คลังค้นคว้า
บทที่ 14: มัทธิว 11–12


บทที่ 14

มัทธิว 11–12

คำนำ

พระเยซูคริสต์ทรงเป็นพยานว่ายอห์นผู้ถวายบัพติศมาถูกส่งมาเพื่อเตรียมมรรคาต่อหน้าพระองค์ และพระองค์ทรงสัญญาว่าคนที่มาหาพระองค์จะได้หยุดพัก (พระเยซูทรงตอบข้อกล่าวหาของชาวฟาริสีว่าพลังอำนาจของพระองค์มาจากมาร) พระองค์ทรงเตือนไม่ให้กล่าวหาผิดๆ และแสวงหาหมายสำคัญ พระองค์ทรงสอนอุปมาเรื่องบ้านว่าง

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

มัทธิว 11

พระเยซูคริสต์ทรงเป็นพยานว่ายอห์นผู้ถวายบัพติศมาถูกส่งมาเตรียมมรรคาต่อหน้าพระองค์

ให้นักเรียนดูภาพเจ้าหน้าที่ตำรวจ แพทย์ และพระเยซูคริสต์

  • เหตุใดจึงสำคัญที่จะรู้ว่าคนเหล่านี้เป็นคนที่พวกเขาดูเหมือนจะเป็นจริงๆ ท่านจะรู้ได้อย่างไรว่าพวกเขาเป็นคนที่พวกเขาดูเหมือนจะเป็นจริงๆ

อธิบายว่าระหว่างการปฏิบัติศาสนกิจขณะทรงเป็นมรรตัยของพระเยซูคริสต์ มีหลายคนพยายามจะรู้ว่าพระองค์ทรงเป็นบุคคลที่พระองค์ดูเหมือนจะเป็นหรือไม่ ขอให้นักเรียนมองหาความจริงเมื่อพวกเขาศึกษา มัทธิว 11 ที่จะช่วยให้พวกเขาพัฒนาประจักษ์พยานของพวกเขาเองว่าพระเยซูคริสต์ทรงเป็นใคร

อธิบายว่ากษัตริย์เฮโรดจับกุมคุมขังยอห์นผู้ถวายบัพติศมา เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง มัทธิว 11:2–3 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาคำถามที่ยอห์นส่งสานุศิษย์ของเขาไปถามพระเยซู

  • ยอห์นส่งสานุศิษย์ของเขาไปถามอะไรพระเยซู

ชี้ให้เห็นว่าด้วยคำถามนี้ใน ข้อ 3 สานุศิษย์ของยอห์นกำลังถามพระเยซูว่าพระองค์ทรงเป็นพระเมสสิยาห์หรือไม่ เตือนนักเรียนว่ายอห์นผู้ถวายบัพติศมารู้แล้วว่าพระเยซูทรงเป็นพระเมสสิยาห์ (ดู มัทธิว 3:11, 13–14; ยอห์น 1:29–34)

  • ท่านคิดว่าเหตุใดยอห์นผู้ถวายบัพติศมาจึงส่งสานุศิษย์ของเขาไปค้นหาว่าพระเยซูทรงเป็นพระเมสสิยาห์หรือไม่เมื่อยอห์นรู้อยู่แล้วว่าพระองค์ทรงเป็น (เขาต้องการให้สานุศิษย์ของเขาได้รับพยานของตนเองเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์)

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง มัทธิว 11:4–5 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยหาดูว่าพระเยซูทรงตอบคำถามพวกเขาอย่างไร

  • แทนที่จะยืนยันอย่างเรียบง่ายว่าพระองค์ทรงเป็นพระเมสสิยาห์ พระเยซูทรงเชิญสานุศิษย์ของยอห์นผู้ถวายบัพติศมาให้ทำอะไร

ท่านอาจต้องการอธิบายว่าพระเยซูทรงบอกสานุศิษย์ของยอห์นได้ง่ายๆ ว่าพระองค์ทรงเป็นพระเมสสิยาห์ แทนที่จะทำเช่นนั้น พระองค์ทรงเชิญให้พวกเขา “ได้ยินและได้เห็น” (ข้อ 4) หรือพิจารณางานของพระองค์และจากนั้นกลับไปหายอห์นผู้ถวายบัพติศมาและเป็นพยานถึงสิ่งที่พวกเขาได้ยินและได้เห็นพระเยซูทรงทำ

