คลังค้นคว้า
บทที่ 66: ยอห์น 7


บทที่ 66

ยอห์น 7

คำนำ

พระเยซูทรงเข้าร่วมเทศกาลอยู่เพิงในเยรูซาเล็ม พระองค์เสด็จไปพระวิหารและทรงสอนผู้คนที่นั่นว่าพวกเขาจะได้รับพยานว่าคำสอนของพระองค์มาจากพระผู้เป็นเจ้าพระบิดาได้อย่างไร เนื่องจากผู้คนโต้เถียงกันว่าพระเยซูคริสต์เป็นใคร พระองค์ทรงใช้รูปลักษณ์ของน้ำและความสว่างเพื่อเป็นพยานถึงความเป็นพระเจ้าของพระองค์ พระองค์สอนพวกเขาเกี่ยวกับพระวิญญาณบริสุทธิ์ด้วย

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

ยอห์น 7:1–13

พระเยซูทรงเข้าร่วมเทศกาลอยู่เพิง

เขียนคำถามต่อไปนี้บนกระดาน พระเยซูทรงมีพี่น้องหรือไม่

เชื้อเชิญให้นักเรียนตอบคำถามนี้ หากจำเป็น ช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าโยเซฟและมารีย์มีบุตรหลายคนที่เกิดหลังจากพระเยซูและผู้ที่ได้รับการเลี้ยงดูในบ้านหลังเดียวกันกับพระองค์ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากพระเยซูคริสต์ทรงเป็นบุตรของมารีย์และพระผู้เป็นเจ้าพระบิดาอย่างแท้จริง ไม่ใช่บุตรของโยเซฟ คนเหล่านี้จึงเป็นน้องชายหญิงร่วมมารดาของพระเยซู (ดู มัทธิว 13:55–56)

  • ท่านคิดว่าจะเป็นอย่างไรถ้าได้เติบโตในบ้านหลังเดียวกันกับพระเยซู

  • ท่านคิดว่าท่านจะเชื่อในพระองค์ได้ง่ายกว่าหรือไม่ถ้าท่านเติบโตกับพระองค์ เหตุใดจึงง่ายหรือเหตุใดจึงไม่ง่าย

ชี้ให้เห็นว่าใน ยอห์น 7 เราเรียนรู้ว่า “น้องๆ ” ของพระเยซู (ยอห์น 7:3, 5) มองพระองค์อย่างไร คำว่า น้องๆ น่าจะหมายถึงน้องชายร่วมมารดาของพระเยซู แม้อาจจะรวมถึงญาติสนิทคนอื่นๆ ด้วย

เชื้อเชิญนักเรียนหลายๆ คนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก ยอห์น 7:1–5

  • เราเรียนรู้อะไรจาก ข้อ 5 เกี่ยวกับน้องๆ ของพระเยซู

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงข้อความต่อไปนี้โดยเอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกีแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

ภาพ
เอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกี

“ประจักษ์พยานของความเป็นพระเจ้าของพระคริสต์และอำนาจการช่วยให้รอดของพระกิตติคุณของพระองค์ไม่ได้ประสาทให้โดยอัตโนมัติเนื่องจากสัมพันธภาพในครอบครัว

“… แม้พวกเขาจะได้รับการเลี้ยงดูในบ้านเดียวกันและมาเกิดภายใต้อิทธิพลอันเมตตาของโยเซฟและมารีย์ แม้ว่าพวกเขาจะรับรู้เกี่ยวกับการสอน การปฏิบัติศาสนกิจ และปาฏิหาริย์ของพระเยซูเอง กระนั้นพระญาติสนิทเหล่านี้ไม่ได้ยอมรับพระองค์ในฐานะพระเมสสิยาห์ อย่างไรก็ตาม เห็นได้ชัดว่า พวกเขาทุกคนได้เปลี่ยนใจเลื่อมใสในภายหลัง (กิจการ 1:14)” (Doctrinal New Testament Commentary, 3 vols. [1965–73], 1:437)

  • เป็นไปได้อย่างไรที่สมาชิกในครอบครัวของพระเยซูบางคนจะไม่เชื่อในพระองค์ แม้ว่าพวกเขาจะรู้เกี่ยวกับคำสอนและปาฏิหาริย์ของพระองค์

