สถาบัน
บทที่ 3: การเรียนรู้โดยพระวิญญาณ


3

การเรียนรู้โดยพระวิญญาณ

คำนำ

เพื่อให้ผู้สอนศาสนาเติบโตในพระกิตติคุณและอยู่บนเส้นทางที่นำไปสู่ชีวิตนิรันดร์ พวกเขาต้องมีนิสัยชอบศึกษาพระคัมภีร์ ที่ศูนย์ฝึกอบรมผู้สอนศาสนา ผู้สอนศาสนาใช้เวลาวันละหลายชั่วโมงศึกษาด้วยตนเองและกับคู่ ในสนามเผยแผ่พวกเขาได้รับการคาดหวังให้ศึกษาพระคัมภีร์ต่อไปทุกวัน พวกเขาต้องเรียนรู้ “โดยการศึกษาและโดยศรัทธาด้วย” (คพ. 88:118) เพื่อสร้างแหล่งความรู้ด้านพระกิตติคุณและเพิ่มการเปลี่ยนใจเลื่อมใสของตน ผู้สอนศาสนาจำเป็นต้องมีแหล่งความรู้ที่ได้จากการศึกษาตามที่พระวิญญาณทรงนำทั้งนี้พื่อจะสอนด้วยพลังและทำให้จุดประสงค์ของพวกเขาเกิดสัมฤทธิผล

การเตรียมล่วงหน้า

  • ศึกษา หลักคำสอนและพันธสัญญา 8:2–3; 9:7–8; 11:12–17, 21–22, 26–28; และ 138:1–2, 11

  • ศึกษา สั่งสอนกิตติคุณของเรา หน้า 17–18, 22–24

  • จัดเตรียมแผ่นกระดาษให้นักเรียนใช้ถ้าพวกเขาไม่มีสมุดบันทึกการศึกษา

  • เตรียมฉายวีดิทัศน์เรื่อง “คำแนะนำสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์” (2:07) มีอยู่ที่ LDS.org

  • เตรียมเอกสารแจกเรื่อง “นิสัยการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว” ที่อยู่ท้ายบท

  • เตรียมให้ดูภาพโจเซฟกับไฮรัม สมิธ

    ภาพ
    รูปปั้นโจเซฟกับไฮรัม สมิธ

    โจเซฟกับไฮรัม สมิธ

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

ความสำคัญของการศึกษาพระกิตติคุณ

ให้นักเรียนดูรูปโจเซฟ สมิธกับไฮรัมพี่ชายของท่าน และขอให้พวกเขาเปิดพระคัมภีร์ไปที่ หลักคำสอนและพันธสัญญา 11 ช่วยให้นักเรียนเข้าใจบริบทของภาคนี้โดยอธิบายว่าขณะโจเซฟ สมิธกำลังแปลพระคัมภีร์มอรมอน ไฮรัมพี่ชายท่านเกิดความสนใจอย่างลึกซึ้งในงานนี้และปรารถนาจะแบ่งปันข่าวสารเรื่องการฟื้นฟูกับผู้อื่น ไฮรัมแสวงหาพระประสงค์ของพระเจ้าโดยขอให้โจเซฟทูลขอการเปิดเผยเพื่อเขา พระดำรัสตอบของพระเจ้าบันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 11 ในหลายๆ ประเด็นไฮรัมอยู่ในฐานะเดียวกับสมาชิกชั้นเรียนของท่านผู้กำลังเตรียมแบ่งปันข่าวสารของพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟู

ให้นักเรียนสองสามคนผลัดกันอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 11:15-17 ขณะชั้นเรียนดูตามโดยมองหาคำแนะนำที่พระเจ้าประทานแก่ไฮรัม จากนั้นให้ถามว่า

  • เหตุใดพระเจ้าจึงรับสั่งให้ไฮรัม “คอยต่อไปอีกหน่อยเถิด” ก่อนแบ่งปันข่าวสารพระกิตติคุณกับผู้อื่น

ให้นักเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 11:21-22 และ 26โดยมองหาคำแนะนำที่ประยุกต์ใช้ได้กับผู้มุ่งหวังจะเป็นผู้สอนศาสนาในปัจจุบัน

