สถาบัน
บทที่ 10: การสอนเรื่องแผนแห่งความรอด (ตอน 1)


10

การสอนเรื่องแผนแห่งความรอด (ตอน 1)

คำนำ

แผนแห่งความรอดเป็นแผนของพระบิดาบนสวรรค์เพื่อความสุขของบุตรธิดาของพระองค์ แผนดังกล่าวมีศูนย์กลางอยู่ที่การชดใช้ของพระเยซูคริสต์และสอนว่าเหตุใดการชดใช้จึงจำเป็น แผนของพระบิดาบนสวรรค์ตอบคำถามเช่นกันว่า “ฉันมาจากไหน” “จุดประสงค์ของฉันในชีวิตคืออะไร” และ “ฉันจะไปที่ไหนหลังจากฉันสิ้นชีวิต” ผู้มุ่งหวังจะเป็นผู้สอนศาสนาควรมีความเข้าใจชัดเจนในหลักคำสอนเกี่ยวกับแผนแห่งความรอดและพร้อมอธิบายอย่างเรียบง่ายและเป็นพยานยืนยันแผนดังกล่าวด้วยพลัง

การเตรียมล่วงหน้า

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

ชีวิตก่อนเกิดบนแผ่นดินโลก: จุดประสงค์และแผนของพระผู้เป็นเจ้าเพื่อเรา

ท่านอาจจะให้ชั้นเรียนร้องเพลงสวด “ฉันลูกพระผู้เป็นเจ้า” อันเป็นส่วนหนึ่งของการให้ข้อคิดทางวิญญาณเพื่อเปิดชั้นเรียน เพื่อเริ่มบทเรียน ให้นักเรียนทบทวนเนื้อร้องข้อแรกของ “ฉันลูกพระผู้เป็นเจ้า” และขอให้พวกเขามองหาหลักคำสอนหรือหลักธรรมที่พบในเนื้อร้อง

ฉันลูกพระผู้เป็นเจ้า

โปรดเกล้าส่งฉันมานี่

ประทานให้มีบ้านในโลกนี้

มีพ่อแม่รักเมตตา

พาฉัน นำฉัน เดินเคียงข้างฉัน

ช่วยฉันให้พบทาง

สอนฉันทุกอย่างที่ต้องทำ

เพื่อพำนักกับพระอีก

(“ฉันลูกพระผู้เป็นเจ้า” เพลงสวด บทเพลงที่ 149)

หลังจากนั้นสองสามนาที ให้นักเรียนอธิบายหลักคำสอนหรือหลักธรรมสำคัญที่พวกเขาพบในเพลงสวด หากจำเป็นท่านอาจจะถามคำถามต่อไปนี้

  • เนื้อร้องเหล่านี้บอกอะไรเกี่ยวกับชีวิตเราก่อนที่เราจะมายังแผ่นดินโลก

  • เนื้อร้องเหล่านี้บอกอะไรเกี่ยวกับจุดประสงค์ของชีวิตบนแผ่นดินโลก

บอกนักเรียนว่าในฐานะผู้สอนศาสนา พวกเขาจะมีโอกาสสอนเรื่องจุดประสงค์ของชีวิต ให้นักเรียนหนึ่งคนหรือมากกว่านั้นอ่านออกเสียงสองย่อหน้าแรกของหัวข้อเรื่อง “ชีวิตก่อนเกิดบนแผ่นดินโลก: จุดประสงค์และแผนของพระผู้เป็นเจ้าเพื่อเรา” ในหน้า 48 ของ สั่งสอนกิตติคุณของเรา

ท่านอาจจะแบ่งปันคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองด้วย

ภาพ
ประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์

“ไม่มีความจริงใดถ่ายทอดให้เราในการฟื้นฟูลึกซึ้งกว่าความรู้เรื่องการดำรงอยู่ก่อนเกิดของเรา ไม่มีศาสนจักรใดรู้หรือสอนความจริงนี้ หลักคำสอนนี้ประทานให้คร่าวๆ เท่านั้น แต่ในการเปิดเผยกล่าวย้ำข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องบ่อยพอจะทำให้เรามั่นใจในความจริงพื้นฐานบางอย่าง” (Our Father’s Plan [1984], 14)

