คลังค้นคว้า
บทที่ 27: โจเซฟ สมิธ—มัทธิว; มัทธิว 24


บทที่ 27

โจเซฟ สมิธ—มัทธิว; มัทธิว 24

คำนำ

พระเยซูคริสต์ทรงพยากรณ์ถึงความพินาศของเยรูซาเล็มและพระวิหาร พระองค์ทรงเปิดเผยหมายสำคัญของการเสด็จมาครั้งที่สองของพระองค์และทรงแนะนำคนที่ชื่อสัตย์ให้คอยดูและเตรียมรับวันนั้น

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

โจเซฟ สมิธ—มัทธิว 1:1–20

พระเยซูทรงพยากรณ์ถึงความพินาศของเยรูซาเล็มและพระวิหาร

ภาพ
การเสด็จมาครั้งที่สอง

ให้ดูภาพ การเสด็จมาครั้งที่สอง (หนังสือภาพพระกิตติคุณ [2009], ภาพที่ 66; ดู LDS.org ด้วย) ขอให้นักเรียนไตร่ตรองคำถามที่พวกเขามีเกี่ยวกับการเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซูคริสต์และให้เขียนคำถามลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขา อย่าพยายามตอบคำถามเหล่านี้ในตอนนี้ ให้นักเรียนมองหามองหาคำตอบเมื่อพวกเขาศึกษา โจเซฟ สมิธ—มัทธิว

ชี้ให้เห็นว่า โจเซฟ สมิธ—มัทธิว เป็นงานแปลของโจเซฟ สมิธใน มัทธิว 23:39 และ มัทธิว 24 สรุป โจเซฟ สมิธ—มัทธิว 1:1–3 โดยอธิบายว่าพระเยซูคริสต์ทรงสอนที่พระวิหารในเยรูซาเล็ม สานุศิษย์ของพระองค์เข้าใจว่าพระองค์จะเสด็จกลับไปที่โลก จากนั้นพระเยซูเสด็จออกจากพระวิหาร และสานุศิษย์ของพระองค์มาหาพระองค์ โดยต้องการรู้มากขึ้นว่าพระวิหารจะถูกทำลายเมื่อใด

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง โจเซฟ สมิธ—มัทธิว 1:4 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาคำถามสองข้อที่สานุศิษย์ทูลถามพระเยซูที่ภูเขามะกอกเทศ เชื้อเชิญนักเรียนให้รายงานสิ่งที่พวกเขาพบ และเขียน คำถาม ต่อไปนี้บนกระดาน

  1. เยรูซาเล็มและพระวิหารจะถูกทำลายเมื่อใด

  2. อะไรคือเครื่องหมายของการเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซูคริสต์และความพินาศของคนชั่วร้าย

อธิบายว่าพระเยซูคริสต์ทรงตอบคำถามแรกใน ข้อ 5–21 และตอบคำถามที่สองใน ข้อ 21–55 แบ่งนักเรียนออกเป็นคู่ ให้พวกเขาอ่านออกเสียง โจเซฟ สมิธ—มัทธิว 1:5–12 กับคู่ โดยมองหาเครื่องหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำลายเยรูซาเล็มและพระวิหาร ขอให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ

  • แม้พระเยซูตรัสว่าสานุศิษย์ของพระองค์จะทนทุกข์ในช่วงนี้ พระองค์ตรัสอะไรเกี่ยวกับคนที่ “ยังแน่วแน่และ[ไม่] แพ้” (ข้อ 11)

  • เราสามารถเรียนรู้หลักธรรมอะไรจาก ข้อ 11 (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่ควรระบุหลักธรรมต่อไปนี้ ถ้าเรายังแน่วแน่และไม่แพ้ เมื่อนั้นเราจะรอด โดยใช้คำพูดของนักเรียน ให้เขียนหลักธรรมนี้บนกระดาน)

  • แน่วแน่และไม่แพ้หมายความว่าอย่างไร (แน่วแน่ บอกถึงการไม่หวั่นไหว เข้มแข็ง ไม่โอนเอน และไม่ยอมแพ้)

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจความหมายของคำว่า รอด ใน ข้อ 11 อธิบายว่าเมื่อเราแน่วแน่ เราอาจไม่รอดจากความยากลำบากแต่เราจะรอดในอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้าในที่สุด