  • คำตอบของพระเยซูอาจช่วยได้อย่างไรที่จะให้สานุศิษย์ของยอห์นได้รับพยานที่มีพลังยิ่งขึ้นเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดมากกว่าที่พระองค์จะทรงบอกพวกเขาเพียงว่าพระองค์ทรงเป็นใคร

  • เราสามารถเรียนรู้หลักธรรมอะไรจากเรื่องราวนี้ว่าเราจะเสริมสร้างประจักษ์พยานของเราในพระผู้ช่วยให้รอดได้อย่างไร (แม้พวกเขาอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่นักเรียนควรระบุความจริงต่อไปนี้ เมื่อเราพยายามเรียนรู้เกี่ยวกับพระเยซูคริสต์และเมื่อเราเป็นพยานเกี่ยวกับพระองค์ประจักษ์พยานของเราเองเกี่ยวกับพระองค์จะเข้มแข็งขึ้น)

เชื้อเชิญให้นักเรียนเขียนว่าพวกเขารู้ด้วยตนเองได้อย่างไรว่าพระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า ท่านอาจต้องการเชิญนักเรียนสองสามคนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเขียนกับชั้นเรียน

สรุป มัทธิว 11:7–27 โดยอธิบายว่าหลังจากสานุศิษย์สองคนจากไป พระเยซูตรัสบอกฝูงชนว่ายอห์นผู้ถวายบัพติศมาเป็นศาสดาพยากรณ์ที่ถูกเลือกสรรให้เตรียมมรรคาสำหรับพระเมสสิยาห์ พระเยซูทรงสาปแช่งคนที่ปฏิเสธยอห์นผู้ถวายบัพติศมาเช่นเดียวกับคนที่เห็นหลักฐานชัดเจนถึงความสูงส่งของพระเจ้า กระนั้นยังปฏิเสธพระองค์ (หมายเหตุ: คำสอนของพระเยซูเกี่ยวกับยอห์นผู้ถวายบัพติศมาในข้อเหล่านี้จะสนทนาอย่างละเอียดมากขึ้นในบทเรียน ลูกา 7:18–35)

จากนั้นพระเยซูทรงให้สัญญาแก่คนทั้งปวงที่รับพระองค์ในฐานะพระเมสสิยาห์ เพื่อช่วยนักเรียนทบทวน มัทธิว 11:28–30 ซึ่งท่านแนะนำไปในบทที่ 1 เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านข้อเหล่านี้และขอให้ชั้นเรียนดูตามและมองหาว่าพระเจ้าทรงเชื้อเชิญให้เราทำอะไร

  • พระเจ้าทรงเชื้อเชิญให้เราทำอะไร พระองค์ทรงสัญญาอะไรกับเราเป็นการตอบแทน (หลังจากที่นักเรียนแบ่งปันคำตอบของพวกเขา ให้เขียนความจริงต่อไปนี้บนกระดาน ถ้าเรามาหาพระเยซูคริสต์ พระองค์จะทรงทำให้ภาระของเราเบาลงและให้เราหยุดพัก)

  • การเข้าใจความจริงในข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์นี้จะช่วยท่านอย่างไรในปีนี้

มัทธิว 12:1–42

พระเยซูคริสต์ทรงประณามชาวฟาริสีต่อการกล่าวหาผิดๆ และการแสวงหาหมายสำคัญ

(หมายเหตุ: เหตุการณ์ใน มัทธิว 12:1–21 จะสอนอย่างลึกซึ้งมากขึ้นในบทเรียน มาระโก 2–3)

สรุป มัทธิว 12:1–30 โดยอธิบายว่าหลังจากพระเยซูทรงรักษาชายคนหนึ่งในวันสะบาโต ชาวฟาริสีบางคนเริ่มพยายามทำลายพระองค์ เมื่อพระองค์ทรงรักษาคนที่ถูกมารสิง พวกเขาพยายามให้ร้ายพระองค์ต่อหน้าผู้คนโดยกล่าวหาพระองค์ว่าทรงทำงานเหล่านั้นโดยพลังอำนาจของมาร พระเยซูทรงทราบความคิดของพวกเขาและตรัสว่า ในทางตรงกันข้าม โดยการขับมารออกพระองค์ทรงแสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงเป็นพระเมสสิยาห์และทรงกำลังสถาปนาอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า ขอให้นักเรียนอ่าน มัทธิว 12:30 ในใจโดยมองหาว่าพระเยซูทรงสอนเกี่ยวกับคนที่ไม่อยู่ฝ่ายพระองค์ว่าอย่างไร ขอให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พวกเขาพบ