ชี้ให้เห็นว่า ยอห์น 7 บันทึก เหตุการณ์ ที่เกิดขึ้นเมื่อมีการจัดเทศกาลอยู่เพิงในเยรูซาเล็ม (ดู ยอห์น 7:2) ระหว่างเทศกาลแปดวันนี้ ที่ถือว่า “ยิ่งใหญ่ที่สุดและน่าชื่นชมยินดีที่สุด” (Bible Dictionary, “Feasts”) มีชาวยิวหลายคนเดินทางไปเยรูซาเล็มเพื่อเฉลิมฉลองพรของพระผู้เป็นเจ้าที่ประทานแก่ลูกหลานของอิสราเอลเมื่อพวกเขาเดินทางในถิ่นทุรกันดาร โดยอาศัยอยู่ในเพิงชั่วคราว หรือกระโจม หลังจากการปลดปล่อยจากความเป็นทาสในอียิปต์ (ดู เลวีนิติ 23:39–43) ชาวยิวเฉลิมฉลองและน้อมขอบพระทัยสำหรับการเก็บเกี่ยวพืชผลประจำปีด้วย (ดู อพยพ 23:16)

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 3–4 น้องๆ ของพระเยซูต้องการให้พระองค์ทรงทำอะไร

สรุป ยอห์น 7:6–10 โดยอธิบายว่าพระเยซูทรงตัดสินใจเลื่อนการไปงานเทศกาล แต่พระองค์ทรงกระตุ้นให้น้องๆ ของพระองค์ไป หลังจากเทศกาลเริ่ม แล้วพระเยซูจึงเสด็จไปอย่างไม่เปิดเผย—โดยที่ทรงรู้ว่าผู้นำชาวยิวบางคนในเยรูซาเล็มต้องการสังหารพระองค์แต่เวลาที่พระองค์จะสิ้นพระชนม์ยังมาไม่ถึง

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ยอห์น 7:11–13

  • หลายคนในเยรูซาเล็มพูดอะไรเกี่ยวกับพระเยซู

ชี้ให้เห็นว่าเช่นเดียวกับในสมัยของพระเยซู มีความเห็นที่หลากหลายเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์เหมือนในสมัยของเรา บางคนรู้และเป็นพยานว่าพระองค์ทรงเป็นพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้าและพระผู้ช่วยให้รอดของมนุษยชาติทั้งปวง บางคนเชื่อในพระองค์และหวังว่าพระกิตติคุณของพระองค์จะจริง อย่างไรก็ตาม มีคนที่สงสัยในความเป็นพระเจ้าของพระเยซูคริสต์และความจริงของคำสอนของพระองค์เช่นกัน ขณะที่พวกเขาศึกษา ยอห์น 7 ต่อไป เชื้อเชิญให้นักเรียนมองหาว่าเราจะรู้ได้อย่างไรว่าพระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระผู้ช่วยให้รอดของเราและคำสอนของพระองค์เป็นความจริง

ยอห์น 7:14–36

พระเยซูทรงสอนชาวยิวที่พระวิหาร

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ยอห์น 7:14–15 ขอให้นักเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่พระเยซูทรงทำที่พระวิหาร อาจจะเป็นประโยชน์ที่จะอธิบายว่าพระวิหารเป็นจุดศูนย์รวมของการเฉลิมฉลองที่เกิดขึ้นระหว่างเทศกาลอยู่เพิง

  • พระเยซูทรงทำอะไร

  • เหตุใดชาวยิวจึงประหลาดใจ

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ยอห์น 7:16–18 ขอให้นักเรียนดูตาม โดยมองหาว่าพระเยซูตรัสว่าผู้คนสามารถทำอะไรได้เพื่อจะรู้ว่าหลักคำสอนหรือคำสอนของพระองค์จริงหรือไม่

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 16 พระเยซูทรงได้รับหลักคำสอนที่พระองค์ทรงสอนจากใคร

  • คนจะรู้ได้อย่างไรว่าหลักคำสอนที่พระเยซูทรงสอนมาจากพระผู้เป็นเจ้าอย่างแท้จริง

  • เราสามารถเรียนรู้หลักธรรมอะไรเกี่ยวกับวิธีที่เราสามารถได้รับประจักษ์พยานถึงคำสอนของพระบิดาบนสวรรค์ (โดยใช้คำพูดของพวกเขาเอง นักเรียนควรระบุหลักธรรมทำนองนี้ ถ้าเราประพฤติตามพระประสงค์ของพระบิดาบนสวรรค์ เราจะได้รับประจักษ์พยานเกี่ยวกับหลักคำสอนของพระองค์ ท่านอาจต้องการเชื้อเชิญนักเรียนทำเครื่องหมายข้อความใน ข้อ 17 ที่สอนหลักธรรมนี้)