ถามว่า

  • การรู้เรื่องชีวิตก่อนเกิดของเราและเราเคยอยู่เป็นลูกทางวิญญาณกับพระบิดาในสวรรค์จะช่วยให้ชีวิตเรามีความหมายมากขึ้นได้อย่างไร (ขณะที่นักเรียนตอบ ท่านอาจจะเลือกเน้นหลักธรรมนี้: เมื่อเราเข้าใจว่าเราเป็นลูกของพระบิดาบนสวรรค์ เราจะพบว่าชีวิตเราบนแผ่นดินโลกมีความหมายมากขึ้น)

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจหลักธรรมนี้ลึกซึ้งขึ้น ให้ฉายวีดิทัศน์เรื่อง “พระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นพระบิดาของเรา” (3:05) และให้นักเรียนฟังพรที่ผู้คนในวีดิทัศน์พูดถึง

หลังจากนักเรียนดูวีดิทัศน์แล้ว ให้ถามคำถามต่อไปนี้

  • คนในวีดิทัศน์พูดถึงพรอะไรบ้างที่มาจากการรู้ว่าพวกเขาเป็นลูกของพระผู้เป็นเจ้า

  • ความรู้ที่ว่าท่านเป็นลูกของพระผู้เป็นเจ้าช่วยให้ท่านพบว่าชีวิตท่านมีความหมายมากขึ้นอย่างไร

ให้นักเรียนหลายคนผลัดกันอ่านออกเสียงสี่ย่อหน้าสุดท้ายใน หน้า 48 ของ สั่งสอนกิตติคุณของเรา แนะนำให้ชั้นเรียนมองหาหลักคำสอนและหลักธรรมที่สอนว่าจุดประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าสำหรับบุตรธิดาของพระองค์คืออะไรและแผนแห่งความรอดทำให้บรรลุจุดประสงค์นั้นอย่างไร จากนั้นให้ถามว่า

  • แผนของพระผู้เป็นเจ้าออกแบบไว้เพื่อทำอะไรให้บุตรธิดาของพระองค์ (คำตอบหนึ่งในนั้นคือ นักเรียนอาจจะพูดถึงหลักคำสอนที่ว่า แผนแห่งความรอดทำให้บุตรธิดาทุกคนของพระผู้เป็นเจ้าได้รับพรแห่งความเป็นอมตะและชีวิตนิรันดร์ หากจำเป็นต้องอธิบาย ท่านอาจจะกล่าวถึงนิยามของ ความเป็นอมตะ และ ความสูงส่ง ใน หน้า 58-59 ใน สั่งสอนกิตติคุณของเรา เน้นว่าชีวิตนิรันดร์คือชีวิตแบบที่พระผู้เป็นเจ้าทรงดำรงอยู่)

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจหลักคำสอนนี้ ให้พวกเขาอ่านและท่องจำ โมเสส 1:39 หลังจากพวกเขามีเวลาท่องจำสองสามนาทีและฝึกอ่านออกเสียงข้อนี้แล้ว ให้ถามว่า

  • การสอนผู้สนใจว่าจุดประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าคือการทำให้เกิดความเป็นอมตะและชีวิตนิรันดร์ของมนุษย์จะส่งผลต่อการเลือกที่พวกเขาทำในชีวิตประจำวันได้อย่างไร

ให้เวลานักเรียนไตร่ตรองบทบาทของผู้สอนศาสนาในการช่วยงานของพระบิดาบนสวรรค์เพื่อ “ทำให้เกิดความเป็นอมตะและชีวิตนิรันดร์ของมนุษย์” (โมเสส 1:39) เชื้อเชิญให้นักเรียนแบ่งปันความคิดกับนักเรียนอีกคนหนึ่งหรือเขียนความคิดของพวกเขาลงในสมุดบันทึกการศึกษา

การสร้างและร่างกายของเรา

ให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงหัวข้อเรื่อง “การสร้าง” ในหน้า 49 ของ สั่งสอนกิตติคุณของเรา แนะนำให้นักเรียนมองหาความสำคัญของการสร้างในแผนแห่งความรอดของพระผู้เป็นเจ้า จากนั้นให้ถามว่า

