2014
การเปลี่ยนใจเลื่อมใสและการเปลี่ยนแปลงในชิลี
ตุลาคม 2014


ผู้บุกเบิกในทุกแผ่นดิน

การเปลี่ยนใจเลื่อมใสและการเปลี่ยนแปลงใน ชิลี

บัพติศมาครั้งแรกเกิดขึ้นในปี 1956 ปัจจุบันศาสนจักรมีพระวิหาร 1 แห่ง คณะเผยแผ่ 9 แห่ง สเตค 74 แห่ง และสมาชิกเกือบ 600,000 คนในชิลี

ภาพ
Día de Templo. A woman and a young girl playing on a wall outside the Santiago Chile Temple.

ในช่วงประวัติศาสตร์ 58 ปี สมาชิกศาสนจักรในชิลีได้แสดงให้เห็นว่าตนสามารถเปลี่ยนวิถี โดยปรับชีวิตไปตามครรลองที่ศาสดาพยากรณ์ชี้ทาง เจตนารมณ์ดังกล่าวส่งผลให้ศาสนจักรที่นั่นเติบโตมากเป็นพิเศษในช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ปัจจุบัน ชิลีมีสมาชิกเกือบ 600,000 คน ทำให้ชาวชิลี 1 คนในทุก 30 คนเป็นสมาชิกของศาสนจักร1

อัครสาวกเยือนชิลี

คริสต์ศักราช 1851 เอ็ลเดอร์พาร์ลีย์ พี. แพรทท์ (1807–1857) แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองมาถึงวัลปาเรโซด้วยเจตนาจะสถาปนาศาสนจักร แต่ท่านกับคู่พูดภาษาสเปนไม่เป็น พวกท่านมีทุนทรัพย์น้อยมาก และประเทศขาดเสรีภาพทางศาสนา ด้วยเหตุนี้จึงไม่สามารถสถาปนาศาสนจักรได้

เอ็ลเดอร์แพรทท์เสนอต่อประธานบริคัม ยังก์ (1801–1877) ว่า “ควรแปลและพิมพ์พระคัมภีร์มอรมอนและสิ่งพิมพ์ราคาถูกบางเล่มเป็นภาษาสเปน จากนั้นให้ไขกุญแจเข้าประเทศเหล่านี้ขณะนำฐานะปุโรหิตที่มีชีวิตเข้าไปพร้อมบางสิ่งให้พวกเขาอ่าน—แม้งานเขียนเหล่านั้นซึ่งมีสัญญาของพระผู้เป็นเจ้า คำสวดอ้อนวอนและศรัทธาของคนสมัยโบราณ อำนาจและพระวิญญาณของพระผู้เป็นเจ้าเพื่อทำงานกับพวกเขาในการนำเชื้อสายแห่งอิสราเอลกลับคืนมา”2

สถาปนาศาสนจักร

แม้เอ็ลเดอร์แพรท์เคยพยายามมาก่อนแล้ว แต่ 100 กว่าปีผ่านไปก่อนที่ศาสนจักรจะได้รับการสถาปนาอย่างถาวรในชิลี คริสต์ศักราช 1956 ศาสนจักรส่งเอ็ลเดอร์โจเซฟ เบนท์ลีย์และเอ็ลเดอร์เวอร์เล ออลเรดจากคณะเผยแผ่อาร์เจนตินาไปสั่งสอนพระกิตติคุณในชิลีซึ่งเวลานั้นเปิดกว้างทางศาสนามากขึ้น ในซานเตียโกผู้สอนศาสนาเหล่านี้ได้รับความช่วยเหลือจากครอบครัวฟอเธอริงแฮม สมาชิกที่ย้ายมาจากปานามาและหวังอยู่เสมอว่าผู้สอนศาสนาจะมา

ภาพ
photo of first baptism in Chile in 1956 First missionaries in Chile, Joseph C. Bentley and Verle M. Allred.

