สถาบัน
บทที่ 12: การหาคนให้สอน


12

การหาคนให้สอน

คำนำ

ผู้สอนศาสนาจะแบ่งปันพระกิตติคุณไม่ได้จนกว่าพวกเขาจะพบคนให้สอน การหาคนต้องใช้ศรัทธา—ศรัทธาที่จะพูดคุยกับผู้คนเกี่ยวกับพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ ศรัทธาที่จะมองหาโอกาสในการสอน และศรัทธาว่าพระผู้เป็นเจ้าจะทรงนำพวกเขาไปพบคนที่พร้อมจะฟัง วิธีที่ได้ผลมากที่สุดในการหาคนให้สอนคือผ่านสมาชิกของศาสนจักร สมาชิกศาสนจักรทุกคน รวมทั้งผู้มุ่งหวังจะเป็นผู้สอนศาสนา มีความรับผิดชอบส่วนตัวในการช่วยหาคนที่พร้อมจะรับพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟู คนหนุ่มสาวสามารถเตรียมรับใช้งานเผยแผ่เต็มเวลาได้โดยแบ่งปันพระกิตติคุณตอนนี้ ทั้งต่อหน้าและผ่านแหล่งข้อมูลออนไลน์

การเตรียมล่วงหน้า

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

การพัฒนาศรัทธาที่จะหาคนให้สอน

อธิบายว่าประธานวิลฟอร์ด วูดรัฟฟ์รับใช้เป็นผู้สอนศาสนาในอังกฤษหลังจากท่านได้รับแต่งตั้งเป็นอัครสาวกได้ไม่นาน ให้ดูและขอให้นักเรียนผลัดกันอ่านออกเสียงเรื่องราวต่อไปนี้เพื่อแนะนำความสำคัญของการทูลขอความช่วยเหลือจากพระเจ้าในการหาคนให้สอน ให้ชั้นเรียนมองหาสิ่งที่เอ็ลเดอร์วูดรัฟฟ์ทำเพื่อหาคนให้สอน

ภาพ
ประธานวิลฟอร์ด วูดรัฟฟ์

“เอ็ลเดอร์วูดรัฟฟ์สวดอ้อนวอนทูลถามพระเจ้า … ว่าท่านควรไปที่ใด ท่านเล่าว่า ‘โดยเชื่อว่าเป็นสิทธิพิเศษและหน้าที่ของข้าพเจ้าที่จะรู้พระประสงค์ของพระเจ้าในเรื่องนี้ ข้าพเจ้าจึงทูลขอพระบิดาบนสวรรค์ในพระนามของพระเยซูคริสต์ให้ทรงสอนพระประสงค์ของพระองค์แก่ข้าพเจ้าในเรื่องดังกล่าว ขณะทูลขอ พระเจ้าประทานและทรงแสดงต่อข้าพเจ้าว่าพระองค์ประสงค์ให้ข้าพเจ้าไปทางใต้ของประเทศอังกฤษในทันที ข้าพเจ้าสนทนากับบราเดอร์วิลเลียม เบนโบว์ เขาเคยอยู่ในเฮียร์ฟอร์ดไชร์และมีมิตรสหายอยู่ที่นั่น เขาปรารถนาอย่างมากให้ข้าพเจ้าไปเยือนเขตนั้นของประเทศ [เขา] เสนอว่าจะพาข้าพเจ้าไปที่บ้านพี่ชายของเขาและจ่ายค่าโดยสารให้ข้าพเจ้า ซึ่งข้าพเจ้ายอมรับด้วยความยินดี’

“วันที่ 4 มีนาคม ค.ศ. 1840 เอ็ลเดอร์วูดรัฟฟ์และวิลเลียม เบนโบว์มาถึงบ้านของจอห์นพี่ชายของวิลเลียม ‘ในหนึ่งชั่วโมงหลังจากมาถึงบ้านของเขา’ ประธานวูดรัฟฟ์เล่า ‘ข้าพเจ้าก็ทราบว่าเหตุใดพระเจ้าทรงส่งข้าพเจ้ามาที่นั่น … ข้าพเจ้าพบชายหญิงกลุ่มหนึ่งประมาณหกร้อยคน พวกเขารวมตัวกันโดยใช้ชื่อว่ายูไนเต็ดเบรเธร็น และกำลังแสวงหาระเบียบสมัยโบราณ พวกเขาต้องการพระกิตติคุณตามที่ศาสดาพยากรณ์และอัครสาวกเคยสอนไว้เช่นเดียวกับที่ข้าพเจ้าต้องการในวัยเยาว์’

