สถาบัน
บทที่ 23 สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน: เมื่อพรเรื่องการแต่งงานนิรันดร์หรือการมีบุตรมาล่าช้า


“บทที่ 23 สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน: เมื่อพรเรื่องการแต่งงานนิรันดร์หรือการมีบุตรมาล่าช้า” ครอบครัวนิรันดร์ สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู (2022)

“บทที่ 23 สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน” ครอบครัวนิรันดร์ สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู

ภาพ
คนมองดูพระวิหาร

บทที่ 23 สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน

เมื่อพรเรื่องการแต่งงานนิรันดร์หรือการมีบุตรมาล่าช้า

หลายคนประสบความล่าช้าในการได้แต่งงานหรือมีบุตรตามความปรารถนาอันชอบธรรมของพวกเขา และความล่าช้าเหล่านี้อาจทำให้ท้อแท้ กังวล หรือปวดใจได้ ขณะศึกษาสื่อการเรียนการสอนนี้ ลองคิดว่าเหตุใดเราจึงวางใจได้ว่าพระเจ้าจะทรงทำให้พรเรื่องครอบครัวนิรันดร์ที่ทรงสัญญาไว้เป็นจริงถ้าเราซื่อสัตย์ต่อพระองค์ พิจารณาด้วยว่าเหตุใดศาสนจักรของพระผู้ช่วยให้รอดและแผนของพระผู้เป็นเจ้าจึงต้องการเราทุกคน ไม่ว่าสภาพการณ์ในครอบครัวเราจะเป็นเช่นไร

หมวดที่ 1

จะเป็นอย่างไรถ้าสภาพการณ์ของเราไม่ตรงกับที่บอกไว้ในถ้อยแถลงเรื่องครอบครัว?

ผู้นำศาสนจักรสอนเรื่องอุดมคติของชีวิตครอบครัว อีกทั้งยอมรับว่าไม่ใช่ทุกคนจะประสบอุดมคติเหล่านี้ ตัวอย่างเช่น ในถ้อยแถลงเรื่องครอบครัว ศาสดาพยากรณ์สอนว่า “สภาพการณ์อื่นๆ อาจทำให้แต่ละบุคคลจำเป็นต้องปรับตัว” ในการทำความรับผิดชอบอันศักดิ์สิทธิ์ในครอบครัวให้ลุล่วง (“ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก,” ChurchofJesusChrist.org)

เอ็ลเดอร์นีล แอล. แอนเดอร์เซ็นแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองยอมรับว่าสมาชิกที่ซื่อสัตย์ของศาสนจักรมีสภาพการณ์ครอบครัวต่างกัน:

ภาพ
เอ็ลเดอร์นีล แอล. แอนเดอร์เซ็น

มีคนมากมายทั้งเด็กและผู้ใหญ่ที่ภักดีต่อพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ แม้ประสบการณ์ปัจจุบันของพวกเขาไม่สอดคล้องทั้งหมดกับถ้อยแถลงเรื่องครอบครัว อาทิ เด็กที่ชีวิตสั่นคลอนเพราะการหย่าร้าง … ชายหญิงผู้หย่าร้างแล้วที่บาดเจ็บสาหัสเพราะความไม่ซื่อสัตย์ของคู่ครอง สามีภรรยาที่ไม่สามารถมีบุตรได้ … หญิงโสดชายโสดที่ไม่สามารถแต่งงานได้ด้วยเหตุผลต่างกันไป (“ดวงตาแห่งศรัทธา,” เลียโฮนา, พ.ค. 2019, 36)

ประธานเอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่า:

ภาพ
ประธานเอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด

ปัจจุบันผู้ใหญ่เกินครึ่งในศาสนจักรเป็นม่าย หย่าร้าง หรือยังไม่แต่งงาน บางคนสงสัยเรื่องโอกาสและบทบาทของตนในแผนของพระผู้เป็นเจ้าและในศาสนจักร เราควรเข้าใจว่าชีวิตนิรันดร์ไม่ใช่แค่คำถามเกี่ยวกับสถานภาพสมรสปัจจุบันแต่เกี่ยวกับการเป็นสานุศิษย์และการ “องอาจในประจักษ์พยานถึงพระเยซู” [หลักคำสอนและพันธสัญญา 76:79; ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 121:29 ด้วย] …

