สถาบัน
บทที่ 25 สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู: การกลับใจและการให้อภัยในชีวิตครอบครัว


“บทที่ 25 สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู: การกลับใจและการให้อภัยในชีวิตครอบครัว” ครอบครัวนิรันดร์ สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู (2022)

“บทที่ 25 สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู” ครอบครัวนิรันดร์ สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู

บทที่ 25 สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู

การกลับใจและการให้อภัยในชีวิตครอบครัว

เราสามารถเชื้อเชิญเดชานุภาพของพระเจ้าให้เยียวยาและทำให้สัมพันธภาพของครอบครัวเราแน่นแฟ้นขึ้นโดยประยุกต์ใช้หลักธรรมของการกลับใจและการให้อภัย บทเรียนนี้จะช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าการกลับใจของพวกเขาจะทำให้สัมพันธภาพของครอบครัวดีขึ้นได้อย่างไร นักเรียนจะพิจารณาด้วยว่าพวกเขาจะเข้าถึงความช่วยเหลือของพระเจ้าเพื่อให้อภัยสมาชิกครอบครัวผู้เคยทำให้พวกเขาขุ่นข้องหมองใจและทำร้ายพวกเขาได้อย่างไร

หมายเหตุ: บางครั้งการทำร้ายจากสมาชิกครอบครัวอยู่ในรูปแบบของการกระทำทารุณกรรม เราจะพูดถึงการเยียวยาจากการกระทำทารุณกรรมในบทต่อไป

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

ปรับปรุงการสอนและการเรียนรู้ของเรา

มุ่งเน้นสิ่งที่นักเรียนต้องประสบเพื่อเปลี่ยนใจเลื่อมใสอย่างลึกซึ้งมากขึ้น นักเรียนเรียนรู้ขณะพวกเขามีส่วนร่วมอย่างกระตือรือร้นในกระบวนการเรียนรู้และการดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณ ขณะที่ท่านสอน ให้มุ่งเน้นสิ่งที่นักเรียนต้องประสบและต้องทำเพื่อเชื้อเชิญการเปิดเผยส่วนตัวและทำให้การเปลี่ยนใจเลื่อมใสลึกซึ้งขึ้น ขณะที่นักเรียนเพิ่มพูนความรู้เรื่องพระกิตติคุณและดำเนินชีวิตตามสิ่งที่รู้ พวกเขาจะเปลี่ยนใจเลื่อมใสพระผู้ช่วยให้รอดและพระกิตติคุณของพระองค์มากขึ้น

การกลับใจของตัวเราจะทำให้สัมพันธภาพครอบครัวดีขึ้น

ติดข้อความต่อไปนี้ไว้บนกระดาน (อาจจะปรับข้อความเหล่านี้ให้ตรงกับความต้องการของนักเรียนมากขึ้น):

  1. เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องมุ่งเน้นไปที่การทำให้แน่ใจว่าคนอื่นในครอบครัวกลับใจบ่อยๆ

  2. ถ้าคนในครอบครัวทำผิดมากกว่าเรา เราควรรอให้เขาขอโทษและเปลี่ยนก่อนเรา

  3. เป็นเรื่องง่ายเสมอที่จะกลับใจจากวิธีต่างๆ ที่เราอาจทำร้ายคนในครอบครัว

  4. เราปฏิบัติไม่ดีต่อคนในครอบครัวได้ไม่เป็นไรถ้าพวกเขาพยายามทำให้เราหงุดหงิด

เริ่มบทเรียนโดยเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงข้อความบนกระดาน ขอให้นักเรียนพิจารณาในใจว่าแต่ละข้อความจริงหรือเท็จ (ไม่ต้องขอให้นักเรียนบอกคำตอบ) หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว ให้อธิบายว่าทุกข้อความเป็นเท็จ

  • ท่านจะแก้ไขแต่ละข้อความให้ถูกต้องอย่างไร?

  • เหตุใดการกลับใจเมื่อเราทำร้ายสมาชิกครอบครัวจึงเป็นเรื่องท้าทาย? พระเจ้าจะทรงช่วยเราได้อย่างไรขณะเราพยายามกลับใจ?

ท่านอาจจะให้ดูรูปอุปมาเรื่องบุตรเสเพลรูปหนึ่งจากสื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียนและขอให้นักเรียนคนหนึ่งสรุปอุปมา ท่านอาจจะให้ทบทวน ลูกา 15:17–24 และถามนักเรียนว่าพวกเขาค้นพบหลักธรรมอะไรบ้างจากอุปมาเรื่องนี้เกี่ยวกับการกลับใจในชีวิตครอบครัว

  • เราจะเรียนรู้อะไรได้บ้างเกี่ยวกับพระบิดาบนสวรรค์จากบิดาในอุปมานี้? ความรู้นี้จะส่งผลต่อวิธีที่เรามองการกลับใจอย่างไร?