บัพติศมาครั้งแรกประกอบพิธีในชิลีวันที่ 25 พฤศจิกายน ค.ศ. 1956 ในสระน้ำที่สโมสรชานเมืองในซานเตียโก เอ็ลเดอร์ออลเรดจำได้ว่า “เราไปที่สโมสรชานเมืองก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นและมีพิธีซึ่งประกอบด้วยการสวดอ้อนวอนและคำพูดสั้นๆ ผมลงไปในน้ำกับบราเดอร์การ์เซีย ผมให้บัพติศมาเขาเป็นคนแรก แล้วก็ให้อีกแปดคนต่อจากเขา นี่เป็นโอกาสพิเศษมาก เราทุกคนไม่อาจลืมเลือนสิ่งที่เรารู้สึกได้ … สมาชิกเหล่านี้คงจะเป็นผู้บุกเบิกของศาสนจักรในชิลีและผมเชื่อว่าพวกเขาทุกคนยังคงซื่อสัตย์แม้จนถึงความตาย นั่นคือ ครอบครัวการ์เซีย ครอบครัวซัลดานอส และซิสเตอร์ลานซารอตตี”3

การเรียกผู้นำ

ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1959 สเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์ (1895–1985) แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองไปเยือนชิลีและเน้นความจำเป็นของการพัฒนาผู้นำระดับท้องที่ ผู้นำระดับท้องที่รุ่นแรกคนหนึ่งคือคาร์ลอส ซิเฟวนเทส เขาเป็นที่ปรึกษาของโรเบิร์ต เบอร์ตันประธานคณะเผยแผ่ เอ็ลเดอร์ฮูลิโอ ฮารามิลโลผู้เป็นสาวกเจ็ดสิบภาคและประธานพระวิหารในเวลาต่อมาเล่าประสบการณ์นี้ว่า “ผมประทับใจบราเดอร์ซิเฟวนเทสครั้งแรกตอนที่มีคนชวนผมไปร่วมการประชุมฐานะปุโรหิตหลังจากผมรับบัพติศมา เมื่อการประชุมเริ่ม เขามาที่แท่นพูดและสิ่งเดียวที่ผมเห็นคือเล็บมือดำสกปรกของเขา ผมคิดว่า ‘ชายคนนี้จะดำเนินการประชุมเคียงข้างประธานคณะเผยแผ่ได้อย่างไรถ้ามือของเขาสกปรก’ จนกระทั่งเขาเริ่มพูดและผมลืมหมดทุกอย่างเมื่อผมรับรู้เจตนารมณ์ของเขา เขาให้แนวคิดที่ลึกซึ้งแก่เราด้วยคำพูดที่เรียบง่าย เขาเป็นช่างซ่อมเครื่องจักรกลหนักและวันเสาร์เขาเลิกงานดึก จากนั้นก็จะทำความสะอาดมือ แต่เนื่องจากที่ร้านมีวิธีทำความสะอาดไม่กี่วิธีเขาจึงไม่สามารถขจัดคราบจาระบีออกได้หมด ผมเรียนรู้ในเวลานั้นและที่นั่นว่าต้องไม่ตัดสินผู้อื่นจากรูปลักษณ์ภายนอกแต่ประเมินค่าจากสิ่งที่พวกเขาเป็นจริงๆ”4

การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้อนุชนรุ่นหลัง

ในช่วงทศวรรษ 1960 และ 1970 ศาสนจักรในชิลีเข้มแข็งขึ้นไม่ใช่เพราะผู้นำระดับท้องที่มีประสบการณ์มากขึ้นเท่านั้นแต่เพราะมีโครงการใหม่ๆ ด้านการศึกษาและการก่อสร้างด้วย นี่รวมถึงการสร้างโบสถ์พร้อมๆ กับการตั้งโรงเรียน เซมินารี และสถาบันของศาสนจักร

ในเดือนมีนาคม ปี 1964 โรงเรียนประถมที่ศาสนจักรบริหารสองแห่งแรกจัดตั้งขึ้นในชิลี ในที่สุดก็เปิดหลายโรงเรียน และมีนักเรียนมาสมัครมากกว่า 2,600 คน ราวปลายทศวรรษ 1970 และต้นทศวรรษ 1980 โรงเรียนรัฐบาลแพร่หลายมากขึ้น ศาสนจักรจึงประกาศปิดโรงเรียนในชิลี

