สถาบัน
บทที่ 10 สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู: การกลับใจและการให้อภัย


“บทที่ 10 สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู: การกลับใจและการให้อภัย สื่อการเรียนการสอนสำหรับครูเกี่ยวกับคำสอนและหลักคำสอนของพระคัมภีร์มอรมอน (2021)

“บทที่ 10 สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู” สื่อการเรียนการสอนสำหรับครูเกี่ยวกับคำสอนและหลักคำสอนของพระคัมภีร์มอรมอน

บทที่ 10 สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู

การกลับใจและการให้อภัย

พระคัมภีร์มอรมอนนำเสนอความเข้าใจอันลึกซึ้งที่ไม่เหมือนใครในหลักคำสอนเกี่ยวกับการกลับใจและการให้อภัย ประสบการณ์ของอีนัส ผู้คนของกษัตริย์เบ็นจามิน และแอลมาผู้บุตรได้แสดงให้เห็นว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงเป็นบ่อเกิดอันสูงสุดของการให้อภัยและความสงบแห่งมโนธรรมของเรา ในบทเรียนนี้ นักเรียนจะมีโอกาสสนทนาคำถามเกี่ยวกับกระบวนการกลับใจและเรียนรู้ที่จะจดจำได้ดีขึ้นเมื่อพระผู้ช่วยให้รอดทรงให้อภัยพวกเขา นอกจากนี้นักเรียนจะได้พิจารณาถึงวิธีที่ตนสามารถกลับใจอย่างต่อเนื่องและเป็นเหมือนพระเยซูคริสต์มากขึ้นด้วย

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

แอลมาอธิบายวิธีที่เขาได้รับการให้อภัยจากพระผู้ช่วยให้รอด

แสดงคำถามสามข้อต่อไปนี้ในแต่ละพื้นที่ของห้องเรียน จัดเก้าอี้จำนวนหนึ่งเป็นวงกลมใกล้ๆ กับแต่ละคำถาม ชี้ให้เห็นว่าคำถามเหล่านี้คล้ายคลึงกับคำถามใน หมวดที่ 1 ของสื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน

  • กลับใจหมายความว่าอย่างไร? ท่านจะให้คำปรึกษาแก่ใครบางคนที่ผ่านขั้นตอนการกลับใจแต่ไม่รู้สึกถึงความแตกต่างใดๆ อย่างไร?

  • เราสามารถค้นหาพลังเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงได้อย่างไร? ท่านจะพูดอะไรกับบางคนที่รู้สึกท้อแท้เพราะเขาพยายามอย่างยิ่งที่จะทำให้ดีขึ้นแต่ยังคงทำผิดพลาดแบบเดิมอยู่เรื่อยไป?

  • จะทำเช่นไรหากใครสักคนรู้สึกสิ้นหวัง? ท่านจะช่วยใครสักคนที่รู้สึกว่าตนไม่ควรลำบากกับการกลับใจเพราะบาปของตนย่ำแย่อย่างยิ่งจนไม่มีทางได้รับการให้อภัยได้อย่างไร?

เชื้อเชิญให้นักเรียนจินตนาการว่าตนเป็นผู้สอนศาสนาที่กำลังเตรียมตอบคำถามชุดหนึ่งข้างต้นให้กับผู้สนใจ หรือพวกเขากำลังเตรียมช่วยเหลือบุคคลที่รักซึ่งกำลังต่อสู้ดิ้นรนในการกลับใจ จากนั้นขอให้นักเรียนนั่งเก้าอี้ใกล้กับคำถามที่ตนต้องการสนทนา กระตุ้นให้นักเรียนอ้างอิงจากเรื่องราวประสบการณ์ของแอลมาและข้อพระคัมภีร์อื่นๆ จากพระคัมภีร์มอรมอนซึ่งสามารถช่วยตอบคำถามของพวกเขาได้

มอบหมายผู้นำการสนทนาสำหรับแต่ละกลุ่ม และแจกสำเนาคำแนะนำที่พบในตอนท้ายของเนื้อหาบทเรียนนี้ให้แก่ผู้นำแต่ละคน ให้เวลาที่มากพอแก่กลุ่มเพื่อการสนทนาที่มีความหมาย

หลังจากให้เวลานักเรียนสนทนาแล้ว ท่านอาจต้องการเชื้อเชิญอาสาสมัครหนึ่งคนหรือมากกว่าจากแต่ละกลุ่มเพื่อให้ข้อสรุปสั้นๆ เกี่ยวกับสิ่งที่กลุ่มของตนเรียนรู้และรู้สึกระหว่างการสนทนา