  • เหตุใดเราจึงถือว่าการสร้างแผ่นดินโลกเป็นส่วนสำคัญในแผนแห่งความรอดของพระผู้เป็นเจ้า (เพื่อจะเจริญก้าวหน้าและเป็นเหมือนพระผู้เป็นเจ้า เราแต่ละคนต้องมาแผ่นดินโลกเพื่อรับร่างกายและรับการทดสอบในช่วงเวลาของการทดลอง)

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจความสำคัญของการได้รับร่างกาย ให้ดูและอ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของซิสเตอร์ซูซาน ดับเบิลยู. แทนเนอร์ขณะเธอรับใช้เป็นประธานเยาวชนหญิงสามัญ ให้นักเรียนดูว่าเหตุใดเราแต่ละคนจึงตื่นเต้นที่จะได้รับร่างกาย

ภาพ
ซูซาน ดับเบิลยู. แทนเนอร์

“ในโลกก่อนเกิด เราเรียนรู้ว่าร่างกายเป็นส่วนหนึ่งของแผนอันสำคัญยิ่งแห่งความสุขของพระผู้เป็นเจ้าเพื่อเรา ดังที่กล่าวไว้ในถ้อยแถลงเรื่องครอบครัวว่า ‘บุตรและธิดาที่เป็นวิญญาณรู้จักและนมัสการพระผู้เป็นเจ้าเป็นพระบิดานิรันดร์ของพวกเขา และยอมรับแผนของพระองค์ ซึ่งตามแผนนั้นบุตรธิดาของพระองค์จะได้รับร่างกายอันเป็นเนื้อหนัง และได้รับประสบการณ์ทางโลกเพื่อพัฒนาไปสู่ความดีพร้อม และในที่สุดจะบรรลุถึงจุดหมายปลายทางแห่งสวรรค์ของพวกเขา เป็นทายาทแห่งชีวิตนิรันดร์’ แท้จริงแล้ว เรา ‘โห่ร้องด้วยความชื่นบาน’ (โยบ 38:7) ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของแผนนี้

“เหตุใดเราจึงตื่นเต้นขนาดนั้น เราเข้าใจความจริงนิรันดร์เกี่ยวกับร่างกายของเรา เรารู้ว่าร่างกายเราจะอยู่ในรูปลักษณ์ของพระผู้เป็นเจ้า เรารู้ว่าร่างกายเราจะเป็นบ้านของวิญญาณเรา เราเข้าใจเช่นกันว่าร่างกายเราจะต้องประสบกับความเจ็บปวด ความเจ็บป่วย ความพิการ และการล่อลวง แต่เรายินดียอมรับ แม้กระหายใคร่รับความท้าทายเหล่านี้เพราะเรารู้ว่าเฉพาะสสารที่สัมพันธ์กับวิญญาณอย่างแยกไม่ออกเท่านั้นจึงจะทำให้เราก้าวหน้าจนเป็นเหมือนพระบิดาบนสวรรค์ของเรา (ดู คพ. 130:22) และ ‘ได้รับความสมบูรณ์แห่งปีติ’ (คพ. 93:33)” (“ความศักดิ์สิทธิ์ของร่างกาย,” เลียโฮนา, พ.ย. 2005, 15)

จากนั้นให้ถามว่า

  • ในโลกก่อนเกิด เราเข้าใจความจริงอะไรที่ทำให้เราตื่นเต้นกับการมาแผ่นดินโลกและได้รับร่างกาย

  • เหตุใดเราจึงยินดีและกระหายใคร่จะมาแผ่นดินโลกทั้งที่เรารู้ว่าเราจะประสบปัญหายุ่งยากท้าทายในความเป็นมรรตัย

