เซมินารี
บทเรียนภาคการศึกษาที่บ้าน: หลักคำสอนและพันธสัญญา 65–71 (หน่วย 15)


บทเรียนภาคการศึกษาที่บ้าน

หลักคำสอนและพันธสัญญา 65–71 (หน่วย 15)

เนื้อหาเตรียมสอนสำหรับครูภาคการศึกษาที่บ้าน

บทสรุปของบทเรียนภาคการศึกษาที่บ้านประจำวัน

บทสรุปต่อไปนี้ของเหตุการณ์ หลักคำสอน และหลักธรรมที่นักเรียนเรียนรู้ขณะศึกษา หลักคำสอนและพันธสัญญา 65–71 (หน่วย 15) ไม่ได้มีเจตนาให้ใช้สอนในบทเรียนของท่าน บทเรียนที่ท่านสอนเน้นเฉพาะหลักคำสอนและหลักธรรมเหล่านี้เพียงไม่กี่ข้อ จงทำตามการกระตุ้นเตือนของพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ขณะพิจารณาความต้องการของนักเรียน

วันที่ 1 (หลักคำสอนและพันธสัญญา 65–66)

ขณะศึกษาบทนี้ นักเรียนเรียนรู้ว่าพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์จะออกไปถึงสุดแดนแผ่นดินโลก พวกเขาค้นพบว่าเรามีความรับผิดชอบในการเตรียมตัวเราและคนอื่นๆ ให้พร้อมรับการเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซูคริสต์

วันที่ 2 (หลักคำสอนและพันธสัญญา 67)

ในบทนี้ นักเรียนระบุหลักธรรมต่อไปนี้: พระเจ้าทรงได้ยินคำสวดอ้อนวอนของเราและทรงรู้ใจเรา หากเราปล่อยให้ความกลัวเข้ามาในใจเราเมื่อนั้นเราจะสูญเสียพร พวกเขาเรียนรู้เช่นกันว่าเมื่อเราปลดเปลื้องตนให้พ้นจากความริษยาและความกลัว นอบน้อมถ่อมตน และดำเนินต่อไปด้วยความอดทน เราจะสามารถทนพระสิริของพระผู้เป็นเจ้าได้

วันที่ 3 (หลักคำสอนและพันธสัญญา 68)

ส่วนหนึ่งของบทเรียนนี้นักเรียนเรียนรู้ว่าเมื่อผู้รับใช้ของพระเจ้าได้รับการดลใจจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ ถ้อยคำของพวกเขาจะนำผู้คนไปสู่ความรอด นักเรียนเรียนรู้เช่นกันว่าอธิการต้องได้รับอนุมัติจากฝ่ายประธานสูงสุดและรับการวางมือแต่งตั้งโดยผู้มีสิทธิอำนาจที่ถูกต้อง นอกจากนี้ นักเรียนค้นพบด้วยว่าพระเจ้าทรงบัญชาให้บิดามารดาสอนบุตรธิดาให้เข้าใจหลักคำสอนเรื่องการกลับใจ ศรัทธาในพระคริสต์ บัพติศมา และของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์

วันที่ 4 (หลักคำสอนและพันธสัญญา 69–71)

จากคำแนะนำที่พระเจ้าประทานแก่จอห์น วิตเมอร์ นักเรียนเรียนรู้ว่าพระเจ้าทรงคาดหวังให้เขียนประวัติเพื่อประโยชน์ของศาสนจักรและอนุชนรุ่นหลัง นักเรียนค้นพบเช่นกันว่าพระเจ้าจะทรงถือว่าเราต้องรับผิดชอบหน้าที่ซึ่งพระองค์ทรงฝากฝังไว้กับเรา สุดท้าย นักเรียนเรียนรู้ว่าเมื่อผู้คนวิพากษ์วิจารณ์ศาสนจักร เราสามารถโต้ตอบโดยแบ่งปันความจริงจากพระคัมภีร์และทำตามการนำทางของพระวิญญาณ

คำนำ

บทนี้เน้นพระดำรัสของพระเจ้าต่อวิลเลียม อี. แม็คเลลลินใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 66 โดยผ่านการศึกษาหมวดนี้ นักเรียนได้เรียนรู้ความสำคัญของการกลับใจจากบาปทั้งหมดของพวกเขา นำเอาสิ่งขัดขวางความก้าวหน้าทางวิญญาณของพวกเขาออกไป และซื่อสัตย์ต่อไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

หลักคำสอนและพันธสัญญา 66

พระเจ้าทรงบัญชาวิลเลียม อี. แม็คเลลลินให้ประกาศพระกิตติคุณ ละทิ้งความไม่ชอบธรรมทั้งปวง และดำเนินต่อไปอย่างซื่อสัตย์จนกว่าชีวิตจะหาไม่

