เซมินารี
คำนำคู่มือครูเซมินารี พระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญาและประวัติศาสนจักร


คำนำคู่มือครูเซมินารี พระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญาและประวัติศาสนจักร

จุดประสงค์ของเรา

วัตถุประสงค์ของเซมินารีและสถาบันศาสนากล่าวว่า

“จุดประสงค์ของเราคือช่วยให้เยาวชนและคนหนุ่มสาวเข้าใจและพึ่งพาคำสอนตลอดจนการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ มีคุณสมบัติคู่ควรรับพรของพระวิหาร อีกทั้งเตรียมตนเอง ครอบครัว และคนอื่นๆ ให้พร้อมมีชีวิตนิรันดร์อยู่กับพระบิดาในสวรรค์”

เพื่อให้บรรลุจุดประสงค์ดังกล่าวเราจึงสอนนักเรียนให้รู้หลักคำสอนและหลักธรรมพระกิตติคุณตามที่พบในพระคัมภีร์และถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์ เราสอนหลักคำสอนและหลักธรรมเหล่านี้ในวิธีที่ทำให้เกิดความเข้าใจและความจรรโลงใจ เราช่วยให้นักเรียนมีสัมฤทธิผลในบทบาทของตนในกระบวนการเรียนรู้และเตรียมพวกเขาให้พร้อมสอนพระกิตติคุณให้ผู้อื่น

เพื่อช่วยให้บรรลุจุดมุ่งหมายเหล่านี้ เรากระตุ้นให้ท่านและนักเรียนที่ท่านสอนใช้หลักพื้นฐานของการสอนและการเรียนพระกิตติคุณต่อไปนี้ขณะที่ท่านศึกษาพระคัมภีร์ด้วยกัน

  • สอนและเรียนรู้โดยพระวิญญาณ

  • สร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่มีความรัก ความเคารพ และจุดประสงค์

  • ศึกษาพระคัมภีร์ทุกวันและอ่านตำราสำหรับหลักสูตร (แผนภูมิสำหรับติดตามการอ่านพระคัมภีร์มีอยู่ในภาคผนวกท้ายคู่มือเล่มนี้ ที่ LDS.org และที่ store.lds.org [item no. 10494])

  • เข้าใจบริบทและเนื้อหาของพระคัมภีร์ตลอดจนถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์

  • ระบุ เข้าใจ รู้สึกถึงความจริงและความสำคัญ ตลอดจนประยุกต์ใช้หลักคำสอนและหลักธรรมพระกิตติคุณ

  • อธิบาย แบ่งปัน เป็นพยานถึงหลักคำสอนและหลักธรรมพระกิตติคุณ

  • เชี่ยวชาญข้อพระคัมภีร์ที่สำคัญและ หลักคำสอนพื้นฐาน

คู่มือครูเล่มนี้จัดทำขึ้นเพื่อช่วยให้ท่านประสบผลสำเร็จในการบรรลุจุดมุ่งหมายเหล่านี้

ภาพ
เด็กผู้หญิงอ่านพระคัมภีร์

เซมินารีและหลักสูตรเยาวชนวันอาทิตย์

การช่วยให้เยาวชนเปลี่ยนใจเลื่อมใสพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์

ความพยายามร่วมกัน

ฝ่ายประธานสูงสุดขอร้องบิดามารดา ครู และผู้นำให้ “ช่วยเยาวชนเรียนรู้พระกิตติคุณโดยการศึกษาและศรัทธาของพวกเขาเอง ค้นพบความจริงของพระกิตติคุณด้วยตนเอง และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ครอบครัวของตนและคนอื่นๆ โดยแบ่งปันประสบการณ์ ข้อคิด และประจักษ์พยานของพวกเขา” การทำเช่นนี้จะช่วยให้พวกเขาเดินตามเส้นทางที่ “จะนำพวกเขาไปสู่การเปลี่ยนใจเลื่อมใส” (การสอนพระกิตติคุณในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด [2012], 2)

ภายใต้การกำกับดูแลของฐานะปุโรหิต องค์การเยาวชนชาย องค์การเยาวชนหญิง โรงเรียนวันอาทิตย์ และเซมินารีร่วมมือกันพัฒนาหลักสูตรเพื่อช่วยให้เยาวชนบรรลุจุดมุ่งหมายเหล่านี้ แม้แต่ละองค์การมีบทบาทเฉพาะตนในการทำให้เยาวชนเข้มแข็ง แต่จุดประสงค์หลักของหลักสูตรเยาวชนทั้งหมดคือนำเยาวชนมาหาพระผู้ช่วยให้รอดและทำให้พวกเขาเปลี่ยนใจเลื่อมใสพระกิตติคุณของพระองค์ หลักสูตรสำหรับองค์การเยาวชนแต่ละองค์การออกแบบไว้เพื่อทำงานให้สอดคล้องกับองค์การอื่นของเยาวชน ตัวอย่างเช่น:

  • “การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด” (หมวดที่จัดพิมพ์ทั้งในสื่อการเรียนการสอนของเซมินารีและหลักสูตรเยาวชนวันอาทิตย์) เป็นหมวดที่องค์การต่างๆ ของเยาวชนพัฒนาร่วมกันเพื่อช่วยให้ครู บิดามารดา และผู้นำได้เรียนรู้วิธีที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอน (ดู การสอนและการเรียนพระกิตติคุณ: คู่มือสำหรับครูและผู้นำในเซมินารีและสถาบันศาสนา [2012], v–vii; การสอนพระกิตติคุณในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด [2012], 4–5) “การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด” สำรวจวิธีที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงช่วยให้ผู้อื่นนำความจริงอันศักดิ์สิทธิ์ที่พระองค์ทรงสอนเข้ามาในชีวิตโดยกระตุ้นให้พวกเขาปฏิบัติด้วยศรัทธาและมีบทบาทแข็งขันในกระบวนการเรียนรู้ หลักธรรมเหล่านี้ของการสอนและการเรียนพระกิตติคุณรวมอยู่ในหลักสูตรสำหรับองค์การเยาวชนทั้งหมด

