คลังค้นคว้า
บทที่ 7: มัทธิว 3


บทที่ 7

มัทธิว 3

คำนำ

ยอห์นผู้ถวายบัพติศมาสั่งสอนและบัพติศมาในแคว้นยูเดีย พระเยซูคริสต์เสด็จจากแคว้นกาลิลีไปที่แม่น้ำจอร์แดน ที่ซึ่งพระองค์ทรงรับบัพติศมาจากยอห์น พระผู้เป็นเจ้าพระบิดาเป็นพยานว่าพระเยซูทรงเป็นพระบุตรผู้เป็นที่รักของพระองค์

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

มัทธิว 3:1-12

ยอห์นผู้ถวายบัพติศมาสั่งสอนในแคว้นยูเดีย

ขอให้ชั้นเรียนจินตนาการว่าพวกเขาจะรู้สึกอย่างไรหากนักเรียนคนหนึ่งในชั้นเรียนจะลุกขึ้นและเริ่มหยิบของส่วนตัวที่เป็นของนักเรียนคนอื่นไป จากนั้นขอให้พวกเขาจินตนาการว่าหลังจากนำเอาของแต่ละชิ้นไปแล้ว นักเรียนคนที่ทำเช่นนั้นกล่าวคำขอโทษแต่ก็ยังคงหยิบของจากนักเรียนคนอื่นๆ ต่อไป ถามว่า

  • ท่านคิดอย่างไรเกี่ยวกับคำขอโทษของนักเรียนคนนี้

  • พฤติกรรมของนักเรียนคนนี้คล้ายกับการพยายามกลับใจอย่างไม่จริงใจอย่างไร

เชิญนักเรียนให้ศึกษา มัทธิว 3 เพื่อมองหาความจริงที่จะช่วยเราเข้าใจว่าเราต้องทำอะไรจริงๆ เพื่อกลับใจ

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง มัทธิว 3:1–4 ขอให้ชั้นเรียนมองหาว่ามีอะไรเกิดขึ้นที่จะช่วยเตรียมคนสำหรับการปฏิบัติศาสนกิจของพระผู้ช่วยให้รอด

  • ยอห์นผู้ถวายบัพติศมาคือใคร (เขาเป็นบุตรของเศคาริยาห์กับเอลีซาเบธ ซึ่งเป็นญาติของมารีย์ เขาถือกุญแจของฐานะปุโรหิตแห่งอาโรน [ดู คพ. 13; 84:27–28])

  • ยอห์นกำลังทำอะไร

  • ยอห์นแนะนำให้ผู้ฟังของเขาทำอะไร

อธิบายว่าพันธกิจของยอห์นได้รับการพยากรณ์ไว้โดยอิสยาห์ (เอซาอัส) และศาสดาพยากรณ์ท่านอื่นๆ (ดู อิสยาห์ 40:3; มาลาคี 3:1; 1 นีไฟ 10:7–10) ยอห์นจะเตรียมทางสำหรับพระเมสสิยาห์ (พระเยซูคริสต์) โดยประกาศการกลับใจและบัพติศมาด้วยน้ำ

  • ท่านคิดว่าการกลับใจและบัพติศมาด้วยน้ำช่วยเตรียมทางของพระเจ้าอย่างไร

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง มัทธิว 3:5-6 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยหาดูว่าคนตอบรับข่าวสารของยอห์นอย่างไร

  • คนตอบรับข่าวสารของยอห์นอย่างไร (เขาสารภาพบาปของตนเองและรับบัพติศมา อธิบายว่าการเต็มใจสารภาพบาปของคนๆ หนึ่งต่อพระบิดาบนสวรรค์และ เมื่อจำเป็น ต่อผู้นำฐานะปุโรหิตที่ได้รับมอบหมายจำเป็นต่อการกลับใจ [ดู แน่วแน่ต่อศรัทธา: ศัพทานุกรมพระกิตติคุณ (2004), 6])

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง มัทธิว 3:7 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยหาดูว่ายอห์นพูดกับใคร