  • พระเจ้าทรงบัญชาไฮรัมให้ทำอะไรขณะเตรียมแบ่งปันพระกิตติคุณกับผู้อื่น การได้คำของพระผู้เป็นเจ้าหมายความว่าอย่างไร การสั่งสมพระวจนะของพระเจ้าไว้ในใจท่านหมายความว่าอย่างไร

  • คำแนะนำของพระเจ้าในข้อเหล่านี้จะช่วยคนที่กำลังเตรียมรับใช้งานเผยแผ่ได้อย่างไร (ถึงแม้นักเรียนจะใช้คำพูดต่างกัน แต่พวกเขาควรค้นพบหลักธรรมต่อไปนี้ การศึกษาพระกิตติคุณเตรียมผู้สอนศาสนาให้พร้อมสั่งสอนพระกิตติคุณด้วยพระวิญญาณและด้วยพลังอำนาจ)

  • พระเจ้าทรงสัญญาพรใดกับคนที่ “หมายมั่นให้ได้คำ [ของพระองค์]”

ให้นักเรียนเปิดไปที่ หน้า 180 ใน สั่งสอนกิตติคุณของเรา และให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงย่อหน้าที่เริ่มจาก “ความสามารถของท่านที่จะสอนด้วยพลัง” จากนั้นให้ถามว่า

  • แนวคิดอะไรในย่อหน้านี้เสริมความสำคัญของการศึกษาพระคัมภีร์ทุกวันสำหรับคนที่ต้องการเป็นผู้สอนศาสนาที่มีประสิทธิภาพ (การศึกษาพระคัมภีร์เตรียมผู้สอนศาสนาให้พร้อมสอนพระกิตติคุณด้วยพลัง)

บอกนักเรียนว่าบทเรียนที่เหลือจะเน้นว่าพวกเขาจะได้มากขึ้นจากการศึกษาพระคัมภีร์ส่วนตัวอย่างไร กระตุ้นให้นักเรียนไตร่ตรองตลอดบทเรียนว่าจะประยุกต์ใช้สิ่งที่เรียนรู้อย่างไรเพื่อปรับปรุงประสิทธิผลของการศึกษาพระคัมภีร์และพระกิตติคุณของพวกเขา

การใช้สมุดบันทึกการศึกษา

แนะนำให้ชั้นเรียนเปิดไปที่หน้า x ในบทนำของ สั่งสอนกิตติคุณของเรา เชิญนักเรียนสองคนอ่านออกเสียงสองย่อหน้าในหัวข้อย่อย “สมุดบันทึกเพื่อศึกษา” หลังจากนักเรียนอ่านจบแล้ว ให้ถามว่า

  • ตามที่กล่าวไว้ในหัวข้อนี้ การใช้สมุดบันทึกการศึกษาจะช่วยท่านขณะศึกษาพระกิตติคุณได้อย่างไร

  • เหตุใดจึงสำคัญที่ต้องบันทึกความคิดและความรู้สึกที่ท่านได้รับระหว่างการศึกษาพระกิตติคุณ

ท่านอาจจะถามนักเรียนว่าใครมีสมุดบันทึกการศึกษาบ้าง และเชิญคนที่มีแบ่งปันว่าสมุดบันทึกของพวกเขามีประโยชน์อย่างไร กระตุ้นให้นักเรียนเริ่มใช้สมุดบันทึกการศึกษาถ้ายังไม่ได้ใช้ เตือนนักเรียนว่าสมุดบันทึกการศึกษาจะเป็นสมุดบันทึกมีปกที่ราคาไม่แพง สมุดจด หรือเป็นกระดาษในแฟ้มก็ได้ พวกเขาอาจจะใช้ เครื่องมือบันทึกและสมุดบันทึก บน LDS.org หรือ app จดบันทึกบนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ กระตุ้นให้นักเรียนนำสมุดบันทึกการศึกษามาชั้นเรียนทุกครั้งเพื่อบันทึกแนวคิด ความรู้สึก และข้อคิดที่ได้ระหว่างเรียน

