คลังค้นคว้า
บทเรียนภาคการศึกษาที่บ้าน: กิจการของอัครทูต 1–5 (หน่วย 17)


บทเรียนการศึกษาที่บ้าน

กิจการของอัครทูต 1–5 (หน่วย 17)

การเตรียมเนื้อหาสำหรับครูภาคการศึกษาที่บ้าน

สรุปบทเรียนประจำวันภาคการศึกษาที่บ้าน

ใจความสรุปเหตุการณ์ หลักคำสอนและหลักธรรมต่อไปนี้ที่นักเรียนเรียนรู้ขณะศึกษา กิจการของอัครทูต 1–5 (หน่วย 17) ไม่ได้มีเจตนาจะให้สอนเป็นส่วนหนึ่งในบทเรียนของท่าน บทเรียนที่ท่านสอนเน้นไปที่หลักคำสอนและหลักธรรมเหล่านี้เพียงไม่กี่ข้อ ทำตามการกระตุ้นเตือนของพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ขณะพิจารณาความต้องการของนักเรียน

วันที่ 1 (กิจการของอัครทูต 1:1–8)

นักเรียนเริ่มการศึกษาหนังสือกิจการของอัครทูตโดยเรียนรู้ว่าพระเยซูคริสต์ทรงกำกับดูแลศาสนจักรของพระองค์โดยการเปิดเผยพระประสงค์ของพระองค์ผ่านพระวิญญาณบริสุทธิ์ อัครสาวกเป็นพยานถึงพระเยซูคริสต์และเป็นพยานถึงพระองค์ทั่วโลก จากนั้นนักเรียนเรียนรู้ว่าโดยผ่านพลังอำนาจของพระวิญญาณบริสุทธิ์ เราสามารถเป็นพยานถึงพระเยซูคริสต์ได้เช่นกัน เนื้อหาในบทเรียนนี้ให้คำอธิบายพอสังเขปในช่วงครึ่งหลังของพันธสัญญาใหม่แก่นักเรียน

วันที่ 2 (กิจการของอัครทูต 1:9–26)

เมื่อนักเรียนศึกษาเรื่องราวการเสด็จขึ้นสวรรค์ของพระเยซูคริสต์ พวกเขาเรียนรู้ว่าในการเสด็จมาครั้งที่สอง พระผู้ช่วยให้รอดจะเสด็จลงมาจากสวรรค์ในรัศมีภาพ เมื่อพวกเขาอ่านเกี่ยวกับวิธีที่อัครสาวกเลือกผู้มาแทนยูดาส นักเรียนเรียนรู้ว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงเรียกอัครสาวกของพระเยซูคริสต์ผ่านการเปิดเผย

วันที่ 3 (กิจการของอัครทูต 2)

เมื่อนักเรียนศึกษาเหตุการณ์วันเพ็นเทคอสต์ พวกเขาค้นพบความจริงต่อไปนี้ เมื่อเราเปี่ยมไปด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ พระองค์จะทรงช่วยเราสอนและเป็นพยานกับคนอื่น เมื่อเรารับพระคำของพระผู้เป็นเจ้าโดยอำนาจของพระวิญญาณบริสุทธิ์ ใจเราจะเปลี่ยนและเราจะเปลี่ยนใจเลื่อมใสมาสู่พระเยซูคริสต์ เมื่อเรามีศรัทธาในพระเยซูคริสต์ กลับใจ และรับบัพติศมา เราจะพร้อมรับของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์

วันที่ 4 (กิจการของอัครทูต 3–5)

เมื่อเปโตรและยอห์นรักษาชายง่อยที่พระวิหาร นักเรียนเรียนรู้ว่าพระบิดาบนสวรรค์อาจไม่ทรงตอบคำสวดอ้อนวอนของเราในวิธีที่เราต้องการหรือคาดหวังให้พระองค์ตอบ แต่คำตอบของพระองค์เป็นไปเพื่อความดีที่ดียิ่งกว่าของเราเสมอ หลักธรรมอื่นที่เรียนรู้ในบทเรียนรวมถึงหลักธรรมต่อไปนี้ ผู้รับใช้ของพระเยซูคริสต์สามารถทำปาฏิหาริย์ผ่านศรัทธาในพระนามของพระองค์ ศาสดาพยากรณ์ทุกยุคบอกล่วงหน้าถึงการการฟื้นฟูพระกิตติคุณในยุคสุดท้าย หากเรากล่าวเท็จกับผู้รับใช้ของพระผู้เป็นเจ้า นั่นเป็นเหมือนเรากำลังกล่าวเท็จกับพระองค์

