เซมินารี
บทที่ 9: โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:27–54; หลักคำสอนและพันธสัญญา 2


บทที่ 9

โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:27–54; หลักคำสอนและพันธสัญญา 2

คำนำ

เด็กหนุ่มโจเซฟ สมิธยังคงยืนยันว่าท่านเห็นนิมิต และท่านยังคงถูกข่มเหงเพราะนิมิตนั้น ท่านกล่าวในเวลาต่อมาว่าระหว่างนี้ ท่าน “ถลำไปในความผิดพลาดโง่เขลามากมาย, และแสดงความอ่อนแอของวัยเยาว์” (โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:28) ค่ำวันหนึ่งเมื่อท่านอายุ 17 ปี ท่านสวดอ้อนวอนขอการให้อภัยและทูลขอให้รู้ฐานะของท่านต่อพระพักตร์พระผู้เป็นเจ้า เทพชื่อโมโรไนมาปรากฏและประกาศว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงมีงานให้โจเซฟทำ รวมถึงการแปลบันทึกโบราณที่เขียนไว้บนแผ่นจารึกทองคำด้วย ขณะอธิบายบทบาทของโจเซฟในการฟื้นฟูพระกิตติคุณ โมโรไนอ้างคำพยากรณ์จำนวนหนึ่งจากพระคัมภีร์ไบเบิล รวมถึงคำพยากรณ์ของมาลาคีเกี่ยวกับการกลับมาของเอลียาห์ด้วย วันรุ่งขึ้น โจเซฟไปยังเนินเขาที่โมโรไนกล่าวว่าท่านฝังแผ่นจารึกทองคำไว้ ที่นั่นท่านได้รับคำแนะนำเพิ่มเติมจากโมโรไน

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:27–29

โจเซฟ สมิธสวดอ้อนวอนขอการให้อภัย

เชื้อเชิญให้นักเรียนนึกถึงสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้จากแบบอย่างของโจเซฟ สมิธสมัยเป็นเด็กหนุ่ม ท่านอาจจะขอให้นักเรียนสองสามคนแบ่งปันสั้นๆ ถึงหลักธรรมที่พวกเขาเรียนรู้ซึ่งมีผลต่อพวกเขา จากนั้นให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:27–29 ก่อนนักเรียนอ่าน ชี้ให้เห็นว่าเหตุการณ์ที่บรรยายไว้ในข้อเหล่านี้เกิดขึ้นเมื่อโจเซฟอายุระหว่าง 14 ถึง 17 ปี เชื้อเชิญให้นักเรียน เปรียบข้อเหล่านี้ กับตนเอง โดยระบุประสบการณ์ที่โจเซฟ สมิธมีซึ่งคล้ายกับประสบการณ์ที่พวกเขาเคยมี

  • โจเซฟ สมิธมีประสบการณ์อะไรบ้างเมื่อครั้งเยาว์วัยที่ท่านสามารถเชื่อมโยงได้ (เตือนนักเรียนว่าพวกเขาไม่ควรแบ่งปันประสบการณ์ที่เป็นส่วนตัวมากเกินไป)

  • ตามที่กล่าวไว้ท้าย โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:28 โจเซฟกล่าวอะไรเกี่ยวกับการล่อลวงและความผิดที่ท่านถลำไป (ท่านไม่ได้ทำบาปร้ายแรง แต่บางครั้งท่านรู้สึกว่าท่านไม่ได้ทำดังที่คนได้รับเรียกจากพระผู้เป็นเจ้าพึงทำ)

  • โจเซฟ สมิธทำอะไรกับความรู้สึกผิดเพราะบาปของท่าน (ท่านสวดอ้อนวอนขอการให้อภัยและทูลขอให้รู้ฐานะของท่านต่อพระพักตร์พระผู้เป็นเจ้า)