ก่อนชั้นเรียนให้ลอก แผนภาพต่อไปนี้ ไว้บนกระดาน

ภาพ
แผนภาพลายเส้น

ขณะเริ่มชั้นเรียน ขอให้นักเรียนสำรวจแผนภาพบนกระดาน ขอให้พวกเขาไตร่ตรองในใจว่าพวกเขาจะวางตนเองไว้ตรงจุดใดของแผนภาพ เสนอแนะให้พวกเขาพิจารณาเช่นกันว่าพวกเขากำลังเคลื่อนไปทางใด—เข้าใกล้พระผู้เป็นเจ้ามากขึ้นหรือออกห่างจากพระองค์ เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์แห่งฝ่ายประธานสูงสุด ขอให้ชั้นเรียนฟังวิธีต่างๆ ที่เราจะเข้าใกล้พระผู้เป็นเจ้าได้มากขึ้น

ภาพ
ประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์

“หากท่านต้องการอยู่ใกล้คนที่ท่านรัก แต่ท่านอยู่แยกจากพวกเขา ท่านรู้ว่าจะทำอย่างไร ท่านจะหาวิธีพูดกับพวกเขา ท่านจะฟังพวกเขา ท่านจะค้นหาวิธีทำสิ่งต่างๆ ด้วยกัน ยิ่งทำเช่นนี้บ่อยเพียงใด สายสัมพันธ์จะยิ่งยืนนานและลึกซึ้งขึ้นเพียงนั้น หากเวลาล่วงเลยไปมากโดยไม่พูด ไม่ฟัง และไม่ทำ สายสัมพันธ์จะคลายลง

“พระผู้เป็นเจ้าทรงดีพร้อมและทรงมหิทธิฤทธิ์ ส่วนท่านและข้าพเจ้าเป็นมรรตัย แต่พระองค์ทรงเป็นพระบิดาของเรา ทรงรักเรา และทรงมอบโอกาสเดียวกันให้เราเข้าใกล้พระองค์เสมือนเพื่อนรัก และท่านจะทำวิธีที่คล้ายกันมาก คือ พูด ฟัง และทำ” (“To Draw Closer to God,” Ensign, May 1991, 66)

  • ตามที่ประธานอายริงก์กล่าว เราจะเข้าใกล้พระผู้เป็นเจ้ามากขึ้นได้อย่างไร

  • ท่านคิดว่าพูด ฟัง และทำขณะที่เราพยายามเข้าใกล้พระผู้เป็นเจ้ามากขึ้นหมายความว่าอย่างไร

อธิบายว่าในยุคแรกของศาสนจักร ชายคนหนึ่งชื่อวิลเลียม อี. แม็คเลลลินเข้าใกล้พระผู้เป็นเจ้ามากขึ้นเมื่อเขาเรียนรู้เกี่ยวกับพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟู เขารับบัพติศมาวันที่ 20 สิงหาคม ค.ศ. 1831 ไม่นานหลังจากนั้น เขาได้รับการวางมือแต่งตั้งเป็นเอ็ลเดอร์ และเขาไปเป็นผู้สอนศาสนาคู่กับไฮรัม สมิธสามสี่สัปดาห์ ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1831 เขาเดินทางไปโอไฮโอเพื่อร่วมการประชุมใหญ่ของศาสนจักร ขณะอยู่ที่นั่น เขาพบศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ วันที่ 29 ตุลาคม บราเดอร์แม็คเลลลินสวดอ้อนวอนในที่ลับตาทูลขอให้พระเจ้าทรงเปิดเผยคำตอบของคำถามห้าข้อผ่านท่านศาสดาพยากรณ์ บราเดอร์แม็คเลลลินขอการเปิดเผยโดยไม่บอกคำถามให้โจเซฟ สมิธรู้ เมื่อท่านศาสดาพยากรณ์บอกให้จดการเปิดเผยที่พบใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 66 บราเดอร์แม็คเลลลินพบว่าเขาได้รับคำตอบของคำถามแต่ละข้อ พระเจ้าประทานคำแนะนำและคำเตือนเพื่อช่วยให้เขาซื่อสัตย์และได้รับชีวิตนิรันดร์ในท้ายที่สุด

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 66:1–2 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาเหตุผลที่พระเจ้าประทานพรวิลเลียม แม็คเลลลิน ณ เวลาของการเปิดเผยนี้

