คลังค้นคว้า
บทที่ 103: 1 โครินธ์ 1–2


บทที่ 103

1 โครินธ์ 1–2

คำนำ

หลังจากเรียนรู้เกี่ยวกับปัญหาที่สมาชิกศาสนจักรในโครินธ์กำลังประสบ เปาโลเขียนถึงสมาชิกเหล่านี้และแนะนำให้พวกเขาขจัดความขัดแย้งและเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เขาอธิบายด้วยว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงเรียกคนที่อ่อนแอและอ่อนน้อมถ่อมตนมาสั่งสอนพระกิตติคุณของพระองค์ เราจะรู้จักและเข้าใจเรื่องของพระผู้เป็นเจ้าผ่านพระวิญญาณเท่านั้น

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

1 โครินธ์ 1:1–16

เปาโลเขียนไปหาวิสุทธิชนในเมืองโครินธ์และแนะนำให้พวกเขาขจัดความขัดแย้งและเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

ให้ดูภาพครอบครัว ทีมกีฬา และกลุ่มเพื่อน (หรือเขียน ครอบครัว ทีมกีฬา กลุ่มเพื่อน บนกระดาน)

  • สิ่งใดอาจทำให้เกิดความแตกแยกและความขัดแย้งในแต่ละกลุ่มเหล่านี้

  • ความแตกแยกและความขัดแย้งเช่นนั้นส่งผลต่อครอบครัว ทีม และกลุ่มเพื่อนอย่างไร

  • ความแตกแยกและความขัดแย้งเช่นนั้นท่ามกลางสมาชิกศาสนจักรจะส่งผลต่อศาสนจักรอย่างไร

ขณะที่พวกเขาศึกษา 1 โครินธ์ 1 เชื้อเชิญให้นักเรียนมองหาความจริงเกี่ยวกับความแตกแยกและความขัดแย้งที่เปาโลสอนวิสุทธิชนในเมืองโครินธ์

เชื้อเชิญให้นักเรียนเปิดไปที่แผนที่พระคัมภีร์ไบเบิล แผนที่ 13 “เส้นทางในการเผยแผ่ศาสนาของอัครสาวกเปาโล” ที่อยู่ในคู่มือพระคัมภีร์และหาเมืองโครินธ์ในแผนที่

ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงย่อหน้าต่อไปนี้

ระหว่างการเดินทางเผยแผ่ศาสนาครั้งที่สอง เปาโลเดินทางไปเมืองหนึ่งที่เรียกว่าโครินธ์ เขาสั่งสอนพระกิตติคุณที่เมืองนี้ หลายคนรับบัพติศมาในตอนนั้น (ดู กิจการของอัครทูต 18:1–18) หลังจากนั้น ขณะที่เปาโลกำลังสั่งสอนในเมืองเอเฟซัส เขาเรียนรู้ว่ามีปัญหาเกิดขึ้นท่ามกลางสมาชิกศาสนจักรในเมืองโครินธ์เนื่องจากผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใจบางคนกลับไปนับถือศาสนาเก่าของพวกเขาและถือปฏิบัติการนมัสการรูปเคารพ เปาโลเขียนถึงสมาชิกศาสนจักรในโครินธ์เพื่อเสริมสร้างพวกเขาและเตือนพวกเขาถึงข้อผูกมัดในการรับใช้พระเจ้า

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 1 โครินธ์ 1:1–2 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าเปาโลพูดกับสมาชิกศาสนจักรในเมืองโครินธ์ว่าอย่างไร

  • เปาโลพูดกับสมาชิกศาสนจักรในเมืองโครินธ์ว่าอย่างไร

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 1 เปาโลมีตำแหน่งอะไรในศาสนจักร

สรุป 1 โครินธ์ 1:3–9 โดยอธิบายว่าเปาโลบอกวิสุทธิชนในโครินธ์ว่าเขาขอบพระทัยพระผู้เป็นเจ้าแทนพวกเขาสำหรับพระคุณที่พวกเขาได้รับผ่านพระเยซูคริสต์ ซึ่งเป็นพรแก่พวกเขาในทุกๆ ด้าน ชี้ให้เห็นว่าเมื่อเปาโลพูดกับวิสุทธิชนเขาใช้ภาษาที่ระบุว่าพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระสัตภาวะที่แยกกัน (ดู ข้อ 3)