“โดยผ่านการศึกษาพระคัมภีร์ไบเบิลอย่างขยันหมั่นเพียร จอห์น เบนโบว์กับครอบครัวเตรียมตนเองให้พร้อมรับพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟู

“ครอบครัวเบนโบว์ยอมรับข่าวสารเรื่องการฟื้นฟูอย่างรวดเร็ว และวิลเลียมกลับไปสแตฟฟอร์ดไชร์ ‘หลังจากมีโอกาสเห็นบราเดอร์จอห์น เบนโบว์และทุกคนในครอบครัว … รับบัพติศมาเข้ามาในพันธสัญญาใหม่และเป็นนิตย์แล้ว’ เอ็ลเดอร์วูดรัฟฟ์พักอยู่ในเขตนั้นประมาณแปดเดือน ท่านเล่าในเวลาต่อมาว่า ‘สามสิบวันแรกหลังจากมาถึงเฮียร์ฟอร์ดไชร์ ข้าพเจ้าให้บัพติศมานักเทศน์สี่สิบห้าคนและสมาชิกหลายร้อยคน … เรานำคนเข้ามาสองพันคนหลังจากทำงานได้ประมาณแปดเดือน’

“ประธานวูดรัฟฟ์เขียนถึงประสบการณ์ดังกล่าวว่า ‘ประวัติศาสตร์ทั้งมวลของคณะเผยแผ่เฮียร์ฟอร์ดไชร์แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการฟังสุรเสียงสงบแผ่วเบาของพระผู้เป็นเจ้าและการเปิดเผยของพระวิญญาณบริสุทธิ์ พระเจ้าทรงมีคนพร้อมรับพระกิตติคุณที่นั่น พวกเขากำลังสวดอ้อนวอนขอความสว่างและความจริง และพระเจ้าทรงส่งข้าพเจ้าไปหาพวกเขา’” (คำสอนของประธานศาสนาจักร: วิลฟอร์ด วูดรัฟฟ์ [2004], 90–91)

ถามนักเรียนว่า

  • เอ็ลเดอร์วูดรัฟฟ์ทำอะไรเพื่อตัดสินใจว่าจะหาคนที่พร้อมรับพระกิตติคุณที่ไหน

  • พระเจ้าทรงช่วยเหลือเอ็ลเดอร์วูดรัฟฟ์ในวิธีใด (ท่านอาจชี้ให้นักเรียนเห็นว่าไม่เพียงพระเจ้าทรงดลใจเอ็ลเดอร์วูดรัฟฟ์ให้ไปทางภาคใต้ของอังกฤษเท่านั้น แต่ทรงเปิดทางให้เอ็ลเดอร์วูดรัฟฟ์สอนที่ฟาร์มของจอห์น เบนโบว์ด้วย ที่ซึ่งมีชายหญิงหลายร้อยคนพร้อมรับพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟู)

  • เรื่องราวของเอ็ลเดอร์วูดรัฟฟ์อธิบายหลักธรรมอะไรเกี่ยวกับการหาคนให้สอน (ท่านอาจจะสรุปคำตอบของนักเรียนโดยเขียนหลักธรรมต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: พระเจ้าทรงสามารถช่วยให้เราพบคนที่พร้อมยอมรับพระกิตติคุณเมื่อเราสวดอ้อนวอนขอความช่วยเหลือ ฟังพระวิญญาณ และกระทำด้วยศรัทธา)

ขอให้ชั้นเรียนเปิดหน้า 155 ใน สั่งสอนกิตติคุณของเรา และขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงย่อหน้าแรกใต้หัวข้อ “พัฒนาศรัทธาเพื่อหา” จากนั้นให้ถามว่า

  • การรู้ว่า “พระเจ้ากำลังเตรียมคนให้พร้อมยอมรับท่านและพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟู” ช่วยผลักดันให้ท่านเตรียมรับใช้งานเผยแผ่อย่างไร

ให้นักเรียนอ่านย่อหน้าถัดไปในหน้า 155 ของ สั่งสอนกิตติคุณของเรา ใต้หัวข้อย่อย “ครอบครัวของพระผู้เป็นเจ้า” จากนั้นให้ถามว่า

  • หลักคำสอนที่ว่าชายหญิงทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวพระผู้เป็นเจ้ามีอิทธิพลต่อความรู้สึกของท่านอย่างไรเกี่ยวกับการหาคนให้สอน

  • ในข้อความอ้างอิงจาก แอลมา 31:34-35แอลมาสวดอ้อนวอนขออะไรขณะเตรียมสั่งสอนชาวโซรัม

