สถาบัน
บทที่ 8 สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน: การพยายามเข้าใจความเสน่หาเพศเดียวกันและรักพี่น้องชายหญิงแอลจีบีที (LGBT) ของเรา


“บทที่ 8 สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน: การพยายามเข้าใจความเสน่หาเพศเดียวกันและรักพี่น้องชายหญิงแอลจีบีที (LGBT) ของเรา” ครอบครัวนิรันดร์ สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู (2022)

“บทที่ 8 สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน” ครอบครัวนิรันดร์ สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู

ภาพ
คนหนุ่มสาวกลุ่มหนึ่งเดินบนชายหาด

บทที่ 8 สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน

การพยายามเข้าใจความเสน่หาเพศเดียวกันและรักพี่น้องชายหญิงแอลจีบีที (LGBT) ของเรา

เราทุกคนเป็นลูกที่รักของพระบิดาพระมารดาบนสวรรค์ เราเป็นคนมีพรสวรรค์ ความสามารถ และประสบการณ์เฉพาะตัวเช่นกัน ลูกบางคนของพระผู้เป็นเจ้าประสบความเสน่หาเพศเดียวกันหรือระบุตนว่าเป็นเลสเบียน เกย์ รักร่วมสองเพศ หรือคนข้ามเพศ ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่าแอลจีบีที (LGBT) (เราสนทนาหัวข้อเรื่องคนข้ามเพศใน บทที่ 7) ท่านตอบสนองอย่างไรต่อคนที่ประสบความเสน่หาเพศเดียวกันหรือระบุตนเป็นแอลจีบีที? ถ้าท่านประสบความเสน่หาเพศเดียวกัน ประสบการณ์ของท่านเป็นอย่างไรกับครอบครัว เพื่อนๆ และสมาชิกของศาสนจักร? ขณะศึกษาสื่อการเรียนการสอนนี้ ให้พิจารณาว่าท่านจะทำอะไรได้บ้างเพื่อเป็นเหมือนพระผู้ช่วยให้รอดมากขึ้นและปฏิบัติต่อลูกทุกคนของพระบิดาบนสวรรค์ด้วยความรัก การยอมรับ และความเคารพ

หมวดที่ 1

พระผู้ช่วยให้รอดจะทรงช่วยฉันแสดงความรักและความเคารพต่อคนที่ประสบความเสน่หาเพศเดียวกันได้อย่างไร?

ประธานโธมัส เอส. มอนสันสอนว่า “ความรักคือแก่นแท้ของพระกิตติคุณและพระเยซูคริสต์ทรงเป็นแบบอย่างของเรา” (“ความรัก—แก่นแท้ของพระกิตติคุณ,” เลียโฮนา, พ.ค. 2014, 91) ใกล้สิ้นสุดการปฏิบัติศาสนกิจมรรตัยของพระผู้ช่วยให้รอด พระองค์ทรงเน้นความสำคัญของการรักทุกคนจริงๆ โดยประทาน “บัญญัติใหม่” ให้สานุศิษย์ของพระองค์

ภาพ
ไอคอน ศึกษา

ศึกษาเพื่อเตรียมเข้าชั้นเรียน

อ่าน ยอห์น 13:34–35 และไตร่ตรองว่าพระบัญญัติข้อนี้จะนำทางท่านในฐานะสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์ได้อย่างไร

คนที่ประสบความเสน่หาเพศเดียวกันก็เหมือนสมาชิกคนอื่นๆ ของศาสนจักร พวกเขามีเพื่อนและครอบครัว ความหวังและความฝัน ความเข้มแข็งและความอ่อนแอ และพวกเขากำลังพยายามรับมือกับความท้าทายของชีวิตจนสุดความสามารถ น่าเสียดายที่ผู้ประสบความเสน่หาเพศเดียวกันหรือระบุตนเป็นแอลจีบีทีบางคนรู้สึกว่าไม่มีที่ในศาสนจักรของพระเจ้า แทนที่จะรู้สึกได้รับความรักและการสนับสนุน หลายคนรู้สึกว่าตนถูกปฏิเสธ โดดเดี่ยว สับสน และกลัว