  • ตามที่กล่าวใน ข้อ 30 หากเราปรารถนาจะเป็นส่วนหนึ่งในอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า เราต้องทำอย่างไร (เมื่อนักเรียนแบ่งปันคำตอบของพวกเขา ให้แน่ใจว่าได้เน้นความจริงนี้ หากเราปรารถนาจะเป็นส่วนหนึ่งในอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า เราต้องทุ่มเทให้พระเยซูคริสต์เต็มที่)

  • มีวิธีอะไรบ้างที่เราจะแสดงออกถึงการทุ่มเทให้พระเยซูคริสต์อย่างเต็มที่

สรุป มัทธิว 12:31–42 โดยอธิบายว่าพระเยซูทรงยืนยันอีกครั้งว่างานดีของพระองค์เป็นหลักฐานว่าพระองค์ทรงเป็นพระผู้เป็นเจ้าและไม่ใช่มาร พระองค์ทรงเตือนชาวฟาริสีด้วยว่าพระผู้เป็นเจ้าจะทรงให้พวกเขารับผิดชอบต่อคำกล่าวหาของพวกเขา จากนั้นพวกธรรมาจารย์และชาวฟาริสีบางคนขอหมายสำคัญ พระเยซูทรงประณามพวกเขาที่แสวงหาหมายสำคัญและความล้มเหลวที่จะเห็นว่าพระองค์ทรงยิ่งใหญ่กว่าศาสดาพยากรณ์หรือกษัตริย์ในอิสราเอลก่อนหน้านี้ทุกคน

มัทธิว 12:43–50

พระเยซูทรงสอนอุปมาเรื่องบ้านว่างและคนที่ทำตามพระประสงค์ของพระบิดาจะถูกนับอยู่ในบรรดาครอบครัวของพระองค์

ขอให้นักเรียนจินตนาการว่าเพื่อนของพวกเขาคนหนึ่งขอคำแนะนำว่าจะหลีกเลี่ยงการกลับไปทำบาปเดิมๆ ที่เขาพยายามทิ้งไปได้อย่างไร

  • ท่านจะให้คำแนะนำอะไรแก่เพื่อนเพื่อช่วยเขาต่อต้านการล่อลวงนี้

อธิบายว่า มัทธิว 12:43–45 มีอุปมาเกี่ยวกับผีโสโครกที่ถูกไล่ออกจากคน เชื้อเชิญให้นักเรียนมองหาหลักธรรมในอุปมานี้ที่จะช่วยเพื่อนของพวกเขาเอาชนะการล่อลวง เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง มัทธิว 12:43–44 และขอให้ชั้นเรียนมองหาว่าผีโสโครกทำอะไรหลังจากถูกไล่ออกจากคนๆ นั้นแล้ว

  • ผีโสโครกทำอะไรหลังจากหาที่พักที่ไหนไม่ได้

  • คำไหนที่บรรยายสภาพของ “บ้าน” หรือคน เมื่อผีโสโครกนั้นกลับมา

เชิญนักเรียนอีกคนอ่านออกเสียง มัทธิว 12:45 และขอให้ชั้นเรียนมองหาว่าผีโสโครกทำอะไรหลังจากพบว่า“บ้าน” หรือคนนั้นว่าง ขอให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พวกเขาพบ

  • หลังจากที่เขาได้ขับมารออกไป คนที่อยู่ในอุปมาล้มเหลวที่จะทำอะไรจึงทำให้วิญญาณที่ชั่วร้ายกลับเข้ามา (เขาไม่ได้แทนที่ความคิด ความรู้สึก คำพูด และการกระทำที่ชั่วร้ายด้วยความคิด ความรู้สึก คำพูด และการกระทำที่ชอบธรรม)