การเรียนรู้โดยพระวิญญาณ

แบ่งนักเรียนออกเป็นคู่ๆ เชื้อเชิญให้พวกเขาอ่าน ย่อหน้าที่สองในหน้า 17 ของ สั่งสอนกิตติคุณของเรา ด้วยกันและสนทนาว่าเพื่อให้มีประสบการณ์การเรียนรู้ที่มีความหมายกับพระคัมภีร์เราต้องทำอะไร หลังจากให้เวลานักเรียนสนทนาแล้ว ให้เชิญสองสามคนแบ่งปันแนวคิดหลักสองสามประการจากการสนทนาของพวกเขา ท่านอาจจะถามคำถามทำนองนี้

  • การศึกษาด้วย “เจตนาแท้จริง” หมายความว่าอย่างไร (เจตนาแท้จริง หมายความว่าเราตั้งใจจะเชื่อฟังหรือนำสิ่งที่เรียนรู้มาปฏิบัติ)

  • การศึกษาด้วย “เจตนาแท้จริง” และ “หิวและกระหายความชอบธรรม” อาจมีผลต่อการศึกษาพระกิตติคุณของคนๆ นั้นอย่างไร (ขณะที่นักเรียนตอบ ท่านอาจจะใช้คำถามต่อเนื่องเพื่อกระตุ้นให้พวกเขาคิดลึกซึ้งมากขึ้นเกี่ยวกับคำตอบของพวกเขา อย่างเช่น ถ้านักเรียนตอบว่าเจตนาแท้จริงจะสะท้อนวิธีที่คนสวดอ้อนวอน ท่านอาจจะขอให้พวกเขาอธิบายว่าการสวดอ้อนวอนของคนนั้นจะต่างจากเดิมอย่างไร ถ้านักเรียนตอบว่านั่นจะแสดงให้เห็นในความปรารถนาของพวกเขา ขอให้พวกเขาอรรถาธิบายแนวคิดนั้น)

ขอให้นักเรียนสามคนผลัดกันอ่านออกเสียงย่อหน้าในหัวข้อ “การเรียนรู้ด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์” ในหน้า 18 ของ สั่งสอนกิตติคุณของเรา ให้นักเรียนที่เหลือดูตามและทำเครื่องหมายพรที่มาถึงเราเมื่อพระวิญญาณบริสุทธิ์ช่วยเราเรียนพระกิตติคุณ จากนั้นให้ถามว่า

  • พรใดมาถึงเราได้บ้างเมื่อพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงนำทางการเรียนพระกิตติคุณของเรา (ท่านอาจจะเขียนหลักธรรมนี้ไว้บนกระดานขณะที่นักเรียนตอบ: เมื่อพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงนำทางการเรียนพระกิตติคุณของเรา เราย่อมได้รับความกระจ่างและความเข้าใจเพิ่มมากขึ้น)

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจดีขึ้นว่าพวกเขาจะอัญเชิญพระวิญญาณบริสุทธิ์ให้สอนพวกเขาขณะศึกษาพระกิตติคุณได้อย่างไร ให้อ่านหรือให้ดูคำพูดอ้างอิงต่อไปนี้จากเอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง เชื้อเชิญให้นักเรียนของท่านมองหาสิ่งที่พวกเขาจะทำได้เพื่อให้ได้ประโยชน์มากขึ้นจากการศึกษาพระคัมภีร์

ภาพ
เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สัน

“เพื่อให้พระกิตติคุณจารึกไว้ในใจท่าน ท่านต้องรู้ว่าพระกิตติคุณคืออะไรและเข้าใจพระกิตติคุณอย่างถ่องแท้มากขึ้น นั่นหมายความว่าท่านจะศึกษาพระกิตติคุณ เมื่อข้าพเจ้ากล่าวว่า ‘ศึกษา’ ข้าพเจ้าหมายความมากกว่าการอ่าน บางครั้งนับเป็นเรื่องดีที่จะอ่านพระคัมภีร์ภายในระยะเวลาที่กำหนดเพื่อให้ได้ความหมายโดยรวมของข่าวสารนั้น แต่เพื่อเปลี่ยนใจเลื่อมใส ท่านควรสนใจจำนวนเวลาที่ใช้พระคัมภีร์มากกว่าจำนวนที่ท่านอ่านในเวลานั้น บางครั้งข้าพเจ้าเห็นท่านอ่านสองสามข้อ หยุดไตร่ตรอง อ่านข้อเดิมอีกครั้งอย่างถี่ถ้วน และขณะที่ท่านตรึกตรองความหมาย ท่านสวดอ้อนวอนขอความเข้าใจ ถามข้อสงสัยที่มีอยู่ในใจ รอคอยความประทับใจทางวิญญาณ จดความประทับใจและข้อคิดอันลึกซึ้งที่เกิดขึ้นเพื่อท่านจะสามารถจดจำและเรียนรู้ได้มากขึ้น ในการศึกษาแบบนี้ท่านอาจจะอ่านพระคัมภีร์ได้ไม่กี่บทหรือไม่กี่ข้อในเวลาครึ่งชั่วโมง แต่ท่านจะมีที่ให้พระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าในใจท่าน และพระองค์จะตรัสกับท่าน” (“เมื่อท่านได้หันกลับแล้ว,” เลียโฮนา, พ.ค. 2004, 13 ดูแนวคิดการศึกษาเพิ่มเติมจากเอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์, “วิธีได้รับการเปิดเผยและการดลใจในชีวิตส่วนตัวของท่าน,” เลียโฮนา, พ.ค. 2012, 45–47)