เชื้อเชิญให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงย่อหน้าต่อไปนี้ ขอให้ชั้นเรียนฟังว่าคนที่ยังคงแน่วแน่ในการเชื่อฟังคำแนะนำของพระผู้ช่วยใช้รอดจะรอดจากความพินาศได้อย่างไร

ใน โจเซฟ สมิธ—มัทธิว 1:13–18 เราเรียนรู้ว่าพระเยซูทรงเตือนสานุศิษย์ของพระองค์ให้เตรียมหนีไปที่ภูเขาและไม่กลับมาที่บ้านเนื่องจากเยรูซาเล็มจะถูกโจมตีและถูกทำลาย พระองค์ทรงพยากรณ์ว่าความยากลำบากในวันเวลาเหล่านั้นจะเลวร้ายที่สุดเท่าที่อิสราเอลเคยเจอ ใน ค.ศ.70 ประมาณ 40 ปีหลังจากพระเยซูทรงมีพระดำรัสเหล่านี้ โรมันยึดเยรูซาเล็มและฆ่าชาวยิวไปมากกว่าหนึ่งล้านคน พระวิหารถูกทำลาย ไม่มีหินสักก้อนถูกทิ้งไว้ให้ซ้อนทับกันอยู่—ดังที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงพยากรณ์ (ดู มัทธิว 24:2) อย่างไรก็ดีคนที่ฟังพระสุรเสียงเตือนของพระเยซูคริสต์หนีไปที่เพล์ลา เมืองที่อยู่ห่างไปประมาณ 80 กิโลเมตรทางตะวันออกเฉียงเหนือของเยรูซาเล็มอย่างปลอดภัย (ดู Bible Dictionary ใน พระคัมภีร์ไบเบิลภาษาอังกฤษฉบับ LDS, Pella)

  • ประสบการณ์ของชาวยิวแสดงให้เห็นความสำคัญของการดำรงความแน่วแน่ในการเชื่อฟังพระคำของพระผู้ช่วยให้รอดอย่างไร

  • ท่านได้รับพรจากการแน่วแน่ในการเชื่อฟังพระบัญญัติเมื่อใด

สรุป โจเซฟ สมิธ—มัทธิว 1:19–20 โดยอธิบายว่าพระเยซูทรงพยากรณ์ว่าแม้ชาวยิวจะทนทุกข์กับความเดือดร้อนอย่างใหญ่หลวง แต่พวกเขาจะได้รับการรักษาไว้เนื่องจากพันธสัญญาของพระผู้เป็นเจ้ากับพวกเขา

โจเซฟ สมิธ—มัทธิว 1:21–37

พระเยซูทรงพยากรณ์ถึงเครื่องหมายการเสด็จมาครั้งที่สองของพระองค์

อธิบายว่านอกจากการอธิบายเครื่องหมายที่จะเตือนถึงความพินาศของเยรูซาเล็ม พระผู้ช่วยให้รอดทรงตอบคำถามที่สองของสานุศิษย์โดยทรงพยากรณ์เครื่องหมายเกี่ยวกับการเสด็จมาครั้งที่สองของพระองค์

ขอให้นักศึกษาคนหนึ่งอ่านออกเสียง โจเซฟ สมิธ—มัทธิว 1:21–23 เชื้อเชิญให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสาเหตุที่พระเจ้าทรงเปิดเผยเครื่องหมายการเสด็จมาครั้งที่สองของพระองค์

  • เหตุใดการรู้เครื่องหมายที่เป็นสัญลักษณ์การเสด็จมาครั้งที่สองจึงเป็นประโยชน์สำหรับสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์

เชื้อเชิญให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:24–26 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าพระผู้ช่วยให้รอดตรัสว่าจะทรงปรากฏพระองค์ในการเสด็จมาครั้งที่สองของพระองค์อย่างไร

  • พระผู้ช่วยให้รอดจะทรงปรากฏพระองค์ในการเสด็จมาครั้งที่สองของพระองค์อย่างไร

  • การรู้เช่นนี้จะช่วยให้ผู้ที่ทรงเลือกไว้หลีกเลี่ยงการหลอกลวงได้อย่างไร

ให้นักเรียนอ่าน โจเซฟ สมิธ—มัทธิว 1:27–31 ในใจโดยมองหาเครื่องหมายที่จะเกิดก่อนการเสด็จมาครั้งที่สอง