  • ประสบการณ์ของคนในอุปมานี้หมายถึงบางคนที่กลับใจจากบาปและพยายามต่อต้านการล่อลวงอย่างไร

หลังจากนักเรียนตอบ เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานสเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์

ภาพ
ประธานสเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์

“ในการละทิ้งบาป คนเราไม่เพียง หวัง เท่านั้นว่าจะมีสภาพที่ดีขึ้น เขาต้อง ทำ ให้เกิดขึ้น …

“… สิ่งต่างๆ ที่ทำให้เขาหมกมุ่น ดึงดูดความคิดเพ้อฝันของเขาและครอบครองความคิดของเขาหายไปแล้ว และตัวแทนที่ดีกว่ายังไม่ได้มาแทนที่ นี่จึงเป็นโอกาสของซาตาน” (The Miracle of Forgiveness [1969], 171–72; เพิ่มตัวเน้น)

  • เราสามารถเรียนรู้อะไรจากอุปมานี้ซึ่งช่วยให้เรารู้วิธีขับไล่อิทธิผลชั่วร้ายต่อไปหลังจากที่เราขจัดมันออกไปจากชีวิตเรา (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่พวกเขาควรระบุหลักธรรมต่อไปนี้ เราสามารถขับไล่อิทธิพลที่ชั่วร้ายหลังจากขจัดมันออกไปจากชีวิตเราโดยการแทนที่ด้วยความชอบธรรม)

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจความจริงนี้ ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านคำกล่าวต่อไปนี้ ขอให้ชั้นเรียนฟังดูว่าเหตุใดการขจัดบาปออกไปจากชีวิตเราเท่านั้นจึงไม่เพียงพอ

“การพยายามต่อต้านความชั่วร้ายหรือทำชีวิตให้เว้นว่างจากบาปเท่านั้นยังไม่พอ ท่านต้องเติมชีวิตของท่านด้วยความชอบธรรมและมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่ก่อเกิดพลังทางวิญญาณ …

“การเชื่อฟังโดยครบถ้วนจะนำพลังที่สมบูรณ์ของพระกิตติคุณเข้ามาในชีวิตท่านรวมถึงความเข้มแข็งที่เพิ่มขึ้นเพื่อเอาชนะความอ่อนแอ การเชื่อฟังเช่นนี้รวมถึงการกระทำที่ท่านอาจจะไม่ได้คิดแต่แรกว่าเป็นส่วนหนึ่งของการกลับใจ อาทิ เข้าร่วมประชุม จ่ายส่วนสิบ รับใช้ และให้อภัยผู้อื่น” (แน่วแน่ต่อศรัทธา: ศัพทานุกรมพระกิตติคุณ [2004], 7)

  • เมื่อเรากลับใจ อะไรคือบางสิ่งที่เราจะทำได้เพื่อเติมชีวิตเราด้วยความชอบธรรมเพื่อว่าเราจะไม่กลับไปทำบาป (ท่านอาจเชิญนักเรียนคนหนึ่งให้เขียนคำตอบบนกระดาน)

  • การทำสิ่งเหล่านี้จะนำพลังทางวิญญาณที่ยิ่งใหญ่ขึ้นมาสู่ชีวิตเราและทำให้เราเอาชนะอิทธิพลชั่วร้ายได้อย่างไร

เป็นพยานว่าการเติมชีวิตเราด้วยความชอบธรรมจะทำให้เรามีพลังมากขึ้นในการขับไล่ความชั่ว กระตุ้นให้นักเรียนไตร่ตรองว่าพวกเขาจะเติมชีวิตพวกเขาด้วยความชอบธรรมที่มากขึ้นและจะทำตามการดลใจที่พวกเขาได้รับอย่างไรเมื่อพวกเขาไตร่ตรอง

สรุปที่เหลือของ มัทธิว 12 โดยอธิบายว่าขณะที่พระเยซูทรงสอนอยู่นั้น บางคนบอกพระองค์ว่าสมาชิกบางคนในครอบครัวของพระองค์ต้องการพูดกับพระองค์ จากนั้นพระองค์จึงทรงสอนว่าทุกคนที่ทำตามพระประสงค์ของพระบิดาจะนับอยู่ในครอบครัวของพระองค์

