คลังค้นคว้า
บทเรียนภาคการศึกษาที่บ้าน: 1 โครินธ์ 7-14 (หน่วย 22)


บทเรียนการศึกษาที่บ้าน

1 โครินธ์ 7–14 (หน่วย 22)

การเตรียมเนื้อหาสำหรับครูภาคการศึกษาที่บ้าน

สรุปบทเรียนประจำวันภาคการศึกษาที่บ้าน

ใจความสรุปหลักคำสอนและหลักธรรมต่อไปนี้ที่นักเรียนเรียนรู้ขณะศึกษา 1 โครินธ์ 7–14 (หน่วย 22) ไม่ได้มีเจตนาจะให้สอนเป็นส่วนหนึ่งในบทเรียนของท่าน บทเรียนที่ท่านสอนเน้นไปที่หลักคำสอนและหลักธรรมเหล่านี้เพียงไม่กี่ข้อ ทำตามการกระตุ้นเตือนของพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ขณะพิจารณาความต้องการของนักเรียน

วันที่ 1 (1 โครินธ์ 7-8)

จากคำแนะนำของเปาโลที่ให้แก่สมาชิกศาสนจักรที่แต่งงานแล้วและที่เป็นโสดในเมืองโครินธ์ นักเรียนเรียนรู้ว่าความสัมพันธ์อันลึกซึ้งทางร่างกายระหว่างสามีภรรยาได้รับแต่งตั้งจากพระผู้เป็นเจ้าและผู้ติดตามที่ซื่อสัตย์ของพระเยซูคริสต์มีผลในการชำระให้บริสุทธิ์แก่ครอบครัวของพวกเขา นักเรียนเรียนรู้ด้วยว่าเราจะแสดงจิตกุศลต่อผู้อื่นโดยหลีกเลี่ยงการกระทำที่จะทำให้พวกเขาสะดุดทางวิญญาณ

วันที่ 2 (1 โครินธ์ 9-10)

เมื่อนักเรียนศึกษาคำแนะนำที่เปาโลให้แก่วิสุทธิชนชาวโครินธ์ต่อไป พวกเขาเรียนรู้ว่า เพื่อได้รับชีวิตนิรันดร์ เราต้องฝึกควบคุมตนเองในทุกด้าน พวกเขาเรียนรู้ด้วยว่า พระผู้เป็นเจ้าประทานวิธีให้เราหลีกหนีจากการล่อลวง แต่เราต้องเลือกที่จะแยกตัวเราออกจากการล่อลวง

วันที่ 3 (1 โครินธ์ 11)

นักเรียนเรียนรู้ว่าในแผนของพระเจ้า ชายและหญิงไม่สามารถได้รับชีวิตนิรันดร์โดยปราศจากกันและกัน นักเรียนเรียนรู้ด้วยว่าผู้ที่รับส่วนศีลระลึกอย่างไม่มีค่าควรจะนำการกล่าวโทษและความอัปมงคลมาสู่ตนเอง ดังนั้นเราควรตรวจสอบชีวิตของเราเมื่อเรารับส่วนศีลระลึก

วันที่ 4 (1 โครินธ์ 12-14)

จากคำสอนของเปาโลเรื่องของประทานแห่งพระวิญญาณ นักเรียนเรียนรู้ความจริงต่อไปนี้ โดยผ่านพระวิญญาณบริสุทธิ์เท่านั้นที่เราจะได้รับประจักษ์พยานส่วนตัวว่าพระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระผู้ช่วยให้รอดของเรา เมื่อเราพยายามได้รับของประทานฝ่ายวิญญาณแห่งจิตกุศล เราเป็นเหมือนพระเยซูคริสต์ พระผู้ช่วยให้รอดของเรามากขึ้น จิตกุศลเป็นของประทานแห่งพระวิญญาณที่สำคัญที่สุด เมื่อเราสอนและเป็นพยานโดยการดลใจ เราจะช่วยจรรโลงใจและปลอบโยนผู้อื่นได้

บทนำ

เปาโลเขียนเกี่ยวกับประทานแห่งพระวิญญาณหลายอย่าง เขาเปรียบเทียบศาสนจักรกับร่างกายและอธิบายว่าดังที่ร่างกายต้องการทุกอวัยวะเพื่อทำหน้าที่อย่างเหมาะสม สมาชิกศาสนจักรแต่ละคนสามารถใช้ของประทานแห่งพระวิญญาณเพื่อเอื้อประโยชน์และเสริมสร้างศาสนจักรให้เข้มแข็ง

