เซมินารี
บทที่ 40: หลักคำสอนและพันธสัญญา 35


บทที่ 40

หลักคำสอนและพันธสัญญา 35

คำนำ

ภายในหกเดือนของการจัดตั้งศาสนจักร ออลิเวอร์ คาวเดอรีและปีเตอร์ วิตเมอร์ จูเนียร์ได้รับเรียกให้สั่งสอนพระกิตติคุณแก่ชาวอเมริกันอินเดียน (ดู คพ. 28:8; 30:5) ซีบา พีเตอร์สันและพาร์ลีย์ พี. แพรทท์ได้รับเรียกหลังจากนั้นไม่นานให้ไปกับพวกเขา (ดู คพ. 32) ระหว่างไปชายแดนตะวันตกของมิสซูรี พวกเขาแวะที่เมืองเมนทอร์ รัฐโอไฮโอ และเมืองเคิร์ทแลนด์ รัฐโอไฮโอ เพื่อแบ่งปันพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟูกับซิดนีย์ ริกดันเพื่อนของเอ็ลเดอร์แพรทท์และอดีตบาทหลวง ในเวลาไม่นานมีคน 100 กว่าคน รวมทั้งซิดนีย์ ริกดันและสมาชิกหลายคนในที่ประชุมของเขารับบัพติศมา นี่ทำให้สมาชิกภาพทั้งหมดของศาสนจักรเพิ่มเป็นสองเท่า

หลังจากเหล่าเอ็ลเดอร์ออกจากเขตเคิร์ทแลนด์เพื่อเดินทางต่อ ซิดนีย์ ริกดันกับเพื่อนคนหนึ่งชื่อเอดเวิร์ด พาร์ทริจเดินทางไปเมืองเฟเยทท์ รัฐนิวยอร์กเพื่อพบศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ หลังจากพวกเขามาถึงไม่นาน โจเซฟได้รับการเปิดเผยที่บันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 35 ในนั้น พระเจ้าประทานความรับผิดชอบเฉพาะเจาะจงให้ซิดนีย์ในศาสนจักรที่ฟื้นฟูใหม่

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

หลักคำสอนและพันธสัญญา 35:1–12

พระเจ้าตรัสว่าพระองค์ทรงเตรียมซิดนีย์ ริกดันไว้สำหรับงานที่สำคัญกว่า

ก่อนชั้นเรียน ให้เขียนคำถามต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: ท่านเคยประสบอะไรที่ช่วยให้ท่านรู้ว่าพระเจ้าทรงรู้จักท่านและทรงมีแผนสำหรับชีวิตท่าน

เพื่อเริ่มชั้นเรียน ให้เชิญนักเรียนแบ่งปันคำตอบของคำถามนี้ถ้าพวกเขารู้สึกสบายใจจะทำเช่นนั้น

อธิบายว่าในการเปิดเผยที่เวลานี้บันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 35 พระเจ้าตรัสถึงชายคนหนึ่งชื่อซิดนีย์ ริกดันผู้ที่รับบัพติศมาและการยืนยันได้ไม่นาน พระเจ้าตรัสกับซิดนีย์เกี่ยวกับบทบาทของเขาในการสนับสนุนศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ กระตุ้นให้นักเรียนคิดเกี่ยวกับคำถามบนกระดานต่อไปขณะพวกเขาศึกษาคำแนะนำที่พระเจ้าประทานแก่ซิดนีย์

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจภูมิหลังบางส่วนของซิดนีย์ ริกดัน ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำนำของบทนี้ จากนั้นให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 35:1–3 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาหลักฐานยืนยันว่าพระเจ้าทรงรู้จักซิดนีย์ ริกดันและงานของเขา

  • ท่านพบหลักฐานอะไรที่ยืนยันว่าพระเจ้าทรงรู้จักซิดนีย์ ริกดัน

  • ข้อเหล่านี้บอกอะไรเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของพระเจ้ากับเรา (ขณะที่นักเรียนตอบ ให้เขียนหลักธรรมต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: พระเจ้าทรงรู้จักเรา และทรงมีงานให้เราแต่ละคนทำ)

  • เหตุใดความจริงนี้จึงสำคัญต่อท่าน

เพื่อยืนยันว่าพระเจ้าทรงรู้จักเราเป็นรายบุคคล ให้เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์นีล เอ. แม็กซ์เวลล์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

