สถาบัน
บทที่ 4: การสอนโดยพระวิญญาณ


4

การสอนโดยพระวิญญาณ

คำนำ

ผู้สอนศาสนาที่ประสบความสำเร็จเข้าใจว่า “เมื่อคนใดพูดโดยอำนาจของพระวิญญาณบริสุทธิ์ อำนาจของพระวิญญาณบริสุทธิ์ย่อมนำถ้อยคำไปสู่ใจลูกหลานมนุษย์” (2 นีไฟ 33:1) ตัวผู้สอนศาสนาเองไม่สามารถนำพรแห่งประจักษ์พยานและการเปลี่ยนใจเลื่อมใสมาให้อีกคนหนึ่งได้ ไม่ว่าพวกเขาจะเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์เพียงใดก็ตาม เฉพาะพระวิญญาณบริสุทธิ์เท่านั้นที่ทรงสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนใจเลื่อมใสที่แท้จริงได้ เมื่อผู้สนใจรู้สึกว่าพระวิญญาณกำลังทำงานกับพวกเขา หรือเมื่อพวกเขาเห็นหลักฐานยืนยันความรักและพระเมตตาของพระเจ้าในชีวิต พวกเขาจะได้รับการหนุนใจและความเข้มแข็งทางวิญญาณ ศรัทธาของพวกเขาในพระเยซูคริสต์เพิ่มพูน และเป็นไปได้มากขึ้นว่าพวกเขาจะเปลี่ยนใจเลื่อมใส

การเตรียมล่วงหน้า

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

การสอนโดยพระวิญญาณ

อธิบายให้นักเรียนฟังว่าประธานบริคัม ยังก์เคยพูดถึงการเปลี่ยนใจเลื่อมใสพระกิตติคุณของท่านและผู้สอนศาสนาที่ช่วยให้ท่านมีประจักษ์พยาน จากนั้นให้ฉายวีดิทัศน์เรื่อง “ชายที่ไม่มีโวหาร” (6:06) ขอให้นักเรียนเอาใจใส่วิธีที่พระวิญญาณทรงมีอิทธิพลต่อประธานบริคัม ยังก์และช่วยให้ท่านเปลี่ยนใจเลื่อมใส

หลังจากดูวีดิทัศน์แล้ว ให้ถามคำถามต่อไปนี้

  • การได้ยินชายที่อ่อนน้อมถ่อมตนแสดงประจักษ์พยานของเขาช่วยให้บริคัม ยังก์เปลี่ยนใจเลื่อมใสจริงๆ อย่างไร

  • จากประสบการณ์ของบริคัม ยังก์ ท่านเรียนรู้หลักธรรมอะไรบ้างเกี่ยวกับการสอนโดยพระวิญญาณ (นักเรียนอาจระบุหลักธรรมเหล่านี้: การสอนโดยพระวิญญาณสามารถนำไปสู่การเปลี่ยนใจเลื่อมใสของผู้อื่น เมื่อเราสอนโดยพระวิญญาณเราต้องจริงใจและพูดจากใจ เราต้องอ่อนน้อมถ่อมตน [ดู คพ. 136:33])

ให้นักเรียนศึกษา หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:14; 50:13-14 และ 17-23สักครู่โดยมองหาคำแนะนำจากพระเจ้าสำหรับคนที่สอนพระกิตติคุณของพระองค์ จากนั้นให้ถามว่า

  • การเปิดเผยเหล่านี้ให้หลักธรรมอะไรบ้างของการสอนพระกิตติคุณ (นักเรียนอาจจะให้คำตอบที่ถูกต้องหลายคำตอบ คำตอบอาจรวมถึงหลักธรรมต่อไปนี้: พระเจ้าทรงบัญชาให้สอนพระกิตติคุณโดยพระวิญญาณไม่ใช่โดยวิธีอื่น)

