สถาบัน
บทที่ 21 สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน: การเลี้ยงดูบุตรธิดาด้วยความรัก


“บทที่ 21 สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน: การเลี้ยงดูบุตรธิดาด้วยความรัก,” ครอบครัวนิรันดร์ สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู (2022)

“บทที่ 21 สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน,” ครอบครัวนิรันดร์ สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู

ภาพ
ครอบครัวใช้เวลาอยู่ด้วยกัน

บทที่ 21 สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน

การเลี้ยงดูบุตรธิดาด้วยความรัก

การเป็นบิดามารดาไม่ใช่เรื่องง่าย อย่างไรก็ตามเราไม่ได้อยู่เพียงลำพัง ขณะรับใช้เป็นสมาชิกโควรัมสาวกเจ็ดสิบ เอ็ลเดอร์แบรดลีย์ ดี. ฟอสเตอร์สอนว่า “พระบิดาบนสวรรค์ของเราทรงประสงค์ให้เราประสบความสำเร็จเพราะในความเป็นจริง พวกเขาคือบุตรธิดาของพระองค์ก่อนมาเป็นของเรา” (“ไม่เป็นการเร็วเกินไปและไม่สายเกินไป,” เลียโฮนา, พ.ย. 2015, 51) ขณะท่านศึกษาบทเรียนนี้ ให้พิจารณาว่าท่านจะทำตามแบบอย่างของพระบิดาบนสวรรค์ของเราในการเลี้ยงดูลูกในปัจจุบันหรืออนาคตของท่านได้อย่างไร

หมวดที่ 1

ฉันจะเลี้ยงดูลูกของฉันด้วยความรักได้อย่างไร?

ศาสดาพยากรณ์ยุคสุดท้ายประกาศว่า “บิดามารดามีหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์ที่จะเลี้ยงดูบุตรธิดาด้วยความรัก” (“ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก,” ChurchofJesusChrist.org) ประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ ในฝ่ายประธานสูงสุดขณะนั้น แนะนำวิธีหนึ่งที่บิดามารดาจะทำให้หน้าที่รับผิดชอบนี้เกิดสัมฤทธิผลได้:

ภาพ
ประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ

ในความสัมพันธ์ของครอบครัว ความรัก คือ เ-ว-ล-า การมีเวลาอยู่ด้วยกันทำให้เกิดความปรองดองในบ้าน (“เกี่ยวกับสิ่งสำคัญที่สุด,” เลียโฮนา, พ.ย. 2010, 26)

บิดามารดาและบุตรธิดาสามารถใช้เวลาร่วมกันอย่างมีความหมายได้หลายวิธี ขณะรับใช้ในฝ่ายประธานเยาวชนหญิงสามัญ ประธานซูซาน ดับเบิลยู. แทนเนอร์สอนว่า

ภาพ
ซูซาน ดับเบิลยู. แทนเนอร์

สัมพันธภาพของความรักต้องการเวลาสำหรับการพูดคุย การเล่น และการทำงานร่วมกันอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง ดิฉัน … เชื่อว่าพ่อแม่ลูกจำเป็นต้องมีส่วนร่วมในประสบการณ์ทั่วไปทุกวันของกันและกัน (ดู “บอกแล้วใช่ไหม … ?,” เลียโฮนา, พ.ค. 2003, 93)

แม้ว่าง่ายกว่าที่บิดามารดาจะทำงานอย่างหนึ่งด้วยตนเอง แต่ “ช่วงเวลาทำงาน” สามารถให้โอกาสอันดีแก่บิดามารดาและบุตรธิดาที่จะพูดคุยกัน การทำงานร่วมกันยังสามารถช่วยบิดามารดาสอนคุณค่าของการทำงานให้แก่บุตรธิดาและหลีกเลี่ยงความเกียจคร้าน (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 68:31)

ภาพ
ลูกช่วยล้างจาน

ประธานอุคท์ดอร์ฟแบ่งปันวิธีอื่นๆ ที่บิดามารดาสามารถใช้เวลาร่วมกับบุตรธิดาของตน:

ภาพ
ประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ

เนื่องจาก “ไม่มีความสำเร็จใดชดเชยความล้มเหลวในบ้านได้” [J. E. McCulloch, Home: The Savior of Civilization (1924), 42] [ภายในครอบครัวของเรา] เราจึงต้องให้ความสำคัญอย่างมากกับครอบครัวของเรา เราสร้างสายสัมพันธ์ในครอบครัวด้วยความรักอย่างลึกซึ้งโดยการทำสิ่งเรียบง่ายด้วยกัน เช่น รับประทานอาหารเย็นเป็นครอบครัว จัดสังสรรค์ในครอบครัว สนุกสนานด้วยกันเท่านั้น (“เกี่ยวกับสิ่งสำคัญที่สุด,” 26)

ดังที่ประธานอุคท์ดอร์ฟให้ข้อสังเกต การทำกิจกรรมนันทนาการที่ดีงามจะช่วยสร้างความสัมพันธ์ของครอบครัวที่ประสบความสำเร็จได้ (ดู “ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก” ด้วย) ประสบการณ์เหล่านี้สามารถช่วย “สร้างความสัมพันธ์ที่มีความหมายในครอบครัวเพื่อให้ลูกมีเอกลักษณ์เฉพาะตนแข็งแกร่งกว่าสิ่งที่เขาจะหาได้ในกลุ่มเพื่อน ที่โรงเรียน หรือที่อื่น” (เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด, “สิ่งสำคัญที่สุดคือสิ่งยั่งยืนที่สุด,” เลียโฮนา, พ.ย. 2005, 51)

ภาพ
พ่อกับลูกนอนบนพื้นหญ้า

ประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์ในฝ่ายประธานสูงสุดสอนหลักธรรมต่างๆ ที่สามารถนำทางให้บิดามารดาเลือกทำกิจกรรมต่างๆ กับบุตรธิดาของตน:

ภาพ
ประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์

ในการเลือกว่าเราจะใช้เวลากับครอบครัวอย่างไร เราควรระมัดระวังที่จะไม่ทุ่มเทเวลาที่เรามีไปกับสิ่งที่เป็นเพียงสิ่งดีและให้เวลาเล็กน้อยกับสิ่งซึ่งดีกว่าหรือดีที่สุด เพื่อนคนหนึ่งพาครอบครัวที่มีลูกเล็กไปเที่ยวหลายแห่งในฤดูร้อน รวมทั้งไปเยี่ยมชมสถานที่ทางประวัติศาสตร์อันน่าจดจำ เมื่อฤดูร้อนสิ้นสุดลง เขาถามลูกชายวัยรุ่นของเขาว่าในกิจกรรมฤดูร้อนดีๆ เหล่านี้มีกิจกรรมใดบ้างที่ลูกชอบมากที่สุด ผู้เป็นพ่อได้บทเรียนจากคำตอบนั้นเช่นเดียวกับคนที่ได้ฟังเขาเล่า “สิ่งที่ผมชอบมากที่สุดในฤดูร้อนนี้” เด็กหนุ่มตอบ “คือคืนที่พ่อกับผมนอนสนามหญ้าดูดาวแล้วคุยกันครับ” กิจกรรมยอดเยี่ยมในครอบครัวอาจดีสำหรับลูกๆ แต่อาจไม่ดีกว่าเวลาอยู่ด้วยกันสองคนกับพ่อหรือแม่ที่รักเขา (“ดี ดีกว่า ดีที่สุด,” เลียโฮนา, พ.ย. 2007, 134)

ภาพ
ไอคอน ไตร่ตรอง

ไตร่ตรองเพื่อเตรียมเข้าชั้นเรียน

ท่านเห็นพ่อแม่ของท่านหรือพ่อแม่ที่ท่านรู้ว่าเลี้ยงดูลูกด้วยความรักโดยใช้วิธีใดบ้าง? กิจกรรมประเภทใดที่ท่านต้องการทำกับลูกในอนาคตของท่าน?

หมวดที่ 2

ฉันจะอบรมสั่งสอนลูกของฉันด้วยวิธีที่เต็มไปด้วยความรักได้อย่างไร?