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าหลักธรรมนี้สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตเราได้อย่างไร เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้โดยประธานเจมส์ อี. เฟาสท์แห่งฝ่ายประธานสูงสุด

ภาพ
ประธานเจมส์ อี. เฟาสท์

“เราได้รับประจักษ์พยานเกี่ยวกับหลักธรรมพระกิตติคุณโดยพยายามดำเนินชีวิตตามนั้นอย่างเชื่อฟัง … ประจักษ์พยานเกี่ยวกับประสิทธิภาพของการสวดอ้อนวอนเกิดขึ้นโดยการสวดอ้อนวอนด้วยความนอบน้อมและจริงใจ ประจักษ์พยานของส่วนสิบเกิดขึ้นโดยการบริจาคส่วนสิบ” (“พระเจ้า ข้าพเจ้าเชื่อ ที่ข้าพเจ้ายังขาดความเชื่อนั้นขอโปรดช่วยให้เชื่อเถิด,” เลียโฮนา, พ.ย. 2003, 26)

แม้ว่าน้องๆ ของพระองค์ไม่เชื่อในพระองค์ในตอนแรก แต่พวกเขาได้รับประจักษ์พยานและเปลี่ยนใจเลื่อมใสในภายหลัง (ดู กิจการ 1:14)

  • หลักธรรมที่ระบุใน ยอห์น 7:17 ช่วยน้องๆ ของพระเยซูคริสต์ได้รับประจักษ์พยานเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์และคำสอนของพระองค์อย่างไร

ขอให้นักเรียนจินตนาการว่าพวกเขามีเพื่อนคนหนึ่งที่กำลังมีปัญหาในการมีประจักษ์พยานของเขาเกี่ยวกับพระกิตติคุณ

  • ท่านจะใช้หลักธรรมที่เราระบุใน ยอห์น 7:17 เพื่อช่วยเพื่อนคนนี้อย่างไร

เพื่อช่วยให้นักเรียนเป็นพยานถึงหลักธรรมที่พวกเขาระบุไว้ข้างต้นและรู้สึกถึงความจริงและความสำคัญของหลักธรรมนั้น แสดง ข้อความต่อไปนี้

ฉันรู้ว่า เป็นความจริงเพราะเมื่อฉันดำเนินชีวิตตามนั้นฉันมี

กระตุ้นให้นักเรียนเติมข้อความให้ครบถ้วนในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขาโดยเขียนเกี่ยวกับพระบัญญัติหรือหลักธรรมพระกิตติคุณที่พวกเขารู้จักผ่านความพยายามในการดำเนินชีวิตตามนั้น

เชื้อเชิญนักเรียนสองสามคนแบ่งปันคำตอบของพวกเขากับชั้นเรียน

เชื้อเชิญให้นักเรียนเขียนความจริงพระกิตติคุณ พระบัญญัติ หรือคำสอนที่พวกเขาอยากได้รับประจักษ์พยานที่เข้มแข็งขึ้น เชื้อเชิญให้พวกเขาเขียนสิ่งที่พวกเขาจะทำเพื่อได้รับประจักษ์พยานมากขึ้นเกี่ยวกับความจริง พระบัญญัติ หรือคำสอนนี้โดยการประยุกต์ใช้หลักธรรมที่พวกเขาเรียนรู้ใน ยอห์น 7:17

สรุป ยอห์น 7:19–36 โดยอธิบายว่าพระเยซูทรงประณามผู้นำชาวยิวที่ปฏิเสธคำสอนและปาฏิหาริย์ของพระองค์และมุ่งสังหารพระองค์ หลายคนสงสัยว่าพระองค์ทรงเป็นพระเมสสิยาห์หรือไม่ พวกหัวหน้าปุโรหิตและพวกฟาริสีจึงส่งเจ้าหน้าที่มาจับกุมพระองค์

ยอห์น 7:37–53

พระเยซูคริสต์ทรงสอนเกี่ยวกับของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์

ขออาสาสมัครคนหนึ่งที่กระหายน้ำออกมาที่หน้าชั้นเรียน ให้แก้วเปล่าใบหนึ่ง และถามเขาว่า

