สถาบัน
บทที่ 24 สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู: การจัดการปัญหาสุขภาพจิตด้วยความหวังและความเห็นอกเห็นใจ


“บทที่ 24 สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู: การจัดการปัญหาสุขภาพจิตด้วยความหวังและความเห็นอกเห็นใจ” ครอบครัวนิรันดร์ สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู (2022)

“บทที่ 24 สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู” ครอบครัวนิรันดร์ สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู

บทที่ 24 สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู

การจัดการปัญหาสุขภาพจิตด้วยความหวังและความเห็นอกเห็นใจ

ความท้าทายด้านสุขภาพจิตจะเป็นส่วนสำคัญของประสบการณ์มรรตัยของเรา ในบทเรียนนี้นักเรียนจะมีโอกาสค้นพบว่าพวกเขาจะทำให้ตนมีสุขภาพจิตและสุขภาพอารมณ์ดีขึ้นได้อย่างไร นักเรียนจะพิจารณาด้วยว่าพวกเขาจะตอบสนองด้วยความเห็นอกเห็นใจมากขึ้นได้อย่างไรต่อสมาชิกครอบครัวและคนอื่นๆ ที่อาจประสบความท้าทายด้านสุขภาพจิตหรือในสภาพการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าตัวตาย

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

เราเป็นพรแก่ตัวเราเองและครอบครัวเมื่อเราพยายามรักษาสุขภาพจิตของเราและทำให้ดีขึ้น

ให้ดูพระคัมภีร์อ้างอิงต่อไปนี้: โยบ 6:1–3; 1 นีไฟ 18:17–18; แอลมา 26:26–27 เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่านข้อเหล่านี้ในใจและมองหาความท้าทายที่เกิดกับความผาสุกทางจิตหรือทางอารมณ์ของบุคคลเหล่านั้น ขอให้นักเรียนแบ่งปันสิ่งที่พบ ขณะพวกเขาแบ่งปัน ท่านอาจต้องการเขียนคำตอบของพวกเขาไว้บนกระดาน

  • ความท้าทายและสภาพการณ์แบบใดอีกบ้างสามารถส่งผลลบต่อความผาสุกทางจิตหรือทางอารมณ์ของเรา? (เขียนคำตอบของนักเรียนไว้บนกระดาน)

  • เหตุใดจึงอาจเป็นประโยชน์ถ้ารู้ว่าการเผชิญความท้าทายด้านสุขภาพจิตและอารมณ์ของเราจะเป็นเรื่องปกติของประสบการณ์มรรตัยของเรา?

เตือนความจำนักเรียนว่าพระเยซูคริสต์ทรงเป็น “คนที่รับความเจ็บปวด และคุ้นเคยกับความทุกข์ยาก” (อิสยาห์ 53:3) เชื้อเชิญให้นักเรียนแบ่งปันประสบการณ์ที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงมีซึ่งแสดงให้เห็นสัมฤทธิผลของคำพยากรณ์ของอิสยาห์

ให้ดูพระคัมภีร์อ้างอิงต่อไปนี้: มัทธิว 14:22–23; มาระโก 1:35; 6:31, 46; ลูกา 5:16 เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่านพระคัมภีร์เหล่านี้หนึ่งข้อหรือมากกว่านั้นและมองหาบทเรียนที่เราเรียนรู้ได้จากการกระทำของพระเจ้า ขอให้พวกเขาแบ่งปันสิ่งที่พบ และช่วยให้พวกเขารับรู้ความจริงต่อไปนี้: เราทำตามแบบอย่างของพระเยซูคริสต์เมื่อเราใช้เวลาพักผ่อน อยู่เงียบๆ และสวดอ้อนวอน

  • เหตุใดการหมั่นดูแลสุขภาพจิตและอารมณ์ของเราจึงสำคัญ? (ท่านอาจจะให้อ่านคำกล่าวของ เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด ในหมวดที่ 1 ของสื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน)

ให้เวลานักเรียนสองสามนาทีใคร่ครวญและบันทึกหนึ่งวิธีที่พวกเขาจะเพิ่มพลังสุขภาพจิตหรือสุขภาพอารมณ์ของตนและวางแผนง่ายๆ เพื่อทำเช่นนั้น ท่านอาจจะให้นักเรียนตอบ คำถาม ในหมวดที่ 1 ของสื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียนเพื่อให้ได้แนวคิด

เราสามารถตอบสนองด้วยความรักและความเห็นอกเห็นใจเหมือนพระคริสต์ต่อคนที่ประสบความท้าทายด้านสุขภาพจิต

ให้ดูและอ่านเรื่องต่อไปนี้ของคนที่ประสบความท้าทายด้านสุขภาพจิต ตามที่ซิสเตอร์เรย์นา ไอ. อะบูร์โตแบ่งปัน เชื้อเชิญให้นักเรียนใคร่ครวญว่าพวกเขารู้สึกอย่างไรเมื่อได้ฟังเรื่องเหล่านี้

ภาพ
ซิสเตอร์เรย์นา ไอ. อะบูร์โต

ลูกสาวของดิฉันเขียนไว้ว่า “มีครั้งหนึ่ง … [ที่] ฉันรู้สึกเศร้ามากตลอดเวลา ฉันคิดเสมอว่าความเศร้าเป็นเรื่องน่าอับอาย และเป็นสัญญาณของความอ่อนแอ ฉันจึงเก็บความเศร้าไว้กับตัวเอง … ฉันรู้สึกไร้ค่าจริงๆ” [Hermana Elena Aburto blog, hermanaelenaaburto.blogspot.com/2015/08]