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 1 โครินธ์ 1:10–11 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่เปาโลแนะนำวิสุทธิชนชาวโครินธ์ให้ทำ

  • ตามที่กล่าวไว้ใน 1 โครินธ์ 1:10 พระเจ้าทรงคาดหวังให้เราทำอะไรในฐานะสมาชิกศาสนจักร (โดยใช้คำพูดของพวกเขาเอง นักเรียนควรระบุหลักธรรมทำนองนี้ พระเจ้าทรงคาดหวังจากเราในฐานะวิสุทธิชนให้เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันและให้ขจัดความแตกแยกและความขัดแย้ง)

  • เราจะทำอะไรได้บ้างในฐานะสมาชิกศาสนจักรเพื่อขจัดความแตกแยกและความขัดแย้งในครอบครัวของเรา ในวอร์ดของเรา (เขียนคำตอบของนักเรียนไว้บนกระดาน)

  • เราจะได้รับพรอะไรบ้างจากการเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันและการขจัดความแตกแยกและความขัดแย้ง

  • ท่านเคยได้รับพรอันเป็นผลมาจากการเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในชั้นเรียน โควรัม วอร์ดหรือสาขาหรือไม่

บอกให้นักเรียนดูคำตอบที่เขียนไว้บนกระดาน กระตุ้นให้พวกเขาเลือกวิธีหนึ่งที่พวกเขาจะขจัดความแตกแยกและความขัดแย้งพร้อมกับตั้งเป้าหมายเพื่อนำไปปฏิบัติ

สรุป 1 โครินธ์ 1:12–16 โดยอธิบายว่าวิสุทธิชนในเมืองโครินธ์กำลังแตกแยกเป็นกลุ่มตามคนให้บัพติศมาพวกเขา ความขัดแย้งเกิดขึ้นเพราะพวกเขาเชื่อว่าสถานะของพวกเขาในศาสนจักรถูกกำหนดจากความสำคัญของคนที่ให้บัพติศมาพวกเขา

1 โครินธ์ 1:17–31

เปาโลสอนว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงเรียกคนที่อ่อนแอให้สั่งสอนพระกิตติคุณของพระองค์

อธิบายว่าระหว่างสมัยของเปาโล พวกกรีกหลายคนอาศัยอยู่ในเมืองโครินธ์ พวกกรีกเหล่านี้นับถือแนวคิดทางปรัชญาและปัญญาทางโลก

  • เหตุใดจึงเป็นเรื่องยากสำหรับคนที่ให้ความสำคัญกับปรัชญาทางโลกที่จะยอมรับพระกิตติคุณ (ท่านอาจต้องการอ่าน 2 นีไฟ 9:28)

เชื้อเชิญให้นักเรียนมองหาความจริงเมื่อพวกเขาศึกษา 1 โครินธ์ 1:17–31 ที่จะช่วยให้พวกเขาเข้าใจความผิดพลาดของปัญญาของโลก

แบ่งชั้นเรียนออกเป็นสี่กลุ่ม มอบหมายหนึ่งในข้ออ้างอิงพระคัมภีร์ต่อไปนี้กับแต่ละกลุ่ม 1 โครินธ์ 1:17–18; 1 โครินธ์ 1:19–20; 1 โครินธ์ 1:21–22; and 1 โครินธ์ 1:23–24 เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่านข้อเหล่านี้ในกลุ่ม โดยมองหาสิ่งที่เปาโลพูดเกี่ยวกับปัญญาฝ่ายโลกเปรียบเทียบกับปัญญาฝ่ายพระผู้เป็นเจ้า อธิบายว่าวลี “เพราะว่าพระคริสต์ไม่ได้ทรงส่งข้าพเจ้าไปเพื่อบัพติศมา” ใน ข้อ 17 แนะนำว่าเปาโลไม่ได้ถูกส่งไปสร้างชื่อเสียงตามจำนวนผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสใหม่ที่เขาทำได้ ท่านอาจต้องการอธิบายว่าวลี “สติปัญญาของคนมีปัญญา” ใน ข้อ 19 และ “ปัญญาฝ่ายโลก” ใน ข้อ 20 หมายถึงประเพณีอันเกี่ยวข้องกับปรัชญาที่มีตำหนิของยุคนั้น

หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว เชื้อเชิญให้นักเรียนคนหนึ่งจากแต่ละกลุ่มสรุปกับชั้นเรียนเกี่ยวกับสิ่งที่เปาโลสอนวิสุทธิชนชาวโครินธ์เกี่ยวกับปัญญา หลังจากทุกกลุ่มรายงานแล้ว ให้ถามว่า

  • ท่านคิดว่าเหตุใดผู้ที่ไม่เชื่อคิดว่าข่าวสารเรื่องการชดใช้ของพระเยซูคริสต์เป็นเรื่องเขลา

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 1 โครินธ์ 1:25 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่เปาโลสอนเกี่ยวกับปัญญาของมนุษย์เมื่อเปรียบเทียบกับปัญญาของพระผู้เป็นเจ้า อธิบายว่าเปาโลใช้ข้อความดังนี้ “ความเขลาของพระเจ้ายังมีปัญญายิ่งกว่าปัญญาของมนุษย์” และ “ความอ่อนแอของพระเจ้าก็ยังมีกำลังมากยิ่งกว่ากำลังของมนุษย์” พระผู้เป็นเจ้าไม่ทรงเขลา และไม่ทรงมีความอ่อนแอใดๆ

  • ความจริงอะไรที่เปาโลสอนเกี่ยวกับปัญญาของมนุษย์เมื่อเปรียบเทียบกับปัญญาของพระผู้เป็นเจ้า (หลังจากนักเรียนตอบแล้ว ให้เขียนความจริงต่อไปนี้บนกระดาน ปัญญาของพระผู้เป็นเจ้ายิ่งใหญ่กว่าปัญญาของมนุษย์)

  • การเข้าใจความจริงนี้ส่งผลต่อวิธีที่บางคนมองหาทางออกสำหรับปัญหาของเขาในทางใดบ้าง

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 1 โครินธ์ 1:26–27 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาคนที่พระผู้เป็นเจ้าทรงเลือกให้สั่งสอนพระกิตติคุณของพระองค์

  • พระผู้เป็นเจ้าทรงเลือกใครเพื่อสั่งสอนพระกิตติคุณของพระองค์

  • ท่านคิดว่าเหตุใดพระผู้เป็นเจ้าทรงเลือกคนเหล่านั้นที่โลกคิดว่าโง่หรืออ่อนแอให้สั่งสอนพระกิตติคุณของพระองค์

1 โครินธ์ 2

เปาโลอธิบายว่าเราเรียนรู้เรื่องของพระผู้เป็นเจ้าอย่างไร

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงเรื่องราวต่อไปนี้โดยประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

ภาพ
ประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์

“ข้าพเจ้านั่งอยู่บนเครื่องบินข้างๆ ผู้ที่อ้างว่าเขาเป็นผู้ที่ไม่เชื่อว่ามีพระผู้เป็นเจ้า เขารีบยืนยันว่าเขาไม่เชื่อเมื่อข้าพเจ้าแสดงประจักษ์พยานของข้าพเจ้าต่อเขา ‘คุณผิดแล้ว’ ข้าพเจ้ากล่าว ‘พระผู้เป็นเจ้ามีอยู่จริง ผม รู้ พระองค์ทรงพระชนม์!’