ภาพ
ชายหนุ่มคนหนึ่งมองออกนอกหน้าต่างอย่างเศร้าสร้อย

ขณะรับใช้เป็นที่ปรึกษาในฝ่ายประธานเยาวชนหญิงสามัญ ซิสเตอร์แครอล เอฟ. แมคคองกีสอนว่า

ภาพ
ซิสเตอร์แครอล เอฟ. แมคคองกี

เราไม่สามารถเป็นหรือเรียกตัวเองว่าเป็นสานุศิษย์ของพระคริสต์ได้หากเราไม่ช่วยเหลือผู้อื่นตามเส้นทาง [พันธสัญญา] นั้น พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ไม่ได้ลดความสำคัญของคน แต่คนลดความสำคัญของคน …

ถ้าเราจะสร้างอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้าบนแผ่นดินโลก เราต้องให้ทุกคนมา มาทำส่วนของพวกเขา (“Lifting Others” [2:49], ChurchofJesusChrist.org)

ภาพ
พระเยซูทรงปลอบโยนมารีย์กับมารธา

คิดสักครู่เกี่ยวกับพระชนม์ชีพของพระผู้ช่วยให้รอด พระองค์ทรงแสดงความรักต่อคนที่รู้สึกไม่มีใครยอมรับเมื่อใด? พิจารณาว่าการนำข้อเสนอแนะต่อไปนี้มาปฏิบัติจะช่วยให้ท่านทำตามแบบอย่างความรักของพระผู้ช่วยให้รอดได้ดีขึ้นอย่างไรเมื่อสนทนาและเมื่อปฏิสัมพันธ์กับคนที่ประสบความเสน่หาเพศเดียวกัน:

  1. พูดและทำด้วยความเอาใจใส่ ความห่วงใย และความเห็นอกเห็นใจจริงๆ เอ็ลเดอร์เควนทิน แอล. คุกแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่า “ไม่ควรมีใครแสดงความรักและเห็นอกเห็นใจมากไปกว่าคนในศาสนจักร … ขอให้เราอยู่แนวหน้าในแง่ของการแสดงความรัก ความเห็นอกเห็นใจ และยื่นมือช่วยเหลือ” (“Let Us Be at the Forefront” [0:59], ChurchofJesusChrist.org; ดูวีดิทัศน์เพื่อเรียนรู้เพิ่มเติม)

  2. สร้างความเข้าใจด้วยการฟังโดยไม่ตัดสิน ประธานจีน บี. บิงแฮมในฝ่ายประธานสมาคมสงเคราะห์สามัญแบ่งปันว่า “วิธีสร้างสัมพันธภาพที่ดีที่สุดวิธีหนึ่งคืออย่าใช้สมมติฐานหรือคิดไปเอง แต่เปิดความคิดและเปิดใจเสมอ” (ดู “Focus on the One” [2:32], ChurchofJesusChrist.org เพื่อเรียนรู้เพิ่มเติม)

  3. รับรู้ว่าความเสน่หาเพศเดียวกันและความรู้สึกต่อเพศเดียวกันมีอยู่จริง เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองแนะนำว่า “สิ่งหนึ่งที่สำคัญเสมอคือการรับรู้ความรู้สึกของคนๆ หนึ่งที่มีอยู่จริง มันเกิดขึ้นจริง เราไม่ปฏิเสธว่ามีคนรู้สึกแบบนั้น” (ดู “Feelings Are Real and Authentic” [0:47], ChurchofJesusChrist.org เพื่อเรียนรู้เพิ่มเติม)

  4. มุ่งเน้นอัตลักษณ์นิรันดร์ ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันกล่าวว่า “ป้ายนิยามทุกอันไม่ได้มีคุณค่าเท่ากัน แต่ถ้าใช้ป้ายนิยามใดมาแทนคำระบุตัวตนสำคัญที่สุดของท่าน อาจเกิดผลเสียทางวิญญาณได้ … ไม่ควรมีคำระบุตัวตนใดมา ย้ายที่ แทนที่ หรือ สำคัญกว่า คำเรียกขานถาวรสามคำนี้: ‘ลูกของพระผู้เป็นเจ้า’ ‘ลูกแห่งพันธสัญญา’ และ ‘สานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์’” (“การเลือกเพื่อนิรันดร” [การให้ข้อคิดทางวิญญาณทั่วโลกสำหรับคนหนุ่มสาว, 15 พ.ค. 2022], ChurchofJesusChrist.org)

