คลังค้นคว้า
บทที่ 47: ลูกา 6:1–7:18


บทที่ 47

ลูกา 6:1–7:18

คำนำ

พระเยซูทรงสอนเกี่ยวกับความสำคัญของการทำดีต่อผู้อื่น รวมถึงในวันสะบาโต หลังจากทรงสวดอ้อนวอนทั้งคืน พระองค์ทรงเรียกอัครสาวกสิบสอง จากนั้นทรงสอนพวกเขาและมวลชน พระองค์ทรงรักษาทาสของนายร้อยและทรงให้บุตรของหญิงม่ายเป็นขึ้นจากความตาย

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

ลูกา 6

พระเยซูทรงรักษาในวันสะบาโต ทรงเลือกอัครสาวกสิบสอง และทรงสอนมวลชน

(หมายเหตุ: เนื้อหาส่วนใหญ่ใน ลูกา 6 มีครอบคลุมอยู่ในบทเรียนสำหรับ มัทธิว 5–7; 10:1–4; และ มาระโก 3:1–6 ส่วนนี้ของบทเรียนนี้จะมุ่งเน้นที่ ลูกา 6:31–38)

ขอให้นักเรียนจินตนาการว่าในการประชุมศาสนจักรวันอาทิตย์พวกเขาได้ยินประกาศเกี่ยวกับโครงการรับใช้สำหรับครอบครัวใกล้เคียง หลังจากประกาศ พวกเขาได้ยินคนตอบรับเรื่องนี้ต่างกันสี่คำตอบ เชื้อเชิญนักเรียนสี่คนอ่านออกเสียงคำตอบที่อาจเป็นได้ต่อไปนี้

  1. “เมื่อเร็วๆ นี้ครอบครัวนั้นเจออะไรมามาก ฉันมีความสุขที่ได้ช่วยไม่ว่าอะไรที่ฉันทำได้”

  2. “น่าจะมีของว่างเลี้ยงหลังจากนั้น เพราะถ้าไม่มี ฉันคงไม่ไป”

  3. “ฉันไม่อยากไปจริงๆ แต่ฉันอาจขอความช่วยเหลือกับโครงการที่ฉันจัดขึ้นสัปดาห์หน้า ฉันจึงน่าจะไปช่วยตอนนี้”

  4. “ถ้าเพื่อนฉันไป ฉันก็จะไป”

  • ตัวอย่างเหล่านี้บอกอะไรเกี่ยวกับเหตุผลที่คนรับใช้ในบางครั้ง

ขอให้นักเรียนไตร่ตรองถึงโอกาสที่พวกเขาเคยรับใช้คนบางคนและพวกเขารู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับการรับใช้ เชื้อเชิญให้พวกเขามองหาหลักธรรมขณะที่พวกเขาศึกษา ลูกา 6–7 ที่จะช่วยให้พวกเขารับใช้ได้อย่างมีความหมายมากขึ้น

สรุป ลูกา 6 โดยอธิบายว่าขณะที่พระเยซูประทับอยู่ที่แคว้นกาลิลีในช่วงแรกของการปฏิบัติศาสนกิจ พระองค์ทรงรักษาชายที่มือข้างหนึ่งลีบในวันสะบาโต ทรงสวดอ้อนวอนตลอดทั้งคืน และทรงเรียกอัครสาวก จากนั้นพระเยซูทรงเริ่มสั่งสอนพวกเขาและ “มหาชน” (ข้อ 17) ถึงวิธีที่จะได้รับบำเหน็จจากสวรรค์

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน ลูกา 6:19 ในใจ โดยมองหาสิ่งที่พระเยซูทรงทำเพื่อผู้คนก่อนที่พระองค์จะทรงเริ่มสอนพวกเขา ขอให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ

เชื้อเชิญนักเรียนหลายๆ คนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก ลูกา 6:31–35 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาคำแนะนำที่พระเยซูประทานแก่สานุศิษย์ของพระองค์

  • พระเยซูประทานคำแนะนำอะไรแก่สานุศิษย์ของพระองค์

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 35 เราควรคาดหวังอะไรจากการทำดีกับผู้อื่น (ท่านอาจต้องการเชื้อเชิญให้นักเรียนทำเครื่องหมายวลี “ไม่หวังที่จะได้คืน”)