ช่วยนักเรียนวิเคราะห์คำกล่าวของเอ็ลเดอร์คริสทอฟเฟอร์สันโดยถามคำถามต่อไปนี้

  • การกระทำใดที่เอ็ลเดอร์คริสทอฟเฟอร์สันระบุว่าสามารถทำให้เข้าใจพระคัมภีร์มากขึ้น

  • การกระทำเหล่านี้ช่วยให้พระวิญญาณบริสุทธิ์สอนท่านได้มากขึ้นอย่างไร

  • การกระทำเหล่านี้หนึ่งอย่างหรือมากกกว่านั้นได้ช่วยให้ท่านเข้าใจพระกิตติคุณลึกซึ้งขึ้นอย่างไร

อธิบายว่าเมื่อศึกษาพระคัมภีร์ จะเป็นประโยชน์ถ้าเราเข้าใจว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงสื่อสารกับเราอย่างไร แบ่งชั้นเรียนออกเป็นคู่ๆ (อาจเป็นคู่เดิมจากกิจกรรมคราวก่อน) เขียนพระคัมภีร์อ้างอิงต่อไปนี้ไว้บนกระดาน และขอให้นักเรียนจดลงสมุดบันทึกการศึกษาหรือแผ่นกระดาษ: หลักคำสอนและพันธสัญญา 8:2–3; 9:7–8; 11:12–14; และ 138:1–2, 11

ให้เวลานักเรียนศึกษาข้อเหล่านี้และทำเครื่องหมายคำหรือวลีที่บอกว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงสื่อสารกับเราอย่างไร พวกเขาอาจจะเขียนข้อความเล็กน้อยไว้ในสมุดบันทึกการศึกษาว่าพวกเขาเรียนรู้อะไรจากข้อเหล่านี้ ขอให้นักเรียนสนทนากับคู่ว่าพวกเขาทำเครื่องหมายอะไรในข้อเหล่านี้และพวกเขาเรียนรู้อะไร หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว ให้ถามคำถามต่อไปนี้

  • ท่านพบคำหรือวลีใดที่อธิบายว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงสื่อสารกับเราอย่างไร (เขียนคำตอบของนักเรียนไว้บนกระดาน)

  • พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงสอนท่านในวิธีใดวิธีหนึ่งเหล่านี้และทำให้ท่านเข้าใจหลักคำสอนหรือหลักธรรมพระกิตติคุณลึกซึ้งขึ้นอย่างไร ท่านเคยมีประสบการณ์พิเศษอะไรบ้าง

เชื้อเชิญให้นักเรียนเปิดไปที่หน้า 22 ของ สั่งสอนกิตติคุณของเรา และให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงข้อที่มีจุดดำสี่ข้อแรกใต้หัวข้อ “ศึกษาแนวคิดและคำแนะนำ” พิจารณาคำถามต่อไปนี้

  • คำแนะนำเหล่านี้จะมีผลอย่างไรต่อความสามารถของผู้สอนศาสนาในการแบ่งปันพระกิตติคุณกับผู้อื่นอย่างมีประสิทธิภาพ