  • เราสามารถเรียนรู้ความจริงอะไรบ้างจากแบบอย่างของโจเซฟ สมิธ

ขณะนักเรียนสนทนาข้อคิดของพวกเขา ให้ช่วยพวกเขาระบุความจริงต่อไปนี้

เมื่อเรายอมรับบาปของเราและรู้สึกเสียใจเพราะบาปนั้น เราสามารถสวดอ้อนวอนขอการให้อภัยจากพระบิดาบนสวรรค์ได้

เราสามารถสวดอ้อนวอนให้รู้ฐานะของเราต่อพระพักตร์พระผู้เป็นเจ้า

  • ท่านคิดว่าการรู้ฐานะของเราต่อพระพักตร์พระผู้เป็นเจ้าหมายความว่าอย่างไร (ท่านอาจต้องอธิบายว่าการรู้ฐานะของเราต่อพระพักตร์พระผู้เป็นเจ้าหมายถึงการรู้ว่าพระผู้เป็นเจ้าพอพระทัยเราหรือไม่)

  • เหตุใดจึงสำคัญที่เราต้องรู้ฐานะของเราต่อพระพักตร์พระผู้เป็นเจ้า

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์นีล แอล. แอนเดอร์เซ็นแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง อธิบายว่าคำแนะนำของเอ็ลเดอร์แอนเดอร์เซ็นช่วยให้เรารู้ได้ว่าเราจะรู้ฐานะของเราต่อพระพักตร์พระผู้เป็นเจ้าได้อย่างไร

ภาพ
เอ็ลเดอร์นีล แอล. แอนเดอร์เซ็น

“[เราสามารถ] วิงวอนพระเจ้าอย่างนอบน้อมว่า ‘พระบิดา พระองค์ทรงประสงค์ให้ข้าพระองค์ทำสิ่งใด’ คำตอบจะมา เรารู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงที่เราต้องทำ พระเจ้าทรงบอกเราในความคิดและในใจเรา” (“จงกลับใจ … เพื่อเราจะรักษาเจ้า,” เลียโฮนา, พ.ย. 2009, 51)

แบ่งปันประจักษ์พยานของท่านเกี่ยวกับความจริงที่นักเรียนสนทนา รับรองกับนักเรียนว่าพระบิดาบนสวรรค์เต็มพระทัยให้อภัยเราเมื่อเราใช้ศรัทธาในพระเยซูคริสต์และทำทั้งหมดที่จำเป็นต่อการกลับใจจากบาปของเรา

โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:30–35

เทพโมโรไนปรากฏต่อโจเซฟ สมิธ

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:30 ในใจโดยมองหาสิ่งที่เกิดขึ้นขณะโจเซฟ สมิธสวดอ้อนวอนขอการให้อภัย ขอให้พวกเขารายงานสิ่งที่ค้นพบ ให้ดูรูป โมโรไนปรากฏต่อโจเซฟ สมิธในห้องของท่าน (หนังสือภาพพระกิตติคุณ [2009], หน้า 91; ดู LDS.org ด้วย)

ภาพ
โมโรไนปรากฏต่อโจเซฟ สมิธในห้องของท่าน

ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:32–33 เชื้อเชิญให้ชั้นเรียนมองหาข่าวสารแรกที่โมโรไนให้โจเซฟ สมิธ

  • โมโรไนกล่าวอะไรเกี่ยวกับอนาคตของโจเซฟ สมิธ (นักเรียนควรกล่าวว่า พระผู้เป็นเจ้าทรงมีงานให้โจเซฟ สมิธทำ)

  • โมโรไนกล่าวว่าชื่อของโจเซฟ สมิธจะ “ทั้งดีและชั่วในบรรดาประชาชาติ” ท่านเคยเห็นตัวอย่างของเรื่องนี้เมื่อใด

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:34–35 เชื้อเชิญให้ชั้นเรียนดูตามโดยระบุสิ่งที่โมโรไนสอนเกี่ยวกับงานที่โจเซฟจะทำ

