คลังค้นคว้า
บทที่ 55: ลูกา 17


บทที่ 55

ลูกา 17

คำนำ

พระองค์ทรงสอนสานุศิษย์ของพระองค์เกี่ยวกับความจำเป็นในการให้อภัยผู้อื่น หลังจากนั้น เหล่าอัครสาวกทูลขอพระเยซูให้เพิ่มพูนศรัทธาของพวกเขา เพื่อตอบคำทูลนั้น พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนอุปมาเรื่องบ่าวที่ไม่มีบุญคุณต่อนาย จากนั้น พระเยซูทรงรักษาคนโรคเรื้อนสิบคน แต่มีเพียงคนเดียวที่กลับมาขอบพระทัย พระผู้ช่วยให้รอดทรงเผชิญหน้ากับพวกฟาริสี พระองค์ทรงสอนเกี่ยวกับการมาถึงของแผ่นดินของพระเจ้า

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

ลูกา 17:1–10

เหล่าอัครสาวกทูลขอพระเยซูให้เพิ่มพูนศรัทธาของพวกเขา

เชื้อเชิญให้นักเรียนนึกถึงสถานการณ์ที่อาจต้องเรียกร้องพวกเขาให้ใช้ศรัทธา (เช่นการแสวงหาพรฐานะปุโรหิต การจ่ายส่วนสิบ หรือการเป็นผู้พูดหรือสอนบทเรียนที่โบสถ์) เชื้อเชิญให้นักเรียนสองสามคนรายงานสิ่งที่พวกเขานึกถึง หรือเขียนรายการคำตอบของพวกเขาบนกระดาน

ขอให้นักเรียนไตร่ตรองคำถามต่อไปนี้ในใจ

  • ท่านเคยต้องการมีศรัทธาที่ยิ่งใหญ่ขึ้นหรือไม่ หากเคย ประสบการณ์ใดที่ทำให้ท่านรู้สึกเช่นนี้

เชื้อเชิญให้นักเรียนมองหาหลักธรรมขณะที่พวกเขาศึกษา ลูกา 17 ที่จะช่วยให้พวกเขาเพิ่มพูนศรัทธา

สรุป ลูกา 17:1–2 โดยอธิบายว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงเตือนว่าคนที่นำให้คนอื่นหลงผิดหรือชักจูงให้พวกเขาทำบาปจะต้องรับผิดชอบต่อการกระทำนั้น

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน ลูกา 17:3–4 ในใจมองหาพระบัญญัติที่พระผู้ช่วยให้รอดประทานสานุศิษย์ของพระองค์ที่อาจเรียกร้องศรัทธา

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 3 พระเยซูทรงบัญชาสานุศิษย์ของพระองค์ให้ทำอะไรหากมีคนทำผิดต่อพวกเขา

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 4 สานุศิษย์ต้องให้อภัยบ่อยเพียงใด (ท่านอาจอธิบายว่าพระดำรัสตอบของพระผู้ช่วยให้รอดเป็นการบอกว่าเราควรให้อภัยไม่ว่าเราจะถูกกระทำกี่ครั้งก็ตามจากคนที่กลับใจ)

  • เหตุใดจึงเป็นการยากที่จะให้อภัยคนที่ทำผิดต่อท่านซ้ำแล้วซ้ำเล่า

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ลูกา 17:5 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่อัครสาวกปรารถนาจากพระผู้ช่วยให้รอดหลังจากพระองค์ตรัสบอกสานุศิษย์ให้อภัยคนที่ทำให้พวกเขาขุ่นเคืองใจ

  • อัครสาวกปรารถนาอะไรจากพระผู้ช่วยให้รอด (ท่านอาจต้องการเชื้อเชิญให้นักเรียนทำเครื่องหมายวลี “ให้ความเชื่อของพวกข้าพระองค์เพิ่มมากยิ่งขึ้น” ในพระคัมภีร์)

  • การแสวงหาศรัทธาที่ยิ่งใหญ่มากขึ้นในพระเจ้าจะช่วยให้สานุศิษย์เชื่อฟังพระบัญญัติในการให้อภัยผู้อื่นได้อย่างไร