  5. ให้เกียรติพระบัญญัติและพันธสัญญาของพระผู้เป็นเจ้า การรักผู้อื่นดังพระผู้ช่วยให้รอดทรงรักเราไม่ได้หมายความว่าเราเห็นด้วย เห็นชอบ หรือส่งเสริมพฤติกรรมที่สวนทางกับพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า พระเยซูคริสต์ทรงสอนว่า “ถ้าพวกท่านรักเรา ท่านก็จะประพฤติตามบัญญัติของเรา” (ยอห์น 14:15) เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สันอธิบายว่าพระบัญญัติข้อแรกที่บอกให้รักพระผู้เป็นเจ้าเป็นเหตุผลอันดับแรก: “การให้พระบัญญัติข้อแรกมาอันดับแรกไม่ได้ลดหรือจำกัดความสามารถของเราในการรักษาพระบัญญัติข้อสอง [ที่บอกให้รักเพื่อนบ้านของเรา] ในทางตรงกันข้ามกลับขยายและเพิ่มประสิทธิภาพให้กับพระบัญญัติข้อสอง … ความรักที่เราที่ต่อพระผู้เป็นเจ้าทำให้เรารักผู้อื่นได้อย่างสมบูรณ์เต็มที่มากขึ้นเพราะโดยแท้แล้วเราเป็นหุ้นส่วนกับพระผู้เป็นเจ้าในการดูแลลูกๆ ของพระองค์” (“The First Commandment First” [การให้ข้อคิดทางวิญญาณมหาวิทยาลัยบริคัมยังก์, 22 มี.ค. 2022], 2, speeches.byu.edu)

เราแสดงความรักต่อพระผู้เป็นเจ้าและผู้อื่นเมื่อเราสื่อสารหลักคำสอนและพระบัญญัติของพระองค์อย่างชัดเจนด้วยความเข้าอกเข้าใจ ดังกล่าวไว้ในแหล่งข้อมูลความเสน่หาเพศเดียวกันที่ศาสนจักรจัดพิมพ์:

จุดยืนของศาสนจักรเกี่ยวกับสิ่งที่ถูกต้องทางศีลธรรมไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่สิ่งที่กำลังเปลี่ยน—และจำเป็นต้องเปลี่ยน—คือการช่วยสมาชิกศาสนจักรตอบสนองอย่างฉับไวและรอบคอบเมื่อพวกเขาเผชิญความเสน่หาเพศเดียวกันในครอบครัวของตน ท่ามกลางสมาชิกศาสนจักร หรือที่อื่นๆ (ใน Same-Sex Attraction: Church Leaders, “Communicate Doctrine with Love,” ChurchofJesusChrist.org; ดู ดัลลิน เอช. โอ๊คส์, “What Needs to Change” [วีดิทัศน์], ChurchofJesusChrist.org ด้วย)

ภาพ
ไอคอน ไตร่ตรอง

ไตร่ตรองเพื่อเตรียมเข้าชั้นเรียน

ใช้เวลาสองสามนาทีใคร่ครวญเจตคติและการกระทำของท่านต่อคนที่ประสบความเสน่หาเพศเดียวกันหรือระบุตนเป็นแอลจีบีที ท่านจะบอกได้ไหมว่าความคิด คำพูด และการกระทำของท่านสอดคล้องกับพระบัญญัติของพระเจ้าที่ว่า “เรารักพวกท่านมาแล้วอย่างไร ท่านก็จงรักกันและกันด้วยอย่างนั้น”? (ยอห์น 13:34) ถ้าท่านประสบความเสน่หาเพศเดียวกัน ให้พิจารณาว่าท่านจะแสดงความรักต่อคนที่ขาดความเข้าใจและความเห็นอกเห็นใจในประสบการณ์ของท่านได้อย่างไร

หมวดที่ 2

ฉันควรรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับความเสน่หาเพศเดียวกัน?