… ทุกคนที่ยอมรับของประทานอันงดงามแห่งการกลับใจของพระผู้ช่วยให้รอดและดำเนินชีวิตตามพระบัญญัติจะได้รับชีวิตนิรันดร์ แม้ว่าพวกเขาไม่ได้บรรลุคุณสมบัติและความสมบูรณ์แบบทุกข้อในความเป็นมรรตัยก็ตาม (“ความหวังในพระคริสต์,” เลียโฮนา, พ.ค. 2021, 55)

ภาพ
คนหนุ่มสาวคนหนึ่งเดินไปตามถนน

บางคนอาจสงสัยว่าทำไมผู้นำศาสนจักรสอนเรื่องอุดมคติของชีวิตครอบครัวอยู่เรื่อยๆ ทั้งที่สมาชิกจำนวนมากของศาสนจักรไม่ประสบอุดมคติเหล่านี้

ซิสเตอร์แชรอน ยูแบงค์ในฝ่ายประธานสมาคมสงเคราะห์สามัญแบ่งปันประสบการณ์และข้อคิดบางอย่างของเธอสมัยเป็นสาวโสด:

ภาพ
ซิสเตอร์แชรอน ยูแบงค์

ดิฉันเป็นโสดด้วยเหตุนี้จึงเข้าใจดีว่าคนโสดรู้สึกอย่างไร ท่านไม่มีคู่หู นั่งอยู่ที่โบสถ์ก็อึดอัด ไปงานเลี้ยงก็แสนจะทรมาน ญาติๆ รู้สึกว่าพวกเขาวิจารณ์ได้ทั้งที่ไม่ควรมีใครพูด …

การเข้าพวกในศาสนจักรที่มุ่งเน้นครอบครัวท้าทายเราได้เช่นกัน แต่ความจริงคือสมาชิกส่วนใหญ่ของศาสนจักรไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ครอบครัวที่สมบูรณ์แบบ ดิฉันไม่แน่ใจว่า มีใครบ้าง อยู่ในครอบครัวที่สมบูรณ์แบบตามอุดมคตินั้น แล้วเราจะเน้นเรื่องนี้ทำไม? เพราะครอบครัวคือจุดหมายปลายทางของเรา และเราอยู่บนโลกนี้เพื่อเรียนรู้ทักษะของการมีสัมพันธภาพครอบครัวที่แน่นแฟ้น ไม่ว่าสถานการณ์ของเราเองจะเป็นเช่นไรก็ตาม (“A Letter to a Single Sister,” Ensign, Oct. 2019, 40)

ภาพ
ไอคอน ไตร่ตรอง

ไตร่ตรองเพื่อเตรียมเข้าชั้นเรียน

เราจะใช้ศรัทธาในพระเยซูคริสต์และคำสอนของพระองค์เรื่องครอบครัวในด้านใดได้บ้างแม้เมื่อสภาพการณ์ครอบครัวเราไม่เป็นไปตามอุดมคติ?

หมวดที่ 2

ฉันจะมุ่งหน้าด้วยศรัทธาได้อย่างไรเมื่อพรที่ปรารถนามาล่าช้า?

