คลังค้นคว้า
บทที่ 129: 2 เธสะโลนิกา


บทที่ 129

2 เธสะโลนิกา

คำนำ

ไม่นานหลังจากเขียนสาส์นฉบับแรกไปหาวิสุทธิชนชาวเธสะโลนิกา เปาโลเขียนสาส์นฉบับที่สองไปหาพวกเขา ซึ่งเขาได้ชี้แจงความจริงเกี่ยวกับการเสด็จมาครั้งที่สอง เขาสอนว่าพระผู้ช่วยให้รอดจะไม่เสด็จมาอีกจนหลังจากเกิดการละทิ้งความเชื่อ จากนั้น เปาโลสั่งสอนไม่ให้เกียจคร้านและแนะนำให้วิสุทธิชน ‘อย่าอ่อนใจที่จะทำความดี’ (2 เธสะโลนิกา 3:13)

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

2 เธสะโลนิกา 1–2

เปาโลให้กำลังใจวิสุทธิชนโดยพยากรณ์ถึงการเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซูคริสต์

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำประกาศต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

ภาพ
เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์

“ข้าพเจ้ากล่าวแก่ทุกท่านโดยเฉพาะเยาวชนของศาสนจักรว่า หากท่านยังไม่ได้อยู่ในจุดนั้น วันหนึ่งท่านจะพบตนเองถูกเรียกร้องให้ปกป้องศรัทธาของท่าน หรือบางทีแม้กระทั่งอดทนรับการข่มเหงส่วนตัวบางอย่างเพียงเพราะว่าท่านเป็นสมาชิกศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย” (“ราคา—และพร—ของการเป็นสานุศิษย์,” เลียโฮนา, พ.ค. 2014, 6)

ขอให้นักเรียนยกมือถ้าพวกเขาเคยต้องปกป้องความเชื่อของพวกเขาหรือทนกับการต่อต้านเนื่องจากเป็นสมาชิกศาสนจักร เชื้อเชิญนักเรียนสองสามคนแบ่งปันประสบการณ์ของพวกเขา

อธิบายว่าเปาโลเขียนจดหมายฉบับที่สองไปถึงวิสุทธิชนชาวเธสะโลนิกาและตอบหลายหัวข้อ รวมถึงการต่อต้านที่วิสุทธิชนเผชิญ เชื้อเชิญให้นักเรียนมองหาหลักธรรมขณะพวกเขาศึกษา 2 เธสะโลนิกา 1 ซึ่งจะช่วยพวกเขาอดทนต่อการต่อต้านและความยากลำบากที่พวกเขาอาจเผชิญในฐานะสมาชิกศาสนจักร

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 2 เธสะโลนิกา 1:3–5 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสาเหตุที่เปาโลชื่นชมวิสุทธิชนในเมืองเธสะโลนิกา

  • เหตุใดเปาโลจึงชื่นชมวิสุทธิชนในเมืองเธสะโลนิกา

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 5 วิสุทธิชนจะได้รับรางวัลอะไรจากการอดทนต่อการต่อต้านและความยากลำบากด้วย “ความทรหดอดทนและความเชื่อ”

  • เราสามารถเรียนรู้หลักธรรมอะไรจากข้อเหล่านี้เกี่ยวกับวิธีที่เราจะได้รับพรหากเราอดทนต่อการต่อต้านและความยากลำบากด้วยความทรหดอดทนและศรัทธา (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกันแต่ควรระบุหลักธรรมทำนองนี้ หากเราอดทนอย่างซื่อสัตย์ต่อการต่อต้านและความยากลำบากด้วยความทรหดอดทนและศรัทธา เราอาจถูกนับว่ามีค่าควรแก่อาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า)

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟแห่งฝ่ายประธานสูงสุด ขอให้ชั้นเรียนฟังว่าการอดทนหมายความว่าอย่างไร

ภาพ
ประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ

“ความทรหดอดทนไม่ใช่การยอมแพ้เฉยๆ ทั้งไม่ใช่การหยุดลงมือทำเพราะความกลัว ความทรหดอดทนหมายถึงการรอคอยและอดทนอย่างกระตือรือร้น หมายถึงอยู่กับบางสิ่งและทำสุดความสามารถ—ทำงาน หวัง และใช้ศรัทธา อดทนต่อความยากลำบากอย่างไม่ย่อท้อแม้เมื่อความปรารถนาของใจเกิดขึ้นช้า ความทรหดอดทนไม่เพียงอดทนเท่านั้น แต่อดทนด้วยดี!” (“อดทนต่อไป,” เลียโฮนา, พ.ค. 2010, 70)