  • ตามที่กล่าวไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 50:22เกิดอะไรขึ้นเมื่อผู้สอนศาสนาสอนโดยพระวิญญาณ (ทั้งผู้สอนศาสนาและผู้สนใจ “เข้าใจกัน, และทั้งสองได้รับการจรรโลงใจและชื่นชมยินดีด้วยกัน.” ชี้แจงให้นักเรียนฟังว่า การสอนโดยพระวิญญาณจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อพระวิญญาณบริสุทธิ์สถิตที่นั่นและครู ผู้เรียน หรือทั้งสองรู้สึก ท่านอาจจะเขียนหลักธรรมนี้ไว้บนกระดาน)

เตือนนักเรียนว่าการมีพระวิญญาณไม่ได้เห็นประจักษ์ผ่านอารมณ์และน้ำตาเสมอไป หากจำเป็น ให้อ่านข้อความต่อไปนี้จากประธานฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์

ภาพ
ประธานฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์

“ข้าพเจ้าขอกล่าวเดือนท่านในเรื่องนี้ … ข้าพเจ้าเป็นห่วงเมื่อเห็นเราคิดว่าอารมณ์รุนแรงหรือน้ำตาไหลพรากคือการมีพระวิญญาณ แน่นอนว่าพระวิญญาณของพระเจ้าสามารถทำให้เกิดความรู้สึกรุนแรงทางอารมณ์ได้ รวมไปถึงน้ำตา แต่การแสดงออกภายนอกไม่ควรนำมาปะปนกับการมีพระวิญญาณ

“ข้าพเจ้าเฝ้าดูพี่น้องชายหลายคนของข้าพเจ้าตลอดหลายปี เรามีประสบการณ์ทางวิญญาณบางอย่างร่วมกันที่หาได้ยากและไม่สามารถอธิบายเป็นคำพูดได้ ประสบการณ์เหล่านั้นต่างกันโดยสิ้นเชิง แต่ละครั้งมีความพิเศษในตัวเอง และช่วงเวลาศักดิ์สิทธิ์เช่นนั้นอาจมีหรืออาจไม่มีน้ำตาร่วมด้วยก็ได้ บ่อยครั้งมากที่มีน้ำตา แต่บางคราวมีเพียงความเงียบงัน อีกหลายครั้งมาควบคู่กับปีติ และที่มักจะมาควบคู่กับประสบการณ์เหล่านั้นเสมอคือการแสดงความจริง และการเปิดเผยให้ประจักษ์ต่อใจ” (Eternal Investments [ปราศรัยกับนักการศึกษาศาสนาของระบบการศึกษาของศาสนจักร, 10 ก.พ., 1989], 3; si.lds.org)

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจดีขึ้นว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์สามารถมีอิทธิพลต่อครูและผู้เรียนได้อย่างไร ให้เขียนพระคัมภีร์อ้างอิงต่อไปนี้ไว้บนกระดาน หรือทำเป็นเอกสารแจกนักเรียน (หมายเหตุ:เขียนเฉพาะพระคัมภีร์อ้างอิงเท่านั้น เนื้อหาในวงเล็บมีไว้เพื่อเป็นประโยชน์กับครู)

มอบหมายให้นักเรียนจับคู่กันศึกษาข้อพระคัมภีร์เหล่านี้ ให้นักเรียนคนหนึ่งในแต่ละคู่มองหาวิธีที่พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงมีอิทธิพลต่อครูสอนพระกิตติคุณ ขณะที่นักเรียนอีกคนมองหาวิธีที่พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงมีอิทธิพลต่อคนที่ครูกำลังสอน จากนั้นให้พวกเขาสนทนากันว่าเรียนรู้อะไรบ้าง หลังจากแต่ละคู่มีเวลาสนทนาสิ่งที่เรียนรู้พอสมควรแล้ว ให้ถามคำถามต่อไปนี้เพื่อช่วยพวกเขาวิเคราะห์สิ่งที่อ่าน

