คลังค้นคว้า
บทที่ 136: ฮีบรู 5–6


บทที่ 136

ฮีบรู 5–6

คำนำ

เปาโลสอนว่าคนที่ได้รับฐานะปุโรหิตต้องได้รับเรียกจากพระผู้เป็นเจ้าและพระเยซูคริสต์ทรงได้รับการ “ตั้ง [เป็น] มหาปุโรหิตตามแบบอย่างของเมลคีเซเดค” (ฮีบรู 5:10) เปาโลกระตุ้นสมาชิกศาสนจักรให้มีความพากเพียร ศรัทธา ความอดทน และความหวังเพื่อได้รับคำสัญญาจากพระผู้เป็นเจ้า

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

ฮีบรู 5

เปาโลสอนว่าผู้ที่รับฐานะปุโรหิตต้องได้รับเรียกจากพระผู้เป็นเจ้า

ก่อนเริ่มชั้นเรียน ให้เขียนตำแหน่งต่อไปนี้ในกระดาษแต่ละแผ่น แพทย์ และ ผู้บังคับใช้กฎหมาย เชื้อเชิญนักเรียนสองคนออกมาหน้าชั้นเรียนและให้กระดาษแก่นักเรียนคนละแผ่น จากนั้นให้ถามคำถามต่อไปนี้

  • ถึงแม้นักเรียนเหล่านี้จะถือกระดาษที่แสดงตำแหน่งเหมาะสม แต่ท่านจะมีความกังวลอะไรถ้า [ใช้ชื่อของนักเรียนที่ถือกระดาษซึ่งเขียนว่า “แพทย์”] พยายามผ่าตัดท่านหลังจากท่านประสบอุบัติเหตุ

  • ท่านจะตอบสนองอย่างไรหาก [ใช้ชื่อของนักเรียนที่ถือกระดาษซึ่งเขียนว่า “ผู้บังคับใช้กฎหมาย”] พยายามเขียนใบสั่งให้ท่าน

  • เหตุใดท่านจึงลังเลที่จะให้นักเรียนเหล่านี้ทำงานที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งซึ่งพวกเขารับไว้ (นักเรียนเหล่านี้ขาดสิทธิอำนาจและความสามารถในการทำงานเหล่านี้)

อธิบายว่าดังที่สังคมได้กำหนดคุณสมบัติที่จำเป็นและวิธีได้รับสิทธิอำนาจในการทำหน้าที่รับผิดชอบบางอย่าง พระผู้เป็นเจ้าทรงกำหนดคุณสมบัติที่จำเป็น (เช่นความซื่อสัตย์และความมีค่าควร) ตลอดจนวิธีที่จะได้รับสิทธิอำนาจในการทำหน้าที่รับผิดชอบนั้นในศาสนจักรของพระองค์ ขณะที่นักเรียนศึกษา ฮีบรู 5 เชื้อเชิญให้นักเรียนมองหาแบบแผนที่พระผู้เป็นเจ้าทรงตั้งไว้เพื่อได้รับสิทธิอำนาจนี้

เตือนนักเรียนว่า ดังที่บันทึกไว้ใน ฮีบรู 4:14–16 เปาโลอธิบายว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงเป็น “มหาปุโรหิตยิ่งใหญ่” (ข้อ 14) เชื้อเชิญให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ฮีบรู 5:1–3 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่เปาโลสอนเกี่ยวกับบทบาทของมหาปุโรหิตในบรรดาชาวอิสราเอล