  • ตามที่ประธานอุคท์ดอร์ฟกล่าวไว้ความอดทนหมายความว่าอย่างไร

  • เหตุใดเราจึงต้องการศรัทธาเพื่ออดทนต่อการต่อต้านและความยากลำบาก

เชื้อเชิญให้นักเรียนนึกถึงคนบางคนที่เขารู้จักหรืออ่านในพระคัมภีร์ที่ได้อดทนด้วยความซื่อสัตย์ต่อการต่อต้านและความยากลำบาก

  • ท่านนึกถึงใคร เขาแสดงความซื่อสัตย์และความอดทนต่อการต่อต้านและความยากลำบากอย่างไร

เชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองถึงการต่อต้านหรือความยากลำบากที่พวกเขาอาจกำลังประสบอยู่และให้พิจารณาว่าพวกเขาจะอดทนต่อความท้าทายเหล่านี้ด้วยความอดทนและศรัทธาได้อย่างไร กระตุ้นให้พวกเขาสวดอ้อนวอนเพื่อขอความช่วยเหลือ

อธิบายว่าดังที่บันทึกใน 2 เธสะโลนิกา 1:6–10 เปาโลพยากรณ์ถึงการเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซูคริสต์ แบ่งนักเรียนเป็นกลุ่มๆ ละสองหรือสามคน เชื้อเชิญแต่ละกลุ่มอ่าน 2 เธสะโลนิกา 1:6–10 ด้วยกันและสนทนาคำถามต่อไปนี้ (ท่านอาจต้องการเขียนคำถามต่อไปนี้ไว้บนกระดานหรือทำเป็นเอกสารแจกนักเรียน) เชื้อเชิญให้นักเรียนเขียนคำตอบของพวกเขาลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขา

  • เปาโลใช้คำและวลีใดบรรยายการเสด็จมาครั้งที่สอง

  • จะเกิดอะไรขึ้นกับคนชอบธรรมเมื่อการเสด็จมาครั้งที่สองเกิดขึ้น

  • จะเกิดอะไรขึ้นกับคนชั่วร้ายเมื่อการเสด็จมาครั้งที่สองเกิดขึ้น

หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว เชื้อเชิญนักเรียนสองสามคนรายงานสิ่งที่กลุ่มพบกับชั้นเรียน เขียนความจริงต่อไปนี้บนกระดาน ในการเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซูคริสต์ คนชอบธรรมจะพักผ่อนและคนชั่วร้ายจะถูกทำลาย

  • ท่านคิดว่าคนชอบธรรมจะพักผ่อนจากอะไร

  • หลักคำสอนนี้ปลอบโยนผู้ที่กำลังอดทนต่อความยากลำบากเนื่องจากคำมั่นสัญญาที่พวกเขามีต่อพระเยซูคริสต์อย่างไร

ขอให้นักเรียนยกมือถ้าพวกเขาเคยสงสัยว่าการเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซูคริสต์จะเกิดขึ้นเมื่อใด อธิบายว่าวิสุทธิชนชาวเธสะโลนิกาสงสัยเกี่ยวกับเรื่องนี้เช่นกันและเปาโลกังวลว่าพวกเขาอาจถูกนำให้หลงผิดไป

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่ง อ่านออกเสียง2 เธสะโลนิกา 2:1–2 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่เปาโลคิดว่าวิสุทธิชนชาวเธสะโลนิกาอาจสรุปไปเองเกี่ยวกับเวลาแห่งการเสด็จมาครั้งที่สอง

  • อะไรที่เปาโล ไม่ ต้องการให้ชาวเธสะโลนิกาเชื่อเกี่ยวกับเวลาแห่งการเสด็จมาครั้งที่สอง (ว่าจะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้)

