สถาบัน
บทที่ 6: การเตรียมรับชีวิตผู้สอนศาสนา


6

การเตรียมรับชีวิตผู้สอนศาสนา

คำนำ

การรับใช้งานเผยแผ่เต็มเวลาคือการยอมรับการเรียกให้เป็นตัวแทนของพระเจ้าพระเยซูคริสต์ งานเผยแผ่เป็นประสบการณ์อันน่าชื่นชมยินดี แต่ต้องทำงานหนักเช่นกัน เพื่อจะเป็นผู้สอนศาสนาที่มีประสิทธิภาพ เยาวชนชายหญิงจะต้องพร้อมวางใจพระเจ้าเมื่อพวกเขาประสบความท้าทาย เมื่อผู้มุ่งหวังจะเป็นผู้สอนศาสนาสร้างความคาดหวังอันดีต่อชีวิตผู้สอนศาสนา พวกเขาจะพร้อมรับใช้ด้วย “สุดใจ,พลัง, ความนึกคิด และพละกำลัง” มากขึ้น (คพ. 4:2)

การเตรียมล่วงหน้า

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

การเป็นผู้สอนศาสนา

เริ่มบทเรียนโดยถามนักเรียนดังนี้

  • ท่านคาดหวังให้รูปแบบการดำเนินชีวิตของท่านเปลี่ยนไปในด้านใดเมื่อท่านเริ่มรับใช้เป็นผู้สอนศาสนา

  • ท่านจะเริ่มเตรียมอะไรตอนนี้ได้บ้างเพื่อให้พร้อมรับการเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิตเหล่านั้น

ให้ดูและเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง หรือฉาย คลิปวีดิทัศน์ คำกล่าวของท่าน อธิบายว่าถึงแม้เอ็ลเดอร์เบดนาร์กำลังพูดถึงเยาวชนชายในการประชุมใหญ่สามัญภาคฐานะปุโรหิต แต่หลักธรรมที่ท่านสอนประะยุกต์ใช้กับเยาวชนหญิงได้เช่นกัน

ภาพ
เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์

“ในการประชุมกับสมาชิกวัยหนุ่มสาวของศาสนจักรทั่วโลก ข้าพเจ้ามักเชิญให้ผู้เข้าร่วมการประชุมซักถามข้อสงสัย คำถามข้อหนึ่งที่คนหนุ่มถามข้าพเจ้าบ่อยที่สุดคือ ‘ผมจะทำอะไรได้บ้างเพื่อเตรียมอย่างมีประสิทธิภาพที่สุดให้พร้อมรับใช้เป็นผู้สอนศาสนาเต็มเวลา’ คำถามที่จริงใจเช่นนั้นสมควรได้รับคำตอบที่จริงจังดังนี้

“ชายหนุ่มทั้งหลาย สิ่งสำคัญที่สุดข้อเดียวที่ท่านจะทำได้เพื่อเตรียมตัวรับการเรียกให้รับใช้คือ เป็น ผู้สอนศาสนาให้ยาวนานก่อนที่ท่านจะ ไป รับใช้เป็นผู้สอนศาสนา ขอให้สังเกตว่าคำตอบของข้าพเจ้าเน้นที่ การเป็น มากกว่า การไป ข้าพเจ้าจะอธิบายว่าข้าพเจ้าหมายความว่าอย่างไร

“คำศัพท์ที่ใช้กันเป็นปรกติวิสัยในศาสนจักร คือ เรามักจะพูดว่า ไป โบสถ์ ไป พระวิหาร และ ไป รับใช้เป็นผู้สอนศาสนา ข้าพเจ้าขอบังอาจแนะนำว่าความเป็นปรกติวิสัยของเราที่เน้นคำว่า ไป นั้นหลงประเด็นอยู่

“ประเด็นก็คือเราไม่ได้ไปโบสถ์ หากแต่เราไปนมัสการและต่อพันธสัญญาขณะเข้าโบสถ์ เราไม่ได้ไปหรือผ่านพระวิหาร หากเแต่เรามีวิญญาณ พันธสัญญา และศาสนพิธีแห่งพระนิเวศน์ของพระเจ้าอยู่ในใจเรา ประเด็นนั้นไม่ใช่การไปทำงานเผยแผ่ แต่ประเด็นคือเราจะกลายเป็นผู้สอนศาสนาและรับใช้ตลอดชีวิตของเราด้วยสุดใจ พลัง ความคิด และพละกำลังของเรา เป็นไปได้ที่คนหนุ่มจะ ไป รับใช้งานเผยแผ่โดยไม่ได้ เป็น ผู้สอนศาสนา และนี่ไม่ใช่พระประสงค์ของพระเจ้าหรือความต้องการของศาสนจักร

“สิ่งที่ข้าพเจ้าหวังอย่างยิ่งในตัวพวกท่านชายหนุ่มทุกคนคือ หวังว่าท่านจะไม่เพียงไปรับใช้งานเผยแผ่เท่านั้น—แต่ท่านจะเป็นผู้สอนศาสนาให้ยาวนานก่อนที่ท่านจะยื่นใบสมัครเป็นผู้สอนศาสนา นานก่อนที่ท่านจะรับการเรียกให้รับใช้ นานก่อนที่ท่านจะได้รับการวางมือแต่งตั้งโดยประธานสเตคของท่าน และนานก่อนที่ท่านจะเข้าเอ็มทีซี” (“การเป็นผู้สอนศาสนา,” เลียโฮนา, พ.ย. 2005, 53-54)

