คลังค้นคว้า
ฉันจะพบคำตอบของคำถามพระกิตติคุณของฉันเองได้อย่างไร


ฉันจะพบคำตอบของคำถามพระกิตติคุณของฉันเองได้อย่างไร

ส่วนหนึ่งของการพึ่งพาตนเองทางวิญญาณคือการเรียนรู้ว่าจะตอบคำถามพระกิตติคุณของเราเองอย่างไรการเปิดเผยมักเกิดขึ้นเมื่อเราตั้งใจหาคำตอบของคำถามที่มาจากใจและมีศรัทธาในสัญญาที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงให้ไว้“จงขอแล้วจะได้ จงหาแล้วจะพบ จงเคาะแล้วจะเปิดให้แก่พวกท่าน” (มัทธิว 7:7)เราสามารถพบคำตอบของคำถามพระกิตติคุณของเราเองเมื่อเราสวดอ้อนวอน ศึกษาพระคัมภีร์และถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์ที่มีชีวิต และแสวงหาการนำทางของพระวิญญาณบริสุทธิ์

เตรียมตัวท่านทางวิญญาณ

การหาคำตอบของคำถามมีบทบาทอะไรในการเรียนพระกิตติคุณของท่าน ท่านพบคำตอบของคำถามของท่านด้วยวิธีใด

เยาวชนได้ถามคำถามอะไรเกี่ยวกับพระกิตติคุณ ท่านสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อกระตุ้นเยาวชนหาคำตอบของคำถามพระกิตติคุณที่พวกเขามี

ศึกษาข้อพระคัมภีร์และแหล่งข้อมูลเหล่านี้ร่วมกับการสวดอ้อนวอน อะไรจะดลใจให้เยาวชนหาคำตอบของคำถามพระกิตติคุณที่พวกเขามี

1 นีไฟ 15:2–11 (เลมันและเลมิวเอลสงสัยแต่ไม่ทูลถามพระเจ้า)

แอลมา 40:1–12; อีเธอร์ 2:18–23; โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:10–18 (ตัวอย่างของคนที่หาคำตอบสำหรับคำถามของพวกเขา)

คพ. 6:14–15 (พระวิญญาณทรงสามารถทำให้ความนึกคิดของเราสว่างเมื่อเราทูลถามพระเจ้า)

คพ. 9:8–9 (เมื่อเรามีคำถาม เราควรศึกษาไตร่ตรองในความคิดของเราและจากนั้นทูลถามพระเจ้าว่าถูกต้องหรือไม่)

ดับเบิลยู. มาร์ก แบสเซตต์, “เพื่อการพัฒนาและเรียนรู้ทางวิญญาณของเรา,” เลียโฮนา, พ.ย. 2016, 52–54

เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์, “ข้าพเจ้าเชื่อ,เลียโฮนา, พ.ค. 2013

“พระคัมภีร์มอรมอนตอบคำถามด้านจิตวิญญาณ,” สั่งสอนกิตติคุณของเรา (2004), 115–116

เจมส์ บี. มาร์ติโน, “หันไปหาพระองค์แล้วคำตอบจะมา,” เลียโฮนา, พ.ย. 2015, 58–60

การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด

พระผู้ช่วยให้รอดทรงกระตุ้นคนที่พระองค์ทรงสอนให้ตรึกตรองพระคัมภีร์ด้วยตนเองและใช้พระคัมภีร์หาคำตอบสำหรับคำถามของพวกเขา เยาวชนที่ท่านสอนจะได้รับพรอย่างไรเมื่อพวกเขาเรียนรู้วิธีหาคำตอบของคำถามเกี่ยวกับพระกิตติคุณ

ภาพ

วีดิทัศน์: “ถามคำถามเรา”

ดูเพิ่มเติม

ทำการเชื่อมโยง

ในช่วงสองสามนาทีแรกของชั้นเรียนทุกชั้น จงช่วยเยาวชนทำการเชื่อมโยงระหว่างสิ่งที่พวกเขากำลังเรียนรู้ในสภาพแวดล้อมต่างๆ (เช่นการศึกษาส่วนตัว เซมินารี ชั้นเรียนอื่นของศาสนจักร หรือประสบการณ์กับเพื่อนๆ) ท่านจะช่วยให้พวกเขาเห็นความเกี่ยวเนื่องของพระกิตติคุณในการดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างไร แนวคิดด้านล่างนี้อาจเป็นประโยชน์:

  • เชื้อเชิญให้เยาวชนแบ่งปันว่าบางสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้ในสภาวะแวดล้อมหนึ่ง (การศึกษาส่วนตัว การสังสรรค์ในครอบครัว เซมินารี และอื่นๆ) ได้ช่วยให้พวกเขาเข้าใจบางสิ่งที่เรียนรู้ในอีกสภาวะแวดล้อมหนึ่งอย่างไร

  • เชื้อเชิญให้เยาวชนเขียนรายการคำถามที่ผู้คนถามบ่อยเกี่ยวกับชีวิตหรือศาสนา (ดูตัวอย่างใน สั่งสอนกิตติคุณของเรา, หน้า 115) พระเจ้าทรงคาดหวังให้เราทำอะไรเมื่อเรามีคำถาม กระตุ้นชั้นเรียนให้ตรึกตรองคำถามเหล่านี้ระหว่างบทเรียน อย่าใช้เวลามากในชั้นเรียนเพื่อพยายามตอบคำถามเหล่านี้ แต่ให้มุ่งสอนหลักธรรมที่จะช่วยให้เยาวชนหาคำตอบด้วยตนเอง

เรียนรู้ด้วยกัน

กิจกรรมแต่ละอย่างด้านล่างสามารถช่วยให้เยาวชนเรียนรู้วิธีหาคำตอบของคำถามพระกิตติคุณของพวกเขาเอง เลือกกิจกรรมหนึ่งอย่างหรือมากกว่านั้นซึ่งจะได้ผลกับชั้นเรียนของท่านตามการนำทางของพระวิญญาณ:

  • เชื้อเชิญให้เยาวชนเขียนคำถามที่พวกเขาสามารถถามในอินเทอร์เน็ตและได้รับคำตอบทันที เช่น “พรุ่งนี้อากาศจะเป็นอย่างไร” ช่วยพวกเขาคิดถึงตัวอย่างคำถามที่มีลักษณะทางวิญญาณซึ่งเรียกร้องความพยายามและความอดทนมากขึ้น เช่น “พระคัมภีร์มอรมอนเป็นความจริงไหม” ในคำพูดของเอ็ลเดอร์ดับเบิลยู. มาร์ก แบสเซตต์เรื่อง “เพื่อการพัฒนาและเรียนรู้ทางวิญญาณของเรา,” ให้อ่านสามย่อหน้าร่วมกันเริ่มต้นที่วลี “เพื่อจะเข้าใจความลี้ลับของพระผู้เป็นเจ้า” เชื้อเชิญเยาวชนให้อ่าน 1 นีไฟ 2:16 และ 1 นีไฟ 10:17 และระบุว่านีไฟสาธิตขั้นตอนเจ็ดขั้นสำหรับการแสวงหาความรู้ที่กล่าวถึงในคำพูดของเอ็ลเดอร์แบสเซตต์อย่างไร ท้าทายให้เยาวชนทำตามแบบอย่างของนีไฟเมื่อพวกเขามีคำถามเกี่ยวกับพระกิตติคุณ

  • เชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนทบทวนคำพูดของเอ็ลเดอร์เจมส์ บี. มาร์ติโน “หันไปหาพระองค์แล้วคำตอบจะมา” เราเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับการค้นหาคำตอบของคำถามที่เรามีจากเรื่องราวของบุตรของ โมไซยาห์และเลมันกับเลมิวเอล ท่านอาจเชื้อเชิญสมาชิกชั้นเรียนให้เปรียบเทียบเรื่องราวทั้งสองนี้โดยเขียนความแตกต่างระหว่างความประพฤติของคนเหล่านี้และผลลัพธ์ของการกระทำของพวกเขา ท่านอาจเชื้อเชิญสมาชิกชั้นเรียนให้แบ่งปันประสบการณ์ของพวกเขาเช่นกันเกี่ยวกับการได้รับคำตอบของคำถามของพวกเขา

  • เชื้อเชิญให้เยาวชนอ่านข้อพระคัมภีร์ต่อไปนี้: มัทธิว 7:7; คพ. 6:14–15; 9:7–9 ให้ชั้นเรียนทำรายการหลักธรรมที่ข้อเหล่านี้สอนเกี่ยวกับการถามคำถามและการได้รับคำตอบ เหตุใดพระเจ้าไม่ทรงตอบคำถามของเราทั้งหมดหรือทันทีเสมอไป ท่านอาจจะเล่าให้เยาวชนฟังเกี่ยวกับเวลาที่ท่านมีคำถามเกี่ยวกับพระกิตติคุณและได้รับคำตอบ ขอให้เยาวชนแบ่งปันประสบการณ์คล้ายกัน

