คลังค้นคว้า
บทที่ 84: กิจการของอัครทูต 3


บทที่ 84

กิจการของอัครทูต 3

คำนำ

ที่ประตูพระวิหาร เปโตร พร้อมด้วยยอห์นรักษาชายคนหนึ่งที่เป็นง่อยมาตั้งแต่เกิด จากนั้นเปโตรสอนผู้คนที่ได้เห็นการรักษาชายผู้นี้ เขาเป็นพยานถึงพระเยซูคริสต์ เชื้อเชิญให้พวกเขากลับใจและพยากรณ์ถึงการฟื้นฟูพระกิตติคุณในยุคสุดท้าย

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

กิจการของอัครทูต 3:1–11

เปโตรและยอห์นรักษาชายคนหนึ่งที่เป็นง่อยมาตั้งแต่เกิด

เชื้อเชิญให้นักเรียนนึกถึงเวลาที่พวกเขาขอบางอย่างที่เจาะจง (อาจเป็นของขวัญวันเกิดหรือวันคริสต์มาส) แต่ได้รับสิ่งอื่นแทน ขอให้นักเรียนสองสามคนแบ่งปันประสบการณ์ของตนเองและอธิบายว่าพวกเขารู้สึกอย่างไรที่ไม่ได้รับสิ่งที่พวกเขาต้องการ

  • เราจะเปรียบเทียบประสบการณ์เหล่านี้กับการแสวงหาพรจากพระบิดาบนสวรรค์ผ่านการสวดอ้อนวอนได้อย่างไร (บางครั้งพระบิดาบนสวรรค์ไม่ทรงตอบคำสวดอ้อนวอนของเราในวิธีที่เราคาดหวังหรือประทานพรที่เราขอ)

ขอให้นักเรียนไตร่ตรองประสบการณ์ที่พวกเขาไม่ได้รับคำตอบหรือพรจากพระบิดาบนสวรรค์ที่พวกเขาคาดหวัง

เชื้อเชิญให้ชั้นเรียนมองหาหลักธรรมเมื่อพวกเขาศึกษา กิจการของอัครทูต 3 ซึ่งจะช่วยพวกเขาเมื่อพวกเขาไม่ได้รับคำตอบหรือพรที่พวกเขาคาดหวังจากพระเจ้า

เชื้อเชิญให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง กิจการของอัครทูต 3:1–3 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาคนที่เปโตรและยอห์นพบที่ประตูพระวิหาร

  • เปโตรและยอห์นพบใครที่ประตูพระวิหาร

  • ชายคนนี้ “ขอทาน” หมายความว่าอย่างไร (ข้อ 3) (ท่านอาจต้องการอธิบายว่า ทาน เป็นสิ่งที่คนบริจาคให้คนจน)

ชี้ให้เห็นว่าเราเรียนรู้จาก กิจการของอัครทูต 4:22 ว่าชายที่เป็นง่อยมีอายุมากกว่า 40 ปี

  • เมื่อพิจารณาว่าชายคนนี้ไม่สามารถเดินได้มา 40 ปี สภาพขาของชายง่อยน่าจะเป็นอย่างไร

เชื้อเชิญให้ชั้นเรียนพิจารณาว่าจะรู้สึกอย่างไรหากพวกเขาเป็นชายคนนี้

  • อะไรคือวิธีทั่วๆ ไปที่ผู้คนอาจตอบสนองต่อคนที่เป็นแบบชายคนนี้

เชื้อเชิญให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง กิจการของอัครทูต 3:4–7 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่เปโตรทำให้ชายคนนี้

  • เปโตรทำอะไรให้ชายคนนี้

  • มีอะไรโดดเด่นสำหรับท่านเกี่ยวกับการกระทำและคำพูดของเปโตร

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง กิจการของอัครทูต 3:8 ขอให้ชั้นเรียนมองหาสิ่งที่ชายคนนี้ทำหลังจากเปโตรได้ “พยุงขึ้น” (ข้อ 7)

