คลังค้นคว้า
บทที่ 135: ฮีบรู 1–4


บทที่ 135

ฮีบรู 1–4

คำนำ

เปาโลสอนวิสุทธิชนเกี่ยวกับพระลักษณะที่แท้จริงของพระเยซูคริสต์ เขาสอนพวกเขาเกี่ยวกับการชดใช้ของพระเยซูคริสต์และพรบางประการที่เกิดขึ้นจากผลของการชดใช้ เปาโลแบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับชาวอิสราเอลโบราณซึ่งร่อนเร่ไปในแดนทุรกันดาร เขาสอนวิสุทธิชนถึงสิ่งที่พวกเขาต้องทำเพื่อเข้าไปในสถานพักผ่อนของพระเจ้า

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

ฮีบรู 1

เปาโลสอนเกี่ยวกับพระลักษณะของพระเยซูคริสต์

อ่านออกเสียงสถานการณ์สมมติต่อไปนี้

  1. เยาวชนหญิงคนหนึ่งเหนื่อยหน่ายกับการเป็น “เด็กดี” ตลอดเวลาเพราะเธอไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมบางอย่างกับเพื่อนของเธอ เธอคิดจะลดหย่อนมาตรฐานของเธอเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม

  2. ชายหนุ่มคนหนึ่งที่กำลังรับใช้งานเผยแผ่เต็มเวลาตระหนักว่างานเผยแผ่ศาสนายากกว่าที่เขาคาดไว้ และเขากำลังคิดว่าจะกลับบ้าน

  • สถานการณ์สองเรื่องนี้มีอะไรเหมือนกัน

  • มีสาเหตุอะไรบ้างที่คนอาจคิดเลิกพยายามทำสิ่งที่พวกเขารู้ว่าถูกต้อง

แนะนำหนังสือฮีบรูสั้นๆ โดยอธิบายว่า ภายใต้แรงกดดันของความทุกข์นานัปการ ผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสชาวยิวบางคน (ที่เรียกว่าคนฮีบรู) กำลังถอนตัวออกจากการประชุมศาสนจักรและกลับไปสู่ความปลอดภัยของการนมัสการตามประเพณีชาวยิว ซึ่งไม่รวมถึงความเชื่อในพระเยซูคริสต์ (ดู ฮีบรู 10:25, 38–39) เปาโลเขียนสาส์นฉบับนี้เพื่อกระตุ้นสมาชิกศาสนจักรเหล่านี้ให้ยังคงซื่อสัตย์ต่อพระเยซูคริสต์

เชื้อเชิญให้นักเรียนมองหาความจริงขณะพวกเขาศึกษาฮีบรูเพื่อช่วยให้พวกเขายังคงซื่อสัตย์ต่อพระคริสต์เมื่อพวกเขาอาจรู้สึกเหมือนอยากยอมแพ้

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน ฮีบรู 1:1–3, 10 ในใจ โดยมองหา หลักคำสอน ที่เปาโลสอนวิสุทธิชนชาวยิวเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์

หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว เชื้อเชิญให้นักเรียนหลายๆ คนเขียนความจริงที่พวกเขาพบบนกระดาน นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกันแต่ให้แน่ใจว่าได้เขียนข้อความคล้ายกับความจริงต่อไปนี้บนกระดาน

พระเยซูคริสต์ทรงสร้างฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลก (ดู ฮีบรู 1:2, 10)

พระบิดาตรัสกับเราทางพระบุตร (ดู ฮีบรู 1:2)

พระเยซูคริสต์ทรงเป็นทายาทของพระบิดา (ดู ฮีบรู 1:2)

พระเยซูคริสต์ทรงมีแก่นแท้เดียวกับพระบิดา (ดู ฮีบรู 1:3)

พระเยซูคริสต์ทรงค้ำจุนสิ่งทั้งปวงไว้ด้วยพระวจนะอันทรงฤทธานุภาพของพระองค์ (ดู ฮีบรู 1:3)

พระเยซูคริสต์ทรงชำระบาปของเรา (ดู ฮีบรู 1:3)

พระเยซูคริสต์ประทับทางเบื้องขวาของพระบิดา (ดู ฮีบรู 1:3)

