เลียโฮนา
รับการเปิดเผยจนกว่าศรัทธาของเราจะไม่สั่นคลอน
เมษายน 2024


“รับการเปิดเผยจนกว่าศรัทธาของเราจะไม่สั่นคลอน,” เลียโฮนา, เม.ย. 2024.

จงตามเรามา

อีนัส

รับการเปิดเผยจนกว่า ศรัทธา ของเราจะ ไม่สั่นคลอน

“ข้าพเจ้ากระตุ้นให้ท่านทำตามขั้นตอนที่จำเป็นในการฟังพระเจ้าได้ดีขึ้นและบ่อยขึ้นเพื่อที่ท่านจะได้รับความรู้แจ้งที่พระองค์ทรงประสงค์จะประทานแก่ท่าน”1 —ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน

ภาพ
อีนัสสวดอ้อนวอน

ภาพประกอบโดย แดน เบอรร์

เรื่องราวของอีนัสในพระคัมภีร์มอรมอนเป็นแหล่งช่วยที่ดีเยี่ยมในการเรียนรู้ที่จะ “ฟังพระเจ้าได้ดีขึ้นและบ่อยขึ้น” ดังที่ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันแนะนำเรา2 เรื่องราวพระคัมภีร์สั้นๆ ที่งดงามนี้แสดงให้เห็นว่าเราจะมีคุณสมบัติคู่ควรรับการเปิดเผยได้อย่างไร การเปิดเผยมักจะมาอย่างไร และเหตุใดเราจึงควรแสวงหาการเปิดเผย นอกจากนี้ เรายังสามารถเรียนรู้จากอีนัสเช่นกันว่าศรัทธาของเราจะ “ไม่สั่นคลอนในพระเจ้า” (อีนัส 1:11) ได้อย่างไร รวมถึงเรารู้ว่าเราจะพักผ่อนอยู่กับพระผู้ไถ่ของเรา (ดู ข้อ 27) ได้อย่างไร

แสวงหาการเปิดเผย

“การต่อสู้ซึ่งข้าพเจ้าผจญมาต่อพระพักตร์พระผู้เป็นเจ้า” (ข้อ 2) อีนัสพูดถึงความพยายามที่จะได้รับการเปิดเผยของเขาว่าเป็น “การต่อสู้” ซึ่งหมายถึงการต่อสู้ดิ้นรนและการยืนยันสิ่งที่ประธานเนลสันสอนว่า “การได้รับการเปิดเผยต้องลงมือทำ”3 เราไม่สามารถคาดหวังที่จะได้รับการเปิดเผยจากความไม่ตั้งใจหรือความพยายามเพียงเล็กน้อยได้ (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 9:7–8)

“ข้าพเจ้าไปล่าสัตว์ในป่า” (ข้อ 3) การเปิดเผยของอีนัสเกิดขึ้นในตอนที่เขาอยู่คนเดียวในป่า ซึ่งแสดงให้เราเห็นว่า “ช่วงเวลาเงียบสงบคือเวลาศักดิ์สิทธิ์—เวลาที่จะก่อให้เกิดการเปิดเผยส่วนตัวและปลูกฝังสันติสุข”4 เนื่องด้วยความกังวลว่าการขาดช่วงเวลาเงียบๆ ในยุคปัจจุบันจะจำกัดความสามารถของเราในการรับการเปิดเผย ประธานเอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด รักษาการประธานโควรัมอัครสาวกสิบสองแบ่งปันว่า “คนในสมัยก่อนประสบความสันโดษอย่างที่เรานึกภาพไม่ออกในโลกอันชุลมุนวุ่นวายของเรา แม้เมื่อเราอยู่ตามลำพังในทุกวันนี้ เราก็ยังสามารถสื่อสารผ่านอุปกรณ์มือถือ แล็ปท็อป และทีวีเพื่อให้เราบันเทิงใจและวุ่นอยู่ตลอดเวลา ในฐานะอัครสาวก ข้าพเจ้าถามท่านว่า ท่านมีเวลาเงียบๆ ส่วนตัวบ้างหรือไม่?”5