  • หลักสูตรสำหรับองค์การเยาวชนทั้งหมดเน้นหลักคำสอนมูลฐานเดียวกัน หลักคำสอนพื้นฐาน ที่เน้นในหลักสูตรเซมินารีตรงกับ หลักธรรมคำสอนพื้นฐาน ที่สอนในหลักสูตรเยาวชน ในชั้นเรียนวันอาทิตย์ หลักสูตรเยาวชนเน้นหลักคำสอนเหล่านี้เดือนละหนึ่งข้อ ในเซมินารีเน้นหลักคำสอนเหล่านี้เมื่อเยาวชนศึกษางานมาตรฐานแต่ละเล่ม ความพยายามร่วมกันนี้ช่วยเสริมความจริงที่เยาวชนเรียนรู้ในวันอาทิตย์ด้วยสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้ในห้องเรียนเซมินารีและเสริมสิ่งที่เรียนในห้องเรียนเซมินารีด้วยความจริงที่เรียนรู้ในวันอาทิตย์ การเน้นหลักคำสอนเดียวกันเหล่านี้ในหลักสูตรเยาวชนทั้งหมดช่วยให้เยาวชน ครู และบิดามารดามีประสบการณ์เหมือนกันมากขึ้น

  • หลักสูตรสำหรับแต่ละองค์การออกแบบไว้เพื่อช่วยให้เยาวชนเข้าใจและมีประจักษ์พยานในพระกิตติคุณลึกซึ้งขึ้นและเรียนรู้วิธีสอนผู้อื่น เพื่อให้บรรลุจุดประสงค์ดังกล่าว ทั้งเนื้อหาเซมินารีและหลักสูตรเยาวชนจึงมุ่งช่วยเหลือเยาวชนให้มีบทบาทแข็งขันมากขึ้นในฐานะผู้เรียนพระกิตติคุณ ค้นพบความจริงของพระกิตติคุณด้วยตนเอง ตลอดจนอธิบาย แบ่งปัน และเป็นพยานยืนยันความจริงเหล่านี้ต่อผู้อื่น

  • ผู้ได้รับเรียกให้สอนในโรงเรียนวันอาทิตย์ เยาวชนชาย เยาวชนหญิง หรือเซมินารีน่าจะมองเห็นความสอดคล้องในวิธีสอนและเรียนพระกิตติคุณ ทั้งเนื้อหาเซมินารีและหลักสูตรเยาวชนเน้นช่วยให้เยาวชนเปลี่ยนใจเลื่อมใสลึกซึ้งยิ่งขึ้น เนื่องด้วยวัตถุประสงค์ร่วมกันนี้ เนื้อหาการอบรมและสื่อมากมายที่จัดทำไว้ให้ครูโดยใช้หลักสูตรเยาวชนวันอาทิตย์จึงมีอยู่ในเซมินารีและมีอยู่ที่ LDS.org ด้วย

ลักษณะเฉพาะด้าน

องค์การเยาวชนแต่ละองค์การมีบทบาทเฉพาะด้านในการช่วยให้เยาวชนเปลี่ยนใจเลื่อมใสพระกิตติคุณ (ดู การสอนพระกิตติคุณในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด, 12–13) ตัวอย่างเช่น หลักสูตรที่ใช้ในชั้นเรียนโรงเรียนวันอาทิตย์ เยาวชนชาย และเยาวชนหญิงเน้นหลักธรรมคำสอนพื้นฐานเดือนละหนึ่งหลักธรรม ส่วนนักเรียนในเซมินารีเรียนหลักคำสอนและหลักธรรมของพระกิตติคุณเมื่อพวกเขาศึกษางานมาตรฐานตั้งแต่ต้นจนจบ

การศึกษาพระกิตติคุณตามหัวข้อในชั้นเรียนวันอาทิตย์จะช่วยให้เยาวชนเข้าใจหลักคำสอนเฉพาะเรื่องได้ลึกซึ้งขึ้นโดยสำรวจแง่มุมต่างๆ ของความจริงเหล่านั้นและสอนกัน ในเซมินารีเยาวชนสามารถค้นพบและเข้าใจหลักคำสอนเดียวกันนั้นในบริบทของความจริงที่เกี่ยวข้องในพระคัมภีร์และเห็นตัวอย่างความจริงเหล่านั้นในชีวิตและคำสอนของแต่ละบุคคลในพระคัมภีร์ นอกจากนี้การศึกษาพระคัมภีร์ตั้งแต่ต้นจนจบจะช่วยให้เยาวชนมั่นใจมากขึ้นว่า “พระบิดาบนสวรรค์กำลังตรัสกับพวกเขาจริงๆ ผ่านพระคัมภีร์ และ [มี] ความมั่นใจว่าพวกเขาสามารถหันไปพึ่งพระคัมภีร์และพบคำตอบของปัญหาและการสวดอ้อนวอนของพวกเขา” (Howard W. Hunter, “Eternal Investments” [address to Church Educational System religious educators, Feb. 10, 1989], 2; LDS.org) เยาวชนจะคุ้นเคยพระคัมภีร์ด้วยทั้งนี้เพื่อพวกเขาจะสามารถใช้พระคัมภีร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพเมื่อเป็นผู้สอนศาสนา ผู้นำ และบิดามารดาในอนาคต การศึกษาหลักคำสอนของพระกิตติคุณทั้งสองด้านจะช่วยให้เยาวชนเข้าใจพระกิตติคุณลึกซึ้งยิ่งขึ้นและเตรียมพวกเขาให้พร้อมสอนกัน