  • ท่านจะปรับใช้แนวคิดเหล่านี้และนำมาปฏิบัติในเวลานี้อย่างไรในฐานะผู้มุ่งหวังจะเป็นผู้สอนศาสนา

  • การปรับปรุงนิสัยและทักษะการศึกษาพระคัมภีร์ของท่านจะเอื้อต่อความสำเร็จของท่านเมื่อเป็นผู้สอนศาสนาอย่างไร (นักเรียนอาจจะกล่าวหลักธรรมทำนองนี้: เมื่อผู้สอนศาสนาพัฒนานิสัยของการศึกษาพระกิตติคุณอย่างมีประสิทธิภาพ พวกเขาจะได้รับการสอนจากพระวิญญาณ ประสบการณ์ของพวกเขาจะมีคุณค่ามากขึ้น และพวกเขาจะพร้อมสอนพระกิตติคุณมากขึ้น)

แบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่มๆ ละสามถึงสี่คน ขอให้แต่ละกลุ่มแบ่งหกข้อย่อยในกลุ่มของตนเองใต้ “ศึกษาแนวคิดและคำแนะนำ” หน้า 22-24 ของ สั่งสอนกิตติคุณของเรา และให้สมาชิกกลุ่มศึกษาหัวข้อย่อยที่ได้รับมอบหมาย สมาชิกกลุ่มบางคนอาจต้องศึกษามากกว่าหนึ่งหัวข้อย่อย กำหนดหัวหน้าในแต่ละกลุ่มให้นำการสนทนาเกี่ยวกับสิ่งที่สมาชิกกลุ่มเรียนรู้และสิ่งที่พวกเขาจะทำได้ตอนนี้เพื่อทำให้การศึกษาพระกิตติคุณมีพลังและเกิดประสิทธิผลมากขึ้น หลังจากกลุ่มมีเวลาสนทนาแล้ว ให้ถามชั้นเรียนว่า

  • ทักษะหรือนิสัยการศึกษาเหล่านี้ได้ช่วยให้ท่านศึกษาพระคัมภีร์อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นอย่างไร

เพื่อช่วยนักเรียนประยุกต์ใช้สิ่งที่สนทนาไปแล้ว ให้แจกสำเนา “นิสัยการศึกษาพระคัมภีร์ส่วนตัว” ให้นักเรียนแต่ละคน ให้เวลาชั้นเรียนหลายๆ นาทีทำกิจกรรมในเอกสารแจกให้เสร็จ

ภาพ
การศึกษาพระคัมภีร์ เอกสารแจก

หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว ขอให้นักเรียนแบ่งปันความคิดหรือข้อคิดที่ได้จากแบบฝึกหัดนี้ กระตุ้นให้พวกเขานำทักษะและนิสัยการศึกษาพระคัมภีร์ที่เลือกไว้มาใช้ในการศึกษาส่วนตัว รับรองกับพวกเขาว่าเมื่อพวกเขาทำเช่นนั้น พระวิญญาณบริสุทธิ์จะทรงทำให้ความคิดของพวกเขากระจ่างชัดและเพิ่มความเข้าใจของพวกเขาในพระกิตติคุณ

ช่วยให้ชั้นเรียนเข้าใจว่านอกจากจะศึกษา อย่างไร แล้ว ที่สำคัญมากเช่นกันในการช่วยให้พวกเขาเป็นผู้สอนศาสนาที่มีประสิทธิภาพคือ พวกเขาศึกษา เมื่อใด และศึกษา อะไร ให้สมาชิกชั้นเรียนเปิดไปที่หน้า viii ในบทนำของ สั่งสอนกิตติคุณของเรา และพิจารณา ตารางประจำวันของผู้สอนศาสนา ในหัวข้อ “ศึกษาส่วนตัว ศึกษากับคู่ การประชุมดิสตริกท์ และการประชุมโซน” จากนั้นให้ถามว่า

  • ตารางประจำวันของผู้สอนศาสนาแสดงให้เห็นความสำคัญของการศึกษาพระกิตติคุณอย่างไร

  • การศึกษาพระคัมภีร์อย่างสม่ำเสมอทุกวันจะเตรียมท่านได้อย่างไรในตอนนี้ให้พร้อมรับตารางเวลาที่เคร่งครัดเมื่อเป็นผู้สอนศาสนา