ภาพ
ไอคอนผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์
ผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์—มัทธิว 11:28–30

เพื่อช่วยให้นักเรียนท่องจำ มัทธิว 11:28–30 เชิญชั้นเรียนให้ประดิษฐ์ท่าทางแทนคำหรือประโยคในแต่ละข้อแล้วท่องข้อความขณะที่ทำท่า ให้นักเรียนฝึกท่องขณะเริ่มชั้นเรียนเป็นเวลาหลายวันจนพวกเขาจะท่องได้ขึ้นใจ

บทจิวารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

มัทธิว 11:11 “ผู้ที่เล็กน้อยที่สุดในแผ่นดินสวรรค์ก็ยิ่งใหญ่กว่ายอห์น”

ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธอธิบายว่าวิธีหนึ่งที่จะเข้าใจ มัทธิว 11:11 คือการมองว่าเป็นคำอ้างอิงถึงพระเยซูคริสต์พระองค์เอง

“ใครหรือที่พระเยซูทรงอ้างถึงว่าเป็นผู้ต่ำต้อยที่สุด พระเยซูทรงถูกมองว่าเป็นผู้มีสิทธิ์น้อยที่สุดในอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า และ [ดูเหมือน] จะมีสิทธิ์น้อยที่สุดที่จะได้รับความเชื่อถือในฐานะศาสดาพยากรณ์ ราวกับว่าพระองค์ตรัสดังนี้—‘ผู้ที่เล็กน้อยที่สุดในแผ่นดินสวรรค์ก็ยิ่งใหญ่กว่ายอห์น—นั่นคือตัวเราเอง’” (คำสอนของประธานศาสนจักร: โจเซฟ สมิธ [2007], 82)

มัทธิว 12:31–32 “คำหมิ่นประมาทพระวิญญาณบริสุทธิ์”

ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธอธิบายว่าคนทำบาปโดยหมิ่นประมาทพระวิญญาณบริสุทธิ์ได้อย่างไร

“เขาต้องได้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์ ฟ้าสวรรค์เปิดต่อเขา และรู้จักพระผู้เป็นเจ้าและจากนั้นทำบาปต่อต้านพระองค์ หลังจากคนๆ หนึ่งทำบาปต่อต้านพระวิญญาณบริสุทธิ์ ไม่มีการกลับใจสำหรับเขา เขาต้องบอกว่าดวงอาทิตย์ไม่ได้ส่องแสงขณะที่เขาเห็นมัน เขาต้องปฏิเสธพระเยซูคริสต์เมื่อฟ้าสวรรค์เปิดต่อเขา และปฏิเสธแผนแห่งความรอดด้วยตาที่ถูกเปิดให้เห็นความจริงของแผน และจากนั้นเป็นต้นมาเขาเริ่มเป็นศัตรู (ใน History of the Church, 6:314)

บางครั้งนักเรียนกังวลเกี่ยวกับบาปของการหมิ่นประมาทหรือการปฏิเสธพระวิญญาณ ประธานสเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์สอนดังนี้

“บาปแห่งการต่อต้านพระวิญญาณบริสุทธิ์จำเป็นต้องมีความรู้อย่างแจ้งชัดซึ่งแทบจะเป็นไปไม่ได้สำหรับคนธรรมดาที่จะทำบาปเช่นนั้น” (The Miracle of Forgiveness [1969], 123)

เอ็ลเดอร์เจมส์ อี. ทาลเมจแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายว่าเหตุใดพระเยซูทรงเตือนชาวฟาริสีเรื่องบาปที่ให้อภัยไม่ได้ใน มัทธิว 12:31–32ดังนี้

“พระเยซูทรงเมตตาในการให้ความมั่นใจว่าคำพูดที่พูดต่อต้านพระองค์ในฐานะมนุษย์นั้นอาจให้อภัยได้ แต่การพูดต่อต้านอำนาจที่พระองค์ทรงมี และโดยเฉพาะอย่างยิ่งโดยให้ความเห็นว่าพลังและอำนาจนั้นเป็นของซาตาน เข้าใกล้การหมิ่นประมาทพระวิญญาณบริสุทธิ์ ซึ่งเป็นบาปที่ไม่สามารถให้อภัยได้” (Jesus the Christ, 3rd ed. [1916], 269)