“คำพูดซึ่งข้าพเจ้าได้ยินจากบิดาข้าพเจ้าบ่อยๆ เกี่ยวกับชีวิตนิรันดร์ … ฝังลึกอยู่ในใจข้าพเจ้า” (ข้อ 3) ในช่วงเวลาอันเงียบสงบนี้ อีนัสเริ่มไตร่ตรอง ซึ่งหมายถึง “การพินิจไตร่ตรองและคิดอย่างลึกซึ้ง, มักเกี่ยวกับพระคัมภีร์หรือเรื่องอื่นๆ ของพระผู้เป็นเจ้า”6 ประสบการณ์ของอีนัสยืนยันสิ่งที่ประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์ ที่ปรึกษาที่สองในฝ่ายประธานสูงสุดสอนว่า “เมื่อเราไตร่ตรอง เราเชื้อเชิญการเปิดเผยโดยพระวิญญาณ”7

“และจิตวิญญาณข้าพเจ้าหิวโหย” (ข้อ 4) เช่นเดียวกับความรู้สึกหิวอาหาร อีนัสมีความปรารถนาอันแรงกล้าหรือความต้องการอันลึกซึ้งที่จะรู้และสัมผัสกับเรื่องของพระผู้เป็นเจ้า ความปรารถนานี้เป็นแรงบันดาลใจและทำให้อีนัสมีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะแสวงหาและรับการเปิดเผยส่วนตัว ประธานเนลสันสัญญาว่า “เมื่อท่านเอื้อมออกไปหาพลังของพระเจ้าในชีวิตท่านอย่างสุดแรงเหมือนคนที่กำลังจมน้ำพยายามอ้าปากหาอากาศหายใจ พลังจากพระเยซูคริสต์จะเป็นของท่าน เมื่อพระผู้ช่วยให้รอดทรงทราบว่าท่านต้องการเอื้อมไปหาพระองค์อย่างแท้จริง—เมื่อพระองค์ทรงสัมผัสได้ว่าสิ่งที่ใจท่านปรารถนาที่สุดคือการดึงพลังของพระองค์เข้ามาในชีวิตท่าน—พระวิญญาณบริสุทธิ์จะนำทางให้ท่านรู้แน่ชัดว่าควรทำสิ่งใด”8

“ข้าพเจ้าร้องทูลพระองค์ในคำสวดอ้อนวอนอย่างสุดกำลัง … ตลอดทั้งวัน … และเมื่อถึงเวลากลางคืนข้าพเจ้ายังได้เปล่งเสียงข้าพเจ้าขึ้นไปสูงจนถึงสวรรค์” (ข้อ 4) ประสบการณ์ของอีนัสแสดงให้เห็นว่าการสวดอ้อนวอนอย่างเข้มข้นและไม่หยุดหย่อนนั้นจะเชื้อเชิญการเปิดเผย อย่างไรก็ตาม การเชื้อเชิญการเปิดเผยไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นผ่านการสวดอ้อนวอนที่ยาวนานเพียงรวดเดียว ดังที่เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายว่า “การทำบางสิ่งเป็นพักๆ อาจจะดูน่าประทับใจในช่วงสั้นๆ แต่การคงเส้นคงวาอยู่เสมอจะมีประสิทธิภาพดีขึ้นกว่ามาก อันตรายน้อยกว่ามาก และให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่ามาก … การพยายามสวดอ้อนวอนครั้งเดียวเป็นเวลาหลายชั่วโมงไม่น่าจะสร้างผลลัพธ์ทางวิญญาณเหมือนกับการสวดอ้อนวอนที่มีความหมายในตอนเช้าและเย็นอย่างสม่ำเสมอตลอดหลายสัปดาห์”9

เช่นเดียวกับอีนัส มีหลายครั้งในชีวิตเราที่การเปิดเผยที่เราแสวงหาไม่ได้มาในทันที เมื่อเกิดเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้น เราควรทำตามแบบอย่างของเขาและสวดอ้อนวอนต่อไปด้วยศรัทธาและรอคอยพระเจ้าอย่างซื่อสัตย์

