คลังค้นคว้า
บทที่ 154: วิวรณ์ 6–11, ส่วนที่ 1


บทที่ 154

วิวรณ์ 6–11, ส่วนที่ 1

คำนำ

ยอห์นเห็นนิมิตถึงพระเมษโปดกของพระผู้เป็นเจ้าทรงแกะตราหกดวงแรกของม้วนหนังสือที่ผนึกไว้ ในตราดวงที่หก ยอห์นเห็นผู้รับใช้ของพระผู้เป็นเจ้าที่ “ชำระล้างเสื้อผ้าของเขาด้วยพระโลหิตของพระเมษโปดก” (วิวรณ์ 7:14)

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

วิวรณ์ 6

ยอห์นเห็นพระเมษโปดกของพระผู้เป็นเจ้าทรงแกะตราหกดวงแรกของม้วนหนังสือที่ผนึกไว้

เชื้อเชิญให้นักเรียนบอกเล่าสิ่งที่พวกเขาอาจวิตกกังวลเมื่อต้องดำเนินชีวิตอยู่ในยุคสุดท้าย เขียนคำตอบของพวกเขาบนกระดาน

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ ขอให้ชั้นเรียนฟังดูว่าศาสดาพยากรณ์สมัยโบราณรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับสมัยของเรา

ภาพ
ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ

“บรรดาศาสดาพยากรณ์ ปุโรหิตและกษัตริย์ … ตั้งตาคอยวันที่เราจะมีชีวิตอยู่ด้วยความคาดหวังอันเปี่ยมปีติ พวกท่านร้องเพลง เขียน และพยากรณ์ถึงยุคสมัยของเราโดยได้รับแรงบันดาลใจจากความคาดหวังอันเปี่ยมปีติและล้ำเลิศ” (ดูคำสอนของประธานศาสนาจักร: โจเซฟ สมิธ [2007], 199)

  • ศาสดาพยากรณ์รู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับยุคสมัยของเรา

ชี้ให้เห็นว่ายอห์นผู้เปิดเผยเป็นหนึ่งในศาสดาพยากรณ์ที่รู้เหตุการณ์ในยุคสุดท้ายและเป็นผู้พยากรณ์ถึงยุคของเราด้วยความคาดหวังอันเปี่ยมปีติ

เมื่อนักเรียนศึกษา วิวรณ์ 6–7 เชื้อเชิญให้พวกเขามองหาเหตุผลที่ศาสดาพยากรณ์สมัยโบราณตั้งตารอคอยยุคของเราด้วยปีติ

เตือนนักเรียนว่าดังที่บันทึกไว้ใน วิวรณ์ 5:1–5 ยอห์นเห็นม้วนหนังสือพร้อมด้วยตราผนึกเจ็ดดวงที่พระเมษโปดกเท่านั้นมีค่าควรจะเปิด อธิบายว่าในนิมิตของเขา ยอห์นเห็นภาพซึ่งหมายถึงเหตุการณ์สำคัญบางอย่างในแต่ละช่วงพันปีที่แทนด้วยตราเจ็ดดวง

เขียนรายการต่อไปนี้บน กระดาน (ท่านอาจทำสิ่งนี้ก่อนเริ่มชั้นเรียน)

ตราดวงแรก (วิวรณ์ 6:1–2)

ตราดวงที่สอง (วิวรณ์ 6:3–4)

ตราดวงที่สาม (วิวรณ์ 6:5–6)

ตราดวงที่สี่ (วิวรณ์ 6:7–8)

ตราดวงที่ห้า (วิวรณ์ 6:9–11)

แจกกระดาษให้นักเรียนคนละแผ่น มอบหมายตราหนึ่งดวงให้นักเรียนแต่ละคน (อาจมอบหมายตราแต่ละดวงให้นักเรียนมากกว่าหนึ่งคน) ขอให้นักเรียนอ่านข้อที่เกี่ยวข้องกับตราที่รับมอบหมายและวาดภาพเหตุการณ์บางอย่างที่ยอห์นเห็นซึ่งเกี่ยวข้องกับตรานั้น

หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว เชื้อเชิญให้นักเรียนนำภาพวาดมาให้ชั้นเรียนดูตามลำดับ โดยเริ่มจากคนที่ได้รับมอบหมายตราดวงแรก เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งจากแต่ละกลุ่มเพื่อใช้ภาพวาดของเขาอธิบายสิ่งที่ยอห์นเห็นเมื่อแกะตรา เมื่อนักเรียนรายงาน ให้ แบ่งปัน การตีความที่เป็นไปได้ตามที่เอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกีแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองแนะนำไว้ ท่านอาจต้องการกระตุ้นให้นักเรียนเขียน ข้อมูล นี้ลงในพระคัมภีร์หรือในสมุดจดหรือในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขา

ตราดวงแรก

(ประมาณ 4000 ถึง 3000 ปี ก่อนคริสตกาล)

ม้าสีขาว = ชัยชนะ

ธนู = สงคราม

มงกุฎ = ผู้พิชิต

เอ็ลเดอร์แมคคองกีแนะนำว่า ข้อ 1–2 บรรยายถึงยุคสมัยของเอโนคและผู้ที่ขี่ม้าคือเอโนค (ดู Doctrinal New Testament Commentary, 3 vols. [1966–73], 3:476–78)

ตราดวงที่สอง

(ประมาณ 3000 ถึง 2000 ปีก่อนคริสตกาล)

ม้าสีแดงสด = การนองเลือด

ดาบ = สงครามและการทำลายล้าง

เอ็ลเดอร์แมคคองกีแนะนำว่า ข้อ 3–4 บรรยายถึงยุคของโนอาห์ เมื่อความชั่วร้ายครอบงำแผ่นดินโลก ผู้ที่ขี่ม้าสีแดงตัวนี้อาจเป็นมารเองหรืออาจหมายถึง “คนที่เป็นตัวแทนของนักรบซึ่งเข่นฆ่าผู้คนมากมาย” (Doctrinal New Testament Commentary, 3:478–79)

ตราดวงที่สาม

(ประมาณ 2000 ถึง 1000 ปีก่อนคริสตกาล)

ม้าดำ = ความอดอยาก

ตราชู = สินค้าราคาแพง

เอ็ลเดอร์แมคคองกีแนะนำว่า ข้อ 5–6 บรรยายถึงยุคของอับราฮัม เมื่อผู้คนมากมายตายเพราะความอดอยาก (ดู Doctrinal New Testament Commentary, 3 vols. [1966–73], 3:476–80) บุคคลคนหนึ่งสามารถซื้ออาหารพอประทังชีวิตด้วยค่าจ้างทั้งหมดที่หาได้ในหนึ่งวัน ซึ่งแสดงให้เห็นภาวะข้าวยากหมากแพงอย่างที่สุด

ตราดวงที่สี่

(ประมาณ 1000 ปีก่อนคริสตกาล จนถึงการประสูติของพระคริสต์)

ม้าสีกะเลียว = ความตาย

มัจจุราชและแดนคนตาย = การทำลายล้างของคนชั่วร้ายและการรับเข้าสู่เรือนจำวิญญาณของพวกเขา (ดู อิสยาห์ 5:14)

เอ็ลเดอร์แมคคองกีกล่าวว่า ข้อ 7–8 หมายถึง “หนึ่งพันปีของอาณาจักรและชาติที่ยิ่งใหญ่ซึ่งสงครามและการทรยศของพวกเขากระทำทารุณและย่ำยี [อิสราเอล] ซ้ำแล้วซ้ำเล่า” (Doctrinal New Testament Commentary, 3:481) ชาติเหล่านี้รวมถึงบาบิโลน เปอร์เซีย อียิปต์ กรีก และโรมัน

ตราดวงที่ห้า

(ประมาณการประสูติของพระคริสต์จนถึง ค.ศ. 1000)

แท่นบูชา = การพลีบูชา

วิญญาณ = มรณสักขี ชาวคริสต์ถูกสังหารเพื่อความเชื่อของพวกเขา

เอ็ลเดอร์แมคคองกีแนะนำว่า ข้อ 9–11 หมายถึงชาวคริสต์ยุคแรกหลายคน รวมถึงส่วนใหญ่ของอัครสาวกดั้งเดิมที่สิ้นชีวิตเป็นมรณสักขี (ดู Doctrinal New Testament Commentary, 3 vols. [1966–73], 3:476–83) เนื่องจากวิสุทธิชนเหล่านี้สละชีวิตของพวกเขา “เพราะพระวจนะของพระเจ้าและเพราะคำพยานที่เขายึดถือนั้น” (วิวรณ์ 6:9) พวกเขาได้รับ “เสื้อผ้าสีขาว” อันเป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ (ดู วิวรณ์ 7:13–14; 3 นีไฟ 27:19)

หลังจากแต่ละกลุ่มนำเสนอแล้ว ให้อธิบายว่าตราดวงที่หกหมายถึงยุคของเราและเหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นจนถึงมิลเลเนียม เมื่อพระเยซูคริสต์จะทรงครองบนแผ่นดินโลกด้วยพระองค์เอง (ดู Doctrinal New Testament Commentary, 3:485–86)