ภาพ
เอ็ลเดอร์นีล เอ. แม็กซ์เวลล์

“ข้าพเจ้าเป็นพยานต่อท่านว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงรู้จักท่านเป็นรายบุคคล … เนิ่นนานมาแล้ว (ดู คพ. 93:23) พระองค์ทรงรักท่านเนิ่นนานมาแล้ว … พระองค์ทรงรู้จักชื่อท่านและความเจ็บปวดในใจท่านและปีติของท่านทั้งหมด!” (“จำไว้ว่าพระเจ้าทรงเมตตาเพียงใด,” เลียโฮนา, พ.ค. 2004, 58)

ภาพ
ยอห์นผู้ถวายบัพติศมาให้บัพติศมาพระเยซู

ให้ดูภาพยอห์นผู้ถวายบัพติศมากำลังสั่งสอนหรือยอห์นกำลังให้บัพติศมาพระผู้ช่วยให้รอด (ดู ยอห์นผู้ถวายบัพติศมาให้บัพติศมาพระเยซู, หนังสือภาพพระกิตติคุณ [2009], ภาพที่ 35; ดู LDS.org ด้วย) ขอให้นักเรียนระบุว่ายอห์นผู้ถวายบัพติศมาเป็นใครและเขาเตรียมคนอื่นๆ ให้พร้อมรับการเสด็จมาของพระเยซูคริสต์อย่างไร

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 35:4–6 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาว่าซิดนีย์ ริกดันเป็นเหมือนยอห์นผู้ถวายบัพติศมาอย่างไร

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 4 ซิดนีย์เป็นเหมือนยอห์นผู้ถวายบัพติศมาอย่างไร (เขาเตรียมคนอื่นๆ ให้พร้อมรับความสมบูรณ์ของพระกิตติคุณ)

  • พระเจ้าตรัสว่าซิดนีย์จะทำ “งานอย่างหนึ่งซึ่งสำคัญกว่า” งานที่เขาทำไว้แล้ว (คพ. 35:3) ตามที่กล่าวไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 35:6 ส่วนหนึ่งของ “งานซึ่งสำคัญกว่า” คืออะไร (เขาจะช่วยให้คนอื่นๆ ได้รับบัพติศมาและของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ผ่านสิทธิอำนาจที่ถูกต้อง)

เชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองว่าประสบการณ์และสถานการณ์ในชีวิตพวกเขาเวลานี้จะเตรียมพวกเขาให้พร้อมทำ “งานหนึ่งซึ่งสำคัญกว่า” ในอนาคตได้อย่างไร ท่านอาจต้องการให้เวลาพวกเขาสองสามนาทีเขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ลงในสมุดจดหรือในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขา

ชี้ให้เห็นวลี “และเจ้าหารู้เรื่องนี้ไม่” ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 35:4 อธิบายว่าก่อนซิดนีย์เรียนรู้เกี่ยวกับศาสนจักรที่ได้รับการฟื้นฟูของพระเยซูคริสต์ เขาเตรียมตนเองและคนอื่นๆ มาตลอดให้พร้อมรับสิ่งนี้ เขาทำเช่นนั้นโดยใช้พระคัมภีร์ไบเบิลสอนคนในศาสนจักรของเขาในโอไฮโอ เป็นพยานว่าถึงแม้เราจะไม่รู้งานแน่ชัดที่พระเจ้าทรงเตรียมไว้ให้เราทำ แต่เราสามารถมั่นใจได้ว่าพระองค์ทรงรู้จักเราดี ขณะที่เราพยายามทำตามพระองค์ พระองค์จะทรงช่วยให้เราบรรลุผลสำเร็จในงานที่ทรงต้องการให้เราทำ

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 35:7–11 ในใจ ขอให้พวกเขามองหาสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตของคนเหล่านั้นผู้เชื่อและใช้ศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้าในวันเวลาสุดท้าย

  • ตามที่กล่าวไว้ในข้อเหล่านี้ พระเจ้าทรงสัญญาอะไรกับคนที่ติดตามพระองค์ด้วยศรัทธา (ถึงแม้นักเรียนจะใช้คำพูดต่างกัน แต่พวกเขาควรระบุหลักคำสอนต่อไปนี้: พระเจ้าจะทรงทำงานปาฏิหาริย์ เครื่องหมาย และการอันน่าพิศวงตามศรัทธาของคนที่เชื่อในพระนามของพระองค์)

  • ท่านคิดว่าเหตุใดปาฏิหาริย์ เครื่องหมาย และการอันน่าพิศวงจึงเกี่ยวข้องกันมากกับศรัทธา