คำศัพท์อย่างเช่น เกย์ (บางครั้งใช้เรียกคนที่เสน่หาคนเพศเดียวกัน และอาจจะใช้เรียกชายที่เสน่หาชาย) เลสเบียน (หญิงที่เสน่หาหญิง) หรือ รักร่วมสองเพศ (ชายหรือหญิงที่เสน่หาทั้งสองเพศ) อาจใช้เพื่อบ่งบอกความรู้สึก อัตลักษณ์ หรือวิถีชีวิต จำไว้ว่าไม่ว่าบุคคลจะใช้คำอะไรระบุความรู้สึกหรือรสนิยมทางเพศของตน อัตลักษณ์สำคัญที่สุดของเราคือเราเป็น “ปิยบุตรหรือปิยธิดาทางวิญญาณของพระบิดาพระมารดาบนสวรรค์” (“ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก,” ChurchofJesusChrist.org

ภาพ
ผู้หญิงกำลังยิ้ม

พัฒนาการทางเพศของเราซับซ้อนและได้รับอิทธิพลจากปัจจัยหลายอย่าง ความรู้สึกเสน่หาเพศเดียวกันมีระดับความรุนแรงต่างกัน ผันผวนตลอดเวลา และทุกคนรู้สึกไม่เหมือนกัน ศาสนจักรไม่มีจุดยืนทางการเกี่ยวกับสาเหตุของความเสน่หาเพศเดียวกัน (ดู “Same-Sex Attraction: Individuals,” ChurchofJesusChrist.org)

ด้วยความรักลึกซึ้งต่อบุตรธิดาของพระองค์ พระบิดาบนสวรรค์จึงประทานกฎแห่งความบริสุทธิ์ทางเพศให้เราและทรงบัญชาว่าความสัมพันธ์ทางเพศเกิดขึ้น “ระหว่างชายและหญิงผู้ซึ่งแต่งงานตามกฎหมายในฐานะสามีและภรรยาเท่านั้น” (“ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก”) กฎนี้คุ้มครองจุดประสงค์อันศักดิ์สิทธิ์ของเรื่องทางเพศในแผนของพระผู้เป็นเจ้าและประยุกต์ใช้กับลูกๆ ทุกคนของพระผู้เป็นเจ้า พระบิดาบนสวรรค์ทรงกำหนดให้ความสัมพันธ์ทางเพศเกิดขึ้นระหว่างชายหญิงภายในพันธสัญญาการแต่งงาน “เพื่อให้กำเนิดบุตรและแสดงความรัก” (Gospel Topics, “Chastity,” topics.ChurchofJesusChrist.org)

เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สันกล่าวตอบโต้แรงกดดันทางสังคมให้ปรับเปลี่ยนคำสอนเกี่ยวกับกฎแห่งความบริสุทธิ์ทางเพศว่า

ภาพ
เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สัน

กฎแห่งความบริสุทธิ์ทางเพศใช้กันมาตั้งแต่ต้น … หลักคำสอนของเรา—ไม่ใช่แค่ความเชื่อ แต่หลักคำสอน—ที่ว่าความสัมพันธ์ทางเพศเหมาะสมและถูกต้องในสายพระเนตรของพระเจ้าระหว่างชายหญิงที่แต่งงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้นไม่เปลี่ยนและจะไม่มีวันเปลี่ยน (ใน Sarah Jane Weaver, “Church’s Doctrine on Chastity Will Never Change, Says Elder Christofferson,” Church News, Feb. 5, 2015, ChurchofJesusChrist.org)

สำคัญที่ต้องแยกแยะระหว่างความรู้สึกกับพฤติกรรม การประสบความเสน่หาเพศเดียวกันหรือการเป็นเกย์ เลสเบียน หรือรักร่วมสองเพศไม่ได้ทำให้คนๆ นั้นมีบาป เลวทราม หรือหยาบช้า แต่การทำตามความรู้สึกเหล่านี้โดยฝ่าฝืนกฎแห่งความบริสุทธิ์ทางเพศคือการละเมิดพระบัญญัติของพระบิดาบนสวรรค์