  • ท่านเคยเห็นชีวิตแต่งงานหรือครอบครัวได้รับพรเพราะการกลับใจของสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัวเมื่อใด? (เตือนนักเรียนไม่ให้แบ่งปันเรื่องที่เป็นส่วนตัวมากเกินไป)

พระเจ้าทรงสามารถช่วยเราให้อภัยสมาชิกครอบครัวที่ทำให้เราขุ่นข้องหมองใจหรือทำร้ายเรา

เชื้อเชิญให้นักเรียนนึกดูว่าสมาชิกครอบครัวเคยทำให้พวกเขาขุ่นข้องหมองใจหรือทำร้ายพวกเขาเมื่อใด ท่านอาจจะขอให้นักเรียนไตร่ตรองด้วยว่าพวกเขาสามารถให้อภัยบุคคลนั้นได้ดีเพียงใด

  • เหตุใดบางครั้งจึงยากจะให้อภัยสมาชิกครอบครัวที่ทำผิดต่อเรา?

ทบทวน หลักคำสอนและพันธสัญญา 64:8–11 ด้วยกันและถามชั้นเรียนว่าพวกเขาเรียนรู้ความจริงอะไรบ้างจากคำสอนของพระเจ้าเรื่องการให้อภัย ในบรรดาความจริงที่นักเรียนค้นพบอาจมีความจริงทำนองนี้: พระเจ้าทรงเรียกร้องให้เราให้อภัยทุกคน

ท่านอาจจะเชื้อเชิญให้นักเรียนเลือกทบทวนสองสามย่อหน้าหรือสองสามข้อความจากผู้นำศาสนจักรใน หมวดที่ 2 ของสื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน จากนั้นให้ถามว่า:

  • คำสอนเหล่านี้จะช่วยคนบางคนให้อภัยสมาชิกครอบครัวที่ทำผิดต่อเขาได้อย่างไร?

ส่วนหนึ่งของการสนทนานี้คือท่านอาจให้ดู คำกล่าวของเอ็ลเดอร์มัสสิโม ดี ฟีโอ จากหมวดที่ 2 ของสื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียนและอ่านพร้อมกับนักเรียน ท่านอาจจะให้เวลานักเรียนสองสามนาทีไตร่ตรองสิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงทำเพื่อพวกเขา

  • การระลึกถึงการเสียสละของพระผู้ช่วยให้รอดจะช่วยเราให้อภัยผู้อื่นได้อย่างไร?

ท่านอาจจะใช้เรื่องของยาโคบกับเอซาวช่วยให้นักเรียนเข้าใจเรื่องการให้อภัยในชีวิตครอบครัวลึกซึ้งขึ้น หรือสร้างสถานการณ์สมมุติของท่านเองที่จะช่วยนักเรียนพิจารณาความรู้สึก ความกังวล และการเลือกที่เกี่ยวข้องกับการคืนดีกับสมาชิกครอบครัวที่เราเคยทำให้ขุ่นข้องหมองใจหรือเขาทำให้เราขุ่นข้องหมองใจ

หากอยู่ในวิสัยที่ทำได้ให้ดูภาพต่อไปนี้:

ภาพ
สิทธิบุตรหัวปีของเอซาว โดย เกลน เอส. ฮ็อพคินสัน

ขอให้นักเรียนอธิบายว่าพวกเขารู้อะไรเกี่ยวกับเรื่องราวของยาโคบกับเอซาวและอะไรส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องสองคนนี้ เมื่อจำเป็นท่านอาจจะเพิ่มความเข้าใจของนักเรียนโดยบอกรายละเอียดบางอย่างต่อไปนี้:

อิสอัคกับเรเบคาห์มีลูกชายฝาแฝดชื่อเอซาวกับยาโคบ เอซาวเป็นคนโตและด้วยเหตุนี้จึงอยู่ในตำแหน่งที่จะเป็นบุตรตามสิทธิบุตรหัวปี นี่หมายความว่าเขาจะได้ที่ดินของพ่อเป็นมรดก “สองเท่าของทรัพย์สมบัติของบิดา” และสิทธิอำนาจในการเป็นผู้นำทางวิญญาณของครอบครัวหลังจากบิดาสิ้นชีวิต (คู่มือพระคัมภีร์, “บุตรหัวปี”; ดูคู่มือพระคัมภีร์, “สิทธิบุตรหัวปี” ด้วย)