  • ชายคนนี้ทำอะไรหลังจากเปโตรได้ “พยุงขึ้น”

  • พรที่ชายคนนี้ได้รับยิ่งใหญ่กว่าทานที่เขาขอในตอนแรกในทางใดบ้าง

กระตุ้นให้นักเรียนนึกถึงประสบการณ์ซึ่งพวกเขาได้รับคำตอบหรือพรจากพระบิดาบนสวรรค์ที่แตกต่างจากคำตอบหรือพรที่พวกเขาคาดหวังไว้

  • เราสามารถเรียนรู้ความจริงอะไรจาก กิจการของอัครทูต 3:1–8 ที่สามารถช่วยเราเมื่อเราไม่ได้รับคำตอบหรือพรที่เราคาดหวังจากพระบิดาบนสวรรค์ (นักเรียนอาจใช้ คำพูด ต่างกันแต่ควรระบุความจริงต่อไปนี้ พระบิดาบนสวรรค์อาจไม่ทรงตอบคำสวดอ้อนวอนของเราในวิธีที่เราต้องการหรือคาดหวังให้พระองค์ตอบ แต่คำตอบของพระองค์เป็นไปเพื่อประโยชน์ที่ดียิ่งกว่าของเราเสมอ เขียนความจริงต่อไปนี้บนกระดานและท่านอาจเชื้อเชิญให้นักเรียนเขียนไว้ช่องว่างริมหน้าหน้าพระคัมภีร์ของพวกเขาข้าง ข้อ 6)

  • พระบิดาบนสวรรค์อาจทรงตอบคำสวดอ้อนวอนของเราต่างจากที่เราต้องการหรือคาดหวังจากพระองค์อย่างไร (ยกตัวอย่างเช่น พระองค์อาจประทานความเข้มแข็งเพื่ออดทนต่อการทดลองแทนที่จะกำจัดการทดลอง หรือพระองค์อาจประทานปัญญาให้เราเพื่อช่วยเราแก้ไขปัญหาแทนที่จะแก้ปัญหานั้นให้เรา)

อธิบายว่าในเรื่องราวที่บันทึกใน กิจการของอัครทูต 3:1–8 เห็นได้ชัดว่าสิ่งที่ชายคนนี้ได้รับดีกว่าสิ่งที่เขาขอ อย่างไรก็ตาม ในกรณีอื่นๆ อาจเห็นได้ไม่ชัดเจนว่าสิ่งที่เรากำลังได้รับนั้นดีกว่าสิ่งที่เราขอ

  • การจดจำความจริงที่เขียนไว้บนกระดานจะช่วยเราเมื่อเราได้รับคำตอบการสวดอ้อนวอนที่แตกต่างจากคำตอบที่เราคาดหวังไว้อย่างไร

เชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองประสบการณ์ซึ่งคำตอบของพระเจ้าต่อคำสวดอ้อนวอนของพวกเขานั้นแตกต่างจากคำตอบที่พวกเขาปรารถนาแต่กลับเป็นประโยชน์แก่พวกเขามากขึ้น ขอให้นักเรียนสองสามคนแบ่งปันประสบการณ์ของพวกเขา ท่านอาจต้องแบ่งปันประสบการณ์ของท่านเช่นกัน

เชื้อเชิญให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง กิจการของอัครทูต 3:9–11 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าผู้คนมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อการรักษาชายคนนี้

  • ผู้คนมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อการรักษาชายคนนี้

กิจการของอัครทูต 3:12–26

เปโตรเป็นพยานถึงพระเยซูคริสต์และสั่งสอนการกลับใจ

เชื้อเชิญให้ชั้นเรียนจินตนาการว่าพวกเขาอยู่ในบรรดาผู้คนที่พระวิหารซึ่งได้เห็นการรักษาชายง่อยคนนี้ ชี้ให้เห็นว่าคนเหล่านี้เห็นชายง่อยคนนี้ขอทานเมื่อพวกเขาเข้าประตูพระวิหารบ่อยๆ แต่หลังจากที่เขาหายดี พวกเขาได้เห็นชายง่อยคนนี้กระโดดโลดเต้นและเดิน

