คลังค้นคว้า
พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงช่วยฉันเรียนรู้อย่างไร


พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงช่วยฉันเรียนรู้อย่างไร

พระผู้ช่วยให้รอดทรงสัญญาว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์จะทรงสอนเราทุกสิ่งและนำทุกสิ่งมาสู่ความทรงจำของเรา (ดู ยอห์น 14:26) ความรับผิดชอบส่วนหนึ่งของเราในฐานะผู้เรียนพระกิตติคุณคือแสวงหาความเป็นเพื่อนกับพระวิญญาณบริสุทธิ์เพื่อดลใจเราขณะที่เราศึกษาพระกิตติคุณ—ในชั้นเรียน ในการศึกษาส่วนตัว และในสภาพแวดล้อมอื่น การเรียนรู้โดยพระวิญญาณเกี่ยวข้องกับการสวดอ้อนวอนขออิทธิพลของพระองค์และฟังการกระตุ้นเตือนเพื่อให้ความสว่างแก่ความเข้าใจของเรา (ดู แอลมา 32:28)

เตรียมตัวท่านทางวิญญาณ

พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงเคยช่วยท่านเรียนรู้พระกิตติคุณอย่างไร ท่านจะแบ่งปันประสบการณ์ใดกับเยาวชนได้บ้าง

เยาวชนมาชั้นเรียนด้วยการเตรียมทางวิญญาณเพื่อให้พร้อมเรียนรู้หรือไม่ การเรียนรู้ของพวกเขาจะดีขึ้นอย่างไรเมื่อพวกเขาแสวงหาพระวิญญาณ

อ่านข้อพระคัมภีร์และแหล่งข้อมูลต่อไปนี้ร่วมกับการสวดอ้อนวอน ท่านรู้สึกว่าอะไรจะดลใจเยาวชนให้พยายามเรียนรู้โดยพระวิญญาณ

ยอห์น 16:13 (พระวิญญาณบริสุทธิ์จะนำพวกเราไปสู่ความจริง)

1 โครินธ์ 2:9–14 (เรื่องของพระผู้เป็นเจ้าเข้าใจได้โดยพระวิญญาณบริสุทธิ์เท่านั้น)

1 นีไฟ 10:19 (ถ้าเราแสวงหาอย่างขยันหมั่นเพียร พระวิญญาณบริสุทธิ์จะทรงเปิดเผยความลี้ลับของพระผู้เป็นเจ้า)

แอลมา 5:45–46; โมโรไน 10:3–5 (โดยผ่านพระวิญญาณบริสุทธิ์เราจะได้รับประจักษ์พยานเกี่ยวกับความจริง)

คพ. 11:12–14 (พระวิญญาณทรงให้ความสว่างแก่ความคิดของเรา)

โดนัลด์ แอล. ฮอลล์สตรอม, “เปลี่ยนใจเลื่อมใสสู่พระกิตติคุณของพระองค์ผ่านศาสนจักรของพระองค์,” เลียโฮนา, พ.ค. 2012, หน้า 13–15

เอ. โรเจอร์ เมอร์ริลล์, “รับด้วยพระวิญญาณ,” เลียโฮนา, พ.ย. 2006, หน้า 116–118

“การเรียนรู้ด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์,” สั่งสอนกิตติคุณของเรา (2004), หน้า 18

การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด

พระผู้ช่วยให้รอดทรงวางใจสานุศิษย์ของพระองค์และทรงมอบความรับผิดชอบให้พวกเขาสอน อวยพร และรับใช้ผู้อื่น ท่านสามารถเปิดโอกาสใดบ้างให้เยาวชนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขากำลังเรียนรู้กับผู้อื่น

ทำการเชื่อมโยง

ในช่วงไม่กี่นาทีแรกของชั้นเรียนทุกชั้น จงช่วยเยาวชนทำการเชื่อมโยงระหว่างสิ่งที่พวกเขากำลังเรียนรู้ในสภาพแวดล้อมต่างๆ (เช่นการศึกษาส่วนตัว เซมินารี ชั้นเรียนอื่นของศาสนจักร หรือประสบการณ์กับเพื่อนๆ) ท่านจะช่วยให้พวกเขาเห็นความเกี่ยวเนื่องของพระกิตติคุณในการดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างไร แนวคิดด้านล่างนี้อาจเป็นประโยชน์:

  • เชื้อเชิญเยาวชนให้แบ่งปันประสบการณ์ในครอบครัวที่สอนพวกเขาบางอย่างเกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้า

  • เชื้อเชิญเยาวชนให้อ่านคำตอบของประธานสเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์ต่อคำถามที่ว่า “คุณทำอย่างไรเมื่อรู้สึกว่าอยู่ในการประชุมศีลระลึกที่น่าเบื่อ” (ในคำปราศรัยของเอ็ลเดอร์โดนัลด์ แอล. ฮอลล์สตรอมเรื่อง“เปลี่ยนใจเลื่อมใสสู่พระกิตติคุณของพระองค์ผ่านศาสนจักรของพระองค์”) เหตุใดประธานคิมบัลล์จึงบอกว่าท่านไม่เคยอยู่ในการประชุมศีลระลึกที่น่าเบื่อ ขอให้เยาวชนแบ่งปันประสบการณ์ที่พวกเขารู้สึกถึงพระวิญญาณในระหว่างการประชุมศีลระลึกหรือชั้นเรียนอื่นของศาสนจักร พวกเขาทำอะไรเพื่อเตรียมทางวิญญาณให้พร้อมรับประสบการณ์เหล่านี้ เชื้อเชิญพวกเขาให้เขียนคำตอบบนกระดาน