  • บทบาทของมหาปุโรหิตในบรรดาชาวอิสราเอลคืออะไร

อธิบายว่าตำแหน่งมหาปุโรหิตที่พูดถึงในข้อเหล่านี้อยู่ภายใต้กฎของโมเสสซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ควบคุมในฐานะปุโรหิตแห่งอาโรน อาโรน พี่ชายของโมเสสเป็น “มหาปุโรหิตคนแรกของกลุ่มอาโรน” หลังจากสมัยของอาโรน ตำแหน่งนี้สืบทอดไปตามสายเลือดและเลือกจากบุตรหัวปีของผู้สืบเชื้อสายของอาโรนและบุตรของเขา โดยปกติมหาปุโรหิตรับใช้ตลอดชีวิตที่เหลือของเขา แต่ในที่สุดตำแหน่งหน้าที่นี้ถูกคนชั่วร้ายยึดไป “มหาปุโรหิตได้รับแต่งตั้งอย่างไม่เหมาะสมและถูกปลดตามความพอใจของเฮโรดและชาวโรมันด้วย ตำแหน่งนี้มีชาย 28 คนดำรงตำแหน่ง ระหว่าง 37 ปีก่อนคริสตกาล และ ค.ศ. 68” (Bible Dictionary, High priest)

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ฮีบรู 5:4 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่ามีการเลือกมหาปุโรหิตอย่างไร

  • มีการเลือกมหาปุโรหิตอย่างไร

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่า “พระเจ้าทรงเรียก” อาโรนอย่างไร (ข้อ 4) ให้เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง อพยพ 28:1 ก่อนนักเรียนอ่านข้อนี้ อธิบายว่าการโต้ตอบนี้เกิดขึ้นระหว่างพระผู้เป็นเจ้ากับโมเสสบนภูเขาซีนาย

  • พระผู้เป็นเจ้าทรงเรียกอาโรนและแต่งตั้งสู่ฐานะปุโรหิตอย่างไร

  • เหตุใดจึงเป็นสิ่งสำคัญที่พระเจ้าประทานคำแนะนำนี้แก่โมเสสแทนที่จะเป็นคนอื่น (โมเสสเป็นศาสดาพยากรณ์ จึงได้รับสิทธิอำนาจให้รับการเปิดเผยนี้และให้ปกครองการใช้ฐานะปุโรหิตบนแผ่นดินโลก)

  • ต้องเกิดอะไรขึ้นเพื่อที่คนหนึ่งจะได้รับการแต่งตั้งสู่ฐานะปุโรหิต (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่ให้แน่ใจว่าพวกเขาระบุความจริงต่อไปนี้ ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งสู่ฐานะปุโรหิตต้องได้รับการเรียกจากพระผู้เป็นเจ้าโดยการเปิดเผยผ่านผู้รับใช้ที่มีสิทธิอำนาจจากพระองค์) ท่านอาจต้องการอธิบายว่าศาสนจักรในปัจจุบัน ผู้นำฐานะปุโรหิตที่มีสิทธิอำนาจต้องสัมภาษณ์ผู้คาดหวังได้รับแต่งตั้งแต่ละคนและแสวงหาการนำทางจากพระวิญญาณบริสุทธิ์เพื่อพิจารณาความพร้อมและค่าควรของผู้คาดหวังที่จะได้รับแต่งตั้งสู่ฐานะปุโรหิต ดู ยอห์น 15:16 ด้วย)

  • ความจริงนี้เกี่ยวข้องกับขั้นตอนการเรียกคนให้รับใช้ในตำแหน่งต่างๆ ของศาสนจักรอย่างไร

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงหลักแห่งความเชื่อข้อที่ห้า ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าความจริงที่พวกเขาระบุใน ฮีบรู 5:4 สะท้อนถึงหลักแห่งความเชื่อข้อที่ห้าอย่างไร อธิบายว่า การพยากรณ์ หมายถึงการเปิดเผย

  • ตามที่กล่าวไว้ในหลักแห่งความเชื่อข้อนี้ ต้องเกิดอะไรขึ้นอีกเพื่อที่คนหนึ่งจะได้รับอนุญาตให้ “สั่งสอนพระกิตติคุณและปฏิบัติศาสนพิธีของพระกิตติคุณนั้น”