ภาพ
คนหนุ่มสาวพูดคุยกันระหว่างอาหารกลางวัน

เมื่อพูดถึงจุดยืนของศาสนจักรเกี่ยวกับความเสน่หาเพศเดียวกัน ประธานเอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ดแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่า

ภาพ
ประธานเอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด

ศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายเชื่อว่า “ประสบการณ์เรื่องความเสน่หาเพศเดียวกันเป็นความจริงที่ซับซ้อนสำหรับหลายคน ความเสน่หาในตัวมันเองไม่ใช่บาป แต่การทำตามความเสน่หาเป็นบาป ถึงแม้บุคคลไม่ได้เลือกมีความเสน่าหาเช่นนั้น แต่พวกเขาเลือกวิธีตอบสนอง” [ดู Same-Sex Attraction: Individuals, “Is Feeling Same-Sex Attraction a Sin?” section, ChurchofJesusChrist.org] (“The Lord Needs You Now!,” Ensign, Sept. 2015, 29)

พระเมตตาของพระเจ้ามีให้ทุกคนที่เคยฝ่าฝืนกฎแห่งความบริสุทธิ์ทางเพศ ถ้าพวกเขาเลือกมาหาพระองค์และกลับใจ พระองค์จะให้อภัยพวกเขา

ถ้าสมาชิกศาสนจักรผู้ประสบความเสน่หาเพศเดียวกันหรือระบุตนเป็นแอลจีบีทีรักษาพันธสัญญาของตน พวกเขาสามารถมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในศาสนจักร รับการเรียก และนมัสการในพระวิหาร (ดู ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สัน, “LGBT People Who Live God’s Laws Can Fully Participate in the Church” [0:48], ChurchofJesusChrist.org; ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 97:8 ด้วย)

ถ้าท่านประสบความเสน่หาเพศเดียวกัน ให้พิจารณาว่าแหล่งข้อมูลที่อ้างไว้ในหมวด “ต้องการเรียนรู้มากขึ้นหรือไม่? จะเป็นพรแก่ชีวิตท่านได้อย่างไร นอกจากนี้ถ้าท่านรู้สึกสะดวกใจ ท่านอาจบอกเล่าประสบการณ์ของท่านกับสมาชิกครอบครัว เพื่อน หรือผู้นำศาสนจักรที่ท่านไว้วางใจ จงระวังเรื่องการประกาศตนต่อสาธารณชนในลักษณะที่จะเบนจากเป้าหมายนิรันดร์ของท่าน

ภาพ
ไอคอน ไตร่ตรอง

ไตร่ตรองเพื่อเตรียมเข้าชั้นเรียน

ท่านจะได้รับพรอย่างไรจากการเข้าใจสิ่งที่ผู้นำศาสนจักรกำลังสอนเกี่ยวกับความเสน่หาเพศเดียวกันมากขึ้น?

หมวดที่ 3

ฉันจะเข้าใจความเห็นที่ขัดแย้งกันทั้งหมดเกี่ยวกับความเสน่หาเพศเดียวกันได้อย่างไร?

ปัจจุบันมีมุมมองแตกต่างมากมายเกี่ยวกับหัวข้อเรื่องการแต่งงาน ครอบครัว ความเสน่หาเพศเดียวกัน และแอลจีบีที ขณะเรียนรู้เกี่ยวกับหัวข้อเหล่านี้สำคัญที่เราต้องพยายามเข้าใจมุมมองนิรันดร์ของพระบิดาบนสวรรค์ให้ดีขึ้น

ประธานบิงแฮมสอนดังนี้:

ภาพ
ประธานจีน บี. บิงแฮม

จุดที่ทำให้มองเห็นทุกอย่างชัดเจนคือมุมมองนิรันดร์: มุมมองอันสมบูรณ์ที่เห็นรอบด้านของพระบิดาบนสวรรค์ของเรา …