แต่เอซาวขายสิทธิบุตรหัวปีให้ยาโคบเพื่อแลกกับของแดง (ซุปหรือสตูหนึ่งชาม) ต่อมาเมื่ออิสอัคปรารถนาจะมอบพรสิทธิบุตรหัวปี เอซาวกลับพยายามรับทั้งที่เขาเสียสิทธิ์ไปแล้ว เรเบคาห์ขัดขวางและยาโคบได้รับพรนั้น ด้วยเหตุนี้เอซาวจึงเกลียดยาโคบและสาบานจะฆ่าเขา เรเบคาห์กับอิสอัคจึงส่งยาโคบไปอยู่กับลาบันลุงของเขา ยาโคบแต่งงานและมีบุตร หลังจากนั้น 20 ปีพระเจ้าทรงสั่งให้ยาโคบกลับมาบ้านเกิด ยาโคบกลัวเอซาวจะทำร้ายเขาและครอบครัวเมื่อทราบว่าเอซาวจะมาพบพวกเขาพร้อมคน 400 คน ยาโคบจึงสั่งคนรับใช้ให้แบ่งสัตว์จำนวนมากออกเป็นหลายๆ ฝูงและมอบให้เอซาวเป็นของขวัญเมื่อเขามา (ดู ปฐมกาล 25–32)

ท่านอาจจะให้แบ่งชั้นเรียนออกเป็นคู่หรือกลุ่มเล็ก เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน ปฐมกาล 33:1–11 ในใจโดยมองหาสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อยาโคบกับเอซาวพบกัน ขอให้นักเรียนแต่ละคนเลือกมุมมองของยาโคบหรือไม่ก็เอซาวและจินตนาการว่ากำลังประสบเหตุการณ์ที่บันทึกไว้ในข้อเหล่านี้จากมุมมองนั้น

หลังจากให้เวลาพอสมควร ขอให้นักเรียนสนทนาคำถามต่อไปนี้กับคู่หรือกลุ่มโดยใช้สิ่งที่พวกเขาเรียนรู้ขณะจินตนาการการกลับมาพบกันครั้งนี้จากมุมมองของเอซาวหรือไม่ก็ยาโคบ:

  • ท่านอาจมีความคิดหรือความรู้สึกอะไรบ้างเมื่อท่านพบและพูดคุยกับพี่ชาย (น้องชาย)?

  • ท่านทำอะไรเพื่อคืนดีกับพี่ชาย (น้องชาย)? ท่านสามารถเรียนรู้หลักธรรมอะไรจากเรื่องนี้?

ทันทีที่นักเรียนทำกิจกรรมนี้เสร็จแล้ว ให้สนทนาคำถามต่อไปนี้บางข้อกับชั้นเรียน:

  • ท่านเห็นหลักธรรมอะไรบ้างในตัวอย่างของยาโคบกับเอซาว? ท่านเห็นพระหัตถ์ของพระเจ้าในเรื่องนี้ในด้านใดบ้าง?

  • พระผู้เป็นเจ้าทรงช่วยให้ท่านเป็นฝ่ายเริ่มแก้ไขความขัดแย้งหรือให้อภัยคนในครอบครัวท่านอย่างไร? (เตือนนักเรียนไม่ให้แบ่งปันเรื่องที่เป็นส่วนตัวมากเกินไป)

เชื้อเชิญให้นักเรียนพิจารณาในใจว่าพระบิดาบนสวรรค์อาจจะทรงต้องการให้พวกเขาประยุกต์ใช้หลักธรรมเรื่องการกลับใจหรือการให้อภัยในสัมพันธภาพครอบครัวตอนนี้อย่างไร กระตุ้นให้พวกเขาทำตามการกระตุ้นเตือนที่ได้รับ ท่านอาจให้เวลานักเรียนเป็นพยานถึงคุณค่าของการกลับใจและการให้อภัยในครอบครัว

สำหรับครั้งต่อไป

อธิบายว่าน่าเศร้าที่บางคนเลือกกระทำทารุณกรรมผู้อื่น กระตุ้นให้นักเรียนศึกษา สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียนบทต่อไป อย่างละเอียด เชื้อเชิญให้พวกเขาพิจารณาว่าด้วยความช่วยเหลือของพระผู้ช่วยให้รอดพวกเขาจะเยียวยาหรือช่วยผู้อื่นเยียวยาผลของการกระทำทารุณกรรมได้อย่างไร