หลักคำสอนและพันธสัญญา 35:13–19

พระเจ้าทรงสัญญาจะช่วยคนที่พระองค์ทรงเรียกให้ทำงานของพระองค์

เชื้อเชิญให้นักเรียนสมมติว่าพวกเขากำลังตั้งทีมกีฬา ขอให้พวกเขาพูดถึงความแข็งแกร่งและทักษะที่พวกเขาปรารถนาในผู้เล่นของเขา

อธิบายว่าในการเปิดเผยนี้พระเจ้าตรัสถึงคนที่พระองค์ทรงเรียกมาช่วยงานยุคสุดท้ายของการสร้างอาณาจักรของพระองค์ เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 35:13 ขอให้ชั้นเรียนระบุลักษณะของคนที่พระเจ้าทรงเรียกให้ช่วยงานของพระองค์

  • วลีใดในข้อนี้พูดถึงคนที่พระเจ้าทรงเรียกให้ช่วยงานของพระองค์

  • คนที่พระเจ้าทรงเรียกให้ช่วยงานของพระองค์ถือได้ว่าเป็น “สิ่งอ่อนแอของโลก” ในด้านใด

  • เหตุใดคนที่โลกถือว่าอ่อนแอจึงเป็นผู้ที่สมควรช่วยพระเจ้าทำให้งานของพระองค์บรรลุผลสำเร็จ

อธิบายว่า ย่ำให้หลุดออกจากรวง (หรือ นวดข้าว) ในข้อนี้หมายถึงการนวดข้าวสาลี การนวดข้าวเป็นกระบวนการทำให้เมล็ดข้าวหลุดจากฟางและแกลบ เราจะเก็บเมล็ดข้าว แล้วทิ้งฟางและแกลบ

  • ท่านคิดว่าอะไรคือความหมายของวลี “ย่ำประชาชาติให้หลุดออกจากรวงโดยอำนาจแห่งพระวิญญาณของเรา” (ท่านอาจจำเป็นต้องช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่านี่หมายถึงความพยายามของพระเจ้าในการแยกและรวมคนที่พร้อมจะรับพระกิตติคุณออกจากคนที่ไม่พร้อม)

  • เราสามารถเรียนรู้ความจริงอะไรจาก ข้อ 13 (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่ควรระบุหลักธรรมต่อไปนี้: พระผู้เป็นเจ้าทรงเรียกคนที่อ่อนแอมาทำงานของพระองค์ให้บรรลุผลสำเร็จผ่านอำนาจพระวิญญาณของพระองค์ เขียนความจริงนี้ไว้บนกระดาน)

  • ความจริงนี้จะช่วยคนที่รู้สึกกังวลกับการรับใช้งานเผยแผ่ได้อย่างไร สิ่งนี้จะช่วยคนที่ผู้นำขอให้สอนที่โบสถ์แต่รู้สึกว่าตนเองไม่มีคุณสมบัติพอได้อย่างไร และสิ่งนี้จะช่วยคนที่รู้สึกได้รับการกระตุ้นเตือนให้แบ่งปันพระกิตติคุณแต่ไม่แน่ใจว่าจะพูดหรือทำอะไรได้อย่างไร

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 35:14–15 ในใจและมองหาวิธีที่พระเจ้าทรงสัญญาว่าจะเพิ่มพลังให้คนที่ช่วยงานของพระองค์

  • วลีใดในข้อเหล่านี้บอกวิธีที่พระเจ้าจะประทานพรเราเมื่อเราช่วยงานของพระองค์

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 35:17–19, 22 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาคำแนะนำที่พระเจ้าประทานแก่ซิดนีย์ ริกดันเกี่ยวกับศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ

  • พระเจ้าประทานคำแนะนำอะไรแก่ซิดนีย์ ริกดันเกี่ยวกับศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ (“ดูแลเขาเพื่อศรัทธาของเขาจะไม่สูญสิ้น” “อยู่กับเขาต่อไป” และ “อย่าทิ้งเขา”)

  • เราจะประยุกต์ใช้คำแนะนำนี้กับผู้นำศาสนจักรของเราในทุกวันนี้ได้อย่างไร

หลักคำสอนและพันธสัญญา 35:20–27

พระเจ้าทรงบัญชาให้ซิดนีย์ ริกดันเขียนแทนโจเซฟ สมิธ สั่งสอนพระกิตติคุณ และรักษาพันธสัญญาที่ทำไว้