บทนำ

บทเรียนนี้จะช่วยให้นักเรียนรู้ว่าพวกเขาจะตอบอย่างกล้าหาญได้อย่างไรเมื่อพวกเขามีโอกาสแบ่งปันหรือปกป้องพระกิตติคุณ

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

กิจการของอัครทูต 4:1–31

สมาชิกสภายิวสั่งเปโตรและยอห์นให้หยุดสอนในพระนามของพระเยซู

ขอให้นักเรียนไตร่ตรองว่าพวกเขาจะทำอะไรในสถานการณ์ต่อไปนี้ (ท่านอาจเขียนสถานการณ์สมมติเหล่านี้บนกระดานก่อนชั้นเรียน)

  1. เพื่อนคนหนึ่งเขียนบางสิ่งที่ไม่จริงเกี่ยวกับศาสนจักรในสื่อสังคม

  2. โค้ชจัดตารางแข่งขันที่ทำให้ทีมของท่านต้องเล่นในวันอาทิตย์

  3. เพื่อนของท่านถามความคิดเห็นท่านเกี่ยวกับประเด็นทางสังคมซึ่งเป็นที่น่าสนใจและได้รับการสนับสนุนโดยทั่วไปแต่ขัดแย้งกับคำสอนของศาสนจักร

หลังจากให้นักเรียนมีเวลาไตร่ตรองพอสมควรแล้ว ให้ถามว่า

  • มีสภาวการณ์อื่นใดอีกบ้างที่เราอาจจำเป็นต้องแบ่งปันหรือปกป้องความเชื่อของเรา

เชื้อเชิญให้นักเรียนมองหาความจริงเมื่อพวกเขาศึกษา กิจการของอัครทูต 4–5 ที่จะนำทางพวกเขาในสถานการณ์แบบนี้

เพื่อช่วยนักเรียนเข้าใจบริบทของ กิจการของอัครทูต 4 เชื้อเชิญให้นักเรียนสรุปสิ่งที่พวกเขาจำได้เกี่ยวกับเหตุการณ์และคำสอนที่บันทึกใน กิจการของอัครทูต 3 (ที่พระวิหาร เปโตรและยอห์นรักษาชายที่เป็นง่อยแต่กำเนิดและสอนเกี่ยวกับพระเยซู)

สรุป กิจการของอัครทูต 4:1–6 โดยอธิบายว่าเปโตรและยอห์นถูกจับกุมเพราะการกระทำนี้และถูกนำไปอยู่ต่อหน้าสภาปกครองชาวยิว เตือนนักเรียนว่าสมาชิกหลายคนของสภายิวมีส่วนในการทำให้เกิดการจับกุมและการตรึงกางเขนพระผู้ช่วยให้รอดก่อนหน้านั้น

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง กิจการของอัครทูต 4:7 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาคำถามที่ผู้นำชาวยิวถามเปโตรและยอห์น

  • ผู้นำชาวยิวถามอะไรเปโตรและยอห์น

  • อาจเกิดอะไรขึ้นกับเปโตรและยอห์นหากพวกเขาบอกว่าพวกเขาเป็นผู้ติดตามของพระเยซูคริสต์

ขอให้นักเรียนพิจารณาว่าพวกเขาอาจจะรู้สึกอย่างไรหากพวกเขาอยู่ในสถานการณ์ของเปโตรหรือยอห์นและพวกเขาจะพูดอะไรกับสภา

เชื้อเชิญนักเรียนหลายๆ คนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก กิจการของอัครทูต 4:8–21 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าเปโตรประกาศอะไรต่อสภา

แทนที่จะให้นักเรียนอ่าน กิจการของอัครทูต 4:8–21 ท่านอาจฉายวีดิทัศน์ “Peter and John Are Judged” (2:51) จาก วีดิทัศน์พระคัมภีร์ไบเบิล พระชนม์ชีพของพระเยซูคริสต์ วีดิทัศน์นี้แสดงเหตุการณ์จาก กิจการของอัครทูต 4:8–21 วีดิทัศน์เรื่องนี้มีอยู่ที่ LDS.org

เชื้อเชิญให้นักเรียนทบทวน กิจการของอัครทูต 4:8 ในใจ โดยมองหาว่าอะไรกระตุ้นเปโตรและช่วยให้เปโตรพูดด้วยความกล้าหาญต่อสภา

  • ท่านคิดว่าการเต็มเปี่ยมด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์มีอิทธิพลต่อความสามารถของเปโตรในการสอนพระกิตติคุณด้วยความกล้าหาญอย่างไร