การทำเครื่องหมายพระคัมภีร์

ถ้าท่านมีเวลาเหลือพอ ท่านอาจจะฉายวีดิทัศน์เรื่อง “คำแนะนำสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์” (2:07) เพื่อช่วยให้ชั้นเรียนนึกถึงวิธีที่พวกเขาจะปรับปรุงวิธีทำเครื่องหมายพระคัมภีร์ของพวกเขา

หลังจากฉายวีดิทัศน์แล้ว ให้ถามว่า

  • ท่านเรียนรู้อะไรจากเอ็ลเดอร์เบดนาร์ซึ่งจะช่วยท่านปรับปรุงการศึกษาพระคัมภีร์ของท่าน

  • อะไรคือจุดประสงค์ของการทำเครื่องหมายพระคัมภีร์ (เพื่อช่วยให้ท่านจำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปแล้วเมื่อท่านต้องใช้ข้อนั้นอีกครั้ง)

  • เหตุใดจึงสำคัญที่ผู้สอนศาสนาต้องมีวิธีจำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปแล้ว

ดำเนินชีวิตตามที่เรียนรู้

ให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านย่อหน้าแรกใต้หัวข้อ “ดำเนินชีวิตตามที่เรียนรู้” ใน สั่งสอนกิตติคุณของเรา, หน้า 19 จากนั้นให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ยอห์น 7:17 ช่วยให้นักเรียนค้นพบหลักธรรมที่สอนใน สั่งสอนกิตติคุณของเรา และ ยอห์น 7:17 โดยถามว่า

  • มีความแตกต่างอะไรระหว่างการรู้เกี่ยวกับพระคัมภีร์กับการดำเนินชีวิตตามคำสอนที่พบในพระคัมภีร์ (ถึงแม้นักเรียนจะใช้คำพูดต่างกัน แต่พวกเขาควรเข้าใจหลักธรรมนี้: เมื่อเราดำเนินชีวิตตามคำสอนพระกิตติคุณ พระวิญญาณบริสุทธิ์จะทรงเป็นพยานถึงความจริงของหลักธรรมเหล่านั้น และจะเสริมสร้างศรัทธา ความรู้ และประจักษ์พยานของเรา

อธิบายว่าเอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนความสำคัญของการปฏิบัติตามสิ่งที่เราเรียนรู้ ให้ดูข้อความอ้างอิงต่อไปนี้ และขอให้อาสาสมัครคนหนึ่งอ่านออกเสียงให้ชั้นเรียนฟัง

ภาพ
เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์

“ในฐานะผู้เรียนพระกิตติคุณ เราพึงเป็น ‘ผู้ประพฤติตามพระวจนะ ไม่ใช่เป็นเพียงผู้ฟังเท่านั้น’ (ยากอบ 1:22) ใจเราเปิดรับอิทธิพลของพระวิญญาณบริสุทธิ์เมื่อเราใช้สิทธิ์เสรีอย่างเหมาะสมและปฏิบัติตามหลักธรรมที่ถูกต้อง—และด้วยเหตุนี้เราจึงเชื้อเชิญเดชานุภาพการสอนและการเป็นพยานของพระองค์” (“จงระวังตัวด้วยความเพียรทุกอย่าง,” เลียโฮนา, พ.ค. 2010, 52-53)

  • การเป็นผู้ประพฤติตามพระวจนะและไม่ใช่เป็นเพียงผู้ฟังเท่านั้นหมายความว่าอย่างไร

  • การปฏิบัติ “ตามหลักธรรมที่ถูกต้อง” ทำให้ความเข้าใจของเราลึกซึ้งขึ้นในแบบที่การศึกษาแต่อย่างเดียวทำเช่นนั้นไม่ได้อย่างไร

  • การปฏิบัติตามหลักธรรมที่ถูกต้องช่วยให้ท่านมีความเข้าใจและประจักษ์พยานลึกซึ้งขึ้นอย่างไรเกี่ยวกับหลักธรรมพระกิตติคุณที่ท่านกำลังพยายามดำเนินชีวิตตาม