การเตรียมบทเรียน

พระเจ้าทรงแนะนำผู้สอนพระกิตติคุณให้ “สอนหลักธรรมแห่งกิตติคุณของเรา, ซึ่งมีอยู่ในพระคัมภีร์ไบเบิลและพระคัมภีร์มอรมอน, ซึ่งในนั้นคือความสมบูรณ์แห่งกิตติคุณ” (คพ. 42:12) พระองค์ทรงแนะนำเพิ่มเติมว่าควรสอนความจริงเหล่านี้ตามที่ “ได้รับการชี้แนะจากพระวิญญาณ” ซึ่ง “ประทาน … โดยคำสวดอ้อนวอนจากศรัทธา” (คพ. 42:13–14) เมื่อท่านเตรียมบทเรียนแต่ละบท ให้แสวงหาการนำทางจากพระวิญญาณร่วมกับการสวดอ้อนวอนเพื่อช่วยให้ท่านเข้าใจพระคัมภีร์ หลักคำสอน และหลักธรรมที่อยู่ในนั้น นอกจากนี้จงทำตามการกระตุ้นเตือนของพระวิญญาณเมื่อวางแผนวิธีช่วยให้นักเรียนเข้าใจพระคัมภีร์ รับการสอนจากพระวิญญาณ และรู้สึกปรารถนาจะประยุกต์ใช้สิ่งที่พวกเขาเรียนรู้

ในหลักสูตรนี้ พระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญาเป็นตำราหลักที่ท่านจะใช้ขณะเตรียมและสอน ศึกษาภาคหรือข้อต่างๆ ที่ท่านจะสอนร่วมกับการสวดอ้อนวอน พยายามเข้าใจบริบทและเนื้อหาของช่วงพระคัมภีร์ รวมถึงโครงเรื่อง ผู้คน สถานที่ และเหตุการณ์ เมื่อท่านคุ้นเคยกับบริบทและเนื้อหาของพระคัมภีร์แต่ละช่วงแล้ว จงพยายามระบุหลักคำสอนและหลักธรรมที่อยู่ในนั้น และตัดสินใจว่าความจริงใดสำคัญที่สุดที่นักเรียนต้องเข้าใจและประยุกต์ใช้ เมื่อท่านค้นพบสิ่งที่ท่านจะเน้นแล้ว ท่านสามารถตัดสินใจได้ว่าวิธี แนวทางการสอน และกิจกรรมใดจะช่วยให้นักเรียนของท่านเรียนรู้และประยุกต์ใช้ความจริงอันศักดิ์สิทธิ์ที่มีอยู่ในพระคัมภีร์ได้ดีที่สุด

คู่มือเล่มนี้ออกแบบไว้ช่วยท่านในกระบวนการดังกล่าว ทบทวนเนื้อหาบทเรียนตามช่วงพระคัมภีร์ที่ท่านจะสอนอย่างละเอียด ท่านอาจเลือกใช้ข้อเสนอแนะบางส่วนหรือทั้งหมดสำหรับช่วงพระคัมภีร์หนึ่งช่วง หรือท่านอาจปรับแนวคิดที่เสนอตามความต้องการและสภาวการณ์ของนักเรียนที่ท่านสอน

สำคัญที่ท่านต้องช่วยนักเรียนศึกษาช่วงพระคัมภีร์ทั้งช่วงในบทเรียนแต่ละบท การทำเช่นนั้นจะช่วยให้นักเรียนได้รับข่าวสารครบถ้วนตามที่ผู้เขียนพระคัมภีร์ตั้งใจถ่ายทอด อย่างไรก็ดี ขณะวางแผนบทเรียน ท่านอาจพบว่าท่านมีเวลาในคาบเรียนไม่พอจะใช้ข้อเสนอแนะการสอนทั้งหมดในคู่มือ จงแสวงหาการนำทางจากพระวิญญาณและพิจารณาความต้องการของนักเรียนร่วมกับการสวดอ้อนวอนขณะตัดสินใจว่าจะเน้นส่วนใดของช่วงพระคัมภีร์เพื่อช่วยให้นักเรียนรู้สึกถึงความจริงและความสำคัญของความจริงพระกิตติคุณและประยุกต์ใช้ในชีวิตของพวกเขา หากเวลาน้อย ท่านอาจจะต้องปรับส่วนอื่นของบทเรียนโดยสรุปกลุ่มข้อพระคัมภีร์พอสังเขปหรือนำให้นักเรียนระบุหลักธรรมหรือหลักคำสอนอย่างรวดเร็วก่อนสอนกลุ่มข้อถัดไป

ขณะที่ท่านพิจารณาวิธีปรับเนื้อหาบทเรียน จงทำตามคำแนะนำนี้จากเอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

ภาพ
เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์

“ข้าพเจ้าได้ยินประธานแพคเกอร์สอนบ่อยครั้งว่า ให้เราเลือกใช้ก่อน แล้วค่อยปรับ ถ้าเรามีฐานความเข้าใจถ่องแท้ในบทเรียนที่เราได้รับมอบหมายให้สอน เราสามารถทำตามพระวิญญาณเพื่อปรับให้เหมาะสมได้” (“A Panel Discussion with Elder Dallin H. Oaks” [Seminaries and Institutes of Religion satellite broadcast, Aug. 7, 2012])