ขอให้นักเรียนอ่าน 2 เธสะโลนิกา 2:3 ในใจโดยมองหาสิ่งที่เปาโลบอกว่าจะเกิดขึ้นก่อนการเสด็จมาครั้งที่สอง อธิบายว่าวลี “วันนั้น” หมายถึงการเสด็จมาครั้งที่สองและ “การกบฏ” หมายถึงการละทิ้งความเชื่อ

  • เราเรียนรู้ความจริงอะไรจากข้อพระคัมภีร์เหล่านี้เกี่ยวกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นก่อนการเสด็จมาครั้งที่สอง (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกันแต่ควรระบุความจริงทำนองนี้ ก่อนการเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซูคริสต์ การละทิ้งความเชื่อจะเกิดขึ้น)

ชี้ให้เห็นว่าในข้อเหล่านี้ เปาโลแนะนำว่าสมาชิกของศาสนจักรในสมัยของพระองค์ควรกังวลมากขึ้นถึงการละทิ้งความเชื่อซึ่งได้เริ่มขึ้นแล้วท่ามกลางพวกเขาแทนที่จะกังวลเกี่ยวกับเวลาการเสด็จมาครั้งที่สองของพระเจ้า

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจมากขึ้นว่าการละทิ้งความเชื่อคืออะไร ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำอธิบายต่อไปนี้

“หลังจากพระเยซูคริสต์สิ้นพระชนม์ คนชั่วข่มเหงอัครสาวกกับสมาชิกศาสนจักร และสังหารพวกเขาจนมีผู้เสียชีวิตมากมาย กุญแจฐานะปุโรหิตและอำนาจของฐานะปุโรหิตควบคุมถูกนำไปจากแผ่นดินโลกพร้อมกับการสิ้นชีวิตของอัครสาวก เดิมทีอัครสาวกเป็นผู้รักษาหลักคำสอนของพระกิตติคุณให้บริสุทธิ์ ธำรงระเบียบและมาตรฐานความมีค่าควรสำหรับสมาชิกศาสนจักร เมื่อไม่มีอัครสาวก หลักคำสอนจึงเสื่อมไปตามกาลเวลาและมีการเปลี่ยนแปลงโดยไม่ได้รับความเห็นชอบในองค์การศาสนจักรและศาสนพิธีฐานะปุโรหิต เช่น บัพติศมาและการประสาทของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์” (สั่งสอนกิตติคุณของเรา: แนวทางการรับใช้งานเผยแผ่ [2004], 35)

  • ตามความเข้าใจนี้เกี่ยวกับการละทิ้งความเชื่อ เหตุใดการฟื้นฟูพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์และศาสนจักรของพระองค์จึงสำคัญ

อธิบายว่า “คนนอกกฎหมาย” ที่กล่าวถึงใน 2 เธสะโลนิกา 2:3 หมายถึงซาตาน การฟื้นฟูพระกิตติคุณ รวมถึงการออกมาของพระคัมภีร์มอรมอน การ “ปรากฏตัว” (ข้อ 3) การหลอกลวงของซาตานและผู้ติดตามของเขา

สรุป 2 เธสะโลนิกา 2:4–17 โดยอธิบายว่าเปาโลพยากรณ์ว่าพระเจ้าจะทรงยอมให้ซาตานหลอกลวงผู้อยู่อาศัยของแผ่นดินโลกจนถึงการเสด็จมาครั้งที่สอง เปาโลกระตุ้นให้วิสุทธิชน “ยึดถือ” สิ่งที่เปาโลสอนพวกเขา (ข้อ 15)

2 เธสะโลนิกา 3

เปาโลเตือนคนที่ไม่มีวินัยและสั่งสอนเรื่องการพึ่งพาตนเอง

อธิบายว่าขณะเปาโลเขียนจดหมายฉบับที่สองไปถึงชาวเธสะโลนิกา สมาชิกศาสนจักรมักจะจัดงานเลี้ยงร่วมกับการรับส่วนศีลระลึก อย่างไรก็ตาม สมาชิกในเมืองเธสะโลนิกาจะเข้าร่วมงานเลี้ยงเพื่อรับประทานแต่ปฏิเสธที่จะช่วยจัดหาหรือเตรียมอาหารเพื่อรับประทาน

