คลังค้นคว้า
บทที่ 124: ฟีลิปปี 1–3


บทที่ 124

ฟิลิปปี 1–3

คำนำ

เปาโลกระตุ้นให้วิสุทธิชนในฟีลิปปีทำงานร่วมกันในการดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณ เปาโลแนะนำให้พวกเขาทำตามแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดในเรื่องความอ่อนน้อมถ่อมตนและความไม่เห็นแก่ตัว เขาสอนว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงทำงานอยู่ภายในพวกเขาเพื่อทำให้เกิดความรอดของพวกเขา เปาโลบรรยายถึงการเสียสละที่เขาทำเพื่อติดตามพระเยซูคริสต์

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

ฟีลิปปี 1

เปาโลบรรยายถึงพรที่มาจากการต่อต้าน

ก่อนชั้นเรียน ให้เขียนคำกล่าวต่อไปนี้โดยประธานบริคัม ยังก์บน กระดาน (ข้อความนี้มีอยู่ใน Discourses of Brigham Young, sel. John A. Widtsoe [1954], 351.) แทนคำที่ขีดเส้นใต้ด้วยช่องว่าง

“ทุกครั้งที่ท่านข่มเหง ‘ความเชื่อของชาวมอรมอน’ ท่านก็ได้ทำให้ความเชื่อนี้ ก้าวหน้าท่านไม่มีวันทำให้ความเชื่อนี้ ตกต่ำลง เพราะพระเจ้าผู้ทรงฤทธานุภาพทรงบัญชาสิ่งนี้” (ประธานบริคัม ยังก์)

เริ่มบทเรียนโดยถามว่า

  • มีตัวอย่างใดบ้าง ไม่ว่าจากประวัติศาสตร์หรือจากสมัยของเรา เกี่ยวกับผู้คนที่ข่มเหงหรือต่อต้านศาสนจักรของพระผู้ช่วยให้รอดและผู้ติดตามของพระองค์

ขณะที่พวกเขาศึกษา ฟีลิปปี 1 เชื้อเชิญให้นักเรียนมองหาความจริงที่จะช่วยให้พวกเขาเข้าใจว่าการต่อต้านจะส่งผลต่องานของพระเจ้าอย่างไร

ท่านอาจต้องการเชื้อเชิญให้นักเรียนระบุที่ตั้งของเมืองฟีลิปปีในแผนที่พระคัมภีร์ไบเบิล แผนที่ 13 “เส้นทางในการเผยแผ่ศาสนาของอัครสาวกเปาโล” ซึ่งอยู่ในคู่มือพระคัมภีร์ อธิบายว่าเปาโลจัดตั้งสาขาของศาสนจักรในเมืองฟีลิปปีระหว่างการเดินทางเผยแผ่ศาสนาครั้งที่สองของเขา (ดู กิจการของอัครทูต 16) ต่อมาเขาเขียนจดหมายไปถึงชาวฟีลิปปีขณะที่เขาถูกคุมขัง น่าจะอยู่ในกรุงโรม สรุป ฟีลิปปี 1:1–11 โดยอธิบายว่าเปาโลแสดงความสำนึกคุณและความรักต่อวิสุทธิชนชาวฟีลิปปี

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ฟีลิปปี 1:12–14 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าการต่อต้านที่เปาโลประสบระหว่างพยายามทำงานเผยแผ่ศาสนาส่งผลให้เกิดอะไรขึ้น

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 12การต่อต้านที่เปาโลประสบส่งผลให้เกิดอะไรขึ้น (“ข่าวประเสริฐ [ก้าวหน้า] แผ่ขยายออกไป”)

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 13–14 การต่อต้านช่วยให้พระกิตติคุณก้าวหน้าไปอย่างไร (ผู้คนทั่วทั้ง “กองบัญชาการ” [ข้อ 13] หรือกองบัญชาการทหารรู้ว่าเปาโลถูกคุมขังเนื่องจากสั่งสอนเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ การคุมขังเปาโลเป็นแรงบันดาลใจให้สมาชิกศาสนจักรคนอื่นๆ กล้าหาญมากขึ้นในการสั่งสอนพระกิตติคุณ)