ขณะที่ท่านเตรียมสอน จงนึกถึงนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษบางอย่าง ปรับกิจกรรมและความคาดหวังเพื่อช่วยให้พวกเขาประสบความสำเร็จ การสื่อสารกับบิดามารดาและผู้นำจะช่วยให้ท่านรู้ความต้องการของนักเรียนและช่วยให้ท่านประสบผลสำเร็จในการจัดเตรียมประสบการณ์ที่มีความหมายและจรรโลงใจสำหรับพวกเขา

ระหว่างการเตรียมบทเรียนของท่าน ท่านอาจจะใช้เครื่องมือบันทึกและสมุดบันทึกบน LDS.org หรือในคลังค้นคว้าพระกิตติคุณสำหรับอุปกรณ์เคลื่อนที่ ท่านสามารถใช้เครื่องมือเหล่านี้เพื่อทำเครื่องหมายพระคัมภีร์ คำปราศรัยการประชุม บทความนิตยสารศาสนจักร และบทเรียน นอกจากนี้ท่านยังสามารถเพิ่มหรือจดบันทึกไว้ใช้ระหว่างบทเรียนของท่านได้ด้วย เพื่อเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้เครื่องมือเหล่านี้ ให้ดูหน้า Notes and Journal Help ใน LDS.org

การใช้คู่มือครูประจำวัน

คำนำช่วงพระคัมภีร์

คำนำช่วงพระคัมภีร์ให้สาระโดยสังเขปของบริบทและเนื้อหาของช่วงพระคัมภีร์สำหรับบทเรียนแต่ละบท

การจัดกลุ่มข้อและการสรุปบริบท

ช่วงพระคัมภีร์มักจะแบ่งออกเป็นส่วนๆ หรือกลุ่มข้อที่เน้นหัวข้อหรือการปฏิบัตินั้นๆ ข้ออ้างอิงสำหรับการจัดกลุ่มข้อแต่ละกลุ่มจะตามด้วยสรุปย่อของเหตุการณ์หรือคำสอนภายในกลุ่มข้อนั้น

ความช่วยเหลือด้านการสอน

ความช่วยเหลือด้านการสอนอธิบายหลักธรรมและวิธีการสอนพระกิตติคุณ สิ่งเหล่านี้สามารถช่วยท่านได้ขณะปรับปรุงการเป็นครูของท่าน

ตัวบทเรียน

ตัวบทเรียนมีแนวทางให้ท่านขณะศึกษาและสอน ทั้งยังเสนอแนวคิดการสอน ได้แก่ คำถาม กิจกรรม คำอ้างอิง แผนภาพ และแผนภูมิด้วย

หลักคำสอนและหลักธรรม

เมื่อหลักคำสอนและหลักธรรมเกิดขึ้นเองจากการศึกษาเนื้อความพระคัมภีร์ ท่านจะใช้สีเน้นข้อความเพื่อช่วยให้ท่านเห็นและเน้นในการสนทนากับนักเรียน

รูปภาพ

รูปภาพของผู้นำศาสนจักรและเหตุการณ์ต่างๆ จากพระคัมภีร์เป็นทัศนูปกรณ์ที่ท่านติดให้ดูได้ขณะสอน หากท่านหาได้

ช่องว่างหลังคอลัมน์

ท่านสามารถใช้ช่องว่างหลังคอลัมน์สำหรับเตรียมบทเรียน รวมถึงการจดหมายเหตุ หลักธรรม ประสบการณ์ หรือแนวคิดอื่นตามที่พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงกระตุ้นเตือน

อรรถาธิบายและข้อมูลภูมิหลัง

คำพูดอ้างอิงและคำอธิบายเพิ่มเติมมีให้ท้ายบทเรียนบางบทเพื่อให้ความเข้าใจเพิ่มเติมในเรื่องบริบทด้านประวัติศาสตร์ แนวคิดบางอย่าง หรือข้อความพระคัมภีร์ จงใช้ข้อมูลในหมวดหมู่นี้เตรียมตอบคำถามหรือให้ข้อคิดเพิ่มเติมขณะที่ท่านสอน อรรถาธิบายเพิ่มเติมมีอยู่ในรูปแบบดิจิตอลของคู่มือเล่มนี้ที่ LDS.org

แนวคิดการสอนเพิ่มเติม

แนวคิดการสอนเพิ่มเติมอยู่ท้ายบทเรียนบางบท แนวคิดเหล่านี้ให้ข้อเสนอแนะสำหรับการสอนหลักคำสอนและหลักธรรมที่อาจไม่ได้ระบุไว้หรือไม่ได้เน้นในตัวบทเรียน นอกจากนี้ยังให้ข้อเสนอแนะเรื่องการใช้สื่อทัศน์ด้วย อาทิ ดีวีดีและ วีดิทัศน์ที่ LDS.org แนวคิดการสอนเพิ่มเติมมีอยู่ในรูปแบบดิจิตอลของคู่มือเล่มนี้ที่ LDS.org

โปรแกรมเซมินารีประจำวัน (ช่วงพักและเช้าตรู่)

คู่มือเล่มนี้มีองค์ประกอบต่อไปนี้สำหรับครูเซมินารีประจำวัน: บทเรียนสำหรับครูประจำวัน 160 บท ความช่วยเหลือด้านการสอน และแหล่งข้อมูลสำหรับสอนผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์และหลักคำสอนพื้นฐาน