  • หากท่านอยู่ในบรรดาผู้คนที่พระวิหาร ท่านคิดว่าความคิดเห็นของท่านต่อเปโตรและยอห์นอาจเปลี่ยนไปอย่างไรหลังจากได้เห็นปาฏิหาริย์นี้

แบ่งนักเรียนออกเป็นคู่ๆ เชื้อเชิญแต่ละคู่ให้อ่านออกเสียง กิจการของอัครทูต 3:12–16 ด้วยกัน โดยมองหาว่าเปโตรอธิบายการรักษาชายง่อยต่อฝูงชนว่าอย่างไร หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว ให้ถามว่า

  • เปโตรอ้างความสามารถของตนเองในการรักษาชายคนนี้หรือไม่

  • เปโตรบอกว่าชายคนนี้หายเป็นปกติโดยอำนาจใด (หลังจากนักเรียนตอบแล้ว ให้เขียนความจริงต่อไปนี้บนกระดาน ผู้รับใช้พระเยซูคริสต์สามารถทำปาฏิหาริย์โดยผ่านศรัทธาในพระนามของพระองค์)

อธิบายว่าเปโตรใช้โอกาสนี้สอนผู้คนเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ ซึ่งถูกผู้คนของพระองค์เองพิพากษาลงโทษประหาร แต่ได้ทรงเอาชนะความตายผ่านการฟื้นคืนพระชนม์ของพระองค์

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่ง อ่าน ออกเสียงกิจการของอัครทูต 3:17–21 การเปลี่ยนแปลงจากงานแปลของโจเซฟ สมิธ ข้อ 17 (“และบัดนี้ พี่น้องทั้งหลาย ข้าพเจ้าทราบว่าท่านทั้งหลายทำสิ่งนี้เพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เช่นเดียวกับบรรดาผู้ครอบครองของท่าน”) และ 20 (“และพระองค์จะทรงส่งพระเยซูคริสต์ ซึ่งสั่งสอนต่อหน้าท่านมาก่อนแล้ว ผู้ที่ท่านได้ตรึงกางเขน”) ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาคำเชื้อเชิญของเปโตรที่ให้แก่ผู้คน

  • เปโตรเชื้อเชิญให้ผู้คนทำอะไร

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจข่าวสารของเปโตร ชี้ให้เห็นว่าเปโตรกำลังพูดกับผู้คนที่เรียกร้องหรือเห็นชอบกับการตรึงกางเขนของพระเยซูคริสต์ (ดู กิจการของอัครทูต 3:14–15) เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้โดยศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ

ภาพ
ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ

“[เปโตร] ไม่ได้พูดกับพวกเขาว่า ‘จงกลับใจและรับบัพติศมา เพื่อการปลดบาปของท่าน’ แต่เขาพูดว่า ‘เพราะฉะนั้นท่านทั้งหลายจงกลับใจและหันมาหาพระเจ้า เพื่อที่ว่าความผิดบาปของพวกท่านจะได้รับการลบล้าง เพื่อวาระแห่งการฟื้นชื่นจะได้มาจากพระพักตร์พระเจ้า’ [กิจการของอัครทูต 3:19]

“… พวกเขาไม่สามารถรับบัพติศมาเพื่อการปลดบาปเพราะพวกเขาทำให้เลือดบริสุทธิ์ต้องหลั่ง” (ใน History of the Church, 6:253)