  • แก้วใบนี้จะทำให้ท่านหยุดกระหายน้ำหรือไม่

  • ท่านต้องการอะไรอีก

ให้ดูแหล่งน้ำเช่นขวดน้ำหรือเหยือกที่บรรจุน้ำเต็มเหยือก เติมน้ำใส่แก้ว และเชื้อเชิญให้นักเรียนดื่ม จากนั้นขอให้นักเรียนกลับไปนั่ง

ยกเหยือกน้ำหรือขวดน้ำที่ท่านใช้เติมน้ำในแก้วของนักเรียน อธิบายว่าในแต่ละวันของเทศกาลอยู่เพิงแปดวัน ปุโรหิตที่ได้รับมอบหมายจะไปตักน้ำจากสระสิโลอัมด้วยเหยือกทองคำและเทน้ำลงให้อ่างเงินที่ฐานของแท่นบูชาพระวิหาร ในวันสุดท้ายของเทศกาลอยู่เพิง เมื่อปุโรหิตทำเช่นนั้นแล้ว พระเยซูทรงยืนขึ้นและประทานคำเชื้อเชิญแก่ผู้คน (ดู บรูซ อาร์. แมคคองกี, Doctrinal New Testament Commentary, 3 vols. [1965–73], 1:446.)

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ยอห์น 7:37 ขอให้นักเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงเชื้อเชิญผู้คนให้ทำหลังจากพระองค์ทรงปรากฏที่พระวิหารในวันที่แปดและเป็นวันสุดท้ายของเทศกาล

  • พระผู้ช่วยให้รอดทรงเชื้อเชิญให้ผู้คนทำอะไร

  • พิจารณาภาพวาดและการเทน้ำที่ปุโรหิตปฏิบัติในวันเทศกาลนี้ ท่านคิดว่าเหตุใดพระเยซูจึงทรงเชื้อเชิญในเวลานี้พอดี

เขียนข้อความที่ไม่ครบถ้วนต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: ถ้าเรามาหาพระเยซูคริสต์และเชื่อในพระองค์ …

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ยอห์น 7:38–39 หลังจากนั้นอธิบายว่างานแปลของโจเซฟ สมิธ ยอห์น 7:39 อธิบายว่าช่วงท้ายของข้อนั้นอ่านว่า “เพราะสัญญาว่าจะประทานพระวิญญาณบริสุทธิ์คแก่นที่เชื่อ หลังจากนั้นพระเยซูทรงได้รับพระเกียรติ” เชื้อเชิญนักเรียนให้มองหาสัญญาที่พระเยซูทรงทำกับคนที่มาหาพระองค์และเชื่อในพระองค์

อธิบายว่าวลี “ออกมาจากภายในคนนั้น” บอกว่าน้ำดำรงชีวิตจะอยู่ข้างในและไหลออกมาจากผู้ที่เชื่อ แทนที่จะมาจากแหล่งภายนอก

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 39 น้ำดำรงชีวิตที่พระผู้ช่วยให้รอดตรัสหมายถึงอะไร

อธิบายว่า “เนื่องจากเหตุผลบางประการที่ไม่ได้อธิบายไว้โดยกระจ่างในพระคัมภีร์ พระวิญญาณบริสุทธิ์ไม่ได้ทรงทำงานเต็มที่ท่ามกลางชาวยิวระหว่างช่วงหลายปีที่พระเยซูประทับอยู่ในความเป็นมรรตัย (ยอห์น 7:39; 16:7)” (Bible Dictionary, “Holy Ghost”) แม้ ของประทาน แห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ไม่ได้ประทานไว้ในสมัยการประทานนั้นจนกระทั่งหลังจากพระผู้ช่วยให้รอดทรงได้รับรัศมีภาพโดยทรงปฏิบัติพระพันธกิจมรรตัยของพระองค์สำเร็จลุล่วง อำนาจ ของพระวิญญาณบริสุทธิ์จึงมีไว้เพื่อช่วยให้คนได้รับประจักษ์พยานเกี่ยวกับความจริงที่พระผู้ช่วยให้รอดและสานุศิษย์ของพระองค์สอน

  • ตามคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดใน ยอห์น 7:37–39 ท่านจะเติมข้อความบนกระดานให้ครบถ้วนว่าอย่างไร (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกันแต่ควรระบุหลักธรรมต่อไปนี้ ถ้าเรามาหาพระเยซูคริสต์และเชื่อในพระองค์ แล้วเราจะเปี่ยมด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์)