เรียนรู้ด้วยกัน

กิจกรรมแต่ละอย่างด้านล่างนี้จะช่วยให้เยาวชนเข้าใจว่าการเรียนรู้โดยพระวิญญาณหมายความว่าอะไร เลือกกิจกรรมหนึ่งอย่างหรือมากกว่านั้นซึ่งจะได้ผลดีที่สุดกับชั้นเรียนของท่าน ตามการดลใจของพระวิญญาณ:

  • ขอให้สมาชิกแต่ละคนในชั้นเรียนอ่านข้อพระคัมภีร์ที่แนะนำไว้ในโครงร่างนี้และมองหาบทบาทของพระวิญญาณบริสุทธิ์ในการช่วยเราเรียนพระกิตติคุณ การพยายามศึกษาพระกิตติคุณโดยปราศจากอิทธิพลของพระวิญญาณอาจเกิดผลอะไรบ้าง ท่านอาจจะแบ่งปันประสบการณ์ส่วนตัวเมื่อท่านรู้สึกถึงอิทธิพลของพระวิญญาณบริสุทธิ์ขณะกำลังเรียนพระกิตติคุณ เชื้อเชิญเยาวชนให้แบ่งปันประสบการณ์ที่คล้ายกัน

  • เชื้อเชิญเยาวชนให้อ่านรายการสามข้อของเอ. โรเจอร์ เมอร์ริลล์ที่เราควรทำเพื่อรับโดยพระวิญญาณ (ในคำปราศรัยเรื่อง “รับด้วยพระวิญญาณ”) ขอให้สมาชิกแต่ละคนในชั้นเรียนเลือกหนึ่งข้อในสามข้อนั้นและแบ่งปันข้อพระคัมภีร์หรือประสบการณ์ส่วนตัวเกี่ยวกับข้อนั้น เชื้อเชิญเยาวชนให้แบ่งปันแนวคิดของพวกเขาว่าพวกเขาสามารถประยุกต์ใช้คำแนะนำของบราเดอร์เมอร์ริลล์ได้อย่างไรในการศึกษาส่วนตัว ในโรงเรียนวันอาทิตย์ และในสภาพแวดล้อมอื่นๆ เมื่อพวกเขาเรียนพระกิตติคุณ

  • เชื้อเชิญเยาวชนให้อ่าน “การเรียนรู้ด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์” จาก สั่งสอนกิตติคุณของเรา (หน้า 18) และระบุพรที่เกิดขึ้นเมื่อเราเรียนรู้โดยพระวิญญาณ โดยได้รับอนุญาตจากอธิการ เชิญผู้สอนศาสนาเต็มเวลา (หรือผู้สอนศาสนาที่เพิ่งจบ) มาแบ่งปันกับชั้นเรียนว่าพวกเขาเคยเห็นพรเหล่านี้เกิดสัมฤทธิผลอย่างไรขณะพวกเขาพยายามเรียนรู้โดยพระวิญญาณ ขอให้เยาวชนระบุวิธีซึ่งการเรียนรู้โดยพระวิญญาณสามารถเป็นพรแก่ชีวิตพวกเขาเวลานี้ พวกเขาจะทำอะไรเพื่ออัญเชิญพระวิญญาณเข้ามาในการเรียนพระกิตติคุณของพวกเขา

ขอให้เยาวชนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้วันนี้ พวกเขามีความรู้สึกหรือความประทับใจอะไรบ้าง พวกเขาเข้าใจหรือไม่ว่าการเรียนรู้โดยพระวิญญาณหมายความว่าอะไร พวกเขามีคำถามเพิ่มเติมหรือไม่ การใช้เวลามากขึ้นกับหัวข้อนี้คุ้มค่าหรือไม่

เกร็ดน่ารู้เกี่ยวกับการสอน

“พระวิญญาณจะต้องประทับอยู่เพื่อจะนำข่าวสารพระกิตติคุณไปสู่จิตใจของคนที่ท่านสอน (ดู 2 นีไฟ 33:1; คพ. 42:14)ดังนั้น ท่านต้องใช้วิธีที่จะสร้างบรรยากาศที่เหมาะสมสำหรับชั้นเรียนและอัญเชิญพระวิญญาณ” (ไม่มีการเรียกใดยิ่งใหญ่กว่าการสอน [1999], หน้า 91)

เชื้อเชิญให้ลงมือทำ

ถามเยาวชนว่าพวกเขารู้สึกได้รับการดลใจให้ทำอะไรเนื่องจากสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้วันนี้ กระตุ้นพวกเขาให้ลงมือทำตามความรู้สึกเหล่านี้ แสวงหาพระวิญญาณขณะที่ท่านพิจารณาวิธีติดตามผลร่วมกับการสวดอ้อนวอน