  • ความยากลำบากอะไรที่คนจะเผชิญก่อนการเสด็จมาครั้งที่สอง

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 27 และ 31 เครื่องหมายแห่งความหวังใดจะเกิดขึ้นก่อนการเสด็จมาครั้งที่สอง (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่ควรระบุความจริงต่อไปนี้ ก่อนการเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซูคริสต์ พระเจ้าจะทรงรวบรวมผู้ที่พระองค์ทรงเลือกไว้และจะมีผู้สั่งสอนพระกิตติคุณไปทั่วโลก)

  • เราเห็นคำพยากรณ์นี้เกิดสัมฤทธิผลทางใดบ้าง

อธิบายว่า โจเซฟ สมิธ—มัทธิว 1:32–36 อธิบายถึงเครื่องหมายเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้องกับการเสด็จมาครั้งที่สอง

เตือนนักเรียนถึงพระดำรัสเตือนของพระผู้ช่วยให้รอดว่าในยุคสุดท้ายพระคริสต์ปลอมและศาสดาพยากรณ์ปลอมจะพยายาม “หลอกลวงแม้ผู้ที่ทรงเลือกไว้” (ข้อ 22) เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง โจเซฟ สมิธ—มัทธิว 1:37 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยหาดูว่าผู้ที่เลือกไว้จะหลีกเลี่ยงไม่ให้ถูกหลอกลวงได้อย่างไร

  • ผู้ที่เลือกไว้จะหลีกเลี่ยงไม่ให้ถูกหลอกลวงได้อย่างไร

  • เราสามารถเรียนรู้หลักธรรมอะไรจากข้อนี้ (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่ควรระบุหลักธรรมต่อไปนี้ ถ้าเราสะสมพระวจนะของพระเจ้า เราจะไม่ถูกหลอก เขียนหลักธรรมนี้ไว้บนกระดาน)

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจหลักธรรมนี้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงเรื่องเล่าต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ดแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

ภาพ
เอ็ลเดอร์เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด

“ผู้สอนศาสนาที่ดีคนหนึ่งที่รับใช้กับข้าพเจ้าสมัยข้าพเจ้าเป็นประธานคณะเผยแผ่ในโทรอนโต [แคนาดา] มาหาข้าพเจ้าในอีกหลายปีต่อมา ข้าพเจ้าถามเขาว่า ‘เอ็ลเดอร์ ผมจะช่วยอะไรคุณได้บ้าง’

“‘ประธานครับ’ เขาตอบ ‘ผมคิดว่าผมกำลังสูญเสียประจักษ์พยาน’

“ข้าพเจ้าแทบไม่เชื่อหู ข้าพเจ้าถามว่าเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร

“‘ครั้งแรกที่ผมอ่านงานเขียนต่อต้านมอรมอน’ เขากล่าว ‘ผมมีคำถามบางอย่าง และไม่มีใครตอบคำถามของผม ผมสับสน และคิดว่ากำลังสูญเสียประจักษ์พยาน’ (When Shall These Things Be? Ensign, ธ.ค. 1996, 60)

ขอให้นักเรียนไตร่ตรองว่าพวกเขาหรือคนที่พวกเขารู้จักเคยประสบสิ่งที่คล้ายกับอดีตผู้สอนศาสนาคนนี้ประสบหรือไม่

  • ท่านจะให้คำแนะนำอะไรแก่คนที่อยู่ในสถานการณ์นี้ เพราะเหตุใด

เชื้อเชิญให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงเรื่องราวจากเอ็ลเดอร์บัลลาร์ดต่อ

“ข้าพเจ้าถามเขาว่าคำถามของเขาคืออะไร และเขาบอกข้าพเจ้า คำถามเหล่านั้นเป็นประเด็นต่อต้านศาสนจักรโดยทั่วๆ ไป แต่ข้าพเจ้าต้องการเวลาเล็กน้อยเพื่อรวบรวมเนื้อหา จะได้มีคำตอบที่เป็นประโยชน์ ด้วยเหตุนี้เราจึงนัดพบกันอีก 10 วันข้างหน้า ซึ่งข้าพเจ้าบอกเขาว่าจะตอบคำถามทุกข้อของเขา ขณะที่เขากำลังจะออกไป ข้าพเจ้ารั้งเขาไว้