  • บำเหน็จทางโลกอะไรบ้างที่คนหวังจะได้รับเมื่อพวกเขารับใช้

  • หากเราทำดีกับคนอื่นโดยไม่หวังอะไรกลับคืน พระเจ้าทรงสัญญาว่าจะเกิดอะไรขึ้น (นักเรียนควรระบุหลักธรรมในทำนองนี้ หากเราทำดีกับคนอื่นโดยไม่หวังอะไรกลับคืน บำเหน็จของเราจะยิ่งใหญ่และเราจะเป็นบุตรธิดาขององค์ผู้สูงสุด)

อธิบายว่าแม้ว่าเราทุกคนเป็นบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้า คนที่ทำดีกับผู้อื่นทำให้ศัพยภาพแห่งสวรรค์ของพวกเขาเกิดสัมฤทธิผลโดยการเป็นเหมือนพระบิดาบนสวรรค์

  • เหตุใดคำสัญญานี้จึงเป็นบำเหน็จที่ดีที่สุดสำหรับการรักและทำดีต่อผู้อื่น

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ลูกา 6:36–38 ขอให้ชั้นเรียนที่เหลือดูตาม โดยมองหาตัวอย่างที่พระเยซูทรงบอกวิธีที่เราสามารถทำดีกับผู้อื่น

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 36–37 ตัวอย่างอะไรบ้างที่พระเยซูทรงบอกวิธีที่เราสามารถทำดีกับผู้อื่น (ท่านอาจต้องการอธิบายว่าคนที่ทำดีในวิธีเหล่านี้จะได้รับพระเมตตาและการให้อภัยจากพระผู้เป็นเจ้า)

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจ ข้อ 38 ให้นำถัง ตะกร้า หรือกล่องและสิ่งของอื่นๆ สองสามชิ้นเช่น เสื้อผ้า อาหาร และขวดน้ำมาที่ชั้นเรียน ให้แน่ใจว่านำเอาของมาเกินกว่าจะใส่ลงไปในภาชนะที่ท่านนำมา เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งออกมาหน้าห้อง ขอให้เขาพยายามบรรจุสิ่งของลงในภาชนะให้มากชิ้นเท่าที่จะเป็นไปได้ เมื่อนักเรียนทำเสร็จแล้ว ให้ถามว่า

  • วลี “ยัดสั่น แน่นพูน ล้นเต็มหน้าตัก” (ข้อ 38) บรรยายถึงความพยายามของท่านในการบรรจุสิ่งของลงไปในภาชนะนี้อย่างไร (ขอบคุณนักเรียน และเชื้อเชิญให้เขานั่งลง)

  • วลีเหล่านี้บรรยายถึงวิธีที่พระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ประทานบำเหน็จแก่เราเมื่อเรารับใช้ผู้อื่นอย่างไร (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกันแต่ควรระบุความจริงต่อไปนี้ เมื่อเราให้ผู้อื่นอย่างเผื่อแผ่ พระบิดาบนสวรรค์จะประทานพรเราอย่างเผื่อแผ่มากกว่านั้น)

  • เราจะให้ผู้อื่นอย่างเผื่อแผ่ได้ในทางใดบ้าง

เชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองถึงเวลาที่พวกเขาหรือบางคนที่พวกเขารู้จักให้คนอื่นอย่างเผื่อแผ่ ให้นักเรียนดูคำถามต่อไปนี้ (หรือแจกสำเนาคำถามให้นักเรียน) และเชื้อเชิญให้นักเรียนตอบคำถามในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขา (หรือในเอกสารแจกที่ท่านให้)

  • ท่านหรือคนที่ท่านรู้จักได้รับพรจากพระเจ้าเพราะให้อย่างเผื่อแผ่อย่างไร

  • ท่านจะทำอะไรเพื่อจะเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กับคนอื่นได้มากขึ้น

หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว ท่านอาจเชื้อเชิญนักเรียนคนใดคนหนึ่งที่เต็มใจมาแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเขียน กระตุ้นให้นักเรียนสวดอ้อนวอนขอความช่วยเหลือจากพระเจ้าขณะที่พวกเขาพยายามเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กับผู้อื่น

ลูกา 7:1–10

พระเยซูทรงรักษาทาสของนายร้อย

อธิบายว่าหลังจากสอนมวลชน พระเยซูเสด็จเข้าไปในเมืองชื่อคาเปอรนาอุม

เชิญนักเรียนหลายๆ คนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก ลูกา 7:2–5 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าใครแสวงหาความช่วยเหลือจากพระเยซูหลังจากได้ยินว่าพระองค์เสด็จเข้ามาในเมือง