จากจุดที่ทรงมองเห็นกว้างกว่าเรา พระผู้เป็นเจ้าจึงทรงมองเห็นเราและทุกสิ่งรอบตัวเรา “ดังที่มันเป็นจริง, และ … ดังที่มันจะเป็นจริง” [เจคอบ 4:13] มุมมองของพระองค์อยู่ระยะยาวไม่จำกัดเฉพาะที่นี่และตอนนี้ พระองค์จึงทรงมองเห็นศักยภาพอันสูงส่งของเราไม่ใช่แค่สภาพปัจจุบันหรืออดีตของเรา และทรงมองดูงานสร้างทั้งหมดของพระองค์ผ่านเลนส์แห่งความรัก (“How to Be Happy Now—and Forever” [การให้ข้อคิดทางวิญญาณมหาวิทยาลัยบริคัมยังก์, 10 ธ.ค. 2019], 2, speeches.byu.edu)

ขณะที่ท่านอ่านความจริงและข้อความสนับสนุนต่อไปนี้จากศาสดาพยากรณ์และอัครสาวก ให้พิจารณาว่าความจริงและข้อความเหล่านั้นจะช่วยให้ท่านมีมุมมองนิรันดร์ชัดขึ้นได้อย่างไรเกี่ยวกับความเสน่หาเพศเดียวกัน

  1. พระบิดาบนสวรรค์ทรงรักบุตรธิดาทุกคนของพระองค์ (ดู 1 นีไฟ 11:17; 1 ยอห์น 4:9–10, 16)

    ประธานมอนสันสอนว่า

    ภาพ
    ประธานโธมัส เอส. มอนสัน

    พระบิดาบนสวรรค์ทรงรักท่าน—ทุกๆ ท่าน ความรักนั้นไม่มีวันเปลี่ยน … มีให้ท่านยามท่านทุกข์หรือสุข สิ้นหวังหรือมีหวัง ความรักของพระผู้เป็นเจ้ามีให้ท่านไม่ว่าท่านจะรู้สึกว่าสมควรได้รับหรือไม่ก็ตาม (“เราไม่มีวันเดินตามลำพัง,” เลียโฮนา, พ.ย. 2013, 123, 124)

  2. พระผู้ช่วยให้รอดเข้าพระทัยประสบการณ์ของเราอย่างถ่องแท้และทรงรู้วิธีช่วยเหลือและทำให้เราแต่ละคนเข้มแข็ง (ดู แอลมา 7:11–12)

    ประธานโอ๊คส์กล่าวว่า

    ภาพ
    ประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์

    พระผู้ช่วยให้รอดของเราทรงประสบและทรงทนรับความท้าทายทั้งหมดในมรรตัยอย่างครบถ้วน … ด้วยเหตุนี้จึงทรงทราบการต่อสู้ดิ้นรนของเรา ความปวดใจ การล่อลวง และการทนทุกข์ของเรา เพราะพระองค์เต็มพระทัยประสบทั้งหมดนั้นเป็นส่วนจำเป็นของการชดใช้ของพระองค์ และเพราะเหตุนี้การชดใช้จึงทำให้พระองค์มีพลังช่วยเหลือเรา—ทำให้เรามีกำลังเแบกรับทั้งหมดนั้น (ดู “จงเสริมสร้างความเข้มแข็งด้วยการชดใช้ของพระเยซูคริสต์,” เลียโฮนา, พ.ย. 2015, 61–62)

  3. เราทุกคนมีที่ในศาสนจักรของพระผู้ช่วยให้รอดและในแผนนิรันดร์แห่งความสุขของพระบิดาบนสวรรค์ (ดู สดุดี 84:11–12; 1 โครินธ์ 12:12–26; โมไซยาห์ 2:41)

    ประธานบัลลาร์ดอธิบายว่า

    ภาพ
    ประธานเอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด

    ข้าพเจ้าต้องการให้สมาชิกทุกคนของศาสนจักรที่เป็นเกย์หรือเลสเบียนรู้ว่าข้าพเจ้าเชื่อว่าท่านมีที่ในอาณาจักรและข้าพเจ้ารับรู้ว่าบางครั้งมันยากที่ท่านจะเห็นตนเหมาะจะอยู่ในศาสนจักรของพระเจ้า แต่ท่านเหมาะจะอยู่ (“Questions and Answers” [การให้ข้อคิดทางวิญญาณมหาวิทยาลัยบริคัมยังก์, 14 มิ.ย. 2017], 3, speeches.byu.edu)