  • ตามที่กล่าวไว้ในข้อเหล่านี้ ยอห์นพูดกับใคร

อธิบายว่าชาวฟาริสีเป็นกลุ่มศาสนาในหมู่ชาวยิวซึ่งชื่อของพวกเขาบ่งบอกถึงการแยกออกมาหรือการแบ่งแยก พวกเขาอวดอ้างตนว่ายึดถือกฎของโมเสสอย่างเคร่งครัดและเชื่อว่าเงื่อนไขที่มนุษย์สร้างขึ้นเพิ่มเติมกฎนั้น หรือที่รู้จักว่าเป็นกฎปากเปล่า สำคัญเท่ากับกฎของโมเสสเอง (ดู คู่มือพระคัมภีร์, “ฟาริสี”) ชาวสะดูสีเป็นชนกลุ่มน้อยแต่เรืองอำนาจทางการเมืองในบรรดาชาวยิว ผู้เชื่อในการเชื่อฟังกฎที่เป็นลายลักษณ์อักษรของโมเสส พวกเขาไม่เชื่อในหลักคำสอนเรื่องการฟื้นคืนชีวิตหรือชีวิตนิรันดร์ (ดู คู่มือพระคัมภีร์, “สะดูสี”)

  • ยอห์นเรียกชาวฟาริสีและชาวสะดูสีว่าอะไร

ภาพ
งูปาเลสไตน์

งูปาเลสไตน์

© taviphoto/Shutterstock.com

หากเป็นไปได้ให้แสดง ภาพ ของงูปาเลสไตน์และอธิบายว่านั่นเป็นงูมีพิษที่พบได้ทั่วไปในอิสราเอล งูพิษเป็นสัตว์ที่ตื่นตอนกลางคืนและโดยปกติจะหากินโดยซ่อนตัวและค่อยเข้าไปจับเหยื่อ เมื่อพวกมันรู้สึกว่าถูกคุกคาม งูจะขดตัว ส่งเสียงขู่ฟ่อ และฉกศัตรูของมัน

  • ท่านคิดว่าเหตุใดยอห์นจึงเรียกชาวฟาริสีและชาวสะดูสีว่าเป็นชาติงูร้าย (ท่านอาจต้องการชี้ให้เห็นว่าชาวฟาริสีและชาวสะดูสีรู้สึกว่าถูกยอห์นคุกคาม เพราะท่านดึงเอาคนหลายคนไปจากอิทธิพลอันชั่วร้ายและคำสอนผิดๆ ของพวกเขา)

อธิบายว่างานแปลของโจเซฟ สมิธมีคำที่ยอห์นพูดกับชาวฟาริสีและชาวสะดูสีเพิ่มเติม เชิญนักเรียนเปิดไปที่ งานแปลของโจเซฟ สมิธ, มัทธิว 3:34-36 (ในคู่มือพระคัมภีร์) (ท่านอาจต้องการอธิบายว่าข้อเหล่านี้เป็นงานแปลของ มัทธิว 3:8–9) ขอให้นักเรียนอ่านออกเสียงข้อเหล่านี้

  • ตามที่ยอห์นกล่าว หากชาวฟาริสีและชาวสะดูสีปฏิเสธการสั่งสอนของเขา พวกเขาจะปฎิเสธใครด้วย

  • ท่านจะสรุปข่าวสารที่ยอห์นมีต่อพวกเขาว่าอย่างไร

เขียนวลี จงเกิดผลให้สมกับการกลับใจ ไว้บนกระดาน

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจวลีนี้ ชี้ให้เห็นว่าในพระคัมภีร์ บางครั้งคนถูกเปรียบเทียบเป็นต้นไม้ที่ผลิตผลดีหรือผลเลว แสดงหรือวาดภาพผลไม้หนึ่งลูกและอธิบายว่านั่นเป็นตัวแทนของความปรารถนาและการกระทำของเรา ท่านอาจต้องการอธิบายว่าวลี “ให้สม” หมายถึง “มีค่าควร”

ทบทวนความจำชั้นเรียนถึงสถานการณ์สมมติที่ท่านขอให้พวกเขาจินตนาการในตอนเริ่มชั้นเรียน (นักเรียนคนหนึ่งหยิบของส่วนตัวจากนักเรียนคนอื่นแล้วยังคงทำต่อไป แม้หลังจากขอโทษแล้ว)

  • นักเรียนคนนั้นได้แสดงออกถึงหลักธรรมแห่งการกลับใจอย่างเหมาะสมผ่านความปรารถนาและการกระทำของเขาหรือไม่ เหตุใดจึงไม่ (นักเรียนคนนั้นยังคงหยิบของจากนักเรียนคนอื่นไปอีกแม้หลังจากการขอโทษ)