ส่วนที่ท้าทายอย่างหนึ่งของการเป็นบิดามารดาอาจเป็นการอบรมสั่งสอนบุตรธิดาของท่าน ในเรื่องนี้ เราสามารถเรียนรู้จากพระเจ้า ผู้ทรงแสดงวิธีอบรมสั่งสอนด้วยความรัก ตัวอย่างเช่น เมื่อสมาชิกศาสนจักรยุคแรกๆ ชะลอการสร้างพระวิหารเคิร์ทแลนด์ พระองค์ทรงตีสอนพวกเขา (หมายเหตุ: การ ตีสอน หมายถึงการอบรมสั่งสอนหรือแก้ไขให้ถูกต้อง)

ภาพ
ไอคอน ศึกษา

ศึกษาเพื่อเตรียมเข้าชั้นเรียน

อ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 95:1 โดยค้นหาว่าเหตุใดพระเจ้าทรงตีสอนผู้ติดตามของพระองค์

ลองคิดดูว่าคำปรึกษาต่อไปนี้จากประธานแทนเนอร์จะช่วยบิดามารดาอบรมสั่งสอนบุตรธิดาของตนในวิธีที่เหมือนพระคริสต์ได้อย่างไร

ภาพ
ประธานซูซาน ดับเบิลยู. แทนเนอร์

บางครั้งวินัย (ซึ่งหมายถึง “การสอน”) สับสนกับการวิพากษ์วิจารณ์ เด็กๆ—รวมทั้งคนทุกวัย—ปรับปรุงอุปนิสัยจากความรักและการให้กำลังใจมากกว่าการถูกจับผิด (“บอกแล้วใช่ไหม … ?,” 93)

เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองแนะนำบิดามารดาให้ระมัดระวังในวิธีอบรมสั่งสอน (หมายเหตุ: แม้ว่าเอ็ลเดอร์คริสทอฟเฟอร์สันกล่าวกับบิดาแต่คำแนะนำของท่านประยุกต์ใช้กับมารดาด้วย)

ภาพ
เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สัน

ในทางวินัยบิดาต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษเพื่อไม่ให้เป็นการกระทำทารุณกรรม ซึ่งจะไม่มีวันมีเหตุผลในการทำเช่นนั้นเลย เมื่อบิดาลงโทษ แรงจูงใจของเขาต้องเป็นความรัก และนำทางโดยพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์:

“จงว่ากล่าวโดยไม่ชักช้าด้วยความเฉียบขาด, เมื่อพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงดลใจ; และจากนั้นในเวลาต่อมาจงแสดงความรักเพิ่มขึ้นต่อคนที่ท่านว่ากล่าว, เกลือกเขาจะถือว่าท่านเป็นศัตรูของเขา;

“เพื่อเขาจะรู้ว่าความซื่อสัตย์ของท่านแข็งแกร่งยิ่งกว่าเชือกแห่งความตาย” [หลักคำสอนและพันธสัญญา 121:43–44]

วินัยในแบบแผนแห่งสวรรค์ไม่ใช่เรื่องของการทำโทษแต่เป็นเรื่องของการช่วยคนที่เรารักตามเส้นทางแห่งการควบคุมตนเอง (“บิดา,” เลียโฮนา, พ.ค. 2016, 95)

ภาพ
พ่อสอนลูกชาย

ในการช่วยให้เด็กเรียนรู้และแก้ไขพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้อง บิดามารดาควรสร้างผลสืบเนื่องทางตรรกะสำหรับการกระทำ บิดามารดาต้องระมัดระวังที่จะเลิกใช้วิธีลงโทษทางวินัยที่อาจยอมรับในวัฒนธรรมหรือครอบครัวของตนแต่ไม่สอดคล้องกับคำสอนของพระเจ้า

ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันให้คำแนะนำเพิ่มเติมว่า

ภาพ
ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน

เมื่อลูกต้องรับการแก้ไข ท่านอาจจะถามตนเองว่า “ฉันจะพูดหรือทำอะไรเพื่อจูงใจลูกให้เลือกวิธีที่ดีกว่านี้?” เมื่อจะให้การแก้ไขที่จำเป็น จงทำอย่างนุ่มนวล เป็นส่วนตัว ด้วยความรัก และไม่ทำต่อหน้าคนอื่น ถ้าต้องตำหนิ จงแสดงความรักเพิ่มขึ้นทันทีเพื่อจะไม่มีความเคืองแค้นระหว่างท่าน เมื่อจะโน้มน้าวท่านต้องรักอย่างจริงใจและคำสอนของท่านต้องมีพื้นฐานบนหลักคำสอนและหลักธรรมที่ถูกต้อง (“ความรอดและความสูงส่ง,” เลียโฮนา, พ.ค. 2008, 10–11)

ภาพ
ไอคอน ไตร่ตรอง

ไตร่ตรองเพื่อเตรียมเข้าชั้นเรียน

นึกถึงช่วงเวลาที่ท่านได้รับการแก้ไขโดยพระเจ้าหรือพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงกระตุ้นเตือนให้ท่านเปลี่ยนในทางใดทางหนึ่ง ท่านจะเรียนรู้อะไรได้บ้างจากประสบการณ์เหล่านั้นเกี่ยวกับการอบรมสั่งสอนลูก?