อธิบายว่าคนที่เปี่ยมด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์สามารถเป็นอิทธิพลดีต่อผู้อื่น เชื้อเชิญให้นักเรียนนึกถึงเวลาที่พวกเขาเปี่ยมด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ ส่งผลให้สามารถเป็นอิทธิพลดีต่อผู้อื่น เชื้อเชิญนักเรียนสองสามคนแบ่งปันประสบการณ์ของพวกเขา

สรุป ยอห์น 7:40–53 โดยอธิบายว่าพวกหัวหน้าปุโรหิตและพวกฟาริสีต้องการให้พระเยซูทรงถูกจับกุมอีก นิโคเดมัส ชาวฟาริสีที่มาหาพระผู้ช่วยให้รอดในตอนกลางคืน (ดู ยอห์น 3:1–2) มาปกป้องพระผู้ช่วยให้รอดและเตือนเพื่อนฟาริสีของเขาและพวกหัวหน้าปุโรหิตว่ากฎหมายไม่อนุญาตให้บุคคลใดได้รับโทษโดยที่ยังไม่ได้ฟังเขา

สรุปโดยแสดงประจักษ์พยานถึงความจริงที่นักเรียนระบุในการศึกษา ยอห์น 7

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

ยอห์น 7:3 ใครเป็น “น้องๆ” ของพระเยซูคริสต์

เอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกีแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองให้คำอธิบายต่อไปนี้เกี่ยวกับ “น้องๆ” ของพระเยซูคริสต์

“มีการกล่าวหลายครั้งถึงบุตรหลายคนของโยเซฟกับมารีย์ว่าเป็น ‘น้องๆ’ ของพระเยซู แม้ในความเป็นจริงพวกเขาเป็นน้องร่วมมารดาของพระองค์ (มัทธิว 12:46; 13:55; ยอห์น 2:12; กิจการ 1:14; 1 โครินธิ์ 9:5) ถึงแม้พวกเขาได้รับการเลี้ยงดูในบ้านเดียวกันและอยู่ภายใต้ความกรุณาของโยเซฟกับมารีย์ แม้พวกเขาจะตระหนักถึงคำสอน การปฏิบัติศาสนกิจ และปาฏิหาริย์ของพระเยซูพระองค์เอง กระนั้น คนเหล่านี้ที่เป็นญาติใกล้ชิดก็ยังไม่ได้ยอมรับพระองค์ในฐานะพระเมสสิยาห์ อย่างไรก็ตาม เห็นได้ชัดว่าพวกเขาทั้งหมดเปลี่ยนใจเลื่อมใสในภายหลัง (กิจการ 1:14) คนหนึ่งนั้นเปาโลระบุว่าเป็น ‘ยากอบ น้องขององค์พระผู้เป็นเจ้า’ (กาลาเทีย 1:19) ซึ่งจะปฏิบัติศาสนกิจในความเป็นอัครสาวกศักดิ์สิทธิ์ และอีกคนหนึ่ง ยูดาส ผู้ที่เรียกตัวเองว่า ‘ยูดา … น้องชายของยากอบ’ (ยูดา 1) ที่เขียนจดหมายของยูดา” (Doctrinal New Testament Commentary, 3 vols. [1965–73], 1:437)

ยอห์น 7:17 “ถ้าใครตั้งใจประพฤติตามพระประสงค์ของพระองค์”

ซิสเตอร์ บอนนี่ แอล. ออสคาร์สันแห่งฝ่ายประธานเยาวชนหญิงสามัญสอนว่า

“บางครั้งเราพยายามทำกลับกัน ตัวอย่างเช่น เราอาจทำตามวิธีนี้ นั่นคือ ดิฉันจะทำตามกฎส่วนสิบอย่างมีความสุขแต่ดิฉันต้องรู้ก่อนว่าเป็นความจริงหรือไม่ บางครั้ง เราอาจสวดอ้อนวอนเพื่อได้รับประจักษ์พยานเกี่ยวกับกฎส่วนสิบและหวังว่าพระเจ้าจะประทานพรเราด้วยประจักษ์พยานนั้นก่อนที่เราจะเขียนใบบริจาคส่วนสิบด้วยซ้ำ แต่ประจักษ์พยานในหลักธรรมไม่ได้ทำงานเช่นนั้น พระเจ้าทรงคาดหวังให้เราแสดงศรัทธา เราต้องจ่ายส่วนสิบเต็มและอย่างซื่อสัตย์สม่ำเสมอเพื่อได้รับประจักษ์พยานเกี่ยวกับส่วนสิบ รูปแบบเดียวกันนี้นำมาใช้กับทุกหลักธรรมแห่งพระกิตติคุณไม่ว่าจะเป็นกฎความบริสุทธิ์ทางเพศ หลักธรรมเรื่องการแต่งกายให้สุภาพเรียบร้อย พระคำแห่งปัญญา หรือกฎการอดอาหาร ” (“จงเปลี่ยนใจเลื่อมใส,” เลียโฮนา, พ.ย. 2013, 77)