ภาพ
อับราฮัมบนทุ่งราบมัมเร โดย แกรนท์ รอมนีย์ คลอว์สัน

อับราฮัมกับซารายรู้ว่าเป็นอย่างไรเมื่อพรบางอย่างที่พวกเขาปรารถนามาล่าช้า และไม่สมปรารถนาอีกหลายอย่างในชีวิตนี้ เมื่ออับราฮัมอายุ 75 ปี เขากับซารายไม่มีบุตร (ดู ปฐมกาล 11:29–30; 12:4) แต่พระเจ้าทรงสัญญากับเขาว่า “เราจะทำให้เชื้อสายของเจ้ามากเหมือนผงคลีดิน” (ปฐมกาล 13:16) พระเจ้าทรงสัญญาด้วยว่าอับราฮัมกับลูกหลานของเขาจะได้รับแผ่นดินคานาอันเป็นมรดก (ดู ปฐมกาล 17:8) ต่อมาเมื่ออับราฮัมอายุ 100 ปีและซารายอายุ 90 ปี พวกเขาได้รับสัญญาว่าซารายจะให้กำเนิดบุตรที่ชื่อว่าอิสอัค (ดู ปฐมกาล 17:17, 19) แม้สัญญานี้และสัญญาอีกหลายข้อเป็นจริง แต่สัญญาของพระเจ้าว่าพวกเขาจะมีลูกหลานนับไม่ถ้วนและได้รับแผ่นดินที่สัญญาไว้ไม่เป็นจริงในช่วงชีวิตของอับราฮัมกับซาราย

ในหนังสือฮีบรู อัครสาวกเปาโลอ้างอิงสัญญาเหล่านี้กับอับราฮัมและซาราย

ภาพ
ไอคอน ศึกษา

ศึกษาเพื่อเตรียมเข้าชั้นเรียน

อ่าน ฮีบรู 11:8, 11–13 และพิจารณาว่าท่านสามารถเรียนรู้อะไรบ้างจากตัวอย่างของอับราฮัมกับซารายเกี่ยวกับการใช้ศรัทธาในพระเยซูคริสต์เมื่อพรที่ปรารถนามาล่าช้าหรือไม่สมปรารถนาในชีวิตนี้

ภาพ
คุณแม่สวดอ้อนวอนกับลูกเล็กๆ ของเธอ

ประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์แห่งฝ่ายประธานสูงสุดอธิบายว่า “ศรัทธาหมายถึงวางใจ—วางใจพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า วางใจวิธีที่พระองค์ทรงทำสิ่งต่างๆ และวางใจตารางเวลาของพระองค์” (จังหวะเวลา,” เลียโฮนา, ต.ค. 2003, 12)

การรอคอยให้พระเจ้าประทานพรที่เราปรารถนาจะทดสอบความอดทนและการเชื่อฟังของเรา ขณะรับใช้เป็นสมาชิกแห่งสาวกเจ็ดสิบ เอ็ลเดอร์สเป็นเซอร์ เจ. คอนดีแบ่งปันว่า:

ภาพ
เอ็ลเดอร์สเป็นเซอร์ เจ. คอนดี

บางครั้งในความไม่อดทนทางโลกของเรา เราอาจมองข้ามพระสัญญาอันประเสริฐของพระเจ้าและตัดขาดการเชื่อฟังของเราออกจากสัมฤทธิผลของพระสัญญาเหล่านี้ (“เรียกร้องพระสัญญาอันประเสริฐและใหญ่ยิ่ง,” เลียโฮนา, พ.ย. 2007, 19)

ประธานบัลลาร์ดสอนคล้ายกันทำนองนี้เกี่ยวกับการรอคอยพระเจ้า:

ภาพ
ประธานเอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด

การรอคอยพระเจ้าหมายถึงการเชื่อฟังอย่างต่อเนื่องและความก้าวหน้าทางวิญญาณไปถึงพระองค์ การรอคอยพระเจ้าไม่ได้หมายถึงการคอยเวลา ท่านไม่ควรรู้สึกเหมือนตัวท่านอยู่ในห้อง นั่งรอ …

การเติบโตส่วนตัวที่คนๆ หนึ่งจะบรรลุได้ในตอนนี้ขณะรอคอยพระเจ้าและสัญญาของพระองค์เป็นองค์ประกอบศักดิ์สิทธิ์อันประมาณค่ามิได้ในแผนของพระองค์สำหรับเราแต่ละคน … พระเจ้าทรงให้เกียรติคนที่รับใช้และรอคอยพระองค์ด้วยความอดทนและศรัทธา [ดู อิสยาห์ 64:4; หลักคำสอนและพันธสัญญา 133:45] (“ความหวังในพระคริสต์,” 55)