  • เราสามารถเรียนรู้อะไรได้บ้างจากการสวดอ้อนวอนของแอลมา

ฉายวีดิทัศน์เรื่อง “พัฒนาศรัทธาที่จะหา” (2:55) และให้นักเรียนมองหาข้อคิดเกี่ยวกับการหาคนให้สอน ท่านอาจกระตุ้นนักเรียนให้จดบันทึกสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้

ถามว่า

  • ผู้สอนศาสนาให้ข้อคิดอะไรเกี่ยวกับการหาคนให้สอนในวีดิทัศน์เรื่องนี้ (นักเรียนอาจให้คำตอบทำนองนี้: ผู้สอนศาสนาควรสวดอ้อนวอนขอโอกาส รักผู้อื่น และมองพวกเขาเหมือนพระผู้เป็นเจ้าทรงมองพวกเขา และจำไว้ว่าพระเจ้าทรงกำลังเตรียมบุตรธิดาของพระองค์ให้พร้อมรับพระกิตติคุณและนำผู้สอนศาสนาไปหาคนเหล่านั้น เพราะพระผู้เป็นเจ้าทรงรักบุตรธิดาของพระองค์ พระองค์จึงทรงต้องการให้ทุกคนมีโอกาสได้ยินและยอมรับพระกิตติคุณ)

  • เหตุใดจึงสำคัญที่ต้องทำตามความรู้สึกให้ยื่นมือช่วยเหลือผู้อื่นและเชื้อเชิญให้พวกเขาเรียนรู้พระกิตติคุณ

ให้นักเรียนอ่านสามย่อหน้าในหัวข้อย่อยชื่อ “พบคนเหล่านั้นที่ยอมรับเจ้า” ในหน้า 156 ของ สั่งสอนกิตติคุณของเรา จากนั้นให้ถามว่า

  • เราอาจเผชิญความท้าทายอะไรบ้างเมื่อพยายามหาคนให้สอน (เรามักจะไม่รู้ว่าใครพร้อมจะรับพระกิตติคุณ ผู้คนอาจไม่ยอมรับเราในฐานะผู้รับใช้ของพระเจ้าโดยทันที พวกเขาอาจไม่ตระหนักว่าพวกเขากำลังมองหาพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟู)

  • พระเจ้าทรงช่วยเหลือเราในการหาคนให้สอนอย่างไร (พระองค์ทรงส่งพระวิญญาณบริสุทธิ์มานำทางเรา)

  • ท่านคิดว่าพระเจ้าทรงต้องการให้ผู้สอนศาสนาทำอะไรเมื่อพวกเขาไม่เห็นผลทันทีของการพยายามหาคนให้สอน

หากมีนักเรียนในชั้นที่เป็นผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสศาสนจักร ท่านอาจเชิญหนึ่งคนหรือมากกว่านั้นให้แบ่งปันว่าพวกเขาพบกับศาสนจักรอย่างไรและพวกเขารู้ได้อย่างไรว่าผู้สอนศาสนากำลังสอนความจริง หากไม่มีผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสในชั้นเรียน ให้นักเรียนนึกถึงผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสที่พวกเขารู้จักดีในครอบครัวของตนหรือในวอร์ดของตน ท่านอาจเชื้อเชิญให้พวกเขาแบ่งปันว่าบุคคลนั้นยอมรับพระกิตติคุณได้อย่างไร

ความสำคัญของงานเผยแผ่ศาสนาของสมาชิก

ให้ดูคำกล่าวต่อไปนี้จากประธานโธมัส เอส. มอนสัน และขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง

ภาพ
ประธานโธมัส เอส. มอนสัน

“บัดนี้ถึงเวลาแล้วที่สมาชิกและผู้สอนศาสนาจะมาร่วมมือกัน ทำงานด้วยกัน ลงแรงในสวนองุ่นของพระเจ้าเพื่อนำจิตวิญญาณมาสู่พระองค์ พระองค์ทรงเตรียมหนทางให้เราแบ่งปันพระกิตติคุณในหลายๆ วิธี และพระองค์จะทรงช่วยเราในการทำงานของเราถ้าเราจะลงมือทำด้วยศรัทธาเพื่อให้งานของพระองค์เกิดสัมฤทธิผล” (Faith in the Work of Salvation [คำปราศรัยที่การถ่ายทอดการเป็นผู้นำทั่วโลกเรื่องงานแห่งความรอด 23 มิถุนายน 2013])