ภาพ
โมเสสมอบฐานะปุโรหิตให้อาโรน

แสดงภาพ โมเสสมอบฐานะปุโรหิตให้อาโรน (หนังสือภาพพระกิตติคุณ [2009], ภาพที่ 15; ดู LDS.org ด้วย) ชี้ให้เห็นว่าทั้งในพันธสัญญาเก่าและใหม่บันทึกว่าศาสดาพยากรณ์ ผู้ดำรงฐานะปุโรหิต และครูสอนพระกิตติคุณรับการเรียกของพวกเขาโดยการวางมือจากผู้ดำรงฐานะปุโรหิตที่มีสิทธิอำนาจ (ดู กันดารวิถี 27:18–23; กิจการของอัครทูต 6:6; 13:2–3; 1 ทิโมธี 4:14)

  • ขั้นตอนการเรียกคนเข้าสู่ตำแหน่งในศาสนจักรในปัจจุบันสะท้อนให้เห็นแบบแผนที่จัดตั้งไว้ในพระคัมภีร์อย่างไร

  • เหตุใดจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะรู้ว่าสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตสามารถรับได้โดยวิธีนี้เท่านั้น

เชื้อเชิญให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ฮีบรู 5:5–6 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าใครประทานสิทธิอำนาจให้พระผู้ช่วยให้รอด ชี้ให้เห็นว่า ข้อ 5 พูดถึง สดุดี 2:7 และ ข้อ 6 พูดถึง สดุดี 110:4

  • ใครประทานสิทธิอำนาจให้พระผู้ช่วยให้รอด (พระบิดาบนสวรรค์)

  • พระเยซูคริสต์ทรงดำรงฐานะปุโรหิตใด (ฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค ชี้ให้เห็นว่าฐานะปุโรหิตนี้ตั้งชื่อตามพระนามซึ่งแต่เดิมเป็นของพระผู้ช่วยให้รอด [ดู คพ. 107:2–4])

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ฮีบรู 5:7–10 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยหาดูว่าพระเยซูคริสต์ทรงเป็นอะไร อธิบายว่า ฮีบรู 5:7–8 หมายถึงเมลคีเซเดค ศาสดาพยากรณ์และกษัตริย์ซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วงสมัยของอับราฮัม อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเมลคีเซเดคเป็นลักษณะหนึ่งของพระคริสต์ ข้อเหล่านี้จึงเกี่ยวข้องกับพระผู้ช่วยให้รอดด้วย (ดู Bruce R. McConkie, Doctrinal New Testament Commentary, 3 vols. [1965–73], 3:157)

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ฮีบรู 5:9 พระผู้ช่วยให้รอดทรงเป็นอะไร

  • พระเยซูคริสต์ทรงเป็น “แหล่งกำเนิดแห่งความรอดนิรันดร์” สำหรับคนทั้งปวงที่เชื่อฟังพระองค์อย่างไร

สรุป ฮีบรู 5:11–14 โดยอธิบายว่าเปาโลแสดงความปรารถนาที่จะสอนเรื่องนี้มากขึ้นแต่พูดว่าผู้คนขาดความเข้าใจและขาดวุฒิภาวะทางวิญญาณในการเข้าใจคำสอนที่สูงขึ้น

ฮีบรู 6

วิสุทธิชนได้รับการกระตุ้นให้มีความพากเพียร ศรัทธา ความอดทน และความหวังในการได้รับคำสัญญาของพระผู้เป็นเจ้า

  • มีตัวอย่างพรอะไรบ้างที่พระผู้เป็นเจ้าทรงสัญญากับบุตรธิดาของพระองค์ (คำตอบที่เป็นไปได้รวมถึง สันติ ความสุข การให้อภัย คำตอบการสวดอ้อนวอน พรซึ่งรวมถึงปิตุพร การฟื้นคืนชีวิต และชีวิตนิรันดร์ ชี้ให้เห็นว่าพรบางอย่างมีเงื่อนไขขึ้นอยู่กับการเลือกของเรา)