“เขาแย้งว่า ‘คุณไม่ รู้ ไม่มีใคร รู้ เรื่องนั้น! คุณ รู้ สิ่งนี้ไม่ได้!’ เมื่อข้าพเจ้าไม่ยอม คนที่ไม่เชื่อว่ามีพระเจ้าคนนั้นซึ่งเป็นทนายความ ถามคำถามที่อาจเป็นคำถามพื้นฐานในเรื่องประจักษ์พยาน ‘ได้’ เขาพูดแบบยอมให้อย่างเย้ยหยัน ‘คุณพูดว่าคุณรู้ บอกผมมาว่าคุณรู้ได้ อย่างไร

“เมื่อข้าพเจ้าพยายามตอบ ถึงแม้ข้าพเจ้าจะมีปริญญาขั้นสูง แต่ข้าพเจ้าก็จนปัญญาจะสื่อให้เข้าใจ …

“เมื่อข้าพเจ้าใช้คำว่า พระวิญญาณ และ พยาน คนที่เชื่อว่าไม่มีพระเจ้าคนนั้นตอบว่า ‘ผมไม่รู้ว่าคุณพูดเรื่องอะไร’ คำว่า คำสวดอ้อนวอน การเล็งเห็น และ ศรัทธา ไร้ความหมายสำหรับเขาเท่าๆ กัน ‘คุณเห็นไหม’ เขากล่าว ‘คุณไม่ได้รู้จริงๆ หากคุณรู้ คุณคงบอกผมได้ว่า คุณรู้ได้อย่างไร

“ข้าพเจ้า … ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร” (The Candle of the Lord, Jan. 1983, 51)

  • ท่านจะพูดอะไรกับคนที่เชื่อว่าไม่มีพระเจ้าคนนั้น

เชื้อเชิญให้นักเรียนมองหาความจริงเมื่อพวกเขาศึกษา 1 โครินธ์ 2 ที่จะช่วยพวกเขารู้สาเหตุที่ชายคนนี้ไม่เข้าใจประธานแพคเกอร์และสาเหตุที่พวกเขาสามารถมั่นใจในความรู้ของเขาเกี่ยวกับเรื่องทางวิญญาณ

สรุป 1 โครินธ์ 2:1–8 โดยอธิบายว่าเปาโลบอกวิสุทธิชนในเมืองโครินธ์ว่าเขาไม่ได้ใช้ปัญญาของโลกเพื่อชักชวนพวกเขาให้เชื่อพระกิตติคุณ เปาโลสอนพวกเขาโดยพระวิญญาณเพื่อพวกเขาจะมีศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้า เปาโลบอกพวกเขาด้วยว่าผู้ที่ไม่เชื่อไม่สามารถเข้าใจความลี้ลับของพระผู้เป็นเจ้า

เชื้อเชิญนักเรียนหลายๆ คนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก 1 โครินธ์ 2:9–16 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสาเหตุที่เปาโลพูดว่าบางคนสามารถรู้และเข้าใจ “ความล้ำลึกของพระเจ้า” (ข้อ 10) ขณะที่คนอื่นไม่สามารถรู้และเข้าใจ

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 9–10 เหตุใดเปาโลและคนอื่นๆ ที่ซื่อสัตย์จึงเข้าใจเรื่องของพระผู้เป็นเจ้า

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 14 เหตุใดบางคนจึงไม่สามารถเข้าใจเรื่องของพระผู้เป็นเจ้า

  • เราสามารถเรียนรู้ความจริงอะไรจากข้อเหล่านี้เกี่ยวกับวิธีที่เราสามารถรู้และเข้าใจเรื่องของพระผู้เป็นเจ้า (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่ให้แน่ใจว่าพวกเขาระบุความจริงต่อไปนี้ เราสามารถรู้และเข้าใจเรื่องของพระผู้เป็นเจ้าผ่านพระวิญญาณของพระองค์เท่านั้น)

พูดถึงเรื่องเล่าของประธานแพคเกอร์ และอธิบายว่าประธานแพคเกอร์รู้สึกได้รับการกระตุ้นเตือนให้ถามชายที่นั่งอยู่ข้างท่านบนเครื่องบินว่าเกลือมีรสชาติอย่างไร เชื้อเชิญให้นักเรียนหนึ่งคนอ่านส่วนที่เหลือในเรื่องเล่าของประธานแพคเกอร์