บทเรียนสำหรับครูประจำวัน

รูปแบบบทเรียน

บทเรียนแต่ละบทในคู่มือเล่มนี้เน้นช่วงพระคัมภีร์ไม่ใช่เน้นแนวคิด หลักคำสอน หรือหลักธรรมใดหลักธรรมหนึ่ง รูปแบบนี้จะช่วยให้ท่านและนักเรียนของท่านศึกษาพระคัมภีร์ตามลำดับอีกทั้งสนทนาหลักคำสอนและหลักธรรมที่เกิดขึ้นเองในเนื้อความพระคัมภีร์ เมื่อนักเรียนเรียนบริบทซึ่งพบหลักคำสอนหรือหลักธรรมในนั้น พวกเขาจะเข้าใจความจริงนั้นได้ลึกซึ้งขึ้น นอกจากนี้ นักเรียนจะสามารถเห็นและเข้าใจขอบเขตทั้งหมดของข่าวสารที่ผู้เขียนพระคัมภีร์ด้วยการดลใจตั้งใจจะถ่ายทอด การสอนพระคัมภีร์ในวิธีนี้จะช่วยให้นักเรียนรู้วิธีค้นพบและประยุกต์ใช้ความจริงนิรันดร์ในการศึกษาพระคัมภีร์ส่วนตัวของพวกเขา

ในบทเรียนแต่ละบทจะไม่เน้นทุกส่วนของช่วงพระคัมภีร์ บางส่วนได้รับความสนใจน้อยกว่าเพราะสำคัญน้อยกว่าต่อข่าวสารโดยรวมของผู้เขียนที่ได้รับการดลใจหรือเพราะอาจจะประยุกต์ใช้กับเยาวชนได้น้อยกว่า ท่านมีความรับผิดชอบในการปรับเนื้อหาเหล่านี้ตามความต้องการและความสนใจของนักเรียนที่ท่านสอน ท่านอาจจะปรับแนวคิดบทเรียนในคู่มือเล่มนี้โดยเลือกเน้นหลักคำสอนหรือหลักธรรมหนึ่งมากกว่าที่ให้ไว้ในเนื้อหาบทเรียนหรือเลือกเน้นส่วนหนึ่งของช่วงพระคัมภีร์ที่ให้รายละเอียดเชิงลึกไว้ในคู่มือให้น้อยลง จงแสวงหาการนำทางจากพระวิญญาณบริสุทธิ์เพื่อช่วยท่านปรับสิ่งต่างๆ เหล่านี้ขณะเตรียมและสอน

หลักคำสอนและหลักธรรม

ในส่วนประกอบหลักของบทเรียนแต่ละบท ท่านจะพบหลักคำสอนและหลักธรรมสำคัญๆ หลายประการเป็นตัวพิมพ์หนา หลักคำสอนและหลักธรรมเหล่านี้ระบุไว้ในหลักสูตรเพราะ (1) สะท้อนข่าวสารหลักของช่วงพระคัมภีร์ (2) ประยุกต์ใช้ได้เป็นพิเศษกับความต้องการและสภาวการณ์ของนักเรียน หรือ (3) เป็นความจริงที่สามารถช่วยให้นักเรียนมีสัมพันธภาพกับพระเจ้าลึกซึ้งขึ้น จงรับรู้ว่าพระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญาสอนความจริงมากกว่าที่ระบุไว้ในหลักสูตร ประธาน บอยด์ เค. แพคเกอร์สอนว่าพระคัมภีร์มี “ความจริงผสมผสานรวมกันไม่สิ้นสุดซึ่งจะเหมาะกับความต้องการของทุกคนในทุกสภาวการณ์” (“The Great Plan of Happiness” [CES Symposium on the Doctrine and Covenants/Church History, Aug. 10, 1993], LDS.org; ดู Teaching Seminary: Preservice Readings [2004], 69, LDS.org ด้วย)

ขณะที่ท่านสอน จงจัดหาโอกาสให้นักเรียนได้ระบุหลักคำสอนและหลักธรรมในพระคัมภีร์อยู่เสมอ ขณะนักเรียนบอกความจริงที่พวกเขาค้นพบ บ่อยครั้งพวกเขาอาจใช้คำต่างจากหลักคำสอนหรือหลักธรรมที่กล่าวไว้ในคู่มือเล่มนี้ พวกเขาอาจค้นพบความจริงที่ไม่ได้ระบุไว้ในโครงร่างบทเรียนเช่นกัน จงอย่าบอกว่าคำตอบของนักเรียนผิดเพียงเพราะคำที่พวกเขาใช้ต่างจากคำที่ใช้ในคู่มือหรือเพราะพวกเขาระบุความจริงที่ไม่ได้กล่าวไว้ในหลักสูตร อย่างไรก็ตาม หากคำกล่าวของนักเรียนไม่ถูกต้องตามหลักคำสอน ความรับผิดชอบของท่านคือช่วยนักเรียนแก้ไขคำกล่าวนั้นอย่างนุ่มนวลขณะยังคงรักษาบรรยากาศของความรักและความไว้วางใจ การทำเช่นนั้นอาจให้ประสบการณ์การเรียนรู้ที่สำคัญแก่นักเรียนในชั้นเรียนของท่าน

อัตราการสอน

คู่มือเล่มนี้มีบทเรียนเซมินารีประจำวัน 160 บท ท่านอาจปรับบทเรียนและอัตราการสอนตามระยะเวลาที่ท่านต้องสอนหลักสูตรนี้ ดูตัวอย่างแนวกำหนดอัตราการสอนในภาคผนวกท้ายคู่มือเล่มนี้ แนวกำหนดอัตราการสอนยึดปีการศึกษา 36 สัปดาห์หรือ 180 วันเป็นหลัก และมี “วันที่ยืดหยุ่นได้” 20 วันรวมอยู่ด้วยซึ่งท่านอาจใช้ปรับบทเรียนประจำวัน ช่วยให้นักเรียนเชี่ยวชาญพระคัมภีร์ข้อสำคัญๆ และหลักคำสอนพื้นฐาน ทบทวนเนื้อหาที่ผ่านมา และอาจให้หยุดเรียนบางช่วงด้วย

