สถาบัน
สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน บทที่ 20: พรแห่งเสรีภาพทางศาสนา


“สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน บทที่ 20: พรแห่งเสรีภาพทางศาสนา” คำสอนและหลักคำสอนของพระคัมภีร์มอรมอน สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู (2021)

“สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน บทที่ 20” คำสอนและหลักคำสอนของพระคัมภีร์มอรมอน สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู

สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน บทที่ 20

พรแห่งเสรีภาพทางศาสนา

ภาพ
แม่ทัพโมโรไนยกธงแห่งเสรีภาพ (แม่ทัพโมโรไนกับธงแห่งเสรีภาพ) โดย อาร์โนลด์ ไฟร์บูร์ก

เสรีภาพทางศาสนามีความสำคัญต่อท่านเพียงใด? ดังที่กล่าวไว้ในเว็บไซต์ข่าวของศาสนจักร “เสรีภาพทางศาสนาเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ปกป้องมโนธรรมของคนทั้งปวง ซึ่งช่วยให้เราคิด แสดงออก และกระทำตามสิ่งที่เราเชื่ออย่างลึกซึ้ง … [เสรีภาพทางศาสนา] คุ้มครองสิทธิ์ของคนทุกกลุ่มและบุคคล รวมทั้งผู้ที่เปราะบางที่สุด ไม่ว่าจะมีศาสนาหรือไม่ก็ตาม” (“เสรีภาพทางศาสนา,” newsroom.ChurchofJesusChrist.org)

เมื่อพูดถึงวันเวลาของเรา เอ็ลเดอร์โรเบิร์ต ดี. เฮลส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองเตือนว่า “[ซาตาน] บ่อนทำลายอย่างหนักหน่วง ต่อต้าน และแพร่กระจายความสับสนเกี่ยวกับอิสรภาพทางศาสนา—มันคืออะไรและเหตุใดจึงสำคัญต่อชีวิตและความรอดทางวิญญาณของเราเอง” (“ธำรงไว้ซึ่งสิทธิ์เสรี ปกป้องอิสรภาพด้านศาสนา,” เลียโฮนา, พ.ค. 2015, 112) เมื่อท่านศึกษาเพื่อเตรียมเข้าชั้นเรียน ให้ไตร่ตรองว่าพระคัมภีร์สามารถสอนอะไรเราเกี่ยวกับความสำคัญของเสรีภาพทางศาสนาและพิจารณาสิ่งที่ท่านทำได้เพื่อส่งเสริม รักษา และปกป้องเสรีภาพนั้น

หมวดที่ 1

เสรีภาพทางศาสนาช่วยปกป้องความเชื่อของฉันและวิธีที่ฉันเลือกดำเนินชีวิตตามความเชื่อนั้นได้อย่างไร?

ชมวีดิทัศน์ “Preserving Religious Freedom” (3:59)

ตลอดประวัติศาสตร์ สิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ที่จะปฏิบัติตามความเชื่อของเรามักถูกท้าทายและอาจถึงขั้นถูกกดขี่ ยกตัวอย่างเช่นในสมัยการปกครองของกษัตริย์โมไซยาห์ การข่มเหงสมาชิกศาสนจักรโดยผู้ไม่เชื่อนั้นมีความรุนแรง (ดู โมไซยาห์ 27:1)

ภาพ
ไอคอน ศึกษา

ศึกษาเพื่อเตรียมเข้าชั้นเรียน

อ่านเรื่องราวใน โมไซยาห์ 27:1–4 โดยมองหาวิธีทำงานร่วมกันของศาสนจักรและผู้นำรัฐบาลเพื่อสร้างสันติภาพท่ามกลางประชาชน