  • เอ็ลเดอร์เบดนาร์กล่าวว่าอะไรเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่ท่านจะทำได้เพื่อเตรียมรับการเรียกให้รับใช้งานเผยแผ่ (เป็นผู้สอนศาสนาให้นานก่อนไปเป็นผู้สอนศาสนา)

ให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านข้อความอ้างอิงตอนต่อไปของเอ็ลเดอร์เบดนาร์ หรือฉาย คลิปวีดิทัศน์ ของข้อความนี้

ภาพ
เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์

“แน่นอนว่าขั้นตอนของการเป็นผู้สอนศาสนาไม่ได้ต้องการให้คนหนุ่มสวมเสื้อเชิ้ตสีขาวผูกเนคไทไปโรงเรียนทุกวัน หรือปฏิบัติตามแนวทางของผู้สอนศาสนาในเรื่องการเข้านอนและตื่นนอน แม้ว่าบิดามารดาส่วนใหญ่จะสนับสนุนความคิดนี้ก็ตาม แต่ท่านสามารถเพิ่มความปรารถนาในการรับใช้พระผู้เป็นเจ้าได้ [ดู คพ. 4:3] และท่านจะเริ่มคิดอย่างที่ผู้สอนศาสนาคิด อ่านสิ่งที่ผู้สอนศาสนาอ่าน สวดอ้อนวอนอย่างที่ผู้สอนศาสนาสวดอ้อนวอน และรู้สึกอย่างที่ผู้สอนศาสนารู้สึก ท่านจะหลีกเลี่ยงอิทธิพลทางโลกซึ่งจะทำให้พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงถอนตัว ท่านจะเพิ่มความมั่นใจในการรับรู้และตอบสนองการกระตุ้นเตือนทางวิญญาณได้ เป็นบรรทัดๆ เป็นข้อๆ ที่นี่นิดและที่นั่นหน่อย ท่านจะค่อยๆ กลายเป็นผู้สอนศาสนาตามที่ตนเองหวังและเป็นผู้สอนศาสนาที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงคาดหวังได้” (“การเป็นผู้สอนศาสนา,” 54-55)

จากนั้นให้ถามว่า

  • ตามที่เอ็ลเดอร์เบดนาร์กล่าว ท่านจะเป็นผู้สอนศาสนาในด้านใดได้บ้างก่อนเข้าศูนย์ฝึกอบรมผู้สอนศาสนา

หลังจากนักเรียนตอบแล้ว ให้เขียนความจริงต่อไปนี้ไว้บนกระดาน ฉันสามารถเป็นผู้สอนศาสนาได้ตอนนี้ในวิธีที่ฉันคิด รู้สึก และกระทำ เพื่อยกตัวอย่างหลักธรรมนี้ ขอให้นักเรียนเปิด แอลมา 17:2-3, 9, 11และอธิบายว่าข้อเหล่านี้พูดถึงพวกบุตรของโมไซยาห์ผู้กำลังรับใช้เป็นผู้สอนศาสนาในบรรดาชาวเลมัน เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงข้อเหล่านี้ขณะชั้นเรียนดูตาม โดยดูว่าพวกบุตรของโมไซยาห์ทำอะไรเพื่อเตรียมสอนด้วยพลังและสิทธิอำนาจ จากนั้นให้ถามนักเรียนว่า

  • พวกบุตรของโมไซยาห์ทำอะไรเพื่อเตรียมสอนด้วยพลังและสิทธิอำนาจ

  • ผู้มุ่งหวังจะเป็นผู้สอนศาสนาจะทำตามแบบอย่างของพวกบุตรของโมไซยาห์ได้อย่างไรขณะเตรียมเป็นผู้สอนศาสนาตอนนี้

ให้นักเรียนเปิด หน้า 137 ใน สั่งสอนกิตติคุณของเรา และให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงย่อหน้าที่สาม จากนั้นให้ถามคำถามต่อไปนี้

  • ตามที่กล่าวไว้ในหมายเรียกผู้สอนศาสนา ผู้สอนศาสนาถูกคาดหวังให้อุทิศอะไรแด่พระเจ้า และพวกเขาถูกคาดหวังให้ทิ้งอะไรไว้เบื้องหลัง

  • ตัวอย่างอะไรบ้างของ “เรื่องส่วนตัว” ที่ขอให้ผู้สอนศาสนาทิ้งไว้เบื้องหลังเมื่อพวกเขาเริ่มรับใช้เป็นผู้สอนศาสนา

  • ท่านได้รับพรจากการเสียสละเพื่อรับใช้พระผู้เป็นเจ้าเมื่อใด

ต่อจากนั้น ให้เวลานักเรียนสองสามนาทีไตร่ตรองและจดคำตอบของคำถามต่อไปนี้ไว้ในสมุดบันทึกการศึกษาของพวกเขา กระตุ้นให้นักเรียนจดสิ่งที่พวกเขารู้สึกขณะพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงสื่อสารกับพวกเขาเป็นส่วนตัว จากนั้นให้ถามว่า

