คลังค้นคว้า
บทที่ 87: กิจการของอัครทูต 8


บทที่ 87

กิจการของอัครทูต 8

คำนำ

การข่มเหงศาสนจักรในเยรูซาเล็มส่งผลให้สมาชิกของศาสนจักรกระจัดกระจายไปทั่วแคว้นยูเดียและแคว้นสะมาเรีย ฟิลิปปฏิบัติศาสนกิจในแคว้นสะมาเรียซึ่งคนจำนวนมากยอมรับพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ หลังจากเปโตรและยอห์นมอบของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ให้ผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสใหม่แล้ว นักเล่นคาถาอาคมคนหนึ่งชื่อซีโมนพยายามจะซื้อฐานะปุโรหิต ต่อมาพระผู้เป็นเจ้าทรงนำฟีลิปไปหาข้าราชการชาวเอธิโอปผู้ที่ฟีลิปสอนเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์และให้บัพติศมา

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

กิจการของอัครทูต 8:1–25

ฟิลิปปฏิบัติศาสนกิจในแคว้นสะมาเรีย ที่ซึ่งซีโมนนักเล่นคาถาอาคมพยายามจะซื้อฐานะปุโรหิต

ให้นักเรียนดูเงินจำนวนหนึ่ง ขอให้นักเรียนจินตนาการว่าพวกเขาได้รับเงินจำนวนมาก

  • ท่านจะใช้เงินนั้นซื้ออะไรบ้าง

ชี้ให้เห็นว่าบางคนเชื่อว่าเงินสามารถซื้ออะไรก็ได้ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่มีค่าที่สุดบางสิ่งในชีวิตไม่สามารถซื้อได้ เมื่อพวกเขาศึกษา กิจการของอัครทูต 8 เชื้อเชิญให้นักเรียนมองหาของประทานจากพระผู้เป็นเจ้าที่ไม่สามารถซื้อได้

เตือนนักเรียนว่าใน กิจการของอัครทูต 7 เราเรียนรู้เกี่ยวกับมรณกรรมของสานุศิษย์สเทเฟนด้วยเงื้อมมือของผู้ข่มเหง เชื้อเชิญนักเรียนหลายๆ คนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก กิจการของอัครทูต 8:1–5 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่สมาชิกศาสนจักรทำอันเป็นผลมาจากการข่มเหงศาสนจักรในเยรูซาเล็ม ท่านอาจต้องการอธิบายว่า ฉุดลาก (กิจการของอัครทูต 8:3) หมายถึงลากหรือดึง

  • การข่มเหงทำให้สมาชิกศาสนจักรทำอะไร

ดึงความสนใจของนักเรียนไปที่ชื่อ ฟีลิป ใน ข้อ 5 เตือนนักเรียนว่าฟีลิปเป็นหนึ่งในสานุศิษย์เจ็ดคนที่ได้รับแต่งตั้งเพื่อช่วยอัครสาวกสิบสองในการปฏิบัติต่อความต้องการของสมาชิกศาสนจักร (ดู กิจการของอัครทูต 6:5) ขอให้นักเรียนเปิดไปดูเอกสารแจก “สาระโดยสังเขปของกิจการของอัครทูต” (ดูภาคผนวกของคู่มือนี้) และหางานมอบหมายของพระผู้ช่วยให้รอดดังที่บันทึกใน กิจการของอัครทูต 1:8

  • ตามที่กล่าวไว้ใน กิจการของอัครทูต 8:5 ฟีลิปเริ่มทำให้งานมอบหมายของพระผู้ช่วยให้รอดเกิดสัมฤทธิผลอย่างไร

เชื้อเชิญให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง กิจการของอัครทูต 8:6–8 ขอให้นักเรียนที่เหลือดูตาม โดยมองหาว่าชาวสะมาเรียตอบสนองต่อการสั่งสอนของฟิลิปอย่างไร

  • ชาวสะมาเรียเหล่านี้ตอบสนองต่อการสั่งสอนของฟิลิปอย่างไร

  • นอกเหนือจากการสั่งสอนพระกิตติคุณ ฟิลิปทำงานอะไรอีก

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง กิจการของอัครทูต 8:9–11 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและมองหาคำบรรยายถึงชาวสะมาเรียที่ชื่อซีโมน

  • เราเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับซีโมนจากข้อเหล่านี้ (อธิบายว่า “การใช้อำนาจที่ได้มาจากความช่วยเหลือหรือการควบคุมของวิญญาณที่ชั่วร้ายเรียกว่า คาถาอาคม” [บรูซ อาร์. แมคคองกี, Doctrinal New Testament Commentary, 3 vols. (1965–1973), 2:82])

  • ซีโมนมีอิทธิพลใดต่อผู้คน

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง กิจการของอัครทูต 8:12–13 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าซีโมนตอบสนองต่อการสั่งสอนของฟีลิปอย่างไร ขอให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 13 ซีโมนได้รับผลจาก “หมายสำคัญกับการอัศจรรย์” ที่เขาเห็นอย่างไร

สรุป กิจการของอัครทูต 8:14–16 โดยอธิบายว่าเปโตรและยอห์นมาที่แคว้นสะมาเรียหลังจากได้ยินว่าผู้คนที่นั่นยอมรับพระคำของพระผู้เป็นเจ้า พวกเขาสวดอ้อนวอนว่าชาวสะมาเรียที่เปลี่ยนใจเลื่อมใสจะรับของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์

ขอให้นักเรียนอ่าน กิจการของอัครทูต 8:17 ในใจ โดยมองหาสิ่งที่เปโตรและยอห์นทำเพื่อสมาชิกศาสนจักรใหม่ในแคว้นสะมาเรีย

  • เราสามารถเรียนรู้อะไรจากเรื่องราวนี้เกี่ยวกับวิธีการมอบของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ (หลังจากนักเรียนตอบแล้ว ให้เขียนหลักคำสอนต่อไปนี้บนกระดาน ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตที่มีสิทธิอำนาจวางมือมอบของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์หลังจากบัพติศมา)

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง กิจการของอัครทูต 8:18–19 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่ซีโมนเสนอให้กับเปโตร

  • ซีโมนเสนออะไรให้กับเปโตร

ให้นักเรียนดูเงินที่ท่านนำมาให้ดูเมื่อเริ่มต้นบทเรียน เชื้อเชิญให้นักเรียนพิจารณาว่าพวกเขาจะตอบซีโมนอย่างไรถ้าพวกเขาเป็นเปโตร

เชื้อเชิญนักเรียนหลายๆ คนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก กิจการของอัครทูต 8:20–24 ขอให้นักเรียนที่เหลือดูตาม โดยมองหาสิ่งที่เปโตรสอนซีโมนเกี่ยวกับการได้รับฐานะปุโรหิต

  • เปโตรสอนอะไรซีโมนเกี่ยวกับฐานะปุโรหิต ดังที่บันทึกใน ข้อ 20

  • เมื่อเขาเสนอเงินให้อัครสาวกเพื่อแลกกับการได้รับฐานะปุโรหิต ซีโมนไม่เข้าใจอะไรเกี่ยวกับฐานะปุโรหิต (เพราะฐานะปุโรหิตเป็นของพระผู้เป็นเจ้า จึงสามารถมอบให้ตามพระประสงค์ของพระองค์เท่านั้น พระผู้เป็นเจ้าทรงกำหนดวิธีที่จะได้ฐานะปุโรหิต)

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 21–23 เหตุใดซีโมนจึงยังรับฐานะปุโรหิตไม่ได้ ท่านคิดว่าใจของซีโมน “ไม่ซื่อตรงต่อพระเจ้า” ในทางใดบ้าง (ข้อ 21)

  • เราสามารถเรียนรู้อะไรจากเรื่องราวนี้เกี่ยวกับการรับฐานะปุโรหิต (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่ให้แน่ใจว่าพวกเขาระบุความจริงต่อไปนี้ ฐานะปุโรหิตมอบให้ตามพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าและมาตรฐานของความมีค่าควร เขียนความจริงนี้ไว้บนกระดาน)

  • ท่านคิดว่าเหตุใดจึงสำคัญที่จะรู้ว่าฐานะปุโรหิตมอบให้บุคคลตามพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าและมาตรฐานของตวามมีค่าควรเท่านั้น

สรุป กิจการของอัครทูต 8:25 โดยอธิบายว่าเปโตรและยอห์นสั่งสอนพระกิตติคุณในหมู่บ้านสะมาเรียหลายหมู่บ้าน

