คลังค้นคว้า
บทเรียนภาคการศึกษาที่บ้าน: ยอห์น 7–10 (หน่วย 14)


บทเรียนภาคการศึกษาที่บ้าน

ยอห์น 7–10 (หน่วย 14)

การเตรียมเนื้อหาสำหรับครูภาคการศึกษาที่บ้าน

สรุปบทเรียนประจำวันภาคการศึกษาที่บ้าน

ใจความสรุปเหตุการณ์ หลักคำสอนและหลักธรรมต่อไปนี้ที่นักเรียนเรียนรู้ขณะศึกษา ยอห์น 7–10 (หน่วย 14) ไม่ได้มีเจตนาจะให้สอนเป็นส่วนหนึ่งในบทเรียนของท่าน บทเรียนที่ท่านสอนเน้นไปที่หลักคำสอนและหลักธรรมเหล่านี้เพียงไม่กี่ข้อ ทำตามการกระตุ้นเตือนของพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ขณะพิจารณาความต้องการของนักเรียน

วันที่ 1 (ยอห์น 7)

จากคำสอนของพระเยซูในเยรูซาเล็มระหว่างเทศกาลอยู่เพิง นักเรียนเรียนรู้ว่าถ้าเราประพฤติตามพระประสงค์ของพระบิดาบนสวรรค์ เราจะได้รับประจักษ์พยานถึงหลักคำสอนของพระองค์ พวกเขาระบุหลักธรรมเช่นกันว่าถ้าเรามาหาพระเยซูคริสต์และเชื่อในพระองค์ เราจะเปี่ยมไปด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์

วันที่ 2 (ยอห์น 8)

จากเรื่องราวของหญิงที่ถูกจับฐานล่วงประเวณี นักเรียนเรียนรู้ว่าการยอมรับความไม่ดีพร้อมของเราเองจะช่วยเราหลีกเลี่ยงการกล่าวหาคนอื่นและพระผู้ช่วยให้รอดทรงมีพระเมตตาต่อเราโดยประทานโอกาสให้เรากลับใจ จากนั้นนักเรียนเรียนรู้ด้วยว่าพระเยซูคริสต์ทรงเป็นความสว่างของโลก ถ้าเราทำตามพระผู้ช่วยให้รอด เราจะหลีกเลี่ยงความมืดบอดทางวิญญาณและเต็มไปด้วยความสว่างของพระองค์ พวกเขาเรียนรู้หลักธรรมต่อไปนี้เช่นกันว่า เมื่อเราเรียนรู้เกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ เราจะรู้จักพระบิดา ถ้าเรายึดมั่นในคำสอนของพระเยซูคริสต์ เราจะเป็นสานุศิษย์ของพระองค์และรู้ความจริง ซึ่งจะทำให้เราเป็นไท ถ้าเราทำบาปและไม่กลับใจ เราจะกลายเป็นทาสของบาป พระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระเยโฮวาห์ พระผู้เป็นเจ้าแห่งพันธสัญญาเดิม

วันที่ 3 (ยอห์น 9)

ใน ยอห์น 9 นักเรียนอ่านเกี่ยวกับการที่พระเยซูทรงรักษาชายตาบอดแต่กำเนิด จากเรื่องราวนี้พวกเขาเรียนรู้ความจริงต่อไปนี้ว่า พระผู้เป็นเจ้าทรงใช้ความยากลำบากของเราเพื่อให้งานและเดชานุภาพของพระองค์เป็นที่ประจักษ์ เมื่อเรายังคงชื่อสัตย์ต่อสิ่งที่เรารู้ถึงแม้จะมีการต่อต้าน แต่ประจักษ์พยานของเราจะเข้มแข็งขึ้น เมื่อเราใช้ศรัทธาในพระเยซูคริสต์ การมองเห็นและความเข้าใจทางวิญญาณของเราชัดเจนขึ้น

วันที่ 4 (ยอห์น 10)

ในบทเรียนนี้นักเรียนเรียนรู้ว่า ในฐานะผู้เลี้ยงที่ดี พระเยซูคริสต์ทรงรู้จักเราแต่ละคนและทรงสละพระชนม์ชีพของพระองค์เพื่อเรา ในฐานะพระบุตรที่แท้จริงของพระผู้เป็นเจ้า พระเยซูคริสต์ทรงมีเดชานุภาพที่จะสละพระชนม์ชีพของพระองค์และนำกลับคืนมาอีกครั้ง นักเรียนระบุหลักธรรมด้วยว่าถ้าเราได้มารู้จักพระสุรเสียงของผู้เลี้ยงที่ดีและติดตามพระองค์ พระองค์จะทรงนำเราไปสู่ชีวิตนิรันดร์