ให้เวลานักเรียนไตร่ตรองคำถามต่อไปนี้สักครู่ ท่านจะอธิบายให้ผู้สนใจฟังอย่างไรว่าประสบการณ์ในมรรตัยของเราช่วยให้เราเจริญก้าวหน้าจนเป็นเหมือนพระบิดาบนสวรรค์ หากเวลาเอื้ออำนวย ให้พวกเขาศึกษาพระคัมภีร์อ้างอิงในกรอบ ศึกษาพระคัมภีร์ ใต้หัวข้อ “การสร้าง” หน้า 49 ของ สั่งสอนกิตติคุณของเรา หลังจากนั้นประมาณหนึ่งนาที ให้นักเรียนหันไปหาคนนั่งข้างๆ และอธิบายคำตอบของพวกเขา

สิทธิ์เสรีและการตกของอาดัมกับเอวา

เขียนหัวข้อต่อไปนี้ไว้บนกระดาน:

สิ่งที่อาดัมกับเอวา สามารถ ทำได้ในสวน

สิ่งที่อาดัมกับเอวา ไม่สามารถ ทำได้ในสวน

เชื้อเชิญให้นักเรียนศึกษา 2 นีไฟ 2:22-25 และหัวข้อ “สิทธิ์เสรีและการตกของอาดัมกับเอวา” ในหน้า 48 ของ สั่งสอนกิตติคุณของเรา ขณะที่พวกเขาอ่าน ให้นักเรียนครึ่งชั้นเขียนรายการสิ่งที่อาดัมกับเอวา สามารถ ทำได้ในสวนเอเดน (พวกท่านสามารถมีชีวิตตลอดไปในสภาพไร้เดียงสา พวกท่านสามารถใช้สิทธิ์เสรีทำการตัดสินใจ) ให้นักเรียนอีกครึ่งชั้นเขียนรายการสิ่งที่อาดัมกับเอวา ไม่สามารถ ทำได้ในสวนเอเดน (พวกท่านไม่สามารถเจริญก้าวหน้าหรือประสบการตรงกันข้าม พวกท่านไม่สามารถประสบปีติหรือโทมนัส หรือความเจ็บปวด หรือความเศร้ามอง พวกท่านไม่สามารถทำบาป พวกท่านไม่สามารถประสบโรคภัยหรือความทุกข์ยาก พวกท่านไม่สามารถมีบุตร) หลังจากนั้นสองสามนาที ขอให้นักเรียนแบ่งปันสิ่งที่พบ ขณะพวกเขาตอบ ท่านอาจให้สมาชิกชั้นเรียนคนหนึ่งเขียนคำตอบของนักเรียนไว้บนกระดาน

ดึงความสนใจของนักเรียนมาที่คำว่า ความตายทางร่างกาย และ ความตายทางวิญญาณ ใน หน้า 49 ของ สั่งสอนกิตติคุณของเรา บางทีนักเรียนทุกคนอาจจะเข้าใจว่าความตายทางร่างกายหมายถึงความตายของร่างกาย ช่วยให้พวกเขาเข้าใจว่าความตายทางวิญญาณหมายถึงการแยกจากที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้า ความตายทั้งสองเป็นผลจากการตกของอาดัม โดยผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์เท่านั้นที่เราจะเอาชนะความตายทั้งสองอย่างนี้ได้

ท่านจะเข้าใจความสำคัญของการตกในแผนแห่งความรอดได้ลึกซึ้งขึ้นโดยดูคำพูดอ้างอิงต่อไปนี้จากประธานโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ (1876-1972) ให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงให้ชั้นเรียนฟัง

ภาพ
ประธานโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ

“เมื่ออาดัมถูกขับออกจากสวนเอเดน พระเจ้าทรงตัดสินลงโทษท่าน บางคนมองว่าการลงโทษนั้นเป็นเรื่องน่ากลัว แต่เปล่าเลย การลงโทษเป็นพร ข้าพเจ้ารู้ว่านั่นไม่ใช่การลงโทษจริงๆ แต่เป็นการลงโทษที่มีนัยแอบแฝง