ท่านอาจต้องอธิบายว่าวลี “แก่นแท้เดียวกับพระบิดา” หมายความว่าพระเยซูคริสต์ทรงมีพระลักษณะบุคคลทางร่างกายและทางวิญญาณของพระบิดาบนสวรรค์และทรงรับพระอุปนิสัยจากพระผู้เป็นเจ้า และวลี “ทรงค้ำจุนสิ่งทั้งปวงไว้ด้วยพระวจนะอันทรงฤทธานุภาพของพระองค์” ระบุว่าพระเยซูคริสต์ทรงมีฤทธานุภาพทั้งปวง

  • การรู้ความจริงเหล่านี้อาจช่วยคนที่มีปัญหาในการคงความซื่อสัตย์ต่อพระเยซูคริสต์และพระกิตติคุณของพระองค์อย่างไร

เชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองว่าความจริงเหล่านี้ข้อใดที่อาจช่วยพวกเขาหากพวกเขาถูกล่อลวงให้ปฏิเสธการทำตามพระประสงค์ของพระเจ้า

อธิบายว่าหัวข้อในหนังสือฮีบรูคือความล้ำเลิศของพระเยซูคริสต์ ตัวอย่างเช่น ใน ฮีบรู 1:4–14 เปาโลแสดงให้เห็นว่าพระเยซูคริสต์ทรงยิ่งใหญ่กว่าบรรดาทูตสวรรค์ ในหลายบทหลังจากนั้น เขายังคงแสดงให้เห็นถึงความดีงามและล้ำเลิศของพระคริสต์

  • การรู้ว่าพระเยซูคริสต์ทรงยิ่งใหญ่กว่าสิ่งทั้งปวงจะช่วยคนบางคนที่กำลังมีปัญหาในการคงความซื่อสัตย์ต่อพระองค์อย่างไร

กระตุ้นให้นักเรียนยังคงมองหาหัวข้อนี้เมื่อพวกเขาศึกษาส่วนที่เหลือของหนังสือฮีบรู

ฮีบรู 2

เปาโลสอนว่าพระเยซูคริสต์ทรงเป็นผู้เบิกทางสู่ความรอดของเรา

ขอให้นักเรียนพิจารณาว่าพวกเขาจะเลือกกัปตันหรือหัวหน้าทีมหรือกลุ่มที่พวกเขาจะเข้าร่วมอย่างไร (ตัวอย่างเช่นในการแข่งขันกีฬา โต้วาที ละคร หรือชมรมในโรงเรียน)

  • ท่านมองหาคุณสมบัติอะไรเมื่อเลือกกัปตันหรือผู้นำ

อธิบายว่าใน ฮีบรู 2 เปาโลอธิบายมากขึ้นเกี่ยวกับพระลักษณะและพระอัตลักษณ์ของพระเยซูคริสต์ต่อผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสชาวยิวเพื่อช่วยให้พวกเขามองเห็นเหตุผลที่พวกเขาควรติดตามพระเยซูคริสต์ต่อไป เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ฮีบรู 2:10 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าเปาโลเรียกพระเยซูคริสต์ว่าอย่างไร

  • พระเยซูคริสต์ทรงเป็นผู้เบิกทางของอะไร (ให้เขียนความจริงต่อไปนี้ไว้บนกระดาน พระเยซูคริสต์ทรงเป็นผู้เบิกทางสู่ความรอดของเรา)

  • พระเยซูคริสต์ทรงเป็นผู้เบิกทางสู่ความรอดของเราในด้านใดบ้าง

แบ่งนักเรียนออกเป็นคู่ และมอบหมายให้นักเรียนคนหนึ่งอ่าน ฮีบรู 2:8–13 และอีกคนหนึ่งอ่าน ฮีบรู 2:14–18 เชื้อเชิญให้นักเรียนมองหาวลีที่บรรยายสาเหตุที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงมีคุณสมบัติคู่ควรแก่การเป็นผู้เบิกทางสู่ความรอดของเรา (อธิบายว่าวลี “เพื่อลบล้างบาปของประชาชน” ใน ข้อ 17 หมายความว่าพระคริสต์ทรงชดใช้บาปให้เรา ทำให้เราคืนดี หรือมีสัมพันธภาพที่ราบรื่นกับพระบิดาบนสวรรค์)

หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว ขอให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบกับคู่ของพวกเขา จากนั้นให้ถามชั้นเรียนว่า