อีนัส ผู้คนของกษัตริย์เบ็นจามิน และแอลมาประสบปีติและการให้อภัย

ขอให้นักเรียนพิจารณาว่านักเรียนหรือคนที่นักเรียนรู้จักเคยสงสัยหรือไม่ว่าจะทราบได้อย่างไรว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงให้อภัยบาปพวกเขาหรือไม่ เชื้อเชิญให้นักเรียนค้นหา อีนัส 1:4–8; โมไซยาห์ 4:1–3; และ แอลมา 36:19–21 มองหาวิธีที่จะทราบว่าเราได้รับการให้อภัยแล้ว

ปรับปรุงการสอนและการเรียนของเรา

ตระหนักในพลังของคำสอนที่มีพระคริสต์เป็นศูนย์กลาง แชด เอช. เว็บบ์ ผู้บริหารเซมินารีและสถาบันศาสนากล่าวกับบรรดาครูว่า: “วิธีการเดียวที่สำคัญที่สุดที่เราสามารถช่วยเพิ่มศรัทธาให้กับคนรุ่นใหม่ที่กำลังเติบโตคือ การให้พระเยซูคริสต์เป็นศูนย์กลางของคำสอนของเราอย่างสมบูรณ์มากขึ้นและการเรียนรู้ด้วยการช่วยให้นักเรียนของเรารู้จักพระองค์ เรียนรู้จากพระองค์ และพยายามด้วยสำนึกเพื่อกลายเป็นเหมือนพระองค์” (“We Talk of Christ, We Rejoice in Christ” [คำปราศรัยการถ่ายทอดการอบรมประจำปีของเซมินารีและสถาบันศาสนา, มิถุนายน 12, 2018], ChurchofJesusChrist.org) ขณะที่ท่านเตรียมการสอน ให้ถามตนเองว่า: ฉันจะช่วยให้นักเรียนรู้ รัก และติดตามพระผู้ช่วยให้รอดอย่างสมบูรณ์มากขึ้นผ่านประสบการณ์การเรียนรู้ครั้งนี้ได้อย่างไร?

  • ถ้อยคำหรือวลีใดในข้อเหล่านี้มีความโดดเด่นสำหรับท่าน? เหตุใดท่านจึงคิดว่าวลีเหล่านั้นดึงดูดความสนใจของท่าน?

  • เหตุใดจึงมีความสำคัญที่จะเชื่อและยอมรับว่าพระเยซูคริสต์มีความเต็มพระทัย มีความสามารถ และกระตือรือร้นที่จะให้อภัยบาปของเราและกำจัดความรู้สึกผิดจากบาปของเรา? (ท่านอาจเชื้อเชิญให้นักเรียนทบทวน หมวดที่ 3 ของสื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน)

  • เราจะรู้ได้อย่างไรว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงให้อภัยบาปของเราแล้ว? (ช่วยให้นักเรียนระบุหลักธรรมในทำนองต่อไปนี้: เมื่อเรากลับใจอย่างจริงใจและศรัทธาในพระเยซูคริสต์ พระองค์จะทรงให้อภัยเราและให้พรเราด้วยปีติและความสงบในมโนธรรม)

  • ท่านประสบปีติและสันติสุขของการให้อภัยจากพระเจ้าเมื่อใด และประสบการณ์นี้มีอิทธิพลต่อชีวิตท่านอย่างไร? (กระตุ้นให้นักเรียนพูดเกี่ยวกับความรู้สึกของการให้อภัย และไม่เฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับบาปของพวกเขา) ความคิดและความรู้สึกของท่านเกี่ยวกับความสามารถและความปรารถนาของพระผู้ช่วยให้รอดที่จะให้อภัยท่านคืออะไร?

ในระหว่างการสนทนา ท่านอาจพบว่าเป็นประโยชน์หากแบ่งปันคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์นีล แอล. แอนเดอร์เซ็น:

ภาพ
เอ็ลเดอร์นีล แอล. แอนเดอร์เซ็น

สำหรับผู้ที่กลับใจอย่างแท้จริงแต่ดูเหมือนจะรู้สึกไม่สบายใจ ขอให้รักษาพระบัญญัติต่อไป ข้าพเจ้าสัญญากับท่านว่าท่านจะสบายใจขึ้นตามตารางเวลาของพระเจ้า การเยียวยาต้องใช้เวลา (“จงกลับใจ … เพื่อเราจะรักษาเจ้า,” เลียโฮนา, พ.ย. 2009, 52)

หมายเหตุ: สำหรับนักเรียนที่อาจจะรู้สึกท้อแท้กับกระบวนการกลับใจเนื่องจากความพยายามของตนยังไม่เกิดผลเป็นความรู้สึกโล่งใจ ให้เสนอคำพูดให้กำลังใจและเชื้อเชิญให้นักเรียนหันไปหาพระเจ้าต่อไปและอาจแบ่งปันความกังวลที่เฉพาะเจาะจงของพวกเขากับอธิการ