  • ท่านจะทำอะไรได้บ้างตอนนี้เพื่อเริ่มคิด รู้สึก และทำเหมือนผู้สอนศาสนา

  • ท่านจะเตรียมทิ้งเรื่องส่วนตัวไว้เบื้องหลังและอุทิศเวลารวมทั้งความตั้งใจทั้งหมดเพื่อรับใช้พระเจ้าได้อย่างไร

  • การทำสิ่งเหล่านี้จะช่วยเตรียมท่านให้พร้อมสอนด้วยพลังและสิทธิอำนาจเหมือนพวกบุตรของโมไซยาห์ได้อย่างไร

กระตุ้นให้นักเรียนจดเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจงลงในสมุดบันทึกของพวกเขา แนวคิดอาจได้แก่ ศึกษาพระคัมภีร์มอรมอนทุกวัน สวดอ้อนวอนทุกเช้าค่ำ เข้าร่วมการประชุมของศาสนจักร เข้านอนก่อน 22:30 น. และตื่นนอน 6:30 น. ลดเวลาใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือพยายามเชื่อฟังพระบัญญัติมากขึ้น

มาตรฐานของความมีค่าควร

เขียนคำว่า “สิ่งจำเป็นที่ต้องมีก่อน” ไว้บนกระดาน และขอให้นักเรียนนึกถึงสภาวะแวดล้อมซึ่งจำเป็นต้องมีก่อน ให้เวลานักเรียนค้นคว้า หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:74 ครู่หนึ่งเพื่อหาเงื่อนไขจำเป็นที่ต้องมีก่อนการรับใช้เป็นผู้สอนศาสนา จากนั้นให้ถามว่า

  • พระเจ้าทรงแนะนำคนงานในอาณาจักรของพระองค์ให้ทำอะไรเพื่อเตรียมสั่งสอนพระกิตติคุณ (ชำระตนเองให้บริสุทธิ์ ทำให้ใจของพวกเขาบริสุทธิ์ ชำระมือของพวกเขาให้สะอาด)

  • ชำระให้บริสุทธิ์หมายความว่าอย่างไร (สะอาด มีค่าควรรับพระวิญญาณบริสุทธิ์)

  • หลักธรรมใดเกี่ยวกับผู้สอนศาสนาสอนไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:74 (หลังจากนักเรียนตอบ ให้เขียนบนกระดานดังนี้ พระเจ้าทรงบัญชาให้ผู้รับใช้ของพระองค์สะอาด)

เพื่อช่วยอธิบายว่าผู้สอนศาสนาต้องสะอาดและมีค่าควรรับใช้งานเผยแผ่หมายความว่าอย่างไร ให้ดูข้อความที่ยกบางส่วนมาจากคำพูดของเอ็ลเดอร์เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ดแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง และเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง

ภาพ
เอ็ลเดอร์เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด

“ในฐานะอัครสาวกของพระเจ้าพระเยซูคริสต์ ข้าพเจ้าขอให้ท่านเริ่มตั้งแต่บัดนี้—คืนนี้—ที่จะทำตนให้มีค่าควรอย่างเต็มที่โดยไม่ขาดตกบกพร่อง จงตั้งใจแน่วแน่และให้คำมั่นกับตนเองและกับพระผู้เป็นเจ้าว่า นับแต่นี้เป็นต้นไปท่านจะรักษาใจ มือ และความคิดให้บริสุทธิ์ และไม่แปดเปื้อนการล่วงละเมิด จงตั้งใจแน่วแน่ที่จะหลีกเลี่ยงสื่อลามกเหมือนหลีกเลี่ยงโรคร้ายที่อันตรายถึงชีวิต เพราะมันคือโรคร้ายจริงๆ จงตั้งใจแน่วแน่ในการละเว้นจากยาสูบ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และยาผิดกฎหมาย จงตั้งใจแน่วแน่ว่าจะซื่อสัตย์ จงตั้งใจแน่วแน่ว่าจะเป็นพลเมืองดีและทำตามกฎหมายของประเทศที่ท่านอาศัยอยู่ จงตั้งใจแน่วแน่นับแต่คืนนี้เป็นต้นไปว่าท่านจะไม่ทำให้ร่างกายมัวหมองหรือใช้ภาษาหยาบคายและไม่เหมาะกับผู้ดำรงฐานะปุโรหิต” (“ผู้สอนศาสนารุ่นเยี่ยมยอด,” เลียโฮนา, พ.ย. 2002, 58)

ถามคำถามต่อไปนี้เพื่อช่วยนักเรียนวิเคราะห์คำแนะนำของเอ็ลเดอร์บัลลาร์ด

  • เอ็ลเดอร์บัลลาร์ดกล่าวเจาะจงพระบัญญัติข้อใดบ้างที่ผู้มุ่งหวังจะเป็นผู้สอนศาสนาควรเชื่อฟัง