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 9 พระเยซูคริสต์ทรงทำอะไรเพื่อทุกคน

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 14 พระผู้ช่วยให้รอดทรงชนะสิ่งใดโดยการชดใช้ของพระองค์

ชี้ให้เห็นว่าเปาโลไม่เพียงเรียกพระผู้ช่วยให้รอดว่าเป็นผู้เบิกทางสู่ความรอดของเราเท่านั้น แต่ยังเรียกพระองค์ว่า “มหาปุโรหิตผู้เปี่ยมด้วยความเมตตาและความซื่อสัตย์” (ข้อ 17) เปาโลเปรียบพระเยซูคริสต์เป็นมหาปุโรหิตยิวเนื่องจากมหาปุโรหิตถูกมองว่าเป็นสื่อกลางระหว่างผู้คนและพระผู้เป็นเจ้า

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 17 อะไรทำให้พระเยซูทรงเป็นมหาปุโรหิตผู้เปี่ยมด้วยความเมตตาและความซื่อสัตย์เช่นนั้นได้

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 18 เหตุใดพระผู้ช่วยให้รอดจึงทรงสามารถช่วยเราได้ (ดู แอลมา 7:11–13 ด้วย)

อธิบายว่าใน ฮีบรู 4:14–16 เปาโลให้ข้อคิดเพิ่มเติมต่อคำสอนของเขาว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงเป็นมหาปุโรหิตผู้เปี่ยมด้วยความเมตตาและความซื่อสัตย์อย่างไร เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงข้อเหล่านี้ ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าอะไรทำให้พระเยซูคริสต์ทรงเป็นมหาปุโรหิตที่ยิ่งใหญ่เช่นนั้น เชื้อเชิญให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ

  • ตามที่ท่านเรียนรู้จาก ฮีบรู 2:14–18 และ 4:14–16 เหตุใดพระเยซูคริสต์จึงสามารถเข้าพระทัยเราได้อย่างสมบูรณ์และทรงเมตตาสงสารความอ่อนแอและความไม่ดีพร้อมทั้งหมดของเรา (ช่วยให้นักเรียนเข้าใจความจริงต่อไปนี้ เพราะพระเยซูคริสต์ทรงทนทุกข์และทรงถูกล่อลวงในทุกสิ่ง พระองค์จึงเข้าพระทัยเราอย่างสมบูรณ์และทรงช่วยเราได้ในยามต้องการ เขียนความจริงนี้ไว้บนกระดาน)

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ฮีบรู 4:16 การเข้าใจความจริงนี้ช่วยอะไรเราได้

  • ท่านคิดว่าการเข้ามาถึงพระที่นั่งแห่งพระคุณด้วยความกล้าหมายความว่าอย่างไร

เชื้อเชิญให้นักเรียนแบ่งปันความรู้สึกของพวกเขาว่าความจริงใน ฮีบรู 2 จะช่วยให้พวกเขามั่นใจการตัดสินใจของพวกเขาที่จะติดตามพระเยซูคริสต์เป็นผู้นำของพวกเขาอย่างไร

ฮีบรู 3–4

เปาโลสอนว่าเราจะเข้าไปในสถานพักผ่อนของพระเจ้าอย่างไร

เชื้อเชิญให้นักเรียนเขียนในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์หรือสมุดจดของพวกเขาเกี่ยวกับสิ่งที่ทำให้พวกเขาวิตกกังวลทางโลกหรือทางวิญญาณ

  • เราจะพบสันติสุขและการหยุดพักจากสิ่งเหล่านี้และบ่อเกิดของความสับสนตลอดจนความวิตกกังวลอื่นๆ ได้อย่างไร

เตือนนักเรียนว่าวิสุทธิชนชาวยิวกำลังเผชิญการข่มเหงเนื่องจากดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณ อธิบายว่าใน ฮีบรู 3 และ 4 เปาโลพูดถึงประสบการณ์หนึ่งจากพันธสัญญาเดิมเพื่อสอนวิสุทธิชนว่าจะพบสถานพักผ่อนในชีวิตนี้และในชีวิตหน้าได้อย่างไร