  • ท่านจะสรุปอย่างไรว่า “จงเกิด … ผลให้สมกับการกลับใจ“ หมายความว่าอะไร (มัทธิว 3:8) (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่ควรระบุความจริงต่อไปนี้ เราแสดงออกถึงการกลับใจอย่างแท้จริงต่อพระเจ้าเมื่อเราเปลี่ยนความปรารถนาและการกระทำของเรามาทำตามคำสอนของพระองค์)

  • ความปรารถนาและการกระทำอะไรที่แสดงว่าท่านกลับใจจากบาปของท่านอย่างแท้จริง

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจความจริงนี้ ให้เขียนตัวอย่างต่อไปนี้บนกระดาน: การโกงในโรงเรียน ใจร้ายกับพี่น้อง ไม่มีเมตตาหรือแกล้งนักเรียนคนอื่น การใช้ภาษาที่หยาบคาย และ การดูสื่อลามก ขอให้นักเรียนอธิบายว่าคนที่กลับใจจากบาปเหล่านี้แล้วจะคิดหรือปฏิบัติอย่างไร

อ่านออกเสียง มัทธิว 3:10 เชิญนักเรียนที่เหลือให้ดูตาม โดยหาดูผลของการไม่กลับใจอย่างแท้จริง ขอให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ อธิบายว่า “ถูกตัดและโยนทิ้งในกองไฟ” บ่งบอกว่าคนที่ไม่กลับใจจะสูญเสียอิทธิพลจากพระวิญญาณของพระผู้เป็นเจ้าและในท้ายที่สุดไม่มีค่าควรที่จะได้รับพรของอาณาจักรซีเลสเชียล

เชิญให้นักเรียนไตร่ตรองความปรารถนาหรือการกระทำใดๆ ที่พวกเขาอาจต้องเปลี่ยนแปลงเพื่อกลับใจอย่างแท้จริง กระตุ้นให้พวกเขาแสดงการกลับใจอย่างแท้จริงโดยการเปลี่ยนความปรารถนาและการกระทำใดๆ ที่ไม่สอดคล้องกับคำสอนของพระผู้เป็นเจ้า

ให้นักเรียนอ่าน มัทธิว 3:11 ในใจ โดยมองหาสิ่งที่ยอห์นบอกว่าพระผู้ช่วยให้รอดจะทรงทำ

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 11พระเยซูจะทรงทำอะไรที่ยอห์นทำไม่ได้ (พระเยซูจะบัพติศมา “ด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์และด้วยไฟ” อธิบายว่ายอห์นหมายถึงการรับของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ ซึ่งเป็นครึ่งหลังของพันธสัญญาและศาสนพิธีบัพติศมา พระวิญญาณบริสุทธิ์จะทรงชำระและหล่อหลอมจิตวิญญาณของเราประหนึ่งด้วยไฟ [ดู 2 นีไฟ 31:13–14, 17])

สรุป ข้อ 12 โดยอธิบายว่านั่นเป็นการบรรยายโดยใช้สัญลักษณ์ถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับคนชอบธรรมที่ยอมรับพระเยซูคริสต์ (ข้าว) และคนชั่วร้ายที่ปฏิเสธพระองค์ (แกลบ)

มัทธิว 3:13–17

พระเยซูคริสต์ทรงรับบัพติศมา และพระบิดาทรงประกาศว่าพระองค์คือพระบุตรที่รักของพระองค์

ขอให้นักเรียนที่ได้รับบัพติศมาแล้วนึกถึงบัพติศมาของเขาเอง ให้นักเรียนหลายๆ คนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาจำได้

อธิบายว่า มัทธิว 3:13–17 บรรยายถึงบัพติศมาของพระผู้ช่วยให้รอด เชื้อเชิญให้นักเรียนมองหาความคล้ายคลึงกันระหว่างบัพติศมาของพวกเขากับของพระผู้ช่วยให้รอดเมื่อพวกเขาศึกษาข้อเหล่านี้

เขียนคำถามต่อไปนี้บน กระดาน:

โดยใคร

อย่างไร

เพราะเหตุใด

แบ่งนักเรียนออกเป็นคู่ๆ ขอให้นักเรียนแต่ละคู่ผลัดกันอ่านออกเสียงจาก มัทธิว 3:13–17โดยมองหาคำตอบของคำถามสามข้อนี้ หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว ให้ถามว่า

  • ใครให้บัพติศมาพระเยซู (เขียน ยอห์นผู้ถวายบัพติศมา บนกระดานถัดจาก โดยใคร)