  • การมีใจ มือ และความคิดที่ “ไม่แปดเปื้อนการล่วงละเมิด” หมายความว่าอย่างไร (หากจำเป็น ท่านอาจพูดถึงหัวข้อ “ความบริสุทธิ์ทางเพศ” ใน เพื่อความเข้มแข็งของเยาวชน [จุลสาร 2011], 35–37)

  • เหตุใดการหลีกเลี่ยงสื่อลามกเหมือนเราหลีกเลี่ยงโรคร้ายจึงเป็นการกระทำที่ฉลาด และการหลีกเลี่ยงสื่อลามกจะช่วยให้ท่านคิด รู้สึก และทำเหมือนผู้สอนศาสนาได้อย่างไร

ฉายวีดิทัศน์เรื่อง “อยู่ในเส้น” (5:10) เพื่อช่วยให้นักเรียนรู้สึกถึงความจริงและความสำคัญของการมีค่าควรรับใช้งานเผยแผ่ ก่อนฉายวีดิทัศน์ ท่านอาจจะสนทนาว่าเหตุใดเส้นแบ่งเขตจึงสำคัญในกีฬาบางประเภท สนทนาความแตกต่างระหว่าง “ในเส้น” กับ “นอกเส้น” และวิธีที่เส้นแบ่งเขตมีผลต่อการกระทำของนักกีฬาในระหว่างการแข่งขัน บอกนักเรียนว่าเอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองได้พูดถึงการอยู่ในเส้นทางวิญญาณก่อนเป็นผู้สอนศาสนา

หลังจากดูวีดิทัศน์แล้ว ให้ถามนักเรียนดังนี้

  • อะไรคือความสัมพันธ์ระหว่าง “การอยู่ในเส้น” กับการเตรียมรับใช้เป็นผู้สอนศาสนา

  • เอ็ลเดอร์ฮอลแลนด์ข้อร้องคนที่อยู่ในทีมของพระเจ้าให้อยู่ในทีมและไม่ออก “นอกเส้น” นี่มีความหมายต่อท่านว่าอย่างไร

  • เหตุใดการไม่กลับใจจากบาปในอดีตจึงขัดขวางไม่ให้ผู้สอนศาสนาได้ช่วยผู้อื่นมาหาพระคริสต์อย่างได้ผล

ให้เวลานักเรียนไตร่ตรองระดับความมีค่าควรของตนในการรับใช้เป็นผู้สอนศาสนาสักครู่ อธิบายให้นักเรียนฟังว่าถ้าพวกเขามีข้อกังวลใดๆ เกี่ยวกับความมีค่าควรของตน พวกเขาควรขอการนำทางในการสวดอ้อนวอนที่จริงใจและสนทนาข้อกังวลเหล่านี้กับอธิการหรือประธานสาขา

การเตรียมทางร่างกายและทางอารมณ์

ให้ดูข้อความต่อไปนี้จากฝ่ายประธานสูงสุดในปี 2002 และเชื้อเชิญให้นักเรียนอ่านในใจ หรือให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงข้อความดังกล่าว

“การรับใช้เป็นผู้สอนศาสนาเต็มเวลาถือเป็นสิทธิพิเศษสำหรับผู้ได้รับเรียกด้วยการดลใจโดยประธานศาสนจักร อธิการและประธานสาขามีความรับผิดชอบสำคัญที่ต้องดูให้ออกว่าใครเป็นสมาชิกที่มีค่าควร มีคุณสมบัติเหมาะสม พร้อมทั้งทางวิญญาณ ร่างกาย และอารมณ์เพื่อการรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์นี้ อีกทั้งสามารถเสนอชื่อเขาได้โดยไม่มีข้อกังขา” (จดหมายจากฝ่ายประธานสูงสุด, 11 ธ.ค. 2002)

จากนั้นให้ถามว่า

  • นอกจากจะเตรียมทางวิญญาณแล้ว เหตุใดบุคคลจึงต้องเตรียมทางร่างกายและทางอารมณ์ให้พร้อมรับใช้งานเผยแผ่ด้วย

ให้ดูข้อความอ้างอิงต่อไปนี้ และเชิญนักเรียนหนึ่งคนหรือมากกว่านั้นอ่านออกเสียง

ออกกำลังกายเป็นประจำ (ทุกวัน) ผู้สอนศาสนาต้องสามารถเดินได้เฉลี่ยวันละหกไมล์ (10 กิโลเมตร) และขี่จักรยานได้วันละ 12 ไมล์ (19 กิโลเมตร) ผู้มุ่งหวังจะเป็นผู้สอนศาสนาที่เดินไม่เกินจากรถไปเรียนหรือไปทำงานมักจะเจ็บเท้าและเป็นแผลพุพองเมื่อพวกเขาไปถึงสนามเผยแผ่ … ผู้สอนศาสนาที่ไม่แข็งแรงจะเหนื่อยล้าจากงานสอนศาสนา และผู้สอนศาสนาที่อ่อนเพลียจะท้อแท้และมีปัญหาสุขภาพง่ายกว่าผู้สอนศาสนาที่มีร่างกายแข็งแรง