“เพื่อให้มนุษยชาติได้รับความรอดและความสูงส่ง จำเป็นที่พวกเขาจะได้รับร่างกายในโลกนี้ ผ่านประสบการณ์และการเรียนรู้ที่พบเฉพาะในความเป็นมรรตัย พระเจ้าตรัสไว้ว่างานและรัศมีภาพอันสำคัญยิ่งของพระองค์คือ ‘ทำให้เกิดความเป็นอมตะและชีวิตนิรันดร์ของมนุษย์’ [โมเสส 1:39] หากปราศจากความเป็นมรรตัยพรอันสำคัญยิ่งนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ จึงมีต้องสร้างโลกให้ลูกของพระผู้เป็นเจ้าอยู่ และพวกเขาได้รับสิทธิพิเศษให้ประสบกับการดำรงอยู่ในมรรตัย พร้อมกับครอบครองของประทานอันสำคัญยิ่งแห่งสิทธิ์เสรี โดยผ่านของประทานดังกล่าว พวกเขาเลือกความดีหรือไม่ก็เลือกความชั่ว และด้วยเหตุนี้จึงได้รับรางวัลตอบแทนความดีงามในโลกที่จะมาถึง เพราะการล่วงละเมิดของอาดัม เราจึงอยู่ที่นี่ในชีวิตมรรตัย …

“การตกของมนุษย์เป็นพรที่มีนัยแอบแฝง และเป็นวิธีส่งเสริมจุดประสงค์ของพระเจ้าในความก้าวหน้าของมนุษย์ ไม่ใช่วิธีกีดกันความก้าวหน้าเหล่านั้น” (Doctrines of Salvation, comp. Bruce R. McConkie, 3 vols. [1954–56], 1:113–14)

จากนั้นให้ถามว่า

  • เหตุใดจึงสมควรมองว่าการตกของอาดัมกับเอวาเป็นส่วนสำคัญยิ่งในแผนแห่งความรอดของพระผู้เป็นเจ้า (การตกของอาดัมกับเอวายอมให้ลูกทางวิญญาณของพระผู้เป็นเจ้าได้รับร่างกาย ทำให้พวกเขามีโอกาสเจริญก้าวหน้าและเป็นเหมือนพระองค์)

เชื้อเชิญให้นักเรียนทบทวนกรอบ “สอนเรื่องการตก” ในหน้า 50 ของ สั่งสอนกิตติคุณของเรา จากนั้นให้นักเรียนอธิบายหลักคำสอนเรื่องการตกด้วยคำพูดของพวกเขาเองกับนักเรียนที่นั่งข้างๆ

ชีวิตของเราบนแผ่นดินโลก

ฉายวีดิทัศน์เรื่อง “แผนแห่งความรอด” (4:30) หรือให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำพูดอ้างอิงต่อไปนี้จากประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง ให้นักเรียนมองหารูปแบบที่ละครสามองก์เป็นสัญลักษณ์แทนแผนแห่งความรอด

ภาพ
ประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์

“แผนแห่งการไถ่ที่มีสามส่วนเปรียบได้กับละครฉากใหญ่สามองก์ องก์ 1 เรียกว่า ‘ชีวิตก่อนเกิด’ พระคัมภีร์เรียกช่วงนี้ว่าเป็นสถานะแรกของเรา (ดู ยูดาห์ 1:6; อับราฮัม 3:26, 28) องก์ 2 ตั้งแต่เราเกิดจนถึงเวลาของการฟื้นคืนชีวิต คือ ‘สถานะที่สอง’ และองก์ 3 เรียกว่า ‘ชีวิตหลังความตาย’ หรือ ‘ชีวิตนิรันดร์’

“ในความเป็นมรรตัย เราเป็นเหมือนนักแสดงที่เข้ามาในโรงละครตอนเปิดม่านแสดงองก์ที่สอง เราพลาดองก์ 1 ละครมีทั้งโครงเรื่องหลักและโครงเรื่องรองมากมายผสมผสานกัน ทำให้ยากจะคิดออกว่าใครเชื่อมโยงกับใครและอะไรเชื่อมโยงกับอะไร ใครเป็นพระเอกและใครเป็นผู้ร้าย และซับซ้อนยิ่งกว่านั้นเพราะเราไม่ใช่แค่ผู้ชม เราเป็นนักแสดงบนเวที อยู่กลางเวที!