เพื่อนคนหนึ่งอธิบายทำนองนี้: “ตั้งแต่เด็ก ฉันต่อสู้กับความรู้สึกสิ้นหวังมาโดยตลอด ทั้งความมืด ความเหงา ความกลัว และความรู้สึกว่าตัวเองล้มเหลวหรือบกพร่อง ฉันทำทุกอย่างเพื่อซ่อนความเจ็บปวด และไม่มีวันยอมให้ใครเห็นว่าฉันเป็นอะไรนอกจากเป็นคนที่ประสบความสำเร็จและเข้มแข็ง” [จดหมายส่วนตัว] (“ยามทุกข์หรือสุข โปรดทรงสถิตกับข้า!,” เลียโฮนา, พ.ย. 2019, 57)

  • ท่านมีความคิดและความรู้สึกอะไรบ้างขณะฟังเรื่องเหล่านี้?

แจกสำเนาเอกสารต่อไปนี้ให้นักเรียนคนละหนึ่งชุดหรือติดคำถามให้ทุกคนเห็น เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่านและไตร่ตรองคำถามด้วยตนเอง หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว ให้แบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่มเล็กๆ และขอให้นักเรียนแบ่งปันความคิดเกี่ยวกับคำถามหนึ่งหรือสองข้อที่คล้ายประสบการณ์ของพวกเขา

ความท้าทายด้านสุขภาพจิต

ครอบครัวนิรันดร์ สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู—บทที่ 24

  • คนที่ประสบความท้าทายด้านสุขภาพจิตจะได้รับพรอย่างไรจากการยอมรับและพูดคุยเรื่องเหล่านี้? เหตุใดจึงสำคัญที่บุคคลเหล่านี้ต้องขอความช่วยเหลือจากผู้นำศาสนจักรหรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ?

  • ถ้าสมาชิกครอบครัวหรือเพื่อนคนหนึ่งบอกท่านว่าเขากำลังประสบความท้าทายด้านสุขภาพจิต อะไรน่าจะเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่ท่านสามารถพูดหรือทำ? (ท่านอาจจะทบทวนคำกล่าวของ ซิสเตอร์เรย์นา ไอ. อะบูร์โต ในหมวดที่ 2 ของสื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน) มีสิ่งใดบ้างที่พูดหรือทำก็ไม่มีประโยชน์? ท่านเคยเห็นคนบางคนตอบสนองเหมือนพระคริสต์ต่อความท้าทายด้านสุขภาพจิตของอีกคนเมื่อใด?

  • ใคร่ครวญสิ่งที่พระเยซูคริสต์เข้าพระทัยเกี่ยวกับความท้าทายด้านสุขภาพจิตของเรา (ท่านอาจต้องการอ่าน แอลมา 7:11–12) ท่านจะขอความช่วยเหลือจากพระองค์ได้อย่างไรถ้าท่านทนทุกข์จากความท้าทายด้านสุขภาพจิตหรือถ้าท่านกำลังช่วยเหลือคนที่ทนทุกข์?

ความท้าทายด้านสุขภาพจิต

ภาพ
เอกสารแจกจากครู

หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว ให้เชิญนักเรียนสองสามคนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้ในกลุ่มของตน

เราสามารถช่วยป้องกันการฆ่าตัวตายและช่วยเหลือคนที่สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไปกับการฆ่าตัวตาย

เตือนความจำนักเรียนว่าความท้าทายร้ายแรงด้านสุขภาพจิตจะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย เชื้อเชิญให้นักเรียนทบทวน โมไซยาห์ 18:8–9 และแบ่งปันว่าคำสอนในข้อนี้สามารถนำทางเราในการช่วยเหลือผู้กำลังต่อสู้กับความคิดจะฆ่าตัวตายได้อย่างไร (ขณะแบ่งปัน พวกเขาอาจจะระบุความจริงทำนองนี้: ในฐานะสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์ เราได้รับเรียกให้แบกภาระของกันและกันและโศกเศร้ากับคนที่โศกเศร้า)

  • ท่านเคยเห็นการปฏิบัติหลักธรรมนี้ในด้านใดบ้าง? ท่านสามารถกระทำสิ่งใดเป็นพิเศษได้อีกบ้างในฐานะสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์เพื่อช่วยป้องกันการฆ่าตัวตาย?

  • พระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์จะทรงช่วยเหลือคนที่ต่อสู้กับความคิดจะฆ่าตัวตายได้อย่างไร? ทั้งสองพระองค์จะทรงช่วยเหลือคนที่สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไปกับการฆ่าตัวตายได้อย่างไร?

ให้เวลานักเรียนสองสามนาทีบันทึกสิ่งที่พวกเขาสามารถทำได้เพื่อตอบสนองด้วยความรักและความเห็นอกเห็นใจเหมือนพระคริสต์ต่อความท้าทายด้านสุขภาพจิตของผู้อื่นหรือในสภาพการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าตัวตาย

สำหรับครั้งต่อไป

ท่านอาจถามคำถามต่อไปนี้ตอนจบชั้นเรียนหรือส่งข้อความถามระหว่างสัปดาห์ เชื้อเชิญให้นักเรียนศึกษา สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียนบทต่อไป พร้อมกับนึกถึงคำถามเหล่านี้

  1. การกลับใจของท่านจะส่งผลต่อความผาสุกของครอบครัวท่านในด้านใดบ้าง?

  2. ท่านจะรับความช่วยเหลือเพื่อให้อภัยสมาชิกครอบครัวที่ทำให้ท่านขุ่นข้องหมองใจหรือทำร้ายท่านได้อย่างไร?