เสรีภาพทางศาสนาไม่เพียงช่วยคุ้มครองการแสดงออกของผู้ที่นับถือศาสนาเท่านั้น แต่ยังคุ้มครองสิทธิของผู้ที่ไม่มีศาสนาหรือผู้ที่มีความเชื่อแตกต่างกันด้วย ตัวอย่างหนึ่งของเรื่องนี้อยู่ในเรื่องราวของคอริฮอร์ คอริฮอร์อาศัยอยู่ภายใต้การปกครองของผู้พิพากษา ซึ่งเป็นระบอบการปกครองที่ออกแบบมาเพื่อรักษาและปกป้องเสรีภาพของประชาชนจากกษัตริย์ที่ไม่ชอบธรรม (ดู โมไซยาห์ 29) คอริฮอร์สั่งสอนว่า “จะไม่มีพระคริสต์” (แอลมา 30:12) เขาอ้างว่าไม่มีบาปและบุคคลแต่ละคนจะเจริญรุ่งเรืองตามปัญญาของบุคคลนั้นเอง คำสอนของคอริฮอร์ทำให้ผู้คนจำนวนมากหันไปจากพระเจ้า (ดู แอลมา 30:6, 12–18)

ภาพ
คอริฮอร์เผชิญหน้าแอลมา โดย โรเบิร์ต ที. แบร์เรตต์
ภาพ
ไอคอน ศึกษา

ศึกษาเพื่อเตรียมเข้าชั้นเรียน

อ่าน แอลมา 30:7–9, 11 และระบุว่าเหตุใดคอริฮอร์จึงมีสิทธิ์แสดงความเชื่อของเขา

ใน แอลมา 30:29–58 เราอ่านว่าคอริฮอร์ถูกนำตัวไปหาศาสดาพยากรณ์แอลมาและหัวหน้าผู้พิพากษาในเซราเฮ็มลา และแอลมาตอบโต้คำสอนของคอริฮอร์ด้วยการแสดงประจักษ์พยานถึงพระคริสต์ เฉกเช่นคอริฮอร์มีสิทธิ์แสดงความไม่เชื่อในพระผู้เป็นเจ้า แอลมาก็มีอิสระที่จะเป็นพยานว่าพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ทรงดำรงอยู่จริง คอริฮอร์เลือกไม่เชื่อแอลมา เขาจึงเรียกร้องเครื่องหมายจากพระผู้เป็นเจ้าและเป็นใบ้ หลังจากเหตุการณ์นี้เผยแพร่ออกไป ผู้ที่เชื่อคอริฮอร์จึงได้รับการโน้มน้าวว่าเขาคิดผิดและ “พวกเขาจึงเปลี่ยนใจเลื่อมใสมาหาพระเจ้าอีกทุกคน” (ข้อที่ 58)

ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธกล่าวถึงความสำคัญของการคุ้มครองเสรีภาพทางศาสนาของทุกคนว่า:

ภาพ
ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ

ข้าพเจ้าพร้อมจะตายเพื่อปกป้องสิทธิ์ของเพรสไบทีเรียน แบปทิสต์ หรือคนดีในทุกนิกาย [เช่นเดียวกับสมาชิกของศาสนจักร] เพราะหลักธรรมเดียวกันที่เหยียบย่ำสิทธิ์ของวิสุทธิชนยุคสุดท้ายจะเหยียบย่ำสิทธิ์ของโรมันคาทอลิก หรือของนิกายอื่นซึ่งอาจไม่เป็นที่นิยมชมชอบและอ่อนแอเกินกว่าจะปกป้องตนเอง (คำสอนของประธานศาสนาจักร: โจเซฟ สมิธ [2007], 372)

โจเซฟ สมิธยังได้เน้นย้ำถึงเสรีภาพทางศาสนาในฐานะคำสอนพื้นฐานของศาสนจักรด้วยว่า: “เราอ้างเอกสิทธิ์แห่งการนมัสการพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงฤทธานุภาพตามการพิพากษาจากมโนธรรมของเราเอง และยอมให้มนุษย์ทั้งปวงมีเอกสิทธิ์เช่นเดียวกัน ให้พวกเขานมัสการโดยวิธีใด ณ สถานที่ใด หรือสิ่งใดก็ได้ที่พวกเขาจะนมัสการ” (หลักแห่งความเชื่อ 1:11)