บทนำ

ขณะที่พระผู้ช่วยให้รอดประทับอยู่ในเยรูซาเล็มสำหรับเทศกาลอยู่เพิง พวกธรรมาจารย์และพวกฟาริสีบางคนนำหญิงคนหนึ่งซึ่งมีความผิดฐานล่วงประเวณีมาหาพระองค์ พวกเขาถามว่าเธอควรถูกหินขว้างจนตายหรือไม่ พระองค์ทรงทำให้ผู้กล่าวหาพูดไม่ออกและทรงมีพระเมตตาต่อหญิงคนนั้น

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

ยอห์น 8:1–11

หญิงคนหนึ่งซึ่งถูกจับฐานล่วงประเวณีถูกนำมาอยู่เบื้องพระพักตร์พระผู้ช่วยให้รอด

เชื้อเชิญนักเรียนให้นึกถึงเวลาที่พวกเขาอาจพบหรือเกี่ยวข้องกับคนที่ภาพลักษณ์หรือพฤติกรรมของพวกเขาไม่สอดคล้องกับมาตรฐานของพระเจ้า

  • เราเผชิญกับความท้าทายอะไรบ้างเมื่อเราอยู่กับคนอื่นที่ภาพลักษณ์หรือพฤติกรรมของพวกเขาไม่สอดคล้องกับมาตรฐานของพระเจ้า (นักเรียนอาจตอบว่าเราอาจถูกล่อลวงให้ตัดสินคนเช่นนั้นอย่างไม่ชอบธรรมหรือปฏิบัติกับพวกเขาอย่างไร้เมตตา)

เขียนคำถามต่อไปนี้ไว้บน กระดาน:

เราควรทำอะไรในสถานการณ์ที่เราอยู่กับคนอื่นซึ่งมีภาพลักษณ์หรือพฤติกรรมไม่สอดคล้องกับมาตรฐานของพระเจ้า

กระตุ้นให้นักเรียนมองหาความจริงเมื่อพวกเขาศึกษา ยอห์น 8:1–11 ที่จะช่วยตอบคำถามนี้

อธิบายว่าหลังจากเทศกาลอยู่เพิง พระเยซูคริสต์ยังประทับอยู่ในเยรูซาเล็มระยะหนึ่งและทรงสอนผู้คนที่พระวิหาร (ดู ยอห์น 8:1–2)

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ยอห์น 8:3–6 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าเกิดอะไรขึ้นเมื่อพระเยซูทรงสอนผู้คน

  • เกิดอะไรขึ้นเมื่อพระเยซูทรงสอนผู้คน

  • พวกธรรมาจารย์และพวกฟาริสีถามอะไรพระผู้ช่วยให้รอด

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 6 พวกธรรมาจารย์และพวกฟาริสีมีเจตนาเช่นไร (พวกเขาพยายามทำให้พระเยซูขาดความน่าเชื่อถือต่อหน้าผู้คนและหาเหตุผลที่จะกล่าวหาพระองค์เนื่องจากพวกเขาต้องการเหตุผลที่จะจับกุมและสังหารพระองค์ [ดู ยอห์น 7:1, 32])

อธิบายว่าหากพระเยซูตรัสว่าให้ขว้างหญิงคนนั้นด้วยหิน พระองค์จะรับรองการลงโทษซึ่งไม่เป็นที่นิยมในบรรดาชาวยิวและต้องห้ามตามกฏหมายโรมัน หากพระเยซูตรัสว่าไม่ต้องขว้างหญิงคนนั้นด้วยหิน พระองค์จะถูกกล่าวหาว่าไม่ใส่ใจกฎของโมเสสหรือกระทำการโดยไม่เคารพธรรมเนียมปฏิบัติซึ่งเป็นที่ยอมรับในอดีต (ดู บรูซ อาร์. แมคคองกี, Doctrinal New Testament Commentary, 3 vols. [1965–73], 1:450–51.)

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ยอห์น 8:7–8 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงตอบอย่างไร

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 7 พระเยซูทรงตอบว่าอย่างไร

  • ท่านคิดว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงต้องการให้ชายเหล่านี้ตระหนักอะไรเมื่อพระองค์ตรัสว่า “ใครในพวกท่านไม่มีบาป ให้เอาหินขว้างนางก่อนเป็นคนแรก” (ยอห์น 8:7)

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ยอห์น 8:9 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าเกิดอะไรขึ้นเมื่อพวกฟาริสีและพวกธรรมาจารย์พิจารณาพระดำรัสของพระผู้ช่วยให้รอด

  • ท่านคิดว่าประโยคนี้ “มโนธรรมของพวกเขากล่าวโทษตัวพวกเขาเอง” (มีอยู่ในพระคัมภีร์ไบเบิลฉบับภาษาอังกฤษ) หมายความว่าอย่างไร

  • โดยการเลือกเดินออกไป ชายแหล่านี้แสดงการยอมรับอะไร

  • เราสามารถเรียนรู้ความจริงอะไรจากเรื่องราวนี้เกี่ยวกับวิธีหลีกเลี่ยงการกล่าวโทษผู้อื่น (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่ให้แน่ใจว่าพวกเขาระบุหลักธรรมต่อไปนี้ การยอมรับความไม่ดีพร้อมของเราเองจะช่วยให้เราหลีกเลี่ยงการกล่าวโทษผู้อื่น เขียนหลักธรรมนี้ไว้ใต้คำถามบนกระดาน)