ท่านอาจจะถามนักเรียนดังนี้

  • เหตุใดจึงสำคัญที่ต้องจดจำว่าศาสดาพยากรณ์ของพระผู้เป็นเจ้าได้ขอให้เรามีส่วนร่วมในงานเผยแผ่ศาสนาของสมาชิก (ท่านอาจอ้าง หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:81ซึ่งเน้นความคาดหวังของพระเจ้าสำหรับคนที่ได้รับพระกิตติคุณแล้ว)

  • ท่านคิดว่าเหตุใดประธานมอนสันจึงกล่าวว่า “บัดนี้ถึงเวลาแล้ว” ที่สมาชิกและผู้สอนศาสนาจะทำงานด้วยกัน

จากนั้นให้เชิญนักเรียนเปิดหน้า 160 ใน สั่งสอนกิตติคุณของเรา และให้นักเรียนสามคนผลัดกันอ่านออกเสียงสามย่อหน้าแรกใต้หัวข้อ “ความสำคัญของสมาชิก” จากนั้นให้ถามว่า

  • จะเกิดผลอะไรเมื่อสมาชิกและผู้สอนศาสนาทำงานด้วยกันเพื่อสั่งสอนพระกิตติคุณ (คำตอบของนักเรียนอาจรวมหลักธรรมนี้: เมื่อสมาชิกเชื้อเชิญให้ผู้อื่นรับการสอนและอยู่ช่วยสอน คนรับบัพติศมาและยังคงแข็งขันในศาสนจักรจะมีมากขึ้น)

ฉายวีดิทัศน์เรื่อง “พระเจ้าแห่งการเก็บเกี่ยว: ครอบครัวของอาดัมส์” (4:41) และขอให้นักเรียนเอาใจใส่สิ่งที่สมาชิกศาสนจักรทำเพื่อช่วยให้ครอบครัวอดัมส์ได้รับพรของพระกิตติคุณ

ถามว่า

  • ความพยายามอะไรบ้างที่ทำให้ครอบครัวอาดัมส์ได้รับพรของพระกิตติคุณ

  • ท่านคิดว่าอะไรผลักดันสมาชิกในวีดิทัศน์ให้แบ่งปันพระกิตติคุณกับครอบครัวอาดัมส์

ให้นักเรียนอ่านออกเสียงสองย่อหน้าในหัวข้อ “ไม่มีความพยายามใดเสียเปล่า” ใน สั่งสอนกิตติคุณของเรา หน้า 170 จากนั้นให้ถามคำถามดังต่อไปนี้

  • ถึงแม้ผู้คนไม่ยอมรับคำเชื้อเชิญให้เรียนรู้พระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟู แต่เหตุใดการพยายามรับใช้และสอนจึงไม่เสียเปล่า

  • ผู้สอนศาสนาจะยังคงมีเจตคติที่ดีเมื่อผู้คนเลือกไม่สนใจพระกิตติคุณได้อย่างไร

เชื้อเชิญให้นักเรียนแบ่งปันสิ่งที่เคยทำในอดีตเพื่อมีส่วนร่วมในงานเผยแผ่ศาสนาของสมาชิก ขอให้พวกเขาอธิบายว่าพวกเขารู้สึกอย่างไรขณะพยายามแบ่งปันพระกิตติคุณกับผู้อื่น

การมีส่วนร่วมในงานเผยแผ่ศาสนาของสมาชิก

เขียนข้อพระคัมภีร์ต่อไปนี้ไว้บนกระดาน แล้วให้นักเรียนอ่านในใจคนละหนึ่งข้อและมองหาพรที่สัญญาไว้กับคนที่เลือกมีส่วนร่วมในงานเผยแผ่ศาสนา

คพ. 18:10, 14–16

คพ. 33:6-11

คพ. 100:5-6

หลังจากให้เวลานักเรียนทบทวนข้อที่พวกเขาเลือกครู่หนึ่งแล้ว ขอให้พวกเขาอธิบายข้อที่อ่านและแบ่งปันว่าพรที่สัญญาไว้จะผลักดันพวกเขาให้หาคนที่จะรับข่าวสารพระกิตติคุณได้อย่างไร กระตุ้นให้สมาชิกชั้นเรียนทุกคนมีส่วนร่วมในการสนทนาเรื่องนี้ ท่านอาจเขียนคำตอบของนักเรียนไว้บนกระดานใกล้กับข้อพระคัมภีร์ที่เหมาะสม

ท่านอาจจะเขียนหลักธรรมต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: ในฐานะสมาชิกผู้สอนศาสนา เราเริ่มหาคนให้ผู้สอนศาสนาสอนได้ตั้งแต่ตอนนี้