“ส่วนหนึ่งของแผนนิรันดร์คือ ความทรงจำของเราเกี่ยวกับชีวิตก่อนเกิด หรือองก์ 1 มีม่านบังอยู่ เนื่องจากเราเข้าสู่ความเป็นมรรตัยตอนเริ่มองก์ 2 โดยจำองก์ 1 ไม่ได้ จึงไม่แปลกที่เราไม่เข้าใจสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น …

“หากท่านคาดว่าจะพบแต่ความสะดวกสะบาย ความสงบสุข และความสุขสำราญระหว่างองก์ 2 ท่านจะผิดหวังแน่นอน ท่านจะเข้าใจเล็กน้อยว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นและเหตุใดจึงทรงยอมให้เกิดสถานการณ์อย่างที่เป็นอยู่

“จงจำสิ่งนี้! บรรทัดที่ว่า ‘และพวกเขาทุกคนอยู่อย่างมีความสุขตลอดไปหลังจากนั้น’ ไม่เคยเขียนไว้ในองก์ที่สอง บรรทัดดังกล่าวเป็นขององก์ที่สาม เมื่อไขความลี้ลับและแก้ไขทุกอย่างให้ถูกต้อง …

“บางอย่างที่ดำรงอยู่ของบทละครเรื่องใหญ่นี้ ละครแห่งยุคสมัย ซึ่งร่างไว้สั้นๆ ว่าเกิดอะไรขึ้นในองก์ 1—ชีวิตก่อนเกิด แม้จะมีรายละเอียดไม่มาก แต่บทละครทำให้จุดประสงค์ของทั้งเรื่องชัดเจน และเปิดเผยโครงเรื่องมากพอจะช่วยให้ท่านคิดออกว่าชีวิตเกี่ยวข้องกับอะไร

“บทละครดังกล่าวตามที่ท่านควรรู้อยู่แล้วคือพระคัมภีร์—การเปิดเผย จงอ่าน จงศึกษา พระคัมภีร์บอกท่านว่ามนุษย์เป็นใคร เหตุใดพระผู้เป็นเจ้าทรง ‘ระลึกถึงเขา’ และเหตุใดจึงทรงสร้างให้เขา ‘ต่ำกว่าเหล่าเทพหน่อยเดียว’ ทว่าทรง ‘สวมศักดิ์ศรีกับอำนาจให้เขา’ (สดุดี 8:4–5)

“พระคัมภีร์พูดความจริง จากพระคัมภีร์ท่านจะเรียนรู้ทั้งสามองก์ได้มากพอจะรู้ตำแหน่งและทิศทางในชีวิตท่าน พระคัมภีร์เปิดเผยว่า ‘ในกาลเริ่มต้นเจ้าดำรงอยู่กับพระบิดาเช่นกัน; สิ่งนั้นซึ่งเป็นพระวิญญาณ, แม้พระวิญญาณแห่งความจริง;

“‘และความจริงคือความรู้ถึงสิ่งทั้งหลายดังที่เป็นอยู่, และดังที่เป็นมา, และดังที่จะเป็น’ (คพ. 93:23–24)” (Boyd K. Packer, The Play and the Plan [Church Educational System fireside, May 7, 1995], 2–3; si.lds.org)

จากนั้นให้ถามคำถามดังต่อไปนี้

  • ละครสามองก์เป็นสัญลักษณ์ในด้านใดขององค์ประกอบบางอย่างในแผนแห่งความรอด

  • ตามที่กล่าวไว้ในเรื่องเปรียบเทียบนี้ เหตุใดคนเป็นอันมากจึงยากจะเข้าใจจุดประสงค์ของชีวิตบนแผ่นดินโลก

  • ตามที่กล่าวไว้ในเรื่องเปรียบเทียบ เราจะพบบทละครสำหรับละครใหญ่สามองก์นี้ที่ไหน

  • พระคัมภีร์จะช่วยให้บุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้าเข้าใจจุดประสงค์ของพวกเขาในแผนของพระผู้เป็นเจ้าดีขึ้นได้อย่างไร