  • ใครแสวงหาความช่วยเหลือจากพระเยซู

อธิบายว่านายร้อยเป็นเจ้าหน้าที่กองทัพชาวโรมันที่ควบคุมกองทหาร 50 ถึง 100 นาย

  • นายร้อยกังวลเรื่องอะไร

ชี้ให้เห็นว่าชาวยิวไม่ชอบนายร้อยเนื่องจากพวกเขาเป็นตัวแทนอำนาจทางทหารและการเมืองของชาวโรมันที่มีเหนือชาวยิวและแผ่นดินของพวกเขา (ดู คู่มือนักเรียน พันธสัญญาใหม่ [คู่มือของระบบการศึกษาศาสนจักร, 2014], 153)

  • นายร้อยคนนี้เป็นคนประเภทใด

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ลูกา 7:6–8 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่านายร้อยแสดงศรัทธาที่ยิ่งใหญ่ในพระเยซูคริสต์อย่างไร

  • นายร้อยแสดงศรัทธาที่ยิ่งใหญ่ในพระเยซูคริสต์อย่างไร

ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ลูกา 7:9–10 เชื้อเชิญให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าศรัทธาของนายร้อยคนนี้ได้รับผลตอบแทนอย่างไร ขอให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ

  • เราสามารถเรียนรู้หลักธรรมอะไรได้บ้างจากเรื่องราวนี้ (นักเรียนอาจระบุหลักธรรมหลายข้อ รวมถึงหลักธรรมต่อไปนี้ โดยการใช้ศรัทธาในพระเยซูคริสต์ เราสามารถช่วยนำพรมาสู่ชีวิตผู้อื่นได้)

ลูกา 7:11–18

พระเยซูทรงให้บุตรแม่ม่ายเป็นขึ้นจากความตาย

อธิบายว่าหนึ่งวันหลังจากที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงรักษาทาสของนายร้อย พระองค์ทรงทำปาฏิหาริย์อีกอย่างหนึ่ง

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ลูกา 7:11–12 ขอให้ชั้นเรียนที่เหลือดูตาม โดยมองหาสิ่งที่พระเยซูและสานุศิษย์ของพระองค์พบขณะพวกเขาไปถึงเมืองที่ชื่อนาอิน

แทนที่จะให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ลูกา 7:11–12 ท่านอาจฉายบางส่วนของ วีดิทัศน์ “The Widow of Nain (หญิงม่ายแห่งนาอิน)” (0:00–0:45) from วีดิทัศน์พระคัมภีร์ไบเบิล พระชนม์ชีพของพระเยซูคริสต์,ที่มีอยู่ใน LDS.org

  • พระเยซูและสานุศิษย์ของพระองค์เห็นอะไรเมื่อพวกเขากำลังจะถึงทางเข้าเมือง

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 12 เหตุใดการตายของเด็กหนุ่มคนนี้จึงเป็นเรื่องน่าสลดใจเป็นพิเศษสำหรับหญิงคนนี้

ชี้ให้เห็นว่าหญิงคนนี้ไม่เพียงสูญเสียลูกชายคนเดียวของเธอเพราะความตาย แต่เธอพึ่งสูญเสียสามีของเธอด้วย นอกเหนือจากความโศกเศร้าที่เธอคงรู้สึก เธออาจไม่มีใครช่วยเหลือเธอทางด้านการเงิน

ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ลูกา 7:13–15 หรือฉายส่วนที่เหลือของวีดิทัศน์ (0:45–2:23) เชื้อเชิญให้ชั้นเรียนมองหาสิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงทำเมื่อพระองค์ทรงเห็นหญิงคนนี้กำลังโศกเศร้า (ท่านอาจต้องการอธิบายว่าโลงคือโลงศพหรือแท่นรองรับโลงศพ)

  • พระผู้ช่วยให้รอดทรงทำอะไรให้หญิงคนนี้

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 13 เหตุใดพระเยซูทรงรักษาบุตรชายของหญิงคนนี้ (ท่านอาจต้องการชี้ให้เห็นว่าหญิงม่ายไม่ได้ทูลขอให้พระองค์ทรงรักษาลูกชายของเธอแต่พระองค์ทรงสังเกตเห็นความต้องการของเธอและจากนั้นจึงสนองความต้องการนั้น)