รับรู้การเปิดเผย

“สุรเสียงของพระเจ้าเข้ามาในจิตใจข้าพเจ้า” (ข้อ 10) อีนัสรู้ว่าคำสวดอ้อนวอนของเขา “ขึ้นไปสูงจนถึงสวรรค์” (ข้อ 4) เพราะเขาได้รับการตอบรับจากพระเจ้า เขาบันทึกว่า “สุรเสียงมาถึงข้าพเจ้า, มีความว่า: อีนัส, บาปของเจ้าได้รับการให้อภัยแล้ว” (ข้อ 5) ถึงแม้อีนัสจะบรรยายถึงการได้ยินสุรเสียง แต่เขาก็ชี้แจงในภายหลังว่าไม่ใช่สุรเสียงที่ได้ยินจากหู แต่เป็นสุรเสียงทางวิญญาณที่เข้ามาในจิตใจของเขา เขาบันทึกว่า “สุรเสียงของพระเจ้าเข้ามาในจิตใจข้าพเจ้าอีก” (ข้อ 10)

ประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์ (1924–2015) ประธานโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายว่า “การสื่อสารทางวิญญาณที่ละเอียดอ่อนเหล่านี้มองไม่เห็นด้วยตาของเรา ทั้งไม่ได้ยินด้วยหูของเรา และถึงแม้จะเรียกการสื่อสารนี้ว่าเป็นเสียง แต่เป็นเสียงที่รู้สึก ไม่ใช่เสียงที่ได้ยิน”10

ประสบการณ์ของอีนัสแสดงให้เห็นว่ารูปแบบการเปิดเผยที่พบบ่อยที่สุดไม่ใช่การที่พระเจ้าตรัสกับหูของเราด้วยเสียงหรือปรากฏแก่ตาเรา แต่คือเมื่อพระองค์ตรัสอย่างละเอียดอ่อนผ่านพระวิญญาณของพระองค์ผ่านทางความนึกคิดและใจของเรา (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 8:2–3)

ภาพ
อีนัสกำลังสอนผู้คน

พรของการเปิดเผย

“อีนัส บาปของเจ้าได้รับการให้อภัยแล้ว” (ข้อ 5) อีนัสได้รับการรับรองว่าบาปของเขาได้รับการให้อภัยแล้วผ่านการเปิดเผยส่วนตัว นี่เป็นพรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดประการหนึ่งที่เราสามารถได้รับผ่านการเปิดเผย อันที่จริง เมื่อใดก็ตามที่เราได้รับการเปิดเผยผ่านพระวิญญาณบริสุทธิ์ นั่นเป็นหลักฐานว่าใจเรากำลังเปลี่ยนแปลงและเรากำลังเข้าใกล้พระผู้เป็นเจ้ามากขึ้น ประธานอายริงก์อธิบายว่า “หากท่านรู้สึกถึงอิทธิพลของพระวิญญาณบริสุทธิ์ ท่านอาจใช้ความรู้สึกนั้นเป็นหลักฐานยืนยันว่าการชดใช้กำลังเกิดผลในชีวิตท่าน”11

“ศรัทธาข้าพเจ้าเริ่มไม่สั่นคลอน” (ข้อ 11) หลังจากได้รับพรที่เขาแสวงหา ความปรารถนาของอีนัสก็ปรากฏออกมาภายนอก—ไปสู่ความผาสุกทางวิญญาณและความรอดนิรันดร์ของผู้อื่น เขาสวดอ้อนวอนให้ครอบครัวของตนเองท่ามกลางชาวนีไฟ และหลังจากนั้นก็สวดอ้อนวอนให้ชาวเลมัน ขณะที่เขาสวดอ้อนวอน เขาได้รับประสบการณ์อันศักดิ์สิทธิ์ เขาอธิบายว่า “และหลังจากข้าพเจ้า, อีนัส, ได้ยินพระดำรัสนี้แล้ว, ศรัทธาข้าพเจ้าเริ่มไม่สั่นคลอนในพระเจ้า” (ข้อ 11)