“‘เอ็ลเดอร์ คุณถามคำถามผมหลายข้อวันนี้’ ผมพูด ‘ตอนนี้ผมจะถามคุณสักข้อ’

“‘ได้ครับ ประธาน’

“‘นานเท่าไรแล้วตั้งแต่คุณอ่านพระคัมภีร์มอรมอน’ ข้าพเจ้าถาม

“เขาหลบตา มองพื้นครู่หนึ่ง จากนั้นก็มองข้าพเจ้า ‘นานแล้วครับ ประธาน’ เขาสารภาพ

“‘ไม่เป็นไร’ ข้าพเจ้าบอก ‘คุณมอบหมายงานให้ผมทำ เพื่อความยุติธรรมผมก็จะให้คุณบ้าง ผมอยากให้คุณสัญญากับผมว่าคุณจะอ่านพระคัมภีร์มอรมอนอย่างน้อยวันละหนึ่งชั่วโมงทุกวันระหว่างนี้จนถึงเวลาพบกันคราวหน้า’ เขารับปากว่าจะทำเช่นนั้น

“สิบวันต่อมาเขากลับมาที่ห้องทำงานของข้าพเจ้า และข้าพเจ้าพร้อมแล้ว ข้าพเจ้าดึงกระดาษออกมาเพื่อเริ่มตอบคำถามของเขา แต่เขายั้งไว้

“‘ประธานครับ’ เขาพูด ‘นั่นไม่จำเป็นครับ’ จากนั้นเขาอธิบายว่า ‘ผมรู้ว่าพระคัมภีร์มอรมอนเป็นความจริง ผมรู้ว่าโจเซฟ สมิธเป็นศาสดาพยากรณ์ของพระผู้เป็นเจ้า’

“‘นั่นเยี่ยมเลย’ ข้าพเจ้าตอบ ‘แต่ไม่ว่าจะอย่างไรคุณก็ต้องได้คำตอบสำหรับคำถามของคุณ ผมคิดหาคำตอบตั้งนาน คุณก็แค่นั่งฟังเฉยๆ’

“ข้าพเจ้าจึงตอบคำถามของเขาทุกข้อ แล้วถามว่า ‘เอ็ลเดอร์ คุณเรียนรู้อะไรจากสิ่งนี้’

“ เขาบอกว่า ‘จงให้เวลาพระเจ้าเท่ากัน’” (When Shall These Things Be? 60)

  • ประสบการณ์นี้แสดงหลักธรรมที่เราระบุใน ข้อ 37 ว่าอย่างไร

  • ท่านได้รับพรอย่างไรเมื่อท่านสะสมพระวจนะของพระเจ้า

โจเซฟ สมิธ—มัทธิว 1:38–55

พระเยซูทรงแนะนำให้สานุศิษย์ของพระองค์เตรียมรับการเสด็จมาครั้งที่สองของพระองค์

อธิบายว่าโดยใช้อุปมา พระเยซูทรงแนะนำสานุศิษย์ของพระองค์ว่าจะสะสมพระวจนะของพระองค์และเตรียมรับการเสด็จมาครั้งที่สองของพระองค์ได้อย่างไร

แบ่งนักเรียนออกเป็นคู่ มอบหมายนักเรียนคนหนึ่งในคู่ให้ศึกษา โจเซฟ สมิธ—มัทธิว 1:38–46 และอีกคนศึกษา โจเซฟ สมิธ—มัทธิว 1:47–54 เชื้อเชิญให้นักเรียนมองหาหลักธรรมและหลักคำสอนในข้อที่ได้รับมอบหมายและเขียนไว้

หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว ขอให้นักเรียนสรุปอุปมาที่พวกเขาอ่านให้คู่ฟังและสนทนาคำถามต่อไปนี้