เอ็ลเดอร์อีดูอาร์โด เอ. ลามาร์ติเน อดีตสาวกเจ็ดสิบภาคและปัจจุบันเป็นผู้ให้คำปรึกษาด้านประวัติศาสนจักรในชิลีแสดงความเห็นเกี่ยวกับโปรแกรมการศึกษาดังนี้ “โรงเรียนในชิลีมีอิทธิพลมากในการอบรมเยาวชนหลายพันคนด้านวิชาการและทางวิญญาณ โรงเรียนเหล่านี้มีส่วนช่วยเตรียมผู้นำและผู้สอนศาสนาในช่วงปีต่อๆ มา”5

โปรแกรมเซมินารีและสถาบันเริ่มต้นในชิลีปี 1972 เดิมทีนักเรียนเข้าร่วมโปรแกรมศึกษาที่บ้านกับชั้นเรียนประจำสัปดาห์ ต่อมาศาสนจักรจัดชั้นเรียนบ่อยขึ้น โปรแกรมเหล่านี้เป็นพรแก่คนรุ่นเยาว์ของประเทศและช่วยพวกเขาเตรียมรับใช้เป็นผู้สอนศาสนาเต็มเวลา เอ็ลเดอร์เอดูอาร์โด อญาลา อดีตสมาชิกสาวกเจ็ดสิบ เป็นครูเซมินารีรุ่นแรกและต่อมาทำงานให้ระบบการศึกษาของศาสนจักรในชิลี เขากล่าวว่า “พระเจ้าทรงเลือกคนรุ่นเยาว์ผู้อยู่ที่นั่นเวลานั้นและหลายคนเป็นอดีตผู้สอนศาสนาและเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่มีครอบครัวที่ดี … สำหรับผม เซมินารีและสถาบันเป็นหนทางแห่งความรอดในช่วงเวลาของความขัดแย้งอย่างรุนแรงในประเทศของเราและผมสำนึกคุณที่ได้รับเรียกให้ทำงานกับระบบการศึกษา”6

ภาพ
Group photo of fourth grade students at Church school in Santiago known as Colegio A. D. Palmer and Chilean teachers at school. This photograph is one of a twenty-five-page photocopy of Flora Decker's photograph album containing snapshots she accumulated while serving in Chilean Mission during presidencies of Carl J. Beecroft and Robert H. Burton. Most images in album include some identifying information. Copies of twenty-seven images from album and index providing additional information about those items are also included

สเตคแรก

วันที่ 19 พฤศจิกายน ค.ศ. 1972 เอ็ลเดอร์กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ (1910–2008) สมัยนั้นอยู่ในโควรัมอัครสาวกสิบสอง ได้จัดตั้งสเตคซานเตียโก ชิลี โดยมีคาร์ลอส ซิเฟวนเทส เป็นประธาน

การเตรียมเป็นสเตคแสดงให้เห็นอุปนิสัยของวิสุทธิชนในชิลีและความเต็มใจจะทำตามศาสดาพยากรณ์ของพวกเขา เอ็ลเดอร์ฮิงค์ลีย์มาถึงชิลีหลายเดือนก่อนจัดตั้งสเตค แต่หลังจากจัดเตรียมการสัมภาษณ์ ท่านก็เลื่อนการสัมภาษณ์ออกไป สมัยนั้นหลายคนกำลังประสบปัญหาการเงิน สมาชิกบางคนกำลังประสบความยุ่งยากในการถือปฏิบัติกฎส่วนสิบ

เอ็ลเดอร์ฮิงค์ลีย์อธิบายว่า “ข้าพเจ้ากลับไปอีกหกเดือนให้หลัง และขณะกำลังสัมภาษณ์ ข้าพเจ้าพบความเบ่งบานของศรัทธา พวกเขาดำเนินชีวิตด้วยความซื่อสัตย์ต่อเบื้องพระพักตร์พระเจ้าอีกครั้ง เราจัดตั้งสเตค และนับแต่นั้นเป็นต้นมาพวกเขาเติบโตและรุ่งเรือง”7

ผู้บุกเบิกตามแนวชายแดน

ปัจจุบันมีสองสเตคในอารีกาเมืองตอนเหนือสุดของชิลี เรื่องราวของแกลดีส์กับฮวน เบนาวิเดซผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสรุ่นแรกในอารีกา เป็นแบบอย่างของวิญญาณผู้บุกเบิกและอิทธิพลจากเบื้องบนในการสถาปนาศาสนจักรทั่วชิลี