  • โจเซฟจะแปลหนังสืออย่างไร (โดยใช้ก้อนหินพิเศษ เรียกว่าอูริมและทูมมิมที่พระผู้เป็นเจ้าทรงเตรียมไว้)

อธิบายว่าในบทต่อๆ ไป นักเรียนจะเรียนรู้เกี่ยวกับความพยายามของโจเซฟที่จะแปลและจัดพิมพ์พระคัมภีร์มอรมอน

โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:36–49; หลักคำสอนและพันธสัญญา 2

โมโรไนแนะนำสั่งสอนโจเซฟ สมิธ

สรุป โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:36–42 โดยอธิบายว่าโมโรไนอ้างคำพยากรณ์จากพระคัมภีร์ไบเบิลเพื่ออธิบายบทบาทของโจเซฟ สมิธในการทำให้เกิดการฟื้นฟูพระกิตติคุณ (ท่านอาจเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายพระคัมภีร์อ้างอิงที่กล่าวไว้ในข้อเหล่านี้ ตัวอย่างเช่น ใน ข้อ 40 นักเรียนอาจจะทำเครื่องหมายวลี “บทที่สิบเอ็ดของอิสยาห์”)

ชี้ให้เห็นว่าถ้อยคำในคำพยากรณ์ที่อ้างใน โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:38–39 ปรากฏใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 2 เช่นกัน นี่เป็นการเปิดเผยยุคแรกสุดข้อหนึ่งในสมัยการประทานนี้ โดยประทานแก่โจเซฟ สมิธเมื่อท่านอายุ 17 ปี

ท่านอาจกล่าวได้เช่นกันว่าคำพยากรณ์นี้มีความสำคัญมากถึงขนาดปรากฏในพันธสัญญาเดิม (ดู มาลาคี 4:5–6) พันธสัญญาใหม่ (ดู ลูกา 1:17) และพระคัมภีร์มอรมอนด้วย (ดู 3 นีไฟ 25:5–6)

ก่อนชั้นเรียน ให้เตรียมสำเนา แผนภูมิต่อไปนี้ ตัดให้เป็นเอกสารแจกแยกกันสามแผ่น แบ่งชั้นเรียนออกเป็นสามกลุ่ม และแจกเอกสารให้กลุ่มละแผ่น ขอให้แต่ละกลุ่มศึกษาข้อที่ได้รับมอบหมายและคำอธิบายของศาสดาพยากรณ์ที่อยู่ต่อจากนั้น นอกจากนี้ ขอให้แต่ละกลุ่มสรุปข่าวสารของข้อที่ได้รับมอบหมายด้วยคำพูดของตนเองและตอบคำถามในเอกสารด้วย

กลุ่ม 1

หลักคำสอนและพันธสัญญา 2:1—เอลียาห์เป็นใคร โมโรไนกล่าวว่าเอลียาห์จะฟื้นฟูอำนาจใดของฐานะปุโรหิต

ภาพ
ประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์

“เอลียาห์เป็นศาสดาพยากรณ์ที่ยิ่งใหญ่ผู้มีอำนาจยิ่งใหญ่ที่พระผู้เป็นเจ้าประทานแก่ท่าน ท่านดำรงอำนาจยิ่งใหญ่ที่สุดที่พระผู้เป็นเจ้าประทานแก่บุตรธิดาของพระองค์ ท่านดำรงอำนาจการผนึก อำนาจที่จะผูกมัดบนแผ่นดินโลกและให้ผูกมัดในสวรรค์” (ประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์, “ใจผูกพันกัน,” เลียโฮนา, พ.ค. 2005, 97)

กลุ่ม 2

หลักคำสอนและพันธสัญญา 2:2—ใครเป็นบรรพบุรุษและลูกหลานในข้อนี้

ภาพ
เอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกี

ในคำพยากรณ์ที่ว่า “ท่านจะปลูกสัญญาที่ทำกับบรรพบุรุษไว้ในใจของลูกหลาน” วลี “บรรพบุรุษ” หมายถึง “อับราฮัม อิสอัค และยาโคบผู้ซึ่งทำสัญญานี้กับพวกท่าน อะไรคือสัญญาเหล่านั้น คือสัญญาเรื่องความต่อเนื่องของหน่วยครอบครัวในนิรันดร” (Elder Bruce R. McConkie, Millennial Messiah [1982], 267)