“ผู้มุ่งหวังจะเป็นผู้สอนศาสนาสามารถเตรียมตัวรับความเข้มงวดของชีวิตผู้สอนศาสนาได้โดยวางรูปแบบการออกกำลังกายแบบแอโรบิกเป็นประจำ—เดิน วิ่ง หรือปั่นจักรยานวันละหนึ่งชั่วโมงทุกวัน …

นอนหลับให้เพียงพอ ถึงแม้จำนวนเวลานอนของแต่ละคนต่างกัน แต่โดยทั่วไปคนหนุ่มสาวจะนอนวันละเจ็ดถึงแปดชั่วโมง พวกเขาควรเข้านอนเวลา 22:30 น. ถึงเที่ยงคืน และตื่นนอนเวลา 6:30 น. ถึง 8:00 น. การอยู่ดึกจนถึงตี 2 หรือตี 3 และหลับจนถึง 10:00 น. จะทำให้รู้สึกเพลียตลอดเวลาและอยากนอนหลับจนถึงเที่ยง … ผู้สอนศาสนาใช้ชีวิตตามตารางเวลา พวกเขาเข้านอน 22:30 น. และตื่นนอนเวลา 6:30 น. ทุกวัน ตารางนี้จะยากหากผู้มุ่งหวังจะเป็นผู้สอนศาสนาไม่เริ่มทำกิจวัตรคล้ายกันนี้ล่วงหน้าก่อนรับการเรียกให้รับใช้

นิสัยการรับประทานที่มีประโยชน์ แทนที่จะถือเอาน้ำตาลกับไขมันเป็นอาหารหลัก คนหนุ่มสาวควรหัดรับประทานอาหารที่ประกอบด้วยโปรตีนและเส้นใย เช่น เนื้อที่มีไขมันต่ำ โยเกิร์ต ผัก และผลไม้ การดื่มน้ำอัดลมมากกว่า 12 ออนซ์ต่อวันจัดว่ามากเกินไป” (โดนัลด์ บี. โดที, “การเตรียมตัวด้านสุขภาพของผู้สอนศาสนา,” เลียโฮนา, มี.ค. 2007, ข่าวศาสนจักรหน้า 2)

  • หากผู้สอนศาสนาร่างกายไม่แข็งแรง จะส่งผลอะไรต่อความก้าวหน้าของงาน คู่ของผู้สอนศาสนา และความผาสุกของผู้สอนศาสนาคนนั้น

ขอให้นักเรียนไตร่ตรองคำถามต่อไปนี้ในใจ

  • ท่านจะพูดถึงการเตรียมทางร่างกายในปัจจุบันของท่านเพื่อให้พร้อมรับใช้งานเผยแผ่ว่าอย่างไร

  • ท่านจะทำสิ่งใดได้บ้างเพื่อเตรียมสนองข้อเรียกร้องทางกายของงานเผยแผ่เต็มเวลา

กระตุ้นให้นักเรียนเริ่มวางแผนเสียแต่เดี๋ยวนี้ว่าจะนอนหลับให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และออกกำลังกายเพื่อพวกเขาจะมีร่างกายแข็งแรงซึ่งจำเป็นต่อความสำเร็จในฐานะผู้สอนศาสนา หากเวลาเอื้ออำนวย ให้เชิญนักเรียนเขียนแผนของพวกเขาลงในสมุดบันทึกการศึกษา

ให้นักเรียนคนหนึ่งอธิบายว่าร่างกายตอบสนองอย่างไรต่อกิจกรรมอันเคร่งเครียดทางกาย อาทิ การวิ่งขึ้นลงบันได (หัวใจเต้นเร็วขึ้น หายใจแรงขึ้น เหงื่อออก กล้ามเนื้อล้า และอื่นๆ) อธิบายว่าความเครียด ทางกาย เป็นเพียงความท้าทายแบบหนึ่งที่ผู้สอนศาสนาพบเจอ จากนั้นให้ถามว่า

  • ร่างกายและจิตใจของผู้สอนศาสนาอาจจะตอบสนองอย่างไรต่อความเครียด ทางอารมณ์ หรือ ทางจิต อันเนื่องจากความท้าทายยากๆ หรือปัญหาที่คาดไม่ถึง

อธิบายว่าผู้สอนศาสนาทุกคนประสบความเครียดทางอารมณ์ไม่ระดับใดก็ระดับหนึ่ง ความรู้สึกคิดถึงบ้านและความไม่คู่ควร ความเศร้าใจ หรืออารมณ์อื่นๆ ที่อาจทำให้ท้อใจ และนี่เป็นเรื่องปกติของชีวิตผู้สอนศาสนา

ฉายวีดิทัศน์เรื่อง “การเตรียมของกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์: ลืมตนเองและไปทำงาน” (2:04) กระตุ้นให้นักเรียนมองหาเหตุผลว่าทำไมประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์จึงรู้สึกท้อเมื่อครั้งเป็นผู้สอนศาสนาวัยหนุ่มในอังกฤษ

