คลังค้นคว้า
บทที่ 148: 1 ยอห์น


บทที่ 148

1 ยอห์น

คำนำ

ยอห์นเชื้อเชิญให้สมาชิกศาสนจักรมีสามัคคีธรรมกับพระบิดาและพระบุตร เขาย้ำถึงความจำเป็นในการรักษาพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้าเพื่อแสดงความรักที่เรามีต่อพระองค์ ยอห์นเตือนให้สมาชิกศาสนจักรรักผู้อื่นเช่นกัน

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

1 ยอห์น 1–5

ยอห์นอธิบายความสำคัญของการรักษาพระบัญญัติและการรักกัน

แบ่งนักเรียนออกเป็นคู่ๆ เขียนคำว่า การละทิ้งความเชื่อ ไว้บนกระดาน เชื้อเชิญให้นักเรียนหันไปหาคู่ของพวกเขาและอธิบายพอสังเขปถึงความหมายของ การละทิ้งความเชื่อ จากนั้นเชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งออกมาที่กระดานและเขียนความหมายของ การละทิ้งความเชื่อ นิยามควรระบุว่า การละทิ้งความเชื่อ หมายถึงการหันหลังให้ความจริง (ดู คู่มือพระคัมภีร์, “ละทิ้งความเชื่อ (การ),” scriptures.lds.org)

อธิบายว่ายอห์นเขียนในสาส์นฉบับ 1 ยอห์นในช่วงที่การละทิ้งความเชื่อกำลังส่งผลร้ายต่อศาสนจักร ในสาส์นฉบับนี้ ยอห์นเตือนวิสุทธิชนให้ระวังผู้ต่อต้านพระคริสต์ (ดู 1 ยอห์น 2:18–26; 4:3) ผู้ต่อต้านพระคริสต์คือ “ใครก็ตามหรือสิ่งใดก็ตามที่ปลอมแปลงแผนแห่งความรอดของพระกิตติคุณอันแท้จริงและต่อต้านพระคริสต์อย่างเปิดเผยหรืออย่างลับๆ ” รวมถึงสิทธิอำนาจและคำสอนของผู้รับใช้ที่ได้รับเลือกของพระองค์ (ดู คู่มือพระคัมภีร์, “ผู้ต่อต้านพระคริสต์,” scriptures.lds.org) ผู้ต่อต้านพระคริสต์ในสมัยของยอห์นกำลังสอนว่าพระเยซูคริสต์ไม่ทรงมีพระวรกายขณะประทับบนแผ่นดินโลกแต่ทรงปรากฎพระองค์เหมือนทรงเป็นพระสัตภาวะที่มีร่างกายเท่านั้น

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 1 ยอห์น 1:1–4 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่ยอห์นเป็นพยานถึงเพื่อโต้แย้งคำสอนเท็จนี้ อธิบายว่าวลี “พระวาทะแห่งชีวิต” (ข้อ 1) หมายถึงพระเยซูคริสต์

  • คำใดที่ยอห์นใช้เพื่อโต้แย้งแนวคิดผิดๆ ที่ว่าพระเยซูคริสต์ไม่ทรงมีพระวรกาย

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 3–4 เหตุใดยอห์นจึงแบ่งปันพยานศักดิ์สิทธิ์ของเขาเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์กับสมาชิกศาสนจักร (ยอห์นต้องการให้พวกเขามีสามัคคีธรรมกับผู้นำของศาสนจักร ผู้ซึ่งมีสามัคคีธรรมกับพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ ยอห์นปรารถนาให้พวกเขาประสบกับความบริบูรณ์แห่งปีติด้วย)

อธิบายว่าการมีสามัคคีธรรมหมายถึงการมีสัมพันธภาพแห่งความไว้วางใจ การมีส่วนร่วม และการมีจุดประสงค์เดียวกัน เราจะมีสามัคคีธรรมกับผู้นำศาสนจักรเมื่อเรารับและทำตามคำสอนตลอดจนคำแนะนำของพวกเขา

เขียนข้อความที่ไม่ครบถ้วนต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: ถ้าเรารับและทำตามคำสอนของศาสดาพยากรณ์และอัครสาวก เราจะ …

  • ตามคำสอนของยอห์นใน ยอห์น 1:3 ท่านจะเติมข้อความบนกระดานให้ครบถ้วนเพื่อทำให้เป็นหลักธรรมว่าอย่างไร (โดยใช้คำพูดของนักเรียน เติมข้อความบนกระดานให้ครบถ้วนเพื่อสื่อถึงหลักธรรมต่อไปนี้ ถ้าเรารับและทำตามคำสอนของศาสดาพยากรณ์และอัครสาวก เราจะมีสามัคคีธรรมกับพระบิดาและพระบุตร)

ให้ดูภาพประธานศาสนจักรคนปัจจุบันและศาสดาพยากรณ์กับอัครสาวกท่านอื่นๆ

  • การทำตามคำสอนของศาสดาพยากรณ์และอัครสาวกช่วยให้เรามีสามัคคีธรรมกับพระบิดาบนสวรรค์ของเราและพระเยซูคริสต์ พระบุตรของพระองค์อย่างไร