  • มีตัวอย่างของสภาพการณ์ใดที่เราอาจสงสัยว่าเราจะได้รับพรอย่างหนึ่งอย่างใดที่สัญญาไว้หรือไม่

ขอให้นักเรียนเขียนในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์หรือในแผ่นกระดาษถึงพรที่สัญญาไว้ซึ่งพวกเขากำลังรอคอยที่จะได้รับ เชื้อเชิญให้พวกเขามองหาความจริงใน ฮีบรู 6 ซึ่งจะช่วยให้พวกเขาได้รับพรที่พระผู้เป็นเจ้าทรงสัญญาไว้

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ฮีบรู 6:1–3 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าเปาโลสอนวิสุทธิชนให้ทำงานเพื่อสิ่งใด ชี้ให้เห็นว่างานแปลของโจเซฟ สมิธ, ฮีบรู 6:1 (ใน คู่มือพระคัมภีร์ ) บอกว่า “ดังนั้น โดยไม่ ละไปจากหลักธรรมแห่งหลักคำสอนของพระคริสต์” (เน้นตัวเอน) และ งานแปลของโจเซฟ สมิธ, ฮีบรู 6:3 (ในคู่มือพระคัมภีร์) บอกว่า “และเราจะดำเนินต่อไปสู่ความดีพร้อมหากพระผู้เป็นเจ้าประทานอนุญาต”

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 1 เปาโลสอนวิสุทธิชนให้ทำงานเพื่อสิ่งใด (อธิบายว่าความดีพร้อมหมายถึงสภาพ “เพียบพร้อม, ครบถ้วน, และพัฒนาเต็มที่ … ผู้ติดตามที่แท้จริงของพระคริสต์จะดีพร้อมได้โดยผ่านพระคุณและการชดใช้ของพระองค์” [คู่มือพระคัมภีร์, “ดีพร้อม,” scriptures.lds.org])

  • หลักคำสอนใดที่พูดถึงในข้อเหล่านี้ซึ่งเป็นรากฐานรองรับเมื่อเราทำงานไปสู่ความดีพร้อม

สรุป ฮีบรู 6:4–8 โดยอธิบายว่าเปาโลบรรยายถึงคนเหล่านั้นที่เป็นบุตรแห่งหายนะ ผู้ที่มีความรู้สมบูรณ์เกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้าแล้วปฏิเสธความจริงนี้ กบฎต่อพระผู้ช่วยให้รอด และปฏิเสธการกลับใจ (ดู คพ. 29:44–45; 76:31–38 ด้วย) เปาโลเปรียบเทียบคนเหล่านี้กับวิสุทธิชนที่ซื่อสัตย์ที่เขาพูดถึงในสาส์นฉบับนี้

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน ฮีบรู 6:9–10 ในใจ โดยมองหาสิ่งที่เปาโลชื่นชมวิสุทธิชนชาวชาวฮีบรู ขอให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ

เชื้อเชิญนักเรียนหลายๆ คนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก ฮีบรู 6:11–15 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่เปาโลปรารถนาจากวิสุทธิชน

  • เปาโลปรารถนาสิ่งใดจากวิสุทธิชน

อธิบายว่าวลี “แสดงความกระตือรือร้นอย่างเดียวกันจนถึงที่สุด เพื่อจะพบความสำเร็จตามที่หวังไว้” (ข้อ 11) หมายถึงพากเพียรจนเราได้รับพรที่สัญญาไว้ของพระผู้เป็นเจ้า

  • อับราฮัมเป็นแบบอย่างของความพากเพียร ศรัทธา และความอดทนในการแสวงหาพรที่สัญญาไว้ของพระผู้เป็นเจ้าอย่างไร