สรุป ลูกา 17:6 โดยอธิบายว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนสานุศิษย์ของพระองค์ว่าศรัทธาที่มีขนาดเท่าเมล็ดมัสตาร์ดเมล็ดหนึ่งก็สามารถทำให้เกิดปาฏิหาริย์ เพื่อช่วยให้เหล่าอัครสาวกรู้ว่าจะเพิ่มศรัทธาของพวกเขาอย่างไร พระเยซูประทานอุปมาที่อธิบายความสัมพันธ์ของนายกับบ่าว

เขียนข้อความที่ไม่ครบถ้วนต่อไปนี้ไว้บนกระดาน ศรัทธาของเราจะเพิ่มขึ้นเมื่อเรา…

เชื้อเชิญนักเรียนหลายๆ คนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก ลูกา 17:7–10 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่นายคาดหวังจากบ่าวของเขา

  • นายคาดหวังอะไรจากบ่าวของเขา

อธิบายว่าในสมัยพระคัมภีร์ไบเบิลนายจะจัดหาสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตทุกอย่างให้บ่าวของเขาขณะที่บ่าวปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างซื่อสัตย์ตามที่คาดหวังไว้ เนื่องจากเหตุนี้ จึงไม่จำเป็นที่นายจะต้องขอบคุณบ่าวของเขาเป็นพิเศษหรือรู้สึกเป็นหนี้บ่าวที่ทำหน้าที่ของเขา

  • พระบิดาบนสวรรค์ของเราทรงเป็นเหมือนนายในอุปมานี้อย่างไร พระองค์ทรงคาดหวังอะไรจากเรา (ให้ทำ “สิ่งสารพัดที่บัญชาไว้” กับเรา [ข้อ 10])

เพิ่มข้อความบนกระดานเพื่อจะอ่านได้ว่า ศรัทธาของเราจะเพิ่มขึ้นเมื่อเราพยายามทำสิ่งสารพัดที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงบัญชา

เพื่อช่วยให้นักเรียนเห็นว่ามีอะไรอื่นอีกที่จะเพิ่มศรัทธาของพวกเขา ให้ถามว่า

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 10 บ่าวควรพูดอะไรหลังจากทำตามบัญชาจากนายของเขา

  • การเป็น “บ่าวที่ไม่มีบุญคุณต่อนาย” หมายความว่าอย่างไร (หมายความว่าไม่ว่าคนจะรักษาพระบัญญัติดีเพียงใด พวกเขาจะเป็นหนี้พระผู้เป็นเจ้าเสมอ)

  • เหตุใดเราจึงเป็นหนี้พระบิดาบนสวรรค์เสมอ แม้เมื่อเราเชื่อฟังและดำเนินชีวิตอย่างชอบธรรม (เนื่องจากพระบิดาบนสวรรค์ประทานพรแก่เราเสมอ เราไม่มีวันจ่ายคืนพระองค์หมด [ดู โมไซยาห์ 2:20–26])

เติมข้อความบนกระดานให้ครบถ้วนเพื่อจะสื่อถึงหลักธรรมต่อไปนี้ ศรัทธาของเราจะเพิ่มขึ้นเมื่อเราพยายามทำสิ่งสารพัดที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงบัญชาและเมื่อเราจำไว้ว่าเราเป็นหนี้พระองค์เสมอ ท่านอาจต้องการกระตุ้นให้นักเรียนเขียนหลักธรรมนี้ในพระคัมภีร์ของพวกเขา

  • การพยายามทำสิ่งสารพัดที่พระบิดาบนสวรรค์บัญชาเพิ่มศรัทธาของเราอย่างไร

เชื้อเชิญให้นักเรียนใตร่ตรองถึงเวลาที่พวกเขารักษาพระบัญญัติหรือทำหน้าที่ของพวกเขาอย่างเชื่อฟังและรู้สึกว่าศรัทธาเพิ่มขึ้น เชื้อเชิญให้พวกเขาเขียนความคิดของพวกเขาลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขา

หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว เชื้อเชิญให้นักเรียนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเขียนให้กันและกันฟัง เชื้อเชิญนักเรียนสองสามคนแบ่งปันความคิดของพวกเขากับชั้นเรียน