เพื่อช่วยให้นักศึกษาเข้าใจลึกซึ้งขึ้นว่าพวกเขาจะมีส่วนร่วมในงานเผยแผ่ศาสนาของสมาชิกได้อย่างไร ให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำพูดอ้างอิงต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ดแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง ขอให้นักเรียนฟังคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีทำให้เกิดความเชื่อมั่นและกล้าหาญในการพยายามยื่นมือช่วยเหลือผู้อื่น

ภาพ
เอ็ลเดอร์เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด

“พี่น้องทั้งหลาย ความกลัวจะถูกแทนที่ด้วยศรัทธาและความมั่นใจเมื่อสมาชิกและผู้สอนศาสนาเต็มเวลาคุกเข่าสวดอ้อนวอนทูลขอให้พระเจ้าประทานพรให้พวกเขามีโอกาสเผยแผ่ศาสนา จากนั้นเราต้องแสดงศรัทธาและมองหาโอกาสที่จะแนะนำพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์กับบุตรธิดาของพระบิดาบนสวรรค์ และโอกาสเหล่านั้นจะมาอย่างแน่นอน โอกาสเหล่านี้จะไม่มีวันเรียกร้องให้เราฝืนตอบรับและเล่นตามบท แต่จะลื่นไหลไปตามธรรมชาติเนื่องจากความรักที่เรามีต่อพี่น้องชายหญิงของเรา ขอเพียงคิดในแง่บวก และคนที่ท่านพูดด้วยจะรู้สึกถึงความรักของท่าน พวกเขาจะไม่ลืมความรู้สึกนั้น แม้จะยังไม่ถึงเวลาที่พวกเขาจะน้อมรับพระกิตติคุณ สิ่งนั้นอาจเปลี่ยนแปลงในอนาคตเมื่อสภาวการณ์ของพวกเขาเปลี่ยนไป”

“เป็นไปไม่ได้ที่เราจะล้มเหลวเมื่อเราทำกิจธุระของพระเจ้าอย่างสุดความสามารถ แม้ว่าผลลัพธ์จะเป็นผลจากการใช้สิทธิ์เสรีของคนคนหนึ่ง แต่หน้าที่รับผิดชอบของเราคือการแบ่งปันพระกิตติคุณ

“จงวางใจพระเจ้า พระองค์ทรงเป็นพระเมษบาลผู้ประเสริฐ พระองค์ทรงรู้จักแกะของพระองค์ และแกะเหล่านั้นรู้จักเสียงของพระองค์ และในวันนี้เสียงของพระเมษบาลผู้ประเสริฐคือเสียงของท่านและของข้าพเจ้า ถ้าเราไม่มีส่วนร่วม หลายคนก็จะไม่ได้ยินข่าวสารแห่งการฟื้นฟู กล่าวโดยง่ายคือ นี่เป็นเรื่องของศรัทธาและการกระทำในส่วนของเรา หลักธรรมเรียบง่ายนั้นคือ—สวดอ้อนวอนทั้งส่วนตัวและเป็นครอบครัวขอโอกาสเผยแผ่ศาสนา …

“ท่านไม่จำเป็นต้องเป็นคนเข้าสังคมหรือเป็นครูที่พูดโน้มน้าวใจเก่ง หากท่านมีความรักและความหวังมั่นคงในตัวท่าน พระเจ้าทรงสัญญาว่าหากท่าน ‘เปล่งเสียงของเจ้าแก่ผู้คนเหล่านี้ [และ] จงพูดความนึกคิดที่ [พระองค์] จะใส่ไว้ในใจเจ้า, … เจ้าจะไม่ถูกทำให้จำนนต่อหน้าคน;

“‘[และ] จะให้มันแก่เจ้า … ในชั่วขณะนั้นนั่นเอง, สิ่งที่เจ้าจะกล่าว’ (คพ. 100:5–6)” (“จงวางใจในพระเจ้า,” เลียโฮนา, พ.ย. 2013, 44)

ถามว่า

  • เอ็ลเดอร์บัลลาร์ดแนะนำว่าสมาชิกจะทำอะไรได้บ้างเพื่อให้มีความเชื่อมั่นมากขึ้นในการแนะนำพระกิตติคุณกับผู้อื่น

