คู่มือปฐมวัยและช่วงเวลาแบ่งปัน
กันยายน: ฉันจะรับใช้พระผู้เป็นเจ้าสุดใจ พลัง ความนึกคิด และพละกำลังของฉัน


กันยายน

ฉันจะรับใช้พระผู้เป็นเจ้าสุดใจ พลัง ความนึกคิด และพละกำลังของฉัน

“เจ้าจงรักพระเจ้าพระผู้เป็นเจ้าของเจ้าด้วยสุดใจของเจ้า, ด้วยสุดพลัง, ความนึกคิด, และพละกำลังของเจ้า; และในพระนามของพระเยซูคริสต์ เจ้าจงรับใช้พระองค์” (คพ. 59:5)

เสริมแนวคิดที่ให้ไว้ด้วยแนวคิดบางอย่างของท่านเอง แต่ละสัปดาห์ให้วางแผนวิธี (1) ระบุหลักคำสอน (2) ช่วยให้เด็กเข้าใจหลักคำสอน และ (3) ช่วยให้เด็กประยุกต์ใช้หลักคำสอนในชีวิต ถามตัวท่านว่า “เด็กต้องทำอะไรจึงจะเรียนรู้ และฉันจะช่วยให้พวกเขารู้สึกถึงพระวิญญาณได้อย่างไร”

สัปดาห์ 1: พระเยซูคริสต์ทรงสอนเรารับใช้ผู้อื่น

ระบุหลักคำสอน(ดูรูป): ให้ดูรูปพระเยซูคริสต์กำลังรับใช้ผู้อื่นสองสามรูป ตัวอย่างเช่น ใช้ นสพ, รูป 41, 42, 46, 47 และ 55 ขอให้เด็กๆ อธิบายว่าเกิดอะไรขึ้นในแต่ละรูป ชี้ให้เห็นว่าพระเยซูทรงกำลังรับใช้ผู้อื่นในแต่ละรูป เขียนบนกระดานว่า “พระเยซูคริสต์ทรงสอนเรารับใช้ผู้อื่น”

ส่งเสริมความเข้าใจ(อ่านพระคัมภีร์และแสดงบทบาทสมมติ): ขอให้เด็กผลัดกันทำท่าประกอบความต้องการอย่างหนึ่งตามที่บอกไว้ใน มัทธิว 25:35–36 ตัวอย่างเช่น เด็กคนหนึ่งอาจทำท่าหิว กระหาย คนแปลกหน้า หรือป่วย ขอให้เด็กคนอื่นทายความต้องการนั้นแล้วแสดงท่าทางว่าจะรับใช้คนนั้นได้อย่างไร อ่านมัทธิว 25:35–40 ด้วยกัน และขอให้เด็กๆ ดูว่าพระเยซูคริสต์ตรัสว่าเรากำลังรับใช้ใครเมื่อเรารับใช้ผู้อื่น

ภาพ
เด็กทำท่าหิว

ส่งเสริมการประยุกต์ใช้: แจกกระดาษให้เด็กคนละแผ่นและขอให้พวกเขาเขียนชื่อหรือวาดรูปคนที่พวกเขาสามารถรับใช้ได้และแสดงท่าการรับใช้ที่พวกเขาจะทำให้คนเหล่านั้น ขอให้เด็กนำกระดาษไปให้ครอบครัวดูที่บ้าน

สัปดาห์ 2: ศาสดาพยากรณ์และอัครสาวกแสดงให้เราเห็นวิธีรับใช้

ระบุหลักคำสอน ให้ดูรูปโมเสส กษัตริย์เบ็นจามิน โจเซฟ สมิธ และโธมัส เอส. มอนสัน บอกเด็กว่าศาสดาพยากรณ์เหล่านี้แสดงให้เราเห็นวิธีรับใช้ผู้อื่นเช่นเดียวกับศาสดาพยากรณ์และอัครสาวกทั้งหมด

ส่งเสริมความเข้าใจ(เล่นเกมทายคำ): เตรียมคำใบ้ว่าโมเสส กษัตริย์เบ็นจามิน โจเซฟ สมิธ และโธมัส เอส. มอนสันแสดงให้เราเห็นวิธีรับใช้อย่างไร ตัวอย่างเช่น คำใบ้บางคำเกี่ยวกับประธานมอนสันอาจได้แก่ “ผมไปเยี่ยมแม่ม่ายจากวอร์ดเป็นประจำ” “เมื่อผมเป็นเด็กผมให้ของเล่นชิ้นโปรดแก่เด็กผู้ชายคนหนึ่ง” และ “ผมมักจะไปเยี่ยมคนที่อยู่ในโรงพยาบาล” ท่านอาจต้องการใช้พระคัมภีร์อ้างอิงต่อไปนี้เพื่อเตรียมคำใบ้ โมเสส: อพยพ 2:16–17; 1 นีไฟ 17:24–29 กษัตริย์เบ็นจามิน: โมไซยาห์ 2:12–19 โจเซฟ สมิธ: โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:62, 67; คพ. 135:3 โธมัส เอส. มอนสัน: เลียโฮนา ต.ค. 1994, 12–17; ธ.ค. 1995, 2–4; พ.ย. 2006, 56–59