  • ความจริงอะไรบ้างที่ท่านระบุ

  • พระผู้ช่วยให้รอดทรงแสดงความจริงเหล่านี้ในข้อที่ท่านศึกษาอย่างไร

เชื้อเชิญให้นักเรียนหลายๆ คนรายงานความจริงที่พวกเขาระบุ ซึ่งอาจรวมถึงความจริงต่อไปนี้ มีแต่พระบิดาบนสวรรค์เท่านั้นที่ทรงทราบว่าการเสด็จมาครั้งที่สองของพระผู้ช่วยให้รอดจะเกิดเมื่อใด หากเราคอยดูเครื่องหมายและเชื่อฟังพระบัญญัติของพระเจ้า เมื่อนั้นเราจะพร้อมรับการเสด็จมาครั้งที่สองของพระผู้ช่วยให้รอด

ทบทวนความจริงที่ระบุใน โจเซฟ สมิธ—มัทธิว และขอให้นักเรียนพิจารณาว่าความจริงเหล่านี้จะช่วยตอบคำถามที่พวกเขาเขียนในตอนเริ่มต้นบทเรียนได้อย่างไร เชื้อเชิญให้พวกเขาเป็นพยานถึงความจริงที่พวกเขาได้เรียนรู้

ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้โดยเอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง (หากเป็นไปได้ให้แจกสำเนาแก่นักเรียน)

ภาพ
เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์

“เราจะทำอย่างไรถ้าวันแห่งการเสด็จมาคือพรุ่งนี้ ถ้าเรารู้ว่าเราจะพบพระเจ้าพรุ่งนี้—ผ่านการสิ้นชีวิตก่อนเวลาอันควรหรือการเสด็จมาอย่างไม่คาดฝันของพระองค์—เราจะทำอะไรวันนี้ เราจะสารภาพอะไร เราจะเลิกทำสิ่งใด เราจะสะสางเรื่องใด เราจะให้อภัยใคร เราจะแสดงประจักษ์พยานเรื่องอะไร

“ถ้าเราจะทำสิ่งเหล่านั้นในเวลานั้น เหตุใดเราไม่ทำตอนนี้?” (“การเตรียมพร้อมสำหรับการเสด็จมาครั้งที่สอง,” เลียโฮนา, พ.ค. 2004, 9)

เชื้อเชิญให้นักเรียนเขียนคำตอบของคำถามต่อไปนี้ หากฉันรู้ว่าฉันจะพบพระผู้ช่วยให้รอดพรุ่งนี้ ฉันจะเปลี่ยนอะไรวันนี้ กระตุ้นให้นักเรียนทำตามที่เขียนไว้

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

โจเซฟ สมิธ—มัทธิว 1:11 “แต่คนที่ยังแน่วแน่และไม่แพ้”

เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายว่าแน่วแน่หมายความว่าอย่างไร ดังนี้

“คำว่า ‘แน่วแน่’ ใช้เพื่อบอกตำแหน่งที่ตรึงไว้ หนักแน่นและมั่นคง ไม่หวั่นไหวและยืนหยัด (Oxford English Dictionary Online, 2nd ed. [1989], “Steadfast”) … บุคคลที่แน่วแน่และไม่หวั่นไหวนั้นหนักแน่น มั่นคง ยืนหยัด อยู่อย่างมั่นคงแน่นอนและไม่สามารถหันเหไปจากเป้าหมายหรือพันธกิจหลัก” (Steadfast and Immovable: Always Abounding in Good Works, New Era, ม.ค. 2008, 2)

พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนว่า “แต่คนที่ยังแน่วแน่และไม่แพ้, คนคนนั้นจะรอด” (โจเซฟ สมิธ—มัทธิว 1:11) การรอดไม่ได้หมายความว่าจะปลอดภัยจากความยากลำบาก ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธอธิบายว่า

“นั่นเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้องที่วิสุทธิชนจะรอดพ้นจากการพิพากษาทั้งหมด ขณะคนชั่วทนทุกข์เพราะเนื้อหนังทั้งปวงต้องทนทุกข์และ ‘คนชอบธรรมจะหนีแทบไม่พ้น’…คนชอบธรรมจำนวนมากจะตกเป็นเหยื่อโรคภัย โรคระบาด เป็นต้น เพราะความอ่อนแอของเนื้อหนัง แต่จะรอดในอาณาจักของพระผู้เป็นเจ้า” (ใน History of the Church, 4:11; ดู Journals, Volume 1: 1832–1839, vol. 1 of the Journals series of The Joseph Smith Papers, ed. Dean C. Jessee, Ronald K. Esplin, and Richard Lyman Bushman [2008], 352–53 ด้วย)