หมวดที่ 3

ฉันจะสอนลูกของฉันให้รักและรับใช้กันได้อย่างไร?

ผู้นำศาสนจักรในสมัยของเรายืนยันว่า “บิดามารดามีหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์ที่จะ … สอน [บุตรธิดาของพวกเขา] ให้รักและรับใช้กัน” (“ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก”) ระหว่างที่รับใช้ในฝ่ายประธานเยาวชนหญิงสามัญ ประธานบอนนี่ แอล. ออสคาร์สันให้คำปรึกษาต่อไปนี้เกี่ยวกับการรักและรับใช้สมาชิกในครอบครัวของเราดังนี้

ภาพ
ประธานบอนนี่ แอล. ออสคาร์สัน

จงเริ่มรับใช้ในบ้านของท่านเองและภายในครอบครัวท่าน สิ่งเหล่านี้เป็นความสัมพันธ์ที่สามารถดำรงอยู่ชั่วนิรันดร์ ถึงแม้—และถ้า—สถานการณ์ครอบครัวท่านไม่ดีนัก ท่านสามารถหาวิธีรับใช้ พยุง และทำให้เข้มแข็งได้ จงเริ่มตรงที่ท่านอยู่ รักพวกเขาอย่างที่พวกเขาเป็น และเตรียมสร้างครอบครัวที่ท่านต้องการมีในวันข้างหน้า (“ความต้องการตรงหน้าเรา,” เลียโฮนา, พ.ย. 2017, 27)

ซาตานพยายามขัดขวางความรักและการรับใช้ที่สมาชิกในครอบครัวสามารถประสบได้ในบ้านของพวกเขา วิธีหนึ่งที่เขาทำคือการก่อกวนให้เกิดความขัดแย้ง

ภาพ
ไอคอน ศึกษา

ศึกษาเพื่อเตรียมเข้าชั้นเรียน

อ่าน 3 นีไฟ 11:29–30 และคิดว่าคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดต่อชาวนีไฟจะประยุกต์ใช้กับครอบครัวได้อย่างไร

ภาพ
กษัตริย์เบ็นจามินสอนจากหอสูง
ภาพ
ไอคอน ศึกษา

ศึกษาเพื่อเตรียมเข้าชั้นเรียน

กษัตริย์เบ็นจามินสอนบิดามารดาในสมัยของเขาว่าบิดามารดาควรช่วยบุตรธิดาเรียนรู้ที่จะดำเนินชีวิตและมีปฏิสัมพันธ์กับสมาชิกในครอบครัวอย่างไร อ่าน โมไซยาห์ 4:14–15 ค้นหาคำปรึกษาของกษัตริย์เบ็นจามินต่อบิดามารดา

ภาพ
ลูกๆ ทำความสะอาดห้องด้วยกัน
ภาพ
ไอคอน บันทึก

บันทึกความคิดของท่าน

ประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์ในฝ่ายประธานสูงสุดสอนว่า “[พระเยซู] ทรงมอบครอบครัวให้เป็นแบบอย่างของสภาพแวดล้อมในอุดมคติแก่เราด้วยเพื่อให้เราเรียนรู้ว่าจะรักเช่นพระองค์ทรงรักได้อย่างไร” (“แบบอย่างที่เพียบพร้อมของเรา,” เลียโฮนา, พ.ย. 2009, 87) นึกถึงช่วงเวลาที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงรับใช้บางคนด้วยความรัก เขียนวิธีที่ท่านอาจจะรักและรับใช้สมาชิกคนหนึ่งในครอบครัวในลักษณะนี้หรือในลักษณะเหมือนพระคริสต์ เตรียมพร้อมที่จะแบ่งปันความคิดของท่านในชั้นเรียน