูดถึงหัวข้อนั้นที่นี่

พระผู้เป็นเจ้ายังทรงรักฉันหรือไม่แม้เมื่อฉันทําบาป?

น่าสนใจตรงที่หลักธรรมของการกลับใจเกิดขึ้นหลังจากศรัทธาในพระเยซูคริสต์ ข้าพเจ้าต้องบอกท่านว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงรักเรา แม้เรายังจมลึกอยู่ในบาป เราได้รับการให้อภัยเมื่อเราถ่อมตนต่อพระพักตร์พระผู้เป็นเจ้า ปรึกษากับผู้นำศาสนจักรที่เหมาะสมตามความจำเป็น กลับใจและละทิ้งบาปของเรา การทำตามขั้นตอนเหล่านี้ทำให้เราใกล้ชิดพระผู้ช่วยให้รอดมากขึ้น ผู้ทรงสามารถปลดปล่อยเราจากความรู้สึกผิด โทมนัส และพันธนาการทางวิญญาณและทางร่างกาย

เหตุใดฉันยังรู้สึกผิดแม้กลับใจแล้ว?

เราไม่รู้ว่าเหตุใดบางครั้งเรายังคงรู้สึกผิดแม้หลังจากเรากลับใจจากบาปที่เราทำไปแล้ว แทนที่จะคาดเดา ขอให้พูดคุยกับพระบิดาบนสวรรค์เกี่ยวกับเรื่องนี้ ถามคําถามนี้กับพระองค์โดยตรง ข้าพเจ้ารู้ว่าเมื่อเวลาผ่านไป พระองค์จะทรงเปิดเผยสิ่งที่ท่านต้องการ ในกรณีของข้าพเจ้า ข้าพเจ้ายังมีความทรงจำเกี่ยวกับความผิดพลาดในอดีตอยู่บ้าง เมื่อสวดอ้อนวอนเกี่ยวกับเรื่องนี้ พระเจ้าทรงบอกว่าข้าพเจ้าได้รับการให้อภัยแล้ว และไม่ควรกังวลเกี่ยวกับเรื่องเหล่านั้นอีกต่อไป อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้ายังรู้สึกว่าความทรงจำเหล่านั้นเป็นสิ่งเตือนใจให้ข้าพเจ้าพยายามไม่พลาดพลั้งเช่นนั้นอีก

ดังนั้นการมีความทรงจำเหล่านั้นจึงไม่ใช่ความคิดในเชิงลบทั้งหมด ข้าพเจ้ามองความทรงจำเหล่านั้นในชีวิตเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความรักที่พระผู้เป็นเจ้าทรงมีต่อข้าพเจ้าเมื่อพระองค์ทรงเตือนอย่างสม่ำเสมอให้หลีกเลี่ยงการใช้เส้นทางนั้นอีก เมื่อเราพยายามทําสุดความสามารถอย่างต่อเนื่อง โดยแสดงให้เห็นผ่านงานของเราว่าเราปรารถนาจะชําระภาชนะข้างในให้สะอาด (ดู แอลมา 60:23) ความรู้สึกผิดและความท้อแท้มีแนวโน้มจะหายไป เมื่อเวลาผ่านไป ประสบการณ์ของเราจะเป็นเหมือนแอลมาผู้เป็นพยานหลังจากกลับใจว่า “เขายังคงจดจำบาปของเขา แต่ความทรงจำเกี่ยวกับบาปของเขาจะไม่ทำให้เขาเป็นทุกข์และทรมานอีกต่อไป เพราะเขารู้ว่าเขาได้รับการให้อภัยแล้ว”1

ฉันจะให้อภัยคนที่ทําร้ายฉันได้อย่างไร?

ข้อกังวลที่น่าสนใจซึ่งแสดงผ่านคำถามที่ส่งมานั้นเกี่ยวข้องกับการให้อภัยคนที่ทำให้เราขุ่นเคืองและทำไม่ดีต่อเรา

นี่เป็นคําถามที่น่าสนใจ ขอให้เรามุ่งเน้นที่หลักธรรมบางประการและดูว่าจะนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างไร ขณะศึกษาพระคำของพระผู้เป็นเจ้า เราเรียนรู้ว่าการให้อภัยผู้อื่นนำมาซึ่งพรมากมายทางวิญญาณ รวมถึงสันติสุขและความหวัง บางทีพรสำคัญที่สุดคือเมื่อเราให้อภัยผู้อื่น เราสามารถได้รับการอภัยบาปของเราเองเช่นกัน พระเจ้าทรงสอนเราว่าการให้อภัยเป็นพระบัญญัติสากลและ “เรียกร้องจาก [เรา] ที่จะให้อภัยมนุษย์ทั้งปวง” (หลักคําสอนและพันธสัญญา 64:10) อย่างไรก็ตาม อาจยังเป็นเรื่องยาก

บางครั้งเรายอมให้ความจองหอง ความกลัว ความขุ่นเคือง หรือความขมขื่นทำให้เราท้อใจและขัดขวางความสามารถในการรู้สึกมีความหวัง แต่ความกล้าหาญที่จะให้อภัยเกิดขึ้นกับผู้ที่มอบศรัทธาและความวางใจในพระเจ้า ด้วยความช่วยเหลือจากพระองค์ เราจะพบความเข้มแข็งที่จะให้อภัยผู้อื่นได้ ไม่ว่าผู้กระทำผิดจะทำบาปร้ายแรงหรือทำผิดโดยไม่ได้ตั้งใจก็ตาม การให้อภัยหมายถึงการปล่อยวางการถูกตำหนิเพราะความเจ็บปวดในอดีต อีกทั้งยังเป็นการปลดปล่อยภาระหนักอึ้งอีกด้วย เป็นการให้ชีวิตก้าวไปข้างหน้า