    บางคนที่ประสบความเสน่หาเพศเดียวกันสงสัยเช่นกันว่าพวกเขาเหมาะกับแผนแห่งความสุขของพระบิดาบนสวรรค์หลังจากชีวิตนี้อย่างไร ศาสดาพยากรณ์รับรองกับเราว่าพระบิดาบนสวรรค์ผู้ทรงรักเราจะประทานพรทุกคนที่หันมาหาพระองค์และยังคงซื่อสัตย์ต่อพระองค์ เอ็ลเดอร์ยูลิซีส ซวาเรสแนะนำว่า

    ภาพ
    เอ็ลเดอร์ยูลิซีส ซวาเรส

    หลักธรรมเดียวกันนี้ประยุกต์ใช้กับท่านที่กำลังเสน่หาเพศเดียวกันและรู้สึกท้อแท้สิ้นหวัง และอาจเป็นเพราะเหตุผลนี้บางท่านจึงรู้สึกว่าพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ไม่ใช่สำหรับท่านอีกต่อไป ถ้าเป็นกรณีนี้ ข้าพเจ้าขอรับรองกับท่านว่ามีความหวังเสมอในพระผู้เป็นเจ้าพระบิดากับแผนแห่งความสุขของพระองค์ ในพระเยซูคริสต์กับการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ของพระองค์ และในการดำเนินชีวิตตามพระบัญญัติอันเปี่ยมด้วยความรักของพระองค์ ในพระปรีชาญาณ เดชานุภาพ ความยุติธรรม และพระเมตตาของพระองค์ พระเจ้าจะทรงผนึกเราไว้เป็นของพระองค์ เพื่อจะทรงนำเราไปที่ประทับของพระองค์และมีความรอดอันเป็นนิจ ถ้าเราแน่วแน่และไม่หวั่นไหวในการรักษาพระบัญญัติ [ดู แอลมา 1:25] และเต็มไปด้วยงานดีอยู่เสมอ [ดู โมไซยาห์ 5:15] (““แบกกางเขนของเรา,” เลียโฮนา, พ.ย. 2019, 114)

  4. เมื่อเรามุ่งเน้นที่พระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ และรักษาพันธสัญญาของเรากับพระองค์ เราจะมีความหวังค้ำจุน (ดู 2 นีไฟ 31:20)

    ประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟเป็นพยานเมื่อครั้งอยู่ในฝ่ายประธานสูงสุดว่า

    ภาพ
    ประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ

    เราหวังในพระเยซูพระคริสต์ ในพระกรุณาธิคุณของพระผู้เป็นเจ้า ในการแสดงให้ประจักษ์ของพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ ในความรู้ที่ว่าพระองค์ทรงได้ยินและตอบคำสวดอ้อนวอน … ความหวังเช่นนี้ … ทำให้เราเกิดความกล้าระหว่างความท้าทายยากๆ และให้พลังแก่คนที่รู้สึกว่าถูกข่มขวัญด้วยความกลัว ความสงสัย และความสิ้นหวังรอบด้าน (ดู “พลังอันไร้ขอบเขตของความหวัง,” เลียโฮนา, พ.ย. 2008, 28)

ภาพ
ภาพพระคริสต์ โดย ไฮน์ริค ฮอฟแมนน์
ภาพ
ไอคอน สนทนา

สนทนาเพื่อเตรียมเข้าชั้นเรียน

สนทนากับสมาชิกครอบครัวหรือเพื่อนที่ท่านไว้วางใจว่าท่านได้เรียนรู้อะไรและรู้สึกอย่างไรขณะอ่านเนื้อหานี้ มาชั้นเรียนพร้อมแบ่งปันข้อคิดที่ท่านได้จากการสนทนาของท่าน