งานชดเชย

ท่านสามารถใช้ พระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญาและประวัติศาสนจักร แนวทางศึกษาสำหรับนักเรียนเซมินารีภาคการศึกษาที่บ้าน ในโปรแกรมเซมินารีประจำวันเพื่อเป็นแหล่งข้อมูลให้นักเรียนใช้ทำงานชดเชย บทเรียนในแนวทางศึกษาสำหรับนักเรียนภาคการศึกษาที่บ้านคล้ายกับบทเรียนที่นำเสนอในคู่มือเล่มนี้ นักเรียนที่ขาดเรียนมากเกินไปจะได้รับมอบหมายให้ทำงานมอบหมายในแนวทางศึกษาซึ่งตรงกับเนื้อหาที่พวกเขาขาดเรียน ท่านสามารถพิมพ์งานมอบหมายได้จาก LDS.orgเพื่อจะได้ไม่ต้องให้คู่มือทั้งเล่มกับนักเรียนที่ต้องทำงานชดเชย ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ พระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญาและประวัติศาสนจักร แนวทางศึกษาสำหรับนักเรียนเซมินารีภาคการศึกษาที่บ้าน อยู่ในหมวดชื่อ “โปรแกรมเซมินารีภาคการศึกษาที่บ้าน” ในเนื้อหาคำนำเหล่านี้

ความช่วยเหลือด้านการสอน

ความช่วยเหลือด้านการสอนอยู่ตรงช่องว่างริมหน้าของคู่มือเล่มนี้ ซึ่งจะช่วยอธิบายและยกตัวอย่างให้เห็นวิธีที่ท่านและนักเรียนสามารถประยุกต์ใช้หลักการขั้นพื้นฐานของการสอนและการเรียนพระกิตติคุณในการศึกษาพระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญาและประวัติศาสนจักร นอกจากนี้ยังให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับวิธีใช้ความหลากหลายของวิธี ทักษะ และแนวทางการสอนอย่งมีประสิทธิภาพด้วย ขณะทำความเข้าใจหลักธรรมที่อยู่ในความช่วยเหลือด้านการสอน จงหาวิธีฝึกและประยุกต์ใช้หลักธรรมเหล่านั้นอย่างสม่ำเสมอในการสอนของท่าน

การใช้บทเรียนภาคการศึกษาที่บ้าน

บทสรุปของบทเรียนสำหรับนักเรียน

บทสรุปจะช่วยให้ท่านคุ้นเคยกับบริบท หลักคำสอน และหลักธรรมที่นักเรียนศึกษาระหว่างสัปดาห์ในแนวทางศึกษาของนักเรียน

คำนำบทเรียน

คำนำบทเรียนจะช่วยให้ท่านรู้ว่าจะเน้นส่วนใดของช่วงพระคัมภีร์ในบทเรียน

ตัวบทเรียน

ตัวบทเรียนจะให้แนวทางท่านขณะท่านศึกษาและสอน เสนอแนวคิดการสอน ได้แก่ คำถาม กิจกรรม คำอ้างอิง แผนภาพ และแผนภูมิ

การจัดกลุ่มข้อและการสรุปบริบท

ข้อต่างๆ จัดกลุ่มตามการเปลี่ยนแปลงในบริบทหรือเนื้อหาที่เกิดขึ้นตลอดช่วงพระคัมภีร์ ข้ออ้างอิงสำหรับการจัดกลุ่มข้อแต่ละกลุ่มจะตามด้วยสรุปย่อของเหตุการณ์หรือคำสอนภายในกลุ่มข้อนั้น

หลักคำสอนและหลักธรรม

เมื่อหลักคำสอนและหลักธรรมเกิดขึ้นเองจากการศึกษาเนื้อความพระคัมภีร์ ท่านจะใช้สีเน้นข้อความให้ชัดเจนเพื่อช่วยให้ท่านเห็นและเน้นในการสนทนากับนักเรียน

การเกริ่นนำหน่วยถัดไป

ย่อหน้าสุดท้ายของแต่ละบทจะให้ข้อมูลเล็กน้อยสำหรับหน่วยถัดไป แบ่งปันย่อหน้านี้กับนักเรียนของท่านเมื่อสรุปบทเรียนแต่ละบทเพื่อช่วยให้พวกเขาตั้งตารอศึกษาพระคัมภีร์ระหว่างสัปดาห์ที่จะมาถึง

โปรแกรมเซมินารีภาคการศึกษาที่บ้าน

ภายใต้การกำกับดูแลของผู้นำฐานะปุโรหิตในท้องที่และตัวแทนเอสแอนด์ไอ ชั้นเรียนเซมินารีภาคการศึกษาที่บ้านจะจัดในสถานที่ซึ่งนักเรียนไม่สามารถมาเข้าชั้นเรียนประจำวันได้เนื่องจากอยู่ไกลหรือปัจจัยอื่นๆ (เช่น ความพิการ) โดยทั่วไปจะไม่มีชั้นเรียนเซมินารีภาคการศึกษาที่บ้านหากที่นั่นมีชั้นเรียนประจำวัน (ประจำสัปดาห์) ช่วงเช้าตรู่หรือในช่วงพัก