ภาพ
ประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์

“แน่นอนว่า หลังจากพยายามสองสามครั้งเขาไม่สามารถอธิบายได้ เขาไม่สามารถถ่ายทอดออกมาเป็นเพียงคำพูดในเรื่องธรรมดามาก อย่างเช่นประสบการณ์การชิมเกลือ ข้าพเจ้าเป็นพยานต่อเขาอีกครั้งและพูดว่า ‘ผมรู้ว่ามีพระผู้เป็นเจ้า คุณล้อเลียนประจักษ์พยานนั้นและบอกว่าหากผมรู้ จริงๆ ผมจะบอกคุณได้จริงๆ ว่าผมรู้ได้ อย่างไร สหายของผม ถ้าจะพูดในทางวิญญาณ ผมได้ชิมเกลือนั้นแล้ว ผมก็ไม่สามารถถ่ายทอดให้กับคุณรู้เป็นคำพูดว่าความรู้นี้มาได้อย่างไรไม่ต่างกับที่คุณไม่สามารถบอกผมได้ว่าเกลือมีรสชาติอย่างไร แต่ผมบอกคุณอีกครั้ง มีพระผู้เป็นเจ้า พระองค์ทรงพระชนม์อยู่จริง! และเพียงเพราะคุณไม่รู้ อย่าพยายามบอกผมว่าผมไม่รู้ เพราะผมรู้!’

“ขณะเราจากกัน ผมได้ยินเขาพึมพำว่า ‘ผมไม่ต้องการให้ศาสนาของคุณเป็นไม้ค้ำยัน! ผมไม่ต้องการ’

“นับจากประสบการณ์นั้น ข้าพเจ้าไม่เคยรู้สึกอึดอัดหรืออับอายเลยที่ข้าพเจ้าไม่สามารถอธิบายทุกอย่างที่ข้าพเจ้ารู้ทางวิญญาณออกมาเป็นคำพูดได้” (The Candle of the Lord, 52)

เขียนคำว่า เรื่องของพระผู้เป็นเจ้า บนกระดานและถามนักเรียนว่าพวกเขาคิดว่าอะไรเป็นเรื่องของพระผู้เป็นเจ้าที่สามารถรู้และเข้าใจได้โดยผ่านพระวิญญาณของพระองค์เท่านั้น สรุปคำตอบของพวกเขาไว้บนกระดาน

  • เหตุใดจึงสำคัญที่เราจะเชื่อว่าเราสามารถรู้และเข้าใจเรื่องของพระผู้เป็นเจ้าผ่านพระวิญญาณของพระองค์เท่านั้น

บอกให้นักเรียนดูรายการบนกระดาน และเชื้อเชิญให้พวกเขา แบ่งปัน ประสบการณ์หนึ่งที่พวกเขารู้และเข้าใจผ่านพระวิญญาณถึงเรื่องหนึ่งในเรื่องเหล่านี้ของพระผู้เป็นเจ้า ท่านอาจแบ่งปันประสบการณ์ของท่านเอง

กระตุ้นให้นักเรียนพิจารณาว่าพวกเขาจะทำอะไรได้บ้างเพื่อแสวงหาความช่วยเหลือจากพระวิญญาณเมื่อพวกเขาพยายามจะรู้และเข้าใจเรื่องของพระผู้เป็นเจ้า