  • เราสามารถเรียนรู้หลักธรรมอะไรจากแบบอย่างของเปโตรดังที่บันทึกใน ข้อ 8 และ 13 (นักเรียนอาจใช้คำพูดของพวกเขาเอง แต่ให้แน่ใจว่าพวกเขาระบุหลักธรรมทำนองนี้ เมื่อเราเต็มเปี่ยมด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ เราสามารถแบ่งปันพระกิตติคุณด้วยความกล้าหาญ เขียนหลักธรรมนี้ไว้บนกระดาน)

  • ตามที่กล่าวไว้ใน กิจการของอัครทูต 4: 18 สภามีให้คำสั่งอะไรกับเปโตรและยอห์น

  • ตามที่กล่าวใน ข้อ 19–20 เปโตรและยอห์นตอบสนองต่อคำสั่งของสภาอย่างไร

สรุป กิจการของอัครทูต 4:23–30 โดยอธิบายว่าหลังจากเปโตรและยอห์นได้รับการปลดปล่อย พวกเขาไปรวมตัวกับผู้ที่เชื่อคนอื่นๆ และสวดอ้อนวอนกับพวกเขา

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง กิจการของอัครทูต 4:31 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าเกิดอะไรขึ้นหลังจากการสวดอ้อนวอนของพวกเขา

  • เกิดอะไรขึ้นหลังจากผู้คนสวดอ้อนวอน

  • ตามที่เราเรียนรู้จากข้อนี้ เราสามารถทำอะไรได้เพื่อเชื้อเชิญให้พระวิญญาณบริสุทธิ์ช่วยเราพูดพระคำของพระผู้เป็นเจ้าด้วยความกล้าหาญ

พูดถึงสถานการณ์สมมติบางสถานการณ์ที่กล่าวไว้เมื่อเริ่มต้นบทเรียนนี้

  • เราสามารถมีความกล้าหาญในการแบ่งปันพระกิตติคุณในสถานการณ์เช่นนี้ขณะยังคงความน่าเคารพและมีอารยธรรมได้อย่างไร (ดู แอลมา 38:12 ท่านอาจต้องการอธิบายว่าความกล้าหาญในการแบ่งปันพระกิตติคุณหมายถึงเราแบ่งปันสิ่งที่เรารู้ว่าจริงด้วยความมั่นใจ แต่เราทำด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตนและเคารพผู้อื่นที่อาจคิดหรือรู้สึกต่างจากเรา)

  • พระวิญญาณบริสุทธิ์เคยช่วยท่านพูดพระคำของพระผู้เป็นเจ้าด้วยความกล้าหาญเมื่อใด

  • ท่านรู้ได้อย่างไรว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงช่วยท่าน

กิจการของอัครทูต 5:12–42

อัครสาวกถูกจับขังคุกเพราะทำการรักษาในพระนามของพระเยซูคริสต์

ขอให้นักเรียนจินตนาการว่าพวกเขาใช้ชีวิตอยู่ในช่วงเวลาของเปโตรและยอห์นและเป็นผู้สื่อข่าวให้หนังสือพิมพ์ เยรูซาเล็มไทม์ส อธิบายว่าพวกเขาได้รับเชิญให้ศึกษาบางส่วนของ กิจการของอัครทูต 5:12–32 จากนั้นเขียนพาดหัวข่าวเพื่อสรุปสิ่งที่เกิดขึ้น (เพื่อบอกบริบทของข้อพระคัมภีร์เหล่านี้ ให้เตือนความจำนักเรียนว่าสภายิวสั่งให้เปโตรและยอห์นหยุดพูดในพระนามของพระเยซูคริสต์) ทำตามคำแนะนำที่ให้กับข้อพระคัมภีร์ในแต่ละช่วง

  1. กิจการของอัครทูต 5:12–16 (อ่านข้อนี้เป็นชั้นเรียน และเขียนพาดหัวข่าวด้วยกัน)

  2. กิจการของอัครทูต 5:17–23 (ขอให้นักเรียนอ่านข้อนี้กับคู่และเขียนพาดหัวข่าว เชิญบางคู่แบ่งปันพาดหัวข่าวของพวกเขากับชั้นเรียน)

  3. กิจการของอัครทูต 5:24–32 (ขอให้นักเรียนอ่านคนเดียวและเขียนพาดหัวข่าวด้วยตนเอง เชื้อเชิญให้นักเรียนบางคนแบ่งปันพาดหัวข่าวของพวกเขากับชั้นเรียน)

หลังจากนักเรียนแบ่งปันพาดหัวข่าวของเขาแล้ว ให้ถามว่า

  • ตามที่กล่าวไว้ใน กิจการของอัครทูต 5:29 เหตุใดเปโตรและอัครสาวกคนอื่นๆ จึงบอกว่าพวกเขาต้องสั่งสอนในพระนามของพระเยซูต่อไปแม้จะมีคำสั่งจากสภา