โปรแกรมภาคการศึกษาที่บ้านจะให้นักเรียนได้หน่วยกิตในเซมินารีโดยศึกษาบทเรียนด้วยตนเองที่บ้านแทนการเข้าชั้นเรียนในวันธรรมดา บทเรียนเหล่านี้อยู่ในคู่มืออีกเล่มเรียกว่า พระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญาและประวัติศาสนจักร แนวทางศึกษาสำหรับนักเรียนเซมินารีภาคการศึกษาที่บ้าน นักเรียนมาพบปะพูดคุยกับครูเซมินารีสัปดาห์ละครั้งเพื่อส่งงานและเรียนบทเรียนในห้องเรียน แนวทางศึกษาสำหรับนักเรียนและบทเรียนประจำสัปดาห์ในห้องเรียนมีคำอธิบายเพิ่มเติมด้านล่าง

แนวทางศึกษาสำหรับนักเรียนภาคการศึกษาที่บ้าน

พระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญาและประวัติศาสนจักร แนวทางศึกษาสำหรับนักเรียนเซมินารีภาคการศึกษาที่บ้าน ออกแบบไว้ช่วยให้นักเรียนภาคการศึกษาที่บ้านได้รับประสบการณ์ในการศึกษาพระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญาและประวัติศาสนจักรคล้ายกับนักเรียนเซมินารีที่เข้าเช้าเรียนวันธรรมดา ด้วยเหตุนี้อัตราการสอนตามแนวทางศึกษาของนักเรียนรวมทั้งหลักคำสอนและหลักธรรมที่เน้นจึงคล้ายกับเนื้อหาในคู่มือเล่มนี้ แนวทางศึกษาของนักเรียนมีการสอนผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์รวมอยู่ด้วย ในบริบทกล่าวถึงข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์เมื่อข้อเหล่านั้นปรากฏในเนื้อความพระคัมภีร์ และบ่อยครั้งจะมีกิจกรรมการเขียนครอบคลุมพระคัมภีร์ข้อนั้นให้ไว้ในบทเรียนด้วย

แต่ละสัปดาห์ นักเรียนเซมินารีภาคการศึกษาที่บ้านต้องศึกษาบทเรียนสี่บทจากแนวทางศึกษาให้จบและเข้าเรียนบทเรียนที่ครูเซมินารีของพวกเขาสอนสัปดาห์ละครั้ง นักเรียนทำงานมอบหมายเป็นข้อๆ จากแนวทางศึกษาลงในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขา นักเรียนควรมีสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์สองเล่มเพื่อพวกเขาจะสามารถทิ้งเล่มหนึ่งไว้กับครูและทำงานในอีกเล่มหนึ่งต่อ เมื่อนักเรียนพบกับครูในแต่ละสัปดาห์ พวกเขาต้องส่งสมุดเล่มหนึ่งให้ครูภาคการศึกษาที่บ้านและครูจะคืนอีกเล่มหนึ่งให้นักเรียนใช้สำหรับบทเรียนของสัปดาห์ถัดไป (ตัวอย่างเช่น ในช่วงหนึ่งสัปดาห์ นักเรียนทำงานมอบหมายในสมุดบันทึกเล่ม 1 จากนั้นจึงนำสมุดบันทึกเล่มนี้มาส่งครูที่ชั้นเรียน ในช่วงสัปดาห์ถัดไป นักเรียนทำงานมอบหมายในสมุดบันทึกเล่ม 2 เมื่อนักเรียนส่งสมุดบันทึกเล่ม 2 ครูจะคืนสมุดบันทึกเล่ม 1 ให้ จากนั้นนักเรียนจะใช้สมุดบันทึกเล่ม 1 ทำงานมอบหมายของสัปดาห์ถัดไป)

เรากระตุ้นให้นักเรียนเซมินารีทุกคนศึกษาพระคัมภีร์ทุกวันและอ่านตำราหลักสูตร แต่นักเรียนภาคการศึกษาที่บ้านควรเข้าใจว่าเราคาดหวังให้พวกเขาใช้เวลาศึกษาบทเรียนภาคการศึกษาที่บ้านทั้งสี่บทเพิ่มบทละ 30 ถึง 40 นาทีในแต่ละหน่วยและเข้าชั้นเรียนภาคการศึกษาที่บ้านสัปดาห์ละครั้ง

บทเรียนของครูภาคการศึกษาที่บ้านประจำสัปดาห์

แต่ละหน่วยใน พระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญาและประวัติศาสนจักร แนวทางศึกษาสำหรับนักเรียนเซมินารีภาคการศึกษาที่บ้าน จะตรงกับบทเรียนห้าบทในคู่มือครูประจำวัน เมื่อจบบทเรียนทุกห้าบทในคู่มือเล่มนี้ ท่านจะมาเรียนกับครูภาคการศึกษาที่บ้านสัปดาห์ละครั้ง บทเรียนภาคการศึกษาที่บ้านจะช่วยนักเรียนทบทวน เข้าใจลึกซึ้งขึ้น และประยุกต์ใช้หลักคำสอนและหลักธรรมที่พวกเขาเรียนรู้ขณะศึกษาบทเรียนในแนวทางศึกษาสำหรับนักเรียนระหว่างสัปดาห์ บทเรียนเหล่านี้อาจสำรวจความจริงเพิ่มเติมที่ไม่อยู่ในแนวทางศึกษาสำหรับนักเรียนเช่นกัน (ดูความช่วยเหลือในการวางแผนตารางบทเรียนของท่านได้จากแนวกำหนดอัตราการสอนสำหรับครูภาคการศึกษาที่บ้านในภาคผนวกท้ายคู่มือเล่มนี้)