ถามนักเรียนว่า

  • เหตุผลอะไรบ้างที่ทำให้ประธานฮิงค์ลีย์รู้สึกท้อหลังจากมาถึงสนามเผยแผ่

  • ประธานฮิงค์ลีย์ทำอะไรที่ช่วยให้ท่านเอาชนะความท้อแท้

อธิบายให้นักเรียนฟังว่าผู้สอนศาสนาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดบางคนในพระคัมภีร์ประสบความท้อแท้และความยากลำบากอื่นๆ ในงานเผยแผ่ศาสนาของพวกเขา เขียนพระคัมภีร์อ้างอิงต่อไปนี้ไว้บนกระดาน เยเรมีย์ 1:4–9; แอลมา 17:5; 26:27; และ โมเสส 6:31–32 ให้สมาชิกชั้นเรียนเลือกอ่านพระคัมภีร์หนึ่งข้อในใจ โดยมองหาความท้าทายที่แต่ละคนพบเจอ ขณะที่นักเรียนตอบ ท่านอาจจะสรุปคำตอบของพวกเขาไว้บนกระดานดังนี้

เยเรมีย์ 1:4-9 เยเรมีย์กลัวว่าผู้คนจะไม่ฟังเขาเพราะเขาอายุน้อยเกินไป

แอลมา 17:5; 26:27 แอมันกับเพื่อนผู้สอนศาสนาทนทุกข์ทั้งร่างกายและจิตใจ พวกเขารู้สึกเศร้าและพร้อมจะเลิกกลางคัน

โมเสส 6:31–32. เอโนคกังวลว่าจะไม่มีใครฟังเขาเพราะเขาพูดช้าและอายุยังน้อยมาก

จากนั้นให้ถามว่า

  • ท่านเรียนรู้อะไรจากสามเรื่องนี้เกี่ยวกับความท้าทายทางอารมณ์ของการสั่งสอนพระกิตติคุณ (ขณะที่นักเรียนตอบ ท่านอาจต้องการเขียนความจริงนี้ไว้บนกระดาน ความท้าทายทางกายและทางอารมณ์เป็นเรื่อง ปกติ ของชีวิตผู้สอนศาสนา

  • ท่านมีความคิดอะไรบ้างเมื่อท่านอ่านข้อความที่ว่าความท้าทายทางกายและทางอารมณ์เป็นเรื่อง ปกติ ของชีวิตผู้สอนศาสนา

  • การรู้ว่าผู้สอนศาสนาทุกคนเผชิญความท้าทายมีผลอย่างไรต่อวิธีที่ท่านเตรียมรับใช้

ช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าผู้สอนศาสนาแทบทุกคนประสบกับความท้าทายทางอารมณ์หรือไม่ก็ทางกาย ด้วยเหตุนี้ ผู้สอนศาสนาจึงควรเรียนรู้วิธีรับมือกับความเครียดอย่างถูกต้องเหมาะสม บ่อยครั้งวิธีรับมือกับความเครียดที่ได้ผลนอกสนามเผยแผ่ อย่างเช่น การใช้เวลาอยู่คนเดียว การฟังเพลง หรือเล่นกีฬา มักไม่เหมาะกับผู้สอนศาสนา ผู้สอนศาสนาต้องฝึกรับมือกับความเครียดในวิธีที่สอดคล้องกับกฎผู้สอนศาสนา

แบ่งชั้นเรียนออกเป็นกลุ่มเล็กๆ และแจกเอกสาร “ข้อเรียกร้องของชีวิตผู้สอนศาสนา” ให้นักเรียน ให้แต่ละกลุ่ม (1) อ่านออกเสียงหัวข้อแรกชื่อว่า “ข้อเรียกร้องของชีวิตผู้สอนศาสนา” และ (2) สนทนาว่าการรับรู้ข้อเรียกร้องของชีวิตผู้สอนศาสนาจะช่วยให้พวกเขาพร้อมรับความท้าทายของชีวิตผู้สอนศาสนามากขึ้นได้อย่างไร

ภาพ
ชีวิตผู้สอนศาสนา เอกสารแจก

หลังจากกลุ่มมีเวลาอ่านและสนทนามากพอแล้ว ขอให้นักเรียนหลายๆ คนแบ่งปันประเด็นหลักที่กลุ่มของตนสนทนา จากนั้นให้นักเรียนใช้เวลาสองสามนาทีอ่านและสนทนาหัวข้อถัดไปของเอกสารแจกเรื่อง “การปรับตัวเข้ากับประสบการณ์ใหม่” และพูดคุยกันว่าการเข้าใจการปรับตัวระยะต่างๆ จะช่วยนักเรียนเมื่อพวกเขาเข้าเอ็มทีซีได้อย่างไร

หวังให้พระเจ้าทรงช่วยเรื่องความท้าทายต่างๆ

เพื่อกระตุ้นให้นักเรียนเริ่มคิดว่าพวกเขาจะรับมือกับความท้าทายต่างๆ อย่างไรเมื่อประสบความท้าทายเหล่านั้นในสนามเผยแผ่ ให้อธิบายว่านีไฟเผชิญความรู้สึกไม่คู่ควรและความท้อแท้และได้เขียนสิ่งที่เขาทำเพื่อเอาชนะความรู้สึกเหล่านั้น ให้นักเรียนคนหนึ่งอ่าน 2 นีไฟ 4:17-19 จากนั้นให้ถามว่า