  • การหาคนให้สอนเป็นเรื่องของศรัทธาในด้านใด

ให้นักเรียนใช้เวลาสักครู่ค้นหารายการ “แนวคิดในการช่วยสมาชิก” หน้า 162 ใน สั่งสอนกิตติคุณของเรา และมองหาวิธีจำเพาะเจาะจงที่สมาชิกจะมีส่วนร่วมในงานเผยแผ่ศาสนาได้ ให้นักเรียนเลือกมาหนึ่งหรือสองแนวคิดที่พวกเขาอาจจะใช้ตอนนี้เพื่อมีส่วนร่วมในงานเผยแผ่ศาสนาของสมาชิก จากนั้นให้ถามว่า

  • แนวคิดใดที่ท่านจะทำได้ตอนนี้เพื่อเชื้อเชิญให้ผู้อื่นฟังข่าวสารพระกิตติคุณ

  • ท่านคิดว่าเหตุใดสมาชิกศาสนจักรบางคนจึงลังเลไม่กล้าชักจูงผู้อื่นตามวิธีที่ระบุไว้ในรายการดังกล่าว

กระตุ้นให้นักเรียนใช้เวลาสองสามนาทีจดสองสามสิ่งที่พวกเขาจะทำเพื่อหาคนให้ผู้สอนศาสนาสอน บอกนักเรียนว่าแผนของพวกเขาจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นถ้าพวกเขาจดชื่อเพื่อนที่ไม่เป็นสมาชิกและสมาชิกครอบครัวที่พวกเขาจะแบ่งปันข่าวสารพระกิตติคุณให้ได้ ท่านอาจเสนอแนะให้นักเรียนเขียนกิจกรรมต่างๆ ไว้ด้วยเช่น สวดอ้อนวอนเป็นประจำเพื่อขอโอกาสเผยแผ่ศาสนา ออกไปพูดกับคนอื่นๆ เกี่ยวกับหัวข้อพระกิตติคุณ เชิญคนอื่นๆ มาร่วมพิธีนมัสการหรือกิจกรรมอื่นๆ ของศาสนจักร เชื้อเชิญให้คนอื่นๆ ฟังบทเรียนจากผู้สอนศาสนา เชื้อเชิญให้คนอื่นๆ อ่านพระคัมภีร์มอรมอน เป็นต้น เมื่อพระวิญญาณทรงนำ ท่านอาจจะขอให้นักเรียนสองสามคนบอกแผนของพวกเขากับชั้นเรียน

ใช้เครื่องมือทั้งหมดที่พระผู้เป็นเจ้าทรงเตรียมไว้

ให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์แอล. ทอม เพอร์รีย์ (1922-2015) แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง และขอให้ชั้นเรียนฟังว่ากระบวนการหาคนให้สอนเปลี่ยนไปอย่างไร

ภาพ
เอ็ลเดอร์แอล. ทอม เพอร์รีย์

“สมัยข้าพเจ้าเป็นผู้สอนศาสนาวัยหนุ่ม เราสามารถติดต่อพูดคุยตามท้องถนนและเคาะประตูบ้านเพื่อแบ่งปันพระกิตติคุณ โลกเปลี่ยนไปนับแต่นั้นเป็นต้นมา เวลานี้ หลายคนมีงานยุ่งในชีวิตของพวกเขา พวกเขารีบมาที่นี่และไปที่นั่น พวกเขามักไม่ค่อยยอมให้คนแปลกหน้าโดยสิ้นเชิงเข้าบ้านเพื่อแบ่งปันข่าวสารพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟูโดยไม่ได้เชื้อเชิญ การติดต่อกับผู้อื่นส่วนใหญ่ แม้กับเพื่อนสนิทของพวกเขามักจะผ่านอินเทอร์เน็ต ด้วยเหตุนี้ลักษณะของงานเผยแผ่ศาสนาจึงต้องเปลี่ยนไปถ้าพระเจ้าจะทรงทำให้งานแห่งการรวมอิสราเอล ‘จากสี่มุมของแผ่นดินโลก’ สำเร็จ [2 นีไฟ 21:12] เวลานี้ผู้สอนศาสนาได้รับอนุญาตให้ใช้อินเตอร์เน็ตในงานสอนศาสนาของพวกเขา …

“ขณะผู้สอนศาสนาเข้าสู่ยุคใหม่นี้ที่พวกเขาจะใช้คอมพิวเตอร์ในงานของพระเจ้า เราเชื้อเชิญทั้งคนอายุน้อยและคนอายุมาก ผู้ใหญ่ คนหนุ่มสาว เยาวชน และเด็กๆ ทุกแห่งหนให้ร่วมกับเรา …ในการแบ่งปันข่าวสารพระกิตติคุณทางออนไลน์ …