ภาพ
เด็กชายกำลังอ่านพระธรรมศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาพุทธ

ศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายมีการตีพิมพ์คำประกาศต่อไปนี้เกี่ยวกับการทำงานโดยสันติเพื่อเสรีภาพทางศาสนา:

ในกรณีที่กฎหมายจำกัดเสรีภาพทางศาสนา วิสุทธิชนยุคสุดท้ายเชื่อในการปฏิบัติตามกฎหมายขณะแสวงหาการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของตนด้วยวิธีการอันชอบด้วยกฎหมายดังกล่าว ซึ่งอาจมีให้ใช้ได้ในแต่ละเขตอำนาจศาลหรือประเทศ (“Religious Freedom: The Basics,” ChurchofJesusChrist.org)

ภาพ
ไอคอน สนทนา

สนทนาเพื่อเตรียมเข้าชั้นเรียน

ท่านอาจสนทนากับผู้อื่นอย่างน้อยหนึ่งคนที่นับถือศาสนาอื่น ลองถามผู้นั้นว่าเหตุใดศาสนาของเขาจึงมีความสำคัญและเขาเคยประสบกับการข่มเหงทางศาสนาหรือไม่ พร้อมมาแบ่งปันสิ่งที่ท่านเรียนรู้กับชั้นเรียน

ภาพ
บุคคลสวดอ้อนวอนที่กำแพงตะวันตกในกรุงเยรูซาเล็ม

หมวดที่ 2

ฉันจะทำอะไรได้บ้างเพื่อช่วยส่งเสริมหรือรักษาเสรีภาพทางศาสนา?

อาจเป็นประโยชน์ในการพิจารณาตัวอย่างบางส่วนว่าชีวิตจะเป็นอย่างไรหากปราศจากเสรีภาพทางศาสนา ลองจินตนาการสถานการณ์ต่อไปนี้อย่างน้อยหนึ่งสถานการณ์ที่มีการจำกัดเสรีภาพทางศาสนา:

  • ท่านอาจสูญเสียตำแหน่งงานหรือตำแหน่งผู้นำเนื่องจากการแสดงความเชื่อทางศาสนา แม้จะอยู่ภายนอกการทำงานก็ตาม …

  • ท่านอาจจำเป็นต้องซ่อนศาสนาของท่านหรือทำงานที่ขัดแย้งกับความเชื่อของท่าน …

  • ท่านอาจจำเป็นต้องทำงานในวันสะบาโตหรือวันหยุดทางศาสนา แม้ว่าผู้อื่นจะเต็มใจทำงานในกะของท่าน …

  • บุตรธิดาของท่านที่เรียนในโรงเรียนรัฐบาลอาจจำเป็นต้องเรียนรู้เกี่ยวกับทฤษฎีทางเพศและเพศสภาพที่ขัดแย้งกับคำสอนพื้นฐานของศาสนจักร …

  • ท่านไม่สามารถรับบุตรธิดาบุญธรรมหรือเป็นบิดามารดาผู้อุปถัมภ์เนื่องจากความเชื่อทางศาสนาของท่านหรือมุมมองเรื่องครอบครัว

  • ในฐานะเจ้าของธุรกิจหรืองานอาชีพ ท่านอาจสูญเสียใบอนุญาตหรือถูกปรับหากท่านปฏิเสธที่จะให้บริการที่ขัดแย้งกับความเชื่อทางศาสนาของท่าน (“Religious Freedom Matters: What’s at Risk,” Ensign, July 2017, 37)

พระคัมภีร์มอรมอนบันทึกว่าในปีที่ 19 แห่งการปกครองของผู้พิพากษา ชายชั่วร้ายนามว่าอแมลิไคยาห์สมคบคิดที่จะเป็นกษัตริย์เหนือชาวนีไฟ เขามุ่งหวังที่จะทำลายศาสนจักรของพระเจ้าอย่างแยบยล และ “รากฐานแห่งเสรีภาพซึ่งพระผู้เป็นเจ้าทรงมอบให้พวกเขา” (แอลมา 46:10) อแมลิไคยาห์ป้อยอชาวนีไฟหลายคน และชาวนีไฟเหล่านี้ออกจากศาสนจักรเพื่อติดตามเขา (ดู แอลมา 46:1–10)