  • ขอให้เยาวชนนึกถึงคนในพระคัมภีร์ที่ถามคำถามซึ่งนำไปสู่การเปิดเผย (หากจำเป็นท่านอาจแนะให้พวกเขาอ่านข้อพระคัมภีร์ที่แนะนำไว้ในโครงร่างนี้) เชื้อเชิญให้เยาวชนอ่านเกี่ยวกับคนเหล่านี้ในพระคัมภีร์และระบุคำถามที่พวกเขาถาม วิธีที่พวกเขาหาคำตอบของคำถาม และคำตอบที่พวกเขาได้ เชื้อเชิญให้พวกเขาแบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้กับชั้นเรียน พวกเขาเรียนรู้หลักธรรมอะไรอีกบ้างเกี่ยวกับการถามคำถามจากประสบการณ์เหล่านี้ เยาวชนสามารถประยุกต์ใช้หลักธรรมเหล่านี้กับคำถามของพวกเขาเองได้อย่างไร

  • ขอให้สมาชิกคนหนึ่งในชั้นเรียนเตรียมมาเล่าเรื่องในมาระโก 9:14­–27 หรือให้ชั้นเรียนอ่านเรื่องนั้น แบ่งชั้นเรียนออกเป็นสามกลุ่ม และแจกข้อสังเกตของเอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์ให้กลุ่มละข้อเกี่ยวกับเรื่องในคำพูดของท่าน “ข้าพเจ้าเชื่อ” พวกเขาจะใช้ข้อสังเกตของเอ็ลเดอร์ฮอลแลนด์อย่างไรเมื่อพวกเขาหรือคนที่พวกเขารู้จักมีคำถามหรือข้อสงสัยเกี่ยวกับพระกิตติคุณ

  • ให้ชั้นเรียนอ่านสี่ย่อหน้าแรกของ “พระคัมภีร์มอรมอนตอบคำถามด้านจิตวิญญาณ” ใน สั่งสอนกิตติคุณของเรา (หน้า 115) เชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนเลือกคำถามดังระบุไว้คนละหนึ่งข้อที่พวกเขาหรือคนรู้จักสงสัย ให้เวลาเยาวชนอ่านข้ออ้างอิงจากพระคัมภีร์มอรมอนสำหรับคำถามที่พวกเขาเลือก ขอให้พวกเขาแบ่งปันคำตอบที่พบและอธิบายว่าพวกเขาจะใช้พระคัมภีร์มอรมอนช่วยให้คนอื่นตอบคำถามคล้ายกันนี้ได้อย่างไร

หลังจากทำกิจกรรมข้างต้นเสร็จหนึ่งอย่าง ให้เยาวชนทบทวนคำถามที่พวกเขาจดไว้ตอนต้นชั้นเรียน เปิดโอกาสให้พวกเขาวางแผนวิธีที่พวกเขาจะหาคำตอบของคำถามเหล่านี้ หากอยู่ในวิสัยที่ทำได้ให้พวกเขาเริ่มหาคำตอบในพระคัมภีร์ ถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์ที่มีชีวิต เพื่อความเข้มแข็งของเยาวชน และแหล่งข้อมูลอื่นของศาสนจักร

ขอให้เยาวชนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้วันนี้ พวกเขาเข้าใจวิธีหาคำตอบของคำถามพระกิตติคุณหรือไม่ พวกเขามีคำถามเพิ่มเติมหรือไม่ การใช้เวลามากขึ้นกับหัวข้อนี้จะคุ้มค่าหรือไม่

เกร็ดน่ารู้เกี่ยวกับการสอน

ท่านอาจจะติดต่อสมาชิกคนหนึ่งในชั้นล่วงหน้าหลายวันและเชิญเขาหรือเธอให้สอนบทเรียนทั้งหมดหรือบางส่วน กระตุ้นเยาวชนคนนั้นให้ใช้โครงร่างการเรียนรู้เหล่านี้เตรียมสอน

เชื้อเชิญให้กระทำ

เชื้อเชิญให้เยาวชนแบ่งปันความประทับใจที่มีระหว่างชั้นเรียน พวกเขาจะทำอะไรเพื่อหาคำตอบของคำถามพระกิตติคุณของพวกเขาเอง กระตุ้นพวกเขาให้แบ่งปันสิ่งที่พบในชั้นเรียนคราวหน้า