“ผู้สอนศาสนาต้องปรับตัวให้เข้ากับโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงฉันใด สมาชิกก็ต้องเปลี่ยนวิธีคิดเกี่ยวกับงานเผยแผ่ศาสนาฉันนั้น ที่พูดเช่นนี้เพราะข้าพเจ้าประสงค์จะพูดให้กระจ่างว่าสิ่งที่ขอให้เราเหล่าสมาชิกทำไม่เคยเปลี่ยน แต่วิธีที่เราจะทำความรับผิดชอบในการแบ่งปันพระกิตติคุณให้เกิดสัมฤทธิผลต้องปรับให้เข้ากับโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง” (Missionary Work in the Digital Age [ปราศรัยที่การถ่ายทอดการเป็นผู้นำทั่วโลกเรื่องงานแห่งความรอด, 23 มิถุนายน 2013])

ถามว่า

  • ตามคำกล่าวของเอ็ลเดอร์เพอร์รีย(163)์ เหตุใดสมาชิกและผู้สอนศาสนาจึงต้องเริ่มใช้แหล่งช่วยออนไลน์เมื่อพวกเขาแบ่งปันพระกิตติคุณ อะไรคือข้อได้เปรียบของการใช้แหล่งช่วยเหล่านี้

  • เครื่องมือหรือแหล่งช่วยออนไลน์อะไรบ้างที่ท่านจะใช้แบ่งปันประจักษ์พยานของท่านเกี่ยวกับพระกิตติคุณและเชื้อเชิญให้ผู้อื่นเรียนรู้มากขึ้น

  • วิธีจำเพาะเจาะจงอะไรบ้างที่ท่านจะใช้เครื่องมือเหล่านี้แบ่งปันข่าวสารพระกิตติคุณ (การสนทนาเรื่องนี้จะช่วยให้นักเรียนค้นพบหลักธรรมที่ว่า ผู้ติดตามพระเยซูคริสต์สามารถใช้เทคโนโลยียุคปัจจุบันแบ่งปันประจักษ์พยานเกี่ยวกับพระกิตติคุณกับคนทั่วโลกได้)

ให้ดูแนวทางต่อไปนี้จาก LDS.orgและเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงย่อหน้าแรก จากนั้นขอให้นักเรียนคนอื่นๆ อ่านออกเสียงแนวทางการใช้สื่อสังคมที่เขียนไว้ ขอให้ชั้นเรียนมองหาวิธีที่ข้อมูลนี้จะช่วยให้พวกเขาแบ่งปันพระกิตติคุณทางออนไลน์ได้ดีขึ้น

“สื่อสังคมสามารถเป็นอิทธิพลอันทรงพลังในชีวิตคนที่ใช้ สามารถจัดหาวิธีให้เราแสดงศรัทธาของเราในพระเยซูคริสต์และกระชับความสัมพันธ์ ศาสนจักรส่งเสริมการใช้สื่อสังคมตราบใดที่ใช้สนับสนุนงานเผยแผ่ของศาสนจักร ปรับปรุงความสัมพันธ์ และสนับสนุนส่งเสริมการเปิดเผยในหมู่บุตรธิดาของพระบิดาบนสวรรค์ของเรา ศาสนจักรกระตุ้นให้สมาชิกเป็นแบบอย่างของศรัทธาตลอดเวลาและในทุกแห่ง อีกทั้งเมื่อมีส่วนร่วมในการสนทนาที่กระจายไปทั่วโลกผ่านสื่อสังคม …

“ต่อไปนี้เป็นข้อเสนอแนะสำหรับการใช้สื่อสังคมในชีวิตส่วนตัวของเรา …

“จงสุภาพในการปฏิสัมพันธ์ทางออนไลน์กับผู้อื่น คำสอนของวิสุทธิชนยุคสุดท้ายเรียกร้องให้สมาชิกปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยความเคารพ ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใด

“จงแสดงพยานส่วนตัวของท่านยืนยันความจริงของพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟูตามที่พระวิญญาณทรงนำ ข่าวสารเช่นนั้นควรเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่ทำให้ผู้อื่นรู้สึกว่าท่านพูดแทนศาสนจักร และไม่ตั้งกลุ่มที่ให้ความรู้สึกว่าพวกเขาเป็นตัวแทนอย่างเป็นทางการของศาสนจักรหรือศาสนจักรให้ความอุปถัมภ์

“จงเป็นแบบอย่างของผู้ติดตามพระคริสต์เสมอในการปฏิสัมพันธ์ของท่านกับผู้อื่นในสื่อสังคม แบบอย่างอันดีของท่านสามารถมีอิทธิพลต่อคนที่ท่านคบหา เป็นการดีกว่าถ้าเลิกคบหากับคนที่พยายามดึงผู้อื่นลงต่ำอยู่เสมอและโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่โพสต์เนื้อหาไม่เหมาะสม …