ลูกา 17:11–19

พระเยซูทรงรักษาคนโรคเรื้อนให้หายสะอาด

เขียนข้อความที่ไม่สมบูรณ์ต่อไปนี้บนกระดาน ในสมัยพระคัมภีร์ไบเบิล เป็นความท้าทายอย่างมากที่ต้องทนทุกข์จากโรคเรื้อนเพราะ 

ช่วยนักเรียนทบทวนสิ่งที่พวกเขารู้เกี่ยวกับโรคเรื้อนโดยขอให้พวกเขาบอกชั้นเรียนว่าพวกเขาจะเติมข้อความให้ครบถ้วนว่าอย่างไร ตัวอย่างเช่น นักเรียนอาจกล่าวว่าโรคเรื้อนจะนำไปสู่การเสียโฉมและความตาย คนโรคเรื้อนถูกแยกออกจากสังคมที่เหลือเพื่อปกป้องสุขอนามัยของผู้อื่น พวกเขาถูกกำหนดให้ร้องว่า “มลทิน!” เพื่อเตือนใครก็ตามที่เข้ามาใกล้พวกเขา (ดู Bible Dictionary, “Leper”)

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ลูกา 17:11–12 ขอให้ชั้นเรียนมองหาว่าพระเยซูทรงพบใครเมื่อพระองค์ทรงแวะที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งขณะเสด็จไปเยรูซาเล็ม เชื้อเชิญให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ

  • ถ้าท่านเป็นหนึ่งในคนโรคเรื้อนเหล่านั้น ท่านน่าจะมีความรู้สึกอย่างไรเมื่อท่านเห็นพระเยซู

ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ลูกา 17:13–14 เชื้อเชิญให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่คนโรคเรื้อนพูดกับพระผู้ช่วยให้รอดและพระดำรัสตอบของพระองค์ที่ประทานแก่พวกเขา

  • คนโรคเรื้อนทูลขออะไรพระเยซู

  • พระเยซูรับสั่งให้พวกเขาทำอะไร

อธิบายว่าตามกฎของโมเสสกำหนดว่าคนโรคเรื้อนต้องไปแสดงตนกับปุโรหิตหลังจากพวกเขาหายเพื่อรับกลับเข้าสังคม (ดู เลวีนิติ 14)

  • เกิดอะไรขึ้นเมื่อพวกคนโรคเรื้อนไป

  • เราเรียนรู้หลักธรรมใดจาก ข้อ 14 เกี่ยวกับสิ่งที่เราต้องทำเพื่อรับพรจากพระเจ้า (นักเรียนควรระบุความจริงทำนองนี้ เราได้รับพรจากพระเจ้าเมื่อเราทำสิ่งที่พระองค์รับสั่งให้เราทำ)

ขอให้นักเรียนพิจารณาว่าจะเป็นเช่นไรที่เป็นคนหนึ่งในบรรดาคนโรคเรื้อนที่หายจากโรค

  • ท่านคิดว่าท่านจะทำอย่างไรเมื่อท่านรู้ตัวว่าท่านหายจากโรคเรื้อน

เชื้อเชิญนักเรียนหลายคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก ลูกา 17:15–19 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าคนโรคเรื้อนคนหนึ่งตอบสนองแตกต่างจากคนอื่นๆ อย่างไร

  • คนโรคเรื้อนชาวสะมาเรียทำอะไรที่บ่งบอกถึงความสำนึกคุณต่อพระผู้ช่วยให้รอด

  • เหตุใดลูกาจึงบอกว่าคนโรคเรื้อนที่สำนึกคุณเป็นชาวสะมาเรีย—ซึ่งเป็นคนที่ชาวยิวส่วนใหญ่มักดูถูก รายละเอียดนี้เพิ่มความเข้าใจของเราเกี่ยวกับเรื่องราวนี้อย่างไร

  • เราสามารถเรียนรู้ความจริงอะไรจากคนโรคเรื้อนที่กลับมาขอบพระคุณพระเจ้า (นักเรียนควรระบุความจริงทำนองนี้ เป็นสิ่งสำคัญที่จะแสดงความสำนึกคุณสำหรับพรที่เราได้รับ)

  • เหตุใดจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะแสดงความสำนึกคุณของเราต่อพระผู้เป็นเจ้าสำหรับพรที่เราได้รับ

  • บางครั้งเราเป็นเหมือนคนโรคเรื้อนอีกเก้าคนอย่างไร

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานโธมัส เอส. มอนสัน

ภาพ
ประธานโธมัส เอส. มอนสัน

“พี่น้องทั้งหลาย เราจำได้หรือไม่ว่าต้องขอบพระทัยสำหรับพรที่เราได้รับ การขอบพระทัยอย่างจริงใจไม่เพียงช่วยให้เราตระหนักถึงพรของเราเท่านั้น แต่เป็นการเปิดประตูสวรรค์และช่วยให้เรารู้สึกถึงความรักของพระผู้เป็นเจ้าด้วย” (“ของประทานอันสูงส่งของความกตัญญู,” เลียโฮนา, พ.ย. 2010, 111)

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 19 พระผู้ช่วยให้รอดตรัสว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับคนโรคเรื้อนคนนี้เนื่องจากการกระทำของเขา (เขาหายเป็นปกติ)

  • การขอบพระทัยพระเจ้าสำหรับพรของเราจะช่วยให้เราหายดีในทางใดบ้าง

เชื้อเชิญให้นักเรียนบันทึกพรที่เจาะจงจากพระบิดาบนสวรรค์ที่พวกเขาสำนึกคุณลงในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขา เชื้อเชิญให้พวกเขาเขียนว่าพวกเขาจะดำเนินชีวิตในความสำนึกคุณสำหรับพรเหล่านี้ได้อย่างไร

ลูกา 17:20–37

พระเยซูทรงสอนเกี่ยวกับการมาถึงของแผ่นดินพระเจ้า

สรุป ลูกา 17:20–37 โดยอธิบายว่าพระเยซูทรงสอนเกี่ยวกับการเสด็จมาครั้งที่สองของพระองค์ (หมายเหตุ: คำสอนที่คล้ายกันมีอยู่ในเนื้อหาบทเรียนสำหรับ มัทธิว 24 และ โจเซฟ สมิธ—มัทธิว)

ท่านอาจต้องการสรุปโดยแบ่งปันประจักษ์พยานของท่านถึงความจริงที่ระบุในบทนี้ เชื้อเชิญให้นักเรียนประยุกต์ใช้ความจริงเหล่านี้ในชีวิตของพวกเขา

ภาพ
ไอคอนผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์
การทบทวนผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์

กิจกรรมนี้สามารถใช้ช่วยให้นักเรียนท่องจำข้อความผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์

แบ่งชั้นเรียนออกเป็นกลุ่มๆ ละสี่หรือห้าคน แจกลูกเต๋าและดินสอให้แต่ละกลุ่ม (หากไม่มีลูกเต๋า ท่านอาจใส่กระดาษชิ้นเล็กๆ หกชิ้นที่เขียนเลข 1–6 ในซองหรือภาชนะอื่น) นักเรียนแต่ละคนต้องมีแผ่นกระดาษเปล่าคนละหนึ่งแผ่นด้วย ขอให้นักเรียนแต่ละกลุ่มนั่งใกล้กันรอบโต๊ะหรือนั่งเป็นวงกลม เชื้อเชิญให้พวกเขาเปิดพระคัมภีร์ไปที่ข้อความผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ที่ท่านอยากให้พวกเขาท่องจำ อธิบายว่าเป้าหมายของกิจกรรมคือให้เป็นคนแรกในกลุ่มที่เขียนข้อพระคัมภีร์นี้ได้ครบถ้วน อย่างไรก็ตาม นักเรียนต้องใช้ดินสอแท่งเดียวที่ให้แต่ละกลุ่ม คนที่จะใช้ดินสอได้ต้องโยนลูกเต๋าไปที่เลข 1 (หรือจับกระดาษหมายเลข 1 ขึ้นมา) เชื้อเชิญสมาชิกในกลุ่มที่จะผลัดกันโยนลูกเต๋า (หรือจับกระดาษแล้วใส่คืน) เมื่อนักเรียนโยนได้เลข 1 คนนั้นจะนำดินสอมาเริ่มเขียนคำจากข้อพระคัมภีร์ในกระดาษของเขา โดยพูดออกเสียงแต่ละคำ ในขณะที่คนอื่นๆ ในกลุ่มผลัดกันโยนลูกเต๋า เมื่อนักเรียนอีกคนในกลุ่มโยนได้เลข 1 คนนั้นนำดินสอไปจากคนที่เขียนก่อนหน้าและเริ่มเขียนข้อพระคัมภีร์ในกระดาษของเขาขณะที่พูดออกเสียงคำนั้น คนที่เขียนก่อนหน้ากลับมาผลัดกันโยนลูกเต๋ากับกลุ่ม เมื่อนักเรียนที่โยนได้ดินสอและเขียนบางส่วนของข้อแล้วพวกเขาต้องอ่านออกเสียงส่วนที่เขียนไว้ก่อนที่จะเขียนเพิ่มจากข้อนั้น (นี่จะทำให้เกิดการทำซ้ำๆ ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนท่องจำข้อพระคัมภีร์ได้) กิจกรรมนี้จบลงเมื่อนักเรียนคนหนึ่งในแต่ละกลุ่มเขียนข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ครบถ้วน