  • เหตุใดบราเดอร์แม็คเลลลินจึงสามารถรับพรจากพระเจ้า (เพราะเขาหันหลังให้บาปของเขา รับความจริงของพระเจ้า และรับความสมบูรณ์ของพระกิตติคุณ)

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 66:3 ในใจโดยมองหาสิ่งที่พระเจ้าตรัสว่าบราเดอร์แม็คเลลลินยังต้องทำเพื่อให้พระองค์พอพระทัย ขอให้นักเรียนรายงานสิ่งที่เรียนรู้

  • ท่านคิดว่า “สะอาด, แต่ไม่ทั้งหมด” หมายความว่าอย่างไร (ท่านอาจต้องช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าถึงแม้บราเดอร์แม็คเลลลินก้าวหน้ามากและได้รับพรเพราะความพยายามของเขา แต่เขายังต้องกลับใจจากบาปบางอย่าง)

  • เราสามารถเรียนรู้ความจริงอะไรจากคำแนะนำของพระเจ้าใน ข้อ 3 (นักเรียนควรระบุพระบัญชาต่อไปนี้: เราได้รับบัญชาให้กลับใจจากบาปทั้งหมดของเรา)

  • เหตุใดจึงสำคัญที่ต้องกลับใจจากบาปทั้งหมดของเรา ไม่ใช่แค่บาปบางอย่าง

  • เราสามารถเรียนรู้อะไรได้บ้างจากข้อนี้เกี่ยวกับวิธีที่พระเจ้าจะทรงช่วยเราในการกลับใจของเรา (คำตอบของนักเรียนอาจหลากหลาย แต่พวกเขาควรกล่าวถึงหลักธรรมต่อไปนี้: พระเจ้าจะทรงแสดงให้เราเห็นสิ่งที่เราต้องกลับใจ)

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์ ขอให้ชั้นเรียนฟังวิธีหนึ่งที่เราสามารถทูลขอพระเจ้าให้ทรงช่วยเรากลับใจ

ภาพ
ประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์

“คำถามข้อหนึ่งที่เราต้องทูลถามพระบิดาบนสวรรค์ของเราในการสวดอ้อนวอนส่วนตัวคือ ‘วันนี้ข้าพระองค์ได้ทำหรือไม่ได้ทำอะไรที่ทำให้พระองค์ไม่พอพระทัย ขอเพียงข้าพระองค์ได้รู้ ข้าพระองค์จะกลับใจด้วยสุดใจโดยไม่ผัดวัน’ การสวดอ้อนวอนด้วยความนอบน้อมเช่นนั้นจะได้รับคำตอบ” (“อย่าผัดวัน,” เลียโฮนา, ม.ค. 2000, 40)

กระตุ้นให้นักเรียนนึกถึงพรที่พวกเขาได้รับเมื่อพวกเขาหันหลังให้บาปและรับพระกิตติคุณ เชื้อเชิญให้พวกเขาหมายมั่นจะรู้สิ่งที่ต้องกลับใจทั้งนี้เพื่อพวกเขาจะได้รับพรมากยิ่งขึ้น

แบ่งนักเรียนออกเป็นคู่ๆ ขอให้แต่ละคู่อ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 66:5–9 ด้วยกันโดยมองหาสิ่งที่พระเจ้าทรงต้องการให้บราเดอร์แม็คเลลลินทำ ขอให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 8–9 บราเดอร์แม็คเลลลินจะได้รับพรอะไรบ้างหากเขาจะทำตามพระประสงค์ของพระเจ้าอย่างซื่อสัตย์

  • เราสามารถเรียนรู้อะไรได้บ้างจากข้อเหล่านี้เกี่ยวกับพรที่เราจะได้รับเมื่อเราทำตามพระประสงค์ของพระเจ้าสำหรับเรา (นักเรียนควรระบุหลักธรรมต่อไปนี้: หากเราซื่อสัตย์ในการทำตามพระประสงค์ของพระเจ้า พระองค์จะทรงอยู่กับเราและจะประทานพรเราเพื่อให้เราสามารถทำสิ่งที่ทรงเรียกร้องจากเราได้สำเร็จ)

อธิบายว่านอกจากประทานคำแนะนำแก่วิลเลียม แม็คเลลลินว่าต้องทำอะไรแล้ว พระเจ้าประทานคำเตือนแก่เขาด้วย ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงสองประโยคแรกของ หลักคำสอนและพันธสัญญา 66:10 ก่อนนักเรียนอ่าน ชี้ให้เห็นว่าประโยคแรกมีคำว่า แบกภาระจนเกินตัวรวมอยู่ด้วย อธิบายว่าบางครั้งเราแบกภาระจนเกินตัวหากสิ่งนั้นขวางทางเราหรือทำภารกิจให้สำเร็จได้ยากมาก