อธิบายว่าหลังจากได้รับอิสรภาพจากอียิปต์ ผู้คนชาวอิสราเอลโบราณทำให้พระเจ้าขุ่นเคืองพระทัยจึงไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปในสถานพักผ่อนของพระเจ้า (ดู กันดารวิถี 14; เจคอบ 1:7–8; แอลมา 12:33–37; 13:6, 12–13, 28–29) ท่านอาจเชื้อเชิญให้นักเรียนทำเครื่องหมายวลี “การหยุดพักของเรา” ใน ฮีบรู 3:11

ชี้ให้เห็นว่าเอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกีแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายว่าการเข้าไปในสถานพักผ่อนของพระเจ้าหมายถึงอะไร เชื้อเชิญให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำพูดต่อไปนี้จากเอ็ลเดอร์แมคคองกี และขอให้นักเรียนฟังดูว่าการเข้าไปในสถานพักผ่อนของพระเจ้าหมายถึงอะไร

ภาพ
เอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกี

“วิสุทธิชนที่แท้จริงเข้าไปในสถานพักผ่อนของพระเจ้า ขณะอยู่ในชีวิตนี้ และโดยปฏิบัติตามความจริง พวกเขายังคงอยู่ในสภาพที่ได้รับพรจนกว่าพวกเขาจะพักผ่อนกับพระเจ้าในสวรรค์ … สถานพักผ่อนของพระเจ้า ซึ่งเกี่ยวข้องกับมนุษย์ เป็นการได้รับความรู้อันสมบูรณ์ถึงความเกี่ยวเนื่องกับสวรรค์ของงานยุคสุดท้ายที่ยิ่งใหญ่ … สถานพักผ่อนของพระเจ้า ในนิรันดร คือการรับชีวิตนิรันดร์เป็นมรดก ได้รับความสมบูรณ์แห่งรัศมีภาพของพระเจ้า (คพ. 84:24)” (Mormon Doctrine, 2nd ed. [1966], 633)

  • การเข้าไปในสถานพักผ่อนของพระเจ้าในชีวิตนี้หมายความว่าอย่างไร หมายความว่าอย่างไรหลังจากเราตาย

อ่านออกเสียง ฮีบรู 4:1 ขอให้นักเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่เปาโลกังวลว่าสมาชิกบางคนของศาสนจักรจะทำไม่ได้

  • เปาโลกังวลเกี่ยวกับอะไร (กังวลว่าสมาชิกศาสนจักรบางคนจะไม่ได้เข้าไปในสถานพักผ่อนของพระเจ้า)

เขียนพระคัมภีร์ต่อไปนี้ไว้บนกระดาน ฮีบรู 3:7–8, 12–15, 18–19; 4:2–3, 6–7, 11 ขอให้ชั้นเรียนอ่านข้อเหล่านี้ในใจโดยมองหาสิ่งที่เปาโลสอนเกี่ยวกับวิธีที่เราจะเข้าไปในสถานพักผ่อนของพระเจ้า (กระตุ้นให้นักเรียนอ่าน งานแปลของโจเซฟ สมิธ ฮีบรู 4:3 ในคู่มือพระคัมภีร์) หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว ขอให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ

  • ท่านคิดว่าประโยคนี้ “ถ้าเราเพียงแต่ยึดความมั่นใจที่เรามีอยู่ในตอนต้นไว้ให้มั่นคงจนถึงที่สุด” (ฮีบรู 3:14) หมายถึงอะไร

  • ท่านคิดว่าการ “อย่าให้จิตใจของท่านดื้อรั้น” หมายถึงอะไร (ฮีบรู 3:15; 4:7) (ให้เปิดใจ เต็มใจ และเชื่อฟังพระผู้เป็นเจ้าและพระบัญญัติของพระองค์)

  • เปาโลสอนอะไรเกี่ยวกับการเข้าไปในสถานพักผ่อนของพระเจ้า (จากคำตอบของนักเรียน ให้เขียนหลักธรรมต่อไปนี้บนกระดาน ถ้าเรายังคงซื่อสัตย์ต่อพระผู้ช่วยให้รอดและไม่ให้จิตใจของเราดื้อรั้น เราจะเข้าไปในสถานพักผ่อนของพระเจ้า)

  • การที่เราเปิดใจรับจุดประสงค์และแผนของพระผู้เป็นเจ้าที่ทรงมีไว้เพื่อเราเตรียมเราให้เข้าไปในสถานพักผ่อนของพระเจ้าอย่างไร