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 1 ยอห์น 1:5–6 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่จะกีดกั้นเราจากการมีสามัคคีธรรมกับพระบิดาในสวรรค์ของเรา

  • สิ่งใดจะกีดกั้นเราจากการมีสามัคคีธรรมกับพระบิดาในสวรรค์ของเรา

ชี้ให้เห็นว่าการใช้คำว่า ความมืด ของยอห์นหมายถึงความมืดทางวิญญาณ

  • ท่านคิดว่าความมืดทางวิญญาณหมายความว่าอย่างไร

เชื้อเชิญให้นักเรียนศึกษา 1 ยอห์น 1:7–10; 2:1–6 โดยมองหาความจริงที่ยอห์นสอนซึ่งจะช่วยให้เรารู้วิธีเดินอยู่ในความสว่างของพระกิตติคุณ อธิบายว่าคำว่า เครื่องบูชาลบบาป ใน ข้อ 2 หมายถึงการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ซึ่งสนองความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้า เชื้อเชิญให้นักเรียนศึกษาข้อเหล่านี้ในใจด้วยตนเองหรือกับคู่หรือเป็นกลุ่มเล็กๆ

  • ท่านระบุความจริงอะไรบ้างในข้อเหล่านี้ (ท่านอาจจะเขียนคำตอบของนักเรียนไว้บนกระดาน ซึ่งอาจรวมถึงความจริงทำนองนี้ พระเยซูคริสต์ทรงชดใช้เพื่อบาปของเรา เมื่อเรารักษาพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า ความรักที่เรามีต่อพระผู้เป็นเจ้าสมบูรณ์)

  • ท่านคิดว่าเหตุใดความรักที่เรามีต่อพระผู้เป็นเจ้าจึงสมบูรณ์มากขึ้น เมื่อเรารักษาพระบัญญัติของพระองค์

  • ท่านเคยมีประสบการณ์ว่าความรักที่ท่านมีต่อพระผู้เป็นเจ้าเพิ่มมากขึ้นเมื่อท่านพยายามรักษาพระบัญญัติของพระองค์เมื่อใด

อ่านออกเสียงคำบรรยายถึงเยาวชนวิสุทธิชนยุคสุดท้ายสองคนต่อไปนี้ เชื้อเชิญให้นักเรียนฟังว่าทั้งสองคนนี้มีปัญหาในการเชื่อฟังพระบัญญัติข้อใด

  1. เยาวชนชายคนหนึ่งอ่านพระคัมภีร์ทุกวันและทำหน้าที่ฐานะปุโรหิตหลายอย่างของเขาอย่างซื่อสัตย์ แต่เขามักใจร้ายกับน้องชายของเขา

  2. เยาวชนหญิงคนหนึ่งเข้าร่วมการประชุมศาสนจักรของเธอเป็นประจำและได้รับการรับรองความเป็นเยาวชนหญิง อย่างไรก็ตาม เธอมักเขียนข้อความที่ไม่สุภาพเกี่ยวกับเพื่อนร่วมชั้นเรียนและครูบางคนของเธอในสื่อสังคม

  • พระบัญญัติข้อใดที่เยาวชนสองคนนี้มีปัญหาในการเชื่อฟัง

เชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองถึงสถานการณ์ซึ่งพวกเขาอาจมีปัญหาในการแสดงความรักต่อผู้อื่น

เชื้อเชิญนักเรียนสองสามคนผลัดกันอ่านออกเสียง 1 ยอห์น 2:9–11; 4:7–11, 19–21 ขอให้นักเรียนที่เหลือดูตาม โดยมองหาสิ่งยอห์นสอนเกี่ยวกับความรัก ท่านอาจต้องการเชื้อเชิญให้นักเรียนทำเครื่องหมายคำสอนในข้อเหล่านี้ที่มีความหมายสำหรับพวกเขา

  • คำสอนของยอห์นเกี่ยวกับความรักข้อใดที่มีความหมายสำหรับท่าน เพราะเหตุใด

  • เราสามารถระบุหลักธรรมอะไรจากข้อพระคัมภีร์เหล่านี้เกี่ยวกับสิ่งที่เราจะทำเมื่อเรารักพระผู้เป็นเจ้า (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่พวกเขาควรระบุหลักธรรมทำนองนี้ เมื่อเรารักพระผู้เป็นเจ้า เราจะรักผู้อื่น)

  • เหตุใดท่านจึงคิดว่าเราจะแสดงความรักต่อผู้อื่นหากเรารักพระผู้เป็นเจ้าอย่างแท้จริง

ชี้ให้เห็นว่าแม้ยอห์นใช้คำว่า เกลียดชัง ใน 1 ยอห์น 4:20 แต่มีหลายวิธีที่เราจะยั้งความรักหรือความเมตตาผู้อื่นนอกเหนือจากการเกลียดชังพวกเขา เชื้อเชิญให้นักเรียนอธิบายสิ่งที่พวกเขาคิดว่าวิธีบางอย่างเหล่านั้นอาจเป็นอะไร