มีคนแนะนำบราเดอร์เบนาวิเดซให้รู้จักศาสนจักรในปี 1961 เมื่อลมพัดกระดาษไปทางเขา “กระดาษพวกนั้นเป็นหน้าหนังสือ บางตอนของสรรสาระ ที่มีบทความเกี่ยวกับ “ชาวมอรมอน” บรรยายชีวิตและความเชื่อของพวกเขา” เขากล่าว

ไม่นานหลังจากนั้น เขาป่วยหนักจนต้องรับการรักษาในซานเตียโก “ขณะอยู่ที่นั่น ผมไปเยี่ยมพี่สาวและทราบว่าเธอเป็นสมาชิกของศาสนจักร” เขากล่าว “เธอชวนผมไปการประชุมใหญ่พิเศษครั้งหนึ่ง ขณะฟังการสวดอ้อนวอนเปิดและตั้งใจฟังคำพูดต่างๆ ผมรู้สึกปีติยินดีอย่างยิ่งทั่วทั้งร่างและรับรู้ถึงอิทธิพลของพระวิญญาณบริสุทธิ์ เมื่อจบการประชุมใหญ่ ผู้สอนศาสนาพาผมไปจับมือกับเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ที่มาเยี่ยมคือเอ็ลเดอร์เอสรา แทฟท์ เบ็นสัน(1899–1994) สมัยนั้นท่านอยู่ในโควรัมอัครสาวกสิบสอง”

บราเดอร์เบนาวิเดซกลับไปอารีกาและแบ่งปันประสบการณ์นี้กับแกลดีส์ อากีลาร์แฟนสาวของเขาผู้เป็นภรรยาของเขาในปัจจุบัน สองวันต่อมา แกลดีส์เห็นผู้สอนศาสนาสองคนผ่านบ้านเธอ “เรารีบไปตามหาพวกเขา” บราเดอร์เบนาวิเดซกล่าว “วันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 1961 เรารับบัพติศมา พร้อมกับครอบครัวของภรรยาผม ปัจจุบันเรามีลูกหลานในศาสนจักร ผมซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระเจ้าสำหรับลมนั้นที่พัดข้อมูลเกี่ยวกับศาสนจักรเข้ามาในมือผม”8

ช่วงการทดลอง

ในการเลือกตั้งปี 1970 ดร. ซัลวาดอร์ อัลเลนเดเป็นประธานาธิบดีและสถาปนาการปกครองลัทธิมาร์กซ์ สมาชิกศาสนจักรประสบความยุ่งยากเดือดร้อนอันเนื่องจากความขาดแคลนอาหารและยา การคุกคามผู้สอนศาสนาอยู่เนืองๆ และสื่อให้ข่าวในแง่ลบ

คริสต์ศักราช 1973 วิกฤติทางการเงินและ สังคมก่อให้เกิดรัฐประหารและระบบเผด็จการที่ยืดเยื้อจนถึงปี 1990 ถึงแม้ชิลีเป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบบประชาธิปไตยในปัจจุบัน แต่สองทศวรรษนั้นเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากสำหรับสมาชิก หลายกลุ่มที่คัดค้านระบอบเผด็จการของทหารเข้าทำลายโบสถ์และทำร้ายสมาชิกเพราะคิดว่าศาสนจักรเป็นเป็นตัวแทนรัฐบาลสหรัฐ เอ็ลเดอร์อญาลา ประธานสเตคสมัยนั้น กล่าวว่า “เราจะประชุมกับเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ และพวกท่านจะบอกเราว่า ‘ได้โปรดใช้ปัญญา สวดอ้อนวอนให้มาก ทำสิ่งถูกต้อง ทั้งนี้เพื่อสมาชิกจะรักษาระเบียบในที่ประชุม”9

ถึงแม้ความยุ่งยากทางการเงินและการต่อต้านทางการเมืองของประเทศจะแบ่งแยกสังคมชาวชิลีตอนต้นทศวรรษ 1980 แต่ศาสนจักรเติบโตอย่างรวดเร็ว ระหว่างปี 1970 กับปี 1985 จำนวนสมาชิกศาสนจักรในชิลีเพิ่มจาก 15,728 คนเป็น 169,361 คน