ยอห์น 7:38–39 “น้ำดำรงชีวิต”

“ใน ยอห์น 7:39 เราอ่านความคิดเห็นในวงเล็บจากยอห์นที่อธิบายว่า ‘น้ำดำรงชีวิต’ ที่พระผู้ช่วยให้รอดตรัสถึงใน ยอห์น 7:38 หมายถึงพระวิญญาณบริสุทธิ์ ซึ่งพระพันธกิจหลักของพระองค์คือเป็นพยานถึงพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ รูปลักษณ์ของ ‘น้ำดำรงชีวิต’ ของพระผู้ช่วยให้รอดเกิดมาจากประเพณีอันยาวนานของชาวอิสราเอลที่น้ำหมายถึงความจริงทางวิญญาณที่สำคัญ ในสภาพอากาศที่แห้งแล้งของตะวันออกใกล้สมัยโบราณ การเข้าถึงน้ำเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการอยู่รอด และการขาดแคลนน้ำทำให้น้ำเป็นทรัพยากรที่มีค่าและเป็นสัญลักษณ์ที่ทรงพลัง พระเจ้าทรงช่วยชาวอิสราเอลในโฮเรบเมื่อโมเสสทำให้น้ำไหลออกมาจากศิลาอย่างปาฏิหาริย์ (ดู อพยพ 17; กันดารวิถี 20) ศาสดาพยากรณ์พันธสัญญาเดิมอิสยาห์ เยเรมีย์ และเอเสเคียลใช้น้ำเป็นสัญลักษณ์ของพระวิญญาณของพระเจ้า การจัดหาดูแล และพลังอำนาจแห่งการรักษา (ดู อิสยาห์ 41:17–18; 58:11; เยเรมีย์ 2:13; เอเสเคียล 47:1–12)

“คำสัญญาของพระผู้ช่วยให้รอดว่าคนที่เชื่อในพระองค์จะได้รับ ‘น้ำดำรงชีวิต’ ในพวกเขาในภายภาคหน้าสะท้อนถึงความจริงที่ว่า ‘พระวิญญาณยังไม่สถิตด้วย’ (ยอห์น 7:39) ‘เนื่องจากเหตุผลบางประการที่ไม่ได้อธิบายไว้โดยกระจ่างในพระคัมภีร์ พระวิญญาณบริสุทธิ์ไม่ได้ทรงทำงานเต็มที่ท่ามกลางชาวยิวระหว่างช่วงหลายปีที่พระเยซูประทับอยู่ในความเป็นมรรตัย (ยอห์น 7:39; 16:7) คำพูดที่ว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์ไม่ได้เสด็จมาจนหลังจากพระเยซูฟื้นคืนพระชนม์จึงต้องหมายถึงเฉพาะในสมัยการประทานดังกล่าวเท่านั้น เนื่องจากเป็นที่แจ้งชัดว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงทำงานในสมัยการประทานต่างๆ ก่อนหน้านี้แล้ว นอกจากนั้น คำพูดดังกล่าวหมายถึง ของประทาน แห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์เท่านั้นที่ไม่อยู่ เนื่องจาก อำนาจ ของพระวิญญาณบริสุทธิ์ยังทรงทำงานระหว่างการปฏิบัติศาสนกิจของยอห์นผู้ถวายบัพติศมาและพระเยซู หาไม่แล้ว คงไม่มีใครได้รับประจักษ์พยานเกี่ยวกับความจริงที่ชายเหล่านี้สอน (มัทธิว 16:16–17; ดู 1 โครินธิ์ 12:3ด้วย)’ (Bible Dictionary, ‘Holy Ghost’)” (คู่มือนักเรียน พันธสัญญาใหม่ [คู่มือระบบการศึกษาของศาสนจักร, 2014], 224)