  • สถานการณ์นี้อาจทำให้เกิดปัญหาอะไร

สรุป 2 เธสะโลนิกา 3:1–9 โดยอธิบายว่าเปาโลสรรเสริญวิสุทธิชนที่ซื่อสัตย์และเตือนพวกเขาเกี่ยวกับการคบค้าสมาคมกับคนที่ “อยู่อย่างเกียจคร้าน” หรือไม่มีวินัย (ข้อ 6) เปาโลเขียนด้วยว่าเขาและคู่ผู้สอนศาสนาของเขาเป็นแบบอย่างของการพึ่งพาตนเองทางโลกโดยการทำงานเพื่อหาเลี้ยงชีพตนเอง

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 2 เธสะโลนิกา 3:10–13 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่เปาโลแนะนำให้วิสุทธิชนทำกับคนเหล่านั้นที่ไม่ยอมทำงาน

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 12 เปาโลให้คำแนะนำอะไรแก่คนที่ไม่ยอมทำงาน (ให้ “ทำงานด้วยใจสงบ และหาเลี้ยงชีพเอง” หรือพึ่งพาตนเองโดยจัดหาเพื่อความต้องการของพวกเขาเอง)

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 13 คำแนะนำเพิ่มเติมใดที่เปาโลให้แก่วิสุทธิชนผู้ซื่อสัตย์

  • “อย่าอ่อนใจที่จะทำความดี” หมายความว่าอย่างไร

  • เราจะเรียนรู้ความจริงอะไรในข้อเหล่านี้ (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกันแต่ควรระบุความจริงที่คล้ายกันทำนองนี้ เราได้รับบัญชาให้พยายามพึ่งพาตนเองและช่วยผู้อื่น)

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้จาก เพื่อความเข้มแข็งของเยาวชน ขอให้ชั้นเรียนฟังว่าเราจะพยายามพึ่งพาตนเองได้อย่างไร

“พรประการหนึ่งของการทำงานคือพัฒนาการพึ่งพาตนเอง เมื่อท่านพึ่งพาตนเอง ท่านกำลังใช้พรและความสามารถที่พระผู้เป็นเจ้าประทานแก่ท่านเพื่อดูแลตนเองและครอบครัว และเพื่อพบวิธีแก้ไขปัญหาของท่าน การพึ่งพาตนเองมิได้หมายความว่าท่านต้องทำทุกอย่างได้ด้วยตนเอง การพึ่งพาตนเองได้อย่างแท้จริง ท่านต้องเรียนรู้วิธีทำงานกับผู้อื่นและหันไปพึ่งพระเจ้าเพื่อขอความช่วยเหลือและพลังจากพระองค์

“จำไว้ว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงมีงานสำคัญให้ท่านทำ พระองค์จะทรงอวยพรท่านขณะท่านพยายามทำงานนั้นให้บรรลุผลสำเร็จ” (เพื่อความเข้มแข็งของเยาวชน [จุลสาร, 2011], 41)

  • เราจะพยายามพึ่งพาตนเองได้อย่างไร

  • พรของการพึ่งพาตนเองมีอะไรบ้าง

เป็นพยานว่าเมื่อเราพยายามพึ่งพาตนเอง พระเจ้าจะทรงช่วยเราตอบรับความต้องการของเราและช่วยเราแก้ปัญหา

ขอให้นักเรียนพิจารณาว่าพวกเขาสามารถทำอะไรเพื่อพึ่งพาตนเองได้มากขึ้นในเวลานี้และในอนาคต เชื้อเชิญให้พวกเขาตั้งเป้าหมายที่จะช่วยให้พวกเขาพึ่งพาตนเองมากขึ้น และกระตุ้นให้พวกเขาแสวงหาความช่วยเหลือจากพระเจ้าในการบรรลุเป้าหมายนั้น

สรุป 2 เธสะโลนิกา 3:14–18 อธิบายว่าเปาโลจบสาส์นของเขาโดยให้คำแนะนำวิสุทธิชนให้เลิกเกียจคร้าน อย่าคบค้าสมาคมกับคนเกียจคร้านและสร้างความแตกแยก อย่างไรก็ตาม วิสุทธิชนต้องไม่ปฏิบัติต่อเขาอย่างเป็นศัตรูแต่ว่ากล่าวพวกเขาในฐานะพี่น้องในพระกิตติคุณ