กิจการของอัครทูต 8:26–40

ฟีลิปสอนและให้บัพติศมาข้าราชการชาวเอธิโอป

ขอให้นักเรียนนึกถึงสถานการณ์ที่พวกเขาเคยต้องการหรือจะต้องการบางคนนำทางพวกเขา

  • ในสถานการณ์ใดบ้างที่ท่านอาจเป็นผู้นำทางให้คนอื่นได้ (ท่านอาจเชื้อเชิญให้นักเรียนนึกถึงจุดหมายปลายทางหรือเรื่องที่พวกเขามีความรู้หรือพรสวรรค์ที่พวกเขาพัฒนา)

เมื่อนักเรียนศึกษาส่วนที่เหลือใน กิจการของอัครทูต 8 เชื้อเชิญให้พวกเขามองหาวิธีที่พวกเขาสามารถนำทางผู้อื่น

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง กิจการของอัครทูต 8:26–28 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าเหตุใดฟีลิปจีงไปที่กาซา

  • เหตุใดฟีลิปจึงไปที่กาซา

  • ใครกำลังเดินทางในพื้นที่ซึ่งฟีลิปอยู่ที่นั่นเช่นกัน (ขันทีชาวเอธิโอป อธิบายว่าขันทีเป็นข้าราชการในราชสำนักของกษัตริย์หรือราชินี [ดู Bible Dictionary, Eunuch])

  • ข้าราชการชาวเอธิโอปกำลังทำอะไรในรถม้าของเขา (กำลังอ่านหนังสือของเอซาอัส หรือคำของอิสยาห์)

วางเก้าอี้สองตัวหันหน้าเข้าหากันที่หน้าห้อง ขออาสาสมัครสองคนให้ออกมาแสดงบทบาทของข้าราชการชาวเอธิโอปและฟิลิปในเรื่องราวต่อไปนี้ (ท่านอาจต้องการมอบหมายบทบาทเหล่านี้ก่อนชั้นเรียนและให้นักเรียนเตรียมแสดงส่วนของพวกเขา) ขอให้นักเรียนที่แสดงเป็นข้าราชการชาวเอธิโอปนั่งบนเก้าอี้ตัวหนึ่งและนักเรียนที่แสดงเป็นฟีลิปยืนข้างๆ ประตู เชื้อเชิญนักเรียนคนที่สามให้สวมบทบาทของผู้บรรยาย

ขอให้นักเรียนเหล่านี้อ่านออกเสียงจาก กิจการของอัครทูต 8:29–39 และแสดงบทบาทของตนเองตามลำดับ ขอให้ชั้นเรียนมองดูสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างฟีลิปกับข้าราชการชาวเอธิโอป ขณะที่นักเรียนอ่านและแสดงตามบทบาทของพวกเขา ให้ทำดังนี้

  1. หลังจากที่ผู้บรรยายอ่าน ข้อ 32–33 เชื้อเชิญให้นักเรียนเขียน อิสยาห์ 53:7–8 เป็นข้ออ้างโยงในพระคัมภีร์ของพวกเขาข้างๆ กิจการของอัครทูต 8:32–33

  2. หลังจากที่ผู้บรรยายอ่าน ข้อ 35 ขอให้นักเรียนที่แสดงบทบาทของฟิลิปอธิบายต่อชั้นเรียนว่าเขาจะสอนเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดในสถานการณ์นี้ (ท่านอาจต้องการเชื้อเชิญชั้นเรียนให้เสนอแนะเช่นกัน)

  3. เมื่อผู้บรรยายอ่าน ข้อ 38 ให้บอกอาสาสมัครว่าไม่ต้องทำท่าบัพติศมา

หลังจากอาสาสมัครทำกิจกรรมนี้เสร็จ ขอบคุณพวกเขาและเชิญพวกเขากลับไปนั่ง

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 29 เหตุใดฟีลิปจึงไปที่รถม้าของข้าราชการชาวเอธิโอป

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 31 ข้าราชการคนนี้พูดว่าเขาต้องการอะไรเพื่อเข้าใจงานเขียนของอิสยาห์

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 35–38 ฟีลิปเป็นคนนำทางให้ข้าราชการอย่างไร