ขอให้นักเรียนพูดถึงการเรียกหรือหน้าที่ของพวกเขาในศาสนจักร จากนั้นขอให้นักเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 35:20–23 ในใจโดยมองหาหน้าที่เฉพาะที่พระเจ้าทรงเรียกซิดนีย์ ริกดันให้ทำ

  • พระเจ้าทรงเรียกซิดนีย์ ริกดันให้ทำหน้าที่อะไรบ้าง

ชี้ให้เห็นว่าหน้าที่หนึ่งของซิดนีย์คือเป็นผู้จดให้โจเซฟ สมิธ ออลิเวอร์ คาวเดอรีและจอห์น วิตเมอร์ผู้จดคนก่อนของโจเซฟได้รับเรียกให้ไปทำงานเผยแผ่ เวลานี้การแปลพระคัมภีร์มอรมอนเสร็จสมบูรณ์แล้ว แต่พระเจ้าทรงบัญชาโจเซฟให้ ตรวจแก้หรือแก้ไขพระคัมภีร์ไบเบิลฉบับคิงเจมส์บางส่วน ที่สูญหายหรือถูกเปลี่ยน โจเซฟต้องมีผู้จดมาช่วยทำงานนี้ (ดู Bible Dictionary, “Joseph Smith Translation.”)

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 35:24–25 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาพรที่พระเจ้าทรงสัญญากับซิดนีย์หากเขาจะรักษาพันธสัญญาที่เขาทำไว้กับพระเจ้า ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายสิ่งที่พบ

  • ท่านคิดว่าพระเจ้าจะทรงทำให้ฟ้าสวรรค์สั่นสะเทือนเพื่อความดีของท่านหมายความว่าอย่างไร (ความหมายหนึ่งที่เป็นไปได้คือ พระเจ้าจะทรงส่งพรและอำนาจของสวรรค์ลงมาช่วยเราทำงานของพระองค์ให้บรรลุผลสำเร็จและเอาชนะความชั่ว ดู คพ. 21:6 ด้วย)

เชื้อเชิญให้นักเรียนสรุปข้อเหล่านี้โดยระบุหลักธรรมเกี่ยวกับวิธีที่เราจะประสบผลสำเร็จในการทำงานที่พระผู้เป็นเจ้าทรงให้เราทำ ถึงแม้นักเรียนจะใช้คำพูดต่างกัน แต่คำตอบของพวกเขาควรสะท้อนหลักธรรมต่อไปนี้: เมื่อเรารักษาพระบัญญัติและให้เกียรติพันธสัญญาของเรา พระเจ้าจะทรงช่วยเราทำงานของพระองค์ให้บรรลุผลสำเร็จ เขียนหลักธรรมนี้ไว้บนกระดาน

ดึงความสนใจของนักเรียนมาที่ความจริงสามประการที่เขียนไว้บนกระดาน

พระเจ้าทรงรู้จักเราและทรงมีงานให้เราแต่ละคนทำ

พระผู้เป็นเจ้าทรงเรียกคนอ่อนแอมาทำงานของพระองค์ให้บรรลุผลสำเร็จผ่านอำนาจพระวิญญาณของพระองค์

เมื่อเรารักษาพระบัญญัติและให้เกียรติพันธสัญญาของเรา พระเจ้าจะทรงช่วยเราทำงานของพระองค์ให้บรรลุผลสำเร็จ

  • ความจริงสามประการนี้เกี่ยวข้องกันอย่างไร

  • ท่าน (หรือคนที่ท่านรู้จัก) เคยได้รับความช่วยเหลือจากพระเจ้าเมื่อใดขณะพยายามทำงานของพระองค์ให้บรรลุผลสำเร็จ

เพื่อสรุป ให้เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 35:26–27

  • ตามที่ท่านเรียนรู้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 35 ท่านคิดว่าซิดนีย์ ริกดันและโจเซฟ สมิธมีเหตุผลอะไรให้รื่นเริงใจและยินดี

เชื้อเชิญให้นักเรียนบอกเหตุผลที่พวกเขาต้องรื่นเริงใจและยินดี ท่านอาจต้องการเพิ่มเติมประจักษ์พยานของท่านเกี่ยวกับความเต็มพระทัยของพระเจ้าในการช่วยเราขณะที่เราพยายามช่วยงานของพระองค์

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

หลักคำสอนและพันธสัญญา 35:3–4 “เราได้ … เตรียมเจ้าไว้สำหรับงานอย่างหนึ่งซึ่งสำคัญกว่า”

เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองพูดถึงความสำคัญของการยอมรับแผนของพระเจ้าสำหรับชีวิตเรา ดังนี้

ภาพ
เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์

“ศรัทธาและความวางใจพระเจ้าเพิ่มพลังให้เรายอมรับและยืนหยัดไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในชีวิตเราก็ตาม …

“… อย่าวางใจแผนการต่างๆ ที่ท่านวางไว้ในชีวิต—แม้แต่เหตุการณ์ที่สำคัญมาก จงพร้อมรับแผนของพระเจ้าและสิทธิ์เสรีของผู้อื่นในเรื่องที่ส่งผลต่อท่านอย่างเลี่ยงไม่ได้ แน่นอนว่าต้องวางแผน แต่จงทำให้การวางแผนของท่านตรึงแน่นอยู่กับคำมั่นสัญญาส่วนตัวอันจะพาท่านไปได้ตลอดรอดฝั่งไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม ตรึงชีวิตท่านไว้กับหลักธรรมนิรันดร์ และทำตามหลักธรรมเหล่านั้นไม่ว่าสภาพการณ์และการกระทำของผู้อื่นจะเป็นอย่างไรก็ตาม จากนั้นจึงรอจังหวะเวลาของพระเจ้าและมั่นใจถึงผลในนิรันดร” (“จังหวะเวลา,” เลียโฮนา, ต.ค. 2003, 17)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 35:13–14 “สิ่งอ่อนแอของโลก”

เอ็ลเดอร์บอยด์ เค. แพคเกอร์สอนดังนี้

ภาพ
ประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์

“ศาสนจักรไม่มีนักบวชอาชีพ การเรียกสู่ตำแหน่งผู้นำของเราทั่วโลกเรียกจากผู้เข้าร่วมประชุม …

“ทุกสิ่งที่ทำในศาสนจักร—การนำ การสอน การเรียก การวางมือแต่งตั้ง การสวดอ้อนวอน การร้องเพลง การเตรียมศีลระลึก การให้คำปรึกษา และสิ่งอื่นๆ ทุกอย่าง—ทำโดยสมาชิกธรรมดาผู้เป็น ‘สิ่งอ่อนแอของโลก’” (“คนอ่อนแอและคนต่ำต้อยของศาสนจักร,” เลียโฮนา, พ.ย. 2007, 7)

เอ็ลเดอร์โจเซฟ บี. เวิร์ธลินแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองให้กำลังใจกับคนที่รู้สึกไม่มีคุณสมบัติพอหรืออ่อนล้าเกินกว่าจะช่วยงานของพระเจ้าดังนี้

ภาพ
เอ็ลเดอร์โจเซฟ บี. เวิร์ธลิน

“สำหรับสมาชิกของศาสนจักรที่ลังเลเพราะรู้สึกไม่มีคุณสมบัติพอ ข้าพเจ้าขอร้องให้ท่านก้าวมาข้างหน้า เอาไหล่หนุนล้อ และดัน แม้เมื่อท่านรู้สึกว่าเรี่ยวแรงถดถอย ศาสนจักรยังต้องการท่าน พระเจ้าทรงต้องการท่าน จำไว้ว่าพระเจ้ามักจะทรงเลือก ‘สิ่งอ่อนแอของโลก’ มาทำให้บรรลุจุดประสงค์ของพระองค์ [คพ. 1:19]

“ถึงทุกคนที่อ่อนล้า ขอให้พระดำรัสปลอบโยนของพระผู้ช่วยให้รอดปลอบประโลมท่าน ‘บรรดาผู้เหน็ดเหนื่อยและแบกภาระหนัก จงมาหาเรา และเราจะให้ท่านทั้งหลายได้หยุดพัก’ [มัทธิว 11:28] ขอให้เราวางใจคำสัญญานั้น เดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้าสามารถเติมพลังและความกระปรี้กระเปร่าให้วิญญาณและร่างกายของเราได้ ข้าพเจ้าขอให้ท่านแสวงหาพรนี้จากพระเจ้า

“จงเข้าใกล้พระองค์และพระองค์จะทรงเข้าใกล้ท่านเพราะพระองค์ทรงสัญญาว่า ‘แต่เขาทั้งหลายผู้รอคอยพระยาห์เวห์จะได้รับกำลังใหม่ เขาจะบินขึ้นด้วยปีกเหมือนนกอินทรี เขาจะวิ่งและไม่อ่อนเปลี้ย เขาจะเดินและไม่เหน็ดเหนื่อย’ [อิสยาห์ 40:31] …