ให้นักเรียนคนหนึ่งอ่าน ย่อหน้าที่สองในหน้า 19 ของ สั่งสอนกิตติคุณของเรา ขณะชั้นเรียนดูตาม โดยมองหารูปแบบเพิ่มเติมที่การดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณมีผลต่อใจและความสามารถของผู้สอนศาสนา หลังจากอ่านแล้ว ให้ถามคำถามต่อไปนี้

  • ผู้สอนศาสนาได้รับพรเพิ่มเติมอะไรบ้างเมื่อพวกเขาดำเนินชีวิตตามหลักธรรมพระกิตติคุณที่พวกเขารู้ว่าจริง (ช่วยให้นักเรียนกล่าวหลักธรรมนี้: เมื่อผู้สอนศาสนาดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณ พระวิญญาณบริสุทธิ์จะทรงเพิ่มความปรารถนาและความสามารถให้พวกเขาแบ่งปันพระกิตติคุณ)

  • ขณะที่ท่านกำลังเตรียมรับใช้งานเผยแผ่ พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงเพิ่มความปรารถนาจะรับใช้ให้ท่านอย่างไร

การเชื้อเชิญผู้สนใจให้เข้าร่วมการประชุมที่โบสถ์

ผู้สอนศาสนาช่วยให้ผู้สนใจก้าวหน้าจนถึงบัพติศมาโดยเชื้อเชิญพวกเขาให้รักษาคำมั่นสัญญา ตัวอย่างเช่น อธิบายให้นักเรียนฟังว่าเมื่อผู้สนใจเข้าร่วมการประชุมที่โบสถ์ พวกเขาจะได้รับการเปิดเผยเพิ่มขึ้นผ่านพระวิญญาณบริสุทธิ์และปรารถนาจะใกล้ชิดพระผู้เป็นเจ้ามากขึ้น การเข้าร่วมการประชุมที่โบสถ์จะช่วยให้ผู้สนใจได้รับประจักษ์พยานในพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟูและเตรียมรับบัพติศมา

สาธิตวิธีเชื้อเชิญคนมาเข้าร่วมการประชุมที่โบสถ์ หนึ่ง พูดสั้นๆ ถึงพรที่มาจากการเข้าร่วมการประชุมที่โบสถ์ จากนั้นให้ใช้จุลสารผู้สอนศาสนา การฟื้นฟู (หน้า 22-23) อธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างการประชุมศีลระลึก ต่อจากนั้นสาธิตวิธีเชิญชวนผู้สนใจมาเข้าร่วมการประชุมของศาสนจักร หลังจากท่านสาธิตแล้ว ให้นักเรียนฝึกแสดงบทบาทสมมติกับคู่เกี่ยวกับขั้นตอนที่ท่านสาธิตไปแล้ว ให้พวกเขาแต่ละคนผลัดกันบอกพรที่พวกเขาได้รับผ่านการเข้าร่วมการประชุมที่โบสถ์ อธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างการประชุมศีลระลึก และชวนคนอื่นๆ มาโบสถ์

เป็นพยานถึงหลักคำสอนและหลักธรรมพระกิตติคุณในบทนี้

การเชื้อเชิญให้ปฏิบัติ

เชื้อเชิญให้นักเรียนทำให้การศึกษาพระกิตติคุณส่วนตัวมีความสำคัญเป็นอันดับแรกขณะเตรียมรับใช้งานเผยแผ่ กิจกรรมที่แสนอแนะต่อไปนี้อาจช่วยให้นักเรียนมุ่งเน้นเรื่องการเรียนรู้ด้วยพระวิญญาณ

  • สร้างนิสัยของการศึกษาพระกิตติคุณเป็นส่วนตัวทุกวัน รวมทั้งศึกษาและไตร่ตรองพระคัมภีร์มอรมอน

  • สวดอ้อนวอนตอนเริ่มศึกษาพระกิตติคุณเป็นส่วนตัวเพื่ออัญเชิญพระวิญญาณให้ช่วยท่าน หากท่านยังไม่ได้ใช้ให้เริ่มใช้สมุดบันทึกการศึกษาระหว่างการศึกษาพระกิตติคุณเป็นส่วนตัว

  • เลือกแนวคิดและคำแนะนำในการศึกษาพระกิตติคุณใน หน้า 22-24 ของ สั่งสอนกิตติคุณของเรา และนำมาใช้ในการศึกษาส่วนตัวของท่านสัปดาห์นี้