สรุปโดยเป็นพยานของท่านถึงความจริงที่สอนในบทเรียนนี้

ภาพ
ไอคอนผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์
ผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์—2 เธสะโลนิกา 2:1–3

เชื้อเชิญให้นักเรียนแต่ละคนใช้แหล่งช่วยศึกษาพระคัมภีร์ (เช่น เชิงอรรถ คู่มือพระคัมภีร์) เพื่อหาพระคัมภีร์ที่นอกเหนือจาก 2 เธสะโลนิกา 2:1–3 ซึ่งสอนเกี่ยวกับการละทิ้งความเชื่อ หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว ขอให้นักเรียนสองสามคนมาแบ่งปันพระคัมภีร์ที่พวกเขาพบและอธิบายว่าข้อพระคัมภีร์เหล่านี้สอนเกี่ยวกับการละทิ้งความเชื่อ ท่านอาจต้องการเขียนข้ออ้างอิงที่พวกเขาพบไว้บนกระดาน เชื้อเชิญให้นักเรียนเลือกพระคัมภีร์ข้อหนึ่งเป็นข้ออ้างโยงถึง 2 เธสะโลนิกา 2:1–3 ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนเขียนข้ออ้างโยงนี้ตรงช่องว่างริมหน้าพระคัมภีร์ของพวกเขาใกล้กับ 2 เธสะโลนิกา 2:1–3) อธิบายว่าข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์นี้มักใช้สอนเกี่ยวกับการละทิ้งความเชื่อและความจำเป็นที่จะมีการฟื้นฟู เชื้อเชิญให้นักเรียนใช้ 2 เธสะโลนิกา 2:1–3 และข้ออ้างอิงพระคัมภีร์ข้อหนึ่งที่เขียนไว้บนกระดานเพื่อสอนคู่เกี่ยวกับการละทิ้งความเชื่อ

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

2 เธสะโลนิกา 2:3 การละทิ้งความเชื่อ

“‘การกบฏ’ เป็นการแปลคำในภาษากรีก apostasia คำที่มีความหมายใกล้เคียงกับ ‘การก่อกบฏ’ หรือ ‘กระด้างกระเดื่อง’ ดังนั้น เปาโลกำลังพูดถึงเจตนาต่อสู้กับพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์แทนการค่อยๆ ออกจากพระกิตติคุณ ในพระคัมภีร์มอรมอน นิมิตของนีไฟเกี่ยวกับอนาคตสอนเขาว่า ‘เชื้อสายแห่งอิสราเอล’ ร่วมกับคนที่อยู่ในอาคารใหญ่และกว้างหลังนั้น ‘ต่อสู้กับอัครสาวกสิบสองของพระเมษโปดก’ (1 นีไฟ 11:35) การละทิ้งความเชื่อมักไม่ใช่การยอมปล่อยความจริงไปโดยไม่ทำอะไรแต่เป็นการกบฏอย่างกระตือรือร้นที่เริ่มมาจากข้างในชุมชนแห่งพันธสัญญา” (คู่มือนักเรียน พันธสัญญาใหม่ [คู่มือของระบบการศึกษาของศาสนจักร, 2014], 453)

เอ็ลเดอร์เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ดแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายว่าการละทิ้งความเชื่อเกิดขึ้นเนื่องจากผู้คนปฏิเสธพระคริสต์และอัครสาวกของพระองค์

“ในช่วงเวลาค่อนข้างสั้นครอบคลุมพันธสัญญาใหม่ … ผู้คนหันมาต่อต้านพระคริสต์และอัครสาวก เสื่อมถอยมากถึงขนาดที่เรารู้ว่าเป็นการละทิ้งความเชื่อครั้งใหญ่อันนำไปสู่ความเฉื่อยชาและความเขลาทางวิญญาณนานหลายศตวรรษที่เรียกว่ายุคมืด

“ข้าพเจ้าจำเป็นต้องอธิบายช่วงประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเหล่านี้เกี่ยวกับการละทิ้งความเชื่อและความมืดทางวิญญาณ พระบิดาบนสวรรค์ทรงรักบุตรธิดาทุกคนของพระองค์ และทรงต้องการให้ทุกคนมีพรของพระกิตติคุณในชีวิต แสงสว่างทางวิญญาณไม่ได้หายไปเพราะพระผู้เป็นเจ้าทรงละทิ้งบุตรธิดาของพระองค์ แต่ความมืดทางวิญญาณเกิดจากการที่บุตรธิดาของพระองค์หันหลังให้พระองค์” (“เรียนบทเรียนจากอดีต,” เลียโฮนา, พ.ค. 2009, 38)