  • เราสามารถเรียนรู้ความจริงอะไรจากข้อเหล่านี้เกี่ยวกับผลที่จะเกิดขึ้นเมื่อเราประสบกับการต่อต้านในการติดตามพระเยซูคริสต์ (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่ให้แน่ใจว่าพวกเขาระบุความจริงต่อไปนี้ การต่อต้านที่เราประสบในการติดตามพระเยซูคริสต์จะช่วยทำให้งานของพระองค์ก้าวหน้า)

พูดถึงข้อความของประธานยังก์บนกระดาน ถามนักเรียนว่าพวกเขาจะใช้คำใดเติมลงในช่องว่าง เติมคำที่ถูกต้องลงในช่องว่าง ท่านอาจต้องการอธิบายว่า ก้าวหน้า ในบริบทนี้หมายถึงรุดหน้า

  • มีตัวอย่างใดบ้างที่การต่อต้านได้ช่วยทำให้งานของพระผู้ช่วยให้รอดก้าวหน้า

สรุป ฟีลิปปี 1:15–26 โดยอธิบายว่าเปาโลบอกว่าพระผู้ช่วยให้รอดจะทรงได้รับการยกย่องสรรเสริญยิ่งขึ้นผ่านสิ่งใดก็ตามที่เกิดขึ้นกับเปาโล

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ฟีลิปปี 1:27–30 อธิบายว่างานแปลของโจเซฟ สมิธ, ฟีลิปปี 1:28 กล่าวว่า: “และท่านไม่เกรงกลัวพวกที่ขัดขวางเลย ผู้ปฏิเสธข่าวประเสริฐ สิ่งนี้เป็นหลักฐานแห่งความพินาศต่อพวกเขา แต่เป็นหลักฐานแห่งความรอดของพวกท่าน ผู้ยอมรับข่าวประเสริฐ และการดังกล่าวมาจากพระเจ้า” เชื้อเชิญให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าเปาโลกระตุ้นให้วิสุทธิชนทำอะไร อธิบายว่า ดำเนินชีวิต (ข้อ 27) หมายถึงความประพฤติ

  • เปาโลกระตุ้นให้วิสุทธิชนทำอะไร

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 29–30 สมาชิกศาสนจักรจะประสบกับอะไรแทนพระผู้ช่วยให้รอด

เตือนนักเรียนถึงความจริงที่พวกเขาระบุไปก่อนหน้านี้

  • ท่านคิดว่าวิสุทธิชนชาวฟีลิปปีจะได้รับพรอย่างไรจากการจดจำว่าการต่อต้านที่พวกเขาประสบในการติดตามพระเยซูคริสต์จะช่วยทำให้งานของพระองค์ก้าวหน้า

ฟีลิปปี 2

เปาโลสอนเกี่ยวกับพระจริยวัตรอันอ่อนน้อมของพระผู้ช่วยให้รอดและให้คำแนะนำวิสุทธิชนเรื่องความรอดของพวกเขา

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน ฟีลิปปี 2:2 ในใจ โดยมองหาคำแนะนำของเปาโลที่ให้กับวิสุทธิชนชาวฟีลิปปี

  • ท่านจะสรุปคำแนะนำของเปาโลว่าอย่างไร

แบ่งนักเรียนออกเป็นคู่ๆ แนะนำให้แต่ละคู่อ่านออกเสียง ฟีลิปปี 2:3–8 พร้อมกัน โดยมองหาสิ่งที่เปาโลบอกให้วิสุทธิชนทำเพื่อเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ขอให้นักเรียนหนึ่งคนจากแต่ละคู่มาเขียนคำแนะนำหนึ่งข้อที่พบไว้บนกระดาน

  • ตามคำสอนของเปาโล พระเยซูคริสต์ทรงเป็นแบบอย่างของความอ่อนน้อมถ่อมตนและความไม่เห็นแก่ตัวอย่างไร

  • เราสามารถเรียนรู้หลักธรรมอะไรจากคำสอนของเปาโลที่จะช่วยให้เราเป็นหนึ่งเดียวกันมากขึ้น (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่ควรระบุหลักธรรมต่อไปนี้ ถ้าเราทำตามแบบอย่างของพระเยซูคริสต์ในเรื่องความอ่อนน้อมถ่อมตนและการห่วงใยผู้อื่นอย่างไม่เห็นแก่ตัว เราจะเป็นหนึ่งเดียวกันมากขึ้น)

  • เราจะทำตามแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดในเรื่องความอ่อนน้อมถ่อมตนและความไม่เห็นแก่ตัวในครอบครัว โรงเรียน วอร์ดหรือสาขาของเราในทางใดได้บ้าง