  • เราเรียนรู้หลักธรรมอะไรจากประสบการณ์ของฟีลิปเกี่ยวกับผลของการฟังการกระตุ้นเตือนจากพระผู้เป็นเจ้า (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่ให้แน่ใจว่าเป็นที่ชัดเจนว่า เมื่อเราฟังการกระตุ้นเตือนจากพระผู้เป็นเจ้า เราจะได้รับโอกาสที่จะช่วยนำทางผู้อื่นมาหาพระเยซูคริสต์ เขียนหลักธรรมนี้ไว้บนกระดาน)

จัดเตรียม สำเนา เอกสารแจกต่อไปนี้ให้นักเรียน เชื้อเชิญให้นักเรียนทำตามคำแนะนำในเอกสารแจกและนึกถึงวิธีที่พวกเขาจะช่วยนำทางผู้อื่นมาหาพระเยซูคริสต์ อธิบายว่าพวกเขาจะมีโอกาสแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเขียนกับชั้นเรียน

ภาพ
เอกสารแจก

นำทางผู้อื่นมาหาพระเยซูคริสต์

คู่มือครูเซมินารี พันธสัญญาใหม่—บทที่ 87

เลือกสถานการณ์สมมติต่อไปนี้หนึ่งสถานการณ์

  • เยาวชนชายคนหนึ่งที่ท่านเป็นเพื่อนด้วยอยู่โบสถ์คริสต์อีกที่หนึ่ง วันหนึ่งระหว่างอาหารกลางวัน ท่านรู้สึกได้รับการกระตุ้นเตือนให้พูดกับเขาเกี่ยวกับศาสนจักร

  • ขณะเดินทางจากโรงเรียนกลับบ้าน ท่านเห็นเยาวชนหญิงคนหนึ่งกำลังร้องไห้ ท่านจำได้ว่าเธอเป็นสมาชิกคนหนึ่งของวอ์ดท่านและเธอไม่ได้เข้าร่วมการประชุมของศาสนจักรหลายปีแล้ว ท่านได้รับการกระตุ้นเตือนให้พูดกับเธอ เมื่อท่านพยายามปลอบโยนเธอ เธอเล่าปัญหาของเธอให้ฟังและถามว่า “ทำไมฉันจึงไม่มีความสุข”

  • มารดาของเยาวชนชายที่ท่านเป็นเพื่อนกันทางสื่อสังคมพึ่งสิ้นชีวิตไปไม่นาน ท่านรู้สึกได้รับการกระตุ้นเตือนให้ตอบสิ่งที่เขาเขียนล่าสุดว่า “รู้สึกเดียวดายตอนนี้ หวังว่าจะมีใครสักคนเข้าใจ”

ข้างหลังกระดาษแผ่นนี้หรือในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของท่าน เขียนสิ่งที่ท่านจะพูดและทำเพื่อช่วยนำทางให้บุคคลนี้มาหาพระเยซูคริสต์ ในคำบรรยายของท่าน ให้รวมเอาคำตอบของคำถามต่อไปนี้ลงไปด้วย

  • ความจริงของพระกิตติคุณเรื่องใดที่ท่านจะแบ่งปันเพื่อช่วยนำทางให้บุคคลนี้มาหาพระเยซูคริสต์

  • พระคัมภีร์ข้อใดที่ท่านอาจเชื้อเชิญให้บุคคลนี้ศึกษา

  • ท่านจะเชื้อเชิญให้บุคคลนี้ทำอะไร

หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว แบ่งนักเรียนออกเป็นคู่ เชื้อเชิญให้นักเรียนอธิบายสิ่งที่พวกเขาเขียนและสาเหตุที่พวกเขาจะใช้วิธีนั้นกับคู่ของพวกเขา จากนั้น เชื้อเชิญให้นักเรียนหลายๆ คนอธิบายสิ่งที่พวกเขาเขียนกับชั้นเรียนทั้งหมด ท่านอาจเชื้อเชิญนักเรียนที่เลือกหนึ่งในสองสถานการณ์สมมติแรกให้แสดงบทบาทสมมติถึงสิ่งที่พวกเขาจะพูดและทำในสถานการณ์เหล่านี้ โดยให้ท่านแสดงเป็นคนที่พวกเขาพยายามช่วย (หากท่านทำเช่นนั้น ให้เวลานักเรียนเตรียมตัวหนึ่งนาทีก่อนที่จะเชื้อเชิญให้พวกเขาออกมาแสดงบทบาทในสถานการณ์สมมติกับท่าน) จากนั้นให้ถามคำถามต่อไปนี้กับชั้นเรียน

