สถาบัน
บทที่ 8 สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู: ชีวิตหลังความตาย


“บทที่ 8 สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู: ชีวิตหลังความตาย” สื่อการเรียนการสอนสำหรับครูเกี่ยวกับคำสอนและหลักคำสอนของพระคัมภีร์มอรมอน (2021)

“บทที่ 8 สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู” สื่อการเรียนการสอนสำหรับครูเกี่ยวกับคำสอนและหลักคำสอนของพระคัมภีร์มอรมอน

บทที่ 8 สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู

ชีวิตหลังความตาย

เมื่อนักเรียนสรุปหน่วยที่ 2 “แผนอันสำคัญยิ่งแห่งการไถ่” นักเรียนจะมีโอกาสอธิบายว่าความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับชีวิตหลังความตายสามารถช่วยเพิ่มการปลอบโยนและความหวังในชีวิตนี้ได้อย่างไร นักเรียนจะระบุถึงการกระทำที่ตนสามารถทำได้เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมยิ่งขึ้นสำหรับการพบพระผู้เป็นเจ้า

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

แอลมาและอมิวเล็คสอนเกี่ยวกับโลกวิญญาณและการฟื้นคืนชีวิต

เริ่มชั้นเรียนด้วยการแบ่งปันสถานการณ์ต่อไปนี้และเชื้อเชิญให้นักเรียนสนทนาเกี่ยวกับสิ่งที่ตนจะพูดหรือวิธีที่ตนจะตอบสนอง:

ลองจินตนาการว่าท่านกำลังจะไปเยี่ยมครอบครัวของเพื่อนสนิทชื่อแอนนาที่เพิ่งเสียชีวิต แอนนาเข้าร่วมศาสนจักรไม่กี่เดือนก่อน ครอบครัวของเธอไม่เคร่งศาสนา ขณะที่ท่านแสดงความเห็นใจมารดาของแอนนา เธอจับมือและมองดวงตาของท่านแล้วพูดว่า “คุณบอกฉันได้ไหมว่าจะเกิดอะไรขึ้นหลังจากที่เราตาย?”

เชื้อเชิญให้นักเรียนทบทวน แอลมา 11:43–44 และ แอลมา 40:11–14 แล้วค้นหาความจริงเกี่ยวกับชีวิตหลังความตายที่อาจปลอบโยนและให้ความหวังแก่มารดาของแอนนา (นักเรียนอาจระบุหลักธรรมทำนองนี้: เพราะพระเยซูคริสต์ ทุกคนจะฟื้นคืนชีวิตและยืนรับการพิพากษาเบื้องพระพักตร์พระผู้เป็นเจ้า ในการฟื้นคืนชีวิต ร่างกายเราจะสมบูรณ์แบบ หากเราเป็นคนชอบธรรม เราจะหยุดพักจากปัญหาและความเศร้าเสียใจของเราทั้งหมดในโลกวิญญาณ)

เชื้อเชิญให้นักเรียนพิจารณาในใจว่าใครบ้างที่อาจจำเป็นต้องฟังประจักษ์พยานของนักเรียนเกี่ยวกับชีวิตหลังความตาย และวิธีที่นักเรียนสามารถแบ่งปันประจักษ์พยานของตนให้กับผู้ที่จำเป็นต้องฟัง (ให้เวลานักเรียนไตร่ตรองคำตอบของตน)

หมายเหตุ: นักเรียนอาจเคยได้ยินแนวคิดที่แตกต่างกันเกี่ยวกับชีวิตหลังความตาย เตือนความจำนักเรียนว่าเราควรใช้แหล่งช่วยที่กำหนดไว้จากสวรรค์ เช่น พระคัมภีร์และคำสอนของผู้นำศาสนจักร เพื่อประเมินแนวคิดเหล่านี้ ท่านอาจพบว่าการแบ่งปันและการสนทนาข้อควรระวังต่อไปนี้จากประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์ เป็นสิ่งที่มีประโยชน์:

ภาพ
ประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์

แล้วเรารู้อะไรอีกเกี่ยวกับโลกวิญญาณ [นอกจากสิ่งที่เราเรียนรู้จากหลักศาสนาของพระคัมภีร์]? สมาชิกจำนวนมากของศาสนจักรเคยเห็นนิมิตหรือการดลใจอื่นที่บอกพวกเขาว่าในโลกวิญญาณดำเนินการและจัดระเบียบอย่างไร แต่เราต้องไม่สอนหรือเข้าใจว่าประสบการณ์ทางวิญญาณส่วนตัวเหล่านี้เป็นหลักคำสอนที่เป็นทางการของศาสนจักร และแน่นอนว่ามีการคาดเดามากมายจากสมาชิกและคนอื่นๆ ในสื่อเผยแพร่ทั้งหลาย เช่น หนังสือเกี่ยวกับประสบการณ์ใกล้ตาย (“จงวางใจในพระเจ้า,” เลียโฮนา, พ.ย. 2019, 27)

แอลมาและอมิวเล็คสอนว่าเราควรเตรียมตัวเพื่อพบกับพระผู้เป็นเจ้า

ให้ดูข้อความต่อไปนี้

  • ฉันรู้จักบุคคลที่ละเมิดพระบัญญัติและพูดว่า “มันไม่ใช่เรื่องใหญ่นัก เพราะฉันสามารถกลับใจภายหลังได้เสมอ”

  • พระ‍ผู้เป็นเจ้า​ทรงเปี่ยมด้วยความรัก พระองค์จะไม่ทรงกีดกันฉันจากอาณาจักรซีเลสเชียลเพียงเพราะฉันทิ้งการกลับใจต่อบาปบางประการ

  • ไม่ว่าฉันจะพยายามอย่างหนักมากเพียงใด ฉันมักจะทำได้ไม่ดีพอและไม่มีวันพร้อมที่จะพบกับพระผู้เป็นเจ้า

ท่านอาจแบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่มเล็กๆ และขอให้แต่ละกลุ่มเลือกข้อความใดข้อความหนึ่งข้างต้นที่นักเรียนต้องการสนทนา เชื้อเชิญให้แต่ละกลุ่มอ่าน แอลมา 34:32–34 และใช้คำสอนในข้อพระคัมภีร์นี้เพื่อประเมินข้อความที่นักเรียนเลือก ท่านอาจให้คำถามต่อไปนี้กับแต่ละกลุ่มเพื่อช่วยให้การสนทนาของนักเรียนมีความลึกซึ้งยิ่งขึ้น:

  • ส่วนใดของข้อความนี้เป็นความจริงและส่วนใดที่อาจเป็นเท็จหรือทำให้เข้าใจผิด?

  • หลักธรรมข้อใดที่สอนใน แอลมา 34:32–34 ที่มีความเกี่ยวข้องกับข้อความนี้มากที่สุด? ท่านจะอธิบายหลักธรรมเหล่านี้กับบางคนที่เป็นผู้กล่าวข้อความนี้อย่างไร? (นักเรียนอาจระบุและอธิบายหลักธรรมบางข้อดังต่อไปนี้: ชีวิตนี้เป็นเวลาที่จะเตรียมตัวเพื่อพบพระผู้เป็นเจ้าและทำงานของเรา เราเตรียมพบพระผู้เป็นเจ้าด้วยการกลับใจและพัฒนาในวันนี้ หากเราผัดวันกลับใจของเรา เราจะไม่พร้อมที่จะพบกับพระผู้เป็นเจ้า)

หลังจากนักเรียนมีเวลาสนทนาคำถามเหล่านี้แล้ว ให้เชิญบางกลุ่มมาแบ่งปันสิ่งที่ตนเรียนรู้ร่วมกับชั้นเรียน

  • มีสิ่งใดอีกบ้างที่ทำให้ผู้คนไม่พร้อมจะพบกับพระผู้เป็นเจ้า (เขียนคำตอบของนักเรียนไว้บนกระดาน)

ปรับปรุงการสอนและการเรียนของเรา

ให้เวลานักเรียนไตร่ตรอง วิธีหนึ่งที่เราจะช่วยให้นักเรียนสามารถใช้ใจของตนทำความเข้าใจได้ดียิ่งขึ้นคือการให้ “เวลานักเรียนในชั้นได้ใคร่ครวญ ไตร่ตรอง หรือเขียนสิ่งที่พวกเขาเข้าใจและรู้สึก ตลอดจนพิจารณาว่าพวกเขาควรดำเนินการเรื่องใดบ้างเพื่อประยุกต์ใช้ในชีวิตพวกเขา” (Gospel Teaching and Learning: A Handbook for Teachers and Leaders in Seminaries and Institutes of Religion [2012], 2.5.4) อาจดูวีดิทัศน์ “2.5.4 The Importance and Power of Pondering” (0:31) เพื่อรับความเข้าใจลึกซึ้งเพิ่มเติมเกี่ยวกับหัวข้อนี้