  • ท่านเคยเห็นคนนึกถึงความต้องการของผู้อื่นก่อนของตนเองเมื่อใด ความพยายามเหล่านี้เพิ่มพูนความเป็นหนึ่งเดียวอย่างไร

อธิบายว่าดังที่บันทึกใน ฟีลิปปี 2:9–11เปาโลสอนว่าในที่สุดแล้วทุกคนจะคุกเข่าและ “ยอมรับว่าพระเยซูคริสต์ทรงเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้า” (ข้อ 11) เชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองว่าสำหรับพวกเขาแล้วพวกเขาหวังว่าประสบการณ์นี้จะเป็นอย่างไร

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ฟีลิปปี 2:12–13 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่เปาโลแนะนำให้ชาวฟีลิปปีทำซึ่งจะทำให้ประสบการณ์เรื่องการคุกเข่าต่อพระพักตร์พระเจ้าเป็นที่น่าปีติยินดี ท่านอาจต้องอธิบายว่า “ความเกรงกลัวและตัวสั่น” (ข้อ 12) หมายถึงสิ่งตรงข้ามกับความยำเกรงและเปรมปรีดิ์ (ดู สดุดี 2:11; คู่มือพระคัมภีร์, “ความกลัว,” scriptures.lds.org)

ชี้ให้เห็นว่าบางคนเข้าใจผิดว่าถ้อยคำของเปาโลใน ฟีลิปปี 2:12 หมายถึงเรารอดโดยการกระทำของเราเองเท่านั้น

  • ใครทำให้ความรอดเป็นไปได้สำหรับเรา อย่างไร

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ฟีลิปปี 2:13 มีวิธีการสองวิธีใดที่พระผู้เป็นเจ้าทรงช่วยคนที่กำลังพยายามทำตามข้อกำหนดสำหรับความรอด (พระผู้เป็นเจ้าทรงทำให้พวกเขามี “ความประสงค์” หรือความปรารถนา และให้เชื่อฟัง “ตามชอบพระทัยของพระองค์” หรือพระบัญญัติของพระองค์ หลังจากนักเรียนตอบ ให้เขียนความจริงต่อไปนี้บนกระดาน พระผู้เป็นเจ้าทรงช่วยให้เรามีความปรารถนาที่จะทำตามข้อกำหนดสำหรับความรอดของเราซึ่งเป็นไปได้ผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์)

  • อะไรคือข้อกำหนดสำหรับความรอดซึ่งพระผู้เป็นเจ้าประทานแก่เราและทรงช่วยให้เกิดสัมฤทธิผล (ท่านอาจเชื้อเชิญให้นักเรียนดูหลักแห่งความเชื่อข้อที่สามและสี่)

ชี้ให้เห็นว่าโดยผ่านอิทธิพลของพระวิญญาณบริสุทธิ์ พระผู้เป็นเจ้าจะทรงช่วยเราเปลี่ยนและทำให้ความปรารถนาของเราบริสุทธิ์เพื่อให้เราต้องการเชื่อฟังพระองค์ (ดู โมไซยาห์ 5:2) เชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงช่วยเปลี่ยนใจของพวกเขาเพื่อให้พวกเขาต้องการเชื่อฟังพระองค์อย่างไรและทรงช่วยให้พวกเขารักษาพระบัญญัติของพระองค์อย่างซื่อสัตย์อย่างไร

สรุป ฟีลิปปี 2:14–30 โดยอธิบายว่าเปาโลเตือนวิสุทธิชนว่าพวกเขา “ดุจดวงสว่างต่างๆ ของโลก” (ข้อ 15) และทรงบอกพวกเขาว่าพระองค์จะทรงส่งผู้ส่งสารเพื่อทรงทราบความเป็นอยู่ของพวกเขา

ฟีลิปปี 3

เปาโลบรรยายถึงการเสียสละที่เขาทำเพื่อติดตามพระเยซูคริสต์

เชื้อเชิญให้นักเรียนนึกถึงบางสิ่งที่พวกเขาเห็นคุณค่าซึ่งโลกนี้จะถือว่ามีค่าเช่นกัน (เช่น ครอบครัว เพื่อน การศึกษา อาหาร เทคโนโลยี หรือเงิน) และหากเป็นไปได้ ให้แสดงสิ่งของที่เป็นตัวแทนของสิ่งที่พวกเขานึกถึง เชื้อเชิญให้พวกเขาพิจารณาว่าพวกเขาจะยอมทิ้งสมบัติอันล้ำค่าเหล่านี้เพื่อสิ่งใด