ชี้ให้เห็นข้อความที่ว่า “เพื่อวาระแห่งการฟื้นชื่นจะได้มาจากพระพักตร์พระเจ้า และเพื่อพระองค์จะประทานพระคริสต์ที่ทรงกำหนดไว้นั้นแก่ท่านทั้งหลายคือพระเยซู” (ข้อ 19–20)

  • ท่านคิดว่าข้อความนี้หมายถึงอะไร

เชื้อเชิญนักเรียนอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้โดยเอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกีแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

ภาพ
เอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกี

“ช่วงเวลาที่กำหนดไว้นี้ วาระแห่งการฟื้นชื่น นี้จะเกิดขึ้นในการเสด็จมาครั้งที่สองของบุตรมนุษย์ ในวันที่พระเจ้าทรงส่งพระคริสต์มาบนแผ่นดินโลกอีกครั้ง

“… เป็นวันที่ ‘แผ่นดินโลกจะกลับคืนสู่สภาพเดิมและรับรัศมีภาพแห่งเมืองบรมสุขเกษม’ (หลักแห่งความเชื่อข้อสิบ) เป็นวันแห่ง ‘แผ่นดินโลกใหม่’ ที่อิสยาห์เห็น (อิสยาห์ 65:17) แผ่นดินโลกจะยังคงอยู่เมื่อความชั่วร้ายหมดไป เมื่อยุคมิลเลเนียมมาถึง” (ใน Conference Report, Oct. 1967, 43)

ภาพ
การเสด็จมาครั้งที่สอง

บนกระดาน ให้แสดงภาพ การเสด็จมาครั้งที่สอง (หนังสือภาพพระกิตติคุณ [2009], ภาพที่ 66; ดู LDS.org ด้วย) เขียนกำกับภาพว่า วาระแห่งการฟื้นชื่น บนกระดานใกล้กับภาพ

  • โลกจะฟื้นชื่นในการเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซูคริสต์อย่างไร (โลกจะได้รับการชำระล้างจากความชั่วร้าย)

ชี้ให้เห็นวลี “วาระแห่งการฟื้นฟูสรรพสิ่ง” (ข้อ 21)

  • ท่านคิดว่า “วาระแห่งการฟื้นฟูสรรพสิ่ง” หมายถึงอะไร (ท่านอาจต้องการ ช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่านี่หมายถึงการฟื้นฟูพระกิตติคุณในยุคสุดท้าย พระเยซูคริสต์จะยังคงประทับอยู่ในสวรรค์ระหว่างช่วงเวลาแห่งการละทิ้งความเชื่อที่จะมาถึง แต่พระองค์จะเสด็จกลับมายังแผ่นดินโลกเพื่อทำให้การกลับคืนหรือการฟื้นฟูสิ่งทั้งปวงอันเกี่ยวข้องกับพระกิตติคุณเกิดขึ้น ท่านอาจต้องการชี้ให้เห็นว่าเปโตรใช้วลี “วาระแห่งการฟื้นฟูสรรพสิ่ง” เพื่อบรรยายถึงเหตุการณ์เมื่อพระเยซูคริสต์จะเสด็จมาเยือนแผ่นดินโลกก่อนการเสด็จมาครั้งที่สองของพระองค์)

  • พระเยซูคริสต์เสด็จมาเยือนแผ่นดินโลกอันเป็นส่วนหนึ่งของการฟื้นฟูพระกิตติคุณในยุคสุดท้ายเมื่อใด (นักเรียนอาจพูดถึงการปรากฏพระองค์ของพระผู้ช่วยให้รอดในนิมิตแรกของโจเซฟ สมิธ [ดู โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:17] หรือที่พระวิหารเคิร์ทแลนด์ [ดู คพ. 110:2–5])

ภาพ
นิมิตแรก

บนกระดาน ให้แสดงภาพ ภาพปรากฏครั้งแรก (หนังสือภาพพระกิตติคุณ [2009], ภาพที่ 90; ดู LDS.orgด้วย) เขียนกำกับภาพว่า วาระแห่งการฟื้นฟูสรรพสิ่ง บนกระดานใกล้กับภาพ