สรุปโดยเป็นพยานของท่านถึงความจริงที่สนทนาในบทนี้

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

1 โครินธ์ 1:17–2:13 ปัญญาฝ่ายโลก

“เมื่อเปาโลพูดต่อต้าน ‘ปัญญาฝ่ายโลก’ (1 โครินธ์ 1:20) เขากำลังพูดถึงประเพณีทางปรัชญาที่มีตำหนิในยุคของเขาและไม่ได้พูดถึงความมุ่งมั่นที่จะเรียนรู้อย่างคุ้มค่าและการศึกษาที่พระเจ้าทรงสนับสนุน (ดู มัทธิว 22:37; 2 นีไฟ 9:29; คพ. 88:78–80) เปาโลใช้คำว่า ผู้มีปัญญา และ ปัญญา ซ้ำๆ ใน 1 โครินธ์ 1:17–2:13 เพื่อหมายถึงปรัชญาทางโลกและคนที่สนับสนุนปรัชญาเหล่านั้น แนวคิดทางปรัชญาเป็นหัวข้อการอภิปรายของมวลชนเป็นปรกติ เปาโลเปรียบต่างปัญญาที่จำกัดของมนุษย์กับข่าวสารอันทรงพลังเรื่องพระบุตรผู้ถูกตรึงกางเขนของพระผู้เป็นเจ้า (ดู 1 โครินธ์ 1:17–25) แม้จะมีคนเยาะเย้ยพระกิตติคุณ ศรัทธาของวิสุทธิชนไม่ควรขึ้นอยู่กับปัญญาของมนุษย์ แต่ขึ้นกับ … ฤทธิ์เดชของพระเจ้า’ (1 โครินธ์ 2:5)

“ทั้งชาวยิวและคนต่างชาติยอมรับข่าวสารเรื่องพระเมสสิยาห์ที่ถูกตรึงกางเขนได้ยาก ในโลกของชาวโรมัน การตรึงกางเขนเป็นการลงโทษที่สงวนไว้สำหรับอาชญากรหรือทาสและเป็นสัญลักษณ์ของความอัปยศและความพ่ายแพ้ แนวคิดที่ว่าบางคนทนทุกข์และตายแทนคนอื่น แล้วฟื้นคืนชีวิตตามลำดับสำหรับชาวกรีกที่รู้เรื่องปรัชญาถือว่าเป็นเรื่อง ‘โง่ๆ’ (1 โครินธ์ 1:23) สำหรับชาวยิวผู้ที่มีแนวคิดเรื่องพระเมสสิยาห์ทำให้พวกเขามีความคาดหวังว่าพระองค์จะทรงสืบเชื้อสายราชวงศ์ มีอำนาจ และมีชัยชนะ ข่าวสารที่ว่าพระเมสสิยาห์สิ้นพระชนม์บนกางเขนเป็น ‘สิ่งที่สะดุด’ และเป็นแนวคิดที่ยอมรับไม่ได้ (1 โครินธ์ 1:23)” (คู่มือนักเรียน พันธสัญญาใหม่ [คู่มือของระบบการศึกษาของศาสนจักร, 2014], 364)

1 โครินธ์ 1:18–29 “พระเจ้าทรงเลือกผู้ที่โลกถือว่าอ่อนแอ เพื่อทำให้พวกที่แข็งแกร่งอับอาย”

“แม้ชาวยิวและคนต่างชาติหลายคนปฏิเสธข่าวสารพระกิตติคุณว่าเป็นเรื่อง ‘โง่ๆ’ (1 โครินธ์ 1:18) เปาโลสอนว่า ‘ความเขลาของพระเจ้ายังมีปัญญายิ่งกว่าปัญญาของมนุษย์ และความอ่อนแอของพระเจ้าก็ยังมีกำลังมากยิ่งกว่ากำลังของมนุษย์’ (1 โครินธ์ 1:19–25) บ่อยครั้งพระผู้เป็นเจ้าทรงทำงานของพระองค์ผ่านบุคคลที่โลกอาจคิดว่า ‘โง่’ หรือ ‘อ่อนแอ’ (ดู คพ. 35:13–14; 124:1) ใน 1 โครินธ์ 1:28 ‘พวกที่โลกถือว่าต่ำต้อย’—คนที่ต่ำต้อยและอ่อนน้อมถ่อมตน—เป็นคนที่พระผู้เป็นเจ้าทรงเลือกเพื่อทำให้งานของพระองค์บรรลุ” (คู่มือนักเรียน พันธสัญญาใหม่ [คู่มือของระบบการศึกษาของศาสนจักร, 2014], 364)