ในฐานะครูภาคการศึกษาที่บ้านท่านควรมีความเข้าใจถ่องแท้ว่านักเรียนของท่านกำลังศึกษาอะไรที่บ้านในแต่ละสัปดาห์ทั้งนี้เพื่อท่านจะสามารถตอบคำถามและสร้างการสนทนาที่มีความหมายเมื่อท่านพบกับพวกเขา ขอให้นักเรียนนำพระคัมภีร์ สมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ และแนวทางศึกษาสำหรับนักเรียนมาชั้นเรียนประจำสัปดาห์ด้วยทั้งนี้เพื่อพวกเขาจะใช้อ้างอิงระหว่างบทเรียน จงปรับบทเรียนตามความต้องการของนักเรียนที่ท่านสอนและตามการนำทางของพระวิญญาณบริสุทธิ์ ท่านอาจต้องการอ้างอิงบทเรียนครูประจำวันในคู่มือเล่มนี้เช่นกันขณะที่ท่านเตรียมและสอน การศึกษาความช่วยเหลือด้านการสอนและวิธีสอนที่ใช้ในบทเรียนประจำวันจะช่วยยกระดับการสอนประจำสัปดาห์ของท่าน จงปรับให้เหมาะกับความต้องการเฉพาะด้านของนักเรียนที่ท่านสอน ตัวอย่างเช่น หากนักเรียนมีปัญหาเรื่องการเขียน ท่านจะให้นักเรียนใช้อุปกรณ์บันทึกเสียงหรือบอกคำตอบของเขาให้สมาชิกครอบครัวหรือเพื่อนช่วยจดให้

เมื่อจบบทเรียนประจำสัปดาห์แต่ละบทให้รวบรวมสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของนักเรียนและกระตุ้นให้พวกเขาศึกษาต่อไป จัดเตรียมสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ให้พวกเขาทำงานมอบหมายของสัปดาห์ถัดไป ดังอธิบายไว้ข้างต้นในหมวดที่เรียกว่า “แนวทางศึกษาสำหรับนักเรียนภาคการศึกษาที่บ้าน” (ภายใต้การกำกับดูแลของผู้นำฐานะปุโรหิตและบิดามารดา ครูเซมินารี [ที่สเตคเรียก] จะสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์กับนักเรียนเซมินารีที่ลงทะเบียนเรียนเซมินารีภาคการศึกษาที่บ้าน)

เมื่อท่านอ่านงานมอบหมายในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของนักเรียน ให้ตอบรับงานของพวกเขาเป็นช่วงๆ โดยเขียนข้อความสั้นๆ หรือแสดงความคิดเห็นเมื่อพบพวกเขาครั้งหน้า ท่านอาจต้องหาวิธีอื่นๆ ให้กำลังใจและให้คำติชมที่มีความหมาย การทำเช่นนี้จะช่วยให้นักเรียนรู้ว่าท่านสนใจงานของพวกเขาและจะช่วยผลักดันให้พวกเขาตั้งใจตอบ

ส่วนใหญ่นักเรียนจะพยายามเชี่ยวชาญข้อพระคัมภีร์หลักๆ ขณะพวกเขาศึกษาบทเรียนของตนที่บ้านให้จบ ครูภาคการศึกษาที่บ้านสามารถติดตามผลความพยายามของนักเรียนระหว่างบทเรียนภาคการศึกษาที่บ้านโดยเชื้อเชิญให้นักเรียนท่องจำหรือทบทวนข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ที่ปรากฏในเนื้อความสำหรับหน่วยการศึกษาสัปดาห์นั้น

แหล่งข้อมูลอื่น

โครงการ Joseph Smith Papers (บรรณสารโจเซฟ สมิธ)

ข้อมูลประวัติส่วนใหญ่ในคู่มือเล่มนี้นำมาจาก History of the Church และโครงการ Joseph Smith Papers ส่วนที่ช่วยได้เป็นพิเศษคือชุดเอกสารฉบับ 1 และ 2 ของ Joseph Smith Papers จัดพิมพ์โดย Church Historian’s Press (ชื่อสำนักพิมพ์ของแผนกประวัติศาสนจักรของศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย) ดูภาพดิจิตอลและอ่านต้นร่างเอกสารเดิมในโครงการ Joseph Smith Papers ได้ที่ josephsmithpapers.org

เครื่องมือบันทึกและสมุดบันทึก

คู่มือครูเซมินารีและแนวทางศึกษาของนักเรียนมีให้ที่ LDS.org และในคลังค้นคว้าสำหรับอุปกรณ์พกพา ครูและนักเรียนอาจใช้เครื่องมือบันทึกและสมุดบันทึกออนไลน์หรือบนโทรศัพท์มือถือเพื่อทำเครื่องหมายและเพิ่มบันทึกลงในเวอร์ชั่นออนไลน์ของคู่มือเหล่านี้ขณะพวกเขาเตรียมบทเรียนและศึกษาพระคัมภีร์ คู่มือครูและแนวทางศึกษาของนักเรียน มีให้ดาวน์โหลด ในรูปแบบต่างๆ เช่นกัน (อาทิไฟล์ PDF, ePub, และ mobi [Kindle]) ที่ LDS.org

รายการเพิ่มเติม

แหล่งช่วยต่อไปนี้มีออนไลน์ ผ่านผู้ดูแลเซมินารี ผ่านศูนย์หนังสือของศาสนจักรในท้องที่ และผ่านศูนย์หนังสือออนไลน์ (store.lds.org)