พรประการหนึ่งของการได้รับการเปิดเผยส่วนตัวจากพระเจ้าคือประสบการณ์ทางวิญญาณเหล่านี้เสริมสร้างศรัทธาของเราในพระองค์ แต่ละครั้งที่เราได้ยินพระองค์ ศรัทธาของเราในพระเยซูคริสต์จะเพิ่มพูน เมื่อเวลาผ่านไป การเปิดเผยอย่างสม่ำเสมอจะทำให้ศรัทธาของเราในพระองค์ไม่สั่นคลอน

ประธานโจเซฟ เอฟ. สมิธ (1838–1918) แบ่งปันประสบการณ์ของท่านเองไว้ว่า “ตอนที่ข้าพเจ้าเป็นเด็กหนุ่มเริ่มปฏิบัติศาสนกิจใหม่ๆ ข้าพเจ้าจะทูลขอพระเจ้าบ่อยๆ ให้ทรงแสดงสิ่งอัศจรรย์เพื่อข้าพเจ้าจะได้รับประจักษ์พยาน แต่พระเจ้าทรงยับยั้งสิ่งอัศจรรย์ไว้จากข้าพเจ้า และแสดงให้ข้าพเจ้าเห็นถึงความจริง บรรทัดมาเติมบรรทัด กฎเกณฑ์มาเติมกฎเกณฑ์ ที่นี่นิด ที่นั่นหน่อย จนกระทั่งพระองค์ทรงทำให้ข้าพเจ้ารู้ความจริงตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า และจนกระทั่งความสงสัยและความกลัวถูกลบล้างออกไปจากข้าพเจ้าจนหมดสิ้น พระองค์ไม่จำเป็นต้องทรงส่งทูตสวรรค์ลงมาทำสิ่งนี้หรือตรัสด้วยแตรของทูตสวรรค์ แต่โดยการกระซิบด้วยสุรเสียงสงบแผ่วเบาจากพระวิญญาณของพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงพระชนม์ พระองค์ประทานประจักษ์พยานที่ข้าพเจ้ามีอยู่ และโดยหลักธรรมกับอำนาจนี้ พระองค์จะประทานความรู้แห่งความจริงให้ลูกหลานมนุษย์ทั้งปวงซึ่งจะอยู่กับพวกเขา”12

“ศรัทธาของพวกเขาเหมือนกับของเจ้า” (ข้อ 18) เมื่ออีนัสได้รับการอภัยบาปครั้งแรก พระเจ้าทรงอธิบายว่าการอภัยบาปนั้นเกิดขึ้น “เพราะศรัทธาของเจ้าในพระคริสต์, ผู้ซึ่งเจ้าไม่เคยได้ฟังหรือเห็นมาก่อน” (ข้อ 8) หลังจากได้รับการเปิดเผยเพิ่มเติมอีกหลายครั้ง ในที่สุดอีนัสก็ได้รับศรัทธาแบบเดียวกับบิดาของเขา: “ศรัทธาของพวกเขาเหมือนกับของเจ้า” (ข้อ 18) อีนัสมีศรัทธาในพระคริสต์คล้ายกับศรัทธาของลีไฮ เจคอบ และนีไฟ ซึ่งทุกคนเคยเห็นพระเจ้าในนิมิต แม้ว่าประจักษ์พยานของเขาจะมาโดยการเปิดเผยส่วนตัวผ่านพระวิญญาณบริสุทธิ์เท่านั้น แต่ก็มีความแน่นอนเหมือนกับว่าเขาเคยเห็นพระเจ้าแล้ว ประสบการณ์ของอีนัสแสดงให้เห็นหลักธรรมที่เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนเกี่ยวกับพยานของอัครสาวกโธมัสเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอด: “คนคนหนึ่งอาจมีความเชื่อหรือพยานแบบเดียวกับที่โธมัสได้รับโดยไม่ต้องสัมผัสและเห็นพระองค์ [ดู ยอห์น 20:29]”13