ให้เวลานักเรียนในการประเมินชีวิตของตนและระบุสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ตนต้องการกลับใจ เชื้อเชิญให้นักเรียนบันทึกความประทับใจใดๆ ที่ตนได้รับ

แบ่งปันประจักษ์พยานของท่านในหลักคำสอนแห่งการกลับใจและการให้อภัย ท่านอาจเชื้อเชิญให้นักเรียนแบ่งปันประจักษ์พยานของพวกเขาเช่นกัน

สำหรับครั้งต่อไป

ถามนักเรียนว่าการรับบัพติศมาและพันธสัญญาอื่นๆ เป็นพรแก่ชีวิตของพวกเขาอย่างไร เชื้อเชิญนักเรียนขณะศึกษา สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน สำหรับชั้นเรียนถัดไป ให้คิดเกี่ยวกับเส้นทางพันธสัญญาของตนและวิธีที่การให้เกียรติพันธสัญญาผูกมัดนักเรียนต่อพระผู้ช่วยให้รอดและเดชานุภาพของพระองค์

การสนทนาเป็นกลุ่มเล็กๆ เกี่ยวกับการกลับใจ

สื่อการเรียนการสอนสำหรับครูเกี่ยวกับคำสอนและหลักคำสอนของพระคัมภีร์มอรมอน—บทที่ 10

หมายเหตุสำหรับผู้นำการสนทนา: โปรดใช้คำแนะนำเหล่านี้ในการอำนวยความสะดวกให้แก่การสนทนากับสมาชิกในกลุ่มของท่าน กระตุ้นให้สมาชิกทุกคนในกลุ่มมีส่วนร่วม อย่างไรก็ตาม อย่าบังคับ ไม่มีใครควรรู้สึกกดดันที่จะแบ่งปัน

เชื้อเชิญสมาชิกในกลุ่มให้ใช้เวลาสองสามนาทีทบทวน หมวดที่ 1 ของสื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน และข้อพระคัมภีร์ที่เกี่ยวข้อง (ดู โมไซยาห์ 27:35; แอลมา 36:12–13, 17–21, 24) ขอให้นักเรียนค้นหาหลักธรรมที่ใช้กับคำถามของกลุ่มของท่าน นอกจากนี้ให้เชิญสมาชิกกลุ่มเพื่อเตรียมแบ่งปันข้อพระคัมภีร์เพิ่มเติมที่พวกเขาอาจพบขณะเตรียมเข้าชั้นเรียนนี้

ตัดสินใจร่วมกันว่าคำถามใดต่อไปนี้ที่สำคัญที่สุดสำหรับการสนทนาในกลุ่มของท่าน ในการทำความเข้าใจแนวคิดเหล่านี้ให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น การสนทนาเกี่ยวกับคำถามหนึ่งหรือสองข้ออย่างละเอียดแทนการพยายามครอบคลุมคำถามทั้งหมดอย่างผิวเผินอาจเป็นสิ่งที่ดีกว่า

  • หลักธรรมใดที่เราสามารถเรียนรู้จากประสบการณ์ของแอลมาที่เกี่ยวข้องกับคำถามของเรา? ท่านได้รับพรในด้านใดบ้างจากการทำตามหลักธรรมเหล่านี้?

  • มีข้อพระคัมภีร์หรือคำสอนอื่นใดจากพระคัมภีร์มอรมอนที่จะช่วยตอบคำถามข้อนี้ได้? ความจริงที่สอนในข้อพระคัมภีร์เหล่านี้ช่วยให้ท่านประสบพลังแห่งการกลับใจได้อย่างไรบ้าง?

  • พระเยซูคริสต์ทรงมีบทบาทอะไรในการกลับใจของเรา? ท่านรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับความเต็มพระทัยของพระผู้ช่วยให้รอดที่จะให้อภัยบาปของท่าน?

  • พระบัญญัติว่าจะถวาย “ใจที่ชอกช้ำและวิญญาณที่สำนึกผิด” แด่พระผู้ช่วยให้รอด (3 นีไฟ 9:20) มีความเกี่ยวข้องกับคำถามของเราอย่างไร? (หากท่านสนทนาเกี่ยวกับคำถามสุดท้ายในหัวข้อย่อยนี้ ท่านอาจพบว่าเป็นประโยชน์ที่จะทบทวน 3 นีไฟ 9:19–20 และ คำกล่าวของเอ็ลเดอร์บรูซ ดี. พอร์เทอร์จากหมวดที่ 2 ของสื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน)

การสนทนาเป็นกลุ่มเล็กเกี่ยวกับการกลับใจ

ภาพ
เอกสารแจกจากครู