เชื้อเชิญให้นักเรียนสองสามคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก วิวรณ์ 6:12–17 และอธิบายว่างานแปลของโจเซฟ สมิธ ข้อ 14 อ่านว่า “และฟ้าสวรรค์ก็เปิดออกเหมือนกับหนังสือที่เปิดออกเมื่อถูกม้วนเข้าด้วยกัน ภูเขาทุกลูกและเกาะทุกเกาะถูกเคลื่อนไปจากที่เดิม”

  • เมื่อแกะตราดวงที่หก ยอห์นเห็นเหตุการณ์อะไร (อธิบายว่าเหตุการณ์หายนะเป็นเครื่องหมายของยุคสุดท้าย)

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 16 คนที่พยายามหนีจาก “พระพิโรธ” ของพระผู้เป็นเจ้าจะหวังอะไร

  • คำถามที่บันทึกไว้ใน ข้อ 17 คืออะไร

เขียนคำถามต่อไปนี้ไว้บนกระดาน ใครจะสามารถยืนหยัดอยู่ได้เล่า

อธิบายว่า วิวรณ์ 7 ช่วยให้เราเข้าใจว่าใครจะสามารถยืนหยัดอยู่ได้ หรือทนอยู่กับหายนะจากตราดวงที่หก

วิวรณ์ 7

ยอห์นเห็นผู้รับใช้ของพระผู้เป็นเจ้าที่ชำระล้างเสื้อผ้าของเขาด้วยพระโลหิตของพระเมษโปดก

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง วิวรณ์ 7:1 และเชิญอีกคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 77:8 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่ายอห์นเห็นอะไรอีกในตราดวงที่หก

  • ทูตสวรรค์สี่องค์กำลังทำอะไร (ชี้ให้เห็นว่าลมที่ทูตสวรรค์ยับยั้งไว้มีอำนาจที่จะทำลายชีวิตบนแผ่นดินโลก ดู คพ. 86:5–7 ด้วย)

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง วิวรณ์ 7:2–3 และให้อีกคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 77:9 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าทูตสวรรค์อีกองค์หนึ่งพูดอะไรกับทูตสวรรค์ทั้งสี่

อธิบายว่าคำว่า เอลีอัส ในกรณีนี้ “เป็นชื่อของคนที่พันธกิจของพวกเขา [คือ] การมอบกุญแจและอำนาจต่างๆให้มนุษย์ในสมัยการประทานสุดท้าย” (Doctrinal New Testament Commentary, 3:491–92 ดู คู่มือพระคัมภีร์, “เอลีอัส” ด้วย)

  • ทูตสวรรค์องค์นี้พูดอะไรกับทูตสวรรค์ทั้งสี่

อธิบายว่า “การผนึกหรือการประทับตรา ‘บนหน้าผากของบรรดาผู้รับใช้ของพระเจ้าของเรา’ เป็นอุปลักษณ์ของการอุทิศตน การรับใช้ และการเป็นของพระผู้เป็นเจ้า (วิวรณ์ 7:3; ดู วิวรณ์ 9:4; 14:1 ด้วย) …

“ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธสอนว่าการผนึกตราบนหน้าผากของคนซื่อสัตย์ ‘หมายถึงการผนึกพรบนศีรษะของพวกเขา หมายถึงพันธสัญญานิรันดร์ ซึ่งยืนยันการทรงเรียกและการทรงเลือกของพวกเขา’ (ใน History of the Church, 5:530)” (คู่มือนักเรียน พันธสัญญาใหม่ [คู่มือของระบบการศึกษาของศาสนจักร, 2014], 544)

อธิบายว่าดังที่บันทึกไว้ใน วิวรณ์ 9 ยอห์นเห็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับคนที่ไม่มีตรานี้ เชื้อเชิญให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง วิวรณ์ 9:3–4 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสภาพของคนที่ไม่มีตรานี้ เชื้อเชิญให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน วิวรณ์ 7:4 ในใจ โดยมองหาว่ามีกี่คนที่มีตราประทับบนหน้าผากโดยทูตสวรรค์องค์นี้ ขอให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ

อธิบายว่าพระเจ้าตรัสบอกศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธว่า “จำนวน 144,000 คนที่กล่าวถึงใน วิวรณ์ 7:4–8 เป็นจำนวนของมหาปุโรหิตที่ได้รับแต่งตั้งจากสิบสองเผ่าของอิสราเอลเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นแสวงหาความสูงส่งของพวกเขา [ดู คพ. 77:11] ไม่ใช่จำนวนคนที่จะได้รับความสูงส่งดังที่บางคนเชื่อ” (คู่มือนักเรียน พันธสัญญาใหม่ [คู่มือของระบบการศึกษาของศาสนจักร, 2014], 544)

เชื้อเชิญให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง วิวรณ์ 7:9–10 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่ายอห์นเห็นใครอีก

  • ยอห์นเห็นใคร

  • มหาชนเหล่านี้สวมเสื้อผ้าอย่างไรและถืออะไร (ท่านอาจต้องอธิบายว่าใบตาลเป็นเครื่องหมายของชัยชนะและปีติ)

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง วิวรณ์ 7:13–17 เชื้อเชิญให้นักเรียนที่เหลือดูตาม โดยมองหาสิ่งที่ยอห์นเรียนรู้เกี่ยวกับคนเหล่านี้

  • คนเหล่านี้อดทนอะไร

  • เสื้อผ้าของพวกเขาขาวได้อย่างไร (ด้วย “พระโลหิตของพระเมษโปดก”—ซึ่งเป็นสัญลักษณ์การชดใช้ของพระเยซูคริสต์)

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 15–17 คนเหล่านี้รับพรอะไรเนื่องจากพวกเขาได้รับการชำระให้บริสุทธิ์ผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ (ท่านอาจชี้ให้เห็นว่าข้อเหล่านี้บรรยายถึงปีติ สันติสุข และการอุทิศตนของคนที่ได้รับรัศมีภาพซีเลสเชียลเป็นมรดก)

  • เราสามารถระบุหลักธรรมอะไรจากข้อเหล่านี้เกี่ยวกับวิธีที่เราจะได้รับรัศมีภาพซีเลสเชียลเป็นมรดก (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่ให้แน่ใจว่าพวกเขาระบุหลักธรรมทำนองนี้ ถ้าเราอดทนต่อความยากลำบากอย่างซื่อสัตย์และได้รับการชำระให้บริสุทธิ์ผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ เราจะได้รับรัศมีภาพซีเลสเชียลกับพระผู้เป็นเจ้า เขียนหลักธรรมนี้ไว้บนกระดาน)

เชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองว่าจะเป็นอย่างไรและพวกเขาจะรู้สึกอย่างไรที่จะยืนโดยได้รับการชำระให้บริสุทธิ์แล้วในที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้า

  • ความรู้สึกเหล่านี้จะเปรียบกับความรู้สึกของผู้คนที่บรรยายไว้ใน วิวรณ์ 6:16 อย่างไร

  • เราต้องทำอะไรเพื่อว่าพระผู้ช่วยให้รอดจะชำระเราให้บริสุทธิ์ผ่านการชดใช้ของพระองค์

  • การจดจำพรของรัศมีภาพซีเลสเซียลช่วยให้ท่านพยายามอดทนความยากลำบากและกลายเป็นผู้บริสุทธิ์อย่างไร

เตือนนักเรียนเกี่ยวกับรายการข้อกังวลที่เขียนไว้บนกระดานเมื่อเริ่มต้นบทเรียน เชื้อเชิญให้พวกเขาพิจารณาว่าหลักธรรมที่เขียนไว้บนกระดานจะช่วยพวกเขาเมื่อรู้สึกกังวลเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตในยุคสุดท้ายอย่างไร เชื้อเชิญนักเรียนสองสามคนที่เต็มใจแบ่งปันความคิดของพวกเขากับชั้นเรียน

เชื้อเชิญให้นักเรียนใช้เวลาสองสามนาทีเพื่อไตร่ตรองว่าพวกเขาจะประยุกต์ใช้หลักธรรมที่เรียนรู้ในวันนี้อย่างไร กระตุ้นให้พวกเขาบันทึกการกระตุ้นเตือนทางวิญญาณที่พวกเขาได้รับ

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

วิวรณ์ 6–11 การดำเนินชีวิตในยุคสุดท้าย

ประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนสิ่งต่อไปนี้เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตในยุคสุดท้าย