  • จากข้อที่พวกเขาศึกษา พระวิญญาณทรงมีอิทธิพลต่อคนสอนด้วยวิธีใดบ้าง (ขณะที่นักเรียนตอบ ท่านอาจถามพวกเขาว่าพวกเขาพบคำตอบในพระคัมภีร์ข้อใด)

  • พระวิญญาณทรงมีอิทธิพลโน้มน้าวให้ผู้อื่นเปลี่ยนใจเลื่อมใสพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์อย่างไร

  • ข้อเหล่านี้แสดงให้เห็นอย่างไรว่าเหตุใดจึงสำคัญที่ผู้สอนศาสนาต้องสอนโดยพระวิญญาณ

การอัญเชิญพระวิญญาณขณะที่ท่านสอน

บอกชั้นเรียนว่า สั่งสอนกิตติคุณของเรา มีหลายหัวข้ออธิบายว่าผู้สอนศาสนาจะทำอะไรได้บ้างเพื่อเชื้อเชิญการนำทางของพระวิญญาณขณะที่พวกเขาสอน แบ่งชั้นเรียนออกเป็นกลุ่มเล็กๆ กลุ่มละไม่เกินสี่คน มอบหมายให้ศึกษา สั่งสอนกิตติคุณของเรากลุ่มละหนึ่งหัวข้อต่อไปนี้

  1. “จะเริ่มการสอนอย่างไร” หน้า 176-177 (ไม่รวมกรอบกิจกรรม)

  2. “ปรับการสอนของท่านให้ตรงกับความจำเป็น” หน้า 177-178 (ไม่รวมกรอบกิจกรรมและกรอบศึกษาพระคัมภีร์)

  3. “สอนเพื่อให้เกิดความเข้าใจ” หน้า 182-183 (ไม่รวมกรอบศึกษาพระคัมภีร์)

  4. “ฟัง” หน้า 185-186 (ไม่รวมกรอบกิจกรรม)

เขียนคำแนะนำต่อไปนี้ไว้บนกระดานเพื่อให้กลุ่มรู้ว่าต้องทำอะไร

อ่านหัวข้อของท่านใน สั่งสอนกิตติคุณของเรา

สนทนาในกลุ่มว่าท่านอ่านหลักธรรมอะไรที่ช่วยให้ผู้สอนศาสนาเป็นครูที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นและมีพระวิญญาณสถิตอยู่ด้วยขณะพวกเขาสอน

หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว ขอให้นักเรียนคนหนึ่งจากแต่ละกลุ่มสรุปว่าทักษะที่พวกเขาอ่านจะเอื้อต่อความสามารถของผู้สอนศาสนาในการสอนด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ได้อย่างไร มอบหมายให้นักเรียนคนหนึ่งสรุปประเด็นสำคัญบนกระดาน เมื่อกลุ่มสรุปแนวคิดของพวกเขา ท่านอาจจะถามคำถามดังนี้

  • การเริ่มบทเรียนในรูปแบบที่เหมาะสมจะอัญเชิญพระวิญญาณบริสุทธิ์ให้สถิตอยู่กับการสอนบทเรียนได้อย่างไร

  • การทำให้ข่าวสารพระกิตติคุณเรียบง่ายอยู่เสมอจะอัญเชิญพระวิญญาณบริสุทธิ์ให้สอนและจรรโลงใจผู้สนใจได้อย่างไร

  • การทำให้บทเรียนสนองความต้องการของผู้สนใจเสมอจะอัญเชิญพระวิญญาณบริสุทธิ์อย่างไร

  • การฟังสิ่งที่ผู้สนใจพูดจะช่วยให้ผู้สอนศาสนาสามารถสอนด้วยพระวิญญาณได้อย่างไร

เพื่อช่วยให้นักเรียนเห็นว่าทักษะการสอนบางอย่างข้างต้นเป็นอย่างไร ให้ฉายวีดิทัศน์เรื่อง “สอนคน ไม่ใช่บทเรียน: จิงซ์” (6:34). กระตุ้นให้นักเรียนมองหาหลักฐานยืนยันว่าผู้สอนศาสนากำลังสอนโดยพระวิญญาณ นักเรียนอาจจะตั้งใจดูให้เห็นว่าผู้สอนศาสนาใช้ทักษะที่นักเรียนศึกษาใน สั่งสอนกิตติคุณของเรา อย่างไรและการใช้ทักษะเหล่านี้อัญเชิญพระวิญญาณเข้ามาในการสอนของผู้สอนศาสนาอย่างไร