“จำไว้ว่า บางครั้งคนที่เริ่มช้าที่สุดจะไปได้ไกลที่สุด” (“ห่วงใยแต่ละคน,” เลียโฮนา, พ.ค. 2008, 22)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 35:13–14 “เราจะคาดเอวพวกเขา”

ประธานโธมัส เอส. มอนสัน สอนว่าพระเจ้าจะทรงช่วยเราทำงานของพระองค์ให้บรรลุผลสำเร็จ

ภาพ
ประธานโธมัส เอส. มอนสัน

“บางท่านอาจมีนิสัยเขินอาย และอาจรู้สึกว่าตนไม่ได้มีคุณสมบัติเพียงพอที่จะตอบรับการเรียกอย่างจริงจัง จำไว้ว่านี่ไม่ใช่งานของท่านหรือของข้าพเจ้าเท่านั้น นี่คืองานของพระเจ้า และเมื่อเรากำลังทำกิจธุระของพระเจ้า เรามีสิทธิ์ได้รับความช่วยเหลือจากพระเจ้า จงจำไว้ว่าพระเจ้าจะทรงทำให้หลังแข็งแรงพอจะแบกภาระที่ทรงวางไว้ให้เรา” (“พึงเรียนรู้ พึงทำ พึงเป็น” เลียโฮนา, พ.ย. 2008, 77)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 35:19, 22 “ดูแลเขา … , อยู่กับเขาต่อไป, … อย่าทิ้งเขา”

พระเจ้าทรงบัญชาซิดนีย์ ริกดันให้ “ดูแล [โจเซฟ สมิธ],” “อยู่กับเขาต่อไป” และ “อย่าทิ้งเขา” (คพ. 35:19, 22) ถึงแม้ซิดนีย์ไม่เห็นด้วยกับศาสนจักรหลังจากมรณสักขีของโจเซฟ สมิธ แต่เขาซื่อสัตย์เสมอเมื่อท่านศาสดาพยากรณ์ยังมีชีวิตอยู่ เขาเป็นผู้นำศาสนจักรที่ขยันหมั่นเพียรและภักดี ที่ปรึกษาคนเดียวในฝ่ายประธานสูงสุดที่รับใช้ในช่วงการบริหารงานของโจเซฟ สมิธในฐานะประธานศาสนจักร ซิดนีย์ประสบความทุกข์ยากลำบากเคียงข้างท่านศาสดาพยากรณ์ และเขาได้รับปรากฏการณ์ทางวิญญาณมากมายกับท่านศาสดาพยากรณ์

หลักคำสอนและพันธสัญญา 35:20 งานแปลพระคัมภีร์ไบเบิลของโจเซฟ สมิธ

“จะให้พระคัมภีร์, แม้ดังที่สิ่งเหล่านี้อยู่ในอกเราเอง” (คพ. 35:20) ข้อนี้บอกเป็นนัยว่างานของโจเซฟในการแปลพระคัมภีร์ไบเบิลด้วยการดลใจไม่ใช่แค่แก้ไขข้อความเดิมของพระคัมภีร์ไบเบิลเท่านั้น แต่ข้อความในไบเบิลต้องสื่อข่าวสารที่พระเจ้าทรงประสงค์จะถ่ายทอดด้วย ด้วยเหตุนี้ โจเซฟจึงไม่เพียงแก้ไขข้อความในพระคัมภีร์ไบเบิลเท่านั้น แต่ท่านได้รับการดลใจให้เพิ่มสิ่งที่เคยมีอยู่เดิมเข้าไปด้วย ทำให้เราเข้าใจความจริงที่พระเจ้าทรงปรารถนาจะให้เราเข้าใจถ่องแท้มากขึ้น

หลักคำสอนและพันธสัญญา 35:23 “อ้างถึงบรรดาศาสดาพยากรณ์ผู้บริสุทธิ์เพื่อพิสูจน์ถ้อยคำของเขา”

ซิดนีย์ ริกดันเป็นนักเทศน์ที่มีประสบการณ์และมีความรู้ดีเกี่ยวกับพระคัมภีร์ไบเบิล พระเจ้าทรงมอบหน้าที่ให้เขาใช้ของประทานเหล่านี้สั่งสอนพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟูและใช้คำสอนของศาสดาพยากรณ์ในพระคัมภีร์ไบเบิลสนับสนุนถ้อยคำของโจเซฟ