  • พระเจ้าทรงบัญชาให้บราเดอร์แม็คเลลลิน “ละทิ้งความไม่ชอบธรรมทั้งปวง” ความไม่ชอบธรรมหรือบาปขัดขวางงานเผยแผ่ศาสนาของบราเดอร์แม็คเลลลินอย่างไร

  • ความไม่ชอบธรรมขัดขวางเราไม่ให้ก้าวหน้าทางวิญญาณอย่างไร

อ่านออกเสียงประโยคที่สามของ หลักคำสอนและพันธสัญญา 66:10 เชื้อเชิญให้ชั้นเรียนมองหาคำเตือนเฉพาะเจาะจงที่พระเจ้าประทานแก่วิลเลียม แม็คเลลลิน

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 10 บราเดอร์แม็คเลลลินต่อสู้กับการล่อลวงอะไร

  • เราสามารถเรียนรู้อะไรจาก ข้อ 10 ในเรื่องความรู้ของพระเจ้าเกี่ยวกับเราแต่ละคน (ช่วยให้นักเรียนเห็นว่า พระเจ้าทรงทราบความท้าทายและการล่อลวงของเราแต่ละคน เฉกเช่นพระองค์ทรงทราบความท้าทายและการล่อลวงของบราเดอร์แม็คเลลลิน)

  • ท่านคิดว่าเหตุใดจึงสำคัญที่ต้องเข้าใจว่าพระเจ้าทรงทราบความท้าทายและการล่อลวงของเราแต่ละคน

เชื้อเชิญให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 66:11–13 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาคำแนะนำเพิ่มเติมที่พระเจ้าประทานแก่วิลเลียม แม็คเลลลิน

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 12 เราต้องทำอะไรจึงจะได้รับชีวิตนิรันดร์ (ช่วยให้นักเรียนรับรู้ว่า หากเราดำเนินต่อไปอย่างซื่อสัตย์จนกว่าชีวิตจะหาไม่ เราจะได้รับชีวิตนิรันดร์)

  • การดำเนินต่อไปอย่างซื่อสัตย์จนกว่าชีวิตจะหาไม่มีความหมายต่อท่านอย่างไร

อธิบายว่าเมื่อได้รับการเปิดเผยนี้ บราเดอร์แม็คเลลลินได้รับประจักษ์พยานถึงพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟู หลังจากได้รับการเปิดเผยนี้ เขาเป็นพยานถึงการเรียกเป็นศาสดาพยากรณ์ของโจเซฟ สมิธ บราเดอร์แม็คเลลลินรับใช้อย่างซื่อสัตย์หลายปีและได้รับเรียกให้รับใช้เป็นคนหนึ่งในสมาชิกรุ่นแรกของโควรัมอัครสาวกสิบสองในสมัยการประทานนี้ อย่างไรก็ตาม เขาไม่ได้ดำเนินต่อไปอย่างซื่อสัตย์จนกว่าชีวิตจะหาไม่ เขาหันมาต่อต้านศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธและถูกปัพพาชนียกรรมในปี 1838

ดึงความสนใจของนักเรียนมาที่แผนภาพบนกระดาน และเสนอแนะให้พวกเขาพิจารณาอีกครั้งว่าพวกเขาจะวางตนเองไว้ตรงจุดใดบนแผนภาพ ขอให้นักเรียนไตร่ตรองคำถามต่อไปนี้

  • ท่านจะทำอะไรเพื่อขยับเข้าใกล้พระผู้เป็นเจ้ามากขึ้นและดำเนินต่อไปอย่างซื่อสัตย์จนกว่าชีวิตจะหาไม่

เป็นพยานถึงหลักคำสอนและหลักธรรมที่ท่านสนทนาไปแล้ว และกระตุ้นให้นักเรียนปฏิบัติตามความจริงเหล่านั้น

หน่วยถัดไป (หลักคำสอนและพันธสัญญา 72–76)

ขอให้นักเรียนนึกภาพว่าจะเป็นอย่างไรหากเห็นนรก (ความมืดภายนอก) แวบหนึ่งและความทุกขเวทนาอื่นๆ ของคนอาธรรม์ จากนั้นได้รับนิมิตของอาณาจักรแห่งรัศมีภาพซีเลสเชียล เทอร์เรสเตรียล และทีเลสเชียล อธิบายว่าเพราะงานของศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธและซิดนีย์ ริกดันเกี่ยวกับการแปลพระคัมภีร์ไบเบิลด้วยการดลใจ พวกท่านจึงสามารถมองเห็นนิมิตของรัศมีภาพสามระดับ ซึ่งบันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 76