พระวิหารซานเตียโก

ภาพ
The Santiago Chile Temple

คริสต์ศักราช 1980 วิสุทธิชนได้รับพรด้วยการประกาศว่าจะสร้างพระวิหารในซานเตียโก ชิลี

เมื่อประธานสเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์อุทิศสถานที่ก่อสร้างพระวิหาร ท่านอ่อนแอมากแต่การอยู่ที่นั่นแสดงให้เห็นว่าท่านรักวิสุทธิชนของอเมริกาใต้ ผู้ที่ท่านทำงานด้วยตั้งแต่ปี 1959 ซิสเตอร์อาเดรียนา เกอร์รา เด เซปูลเวดา ผู้เป็นล่ามให้ซิสเตอร์คิมบัลล์ในครั้งนั้นกล่าวว่า “เมื่อดิฉันเห็นศาสดาพยากรณ์ บุคคลร่างเล็กที่มีใบหน้าเหมือนทูตสวรรค์ ดิฉันเริ่มร้องไห้และไม่อาจหาคำพูดใดมากล่าวกับท่านได้ นี่เป็นครั้งแรกที่ดิฉันอยู่ข้างศาสดาพยากรณ์ที่มีชีวิต การได้เห็นกระบอกเสียงของพระเจ้าที่นี่บนโลกนี้และในประเทศของดิฉันนับเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์โดยแท้”10

พระวิหารได้รับการอุทิศในปี 1983 กลายเป็นพระวิหารแห่งที่สองในอเมริกาใต้และแห่งแรกในประเทศที่พูดภาษาสเปน

เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์ในชิลี

ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2002 ฝ่ายประธานสูงสุดมอบหมายให้สมาชิกโควรัมอัครสาวกสิบสองสองท่านมาเป็นประธานภาคสองภาคของศาสนจักร เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์ได้รับมอบหมายให้ดูแลภาคฟิลิปปินส์ ส่วนเอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์ให้ดูแลชิลี การปฏิบัติศาสนกิจและอิทธิพลของเอ็ลเดอร์ฮอลแลนด์ขณะอยู่ในชิลีมิอาจประมาณได้ และประสิทธิผลดังกล่าวจะยังอยู่อีกหลายรุ่น

สิ่งที่เอ็ลเดอร์ฮอลแลนด์เน้นเป็นหลักคือให้แบบอย่างการเป็นผู้นำในวิธีของพระเจ้า ท่านช่วยอบรมผู้นำคนใหม่และควบคุมดูแลการจัดตั้ง การยุบ และการรวมวอร์ดหลายร้อยวอร์ดและสเตคหลายสิบสเตค การจัดตั้งใหม่และการอบรมครั้งนี้จำเป็นเพราะศาสนจักรเติบโตอย่างรวดเร็วในประเทศ การนำของท่านช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้หน่วยต่างๆ และเตรียมศาสนจักรในชิลีให้พร้อมรับอนาคต

นอกจากนี้ เอ็ลเดอร์ฮอลแลนด์ยังได้เชื่อมความสัมพันธ์ครั้งสำคัญกับบางคนในชิลีด้วย เอ็ลเดอร์คาร์ล บี. แพรทท์แห่งสาวกเจ็ดสิบ ที่ปรึกษาในฝ่ายประธานภาคคราวนั้น พูดถึงความสัมพันธ์ครั้งสำคัญเหล่านี้ว่า “เอ็ลเดอร์ฮอลแลนด์สร้างความสัมพันธ์แนบแน่นกับริคาร์โด ลากอส [ประธานาธิบดีของชิลี] กับภริยา พวกท่านดำเนินโครงการช่วยเหลือเพื่อมนุษยธรรมหลายโครงการ เอ็ลเดอร์ฮอลแลนด์ได้รู้จักกับเอกอัครสมณทูต [ทูตระดับสูงของคาทอลิก] และบุคคลสำคัญคนอื่นๆ ในชิลี”11