  • นีไฟใช้คำหรือวลีใดอธิบายผลจากความอ่อนแอของเขา

ขอให้นักเรียนศึกษา 2 นีไฟ 4:19-26โดยมองหาสิ่งที่ช่วยให้นีไฟเอาชนะความรู้สึกท้อแท้ จากนั้นให้ถามว่า

  • นีไฟใช้วลีใดอธิบายวิธีที่เขาเอาชนะความรู้สึกในแง่ลบ (นักเรียนควรค้นพบว่านีไฟวางใจพระเจ้า [ดู ข้อ 19] เขาระลึกถึงสิ่งที่พระเจ้าทรงทำให้เขาในอดีต [ดู ข้อ 20-23] เขาสวดอ้อนวอนอย่างกระตือรือร้น [ดู ข้อ 24] และเขาระลึกถึงพระเมตตาของพระเจ้า [ข้อ 26])

  • การระลึกถึงพระเจ้าและพระกรุณาธิคุณของพระองค์ช่วยท่านอย่างไรในช่วงเวลาของความท้อแท้และความเครียด

  • ตอนต้นบทเรียน เรายอมรับว่าเป็นเรื่องปกติที่ผู้สอนศาสนาประสบความเครียดทางอารมณ์ ความรู้สึกคิดถึงบ้านและไม่ความคู่ควร ความเศร้าใจ หรืออารมณ์อื่นๆ ที่อาจทำให้ท้อใจ ขณะพิจารณาสิ่งที่นีไฟเขียนไว้ใน 2 นีไฟ 4:19-26ท่านจะให้คำแนะนำอะไรกับผู้สอนศาสนาที่ประสบความรู้สึกแบบนี้ (ช่วยให้นักเรียนค้นพบหลักธรรมต่อไปนี้และเขียนไว้บนกระดาน: เมื่อผู้สอนศาสนาวางใจพระเจ้า พระเจ้าทรงสามารถช่วยให้พวกเขาจัดการกับข้อเรียกร้องทางกายและทางอารมณ์ของชีวิตผู้สอนศาสนาได้)

ท่านอาจแบ่งปันคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

ภาพ
เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์

“ข้าพเจ้าไม่เชื่อว่างานเผยแผ่ศาสนาเป็นงานง่าย ทั้งการเปลี่ยนใจเลื่อมใส การรักษาให้คงอยู่ และความซื่อสัตย์อย่างต่อเนื่องไม่ง่ายเช่นกัน ข้าพเจ้าเชื่อว่าการดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณเรียกร้องความพยายามพอสมควร เรียกร้องบางอย่างจากส่วนลึกของจิตวิญญาณของเรา

“ถ้าพระองค์ทรงสามารถเสด็จออกไปในตอนกลางคืน ทรงคุกเข่า ซบพระพักตร์ พระโลหิตออกจากทุกขุมขน และร้องทูลได้ว่า ‘อับบา (พ่อ) ทุกสิ่งเป็นได้สำหรับพระองค์ ขอโปรดให้ถ้วยนี้เลื่อนพ้นไปจากข้าพระองค์เถิด’ [ดู มาระโก 14:36] เมื่อนั้นเราไม่ควรสงสัยว่าความรอดไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับเราเช่นกัน หากท่านสงสัยว่าไม่มีวิธีง่ายกว่านี้แล้วหรือ ท่านควรจำไว้ว่าท่านไม่ใช่คนแรกที่ถามเช่นนั้น มีมากมายหลายคนที่ถามมานานแล้วว่าไม่มีวิธีที่ง่ายกว่านี้แล้วหรือ

“การชดใช้จะช่วยผู้สอนศาสนาซึ่งอาจจะสำคัญยิ่งกว่าช่วยผู้สนใจ เมื่อท่านล้มลุกคลุกคลาน เมื่อท่านถูกปฏิเสธ เมื่อท่านถูกถ่มน้ำลายรดและถูกขับไล่ ท่านกำลังได้รับการปฏิบัติเหมือนกับคนดีที่สุดที่เคยอยู่บนโลกนี้ คนเดียวที่เคยมีชีวิตบริสุทธิ์และดีพร้อม ท่านมีเหตุผลให้ยืนหยัดและสำนึกคุณที่พระบุตรผู้ทรงพระชนม์ของพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงพระชนม์ทรงทราบทุกสิ่งเกี่ยวกับความเสียใจและความทุกข์ยากของท่าน ทางเดียวสู่ความรอดคือผ่านเกทเสมนีและบนคัลวารี ทางเดียวสู่นิรันดรคือผ่านพระองค์—ทางนั้น ความจริง และชีวิต” (“งานสอนศาสนาและการชดใช้,” เลียโฮนา, มี.ค. 2001, 32)

จากนั้นให้ถามว่า

  • ตามคำกล่าวของเอ็ลเดอร์ฮอลแลนด์ ผู้สอนศาสนามีเหตุผลอะไรให้ยืนหยัดในช่วงของความยากลำบาก