  • เราสามารถเรียนรู้หลักธรรมอะไรเกี่ยวกับสิ่งที่เราต้องทำเพื่อได้รับพรที่พระผู้เป็นเจ้าทรงสัญญาไว้เป็นมรดก (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกันแต่ควรระบุหลักธรรมต่อไปนี้ โดยความพากเพียรจนถึงที่สุด ศรัทธาในพระเยซูคริสต์และความอดทน เราจะได้รับพรที่พระผู้เป็นเจ้าทรงสัญญาไว้เป็นมรดก เขียนหลักธรรมนี้ไว้บนกระดาน)

ขีดเส้นใต้คำว่า ความพากเพียร และ ความอดทน บนกระดาน ขอให้นักเรียนนิยามคำเหล่านี้ในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขา หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว ขอให้นักเรียนหลายๆ คนรายงานสิ่งที่พวกเขาเขียน

  • การแสดงออกซึ่งคุณลักษณะเหล่านี้เป็นเรื่องท้าทายอย่างไร

  • ท่านคิดว่าเหตุใดเราต้องการคุณลักษณะเหล่านี้เพื่อ “ดำเนินต่อไปสู่ความดีพร้อม” (ฮีบรู 6:1)

  • ท่านเคยได้รับพรที่สัญญาไว้ผ่านความพากเพียร ศรัทธาในพระเยซูคริสต์ และความอดทนเมื่อใด

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ฮีบรู 6:16–20 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่เปาโลสอนเกี่ยวกับความหวังและสัญญาของพระผู้เป็นเจ้า ท่านอาจต้องอธิบายว่า เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ใน (ข้อ 18) หมายถึงไม่แปรผัน

  • เราสามารถเรียนรู้ความจริงอะไรจากคำสอนของเปาโลเกี่ยวกับความหวัง (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่ให้แน่ใจว่าพวกเขาระบุความจริงต่อไปนี้ ความหวังของเราในสัญญาของพระผู้เป็นเจ้าเป็นสมอทางวิญญาณสำหรับจิตวิญญาณเรา เขียนความจริงนี้ไว้บนกระดาน)

อธิบายว่าดังที่ใช้ในพระคัมภีร์ ความหวัง หมายถึง “ความคาดหมายอย่างมั่นใจและความปรารถนาพรที่สัญญาไว้อันเกิดจากความชอบธรรม” (คู่มือพระคัมภีร์, “ความหวัง” scriptures.lds.org)

  • จากคำสอนของเปาโลเกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้าใน ข้อ 17–18 เหตุใดเราสามารถมีความมั่นใจในสัญญาของพระผู้เป็นเจ้า

  • ความหวังของเราในสัญญาของพระผู้เป็นเจ้าจะช่วยเราพากเพียร อดทน และมีศรัทธา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราเผชิญความท้าทาย

ภาพ
ภาพลายเส้น สมอ

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งวาดภาพ สมอ บนกระดาน

  • สมอทำอะไรให้เรือ

  • ความหวังของท่านในสัญญาของพระผู้เป็นเจ้าเป็นสมอทางวิญญาณสำหรับท่านอย่างไร

เชื้อเชิญให้นักเรียนเขียนเป้าหมายที่จะพัฒนาความพากเพียร ศรัทธา ความอดทน และความหวังให้สมบูรณ์มากขึ้น ท่านอาจกระตุ้นให้พวกเขาเริ่มเขียนแผนสำหรับการพัฒนาหนึ่งในคุณลักษณะเหล่านี้แล้วมุ่งพัฒนาคุณลักษณะอื่นต่อไป กระตุ้นให้นักเรียนประยุกต์ใช้สิ่งที่เขียนไว้