ขณะที่นักเรียนศึกษา ฟีลิปปี 3 เชื้อเชิญให้พวกเขามองหาสิ่งที่เปาโลยอมทิ้งเพื่อรับรางวัลอันมีค่าซึ่งมีให้เราด้วย

สรุป ฟีลิปปี 3:1–3 โดยอธิบายว่าเปาโลเตือนชาวฟีลิปปีถึงผู้สอนปลอมที่อ้างว่าผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสของศาสนจักรควรทำตามการถือปฏิบัติบางอย่างของชาวยิวซึ่งรวมถึงการเข้าสุหนัต (ดู คู่มือนักเรียน พันธสัญญาใหม่ [คู่มือของระบบการศึกษาของศาสนจักร, 2014], 436)

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ฟีลิปปี 3:4–6 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่เปาโลพูดเกี่ยวกับการสืบทอดเชื้อสายยิวของเขา

  • สิทธิพิเศษทางสังคมและศาสนาใดในสังคมยิวที่เปาโลเคยมี (การสืบสกุลอิสราเอล ตำแหน่งในฐานะชาวฟาริสีคนหนึ่ง การจดจ่อในศาสนายิว และการเชื่อฟังกฎอย่างเข้มงวดของเขา)

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ฟีลิปปี 3:7–11 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าเปาโลมองสิทธิพิเศษที่เขาเคยมีในสังคมยิวอย่างไร

  • เปาโลมองสิ่งที่เขาต้องทิ้งเพื่อติดตามพระเยซูคริสต์อย่างไร

  • เหตุใดเปาโลจึงเต็มใจ “[ยอม] ขาดทุนทุกอย่าง” (ข้อ 8) (เพื่อเขาจะได้รู้จักพระเยซูคริสต์ “จะได้เห็นว่าอยู่ในพระองค์” [ข้อ 9] หรืออยู่ในความสัมพันธ์แห่งพันธสัญญาที่ซื่อสัตย์กับพระองค์ ถูกชำระให้ชอบธรรมผ่านทางศรัทธาในพระองค์ ทนทุกข์เพื่อเห็นแก่พระองค์ และมีส่วนในการฟื้นคืนชีวิตของคนแห่ง “ความชอบธรรม” หรือคนชอบธรรม )

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ฟีลิปปี 3:12–14 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่เปาโลจำได้เกี่ยวกับความก้าวหน้าทางวิญญาณของเขา อธิบายว่า ฉวยไว้ หมายถึงได้มา

  • แทนที่จะมุ่งสนใจสิ่งที่เขาทิ้งไว้เบื้องหลัง เปาโลมุ่งไปข้างหน้าเพื่อได้รับอะไร (อธิบายว่า “รางวัลคือการทรงเรียกแห่งเบื้องบน” [ข้อ 14] คือชีวิตนิรันดร์)

  • เราเรียนรู้หลักธรรมใดจากแบบอย่างของเปาโลเกี่ยวกับสิ่งที่เราต้องทำเพื่อรู้จักพระเยซูคริสต์และได้รับชีวิตนิรันดร์ (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่ให้แน่ใจว่าพวกเขาระบุหลักธรรมต่อไปนี้ หากเรายอมทิ้งทุกสิ่งที่จำเป็นเพื่อติดตามพระเยซูคริสต์และมุ่งหน้าต่อไปด้วยศรัทธา เราจะรู้จักพระองค์และได้รับชีวิตนิรันดร์)

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่านเรื่องเล่าต่อไปนี้โดยประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ ซึ่งได้เล่าถึงการพบกับทหารเรือคนหนึ่งซึ่งเดินทางจากประเทศอื่นมาฝึกอบรมขั้นสูงที่สหรัฐและได้เข้าร่วมกับศาสนจักรระหว่างอยู่ที่สหรัฐ ขอให้ชั้นเรียนฟังดูว่าชายหนุ่มคนนี้เต็มใจทิ้งอะไรเพื่อติดตามพระเยซูคริสต์