1 โครินธ์ 2:6–16 “เรื่องของพระเจ้า” ต้อง “วินิจฉัยโดยพึ่งพระวิญญาณ”

เนื่องจาก “สิ่งเหล่านี้ซึ่งเป็นของพระวิญญาณแห่งพระเจ้า” สามารถ “วินิจฉัยโดยพึ่งพระวิญญาณ” เท่านั้น (1 โครินธ์ 2:14) คนที่ใส่ใจเรื่องทางโลกไม่สามารถเข้าใจความจริงทางวิญญาณ พระผู้เป็นเจ้าประทานวิธีได้รับความรู้ทางวิญญาณแก่เรา เอ็ลเดอร์พอล วี. จอห์นสันแห่งสาวกเจ็ดสิบสอนว่า

“ในโลกของวิทยาศาสตร์วิธีการทางวิทยาศาสตร์ใช้เพื่อเรียนรู้ความจริงและความรู้อันก้าวหน้า วิธีนั้นมีประโยชน์อย่างมากในหลายปีที่ผ่านมาและทำให้เกิดความรู้ทางวิทยาศาสตร์จำนวนมหาศาลและค้นพบสิ่งที่เรายังไม่รู้เกี่ยวกับโลกทางกายภาพของเรา อย่างไรก็ตาม การเรียนรู้เรื่องทางวิญญาณเรียกร้องแนวทางที่แตกต่างจากการเรียนรู้เรื่องทางวิทยาศาสตร์ วิธีการทางวิทยาศาสตร์และสติปัญญาเป็นเรื่องที่มีประโยชน์อย่างยิ่ง แต่เรื่องเพียงเท่านี้จะไม่มีวันนำมาซึ่งความรู้ทางวิญญาณ

“การเรียนรู้เรื่องทางวิญญาณต้องใช้สติปัญญา แต่นั่นไม่เพียงพอ เราเรียนรู้เรื่องทางวิญญาณโดยพระวิญญาณเท่านั้น …

“… คำตอบสำหรับคำถามทางวิญญาณมีให้แก่บุคคลผู้ไม่มีใจแข็งกระด้าง ผู้ที่ถามด้วยศรัทธา โดยเชื่อว่าพวกเขาจะได้รับ และผู้ที่ขยันหมั่นเพียรรักษาพระบัญญัติ แม้เมื่อเราทำตามรูปแบบนี้ เราไม่สามารถควบคุมเวลาที่เราจะได้คำตอบ บางครั้งคำตอบของเรามาเร็ว บ้างครั้งเราต้องวางคำถามไว้ระยะหนึ่งก่อนและพึ่งพาศรัทธาของเราที่พัฒนามาจากคำตอบที่เรารู้” (“A Pattern for Learning Spiritual Things” [การถ่ายทอดการอบรมเซมินารีและสถาบันศาสนา, 7 ส.ค. 2012], si.lds.org)

เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่า

“วิธีการที่พระเจ้าทรงกำหนดไว้ในการได้รับความรู้อันศักดิ์สิทธิ์แตกต่างมากจากวิธีการที่ผู้ได้รับการเรียนรู้โดยการศึกษาเพียงอย่างเดียวใช้ ตัวอย่างเช่น เทคนิคที่ใช้บ่อยๆ ของการได้ความรู้คือการอภิปรายหรือสนทนาโต้แย้งกัน วิธีซึ่งข้าพเจ้ามีประสบการณ์ส่วนตัวเป็นอย่างมาก แต่พระเจ้าทรงแนะนำเราในพระคัมภีร์สมัยโบราณและสมัยปัจจุบันว่าเราไม่ควรโต้แย้งกันในประเด็นที่เป็นหลักคำสอนของพระองค์ (ดู 3 นีไฟ 11:28–30; คพ. 10:63) … ความจริงของพระกิตติคุณและประจักษ์พยานจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ผ่านการศึกษาส่วนตัวด้วยความคารวะและการพิจารณาไตร่ตรองเงียบๆ ” (“Alternate Voices,” Ensign, May 1989, 29)