  • ท่านอาจมีความรู้สึกใดหากท่านอยู่ในสถานการณ์ของหญิงม่ายคนนี้และได้เห็นพระผู้ช่วยให้รอดทรงทำให้ลูกชายคนเดียวของท่านเป็นขึ้นมาจากความตาย

  • เราสามารถเรียนรู้ความจริงอะไรจากเรื่องราวนี้เกี่ยวกับวิธีที่เราสามารถทำตามแบบอย่างของพระเยซูคริสต์ (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่ให้แน่ใจว่าพวกเขาระบุความจริงต่อไปนี้ เราสามารถทำตามแบบอย่างของพระเยซูคริสต์โดยแสดงความสงสารผู้อื่นและสนองความต้องการที่พวกเขาไม่สามารถบอกกล่าว)

  • เราจะเล็งเห็นความต้องการของผู้อื่นเมื่อพวกเขาไม่บอกเราได้อย่างไร

อธิบายว่าขณะที่นักเรียนพยายามให้พระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นเพื่อน พวกเขาสามารถได้รับการกระตุ้นเตือนเกี่ยวกับวิธีที่พวกเขาจะตอบสนองความต้องการของผู้อื่นที่ซ่อนอยู่ นอกจากนี้ นักเรียนอาจไตร่ตรองคำแนะนำของประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์แห่งฝ่ายประธานสูงสุดที่เคยได้รับมาแล้วครั้งหนึ่ง “เมื่อคุณพบกับคนหนึ่ง ปฏิบัติต่อเขาเหมือนกับว่าเขามีปัญหาร้ายแรง และมันจะเป็นจริงมากกว่าครึ่งหนึ่ง” (“ด้วยกำลังจากพระเจ้า,” เลียโฮนา, พ.ค. 2004, 19)

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจความจริงและความสำคัญของหลักธรรมที่พวกเขาระบุ เชื้อเชิญให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้โดยประธานโธมัส เอส. มอนสัน

ภาพ
ประธานโธมัส เอส. มอนสัน

“มีเรื่องราวการปฏิบัติศาสนกิจสองสามเรื่องของพระอาจารย์ที่ทำให้ข้าพเจ้าประทับใจมากกว่าแบบอย่างความสงสารที่แสดงออกกับหญิงม่ายผู้โศกเศร้าที่นาอิน …

“พระอาจารย์ทรงแสดงพลังอำนาจ ความอ่อนโยน ความสงสารอะไรเช่นนั้น! เราสามารถเป็นพรเช่นกันหากเราจะทำตามแบบอย่างอันสูงส่งของพระองค์ เรามีโอกาสทำทุกที่ เราต้องมีตาที่จะเห็นชะตากรรมที่น่าสงสารและหูที่จะได้ยินเสียงวิงวอนเงียบๆ ของใจที่ชอกช้ำ ใช่แล้ว และจิตวิญญาณที่เปี่ยมด้วยความสงสาร เพื่อที่เราจะสื่อสารไม่ใช่โดยการมองตาหรือหูที่ได้ยินเสียงแต่ด้วยใจต่อใจ ในรูปแบบอันสูงส่งของพระผู้ช่วยให้รอด” (“Meeting Life’s Challenges,” Ensign, พ.ย. 1993, 71)

  • ท่านหรือครอบครัวของท่านได้รับความสงสารหรือการรับใช้จากผู้อื่น แม้เมื่อท่านไม่ได้ขอเมื่อใด

  • การทำตามแบบอย่างของพระคริสต์จะช่วยเราพัฒนาความสามารถในการเล็งเห็นความต้องการที่ผู้อื่นไม่ได้บอกกล่าวอย่างไร

หากท่านไม่ได้ฉายวีดิทัศน์ เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ลูกา 7:16–17 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าผู้คนมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อปาฏิหาริย์ในการทำให้บุตรชายของหญิงม่ายฟื้น