เกี่ยวกับการหลงลืม สิ่งสำคัญคือต้องจำไว้ว่า “การให้อภัยไม่ได้หมายความว่าลืมเรื่องขุ่นเคืองที่เคยเกิดขึ้นหรือแสร้งทำเป็นว่าไม่เคยเกิดขึ้น ไม่ได้หมายความว่าท่านยอมให้ [พฤติกรรมที่ทำร้ายจิตใจ] เกิดขึ้นซ้ำๆ ต่อไป ไม่ได้หมายความว่าทุกความสัมพันธ์จะได้รับการเยียวยา และมิได้หมายความว่าผู้ทำให้ขุ่นเคืองไม่ต้องรับผิดชอบการกระทําของตน แต่หมายความว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงช่วยให้ท่านปล่อยวางได้”2

ต่อไปนี้เป็นข้อเสนอแนะบางประการที่จะช่วยในกระบวนการนี้:

  • สวดอ้อนวอนทูลขอความอ่อนน้อมถ่อมตน ความอ่อนน้อมถ่อมตนตรงข้ามกับความจองหอง ซึ่งเป็นอุปสรรคหลักในการพยายามให้อภัย ความจองหองนำเรามุ่งเน้นความรู้สึกเกลียดชังผู้อื่น อีกทั้งทําให้เรามองข้ามความอ่อนแอ ความผิดพลาด และบาปของเราเอง พระเจ้าทรงสัญญาว่า “หากพวกเขานอบน้อมถ่อมตนต่อหน้าเรา, และมีศรัทธาในเรา, เมื่อนั้นเราจะทำให้สิ่งที่อ่อนแอกลับเข้มแข็งสำหรับพวกเขา” (อีเธอร์ 12:27) ตามความอ่อนน้อมถ่อมตนและศรัทธาของเรา พระเจ้าจะทรงช่วยให้เราเป็นเหมือนพระองค์มากขึ้นและให้อภัยอย่างแท้จริงดังที่พระองค์ทรงให้อภัย

  • แสดงความสำนึกคุณ การแสดงความสํานึกคุณอัญเชิญพระวิญญาณเข้ามาในชีวิตเราอย่างเต็มที่มากขึ้น ซึ่งจะทําให้ใจเราเปลี่ยนและอ่อนลง ท่านอาจจดบันทึกสิ่งที่ท่านรู้สึกสำนึกคุณ มองหาการแสดงให้ประจักษ์ถึงความรักของพระผู้เป็นเจ้าทุกวัน ขณะท่านปลูกฝังเจตคติของความสํานึกคุณ ท่านอาจพบว่าแม้แต่จะระบุเหตุผลที่ต้องสํานึกคุณต่อการทดลองของท่านท่านก็สามารถทำได้ด้วย

  • จงอดทน การให้อภัยเมื่อท่านเจ็บปวดมากอาจต้องใช้เวลา สตรีคนหนึ่งฟื้นตัวจากการหย่าร้างที่เจ็บปวดได้รับคำแนะนำอันชาญฉลาดจากอธิการของเธอว่า “ขอให้มีที่ในใจสำหรับการให้อภัย และเมื่อต้องให้อภัย ก็ให้อภัยด้วยความยินดี” ท่านสามารถมีที่ให้กับการให้อภัยผ่านการสวดอ้อนวอน การศึกษา และการใคร่ครวญอย่างจริงจัง การดื่มด่ำพระวจนะของพระคริสต์ทุกวันจะช่วยให้ท่านเข้าใกล้พระองค์มากขึ้นและจะนําเดชานุภาพที่ยิ่งใหญ่ของการเยียวยาเข้ามาในชีวิตท่าน (ดู 2 นีไฟ 31:20; เจคอบ 2:8)

  • ทิ้งอดีตไว้เบื้องหลัง อดีตคืออดีต ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ แต่ท่านสามารถจดจ่อพลังไปที่วันนี้ เพราะวันนี้ท่านมีอำนาจที่จะเลือกให้อภัย วางภาระไว้กับพระเจ้า พระคริสต์ทรงกวักพระหัตถ์เรียก “บรรดาผู้เหน็ดเหนื่อยและแบกภาระหนัก จงมาหาเรา และเราจะให้ท่านทั้งหลายได้หยุดพัก” (มัทธิว 11:28) จําไว้ว่านอกจากจะทรงรับเอาบาปของโลกไว้กับพระองค์แล้ว พระคริสต์ทรงรับเอาความเจ็บปวดและความทุพพลภาพของเราไว้กับพระองค์ด้วย (ดู 2 นีไฟ 9:21; แอลมา 7:11–12; หลักคําสอนและพันธสัญญา 18:11) หากท่านยอมต่อพระองค์ พระองค์จะทรงทำให้ภาระของท่านเบาลงได้

การพบความเข้มแข็งที่จะให้อภัยอาจเป็นเรื่องท้าทาย แต่พระผู้ช่วยให้รอดและการชดใช้ของพระองค์ทำให้เรื่องนี้เป็นจริงได้ โดยแท้แล้ว ขณะเปิดใจให้อภัยผู้อื่น เราจะได้รับสันติสุข ข้าพเจ้าเชื้อเชิญให้ท่านน้อมรับเดชานุภาพการเยียวยาของการให้อภัย

อ้างอิง

  1. ดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ, “จุดกลับที่ปลอดภัย,” เลียโฮนา, พ.ค. 2007, 126.

  2. Is it Possible to Forgive?Help for Victims, คลังค้นคว้าพระกิตติคุณ.