ภาพ
ประธานโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ

ในคำพยากรณ์ที่ว่า “ใจของลูกหลานจะหันไปหาบรรพบุรุษของพวกเขา” วลี “บรรพบุรุษของพวกเขา” หมายถึง “บรรพชนที่ล่วงลับของเราผู้สิ้นชีวิตโดยไม่มีสิทธิ์ได้รับพระกิตติคุณ แต่ได้รับสัญญาว่าเวลาจะมาถึงเมื่อพวกเขาจะได้รับสิทธิ์นั้น ลูกหลานคือคนที่มีชีวิตอยู่เวลานี้ผู้กำลังเตรียมข้อมูลการสืบลำดับเชื้อสายและกำลังประกอบศาสนพิธีแทนคนตายในพระวิหาร” (ประธานโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ, Doctrines of Salvation, comp. Bruce R. McConkie, 3 vols. [1954–56], 2:127)

กลุ่ม 3

หลักคำสอนและพันธสัญญา 2:3—เหตุใดแผ่นดินโลกจึงจะร้างลงสิ้นถ้าไม่ได้ฟื้นฟูอำนาจการผนึก

ภาพ
ประธานโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ

“เหตุใดแผ่นดินโลกจึงจะร้าง เพียงเพราะว่าหากไม่มีห่วงเชื่อมระหว่างบรรพบุรุษกับลูกหลาน—ซึ่งคืองานสำหรับคนตาย—เมื่อนั้นเราทุกคนจะถูกปฏิเสธ งานทั้งหมดของพระผู้เป็นเจ้าจะล้มเหลวและจะร้างลงสิ้น” (ประธานโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ, Doctrines of Salvation, ed. Bruce R. McConkie, 3 vols. [1954–56], 2:122)

หลังจากกลุ่มมีเวลาเตรียมมากพอแล้ว ให้นักเรียนจากกลุ่มรายงานข้อสรุปและคำตอบของพวกเขาต่อชั้นเรียน คำตอบของนักเรียนควรสะท้อนความจริงต่อไปนี้

หลักคำสอนและพันธสัญญา 2:1พระผู้เป็นเจ้าจะทรงส่งเอลียาห์มาฟื้นฟูอำนาจการผนึกบนแผ่นดินโลกก่อนการเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซูคริสต์

หลักคำสอนและพันธสัญญา 2:2ใจเราสามารถหันไปหาบรรพชนของเรา และเราสามารถประกอบศาสนพิธีแทนพวกท่านในพระวิหาร

หลักคำสอนและพันธสัญญา 2:3หากปราศจากอำนาจในการวมครอบครัวให้เป็นหนึ่งเดียวกันชั่วนิรันดร์ แผ่นดินโลกจะถูกทำลายสิ้น ณ การเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซูคริสต์

ถ้าท่านได้รับการผนึกในพระวิหารแล้ว ท่านอาจต้องการให้ดูภาพครอบครัวของท่าน ถ้าท่านยังไม่ได้รับการผนึก ให้บอกว่าท่านตื่นเต้นที่จะได้รับการผนึก อธิบายพอสังเขปว่าเมื่อนักเรียนศึกษา หลักคำสอนและพันธสัญญา 110 พวกเขาจะเรียนรู้ว่าเอลียาห์มอบอำนาจการผนึกให้ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ

ดึงความสนใจของนักเรียนกลับมาที่คำบรรยายในโจเซฟ สมิธ—ประวัติโดยอธิบายว่าหลังจากโมโรไนอ้างคำพยากรณ์เกี่ยวกับการกลับมาของเอลียาห์แล้ว ท่านอ้างคำพยากรณ์อื่นๆ เกี่ยวกับการฟื้นฟูด้วย เมื่อท่านให้คำแนะนำเพิ่มเติมเกี่ยวกับแผ่นจารึกทองคำแล้วท่านจึงจากไป (ดู โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:42–43) เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:44–45 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและระบุสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากโมโรไนจากไปแล้ว เมื่อนักเรียนทราบว่าโมโรกลับมาคืนนั้นและย้ำข่าวสารเดิมแล้ว ให้พวกเขาอ่าน โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:46–49 และมองหาจำนวนครั้งที่โมโรไนให้ข่าวสารเดิมแก่โจเซฟ สมิธ

  • โมโรไนให้ข่าวสารแก่โจเซฟ สมิธกี่ครั้ง (สี่ครั้ง)

  • ข่าวสารอะไรบ้างที่ย้ำในพระคัมภีร์ ในบทเรียนศาสนจักร และในคำพูดการประชุมใหญ่สามัญ

  • เราได้ประโยชน์ทางใดบ้างเมื่อพระเจ้าและผู้รับใช้ของพระองค์ย้ำข่าวสารของพวกท่าน

กระตุ้นให้นักเรียนมองหาคำสอนซ้ำๆ ขณะพวกเขาศึกษาพระคัมภีร์ด้วยตนเองและพิจารณาความสำคัญของคำสอนเหล่านั้น

โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:50–54

โจเซฟไปยังเนินเขา ท่านเห็นบันทึก อูริมและทูมมิม และแผ่นทับทรวง

สรุป โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:50–51 โดยอธิบายว่าโจเซฟเชื่อฟังคำสั่งของโมโรไนและบอกบิดาท่านเกี่ยวกับประสบการณ์คืนก่อน บิดาของท่านเชื่อท่านและแนะนำให้ท่านทำตามที่โมโรไนบอกให้ทำ โจเซฟจึงไปยังเนินเขาที่ฝังแผ่นจารึกทองคำ ขอให้นักเรียนสามคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:52–54 ขณะชั้นเรียนดูตาม เพื่อให้นักเรียนเข้าใจเหตุการณ์ที่บรรยายไว้ในข้อเหล่านี้ชัดเจน ขอให้นักเรียนคนหนึ่งพูดทวนสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยคำพูดของเขาเอง แจ้งนักเรียนว่าในบทถัดไปพวกเขาจะสนทนาเหตุการณ์ช่วงนั้นเมื่อโจเซฟได้รับอนุญาตให้ไปเอาแผ่นจารึก

ท่านอาจต้องการสรุปโดยเป็นพยานถึงความจริงที่สนทนาในบทนี้และโดยเชื้อเชิญให้นักเรียนทำตามการกระตุ้นเตือนที่พวกเขาได้รับเพื่อประยุกต์ใช้ความจริงเหล่านี้ในชีวิตพวกเขา

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:33 “ชื่อข้าพเจ้าจะทั้งดีและชั่วในบรรดาประชาชาติ”

เอ็ลเดอร์จอห์น เอช. โกรเบิร์กแห่งสาวกเจ็ดสิบเล่าประสบการณ์ที่ท่านเห็นสัมฤทธิผลตามคำพยากรณ์ของโมโรไนใน โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:33 ขณะรับใช้เป็นผู้สอนศาสนาในแปซิฟิกตอนใต้ เอ็ลเดอร์โกรเบิร์กไปเยี่ยมเกาะไกลโพ้นแห่งหนึ่งชื่อว่าตาฟาฮี เกาะนั้นมีบ้านเพียง 18 หลัง ไม่มีไฟฟ้าหรือน้ำประปา ท่านเขียนว่า