ภาพ
ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์

“มีคนแนะนำให้ข้าพเจ้ารู้จักเขาก่อนที่เขาจะกลับไปประเทศบ้านเกิด … ข้าพเจ้าพูดว่า ‘คนของคุณไม่ได้นับถือศาสนาคริสต์ จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อคุณเป็นชาวคริสต์กลับบ้าน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นชาวคริสต์มอรมอน’

“สีหน้าเขาหม่นหมอง และตอบว่า ‘ครอบครัวผมจะผิดหวังแน่นอน พวกเขาอาจไล่ผมออกจากบ้านและถือว่าผมตายแล้ว ส่วนอนาคตและงานอาชีพของผม ผมอาจจะถูกตัดโอกาสหมด’

“ข้าพเจ้าถามว่า ‘คุณยอมจ่ายแพงมากขนาดนั้นเพื่อพระกิตติคุณหรือ’

“นัยน์ตาสีเข้มของเขามีน้ำตาคลอแต่ส่องประกายแวววาวจากผิวหน้าสีน้ำตาลที่หล่อเหลาของเขาขณะตอบว่า ‘พระกิตติคุณเป็นความจริงไม่ใช่หรือครับ’

“ช่างน่าอายที่ข้าพเจ้าถามไปแบบนั้น ข้าพเจ้าตอบว่า ‘ใช่ พระกิตติคุณเป็นความจริง’

“เขาตอบกลับมาว่า ‘แล้วอะไรจะสำคัญอีกเล่า’” (It’s True, Isn’t It? July 1993, 2)

  • ชายหนุ่มคนนี้เต็มใจทิ้งอะไรเพื่อติดตามพระผู้ช่วยให้รอด

  • ท่าน (หรือคนที่ท่านรู้จัก) เต็มใจยอมทิ้งอะไรเพื่อติดตามพระผู้ช่วยให้รอด

  • เหตุใด รางวัลของการรู้จักพระเยซูคริสต์และก้าวหน้าไปสู่ชีวิตนิรันดร์จึงคุ้มค่ากับการเสียสละที่ท่านทำไป

ขอให้นักเรียนไตร่ตรองว่ามีบางสิ่งที่พวกเขาต้องทิ้งหรือไม่เพื่อติดตามพระเยซูคริสต์ได้เต็มที่มากขึ้น เชื้อเชิญให้พวกเขาเขียนเป้าหมายที่จะทำเช่นนั้น

สรุป ฟีลิปปี 3:15–21 โดยอธิบายว่าเปาโลเตือนถึงความพินาศที่รอคอยคนที่มุ่งสนใจแต่ความพอใจทางโลกเท่านั้น เขาสอนด้วยว่าพระเยซูคริสต์จะทรงเปลี่ยนร่างกายที่ไม่สมบูรณ์พร้อมของเราเป็นร่างกายอมตะเหมือนของพระองค์

สรุปโดยเป็นพยานถึงความจริงที่ระบุในบทเรียนนี้

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

ฟีลิปปี 2:3–8 ความไม่เห็นแก่ตัว

เอ็ลเดอร์เอช.เบิร์ก พีเตอร์สันแห่งสาวกเจ็ดสิบอธิบายว่าการไม่เห็นแก่ตัวความว่าอย่างไร ดังนี้

“มีคนท่ามกลางพวกเราในปัจจุบันที่ เห็นแก่ผู้อื่น อย่างสมบูรณ์แบบ—ดังเช่น [พระเยซูคริสต์]

“คนที่เห็นแก่ผู้อื่นเป็นผู้ที่กังวลเกี่ยวกับความสุขหรือความเป็นอยู่ของอีกคนมากกว่าความสะดวกหรือความสุขสบายของเขาเอง เป็นคนที่เต็มใจรับใช้ผู้อื่นเมื่อไม่ได้มีคนขอหรือมีคนขอบคุณเขา หรือเป็นคนที่เต็มใจรับใช้แม้กับคนที่เขาไม่ชอบ คนที่เห็นแก่ผู้อื่นแสดงความเต็มใจที่จะเสียสละ ความเต็มใจที่จะขจัดความต้องการ ความจำเป็น และความรู้สึกส่วนตัวออกจากความคิดและจิตใจของเขา แทนที่จะเอื้อมออกไปเรียกร้องเสียงสรรเสริญและเกียรติให้ตัวเขาเอง หรือความพึงพอใจจากความต้องการของเขาเอง คนที่เห็นแก่ผู้อื่นจะทำให้ผู้อื่นได้รับสิ่งนี้” (“Selflessness: A Pattern for Happiness,” Ensign, May 1985, 66)