“บางครั้งเด็กวัยรุ่นมักจะคิดเช่นกันว่า ‘จะมีประโยชน์อะไร? อีกไม่นานโลกจะแตกและสิ้นสุดลง’ ความรู้สึกนั้นมาจากความกลัว ไม่ใช่ศรัทธา ไม่มีใครรู้ว่าเป็นโมงใดและวันใด (ดู คพ. 49:7) แต่วาระสุดท้ายจะไม่มาถึงจนกระทั่งจุดประสงค์ทั้งหมดของพระเจ้าเกิดสัมฤทธิผล ทุกสิ่งที่ข้าพเจ้าได้เรียนรู้จากการเปิดเผยและจากชีวิตทำให้ข้าพเจ้าเชื่อว่ามีเวลาและมีเหลือสำหรับท่านที่จะเตรียมรับชีวิตอันยาวนานอย่างรอบคอบ” (To Young Women and Men, May 1989, 59)

วิวรณ์ 7:1–3 คนชอบธรรมจะประสบกับการทดลองและความทุกข์

“อัครสาวกยอห์นเห็นว่าภัยพิบัติบางอย่างที่เกิดขึ้นก่อนการเสด็จมาครั้งที่สองจะไม่ส่งผลต่อโลกหรือสิ่งที่อยู่ในนั้นทั้งหมด ‘แต่ทำร้ายเฉพาะคนทั้งหลายที่ไม่มีตราของพระเจ้าบนหน้าผากของเขา’ (วิวรณ์ 9:4) สิ่งนี้สอดคล้องกับคำสัญญาอื่นๆ จากพระคัมภีร์ว่าในยุคสุดท้าย คนที่ซื่อสัตย์จะได้รับการปกป้องในที่สุด (ดู 1 นีไฟ 22:17–19; คพ. 115:5–6) …

“แม้ว่าพระเจ้าทรงสัญญาจะประทานการปกป้องคนชอบธรรมในยุคสุดท้าย แต่ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธชี้แจงว่าคนชอบธรรมบางคนอาจเสียชีวิตในการทดลองและภัยพิบัติ ดังนี้ ‘[ข้าพเจ้า] อธิบายเกี่ยวกับการเสด็จมาของบุตรมนุษย์ด้วยว่านั่นเป็นความคิดไม่ถูกต้องที่วิสุทธิชนจะรอดพ้นการพิพากษาทั้งหมด ขณะที่คนชั่วทนทุกข์เพราะเนื้อหนังทั้งปวงต้องทนทุกข์ และ “วิสุทธิชนจะหนีพ้นอย่างหวุดหวิด” [ดู คพ. 63:34] วิสุทธิชนจำนวนมากจะยังหนีพ้น เพราะคนชอบธรรมจะดำเนินชีวิตด้วยศรัทธา [ดู ฮาบากุก 2:4] แต่คนชอบธรรมจำนวนมากจะตกเป็นเหยื่อโรคภัย โรคระบาด เป็นต้น เพราะความอ่อนแอของเนื้อหนัง แต่จะรอดในอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า’ (ดูคำสอนของประธานศาสนาจักร: โจเซฟ สมิธ [2007], 253)” (คู่มือนักเรียน พันธสัญญาใหม่ [คู่มือของระบบการศึกษาศาสนจักร, 2014], 547)

วิวรณ์ 7:2 เอลีอัส

เอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกีแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายชื่อ เอลีอัสว่า

“ราชสำนักแห่งรัศมีภาพส่งทูตผู้ปฏิบัติศาสนกิจหลายองค์มาประสาทกุญแจและอำนาจต่างๆ เพื่อมอบสมัยการประทานและรัศมีภาพให้มนุษย์บนแผ่นดินโลกอีกครั้ง ทูตสวรรค์ที่มาอย่างน้อยคือ โมโรไน ยอห์นผู้ถวายบัพติศมา เปโตร ยากอบ และยอห์น โมเสส เอลียาห์ เอลีอัส กาเบรียล ราเฟเอล และมีคาเอล (คพ. 13; 110; 128:19–21) เนื่องจากเห็นได้ชัดว่าไม่มีผู้ส่งสารคนใดแบกภาระของการฟื้นฟูอยู่คนเดียว แต่ละท่านลงมาพร้อมกับงานมอบหมายบางอย่างจากสวรรค์ เป็นที่แน่ชัดว่า เอลีอัสเป็นตำแหน่งที่หมายถึงหลายคน คำนี้ต้องเป็นที่เข้าใจว่าเป็นชื่อหรือตำแหน่งสำหรับคนที่พันธกิจของพวกเขาคืดการมอบกุญแจและอำนาจต่างๆ แก่มนุษย์ในสมัยการประทานสุดท้าย ([ดู โจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ,] Doctrines of Salvation, vol. 1, pp. 170–174.)” (Mormon Doctrine, 2nd ed. [1966], 221). ดู คู่มือพระคัมภีร์, “เอลีอัส” ด้วย