หลังจากดูวีดิทัศน์แล้ว ให้สนทนาดังนี้

  • ผู้สอนศาสนาทำอะไรในการสอนที่ช่วยให้พวกเขาสอนโดยพระวิญญาณ

  • ท่านเห็นหลักฐานอะไรยืนยันว่าจิงซ์กำลังเรียนรู้โดยพระวิญญาณ

ก่อนสอนบทเรียนต่อ ให้เวลานักเรียนจดคำตอบของคำถามต่อไปนี้สักครู่

  • ท่านจะประยุกต์ใช้หลักธรรมที่เราสนทนากันจนถึงตอนนี้ในบทนี้อย่างไร

การช่วยให้ผู้สนใจรู้สึกถึงพระวิญญาณ

ขอให้นักเรียนหลายๆ คนผลัดกันอ่านออกเสียงหัวข้อ “อำนาจของพระวิญญาณในการเปลี่ยนใจเลื่อมใส” ในหน้า 92-93 ของ สั่งสอนกิตติคุณของเรา (ไม่รวมกรอบกิจกรรมและกรอบศึกษาพระคัมภีร์) ให้นักเรียนที่เหลือดูตามและทำเครื่องหมายวลีที่บอกว่าผู้สนใจต้องรู้สึกอย่างไรจึงจะเกิดการเปลี่ยนใจเลื่อมใส จากนั้นให้ถามว่า

  • ผู้สนใจต้องรู้สึกอย่างไรจึงจะเกิดการเปลี่ยนใจเลื่อมใส (ให้แน่ใจว่านักเรียนระบุหลักธรรมต่อไปนี้: ถ้าผู้สนใจรู้สึกว่าพระวิญญาณกำลังทำงานกับพวกเขา ย่อมเป็นไปได้มากขึ้นว่าพวกเขาจะเปลี่ยนใจเลื่อมใสพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์)

  • ท่านจะบอกได้อย่างไรเวลาที่ผู้สนใจกำลังรู้สึกถึงอิทธิพลของพระวิญญาณบริสุทธิ์ (คำตอบอาจได้แก่ ผู้สอนศาสนารู้สึกถึงพระวิญญาณบริสุทธิ์ ผู้สนใจรู้สึกปลอดภัยขณะถามคำถาม ต้องการเรียนรู้มากขึ้น เต็มใจทำและรักษาคำมั่นสัญญา มีความเข้าใจ ความรู้สึกปีติ และความใกล้ชิดพระผู้เป็นเจ้า มีมิตรภาพลึกซึ้งขึ้นระหว่างผู้สอนศาสนากับผู้สนใจ)

  • เอ็ลเดอร์เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ดสอนว่า “ประสบการณ์กับพระวิญญาณเกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติเมื่อบุคคลเต็มใจทดลองพระคำ” (“บัดนี้ถึงเวลาแล้ว,” เลียโฮนา, ม.ค. 2001, 105) ผู้สอนศาสนาจะทำอะไรได้บ้างเพื่อกระตุ้นผู้สนใจให้ทดลองพระคำ

อธิบายให้นักเรียนฟังว่าบทบาทที่ท้าทายที่สุดบทบาทหนึ่งของผู้สอนศาสนาคือช่วยให้ผู้สนใจรู้สึกถึงการกระตุ้นเตือนของพระวิญญาณบริสุทธิ์และจากนั้นช่วยให้พวกเขาทำตามความคิดและความรู้สึกเหล่านั้น โดยการดลใจผ่านพระวิญญาณบริสุทธิ์ ผู้สอนศาสนาสามารถรู้ได้ว่าผู้สนใจต้องได้รับการกระตุ้นเตือนอะไรทางวิญญาณจึงจะเปลี่ยนใจเลื่อมใส และพวกเขาสามารถสร้างสภาพแวดล้อมให้การกระตุ้นเตือนเหล่านั้นเกิดขึ้นได้ง่าย