บอกนักเรียนว่าเมื่อกำลังรับมือกับสภาพที่ยากลำบากในสนามเผยแผ่ พวกเขาควรจดจำว่างานที่พวกเขาทำอยู่คือการช่วยนำผู้อื่นมาหาพระเยซูคริสต์ เขียนพระคัมภีร์อ้างอิงต่อไปนี้ไว้บนกระดาน แอลมา 26:11–13; 29:10; และ หลักคำสอนและพันธสัญญา 18:15–16 ขอให้นักเรียนสองสามคนผลัดกันอ่านออกเสียงข้อเหล่านี้ขณะชั้นเรียนดูตามโดยหาดูว่าข้อความนี้สอนอะไรเกี่ยวกับชีวิตผู้สอนศาสนา เชื้อเชิญให้นักเรียนแบ่งปันข้อคิด และรับรองกับพวกเขาว่าถึงแม้การรับใช้เป็นผู้สอนศาสนาเต็มเวลาจะเป็นงานยากและบางครั้งทำให้ท้อแท้ แต่ เมื่อเราทำงานเพื่อนำผู้อื่นมาหาพระเยซูคริสต์ พระเจ้าย่อมประทานพรเราด้วยปีติ ท่านอาจจะขอให้นักเรียนเล่าประสบการณ์ตอนที่พวกเขาประสบหลักธรรมนี้

ชี้ให้นักเรียนเห็นว่าบางครั้งพวกเขาอาจมีคู่ที่ประสบปัญหาทางอารมณ์หรือสุขภาพจิต ในกรณีเช่นนี้ พวกเขาควรฟังและแสดงความรักต่อคู่ เพราะกำลังใจของคู่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการช่วยให้เอาชนะปัญหาต่างๆ พวกเขาไม่ควรแนะนำว่าถ้าผู้สอนศาสนามีปัญหาแค่มีศรัทธามากขึ้น ความท้าทายของเขาจะหมดไป

อธิบายเช่นกันว่าความท้าทายบางอย่างเรียกร้องความช่วยเหลือเพิ่มเติมจากผู้นำฐานะปุโรหิตและผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต คณะเผยแผ่ส่วนใหญ่จะมีผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพไว้คอยช่วยเหลือผู้สอนศาสนา ผู้สอนศาสนาที่กำลังประสบปัญหาทางอารมณ์ควรบอกประธานคณะเผยแผ่ให้รู้สถานการณ์ของตนเพื่อพิจารณาว่าความช่วยเหลืออะไรเหมาะสม

เพื่อช่วยให้นักเรียนพิจารณาเพิ่มเติมว่าพวกเขาจะรับมือกับความท้าทายทางกายและทางอารมณ์ที่อาจพบเจอขณะเป็นผู้สอนศาสนาได้อย่างไร ให้เวลาพวกเขาหลายๆ นาทีเขียนเล่าถึงตอนที่พวกเขาต้องเอาชนะสถานการณ์ยากๆ ติดตามผลโดยถามนักเรียนว่าพวกเขาเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับพระเจ้า และเกี่ยวกับตนเองจากประสบการณ์นั้น พวกเขาจะใช้ประสบการณ์นั้นเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ตนเองในอนาคตได้อย่างไร

เพื่อจบบทเรียน ให้แสดงความเชื่อมั่นของท่านในตัวนักเรียนและเชื่อมั่นว่าพวกเขาสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่มากับชีวิตผู้สอนศาสนา แบ่งปันประจักษ์พยานของท่านว่าพระเจ้าทรงช่วยทุกคนที่หันไปขอให้พระองค์ทรงช่วยจัดการกับข้อเรียกร้องทางกายและทางอารมณ์ของชีวิตพวกเขา

การเชื้อเชิญให้ปฏิบัติ

เชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนเตรียมรับชีวิตผู้สอนศาสนาโดยทำกิจกรรมต่อไปนี้หนึ่งอย่างหรือมากกว่านั้น

  • พิจารณาสิ่งที่ท่านต้องทำเพื่อให้ตนสะอาดและมีค่าควรรับใช้เป็นผู้สอนศาสนา หากจำเป็น ให้ขจัดความนึกคิดและพฤติกรรมไม่เหมาะสมที่ทำให้พระวิญญาณขุ่นเคือง

  • ตั้งเป้าหมายส่วนตัวว่าจะทำตามโปรแกรมออกกำลังกายทุกวัน รับประทานอาหารที่มีประโยชน์มากขึ้น หรือฝึกนิสัยการนอนตามตารางประจำวันของผู้สอนศาสนา

  • ทบทวน มาตรฐานการแต่งกายสำหรับผู้สอนศาสนาเต็มเวลา ที่ LDS.org

  • ขอให้อดีตผู้สอนศาสนาคนหนึ่งอธิบายสิ่งที่เขาทำเพื่อจัดการกับความเครียดและเอาชนะตวามท้าทายของชีวิตผู้สอนศาสนา

  • สนทนากับบิดามารดาหรือผู้นำฐานะปุโรหิตเรื่องการเชื่อมสัมพันธ์กับคู่ผู้สอนศาสนาที่ท่านอาจเหมือนเขาไม่มากหรือคู่ที่ท่านเชื่อมสัมพันธ์ได้ยาก