เขียนข้อความที่ไม่ครบถ้วนต่อไปนี้บนกระดาน ถ้าเราเลือกที่จะเชื่อฟังพระผู้เป็นเจ้ามากกว่ามนุษย์ …

  • จากสิ่งที่ท่านอ่านใน กิจการของอัครทูต 4–5เราจะเติมข้อความนี้ให้ครบถ้วนได้อย่างไรบ้าง (หลังจากนักเรียนตอบแล้ว ให้เขียนข้อความที่ครบถ้วนบนกระดานดังนี้ ถ้าเราเลือกที่จะเชื่อฟังพระผู้เป็นเจ้ามากกว่ามนุษย์ พระองค์จะทรงอยู่กับเรา)

  • พระผู้เป็นเจ้าทรงอยู่กับเปโตรและอัครสาวกคนอื่นๆ ในทางใดบ้างเมื่อพวกเขาเชื่อฟังพระองค์มากกว่าสภา (พระผู้เป็นเจ้าทรงทำให้พวกเขาเต็มเปี่ยมด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ [ดู กิจการของอัครทูต 4:8, 31] ทรงทำให้พวกเขาทำปาฏิหาริย์ได้ [ดู กิจการของอัครทูต 5:12–16] และทรงส่งทูตสวรรค์ของพระองค์ไปปลดปล่อยพวกเขาออกจากคุก [ดู กิจการของอัครทูต 5:17–20])

  • ท่านหรือคนที่ท่านรู้จักเลือกที่จะเชื่อฟังพระผู้เป็นเจ้ามากกว่ามนุษย์เมื่อใด พระผู้เป็นเจ้าทรงแสดงว่าพระองค์ทรงอยู่กับท่านหรือบุคคลนี้อย่างไร

เชื้อเชิญนักเรียนสองสามคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก กิจการของอัครทูต 5:33–42 เชื้อเชิญให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาตัวอย่างเพิ่มเติมของวิธีที่พระเจ้าทรงอยู่กับเปโตรและอัครสาวกคนอื่นๆ

แทนที่จะให้นักเรียนอ่าน กิจการของอัครทูต 5:33–42 ท่านอาจทบทวนและสรุปเนื้อหาของ กิจการของอัครทูต 5:12–42 โดยการฉายวีดิทัศน์ “Peter and John Continue Preaching the Gospel” (5:38) วีดิทัศน์เรื่องนี้มีอยู่ที่ LDS.org

ชี้ให้เห็นว่าเราเรียนรู้ใน กิจการของอัครทูต 5:33 ว่าสภาพยายามจะสังหารเปโตรและยอห์น

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 41–42 อัครสาวกยังคงซื่อสัตย์ต่อพระเจ้าเมื่อเผชิญการข่มขู่นี้อย่างไร พระผู้เป็นเจ้าทรงอยู่กับพวกเขาในช่วงเวลานี้อย่างไร

  • ความจริงที่เราระบุในบทเรียนนี้จะช่วยเราเมื่อเราพยายามดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณและแบ่งปันพระกิตติคุณกับคนที่อยู่รอบข้างเราได้อย่างไร

แบ่งปันประจักษ์พยานของท่านถึงความจริงที่สอนในวันนี้ และเชื้อเชิญให้นักเรียนประยุกต์ใช้ความจริงเหล่านี้ในชีวิตของพวกเขา

หน่วยต่อไป (กิจการของอัครทูต 6–12)

ถามนักเรียนว่ามีกี่คนที่พวกเขานึกได้ซึ่งสิ้นชีวิตเป็นมรณสักขีเพื่อเห็นแก่พระกิตติคุณ อธิบายว่าเมื่อพวกเขาศึกษา กิจการของอัครทูต 6–12 ในสัปดาห์ที่จะมาถึง พวกเขาจะเรียนรู้เกี่ยวกับผู้ที่เป็นมรณสักขีเพื่อพระเยซูคริสต์อย่างกล้าหาญสองคน คนหนึ่งเป็นสาวกเจ็ดสิบ และอีกคนหนึ่งเป็นอัครสาวก ขอให้นักเรียนพิจารณาคำถามต่อไปนี้ เหตุใดนิมิตของเปโตรเกี่ยวกับโครเนลิอัสจึงสำคัญต่อศาสนจักรมาก เกิดอะไรขึ้นกับเซาโล (หรือเป็นที่รู้จักในนามเปาโลด้วย) ซึ่งเปลี่ยนชีวิตเขา ดวงตาเขามองไม่เห็นได้อย่างไร และพระเจ้าทรงนำใครมารักษาสายตาของเขา