สถาบัน
บทที่ 14 สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู: การเป็นเครื่องมือในพระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้า


“บทที่ 14 สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู: การเป็นเครื่องมือในพระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้า” สื่อการเรียนการสอนสำหรับครูเกี่ยวกับคำสอนและหลักคำสอนของพระคัมภีร์มอรมอน (2021)

“บทที่ 14 สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู” สื่อการเรียนการสอนสำหรับครูเกี่ยวกับคำสอนและหลักคำสอนของพระคัมภีร์มอรมอน

บทที่ 14 สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู

การเป็นเครื่องมือในพระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้า

หลังจากบุตรของโมไซยาห์กลับใจและเปลี่ยนใจเลื่อมใสสู่พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ พวกเขากลายเป็นผู้สอนศาสนาอันทรงพลังและช่วยให้ชาวเลมันหลายคนมาหาพระองค์ บทเรียนนี้จะเปิดโอกาสให้นักเรียนแบ่งปันว่าการเสริมสร้างความเข้มแข็งในการเปลี่ยนใจเลื่อมใสของตนเองสามารถเพิ่มความปรารถนาในการแบ่งปันพระกิตติคุณกับผู้อื่นได้อย่างไร นักเรียนจะพิจารณาสิ่งที่ตนสามารถทำได้เพื่อเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นในพระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้า ขณะที่พวกเขารวบรวมอิสราเอลเพื่อเตรียมรับการเสด็จมาครั้งที่สองของพระเจ้า

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

แอลมาและบรรดาบุตรของโมไซยาห์เปลี่ยนใจเลื่อมใสและไปสั่งสอนชาวเลมัน

ให้ดูข้อความต่อไปนี้ ขอให้นักเรียนให้คะแนนตนเองในใจ สำหรับแต่ละข้อความในระดับคะแนนตั้งแต่ 1 ถึง 5 (1 = ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งและ 5 = เห็นด้วยอย่างยิ่ง)

  1. ฉันปรารถนาจะแบ่งปันพระกิตติคุณกับผู้อื่น

  2. ฉันสวดอ้อนวอนให้มีโอกาสแบ่งปันพระกิตติคุณ

  3. การแบ่งปันพระกิตติคุณเป็นเรื่องปกติและเป็นธรรมชาติในชีวิตของฉัน

  4. ฉันพยายามเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในพระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้าโดยการแบ่งปันพระกิตติคุณของพระองค์

หลังจากนักเรียนใช้เวลาประเมินด้วยตนเองครั้งนี้แล้ว ให้นักเรียนดูคำถามต่อไปนี้: ฉันจะทำอะไรได้บ้างเพื่อเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นในการแบ่งปันพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์? เชื้อเชิญให้นักเรียนฟังและบันทึกการกระตุ้นเตือนใดๆ ที่สามารถช่วยให้นักเรียนตอบคำถามนี้ได้

เตือนความจำนักเรียนว่าบรรดาบุตรของโมไซยาห์เป็นเครื่องมือในพระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้าเมื่อพวกเขาอดอาหารและสวดอ้อนวอนพระวิญญาณของพระองค์และสั่งสอนพระกิตติคุณของพระองค์ (ดู แอลมา 17:3, 9, 11; 26:3, 15) เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน โมไซยาห์ 27:35–36 และ โมไซยาห์ 28:1–3 มองหาว่าใจของบรรดาบุตรของโมไซยาห์เปลี่ยนแปลงหลังจากการเปลี่ยนใจเลื่อมใสของพวกเขาอย่างไร

ปรับปรุงการสอนและการเรียนของเรา

ถามคำถามที่เชื้อเชิญให้เกิดการเรียนรู้ในใจ เมื่อท่านสังเกตว่านักเรียนเข้าใจหลักธรรมพระกิตติคุณในจิตใจแล้ว ให้ถามคำถามที่สามารถผลักดันประสบการณ์การเรียนรู้ไปสู่ใจของนักเรียนได้ คำถามประเภทนี้ช่วยให้นักเรียนค้นหาใจของตนเอง อ้างอิงจากประสบการณ์ของตนเอง และบอกเล่าประจักษ์พยานของตนเอง คำถามดังกล่าวอาจอยู่ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งต่อไปนี้: “ท่านได้ประสบการณ์ … เมื่อใด?” “ท่านรู้จัก …ได้อย่างไร?” หรือ “ท่านรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับ … ?”