อธิบายให้นักเรียนฟังว่าเมื่อผู้สอนศาสนาสอนเรื่องแผนแห่งความรอด พวกเขาช่วยให้ผู้สนใจเข้าใจจุดประสงค์ของความเป็นมรรตัยดีขึ้นและวิธีที่เราจะกลับไปอยู่กับพระบิดาบนสวรรค์อีกครั้ง (ดู แอลมา 12:32-34) ให้นักเรียนอ่านหัวข้อเรื่อง “ชีวิตของเราบนแผ่นดินโลก” ในหน้า 50 ของ สั่งสอนกิตติคุณของเรา หลังจากนักเรียนมีเวลาอ่านมากพอแล้ว ให้ถามว่า

  • ท่านจะอธิบายจุดประสงค์ของชีวิตนี้ในหนึ่งหรือสองประโยคว่าอย่างไร

บอกนักเรียนว่าสำคัญที่ผู้สนใจจะเข้าใจว่าการเตรียมตัวกลับไปที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้าขึ้นอยู่กับการตัดสินใจที่เราทำในช่วงชีวิตของเราบนแผ่นดินโลก การตัดสินใจทำตามพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้าสามารถช่วยให้เราใกล้ชิดพระบิดาบนสวรรค์มากขึ้น ส่วนการละเมิดพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้ากีดกั้นเราไม่ให้กลับไปที่ประทับของพระองค์ เขียนบนกระดานดังนี้

ผลของบาป:

จากนั้นให้ถามว่า

  • ผลของบาปคืออะไร (หากจำเป็นให้นักเรียนทบทวน ย่อหน้าที่สองของ “ชีวิตของเราบนแผ่นดินโลก” ในหน้า 50 ของ สั่งสอนกิตติคุณของเรา ถึงแม้นักเรียนจะใช้คำพูดต่างออกไปบ้าง แต่พวกเขาควรเข้าใจความจริงเหล่านี้ บาปนำไปสู่ความทุกข์และทำให้เกิดความรู้สึกผิดและความละอายใจ ทำให้เราไม่สะอาดและไม่มีค่าควรเข้าในที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้า บาปขัดขวางไม่ให้เราได้กลับไปหาพระบิดาในสวรรค์เว้นแต่เราได้รับการให้อภัย)

  • การเข้าใจผลของบาปจะช่วยเตรียมผู้สนใจให้พร้อมยอมรับข่าวสารเรื่องการชดใช้อย่างไร

เตือนนักเรียนว่าในชีวิตนี้เราทุกคนประสบความตายทางวิญญาณ—เราถูกแยกจากที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้า ถามนักเรียนว่า

  • พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ช่วยให้เราเอาชนะความตายทางวิญญาณและกลับไปที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้าอย่างไร (ขณะที่นักเรียนตอบท่านอาจต้องการถามพวกเขาว่าศรัทธาในพระเยซูคริสต์ การกลับใจ บัพติศมาโดยลงไปในน้ำทั้งตัว และของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ช่วยให้เราเอาชนะผลของการตกและเตรียมเรากลับไปที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้าอย่างไร)

สำคัญที่นักเรียนจะมีโอกาสฝึกอธิบายองค์ประกอบของแผนแห่งความรอดที่อยู่ในบทเรียนนี้ นี่จะช่วยให้พวกเขาเข้าใจหลักคำสอนและหลักธรรมที่พวกเขาจะสอนผู้สนใจได้ดีขึ้น

แบ่งนักเรียนออกเป็นคู่ๆ ให้เวลาแต่ละคู่เตรียมสอนบทเรียนห้าถึงสิบนาทีเกี่ยวกับจุดประสงค์ของชีวิตเราบนแผ่นดินโลก ให้นักเรียนทบทวนเนื้อหาใน หน้า 49–50 ของ สั่งสอนกิตติคุณของเรา รวมทั้งข้อพระคัมภีร์จากกรอบศึกษาพระคัมภีร์ พวกเขาอาจจะศึกษา หน้า 2-9 ของจุลสารผู้สอนศาสนาชื่อ แผนแห่งความรอดด้วย หากพวกเขามี ขณะนักเรียนกำลังเตรียม ให้เดินไปรอบๆ ห้องและช่วยพวกเขาเตรียมคำอธิบายที่กระชับเรียบง่ายเกี่ยวกับองค์ประกอบของแผนแห่งความรอด ยืนยันอีกครั้งว่าการใช้ข้อพระคัมภีร์ในข่าวสารของพวกเขา การเป็นพยานถึงหลักคำสอนและหลักธรรมที่พวกเขาสอนจะเพิ่มพลังให้บทเรียนของพวกเขา