2 เธสะโลนิกา 2:3 การปฏิรูปและการฟื้นฟู

หลายคนที่มีชีวิตอยู่หลังจากการสิ้นชีวิตของอัครสาวกยังคงติดตามพระเจ้าต่อไป คำมั่นสัญญาที่พวกเขามีต่อพระเจ้ามั่นคงจนพวกเขาเต็มใจทนรับการต่อต้านหรือแม้แต่ความตายเพื่อความเชื่อของพวกเขา ระหว่างช่วงเวลาแห่งการปฏิรูปนี้ มีหลายคนที่รู้ว่าคำสอนบางอย่างของศาสนาคริสต์ถูกเปลี่ยนและไม่สอดคล้องกับคำสอนในพระคัมภีร์ไบเบิล นักปฏิรูปเหล่านี้พยายามทำให้ศาสนาคริสต์สอดคล้องกับพระคัมภีร์ ประธานจอห์น เทย์เลอร์พูดดังนี้เกี่ยวกับคนที่แสวงหาความจริงระหว่างยุคมืด

“มีชายหลายคนในยุคมืดเหล่านั้นที่สามารถสื่อสารกับพระผู้เป็นเจ้าได้ และผู้ที่โดยอำนาจของศรัทธา จะเปิดม่านแห่งนิรันดรและมองเข้าไปในโลกที่มองไม่เห็น … มีการปฏิบัติของเหล่าเทพ และเปิดเผยจุดหมายปลายทางแห่งอนาคตของโลก ถ้านั่นเป็นยุคมืด ข้าพเจ้าสวดอ้อนวอนทูลขอพระผู้เป็นเจ้าให้ประทานความมืดแก่ข้าพเจ้าอีกสักนิด ขอให้นำข้าพเจ้าจากแสงสว่างและสติปัญญาที่เหนือกว่าในสมัยของเรา” (ใน Journal of Discourses, 16:197) (สำหรับข้อมูลเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับความพยายามอันซื่อสัตย์ของนักปฏิรูปเหล่านี้ ให้ดู โธมัส เอส. มอนสัน, The Way Home, May 1975, 15–16; ดู สั่งสอนกิตติคุณของเรา: แนวทางการรับใช้งานเผยแผ่ศาสนา [2004], 45–46)

เนื่องจากความพยายามของนักปฏิรูปเหล่านี้และผู้ติดตามที่ซื่อสัตย์คนอื่นๆ ของพระผู้เป็นเจ้า ความจริงเกี่ยวกับพระบิดาบนสวรรค์และแผนของพระองค์รอดพ้นจากการละทิ้งความเชื่อและมีอยู่ในทุกศาสนาของแผ่นดินโลก อย่างไรก็ตาม ความจริงที่จำเป็นสำหรับความรอดของเราหายไป เช่นเดียวกันกับสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตในการนำงานและการปฏิบัติศาสนพิธีแห่งความรอด พระเจ้าทรงยืนยันกับคนในศาสนอื่นๆ ว่าการฟื้นฟูศาสนจักรและพระคัมภีร์มอรมอนไม่ได้ประกาศว่าทุกสิ่งที่พวกเขาสอนนั้นผิด “ดูเถิด, เราไม่ได้นำสิ่งนี้มาทำลายสิ่งซึ่งพวกเขาได้รับ, แต่เพื่อเสริมสร้างสิ่งนั้น” (คพ. 10:52) ด้วยเหตุนี้ ประธาน กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์จึงเชื้อเชิญทุกคนในโลกที่จะ “นำคุณงามความดีที่พวกท่านมีและความจริงที่พวกท่านได้รับไม่ว่าจะมาจากที่ใดก็ตาม ออกมาและขอให้เราดูว่าเราจะเพิ่มเติมให้ท่านได้หรือไม่” (“รากฐานอันอัศจรรย์แห่งศรัทธาของเรา,” เลียโฮนา, พ.ย. 2002, 101)