เตือนความจำนักเรียนว่าแอลมาถามคำถามเชิงการค้นหาจิตวิญญาณกับผู้คนในเซราเฮ็มลา (นักเรียนทบทวนคำถามเหล่านี้ขณะศึกษา แอลมา 5:15–17, 19, 27, 33 ใน หมวดที่ 3 ของสื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน) เชื้อเชิญให้นักเรียนใช้เวลาสองสามนาทีเพื่อศึกษาให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นด้วยการทบทวนซ้ำและไตร่ตรองคำถามและคำสอนของแอลมาที่พบใน แอลมา 5:14–35 ท่านอาจต้องการช่วยให้นักเรียนทราบว่าสิ่งที่นักเรียนไตร่ตรองนั้นสำคัญกว่าจำนวนข้อที่ครอบคลุม

หลังจากระยะเวลาผ่านไปเพียงพอแล้ว ท่านอาจต้องการถามคำถามต่อไปนี้หนึ่งข้อหรือทั้งสองข้อเพื่อให้นักเรียนไตร่ตรอง:

  • พระผู้ช่วยให้รอดจะช่วยท่านในทางใดขณะที่ท่านพยายามเตรียมพบพระผู้เป็นเจ้า?

  • การเปลี่ยนแปลงใดที่ท่านจำเป็นต้องทำในวันนี้เพื่อให้ท่านพร้อมพบพระผู้เป็นเจ้ามากขึ้น?

ท่านอาจแบ่งปันคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานโอ๊คส์:

ภาพ
ประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์

การพิพากษาครั้งสุดท้ายไม่เพียงเป็นการประเมินความดีชั่วทั้งหมดที่เรา ทำ ไว้เท่านั้น แต่เป็นการยอมรับผลในบั้นปลายของการกระทำและความคิดที่เรา เป็น (“การท้าทายเพื่อที่จะเป็น,” เลียโฮนา, ม.ค. 2001, 47)

ท่านอาจขอให้นักเรียนคิดเกี่ยวกับสิ่งที่นักเรียนปรารถนาจะเป็น ท่านอาจแบ่งปันประจักษ์พยานของท่านว่าพระบิดาบนสวรรค์และพระผู้ช่วยให้รอดทรงมีความปรารถนาและความสามารถที่จะช่วยเหลือนักเรียนให้กลายเป็นคนที่มีสันติสุขในที่ประทับของพระองค์

กระตุ้นให้นักเรียนไตร่ตรอง วางแผน หรือเขียนการกระทำที่เฉพาะเจาะจงที่นักเรียนต้องดำเนินการในวันนี้ เพื่อแสดงออกถึงความปรารถนาอย่างจริงใจที่จะเตรียมพบพระผู้เป็นเจ้ามากขึ้น (อาจเป็นประโยชน์ที่จะทบทวน คำกล่าวของประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์ในหมวดที่ 3 ของสื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน)

ท่านสามารถสรุปชั้นเรียนโดยเชื้อเชิญให้นักเรียนแบ่งปันสิ่งที่ตนเรียนรู้จากประสบการณ์ร่วมกันในการศึกษาหน่วยที่ 2 “แผนอันสำคัญยิ่งแห่งการไถ่” นอกจากนี้ท่านยังสามารถเชื้อเชิญให้นักเรียนมาเป็นพยานว่าความรู้นี้ส่งผลต่อความสำนึกคุณของนักเรียนในพระผู้ช่วยให้รอด และความปรารถนาของพวกเขาที่จะเป็นเหมือนพระองค์มากขึ้นอย่างไร

สำหรับครั้งต่อไป

เป็นพยานว่าพระเจ้าทรงเตรียมทางให้เราแต่ละคนกลับไปยังที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้า ทางดังกล่าวที่ให้เราที่จะกลับไปหาพระองค์เรียกว่าหลักคำสอนของพระคริสต์ และหัวข้อดังกล่าวเป็นจุดมุ่งหมายของ หน่วยต่อไป ของเรา ขณะที่นักเรียน เตรียมตัวสำหรับชั้นเรียนต่อไป เชื้อเชิญให้พวกเขาพิจารณาว่าการมีศรัทธาในพระเยซูคริสต์จะเตรียมพวกเขาให้พร้อมพบพระผู้เป็นเจ้าได้อย่างไร