เพื่อสาธิตว่าจะทำเช่นนี้ได้อย่างไร ให้ฉายวีดิทัศน์เรื่อง “การสอนเรื่องพระวิญญาณบริสุทธิ์และการสวดอ้อนวอน: จอห์น” (5:00) เชื้อเชิญให้ชั้นเรียนดูว่าผู้สอนศาสนาช่วยให้จอห์นรู้สึกถึงพระวิญญาณอย่างไร

หลังจากดูวีดิทัศน์จบแล้ว ให้ถามคำถามต่อไปนี้

  • ผู้สอนศาสนาช่วยให้จอห์นรู้สึกถึงพระวิญญาณอย่างไร

  • ผู้สอนศาสนาทำอะไรเพื่อช่วยให้จอห์นรู้วิธีได้รับคำตอบจากพระเจ้า

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 11:12ให้พวกเขาจับคู่กันสนทนาคำถามต่อไปนี้

การทำตามการกระตุ้นเตือนของพระวิญญาณ

ให้ดูข้อความต่อไปนี้และให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง

ภาพ
เอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์

“การสื่อสารกับพระบิดาในสวรรค์ของเราไม่ใช่เรื่องไม่สลักสำคัญ แต่เป็นสิทธิพิเศษอันศักดิ์สิทธิ์ และอยู่บนพื้นฐานของหลักธรรมนิรันดร์อันไม่เปลี่ยนแปลง เราได้รับความช่วยเหลือจากพระบิดาในสวรรค์ตามศรัทธา การเชื่อฟัง และการใช้สิทธิ์เสรีอย่างเหมาะสมของเรา” (ริชาร์ด จี. สก็อตต์, “วิธีได้รับการเปิดเผยและการดลใจในชีวิตส่วนตัวของท่าน,” เลียโฮนา, พ.ค. 2012, 47)

จากนั้นให้ถามว่า

  • การสื่อสารของเรากับพระบิดาบนสวรรค์จะกลายเป็นเรื่องไม่สลักสำคัญได้อย่างไร เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อทำให้การสวดอ้อนวอนของเรามีความหมายมากขึ้น

  • “เราได้รับความช่วยเหลือจากพระบิดาในสวรรค์ตามศรัทธา การเชื่อฟัง และการใช้สิทธิ์เสรีอย่างเหมาะสมของเรา” ข้อความนี้มีความหมายต่อท่านว่าอย่างไร (ถึงแม้นักเรียนจะใช้คำพูดต่างกัน แต่พวกเขาควรตอบทำนองนี้: เราได้รับความช่วยเหลือจากพระบิดาในสวรรค์เมื่อเรามุ่งเพิ่มพูนศรัทธา การเชื่อฟัง และการใช้สิทธิ์เสรีของเราอย่างเหมาะสม เขียนหลักธรรมนี้ไว้บนกระดาน)

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจหลักธรรมนี้ลึกซึ้งขึ้น ให้ดูข้อความอ้างอิงสองข้อต่อไปนี้จากประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์แห่งโควรัมอัครสาวก และให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงให้ชั้นเรียนฟัง

ภาพ
ประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์

“สุรเสียงของพระวิญญาณพูดอย่างแผ่วเบา โดยกระตุ้นเตือนท่านว่าควรทำอะไรหรือพูดอะไร หรืออาจตักเตือนหรือเตือนท่านก็ได้

“ถ้าเพิกเฉยหรือไม่เชื่อการกระตุ้นเตือนเหล่านี้ พระวิญญาณจะไปจากท่าน นั่นเป็นการเลือกของท่าน—สิทธิ์เสรีของท่าน” (Personal Revelation: The Gift, the Test, and the Promise, Ensign, Nov. 1994, 60)