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

1 โครินธ์ 12:1-11

เปาโลสอนเกี่ยวกับของประทานฝ่ายวิญญาณ

ให้ดู ภาพ ศิลาต่อไปนี้

ภาพ
ไม่ว่าท่านเป็นใคร จงทำส่วนของท่านให้ดี

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงข้อความที่สลักไว้ด้านบนของศิลา อธิบายว่าขณะที่ประธานเดวิด โอ. แมคเคย์กำลังรับใช้งานเผยแผ่ที่สก็อตแลนด์ ท่านเห็นศิลานี้อยู่เหนือประตูอาคารหลังหนึ่งใกล้ปราสาทสเตอร์ลิงก์และเกิดแรงบันดาลใจจากข้อความนั้น (ดู ฟรานซิส เอ็ม. กิบบอนส์, David O. McKay: Apostle to the World, Prophet of God [1986], 45)

อธิบายว่าสัญลักษณ์แต่ละอย่างในช่องสี่เหลี่ยมเก้าช่องของศิลานี้แสดงถึงจำนวนตัวเลข ขอให้นักเรียนระบุจำนวนตัวเลขของแต่ละภาพ (จากซ้ายไปขวา สัญลักษณ์แทนเลข 5, 10, และ 3 ในแถวบน; 4, 6, และ 8 ในแถวกลาง; และ 9, 2, และ 7 ในแถวข้างล่าง)

  • ผลรวมของตัวเลขสามตัวที่อยู่ในแถวบนคือเท่าไร แถวกลางเท่าไร แถวล่างเท่าไร

อธิบายว่าตัวเลขใดที่แสดงในแถว ช่อง หรือแนวทแยงบนศิลานี้บวกกันเท่ากับ 18 เหตุผลหนึ่งที่รูปทรงที่นี่อาจรวมถึงข้อความ “ไม่ว่าท่านเป็นใคร จงทำส่วนของท่านให้ดี” คือหากรูปทรงใดรูปทรงหนึ่งต่อไปนี้ถูกจัดเรียงใหม่หรือมีค่าเปลี่ยนไป แถวหรือช่องบนศิลาจะรวมกันไม่ได้ 18 อีกต่อไปในทุกทาง

เชื้อเชิญนักเรียนเมื่อพวกเขาศึกษา 1 โครินธ์ 12 ให้พิจารณาว่าเมื่อเราเป็นสมาชิกศาสนจักรเราเป็นเหมือนรูปทรงบนศิลาอย่างไร

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 1 โครินธ์ 12:7 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสาเหตุที่เราได้รับของประทานแห่งพระวิญญาณ (หากจำเป็น อธิบายว่า “เพื่อประโยชน์ร่วมกัน” หมายถึงเพื่อประโยชน์ร่วมกันของวิสุทธิชนทั้งปวง)

  • เราสามารถเรียนรู้ความจริงอะไรจากอัครสาวกเปาโลเกี่ยวกับสาเหตุที่ของประทานแห่งพระวิญญาณประทานแก่บุตรธิดาของพระบิดาบนสวรรค์ (นักเรียนอาจใช้คำพูดแตกต่างไป แต่ควรระบุความจริงทำนองนี้ ของประทานแห่งพระวิญญาณประทานไว้เพื่อเป็นประโยชน์แก่บุตรธิดาทุกคนของพระบิดาบนสวรรค์ เขียนความจริงนี้ไว้บนกระดาน)

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 1 โครินธ์ 12:8–11 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาของประทานฝ่ายวิญญาณที่เปาโลพูดถึง

เชื้อเชิญให้นักเรียนรายงานของประทานฝ่ายวิญญาณที่พวกเขาค้นพบและความหมายของแต่ละของประทาน ตามที่จำเป็น อธิบายว่า “ถ้อยคำของปัญญา” (ข้อ 8) หมายถึงวิจารณญาณที่ดีและการประยุกต์ใช้ความรู้อย่างเหมาะสม “ถ้อยคำของความรู้” (ข้อ 8) หมายถึงความรู้เกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้าและกฎของพระองค์ “รู้จักสังเกตวิญญาณต่างๆ” (ข้อ 10) หมายถึงการรับรู้ความจริงและความเท็จ การรับรู้ความดีและความชั่วในผู้อื่น และ “พูดภาษาแปลกๆ” (ข้อ 10) หมายถึงความสามารถที่่จะพูดภาษาต่างชาติหรือภาษาที่ไม่รู้จัก