  • ท่านสังเกตเห็นอะไรเกี่ยวกับความปรารถนาของบรรดาบุตรของโมไซยาห์? เราสามารถเรียนรู้อะไรจากวิธีที่การเปลี่ยนใจเลื่อมใสของพวกเขามีอิทธิพลต่อความปรารถนาที่จะเป็นเครื่องมือในพระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้า? (ท่านอาจต้องการเชิญนักเรียนมาทบทวน คำกล่าวของประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์ในหมวดที่ 1 ของสื่อการเรียนการสอนสำหรับการเตรียมเข้าชั้นเรียน ใช้คำตอบของนักเรียนแล้วเขียนหลักธรรมทำนองนี้บนกระดาน: ขณะที่การเปลี่ยนใจเลื่อมใสของเราหยั่งลึกมากขึ้น ความปรารถนาและความเต็มใจของเราเพื่อเป็นเครื่องมือในพระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้าและแบ่งปันพระกิตติคุณก็จะเพิ่มขึ้น)

  • เหตุใดท่านจึงคิดว่าการทำให้การเปลี่ยนใจเลื่อมใสของเราลึกซึ้งขึ้นจะเสริมสร้างความปรารถนาของเราในการแบ่งปันพระกิตติคุณ? การทำความเข้าใจหลักธรรมนี้จะช่วยเราเตรียมตัวรับใช้งานเผยแผ่หรือการแบ่งปันพระกิตติคุณในชีวิตประจำวันของเราให้ดียิ่งขึ้นได้อย่างไร?

  • ตัวอย่างจากพระคัมภีร์หรือประวัติศาสนจักรที่แสดงให้เห็นถึงหลักธรรมข้อนี้มีอะไรบ้าง? ประสบการณ์ใดที่ช่วยให้ท่านทราบว่าหลักธรรมข้อนี้เป็นความจริง? (ท่านอาจต้องการเชื้อเชิญให้นักเรียนแบ่งปันตัวอย่างและประสบการณ์ส่วนตัวกับเพื่อนร่วมชั้น)

ให้เวลานักเรียนสองสามนาทีเพื่อทบทวนการประเมินตนเองที่นักเรียนทำและไตร่ตรองคำถามที่แนะนำไว้เมื่อเริ่มต้นชั้นเรียน ท่านอาจเชื้อเชิญให้นักเรียนบันทึกความคิดและความรู้สึกที่ตนมีในระหว่างชั้นเรียน

บรรดาบุตรของโมไซยาห์กลายเป็นเครื่องมือในพระหัตถ์ของพระเจ้า

เชื้อเชิญให้นักเรียนบอกเล่าความท้าทายอย่างใดอย่างหนึ่งที่เคยเผชิญขณะพยายามแบ่งปันพระกิตติคุณ (ท่านอาจต้องจดคำตอบของนักเรียนบนกระดานและสนทนาว่าความท้าทายเหล่านี้สามารถกันไม่ให้เราแบ่งปันพระกิตติคุณได้อย่างไร)

เขียนข้อความที่ไม่สมบูรณ์ต่อไปนี้บนกระดาน: เราสามารถกลายเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นในพระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้าขณะที่เรา …

ทบทวนความท้าทายที่เกิดขึ้นกับบรรดาบุตรของโมไซยาห์ขณะที่พวกเขาเริ่มสั่งสอนพระกิตติคุณท่ามกลางชาวเลมันโดยสังเขป (ดู หมวดที่ 2 ของสื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน) เชื้อเชิญให้นักเรียนทบทวน แอลมา 17:2–3, 9–11 และค้นหาว่าพวกบุตรของโมไซยาห์ทำอะไรเพื่อเอาชนะความท้าทายของตนและกลายเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นในพระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้า

  • จากสิ่งที่เราเรียนรู้จากบรรดาบุตรของโมไซยาห์ เราจะเติมข้อความบนกระดานให้เป็นหลักธรรมที่สมบูรณ์ได้อย่างไร? (ใช้ถ้อยคำของนักเรียน เติมข้อความให้สมบูรณ์เพื่อให้เป็นหลักธรรมทำนองนี้: เราสามารถกลายเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นในพระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้าได้เมื่อเราสวดอ้อนวอน อดอาหาร และค้นคว้าพระคัมภีร์)