ในตอนท้ายของหนังสือ อีนัสบันทึกว่าอีกไม่นานเขาจะตายและ “เมื่อนั้นข้าพเจ้าจะเห็นพระพักตร์พระองค์” (ข้อ 27) พยานในช่วงสุดท้ายของเขาทำให้เรานึกถึงประจักษ์พยานสุดท้ายของเอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกี (1915–1985) แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง ในการประชุมใหญ่สามัญประจำเดือนเมษายน 1985 เพียงไม่กี่วันก่อนที่ท่านจะสิ้นชีวิต ท่านพูดถึงพระผู้ช่วยให้รอดว่า:

“ข้าพเจ้าเป็นพยานคนหนึ่งของพระองค์ และในวันที่จะมาถึงข้าพเจ้าจะได้สัมผัสรอยตะปูในพระหัตถ์และพระบาทของพระองค์ และอาบพระบาทของพระองค์ด้วยน้ำตาข้าพเจ้า

“แต่ข้าพเจ้าคงไม่รู้ดีไปกว่าเวลานี้ว่าพระองค์ทรงเป็นพระบุตรผู้ทรงมหิทธิฤทธิ์ของพระผู้เป็นเจ้า พระองค์ทรงเป็นพระผู้ช่วยให้รอดและพระผู้ไถ่”14

“ในไม่ช้าข้าพเจ้าจะไปสู่สถานพักผ่อนของข้าพเจ้า, ซึ่งอยู่กับพระผู้ไถ่ของข้าพเจ้า เพราะข้าพเจ้ารู้ว่าในพระองค์ข้าพเจ้าจะพักผ่อนได้” (ข้อ 27) อีนัสรู้โดยการเปิดเผยส่วนตัวว่าพระเยซูคริสต์จะทรงช่วยให้เขารอดในอาณาจักรซีเลสเชียล บางคนคิดว่านี่เป็นสิ่งที่เราไม่สามารถรู้ได้ในชีวิตนี้ คนอื่นๆ คิดว่าความรู้นี้ต้องใช้สิ่งที่เหนือจริง เช่น การเสด็จเยือนจากพระผู้ช่วยให้รอด อย่างไรก็ตาม พระเจ้าทรงสอนว่าพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์สามารถประทานสัญญาแห่งชีวิตนิรันดร์แก่ผู้คนผ่านความซื่อสัตย์ในการรักษาพันธสัญญาอย่างสม่ำเสมอของพวกเขา15 การรับรองทางวิญญาณนี้มีเงื่อนไขขึ้นอยู่กับความซื่อสัตย์ของเรา: “พระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์จะทรงถอนตราประทับแห่งการรับรองในกรณีที่พันธสัญญาถูกละเมิด”16

เมื่อเรา “มุ่งหน้า” บนเส้นทางพันธสัญญา โดยพยายาม “อดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่” พระเจ้าจะประทานการรับรองทางวิญญาณแก่เราตลอดทางจนกว่าเราจะรู้ด้วยความมั่นใจว่า “[เรา] จะมีชีวิตนิรันดร์” (2 นีไฟ 31: 20) “พระคัมภีร์เรียกกระบวนการนี้ว่าเป็นการทำให้การเรียกและการเลือกของเรานั้นมีความแน่นอน”17

เช่นเดียวกับอีนัส ขณะที่เราต่อสู้ต่อพระพักตร์พระผู้เป็นเจ้า ขณะที่จิตวิญญาณของเราหิวโหยและใจเราไตร่ตรอง ขณะที่เราสวดอ้อนวอนอย่างสุดกำลังเพื่อตนเองและผู้อื่น เราจะได้รับการเปิดเผยมาเติมการเปิดเผยในช่วงเวลาอันเงียบสงบของเรา จนกว่าศรัทธาของเราในพระเยซูคริสต์จะไม่สั่นคลอน และเรารู้ว่าวันหนึ่งเราจะพักผ่อนอยู่กับพระองค์