  • เหตุใดพระเยซูคริสต์จึงเสด็จจากแคว้นกาลิลีไปที่แม่น้ำจอร์แดนเพื่อทรงรับบัพติศมาจากยอห์นผู้ถวายบัพติศมา (เตือนความจำนักเรียนว่ายอห์นถือกุญแจฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนและเป็นผู้เดียวในตอนนั้นที่มีอำนาจปฏิบัติศาสนพิธีบัพติศมา เขียน อำนาจที่ถูกต้อง บนกระดานถัดจาก ยอห์นผู้ถวายบัพติศมา)

  • วลีใดใน ข้อ 16 ที่ระบุวิธีที่พระเยซูทรงรับบัพติศมา (ให้แน่ใจว่านักเรียนเข้าใจว่าพระเยซูคริสต์ “เสด็จขึ้นจากน้ำ” ทันทีบ่งบอกว่าพระองค์ทรงรับบัพติศมาโดยลงไปในน้ำทั้งตัว—หมายความว่าพระองค์ทรงลงไปในน้ำจนมิด เขียน ลงไปในน้ำทั้งตัว บนกระดานถัดจาก อย่างไร)

ให้นักเรียนจินตนาการว่าพวกเขาอยู่ที่แม่น้ำจอร์แดนเมื่อพระเยซูเสด็จมารับบัพติศมา

  • เพราะเหตุใดยอห์นจึงลังเลที่จะถวายบัพติศมาพระผู้ช่วยให้รอดในทีแรก (เขารู้ว่าตำแหน่งและอำนาจของพระเยซูนั้นยิ่งใหญ่กว่าของเขาเอง)

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 15พระเยซูตรัสว่าเพราะเหตุใดพระองค์ต้องรับบัพติศมา (“ทำความชอบธรรมให้ครบถ้วนทุกประการ” เขียนวลีนี้บนกระดานถัดจาก เพราะเหตุใด)

  • ท่านคิดว่าวลีดังกล่าวหมายถึงอะไร

อธิบายว่า “ทำความชอบธรรมให้ครบถ้วนทุกประการ” หมายถึงการทำทุกอย่างที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงกำหนดให้เราทำเพื่อเราจะได้อยู่กับพระองค์อีกครั้ง นี่รวมถึงการรับศาสนพิธีแห่งความรอด ซึ่งพระผู้เป็นเจ้าทรงกำหนดให้บุตรธิดาทุกคนของพระองค์ทำ รวมถึงพระเยซูคริสต์ โดยการรับบัพติศมา พระเยซูคริสต์ทรงวางแบบอย่างที่ดีพร้อมเพื่อให้เราทำตาม ทรงแสดงความนอบน้อมถ่อมตน ทรงเชื่อฟังพระบัญญัติของพระบิดา และรับศาสนพิธีที่จำเป็นเพื่อได้รับชีวิตนิรันดร์ (ดู 2 นีไฟ 31:4–11)

ขอให้นักเรียนใช้คำตอบของคำถามสามข้อบนกระดานมาระบุหลักคำสอนที่เราสามารถเรียนรู้จาก มัทธิว 3:13–17 นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่พวกเขาควรระบุหลักคำสอนต่อไปนี้ บัพติศมาโดยการลงไปในน้ำทั้งตัวโดยผู้มีสิทธิอำนาจที่จำเป็นต่อความรอด

  • บัพติศมาของท่านเปรียบเทียบกับแบบอย่างที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงวางไว้ให้เราอย่างไร

อธิบายว่า มัทธิว 3:16–17 ช่วยให้เราเรียนรู้หลักคำสอนเกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้าสามพระองค์ด้วย ให้นักเรียนอ่านข้อเหล่านี้ในใจอีกครั้ง ขณะมองหาสิ่งที่ข้อเหล่านี้สอนเกี่ยวกับพระบิดา พระบุตร และพระวิญญาณบริสุทธิ์

  • สมาชิกแต่ละองค์ในพระผู้เป็นเจ้าสามพระองค์ประทับอยู่ที่ใดระหว่างการบัพติศมาของพระผู้ช่วยให้รอด (พระเยซูคริสต์ประทับอยู่ที่แม่น้ำจอร์แดน พระวิญญาณบริสุทธิ์เสด็จลงมาบนพระองค์ดุจนกพิราบ และพระบิดาบนสวรรค์ตรัสจากฟ้าสวรรค์ ท่านอาจอธิบายว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์ไม่ได้แปลงกายเป็นนกพิราบจริงๆ แต่นกพิราบเป็นเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์เสด็จลงมาบนพระเยซู)