ภาพ
ไอคอน บันทึก

บันทึกความคิดของท่าน

บันทึกประสบการณ์หรือคำสอนที่ทำให้ท่านมั่นใจว่าพระเจ้าทรงทำตามสัญญาของพระองค์แม้พรจะมาล่าช้าก็ตาม

หมวดที่ 3

ฉันจะเอื้อประโยชน์ในศาสนจักรของพระเจ้าได้อย่างไรโดยไม่คำนึงถึงสภาพการณ์ครอบครัวของฉัน?

สมาชิกบางคนของศาสนจักรที่สภาพการณ์ครอบครัวในปัจจุบันไม่ตรงกับที่บอกไว้ในถ้อยแถลงเรื่องครอบครัวอาจสงสัยว่าพวกเขาจะเข้าพวกในศาสนจักรอย่างไร อัครสาวกเปาโลเปรียบเทียบศาสนจักรของพระเยซูคริสต์กับร่างกายเพื่อสอนเราว่าเหตุใดศาสนจักรจึงต้องการสมาชิกแต่ละคน

ภาพ
ไอคอน ศึกษา

ศึกษาเพื่อเตรียมเข้าชั้นเรียน

อ่าน 1 โครินธ์ 12:12, 16–17, 21, 25–27 และตรึกตรองว่าสมาชิกทุกคนของศาสนจักรสำคัญและเอื้อประโยชน์ต่อศาสนจักรโดยรวมอย่างไร

ภาพ
ผู้ชายสนทนากันในการประชุมโควรัมเอ็ลเดอร์

สภาพการณ์ต่างกันของเราสามารถนำคุณค่าและประสบการณ์มาให้ครอบครัวสาขาหรือครอบครัววอร์ดของเรา ประธานบัลลาร์ดเน้นว่า:

ภาพ
ประธานเอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด

อย่าลืมว่าท่านเป็นลูกของพระผู้เป็นเจ้า พระบิดานิรันดร์ของเรา เวลานี้และตลอดไป พระองค์ทรงรักท่านและศาสนจักรต้องการท่าน ใช่ เราต้องการท่าน! เราต้องการเสียง พรสวรรค์ ทักษะ ความดี และความชอบธรรมของท่าน (“ความหวังในพระคริสต์,” 55)

เอ็ลเดอร์โรเบิร์ต ดี. เฮลส์ แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนเช่นกันว่า:

ภาพ
เอ็ลเดอร์โรเบิร์ต ดี. เฮลส์

พวกเราบางคนอาจแยกตัวออกจากครอบครัววอร์ดเพราะความแตกต่างของเรา … แทนที่จะทำเช่นนั้น ขอให้เราแบ่งปันของประทานและพรสวรรค์กับคนอื่นๆ โดยนำความเจิดจ้าของความหวังและปีติมาให้พวกเขา และในการทำเช่นนั้นจะยกวิญญาณเราให้สูงขึ้น (“Belonging to a Ward Family,” Ensign, Mar. 1996, 16)

ภาพ
ไอคอน ไตร่ตรอง

ไตร่ตรองเพื่อเตรียมเข้าชั้นเรียน

ฉันจะทำอะไรได้บ้างเพื่อเข้าใจสมาชิกคนอื่นๆ ในวอร์ดหรือสาขาของฉันได้ดีขึ้นและช่วยให้พวกเขารู้สึกว่าตนมีคุณค่าและไม่รู้สึกแปลกแยก? ถ้าฉันรู้สึกเหมือนไม่เป็นส่วนหนึ่งในศาสนจักร ฉันจะทำอะไรได้บ้างเพื่อยอมให้พระผู้ช่วยให้รอดทรงช่วยให้ฉันรู้สึกว่าตนมีค่าและมีที่ในศาสนจักรของพระองค์?