เชื้อเชิญให้นักเรียนตระหนักถึงพรทางวิญญาณที่มายังผู้สอนศาสนาเหล่านี้ขณะที่พวกเขาสวดอ้อนวอน อดอาหาร และค้นคว้าพระคัมภีร์ใน แอลมา 17:2–3 (ช่วยนักเรียนระบุหลักธรรมอีกข้อหนึ่งทำนองนี้: เมื่อเราสวดอ้อนวอน อดอาหาร และค้นคว้าพระคัมภีร์ เราสามารถรับวิญญาณแห่งการเปิดเผย)

  • วิญญาณแห่งการเปิดเผยช่วยให้แอมันเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในพระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้าอย่างไร? (ท่านอาจต้องการเชื้อเชิญให้นักเรียนเล่าเรื่องราวประสบการณ์ของแอมันกับกษัตริย์ลาโมไนโดยสังเขป จากนั้นอ่าน แอลมา 18:33–35)

  • เพราะเหตุใดการมีวิญญาณแห่งการเปิดเผยจึงสำคัญมากขณะที่เราหมายมั่นเป็นเครื่องมือในพระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้า?

  • วิญญาณแห่งการเปิดเผยช่วยให้ท่านเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นในพระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้าอย่างไร?

จากนั้นเชื้อเชิญให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน:

ภาพ
ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน

เมื่อเราพยายามฟัง—ตั้งใจฟัง—[พระเยซูคริสต์] เราจะได้รับการนำทางให้รู้ว่าต้องทำอะไรในสภาวการณ์นั้นๆ …

ข้าพเจ้าขอร้องอีกครั้งให้ท่านทำ ทุกวิถีทาง เพื่อเพิ่มสมรรถภาพทางวิญญาณให้พร้อมรับการเปิดเผยส่วนตัว (“ฟังพระองค์,” เลียโฮนา, พ.ค. 2020, 89, 90)

เชิญนักเรียนมาทบทวน คำกล่าวของเอ็ลเดอร์ดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟในหมวดที่ 3 ของสื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน และไตร่ตรองคำถามต่อไปนี้:

  • ฉันสามารถเชิญใครให้มาอยู่ใกล้พระผู้ช่วยให้รอดมากขึ้น?

  • ฉันจะทำอะไรได้บ้างในการเป็นเครื่องมือในพระหัตถ์ของพระเจ้า เพื่อช่วยคนเหล่านั้นให้เข้าใกล้พระคริสต์มากขึ้น?

ท่านอาจต้องการให้เวลานักเรียนบันทึกความคิดและความรู้สึกของตน นอกจากนี้ท่านอาจเชื้อเชิญนักเรียนคนใดคนหนึ่งที่ยินดีแบ่งปันสิ่งที่ตนวางแผนว่าจะทำ

ชี้ให้เห็นว่าเนื่องจากการเตรียมของพวกเขา จึงทำให้บรรดาบุตรของโมไซยาห์ได้รับวิญญาณแห่งคำพยากรณ์และสามารถสอนด้วยพลังอำนาจและสิทธิอำนาจ (อาจเป็นประโยชน์ที่จะอธิบายว่าวลี “วิญญาณแห่งคำพยากรณ์” สามารถอ้างถึง “ประจักษ์พยานของพระเยซู” ได้ [วิวรณ์ 19:10]) ทำให้นักเรียนมั่นใจว่าเราเองก็สามารถได้รับพรที่คล้ายคลึงกันขณะที่เราเตรียมตัวเป็นเครื่องมือในพระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้า

ท่านอาจแบ่งปันประจักษ์พยานของท่านว่าด้วยความช่วยเหลือจากพระเจ้า เราแต่ละคนสามารถเป็นเครื่องมือในพระหัตถ์ของพระองค์และช่วยกันรวบรวมอิสราเอล

สำหรับครั้งต่อไป

ขอให้นักเรียนพิจารณาถึงความพร้อมที่ตนรู้สึกต่อการเสด็จมาครั้งที่สองของพระคริสต์ อธิบายว่าหน่วยถัดไปเป็นเรื่องเกี่ยวกับการมาเยือนชาวนีไฟของพระผู้ช่วยให้รอดในทวีปอเมริกา ขณะที่นักเรียน เตรียมตัวสำหรับชั้นเรียนต่อไป กระตุ้นให้นักเรียนค้นหาว่าเหตุการณ์ใดที่นำไปสู่การปรากฏของพระผู้ช่วยให้รอดต่อชาวนีไฟที่สามารถสอนนักเรียนเกี่ยวกับการกลับมาของพระองค์ในวันเวลาสุดท้าย