โจเซฟ สมิธ—มัทธิว 1:22 “จะเกิดพระคริสต์ปลอมทั้งหลายด้วย, และศาสดาพยากรณ์ปลอมทั้งหลาย”

คำว่า “พระคริสต์ปลอม” และ “ศาสดาพยากรณ์ปลอม” หมายถึงใครก็ตาม—ในหรือนอกศาสนจักร—คนที่อ้างว่าพูดแทนพระเจ้าโดยไม่มีสิทธิอำนาจหรือคนที่สนับสนุนคำสอนที่ตรงกันข้ามกับคำของศาสดาพยากรณ์ที่มีชีวิตอยู่ ระบบการนมัสการปลอม อาจเป็นพระคริสต์ปลอมด้วย (ดู บรูซ อาร์. แมคคองกี, The Millennial Messiah [1982], 48) วลี “ผู้ที่ทรงเลือกไว้ตามพันธสัญญา” ใน ข้อ 22หมายถึงสมาชิกศาสนจักรของพระเยซูคริสต์

เอ็ลเดอร์เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายคำว่า “พระคริสต์ปลอม” และ “ศาสดาพยากรณ์ปลอม” ดังนี้

“เมื่อเราคิดถึงศาสดาพยากรณ์ปลอมและผู้สอนปลอม เรามักคิดถึงคนที่ใช้หลักคำสอนปลอมหรือทึกทักว่ามีอำนาจที่จะสอนพระกิตติคุณที่แท้จริงของพระคริสต์ตามการแปลความของพวกเขาเอง เรามักนึกว่าคนเช่นนั้นเกี่ยวข้องกับกลุ่มหัวรุนแรงที่สังคมไม่ยอมรับ อย่างไรก็ดี ข้าพเจ้าขอกล่าวย้ำอีกครั้งว่า มีศาสดาพยากรณ์ปลอมและผู้สอนปลอมผู้มีหรืออย่างน้อยก็อ้างว่ามีสมาชิกภาพในศาสนจักร มีคนที่ไม่มีอำนาจอ้างการรับรองของศาสนจักรในสินค้าหรือการปฏิบัติของพวกเขา จงระวังคนเช่นนั้น” (“ระวังศาสดาพยากรณ์ปลอมและผู้สอนปลอม,” Ensign, พ.ย. 1999, 62)

โจเซฟ สมิธ—มัทธิว 1:22 “หากเป็นไปได้, พวกเขาจะหลอกลวงแม้ผู้ที่ทรงเลือกไว้”

ประธานโจเซฟ เอฟ. สมิธ เตือนสมาชิกศาสนจักรดังนี้

“เราไม่สามารถยอมรับอำนาจใดยกเว้นอำนาจที่มาจากช่องทางที่แต่งตั้งไว้โดยตรง องค์การที่ได้รับการจัดตั้งไว้แห่งฐานะปุโรหิต ซึ่งเป็นช่องทางที่พระผู้เป็นเจ้าทรงแต่งตั้งซึ่งโดยทางนั้นพระองค์ทรงบอกพระดำริและพระประสงค์ของพระองค์ต่อโลก

“…และนาทีใดที่บุคคลมองหาแหล่งอื่น นาทีนั้นเขาเปิดตัวเองต้อนรับอิทธิพลอันยวนใจของซาตาน และยอมให้ตัวเองมีสิทธิเป็นทาสของมาร พวกเขาละสายตาไปจากสายอำนาจที่แท้จริงที่ทำให้เขาสามารถชื่นชมพรแห่งฐานะปุโรหิตได้ พวกเขาก้าวออกจากเขตแดนอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า และอยู่บนพื้นที่อันตราย เมื่อใดก็ตามที่ท่านเห็นชายคนหนึ่งลุกขึ้นประกาศว่าเขาได้รับการเปิดเผยโดยตรงจากพระเจ้าให้แก่ศาสนจักร โดยไม่ต้องพึ่งสายอำนาจและช่องทางของฐานะปุโรหิต ท่านบอกได้เลยว่าเขาเป็นคนหลอกลวง” (Gospel Doctrine, 5th ed. [1939], 42)