วางใจในอนาคต

ความพยายามของเอ็ลเดอร์พาร์ลีย์ พี. แพรทท์และเอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์ การเสียสละของผู้สอนศาสนารุ่นแรกที่มาถึงซานเตียโก การอุทิศตนของผู้นำอย่างคาร์ลอส กิฟูเอนเตส และผู้บุกเบิกรุ่นแรกๆ ของชิลี ผนวกกับศรัทธาและการอุทิศตนของคนหลายแสนคนผู้เข้าร่วมศาสนจักรในช่วงเวลากว่าครึ่งศตวรรษได้สร้างรากฐานอันมั่นคงให้ศาสนจักรในชิลี ปัจจุบันประเทศนี้มีพระวิหารหนึ่งแห่ง (กับอีกหนึ่งแห่งที่ประกาศสร้างไปแล้ว) ศูนย์ฝึกอบรมผู้สอนศาสนาหนึ่งแห่ง คณะเผยแผ่ 9 แห่ง และ สเตค 74 แห่ง อนาคตไร้ขีดจำกัดในงานทางวิญญาณของการเชื้อเชิญคนทั้งปวงให้มาหาพระคริสต์

อ้างอิง

  1. ดู Deseret News 2013 Church Almanac, 454.

  2. Autobiography of Parley P. Pratt, ed. Soctt Facer Proctor and Maurine Jensen Proctor (2000), 504.

  3. เวอร์เล ออลเรด, ในเนสตอร์ เกอร์เบโล, LDS in South America: Chile Sur, vol. 1 (2008), 6.

  4. ฮูลิโอ ฮารามิลโล, ใน เนสตอร์ เกอร์เบโล, LDS in South America: Chile, vol. 1 (2006), 4–5.

  5. เอดูอาร์โด อาเดรียน ลามาร์ติเน อากิลา, สรุปประวัติให้ผู้เขียน, พ.ย. 2013.

  6. เอดูอาร์โด อญาลา, ใน เนสตอร์ เกอร์เบโล, LDS in South America: Chile, vol. 1 (2006), 44, 45.

  7. กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์, ใน โรดอลโฟ อเกเวโด เอ., Alturas Sagradas: Templo de Santiago de Chile, 100.

  8. เนสตอร์ เกอร์เบโล, “Blossoming in the Desert,” Church News, Nov. 9, 1996, 8–9.

  9. เอดูอาร์โด อญาลา, ใน เนสตอร์ เกอร์เบโล, LDS in South America: Chile, vol. 1 (2006), 33.

  10. อาเดรียนนา กูเอร์รา เดอ เซปูลเวดา, ใน เนสตอร์ เกอร์เบโล, LDS in South America: Chile (2006), 16.

  11. คาร์ล บี. แพรทท์, ใน เนสตอร์ เกอร์เบโล, Colombia: investigación histórica, vol. 1 (2010), 16.

  12. ฮอร์เก เอฟ. เซบาโยส, ในจดหมายส่งถึงผู้เขียน, ม.ค. 2014.

ภาพถ่ายหลายภาพในบทความนี้เอื้อเฟื้อโดย เนสตอร์ เกอร์เบโล; บนซ้าย: ภาพถ่าย โดย filipefrazao/iStock/Thinkstock; ล่าง: ภาพถ่าย โดย kavram/iStock/Thinkstock

คณะครูและนักเรียนชั้นประถมสี่ที่โรงเรียนโกเลจิโอ เอ. ดี. พอลเมอร์ของศาสนจักร ประมาณปี 1966

สถาบันศาสนาในเตมูโกเป็นหนึ่งใน 50 สถาบันในชิลี

ซ้าย: ภาพถ่าย โดย ฟลอรา เดกเคอร์ โดนัลด์สัน; ภาพถ่ายเอ็ลเดอร์เมลวิน เจ. บัลลาร์ด โดย เอส. ดับเบิลยู เอกเคอร์ © IRI

ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ปราศรัยกับวิสุทธิชนยุคสุดท้ายชาวชิลี 48,000 คนในปี 1996 ที่การประชุมใหญ่ในซานเตียโก

เยาวชนและผู้ใหญ่ชาวชิลี มอรมอนร่วมมือร่วมใจรวบรวมชุดสุขอนามัยคราวเกิดแผ่นดินไหวในปี 2010

ซ้าย: ภาพเด็กชาย โดยออสการ์ เอ. ชมิตต์เนอร์ บริสโซ ไม่อนุญาตให้ทำสำเนา; ขวา: กราฟิกโดย Marcelo Silva/iStock/Thinkstock