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

ฮีบรู 5:4 การรับฐานะปุโรหิต

ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธสอนดังนี้

“เราเชื่อว่าไม่มีมนุษย์คนใดสามารถให้ความรอดแก่จิตวิญญาณมนุษย์โดยผ่านพระกิตติคุณในพระนามของพระเยซูคริสต์ได้ เว้นแต่เขาจะได้รับมอบสิทธิอำนาจจากพระผู้เป็นเจ้า โดยการเปิดเผย หรือโดยการวางมือแต่งตั้งจากผู้ที่พระผู้เป็นเจ้าทรงส่งมาโดยการเปิดเผย … ฮีบรู 5:4 [กล่าว่า], ‘อนึ่งไม่มีใครรับตำแหน่งอันมีเกียรตินี้เองได้ เว้นแต่พระเจ้าทรงเรียกเขาเหมือนอย่างทรงเรียกอาโรน’—และข้าพเจ้าจะถามว่า อาโรนได้รับเรียกอย่างไร มิใช่โดยการเปิดเผยหรอกหรือ” (คำสอนของประธานศาสนาจักร: โจเซฟ สมิธ [2007], 110; ดู คพ. 42:11 ด้วย)

ฮีบรู 5:7–8 พระเยซูคริสต์และเมลคีเซเดค

เอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกีแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายดังนี้

“[ฮีบรู บทที่ 5] ข้อ 7 และ 8 ใช้กับทั้งเมลคีเซเดคและพระเยซูคริสต์ เพราะเมลคีเซเดคเป็นต้นแบบของพระคริสต์และการปฏิบัติศาสนกิจของศาสดาพยากรณ์เป็นแบบอย่างและแสดงล่วงหน้าถึงพระเจ้าของเราในแบบเดียวกันกับที่การปฏิบัติศาสนกิจของโมเสสทำไว้ (เฉลยธรรมบัญญัติ 18:15–19; กิจการของอัครทูต 3:22–23; [3 นีไฟ 20:23; โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:40]) ดังนั้น แม้ว่าคำในข้อเหล่านี้ และโดยเฉพาะคำใน ข้อ 7ในเบื้องต้นหมายถึงเมลคีเซเดค คำเหล่านี้หมายถึงพลังที่เทียบเท่าหรือยิ่งใหญ่กว่าต่อพระชนม์ชีพและการปฏิบัติศาสนกิจของพระองค์ซึ่งพรที่ให้ไว้กับเมลคีเซเดคเกิดสัมฤทธิผลผ่านพระองค์” (Doctrinal New Testament Commentary, 3 vols. [1965–73], 3:157)

ฮีบรู 6:4–8 “พวกเขาเองได้ตรึงพระบุตรของพระเจ้า”

เอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกีแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายดังนี้

“การทำบาปที่อภัยมิได้ซึ่งเกิดจากการตรึงพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้าเองและทำให้พระองค์อับอายต่อฝูงชน (ฮีบรู 6:4–8; คพ. 76:34–35) การทำอาชญากรรมที่อภัยมิได้นี้ บุคคลหนึ่งต้องรับพระกิตติคุณ ได้รับความรู้ที่แน่ชัดถึงความเป็นพระเจ้าของพระคริสต์จากพระวิญญาณบริสุทธิ์ผ่านการเปิดเผย จากนั้นปฏิเสธ ‘พันธสัญญาใหม่และเป็นนิจซึ่งเขาได้รับการชำระให้บริสุทธิ์ โดยเรียกพันธสัญญานั้นว่าเป็นสิ่งไม่ศักดิ์สิทธิ์ และทำตรงข้ามกับพระวิญญาณแห่งพระคุณ’ [โจเซฟ สมิธ, ใน History of the Church, 3:232] เขาจึงได้กระทำฆาตกรรมโดยยินยอมให้พระเจ้าสิ้นพระชนม์ กล่าวคือ โดยที่เขามีความรู้อันสมบูรณ์ถึงความจริงแต่เขากบฎอย่างเปิดเผยและยอมให้ตัวเขาเองอยู่ในฐานะที่เขาต้องตรึงพระคริสต์โดยรู้อย่างถ่องแท้ว่าพระองค์ทรงเป็นพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า พระคริสต์จึงทรงถูกตรึงกางเขนและประจานให้อับอายต่อสาธารณชน (คพ. 132:27)” (Mormon Doctrine, 2nd ed. [1966], 816-817)