  • ผู้คนมีปฏิกิริยาอย่างไรหลังจากพระเยซูทรงทำให้บุตรชายของหญิงม่ายฟื้น

อธิบายว่าผู้คนอาจประกาศว่า “ผู้เผยพระวจนะที่ยิ่งใหญ่มาเกิดท่ามกลางเราแล้ว” (ข้อ 16) เนื่องจากความคล้ายคลึงระหว่างการรักษาบุตรของหญิงม่ายในนาอินกับเหตุการณ์ที่เอลียาห์และเอลีชาผู้เผยวจนะในพันธสัญญาเดิมทำให้บุตรชายฟื้นขึ้นจากความตาย (ดู 1 พงศ์กษัตริย์ 17:17–24; 2 พงศ์กษัตริย์ 4:17–22, 32–37; คู่มือนักเรียน พันธสัญญาใหม่, 154)

สรุปโดยเชื้อเชิญให้นักเรียนมองหาโอกาสที่จะตอบสนองความต้องการที่ผู้อื่นไม่ได้บอกกล่าว กระตุ้นให้พวกเขารับใช้ด้วยความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และโดยไม่คาดหวังสิ่งตอบแทน

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

ลูกา 6:31–38 เหตุใดเราจึงรับใช้ผู้อื่น

เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองทำรายการเหตุผลอันสมควรที่เราจะรับใช้และระบุเหตุผลที่เรา ควร รับใช้

“คนเรารับใช้กันด้วยเหตุผลต่างกัน และเหตุผลบางอย่างดีกว่าเหตุผลอื่น อาจจะไม่มีใครในพวกเราที่รับใช้ทุกความสามารถตลอดเวลาเพื่อเหตุผลเดียว เนื่องจากเราเป็นสัตภาวะที่ไม่ดีพร้อม เราส่วนใหญ่คงรับใช้ด้วยเหตุผลรวมๆ กันหลายอย่าง และเหตุผลที่รวมกันคงต่างกันไปในแต่ละครั้งขณะที่เราเติบโตทางวิญญาณ แต่เราทุกคนควรพยายามรับใช้ด้วยเหตุผลที่สูงส่งที่สุดและดีที่สุด

“มีเหตุผลอะไรบ้างที่เราจะรับใช้ ข้าพเจ้าแนะนำเหตุผลหกประการ ตั้งแต่สูงส่งน้อยที่สุดจนถึงสูงส่งมากที่สุด

“บางคนอาจรับใช้เพราะหวังรางวัลทางโลก …

“อีกเหตุผลหนึ่งในการรับใช้—ซึ่งอาจมีค่ามากกว่าประการแรก แต่ยังคงจัดอยู่ในประเภทการรับใช้เพราะหวังรางวัลทางโลก—คือการได้รับแรงกระตุ้นจากความปรารถนาส่วนตัวเพื่อจะได้คู่ครองที่ดี …

“บางคนอาจรับใช้เพราะกลัวถูกลงโทษ … …

“คนอื่นๆ อาจรับใช้เพราะสำนึกในหน้าที่หรือเพราะความภักดีต่อมิตรสหายหรือครอบครัวหรือประเพณี … …

“เหตุผลที่สูงส่งกว่าอย่างหนึ่งในการรับใช้คือหวังจะได้รางวัลนิรันดร์ …

“ในความคิดเห็นของข้าพเจ้า แรงจูงใจสุดท้าย… เป็นเหตุผลสำคัญที่สุด ในความสัมพันธ์ของเหตุผลที่จะรับใช้ นี่คือสิ่งที่พระคัมภีร์เรียกว่าเป็น ‘ทางที่ดีที่สุด’ (1 โครินธ์ 12:31)

“จิตกุศลคือความรักอันบริสุทธิ์ของพระคริสต์” (โมโรไน 7:47) …

“หลักธรรมนี้—ที่ว่าการรับใช้ของเราควรเป็นไปเพื่อความรักของพระผู้เป็นเจ้าและความรักของเพื่อนมนุษย์แทนที่จะเป็นประโยชน์ส่วนตัวหรือแรงจูงใจที่ด้อยกว่าเรื่องอื่น ๆ—ถือว่าเป็นมาตรฐานที่สูงส่ง พระผู้ช่วยให้รอดต้องทอดพระเนตรเห็นดังนั้นด้วย เนื่องจากพระองค์ทรงรวมเอาพระบัญญัติพระองค์เรื่องความรักอันไม่เห็นแก่ตัวและสมบูรณ์แบบไว้กับแนวคิดเรื่องความดีพร้อม” (“Why Do We Serve?” New Era, March 1988, 6, 7; ดู Dallin H. Oaks, “Why Do We Serve?” Ensign, Nov. 1984, 12–15 ด้วย)