  • เราอาจได้รับพรในชีวิตนี้อย่างไร โดยมุ่งหมายจะเข้าไปในสถานพักผ่อนของพระเจ้า

ขอให้นักเรียนไตร่ตรองว่าการซื่อสัตย์ต่อพระผู้ช่วยให้รอดและเปิดใจรับพระองค์เสมอช่วยให้พวกเขาพบการหยุดพักแม้พวกเขาอาจกำลังประสบปัญหาหรือข้อกังวลอย่างไร เชื้อเชิญนักเรียนสองสามคนแบ่งปันความคิดของพวกเขากับชั้นเรียน

เชื้อเชิญให้นักเรียนเขียนในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขาว่าพวกเขาจะทำอะไรให้ยังคงซื่อสัตย์ในพระเยซูคริสต์และเปิดใจรับพระองค์เสมอ

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

ฮีบรู 1:3 พระเยซูคริสต์ “ทรงมีแก่นแท้เดียว” กับพระบิดา

ประธานโจเซฟ เอฟ. สมิธสอนเกี่ยวกับรูปลักษณ์ของพระเยซูคริสต์ ดังนี้

“พระเยซูคริสต์ พระบุตรของพระผู้เป็นเจ้าทรงมี ‘แก่นแท้เดียว’ กับพระบุคคลของพระบิดาของพระองค์ (ฮีบรู 1:3) พระองค์ทรงดำเนินพระชนม์ชีพบนแผ่นดินโลกในฐานะมนุษย์ ทรงเป็นบุรุษที่ดีพร้อม เพื่อตอบข้อสงสัยที่ทูลถามพระองค์ พระองค์ตรัสว่า ‘คนที่ได้เห็นเราก็ได้เห็นพระบิดา’ (ยอห์น 14:9) เพียงข้อนี้ก็เพียงพอแล้วที่จะไขปัญหาเพื่อให้ทุกคนที่มีความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้พอใจ ข้อสรุปที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้คือหากพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้าทรงมีรูปลักษณ์ที่ชัดเจน (เป็นเหมือน) พระบิดาของพระองค์ ดังนั้น พระบิดาของพระองค์ก็ทรงอยู่ในรูปลักษณ์ของมนุษย์ เพราะนั่นเป็นรูปลักษณ์ของพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า ไม่เฉพาะในช่วงพระชนม์ชีพมรรตัยของพระองค์เท่านั้น แต่ก่อนการประสูติในความเป็นมรรตัยของพระองค์ และหลังการฟื้นคืนพระชนม์ของพระองค์ด้วย ในรูปลักษณ์นี้ที่พระบิดาและพระบุตร ในฐานะพระอติรูปสองพระองค์ ทรงมาปรากฏต่อโจเซฟ สมิธ เด็กหนุ่มอายุสิบสี่ปี เมื่อท่านได้รับนิมิตแรกของท่าน” (คำสอนของประธานศาสนาจักร : โจเซฟ เอฟ. สมิธ [1998], 366)

ฮีบรู 4:4, 10 วันสะบาโตเป็นเครื่องหมายของสถานพักผ่อนของพระเจ้า

เอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกีแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายว่า

“วันสะบาโตเป็นเครื่องหมายและสัญลักษณ์ของสถานพักผ่อนของพระเจ้า คนที่เข้ามาสู่การพักผ่อนของพระกิตติคุณรักษาวันสะบาโตให้ศักดิ์สิทธิ์อันเป็นส่วนหนึ่งของการประพฤติตนให้ชอบธรรมและการนมัสการที่แท้จริงของพวกเขา ในวันนั้นพวกเขาพักผ่อนจากการทำงานทางโลก ดังที่พระผู้เป็นเจ้าทรงพักผ่อนจากการสร้างของพระองค์ เพื่อเป็นเครื่องหมายและประจักษ์พยานว่าพวกเขาได้เข้าไปในสถานพักผ่อนของพระเจ้าในชีวิตนี้ มีประจักษ์พยานถึงพระกิตติคุณ และเฝ้ารอคอยสถานพักผ่อนของพระเจ้า ‘ซึ่งสถานพักผ่อนนั้นคือความสมบูรณ์แห่งรัศมีภาพของพระองค์’ หลังจากนี้ (คพ. 84:24)” (Doctrinal New Testament Commentary, 3 vols. [1965–73], 3:151)