  • ข้อเหล่านี้สอนอะไรเราเกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้าสามพระองค์ (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่ควรระบุหลักคำสอนต่อไปนี้ พระบิดา พระบุตร และพระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นพระสัตภาวะที่แยกกันสามพระองค์)

ชี้ให้เห็นว่ามีหลายคนที่ไม่ได้มีความรู้ที่ถูกต้องหรือสมบูรณ์เกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้าสามพระองค์ ยิ่งเราเข้าใจพระลักษณะที่แท้จริงของพระผู้เป็นเจ้าสามพระองค์มากเท่าใด เรายิ่งจะรู้สึกถึงความรักที่เรามีต่อทั้งสามพระองค์มากขึ้นเท่านั้น และเราจะได้รับการเตรียมเพื่อสอนและเป็นพยานถึงพระองค์ต่อผู้อื่นได้ดีขึ้น

เพื่อช่วยให้นักเรียนได้รับความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับอัตลักษณ์ของสมาชิกแต่ละองค์ในพระผู้เป็นเจ้าสามพระองค์ แบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่มๆ ละสามคนและขอให้พวกเขาเปิดอ่าน “พระผู้เป็นเจ้า” ในคู่มือพระคัมภีร์ ในแต่ละกลุ่ม มอบหมายสมาชิกองค์หนึ่งในพระผู้เป็นเจ้าสามพระองค์ให้นักเรียนแต่ละคนในสามคน เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่านข้อมูล โดยมองหาข้อมูลที่เกี่ยวกับสมาชิกองค์ที่พวกเขาได้รับมอบหมาย หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว ขอให้นักเรียนสอนสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้กับกลุ่มของพวกเขาและอธิบายว่าเพราะเหตุใดความจริงเหล่านั้นจึงสำคัญสำหรับเราที่จะรู้

เพื่อสรุปบทเรียน ท่านอาจต้องการเชิญนักเรียนให้แบ่งปันประจักษ์พยานของพวกเขาถึงพระบิดา พระบุตร และพระวิญญาณบริสุทธิ์กับชั้นเรียน

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

มัทธิว 3:11 “พระองค์จะทรงให้พวกท่านรับบัพติศมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์และด้วยไฟ”

เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายว่าการรับบัพติศมาด้วยไฟหมายความว่าอย่างไร

“เราได้รับพระบัญชาและคำแนะนำให้ดำเนินชีวิตเพื่อเปลี่ยนธรรมชาติแห่งการตกของเราผ่านอำนาจในการชำระให้บริสุทธิ์ของพระวิญญาณบริสุทธิ์ ประธานแมเรียน จี. รอมนีย์สอนว่าการบัพติศมาด้วยไฟโดยพระวิญญาณบริสุทธิ์ ‘เปลี่ยน [เรา] จากตัณหาราคะสู่ความเข้มแข็งทางวิญญาณ สิ่งนี้ทำความสะอาด เยียวยา และชำระจิตวิญญาณ … ศรัทธาในพระเจ้า พระเยซูคริสต์ การกลับใจ และน้ำแห่งบัพติศมาคือสิ่งแรกและสิ่งที่ต้องทำก่อน [บัพติศมาด้วยไฟ] เป็นการทำให้สมบูรณ์ การรับ [บัพติศมาด้วยไฟนี้] คือการทำอาภรณ์ของคนให้สะอาดในพระโลหิตแห่งการชดใช้ของพระเยซูคริสต์’ (Learning for the Eternities, comp. George J. Romney [1977], 133; ดู 3 นีไฟ 27:19–20ด้วย)

“ดังนั้น เมื่อเราเกิดใหม่และพยายามจะมีพระวิญญาณของพระองค์สถิตอยู่กับเราเสมอ พระวิญญาณบริสุทธิ์จะทรงชำระและหล่อหลอมจิตวิญญาณของเราประหนึ่งด้วยไฟ (ดู 2 นีไฟ 31:13–14, 17) ในที่สุด เราจะยืนอย่างไม่มีมลทินต่อพระพักตร์พระผู้เป็นเจ้า” (ดู “มือสะอาดและใจบริสุทธิ์,” เลียโฮนา, พ.ย. 2007, หน้า 103)

มัทธิว 3:12 “พลั่วของใครอยู่ในพระหัตถ์ของพระองค์”