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 21นอกเหนือจากเปโตร มีใครพูดถึงการฟื้นฟูพระกิตติคุณในยุคสุดท้าย (โดยใช้คำพูดของพวกเขาเอง นักเรียนควรระบุหลักคำสอนต่อไปนี้ ศาสดาพยากรณ์ทุกยุคสมัยบอกล่วงหน้าถึงการฟื้นฟูพระกิตติคุณในยุคสุดท้าย)

สรุป กิจการของอัครทูต 3:22–26 โดยอธิบายว่าเปโตรเป็นพยานว่าโมเสส “และบรรดาผู้เผยพระวจนะตั้งแต่ซามูเอลเป็นต้นมา” (ข้อ 24) กล่าวถึงพระเยซูคริสต์และเตือนถึงผลของการปฏิเสธพระองค์ (ข้อ 23)

ท่านอาจต้องการสรุปโดยแบ่งปันประจักษ์พยานของท่านว่าพระเยซูคริสต์เสด็จมายังแผ่นดินโลกอันเป็นส่วนหนึ่งของการฟื้นฟูพระกิตติคุณในยุคสุดท้ายและพระองค์จะเสด็จกลับมาในการเสด็จมาครั้งที่สองของพระองค์เพื่อชำระแผ่นดินโลกจากความชั่วร้าย

ภาพ
ไอคอนผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์
ผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์—กิจการของอัครทูต 3:19–21

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจวิธีใช้ กิจการของอัครทูต 3:19–21 ในงานเผยแผ่ศาสนา ให้นำเสนอสถานการณ์สมมติต่อไปนี้ ผู้สนใจคนหนึ่งถามว่า “ข้อความใดในพระคัมภีร์ไบเบิลบอกว่าพระกิตติคุณจะได้รับการฟื้นฟูในยุคสุดท้าย”

แบ่งนักเรียนออกเป็นคู่ๆ ขอให้แต่ละคู่เตรียมคำตอบของคำถามนี้โดยใช้ กิจการของอัครทูต 3:19–21 และอย่างน้อยอีกหนึ่งข้อจากพระคัมภีร์ไบเบิล ท่านอาจกระตุ้นให้พวกเขามองหาใต้หัวข้อ “ฟื้นฟูพระกิตติคุณ (การ)” ในคู่มือพระคัมภีร์

หลังจากให้เวลาพอสมควร เชื้อเชิญให้นักเรียนคนหนึ่งแสดงบทบาทเป็นผู้สนใจและให้นักเรียนคู่หนึ่งแสดงบทบาทเป็นผู้สอนศาสนาที่หน้าชั้นเรียน ขอให้คู่นักเรียนที่กำลังแสดงบทบาทเป็นผู้สอนศาสนาแบ่งปันคำตอบที่ได้เตรียมไว้กับนักเรียนที่แสดงบทบาทเป็นผู้สนใจ

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

กิจการของอัครทูต 3:6 “สิ่งที่เรามีนั้นเราจะให้ท่าน”

ขณะรับใช้เป็นคณบดีคณะการสั่งสอนศาสนาที่มหาวิทยาลัยบริคัมยังก์ เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายว่า

“เปโตรไม่มีเงินแต่เขามีความร่ำรวย ‘สิ่งที่เขามี’ รวมถึงกุญแจทุกดอกสู่อาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้าบนแผ่นดินโลก มีพลังอำนาจฐานะปุโรหิตที่จะทำให้คนตายฟื้น มีศรัทธาให้กระดูกและเส้นเอ็นแข็งแรงขึ้น มือขวาที่เข้มแข็งของการเป็นสมาชิกศาสนจักร เขาให้เงินหรือทองไม่ได้แต่เขาให้สิ่งที่สามารถซื้อหาได้เสมอ ‘โดยไม่ต้องเสียเงินหรือค่าใช้จ่าย’ (อิสยาห์ 55:1)—และเขาก็ให้ไป” (The Lengthening Shadow of Peter, Ensign, Sept. 1975, 30)