เมื่อโมโรไนแม่ทัพของกองทัพนีไฟรู้แผนการของอแมลิไคยาห์ เขาโกรธและระดมผู้คนเพื่อปกป้องสิทธิของตนรวมถึงเสรีภาพทางศาสนาของตนด้วย (ดู แอลมา 46:11–13, 19–20)

ภาพ
ออกมา (ธงแห่งเสรีภาพ) โดย วอลเตอร์ เรน
ภาพ
ไอคอน ศึกษา

ศึกษาเพื่อเตรียมเข้าชั้นเรียน

อ่าน แอลมา 46:11–13, 19–20 และมองหาสิ่งที่แม่ทัพโมโรไนทำเพื่อปกป้องประชาชนจากภัยคุกคามเสรีภาพ

ผู้คนออกมาสมทบกับโมโรไนและทำพันธสัญญาเพื่อต่อต้านภัยคุกคามเสรีภาพของตน (ดู แอลมา 46:21–22) เอ็ลเดอร์เฮลส์สอนเกี่ยวกับข้อผูกมัดของเราในการสนับสนุนเสรีภาพทางศาสนาว่า:

ภาพ
เอ็ลเดอร์โรเบิร์ต ดี. เฮลส์

ในฐานะสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์เรามีความรับผิดชอบที่จะทำงานร่วมกันกับผู้มีจุดประสงค์เดียวกัน ที่จะเปล่งเสียงเพื่อสิ่งที่ถูกต้อง …

… เรามีความรับผิดชอบต่อการปกป้องอิสรภาพและสิทธิอันศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้เพื่อตนเองและลูกหลานของเรา ท่านและข้าพเจ้าทำอะไรได้บ้าง

“ประการแรก เราสามารถรับรู้เรื่องนี้ จงรับรู้เรื่องราวในชุมชนของท่านที่อาจมีผลกระทบต่ออิสรภาพทางศาสนา

ประการที่สอง ด้วยความสามารถส่วนตัว จงมีส่วนร่วมกับผู้อื่นที่แบ่งปันคำมั่นสัญญาของเราที่มีต่ออิสรภาพทางศาสนา ทำงานเคียงข้างกันเพื่อปกป้องอิสรภาพทางศาสนา

ประการที่สาม ดำเนินชีวิตของท่านให้เป็นแบบอย่างที่ดีของสิ่งที่ท่านเชื่อ—ในคำพูดและการกระทำ วิธีที่เราดำเนินชีวิตตามหลักศาสนาสำคัญยิ่งกว่าการพูดเกี่ยวกับศาสนาของเรา

การเสด็จมาครั้งที่สองของพระผู้ช่วยให้รอดของเราใกล้เข้ามาทุกที ขอเราอย่าลังเลในอุดมการณ์อันยิ่งใหญ่นี้ จงระลึกถึงแม่ทัพโมโรไนผู้ยกธงแห่งเสรีภาพ [ดู แอลมา 46:12] … ให้เราระลึกถึงการตอบสนองของผู้คน: การใช้สิทธิ์เสรีของพวกเขา: พวกเขา “พากันวิ่งมา” พร้อมพันธสัญญาที่จะกระทำ [แอลมา 46:21] (“ธำรงไว้ซึ่งสิทธิ์เสรี ปกป้องอิสรภาพด้านศาสนา,” 112, 113)

ภาพ
ไอคอน ไตร่ตรอง

ไตร่ตรองเพื่อเตรียมเข้าชั้นเรียน

ท่านจะทำอะไรได้บ้างเพื่อส่งเสริมและรักษาเสรีภาพทางศาสนาในที่ซึ่งท่านอาศัยอยู่?

ภาพ
ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันจับมือกับโป๊บฟรานซิส