เลือกเด็กสี่คนออกมาเป็นตัวแทนของศาสดาพยากรณ์เหล่านี้ และให้เด็กคนหนึ่งอ่านคำใบ้ที่ท่านเตรียมไว้ ให้เด็กคนอื่นๆ ยกมือเมื่อพวกเขาคิดว่ารู้จักศาสดาพยากรณ์คนนั้น แล้วให้พวกเขาหารูปศาสดาพยากรณ์คนดังกล่าว ทำซ้ำกับศาสดาพยากรณ์ท่านอื่นๆ

ภาพ
เด็กแต่งชุดแสดงเป็นศาสดาพยากรณ์

เครื่องแต่งกายง่ายๆ เช่นเสื้อคลุมและหมวกสามารถทำให้การแสดงน่าสนใจมากขึ้น การแสดงช่วยให้เด็กเข้าใจหลักธรรมพระกิตติคุณและเรื่องราวจากพระคัมภีร์มากขึ้น

ส่งเสริมการประยุกต์ใช้(ฟังการประชุมใหญ่): ให้เด็กดูหรือฟังการประชุมใหญ่สามัญเดือนหน้า กระตุ้นพวกเขาให้ฟังเรื่องเล่าเกี่ยวกับการรับใช้ผู้อื่น เปิดโอกาสให้พวกเขาแบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้

สัปดาห์ 3 และ 4: เมื่อฉันรับใช้ผู้อื่นเท่ากับฉันรับใช้พระผู้เป็นเจ้า

ภาพ
เด็กเขียนกระดาน

ระบุหลักคำสอน(ท่องจำพระคัมภีร์): ช่วยเด็กท่องจำท่อนสุดท้ายของโมไซยาห์ 2:17 โดยเขียนบนกระดานว่า “เมื่อท่านอยู่ในการรับใช้เพื่อนมนุษย์ของท่าน ท่านก็อยู่ในการรับใช้พระผู้เป็นเจ้าของท่านนั่นเอง.” เชิญชวนเด็กๆ ให้ท่องข้อความนี้สองสามครั้ง ขอให้เด็กคนหนึ่งลบออกทีละหนึ่งหรือสองคำ และให้เด็กที่เหลือท่องข้อความนั้นอีกครั้ง ทำซ้ำจนไม่มีคำเหลือบนกระดาน

ส่งเสริมความเข้าใจ(ฟังกรณีศึกษา): ขณะเตรียมให้ศึกษาคำพูดการประชุมใหญ่เดือนเมษายน 2010 ของประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟร่วมกับการสวดอ้อนวอนเรื่อง “เจ้าคือมือของเรา” (ดู เลียโฮนา พ.ค. 2010 หน้า 85–93) ถามเด็กว่าเรารับใช้พระผู้เป็นเจ้าอย่างไรเมื่อเรารับใช้คนรอบตัว (เรากำลังทำสิ่งที่พระองค์ทรงประสงค์ให้เราทำถ้าพระองค์ประทับที่นี่) เล่าเรื่องหรือประสบการณ์ส่วนตัวเกี่ยวกับการรับใช้ และอธิบายว่าการรับใช้เป็นพรทั้งผู้ให้และผู้รับอย่างไร (ท่านสามารถหาเรื่องราวการรับใช้ได้ใน Friend หรือ เลียโฮนา) เตรียมกรณีศึกษาบางกรณีที่แสดงให้เห็นว่าเด็กสามารถรับใช้ผู้อื่นได้อย่างไร ตัวอย่างเช่น “แอนนีสะดุดล้มระหว่างกลับจากโรงเรียน หนังสือและกระดาษกระจายเกลื่อนพื้น เดวิดหยุด ช่วยพยุงเธอ และเก็บหนังสือให้เธอ” “เพื่อนบ้านของแมรีย์กำลังขนของเข้าบ้านขณะลูกน้อยของเธอกำลังร้องไห้ แมรีย์ช่วยเธอขนของ” ขอให้เด็กๆ ทำท่าประกอบกรณีศึกษาและบอกว่าใครได้การรับใช้ (ทั้งผู้รับการรับใช้และพระผู้เป็นเจ้า)

ส่งเสริมความเข้าใจและการประยุกต์ใช้(เล่นเกมจับคู่): หาหรือวาดรูปคนที่เด็กสามารถรับใช้ได้ เช่น พ่อแม่ พี่น้อง ปู่ย่าตายาย เพื่อน และเพื่อนบ้าน ทำสำเนารูปเหล่านี้สองชุดและเล่นเกมจับคู่กับพวกเขา เมื่อเด็กคนหนึ่งจับคู่ได้ ให้บอกวิธีรับใช้คนในรูปมาหนึ่งวิธี เขียนแนวคิดของเด็กไว้บนกระดาน ดูแนวคิดบางอย่างเกี่ยวกับวิธีรับใช้ในปฐมวัย 4 หน้า 182

ภาพ
เกมจับคู่

เกมให้ความหลากหลายแก่บทเรียน ช่วยให้เด็กมีปฏิสัมพันธ์กัน และเสริมน้ำหนักหลักธรรมพระกิตติคุณที่กำลังสอนด้วยวิธีที่สนุก