ฟีลิปปี 2:5–8 พระผู้ช่วยให้รอดทรง “สละพระองค์เอง”

วลีที่แปลว่า “สละพระองค์เอง” (ฟีลิปปี 2:7) มาจากคำในภาษากรีก kenoō, ซึ่งแปลว่า “เททิ้ง” เอ็ลเดอร์แทด อาร์. คอลลิสเตอร์ ซึ่งเคยรับใช้ในฝ่ายประธานโควรัมสาวกเจ็ดสิบ สอนเกี่ยวกับสิทธิพิเศษและสถานะแห่งสวรรค์ที่พระเยซูทรง “เททิ้ง” เพื่อเสด็จมายังแผ่นดินโลก

“พระผู้เป็นเจ้าพระบุตรทรงแลกพระนิเวศน์บนสวรรค์พร้อมอลงกรณ์ซีเลสเชียลทั้งหมดบนนั้นกับที่พักอาศัยบนแผ่นดินโลกพร้อมเครื่องประดับพื้นๆ ทั้งหมดที่นี่ พระองค์ ‘กษัตริย์แห่งสวรรค์’ (แอลมา 5:50) ‘พระเจ้าผู้ทรงมหิทธิฤทธิ์ผู้ทรงครอบครอง’ (โมไซยาห์ 3:5) ทรงจากบัลลังก์มารับรางหญ้า พระองค์ทรงแลกอำนาจการปกครองของพระผู้เป็นเจ้ากับการพึ่งพาอาศัยของทารก พระองค์ทรงยอมทิ้งความมั่งคั่ง พลังอำนาจ การครอบครอง และความบริบูรณ์แห่งรัศมีภาพของพระองค์—เพื่ออะไรหรือ—เพื่อการสบประมาท การเยาะเย้ย ความอัปยศอดสู และการครอบงำ นี่เป็นการแลกเปลี่ยนที่เปรียบกับสิ่งใดไม่ได้ การลดลงมาของสัดส่วนที่น่าเชื่อ การตกลงมาในความลึกที่เหลือคณานับ ” (The Infinite Atonement [2000], 64)

ฟีลิปปี 2:12–13 “ประพฤติอย่างสมกับความรอด … เพราะว่าพระเจ้าเป็นผู้ทรงทำการอยู่ภายในพวกท่าน”

ประธานโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธสอนว่าสมาชิกของศาสนจักรจะ “ประพฤติอย่างสมกับความรอด [ของพวกเขา]” ได้อย่างไร (ฟีลิปปี 2:12) ดังนี้

“ข้าพเจ้าวิงวอนสมาชิกของศาสนจักรให้ทำงานแห่งความชอบธรรม รักษาพระบัญญัติ แสวงหาพระวิญญาณ รักพระเจ้า ให้สิ่งที่เกี่ยวกับอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้ามาเป็นอันดับแรกในชีวิตพวกเขา และด้วยเหตุนี้ จงทำให้ความรอดเกิดขึ้นสำหรับท่านทั้งหลายด้วยความเกรงกลัวและตัวสั่นต่อพระพักตร์พระเจ้า” (ใน Conference Report, Oct. 1970, 8)

งานเช่นนั้น ซึ่งพระผู้เป็นเจ้าทรงให้เราทำจำเป็นในการตอบสนองข้อเรียกร้องที่พระองค์ทรงจัดตั้งไว้เพื่อได้รับพรทั้งปวงที่มาจากการชดใช้

เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์ แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่าเรารอดได้เนื่องจากการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอดดังนี้

“มนุษย์มีอำนาจที่น่าประทับใจอย่างไร้ข้อสงสัยและสามารถทำให้เกิดสิ่งที่ยิ่งใหญ่ด้วยความพยายามที่ไม่เหน็ดเหนื่อยและความตั้งใจที่ไม่ย่อท้อ หลังจากการเชื่อฟังและงานดีทั้งหมดของเรา เราไม่สามารถรอดจากผลของบาปหากปราศจากพระคุณที่มาจากการชดใช้ของพระเยซูคริสต์

“… มนุษย์ไม่สามารถรอดได้ด้วยตัวของเขาเอง” (“What Think Ye of Christ?” Ensign, Dec. 1988, 67)