หลังจากนักเรียนมีเวลาทบทวนเนื้อหาและเตรียมบทเรียนสั้นๆ มากพอแล้ว มอบหมายให้นักเรียนแต่ละคู่สอนอีกคู่หนึ่ง จากนั้นให้พวกเขาสับเปลี่ยนกันเพื่อให้แต่ละคู่มีโอกาสสอนหนึ่งครั้ง เมื่อแต่ละคู่สอนเสร็จแล้ว ให้พวกเขาสนทนากับนักเรียนที่พวกเขาสอนดังนี้

  • ครูทำอะไรได้ดี

  • วิธีใดจะทำให้การนำเสนอมีประสิทธิภาพมากขึ้น

หลังจากแต่ละคู่มีโอกาสฝึกสอนและประเมินการสอนแล้ว ให้สมาชิกชั้นเรียนแบ่งปันข้อคิดจากประสบการณ์ของพวกเขากับนักเรียนที่เหลือ

สรุปบทเรียนโดยเขียนข้อความต่อไปนี้ไว้บนกระดานและขอให้นักเรียนพิจารณาว่าหลักธรรมเหล่านี้จะเพิ่มความปรารถนาให้พวกเขารับใช้งานเผยแผ่ได้อย่างไร

ทุกคนที่ท่านพบเป็นลูกของพระบิดาบนสวรรค์และพระองค์ทรงรักพวกเขา

แต่ละคนที่ท่านพบแบกภาระของความทุกข์อันเกิดจากบาปที่ยังไม่ได้แก้ไขผ่านการชดใช้ของพระคริสต์เพื่อชำระพวกเขาให้สะอาด

เชิญนักเรียนสองสามคนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขารู้สึกขณะไตร่ตรองข้อความเหล่านี้ ท่านอาจจะสรุปบทเรียนโดยถามนักเรียนว่ามีใครต้องการแสดงประจักษ์พยานเรื่องหลักคำสอนเกี่ยวกับแผนแห่งความรอดบ้าง

การเชื้อเชิญให้ปฏิบัติ

เชื้อเชิญให้นักเรียนทำความเข้าใจลึกซึ้งขึ้นเกี่ยวกับแผนแห่งความรอดและปรับปรุงทักษะการสอนโดยเลือกทำกิจกรรมหนึ่งอย่างต่อไปนี้นอกห้องเรียน

  • ทบทวนหัวข้อ “นิยามสำคัญ” ในหน้า 58–59 ของ สั่งสอนกิตติคุณของเรา ฝึกอธิบายแต่ละคำด้วยคำพูดของท่านเองโดยใช้คำอธิบายความจริงให้เข้าใจง่าย

  • ทบทวนข้อพระคัมภีร์ที่พบในกรอบศึกษาพระคัมภีร์หน้า 49-50 ของ สั่งสอนกิตติคุณของเรา เลือกมาหนึ่งหรือสองข้อที่ท่านต้องการจะใช้สอนแผนแห่งความรอดแต่ละส่วนและทำเครื่องหมายในพระคัมภีร์ของท่าน ท่านอาจให้จำหนึ่งข้อหรือมากกว่านั้น

  • สร้างโครงร่างการสอนเรื่องแผนแห่งความรอด ท่านอาจจะใช้แนวคิดเรื่องแผนบทเรียนใน หน้า 55-58 ของ สั่งสอนกิตติคุณของเรา เป็นข้ออ้างอิง

  • นึกถึงเวลาที่ความรู้เรื่องแผนแห่งความรอดเป็นพรแก่ชีวิตท่าน เขียนสรุปประสบการณ์นั้นลงในสมุดบันทึกการศึกษาของท่านหรือแบ่งปันกับเพื่อน