  • ของประทานฝ่ายวิญญาณเหล่านี้มีประโยชน์ต่อบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้าอย่างไร

ชี้ให้เห็นว่าของประทานฝ่ายวิญญาณที่กล่าวถึงเป็นพิเศษในพระคัมภีร์เป็นเพียงของประทานไม่กี่อย่างในหลายอย่างที่เราสามารถได้รับผ่านพระวิญญาณ

  • มีของประทานอะไรอีกบ้างที่มาถึงเราโดยผ่านพระวิญญาณบริสุทธิ์

  • ของประทานฝ่ายวิญญาณอะไรที่ท่านสังเกตเห็นในสมาชิกครอบครัว มิตรสหาย และเพื่อนร่วมชั้นของท่าน

  • เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อค้นพบของประทานฝ่ายวิญญาณของเรา (ทูลถามพระบิดาบนสวรรค์เกี่ยวกับของประทานเหล่านั้นในคำสวดอ้อนวอนพร้อมกับรับและศึกษาปิตุพรของเรา)

เชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองถึงของประทานฝ่ายวิญญาณที่พวกเขาได้รับและพวกเขาสามารถได้ประโยชน์จากของประทานเหล่านั้นและทำให้เกิดประโยชน์ต่อคนอื่นอย่างไร

1 โครินธ์ 12:12–31

ของประทานแห่งพระวิญญาณให้ไว้เพื่อเป็นพรแก่สมาชิกภาพทั้งมวลของศาสนจักร

ขอให้นักเรียนสี่คนมาที่กระดาน โดยที่ไม่ให้ชั้นเรียนที่เหลือได้ยิน ให้มอบหมายคำต่อไปนี้ให้แก่นักเรียนแต่ละคน เท้า มือ หู และ ตา บอกนักเรียนแต่ละคนให้เขียนภาพคำของเขาบนกระดาน ขอให้ชั้นเรียนเดาว่านักเรียนแต่ละคนกำลังวาดอะไร หลังจากชั้นเรียนระบุภาพวาดแต่ละภาพถูกต้องแล้ว เชื้อเชิญให้นักเรียนกลับไปนั่งที่ ขอให้ชั้นเรียนพิจารณาว่าเท้า มือ หู และตาช่วยการทำงานของร่างกายอย่างไร

  • ท่านเคยได้รับบาดเจ็บที่อวัยวะของร่างกายบ้างหรือไม่ เช่นที่นิ้ว ฟัน หรือนิ้วเท้า การบาดเจ็บเล็กน้อยนี้ส่งผลต่อการใช้ชีวิตในแต่ละวันอย่างไร

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 1 โครินธ์ 12:12-14 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่เปาโลเปรียบเทียบร่างกายและอวัยวะ

  • เปาโลเปรียบเทียบร่างกายและอวัยวะกับอะไร (ศาสนจักรของพระเยซูคริสต์และสมาชิกของศาสนจักร)

เขียนพระคัมภีร์อ้างอิงและคำถามต่อไปนี้ไว้บน กระดาน

1 โครินธ์ 12:15–22, 25–30

เปาโลเปรียบเทียบร่างกายกับศาสนจักรในด้านใดบ้าง

แบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่มๆ ละสองถึงสามคน ขอให้แต่ละกลุ่มอ่านออกเสียง 1 โครินธ์ 12:15–22, 25–31 พร้อมกัน โดยมองหาวิธีที่เปาโลเปรียบเทียบสมาชิกของศาสนจักรกับอวัยวะของร่างกาย ท่านอาจต้องการแนะนำให้นักเรียนมองหาสิ่งที่เปาโลสอนเกี่ยวกับร่างกายและอวัยวะก่อนที่จะระบุว่าเขาเปรียบเทียบอวัยวะของร่างกายกับสมาชิกศาสนจักรอย่างไร หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว ขอให้นักเรียนแบ่งปันสิ่งที่พบ

  • ท่านคิดว่าเหตุใดเปาโลจึงสนทนาบทบาทของสมาชิกศาสนจักรแต่ละคนหลังจากเขาเขียนเกี่ยวกับของประทานฝ่ายวิญญาณ