“จงใช้วิจารณญาณอันดีเมื่อโพสต์ลงไซต์สื่อสังคม ไม่มีปุ่ม ‘ลบ’ บนอินเทอร์เน็ต ภาพและโพสต์จะอยู่ที่นั่นหลายปีและจะทำให้ท่านเสียหายได้เมื่อท่านหางานหรือสมัครเข้าเรียนมหาวิทยาลัย รวมทั้งโอกาสอื่นๆ ซึ่งบันทึกอินเทอร์เน็ตสาธารณะของท่านจะถูกตรวจสอบ พึงแน่ใจว่าการสื่อสารของท่านสอดคล้องกับคำมั่นสัญญาของท่านว่าจะรับพระนามของพระผู้ช่วยให้รอดไว้กับตัวท่าน” (Social Media Helps for Members,LDS.org)

ขอให้นักเรียนแบ่งปันความคิดกับชั้นเรียนว่าเหตุใดข้อเสนอแนะในรายการนี้จึงสำคัญที่พวกเขาจะจดจำขณะแบ่งปันพระกิตติคุณทางออนไลน์

หากมีเวลาพอ ท่านอาจให้นักเรียนคนหนึ่งสาธิตวิธีใช้สื่อสังคมแบ่งปันวีดิทัศน์หรือสื่ออื่นๆ ที่ LDS.org หรือ mormon.org ท่านอาจจะให้นักเรียนอีกคนสาธิตวิธีสร้างโปรไฟล์ที่ mormon.org

ท่านอาจจะฉายวีดิทัศน์เรื่อง “แบ่งปันความเชื่อของท่าน” (2:02) เพื่อช่วยให้นักเรียนรู้สึกมั่นใจว่าตนสามารถใช้เทคโนโลยีแบ่งปันความรู้สึกและประจักษ์พยานในพระกิตติคุณได้ ก่อนฉายวีดิทัศน์ จงกระตุ้นนักเรียนให้มองหาอิทธิพลที่คนๆ หนึ่งจะมีได้โดยใช้เทคโนโลยีแบ่งปันความรู้สึกของเขาเกี่ยวกับพระกิตติคุณ

หลังจากดูวีดิทัศน์จบแล้ว ให้ถามว่า

  • เทคโนโลยีสามารถช่วยเร่งความพยายามของสมาชิกผู้ปรารถนาจะแบ่งปันข่าวสารของพระกิตติคุณได้อย่างไร

เชื้อเชิญให้นักเรียนอธิบายว่าพวกเขาจะใช้เทคโนโลยีแบ่งปันประจักษ์พยานกับผู้อื่นได้อย่างไร สรุปโดยแสดงประจักษ์พยานของท่านเกี่ยวกับหลักคำสอนและหลักธรรมที่สอนในบทเรียน

การเชื้อเชิญให้ปฏิบัติ

ช่วยให้นักเรียนเริ่มหาคนที่พร้อมฟังข่าวสารพระกิตติคุณโดยทำกิจกรรมที่เสนอแนะต่อไปนี้หนึ่งอย่างหรือมากกว่านั้น

  • ทำทุกข้อที่ท่านเขียนไว้ระหว่างงานมอบหมายให้เขียนของบทนี้เพื่อหาคนให้ผู้สอนศาสนาสอน

  • ทบทวนรายชื่อติดต่อในโทรศัพท์มือถือของท่านและหาสมาชิกที่แข็งขันน้อยหรือผู้ไม่เป็นสมาชิก โทรหรือส่งข้อความถึงคนนั้นและเชิญเขามาที่โบสถ์วันอาทิตย์นี้

  • สำรวจเว็บไซต์ mormon.org และสำรวจแหล่งข้อมูลของไซต์นั้น อาทิ วีดิทัศน์ บทความ และโปรไฟล์ที่สมาชิกของศาสนจักรโพสต์ ใช้สื่อสังคมแบ่งปันวีดิทัศน์ บทความ หรือเพจอื่นกับคนอื่นๆ

  • สร้างโปรไฟล์ของท่านเองที่ mormon.org ใช้สื่อสังคมแบ่งปันโปรไฟล์ของท่านกับคนอื่นๆ

  • ใช้สื่อสังคมแบ่งปันวีดิทัศน์ ข่าวสารมอรมอน และความรู้สึกของท่านเกี่ยวกับวีดิทัศน์นั้น