ภาพ
เอ็ลเดอร์จอห์น เอช. โกรเบิร์ก

“ที่บ้านหลังสุดท้าย ความคิดแปลกๆ เกิดขึ้นกับข้าพเจ้า ‘ทำไมคุณไม่ทดสอบคำพยากรณ์ที่ว่าชื่อของโจเซฟ สมิธจะเป็นที่รู้ทั้งดีและชั่วทั่วโลก’ ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าเหตุใดจึงเกิดความคิดเช่นนั้น แต่เกิดขึ้นจริง”

ท่านถามครอบครัวที่อยู่ในบ้านหลังนั้นว่าพวกเขาเคยได้ยินเกี่ยวกับประธานาธิบดีของสหรัฐหรือไม่ พวกเขาตอบว่า “เขาเป็นใครหรือ” และ “สหรัฐอยู่ที่ไหน” เอ็ลเดอร์โกรเบิร์กรายงานว่า

“ข้าพเจ้าพยายามอธิบายว่าอยู่ที่ไหน แต่พวกเขาไม่เข้าใจ พวกเขาถามว่าสหรัฐเป็นเกาะใหญ่ขนาดไหน ข้าพเจ้าตอบว่าเป็นเกาะใหญ่มาก ห่างออกไปหลายพันไมล์ มีประชาชนหลายล้านคนอยู่ที่นั่น ข้าพเจ้าบอกพวกเขาว่าคนมากมายไม่เคยเห็นมหาสมุทรและคนมากมายไม่รู้จักกัน พวกเขาไม่เข้าใจ”

ต่อจากนั้นท่านถามพวกเขาเกี่ยวกับผู้นำของรัสเซียและฝรั่งเศส แต่พวกเขาตอบคำถามของท่านไม่ได้

“จากนั้น” ท่านกล่าว “ข้าพเจ้าถามเกี่ยวกับนักกีฬาบางคน ดาราภาพยนตร์บางคน นักธุรกิจที่มีชื่อเสียง เกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ สงครามเกาหลี และอีกหลายเรื่อง …

“ไม่มีสมาชิกศาสนจักรอยู่บนเกาะนี้ แม้จะมีอีกสองนิกายอยู่ที่นั่นก็ตาม ข้าพเจ้าถอนหายใจและพูดว่า ‘พวกคุณเคยได้ยินเกี่ยวกับโจเซฟ สมิธไหม’

“พวกเขาทำสีหน้าตกใจทันที ทุกคนมองข้าพเจ้าและคนเป็นพ่อพูดว่า “อย่าพูดกับเราเกี่ยวกับศาสดาพยากรณ์ปลอมคนนั้น! อย่าพูดในบ้านของเรา! เราทุกคนรู้เรื่องของเขา บาทหลวงของเราบอกเราแล้ว!’ ข้าพเจ้าแทบไม่เชื่อสิ่งที่ได้ยิน พระคัมภีร์ … ดังก้องในความคิดข้าพเจ้าว่าชื่อของโจเซฟ ‘จะทั้งดีและชั่วในบรรดาประชาชาติ’ (จส—ป 1:33) สำหรับข้าพเจ้าแล้วนี่เป็นสัมฤทธิผลโดยตรงของคำพยากรณ์

“ข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่าท่านไม่เคยไปสถานที่ไกลกว่านี้และขาดการติดต่อกับอารยธรรมสมัยใหม่มากไปกว่าเกาะเล็กๆ อย่างตาฟาฮี คนที่นั่นไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับผู้นำที่ยิ่งใหญ่ในยุคนั้น—การเมือง เศรษฐกิจ หรืออื่นๆ —แต่พวกเขารู้จักชื่อ โจเซฟ สมิธ ในกรณีนี้พวกเขารู้จักชื่อนี้ในทางไม่ดี อย่างน้อยก็เริ่มรู้จักแบบนั้น ข้าพเจ้าใช้เวลาสองสามวันติดต่อกันอธิบายพันธกิจของศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธเพิ่มเติม และก่อนจากมา พวกเขาบางคนรู้จักชื่อของท่านในทางที่ดี” (In the Eye of the Storm [1993], 104–6)