  • ท่านเคยช่วยนำทางบางคนมาหาพระเยซูคริสต์เมื่อใดและอย่างไร

  • บางคนเคยช่วยนำทางท่านมาหาพระเยซูคริสต์เมื่อใดและอย่างไร

กระตุ้นให้นักเรียนฟังการกระตุ้นเตือนจากพระผู้เป็นเจ้าเพื่อว่าพวกเขาจะได้รับการนำไปสู่บุคคลที่พวกเขาสามารถช่วยนำทางมาหาพระเยซูคริสต์ได้ เชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองสิ่งที่พวกเขาทำได้ในสองสามวันข้างหน้าเพื่อช่วยนำทางบางคนที่พวกเขารู้จักมาหาพระเยซูคริสต์ กระตุ้นให้นักเรียนกลับมารายงานสิ่งที่พวกเขาประสบกับชั้นเรียน

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

กิจการของอัครทูต 8:18–23 การได้มาและการใช้ฐานะปุโรหิต

ประธานเจมส์ อี. เฟาสท์แห่งฝ่ายประธานสูงสุดอธิบายว่าวิธีได้รับอำนาจฐานะปุโรหิตแตกต่างจากวิธีที่ได้รับอำนาจทางโลก ดังนี้

“อำนาจฐานะปุโรหิตซึ่งเป็นอำนาจที่ยิ่งใหญ่เหนือทุกสิ่งนี้ ไม่สามารถได้รับในลักษณะเดียวกันกับอำนาจของโลก ไม่สามารถซื้อหรือขายอำนาจนี้ได้ … พวกท่านหลายคนเคยดูและชื่นชมนักกีฬาที่เก่งๆ รวมทั้งผู้คนที่มั่งคั่งมีชื่อเสียง มีอำนาจทางการเมืองและทางทหาร บ่อยครั้งที่อำนาจทางโลกจะใช้โดยปราศจากความเมตตา อย่างไรก็ตาม อำนาจฐานะปุโรหิตจะใช้โดยผ่านหลักธรรมแห่งความชอบธรรมเท่านั้น ซึ่งหลักธรรมดังกล่าวเป็นหลักธรรมที่ควบคุมฐานะปุโรหิต” (“พลังของฐานะปุโรหิต,” เลียโฮนา, ก.ค. 1997, 52)

ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ กล่าวว่า

“ความมีค่าควรส่วนตัวเป็นคุณสมบัติมาตรฐานในการได้รับและใช้อำนาจศักดิ์สิทธิ์นี้” (Personal Worthiness to Exercise the Priesthood, May 2002, 52)

กิจการของอัครทูต 8:27–38 การนำทางผู้อื่นมาหาพระเยซูคริสต์

เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนเกี่ยวกับความสำคัญของการช่วยนำทางผู้อื่นมาหาพระผู้ช่วยให้รอด

“สำหรับเราแต่ละคน การ ‘มาหาพระคริสต์’ [คพ. 20:59] การรักษาพระบัญญัติ และการทำตามแบบอย่างของพระองค์เพื่อกลับไปหาพระบิดาเป็นจุดประสงค์สูงสุดและศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในการดำรงอยู่ของมนุษย์ การช่วยให้ผู้อื่นทำเช่นเดียวกัน—สอน ชักชวน และนำพวกเขาร่วมกับการสวดอ้อนวอนให้เดินไปตามเส้นทางแห่งการไถ่—จะต้องเป็นภารกิจสำคัญที่สุดอันดับสองในชีวิตเราโดยแน่แท้ บางทีนี่อาจเป็นสาเหตุที่ประธานเดวิด โอ. แมคเคย์กล่าวไว้ว่า ‘ไม่มีความรับผิดชอบใดที่ตกอยู่กับชาย [หรือหญิง] จะยิ่งใหญ่กว่าการเป็นครูสอนบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้า’ [ใน Conference Report, Oct. 1916, 57]” (ดู “ครูที่มาจากพระเจ้า,” เลียโฮนา, ก.ค. 1998, 28)