ภาพ
ประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์

“พระวิญญาณไม่ทรงเรียกร้องความสนใจของเราโดยตะโกนหรือเขย่าตัวเราแรงๆ แต่ทรงกระซิบ ทรงสัมผัสนุ่มนวลมากจนถ้าเรากังวลอยู่กับเรื่องหนึ่งเราอาจไม่รู้สึกเลย …

“บางครั้งจะบีบเราแน่นพอให้เราเอาใจใส่ แต่ส่วนใหญ่แล้ว ถ้าเราไม่เอาใจใส่ความรู้สึกนุ่มนวลดังกล่าว พระวิญญาณจะทรงถอนตัวและทรงรอจนกว่าเราจะมาทูลขอและฟัง” (The Candle of the Lord, Ensign, Jan. 1983, 53)

  • ท่านเรียนรู้อะไรจากคำสอนเหล่านี้ของประธานแพคเกอร์

  • เนื่องจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ตรัสอย่างแผ่วเบา สถานการณ์แบบใดหรือสิ่งใดทำให้เราได้ยินหรือรู้สึกถึงพระวิญญาณได้ยากในโลกทุกวันนี้

ขณะที่นักเรียนตอบ ท่านอาจจะให้สนทนาว่าการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มากเกินไปทำให้รู้สึกถึงพระวิญญาณได้ยากอย่างไร (ดูหัวข้อนี้เพิ่มเติมได้ที่เอ็ลเดอร์เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด, “จงนิ่งเถิดและรู้ว่าเราคือพระผู้เป็นเจ้า” [การให้ข้อคิดทางวิญญาณระบบการศึกษาของศาสนจักรสำหรับคนหนุ่มสาว, 4 พ.ค., 2014])

ต่อจากนั้นท่านอาจจะให้อ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

ภาพ
เอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์

ความอ่อนน้อมถ่อมตน จำเป็นอย่างยิ่งต่อการได้ความรู้ทางวิญญาณ อ่อนน้อมถ่อมตนคือสอนง่าย ความอ่อนน้อมถ่อมตนเอื้ออำนวยให้ท่านได้รับการสอนจากพระวิญญาณและจากแหล่งที่พระเจ้าทรงดลใจ เช่น พระคัมภีร์ เมล็ดพันธุ์ของการเติบโตส่วนตัวและความเข้าใจเจริญงอกงามในดินดีของความอ่อนน้อมถ่อมตน ผลของสิ่งนั้นคือความรู้ทางวิญญาณที่จะนำทางท่านที่นี่และหลังจากนี้

“คนจองหองไม่สามารถรู้เรื่องของพระวิญญาณได้ เปาโลสอนความจริงนี้ว่า

“พระดำริของพระเจ้าก็ไม่มีใครหยั่งรู้ได้เว้นแต่พระวิญญาณของพระเจ้า …

“แต่คนทั่วไปจะไม่รับสิ่งเหล่านี้ซึ่งเป็นของพระวิญญาณแห่งพระเจ้า เพราะว่าเขาเห็นว่าเป็นเรื่องโง่ และเขาไม่สามารถเข้าใจ เพราะจะเข้าใจสิ่งเหล่านี้ได้ก็ต้องวินิจฉัยโดยพึ่งพระวิญญาณ’ (1 โครินธ์ 2:11, 14)” (Acquiring Spiritual Knowledge, Ensign, Nov. 1993, 87)

  • ความอ่อนน้อมถ่อมตนมีบทบาทอะไรต่อการที่เราจะสามารถรับและรู้สึกถึงการกระตุ้นเตือนของพระวิญญาณ

  • ท่านเคยประสบเวลาที่ท่านได้รับการนำทางจากพระวิญญาณหรือไม่ ท่านรู้สึกอย่างไร ท่านรู้ได้อย่างไรว่านั่นคือพระวิญญาณ (ดู โมโรไน 7:13)