เชื้อเชิญให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 1 ยอห์น 3:17–18 ขอให้ชั้นเรียนมองหาว่าเราจะแสดงออกถึงความรักที่เรามีต่อผู้อื่นอย่างไร เชื้อเชิญให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ นักเรียนควรค้นพบว่าความสำคัญของรักไม่เพียง “ด้วยคำพูด” แต่ “ด้วยการกระทำ” เช่นกัน

  • ท่านคิดว่าเหตุใดการที่เราแสดงความรักของเราผ่านการกระทำไม่ใช่แค่คำพูดของเราเท่านั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญ

  • ท่านรู้จักใครที่เป็นแบบอย่างที่ดีของการแสดงความรักต่อผู้อื่น บุคคลผู้นี้ทำอะไรบ้างที่แสดงความรักของเขาต่อผู้อื่นให้ประจักษ์

เชื้อเชิญให้นักเรียนนึกถึงคนบางคนในชีวิตพวกเขาที่พวกเขาจะแสดงความรักได้มากขึ้น ขอให้พวกเขาเขียนชื่อของบุคคลนั้นบนกระดาษรวมทั้งบางสิ่งที่เจาะจงซึ่งพวกเขาจะทำได้เพื่อแสดงความรักหรือความเมตตาต่อบุคคลนั้น อธิบายว่าพวกเขาไม่จำเป็นต้องแสดงความรักในวิธีที่ฟุ่มเฟือย การแสดงออกถึงจิตกุศลและความเมตตาเล็กๆ น้อยๆ ที่เรียบง่ายมักมีความหมายมากที่สุด เชื้อเชิญให้พวกเขานำกระดาษกลับไปบ้านด้วยและทำตามสิ่งที่พวกเขาเขียน

ชี้ให้เห็นว่าเมื่อเราแสดงความรักผ่านการกระทำของเรา เรากำลังทำตามแบบอย่างของพระเยซูคริสต์ (ดู 1 ยอห์น 2:6; 3:1–3) ท่านอาจต้องการสรุปบทเรียนโดยแบ่งปันประจักษ์พยานของท่านถึงความจริงที่นักเรียนระบุในการศึกษา 1 ยอห์น กระตุ้นให้นักเรียนประยุกต์ใช้ความจริงเหล่านี้ในชีวิตของพวกเขา

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

1 ยอห์น 3:2 “เราจะเป็นเหมือนอย่างพระองค์”

เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายว่าจุดประสงค์ของชีวิตมรรตัยคือการเป็นเหมือนพระผู้เป็นเจ้าผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์

“ในความเชื่อทางศาสนาของศาสนจักรที่ได้รับการฟื้นฟูของพระเยซูคริสต์ จุดประสงค์ของชีวิตมรรตัยคือเตรียมเราให้พร้อมรับรู้จุดหมายของเราในฐานะบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งก็คือการเป็นเหมือนพระองค์ … พระคัมภีร์ไบเบิลอธิบายว่ามนุษย์เป็น ‘ลูกของพระเจ้า’ และเป็น ‘ทายาทของพระเจ้า และเป็นทายาทร่วมกับพระคริสต์’ (โรม 8:16–17) ทั้งยังประกาศด้วยว่า ‘เราทนทุกข์ทรมานด้วยกันกับพระองค์ก็เพื่อจะได้ศักดิ์ศรีด้วยกันกับพระองค์ด้วย’ (โรม 8:17) และ ‘เวลาที่พระองค์จะเสด็จมาปรากฏนั้น เราจะเป็นเหมือนอย่างพระองค์’ (1 ยอห์น 3:2) เรายึดตามคำสอนเหล่านี้ในพระคัมภีร์ไบเบิลอย่างแท้จริง เราเชื่อว่าจุดประสงค์ของชีวิตมรรตัยคือเพื่อรับร่างกาย และเพื่อมีคุณสมบัติคู่ควรรับสภาพซีเลสเชียลที่ฟื้นคืนชีวิตแล้วและมีรัศมีภาพซึ่งเรียกว่าความสูงส่งหรือชีวิตนิรันดร์โดยผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์และโดยการเชื่อฟังกฎและศาสนพิธีของพระกิตติคุณ (Apostasy and Restoration, May 1995, 86–87)

1 ยอห์น 5:3 “เพราะว่าความรักต่อพระเจ้าเป็นอย่างนี้”

เอ็ลเดอร์ โจเซฟ บี. เวิร์ธลินแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างการรักพระผู้เป็นเจ้ากับการรักษาพระบัญญัติของพระองค์ ดังนี้

“เมื่อเรารักพระเจ้า การเชื่อฟังจะไม่เป็นภาระอีกต่อไป การเชื่อฟังเป็นความเบิกบาน” (“พระบัญญัติข้อใหญ่,” เลียโฮนา, พ.ย. 2007, 35)