“ ‘พลั่ว’ ที่กล่าวถึงใน มัทธิว 3:12 เป็นพลั่วร่อนข้าวที่ใช้สำหรับฝัดข้าวไปในอากาศ สิ่งนี้ทำให้ข้าวแยกออกจากแกลบ เมล็ดข้าวจะตกลงไปที่พื้นในขณะที่ลมจะพัดเอาแกลบที่เบากว่าออกไป จากนั้นข้าวจะถูกรวบรวมเก็บไว้ในยุ้ง หรือในฉาง และแกลบจะถูกเผาด้วยไฟ ยอห์นผู้ถวายบัพติศมาสอนว่าพระผู้ช่วยให้รอด ผู้เสด็จมาทีหลัง จะแยกผู้เชื่อออกจากผู้ไม่เชื่อในวิธีเดียวกับที่ข้าวถูกแยกออกจากแกลบ (New Testament Student Manual [คู่มือของระบบการศึกษาศาสนจักร, 2014], 17)

มัทธิว 3:16 สัญลักษณ์ของนกพิราบ

ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธอธิบายว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์ไม่ได้ปรากฎเป็นนกพิราบหลังจากบัพติศมาของพระเยซูคริสต์ แต่นกพิราบที่ลงมาเป็นเครื่องแสดงว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์ประทับอยู่ ณ เวลานั้น โจเซฟ สมิธ สอนดังนี้

“สัญลักษณ์ของนกพิราบถูกกำหนดไว้ก่อนการสร้างโลก เป็นพยานให้กับพระวิญญาณบริสุทธิ์ และมารมาในสัญลักษณ์ของนกพิราบไม่ได้ พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงเป็นพระบุคคล อยู่ในร่างบุคคล ไม่ได้จำกัดอยู่ใน รูป ของนกพิราบ แต่ใน สัญลักษณ์ ของนกพิราบ พระวิญญาณบริสุทธิ์เปลี่ยนเป็นนกพิราบไม่ได้ แต่ประทานสัญลักษณ์ของนกพิราบแก่ยอห์นเพื่อแสดงถึงความจริงของการปฏิบัติ ในฐานะที่นกพิราบเป็นเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ของความจริงและความบริสุทธิ์” (คำสอนของประธานศาสนจักร: โจเซฟ สมิธ [2007], 81)

มัทธิว 3:13–17 พระบิดา พระบุตร และพระวิญญาณบริสุทธิ์ เป็นพระสัตภาวะที่แยกกันสามพระองค์

เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายว่าสมาชิกของพระผู้เป็นเจ้าสามพระองค์ทรงเป็นหนึ่งเดียวแต่เป็นพระสัตภาวะที่แยกกันด้วยดังนี้

“เราเชื่อว่าพระผู้เป็นเจ้าทั้งสามนี้ประกอบเป็นพระผู้เป็นเจ้าสามพระองค์รวมกันและเป็นหนึ่งเดียวกันในจุดประสงค์ พระลักษณะ ประจักษ์พยาน และพันธกิจ … เราเชื่อว่าพระองค์ทรงเป็นหนึ่งเดียวกันในทุกแง่มุมที่สำคัญและเป็นนิรันดร์ในมโนภาพของเรา ยกเว้น การเชื่อว่าพระองค์ทรงเป็นสามพระบุคคลที่รวมกันเป็นหนึ่งแก่นสาร เป็นความเชื่อเรื่องตรีเอกานุภาพซึ่งไม่เคยมีสอนในพระคัมภีร์เพราะไม่ใช่เรื่องจริง” (“พระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียวและพระเยซูคริสต์ที่พระองค์ทรงใช้มา” เลียโฮนา, พ.ย. 2007, 40)

เอ็ลเดอร์ฮอลแลนด์อธิบายต่อไปอีกว่าสาเหตุหนึ่งของความสับสนเกี่ยวกับพระลักษณะของพระผู้เป็นเจ้าสามพระองค์คือระหว่างการละทิ้งความเชื่อครั้งใหญ่ “คนนับถือศาสนา นักปราชญ์ และผู้นำทางศาสนา”อภิปรายกันในเรื่องธรรมชาติของพระผู้เป็นเจ้าสามพระองค์และในที่สุดตัดสินว่าพระผู้เป็นเจ้าไม่เป็นที่รู้จัก และไม่สามารถเป็นที่เข้าใจได้ (ดู “พระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียวและพระเยซูคริสต์ที่พระองค์ทรงใช้มา” 40–41)