  • ข้อกังวลอะไรที่สมาชิกศาสนจักรในวันนี้อาจมีที่สามารถแก้ไขได้ด้วยคำสอนของเปาโลเรื่องสมาชิกของศาสนจักรเป็นเหมือนอวัยวะร่างกาย

  • เราสามารถเรียนรู้หลักธรรมอะไรจากการเปรียบเทียบของเปาโลของสมาชิกศาสนจักรกับอวัยวะของร่างกาย (นักเรียนอาจระบุหลักธรรมหลากหลาย ให้แน่ใจว่านักเรียนระบุหลักธรรมต่อไปนี้ เมื่อเราใช้ของประทานฝ่ายวิญญาณที่แตกต่างของเราเพื่อรับใช้คนอื่น เราสามารถเสริมสร้างศาสนจักรได้ เขียนหลักธรรมนี้ไว้บนกระดาน)

ให้ดูภาพศิลาที่นำมาให้นักเรียนดูในตอนต้นบทเรียน

  • เราในฐานะสมาชิกศาสนจักรเราเป็นเหมือนรูปทรงที่แตกต่างกันบนศิลานี้อย่างไร (เราแต่ละคนไม่เหมือนใคร และเรามีบทบาทสำคัญไม่ว่าพระเจ้าจะทรงเรียกเราให้รับใช้ที่ไหน เมื่อเรานำเอาของประทานและความสามารถของเรามารวมกันเพื่อรับใช้พระเจ้า ทั้งศาสนจักรจะได้รับพร เรามีความสำคัญ และจะช่วยทำให้งานของศาสนจักรประสบผลสำเร็จ)

  • ท่านได้เห็นครอบครัวของท่าน ชั้นเรียนเซมินารี โรงเรียนวันอาทิตย์ เยาวชนหญิง หรือชั้นเรียนฐานะปุโรหิต หรือวอร์ดหรือสาขาได้รับการเสริมสร้างให้เข้มแข็งโดยของประทานฝ่ายวิญญาณของสมาชิกอย่างไร

ขอให้นักเรียนไตร่ตรองว่าพวกเขาจะใช้ของประทานฝ่ายวิญญาณเพื่อเสริมสร้างศาสนจักรและเป็นพรแก่ชีวิตผู้อื่นได้อย่างไร ชี้ให้เห็นคำแนะนำของเปาโลดังที่บันทึกใน 1 โครินธ์ 12:31 ให้ “ขวนขวายของประทานต่างๆ ที่ยิ่งใหญ่กว่า” (อธิบายว่า ขวนขวาย ในข้อนี้หมายถึง “แสวงหาอย่างตั้งใจจริง” )

  • เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อแสวงหา “ของประทานที่ดีที่สุด” ของพระวิญญาณอย่างตั้งใจจริง (ดู คพ. 46:8–9ด้วย)

แสดงประจักษ์พยานและความสำนึกคุณของท่านสำหรับของประทานฝ่ายวิญญาณ กระตุ้นให้นักเรียนแสวงหาอย่างจริงจังเพื่อได้รับและใช้ของประทานฝ่ายวิญญาณรับใช้ผู้อื่นพร้อมกับเสริมสร้างศาสนจักรให้เข้มแข็ง

หน่วยต่อไป (1 โครินธ์ 152 โครินธ์ 7)

ขอให้นักเรียนพิจารณาคำถามต่อไปนี้เมื่อพวกเขาศึกษาหน่วยต่อไป เหตุใดอัครสาวกเปาโลจึงพูดถึงบัพติศมาแทนคนตาย ใครจะฟื้นคืนชีวิต รัศมีภาพอะไรที่รอสัตภาวะที่ฟื้นคืนชีวิต สัตภาวะที่ฟื้นคืนชีวิตจะมีรัศมีภาพเหมือนกันหรือไม่ เชื้อเชิญให้นักเรียนนึกถึงสิ่งที่ให้ความหวังพวกเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพวกเขาเผชิญความโศกเศร้า ท้อแท้ หรือสลดใจ อธิบายว่าในหน่วยถัดไปพวกเขาจะเรียนรู้หลักธรรมและหลักคำสอนจากคำสอนของเปาโลที่ให้แก่วิสุทธิชนชาวโครินธ์ซึ่งจะนำสันติสุขและความหวังมาสู่พวกเขา