ขอให้ชั้นเรียนท่องออกเสียงข้อนั้นพร้อมๆ กันหลังจากกิจกรรม

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

ลูกา 17:15–16 “คนหนึ่งในพวกนั้น … กราบลงที่พระบาท …ขอบพระคุณพระองค์ ”

ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์พูดเกี่ยวกับความสำคัญของความสำนึกคุณ

“นิสัยในการพูดขอบคุณเป็นเครื่องหมายของชายและหญิงที่มีการศึกษา …

“… ขอให้วิญญาณของการน้อมขอบพระทัยนำท่านและเป็นพรแก่วันคืนของท่าน พยายามเป็นเช่นนั้น ท่านจะพบว่าสิ่งนี้จะเกิดผลอันยอดเยี่ยม” (“A Prophet’s Counsel and Prayer for Youth,” Ensign, Jan. 2001, 4, or Liahona, Apr. 2001, 32)

ประธานเดวิด โอ. แมคเคย์สอนว่าเราจะพูดขอบคุณอย่างไรดังนี้

“ความสำนึกคุณนั้นลึกซึ้งยิ่งกว่าการขอบคุณ ความขอบคุณเป็นจุดเริ่มต้นของความสำนึกคุณ ความสำนึกคุณทำให้การขอบคุณสมบูรณ์แบบ การขอบคุณอาจประกอบด้วยคำพูดเท่านั้น ความสำนึกคุณแสดงออกด้วยการกระทำ” (“The Meaning of Thanksgiving,” Improvement Era, Nov. 1964, 914)

งานแปลของโจเซฟ สมิธ, ลูกา 17:21 “อาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้ามาถึงท่านแล้ว”

ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธสอนสิ่งต่อไปนี้เกี่ยวกับ “อาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า”

“บางคนพูดว่าอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้าไม่ได้ตั้งอยู่แผ่นดินโลกจนถึงเพ็นเทคอสต์ และยอห์น [ผู้ถวายบัพติศมา] ไม่ได้สั่งสอนเรื่องบัพติศมาของการกลับใจเพื่อการปลดบาป แต่ข้าพเจ้ากล่าวในพระนามของพระเจ้าว่าอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้าจัดตั้งอยู่บนแผ่นดินโลกนับจากสมัยของอาดัมจนถึงปัจจุบัน เมื่อใดก็ตามที่มีชายชอบธรรมบนแผ่นดินโลกผู้ที่พระผู้เป็นเจ้าทรงเปิดเผยพระวจนะของพระองค์ต่อเขา ประทานอำนาจและสิทธิอำนาจให้เขาปฏิบัติในนามของพระองค์… ย่อมมีอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า” (ดู คำสอนของประธานศาสนาจักร: โจเซฟ สมิธ [2007], 88)