  • ท่านคิดว่าการยอมรับความไม่ดีพร้อมของเราเองจะช่วยเราหลีกเลี่ยงการกล่าวโทษคนอื่นอย่างไร

เตือนนักเรียนว่าหญิงคนนี้มีความผิดฐานล่วงประเวณี ซึ่งเป็นบาปที่ร้ายแรงมาก (ดู แอลมา 39:3–5)

  • ท่านคิดว่าหญิงคนนี้อาจรู้สึกอย่างไรเมื่อมีการเปิดเผยบาปของเธอต่อพระเยซูและฝูงชนจำนวนมาก

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ยอห์น 8:10–11 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงตอบหญิงคนนี้อย่างไร

  • พระผู้ช่วยให้รอดทรงแสดงความรักและพระเมตตาต่อหญิงคนนี้ในทางใดบ้าง

  • พระผู้ช่วยให้รอดประทานคำแนะนำอะไรแก่หญิงคนนี้

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าพระผู้ช่วยให้รอดไม่ได้ยกโทษบาปของหญิงคนนี้ ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้โดยประธานสเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์

ภาพ
ประธานสเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์

“พระบัญชาของพระองค์ที่มีต่อเธอคือ ‘จงไปเถิดและจากนี้อย่าทำบาปอีก’ พระองค์ทรงกำลังแนะนำหญิงบาปคนนี้ให้ไปตามทางของเธอ ละทิ้งชีวิตที่ชั่วร้ายของเธอ ไม่ทำบาปอีก และเปลี่ยนแปลงชีวิตของเธอ พระองค์กำลังตรัสว่า หญิงเอ๋ย จงไปเถิด และเริ่มการกลับใจของเจ้า พระองค์กำลังบ่งชี้ขั้นตอนเริ่มต้นให้แก่เธอ—เพื่อ ละทิ้งการล่วงละเมิดของเธอ” (The Miracle of Forgiveness [1969], 165)

  • เราสามารถเรียนรู้ความจริงอะไรเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดจาก ยอห์น 8:10–11 (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกันแต่ควรระบุความจริงต่อไปนี้ พระผู้ช่วยให้รอดทรงแสดงพระเมตตาของพระองค์โดยประทานโอกาสให้เรากลับใจ เขียนความจริงนี้ไว้ใต้คำถามบนกระดาน)

  • การเข้าใจความจริงนี้สามารถช่วยเราเมื่อเราทำบาปได้อย่างไร

  • ความจริงทั้งสองประการที่เราระบุไว้ในบทเรียนนี้จะช่วยเราตอบสนองสถานการณ์ที่เราอยู่กับคนอื่นซึ่งมีภาพลักษณ์หรือพฤติกรรมไม่สอดคล้องกับพระบัญญัติและมาตรฐานของพระเจ้าได้อย่างไร

แบ่งปันส่วนเพิ่มเติมท้ายข้อของ ยอห์น 8:11 จากงานแปลของโจเซฟ สมิธว่า ‘หญิงคนนั้นสรรเสริญพระผู้เป็นเจ้านับจากโมงนั้น และเชื่อในพระนามของพระองค์” (งานแปลของโจเซฟ สมิธ, ยอห์น 8:11)

  • ตามที่กล่าวไว้ในงานแปลของโจเซฟ สมิธ ยอห์น 8:11 พระเมตตาของพระผู้ช่วยให้รอดส่งผลต่อหญิงคนนี้อย่างไร

เชื้อเชิญให้นักเรียนเขียนลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขาถึงความรู้สึกที่พวกเขามีเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดเนื่องจากความเต็มพระทัยของพระองค์ที่จะมีพระเมตตาต่อเราและประทานโอกาสให้เรากลับใจ ท่านอาจต้องการให้เวลานักเรียนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเขียน ท่านอาจแบ่งปันประจักษ์พยานของท่านถึงหลักธรรมที่ระบุไว้ในบทนี้

หน่วยต่อไป (ยอห์น 11–15)

กระตุ้นให้นักเรียนมองหาคำตอบสำหรับคำถามต่อไปนี้เมื่อพวกเขาศึกษา ยอห์น 11–15 จะเป็นอย่างไรที่ได้เห็นบางคนเป็นขึ้นจากตาย เหตุใดพระคัมภีร์จึงบันทึกว่า “พระเยซูทรงกันแสง” (ยอห์น 11:35) พระเยซูคริสต์ทรงทำอะไรให้อัครสาวกของพระองค์ซึ่งโดยปรกติเป็นหน้าที่ของคนรับใช้ พระผู้ช่วยให้รอดทรงสัญญากับสานุศิษย์ของพระองค์ว่าพวกเขาจะได้รับอะไรเพื่อปลอบโยนพวกเขาหลังจากพระองค์เสด็จจากไป