กิจการของอัครทูต 3:7 “แล้วเปโตรจับมือขวาของชายง่อยพยุงขึ้น”

เอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกีแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายว่าเรื่องราวที่เปโตรรักษาชายซึ่งเป็นง่อยแสดงให้เห็นถึงความจริงที่ว่าผู้ดำรงฐานะปุโรหิตปฏิบัติแทนพระเยซูคริสต์เมื่อพวกเขาให้พร

“เปโตรไม่ได้ทูลขอพระเจ้าให้รักษาคนง่อย เขาไม่ได้สวดอ้อนวอนต่อพระผู้เป็นเจ้าเพื่อทรงเทพระคุณและอานุภาพแห่งการรักษาของพระองค์มาที่ชายง่อย แทนที่จะทำเช่นนั้น—เขาปฏิบัติในพระนามของพระเจ้าและโดยอานุภาพของการเป็นผู้แทนคนหนึ่งของสิทธิอำนาจแห่งปุโรหิตที่ได้รับมาแล้ว—เขาเองได้บัญชาให้ปาฏิหาริย์เกิดขึ้น เปโตรเป็นผู้รับใช้ของพระเจ้า ตัวแทนและผู้กระทำแทนของพระองค์ เขาทำแทนและเป็นตัวแทนของพระคริสต์ ทำสิ่งที่พระอาจารย์จะทรงทำหากพระองค์ประทับอยู่ที่นั่นด้วยพระองค์เอง” (Doctrinal New Testament Commentary, 3 vols. [1965–73], 2:46)

ความจริงนี้แสดงให้เห็นใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 36:2 เช่นกัน ในข้อนี้พระเจ้าตรัสว่า “เราจะวางมือเราบนเจ้า [เอดเวิร์ด พาร์ทริจ] โดยมือของผู้รับใช้ของเรา ซิดนีย์ ริกดัน”

ประธานฮาโรลด์ บี. ลีสอนความจริงที่สำคัญอีกประการหนึ่ง โดยใช้ตัวอย่างจากพฤติกรรมของเปโตรหลังจากเปโตรรักษาชายง่อยโดยอำนาจของฐานะปุโรหิต ดังนี้

“ท่านมองเห็นภาพของจิตวิญญาณที่มีเกียรตินั้น อัครสาวกที่มีตำแหน่งสูงที่สุดนั้นได้หรือไม่ บางทีโดยใช้แขนของเขาโอบไหล่ของชายคนนี้และพูดว่า ‘ทีนี้ เพื่อนสนิทของข้าพเจ้า อย่ากลัว ข้าพเจ้าจะเดินไปสองสามก้าวกับท่าน ให้เราเดินด้วยกัน ข้าพเจ้าให้คำมั่นกับท่านว่าท่านจะเดินได้ เพราะท่านได้รับพรโดยพลังอำนาจและสิทธิอำนาจที่พระผู้เป็นเจ้าประทานแก่เราในฐานะมนุษย์ ผู้รับใช้ของพระองค์’ เขาจึงกระโดดด้วยความปีติยินดี

“ท่านไม่สามารถยกจิตวิญญาณอื่นได้จนกว่าท่านจะยืนบนที่สูงกว่าเขา หากท่านจะช่วยชีวิตคน ท่านต้องแน่ใจว่าว่าท่านเองเป็นแบบอย่างของสิ่งที่ท่านอยากให้เขาเป็น ท่านจะจุดไฟในจิตวิญญาณอื่นไม่ได้เว้นแต่ไฟนั้นจะลุกไหม้ในจิตวิญญาณของท่านเอง” (Stand Ye in Holy Places, July 1973, 123)