หากเวลาเอื้ออำนวย ให้แบ่งนักเรียนครึ่งชั้น อธิบายให้นักเรียนฟังว่าพวกเขากำลังจะพิจารณากรณีศึกษาในพระคัมภีร์สองกรณีเพื่อดูว่าพระวิญญาณของพระเจ้าทรงกำกับดูแลงานของผู้รับใช้ของพระองค์อย่างไร ให้นักเรียนครึ่งชั้นอ่าน กิจการ 4:5–13 บอกนักเรียนกลุ่มนี้ว่าใน กิจการ 3เปโตรกับยอห์นรักษาชายคนหนึ่ง ใน กิจการ 4 พวกท่านถูกจับและถูกนำตัวไปอยู่ต่อหน้าผู้นำชาวยิวเพื่อซักถามเรื่องการรักษา ให้อีกครึ่งชั้นศึกษา กิจการ 16:6–15 บอกนักเรียนกลุ่มนี้ว่าข้อเหล่านี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับเปาโลระหว่างเดินทางไปทำงานเผยแผ่ศาสนาครั้งหนึ่งของท่าน มอบหมายให้ทั้งสองกลุ่มดูว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงช่วยเปโตรหรือเปาโลสั่งสอนพระกิตติคุณอย่างไร หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว ขอให้นักเรียนรายงานว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงนำทางเปโตรกับเปาโลอย่างไร จากนั้นให้ถามว่า

  • เปโตรกับเปาโลใช้สิทธิ์เสรีของพวกท่านทำตามการชี้นำจากพระวิญญาณอย่างไร

  • มีหลักฐานอะไรยืนยันว่าเปโตรกับเปาโลกำลังทำตามพระวิญญาณ

  • เกิดอะไรเป็นพิเศษกับเปโตรใน กิจการ 4 และกับเปาโลใน กิจการ 16 เพราะพวกท่านทำตามการชี้นำของพระวิญญาณ

  • ท่านได้รับพรอย่างไรจากการทำตามการชี้นำของพระวิญญาณบริสุทธิ์

สรุปโดยเชื้อเชิญให้นักเรียนเป็นพยานว่าพระเจ้าประทานพรพวกเขาผ่านพระวิญญาณของพระองค์อย่างไร ขอให้พวกเขาพิจารณาว่าการเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการสอนโดยพระวิญญาณมีผลต่อความปรารถนาจะเชื้อเชิญให้ผู้อื่นมาหาพระคริสต์อย่างไร รับรองกับพวกเขาว่าเมื่อพวกเขาแสวงหาพระวิญญาณในชีวิต พวกเขาจะสามารถสอนโดยพระวิญญาณได้มากขึ้น

การเชื้อเชิญให้ปฏิบัติ

เชื้อเชิญให้นักเรียนเตรียมสอนพระกิตติคุณโดยพระวิญญาณโดยทำกิจกรรมที่เสนอแนะต่อไปนี้หนึ่งอย่างหรือมากกว่านั้น

  • ดูบางตอนของ ดิสตริกท์ (ใน LDS.org) เมื่อท่านเตรียมรับใช้งานเผยแผ่

  • ฝึกวิธีเริ่มสอนบทเรียนหลายๆ วิธีโดยใช้ข้อความที่อัญเชิญพระวิญญาณได้อย่างมีประสิทธิภาพใน สั่งสอนกิตติคุณของเรา หน้า 176-177)

  • ไตร่ตรองและสวดอ้อนวอนเกี่ยวกับคนที่ท่านต้องการทำให้เข้มแข็งในพระกิตติคุณ สวดอ้อนวอนเกี่ยวกับข่าวสารพระกิตติคุณที่ท่านจะแบ่งปันกับบุคคลนี้ แบ่งปันข่าวสารและประจักษ์พยานของท่านกับเขาแบบต่อหน้าหรือผ่านสื่อสังคม