เซมินารี
บทที่ 108: หลักคำสอนและพันธสัญญา 103


บทที่ 108

หลักคำสอนและพันธสัญญา 103

คำนำ

ในการประชุมของสภาสูงเคิร์ทแลนด์เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1834 พาร์ลีย์ พี. แพรทท์และไลมัน ไวท์ขอคำแนะนำว่าวิสุทธิชนในมิสซูรีจะได้รับการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวและได้ถือครองที่ดินของพวกเขาในเทศมณฑลแจ็คสันอีกครั้งอย่างไร ในวันเดียวกัน โจเซฟ สมิธได้รับการเปิดเผยที่บันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 103ซึ่งพระเจ้าทรงสัญญาว่าจะทรงไถ่แผ่นดินแห่งไซอัน พระเจ้าทรงบัญชาผู้นำศาสนจักรให้รวบรวมทรัพย์สินเงินทองและเกณฑ์คนไปช่วยวิสุทธิชนในมิสซูรี คนกลุ่มนี้เป็นที่รู้กันในชื่อว่าค่ายไซอัน

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

หลักคำสอนและพันธสัญญา 103:1–20

พระเจ้าทรงสัญญาว่าจะทรงไถ่ไซอัน

เริ่มชั้นเรียนโดยถามคำถามต่อไปนี้

  • คนชอบธรรมมีศัตรูอะไรบ้างในปัจจุบัน

ขอให้นักเรียนพิจารณาว่าศัตรูของพระเจ้ากำลังพยายามขัดขวางความก้าวหน้าทางวิญญาณของพวกเขาอย่างไร

  • ท่านคิดว่าเหตุใดศัตรูของพระเจ้าจึงสามารถขัดขวางความก้าวหน้าทางวิญญาณของผู้คนบางคนของพระเจ้า

ขณะนักเรียนเริ่มการศึกษาและการสนทนา หลักคำสอนและพันธสัญญา 103วันนี้ จงกระตุ้นให้พวกเขามองหาหลักธรรมที่จะช่วยพวกเขาเอาชนะศัตรูเช่นนั้น

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำนำภาคของ หลักคำสอนและพันธสัญญา 103 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาสาเหตุที่พาร์ลีย์ พี. แพรทท์และไลมัน ไวท์จากมิสซูรีมาเคิร์ทแลนด์ โอไฮโอ

  • เหตุใดบราเดอร์แพรทท์และบราเดอร์ไวท์จึงมาที่เคิร์ทแลนด์

อธิบายว่าโจเซฟ สมิธได้รับการเปิดเผยที่บันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 103 ในวันเดียวกับที่ผู้นำสองคนนี้ประชุมกับท่านและสภาสูงในเคิร์ทแลนด์

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 103:1–4 ขอให้ชั้นเรียนมองหาเหตุผลสองประการที่พระเจ้าทรงยอมให้ศัตรูของพระองค์ข่มเหงวิสุทธิชนในมิสซูรี

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 3–4อะไรคือเหตุผลสองประการที่พระเจ้าทรงยอมให้ศัตรูของพระองค์ข่มเหงวิสุทธิชน (เหตุผลประการหนึ่งคือยอมให้ผู้ข่มเหง “เติมความชั่วช้าสามานย์ของพวกเขาจนเต็ม, เพื่อถ้วยของพวกเขาจะได้เต็ม”—อีกนัยหนึ่งคือ เพื่อให้การพิพากษาของพระองค์เกิดกับคนชั่วร้าย อีกเหตุผลหนึ่งคือเพื่อตีสอนวิสุทธิชนที่ไม่เชื่อฟัง

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 4เหตุใดวิสุทธิชนจึงต้องถูกตีสอน ท่านคิดว่าอะไรคือความหมายของวลี “พวกเขาไม่สดับฟังทั้งหมด” (พวกเขาไม่เชื่อฟังพระเจ้าอย่างครบถ้วน)

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 103:5–7 ขอให้ชั้นเรียนมองหาว่าพระเจ้าทรงสอนวิสุทธิชนว่าพวกเขาต้องทำอะไรจึงจะชนะศัตรูของพระองค์ (ท่านอาจต้องการอธิบายว่าคำว่า ชนะ หมายถึงแข็งแรงกว่าคู่ต่อสู้หรือมีชัยชนะ)

  • หากวิสุทธิชนยอมทำตามคำแนะนำของพระเจ้า “นับแต่โมง [นั้น] ” พวกเขาจะได้รับพรอะไร (พวกเขาจะชนะศัตรูของพระเจ้า “นับแต่โมง [นั้น]”)

  • ข้อเหล่านี้สอนอะไรเกี่ยวกับวิธีที่เราจะสามารถชนะอิทธิพลของโลก (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่พวกเขาควรกล่าวถึงหลักธรรมต่อไปนี้: เมื่อเราเริ่มทำตามคำแนะนำของพระเจ้า เราได้รับพลังให้เริ่มชนะโลก)

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 103:8–10 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและ มองหา สิ่งที่พระเจ้าทรงเตือนว่าจะเกิดขึ้นหากเราเลือกไม่เชื่อฟังพระคำของพระองค์

  • การเลือกไม่เชื่อฟังพระคำทั้งหมดของพระเจ้าส่งผลอะไรบ้าง (นักเรียนอาจระบุหลักธรรมต่างกัน รวมถึงหลักธรรมต่อไปนี้: หากเราไม่เชื่อฟังพระบัญญัติของพระเจ้า โลกจะชนะเรา หากเราไม่ถือปฏิบัติพระคำทั้งหมดของพระเจ้า เราไม่สามารถเป็นแสงสว่างให้ผู้อื่นได้)

  • ท่านคิดว่าเหตุใดคนที่ไม่เชื่อฟังหรือเชื่อฟังพระเจ้าเพียงบางส่วนจึงไม่สามารถชนะศัตรูของพระเจ้า

  • มีตัวอย่างอะไรบ้างของคนที่สามารถมีชัยชนะเหนือศัตรูของพระเจ้าโดยพยายามเชื่อฟังพระคำของพระเจ้า (ตัวอย่างอาจได้แก่คนที่ได้รับพลังจากพระเจ้าผ่านการเชื่อฟังเพื่อเอาชนะการเสพติดหรือดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณหลังจากดำเนินชีวิตตามแบบของโลกมาแล้ว)

ท่านอาจต้องการอธิบายว่าแม้เราอาจจะไม่ได้เชื่อฟังพระคำทั้งหมดของพระเจ้าอย่างครบถ้วน หากเราเพียรพยายามเชื่อฟังและกลับใจอย่างจริงจังเมื่อเราขาดตกบกพร่อง พระเจ้าจะทรงช่วยให้เราชนะศัตรูของพระองค์

เชื้อเชิญให้นักเรียนเขียนหลักธรรมหนึ่งที่พวกเขาจะเริ่มด้วย “นับแต่โมงนี้” เพื่อสดับฟังคำแนะนำของพระเจ้าได้ดีขึ้นลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขา

สรุป หลักคำสอนและพันธสัญญา 103:11–20 โดยอธิบายว่าพระเจ้าทรงสัญญากับวิสุทธิชนว่าหลังจากความยากลำบากของพวกเขา พระองค์จะทรงไถ่ไซอันโดยเดชานุภาพของพระองค์ แต่หากวิสุทธิชนทำให้มรดกของตนแปดเปื้อน พวกเขาจะถูกตัดออกจากมรดกของพวกเขา

หลักคำสอนและพันธสัญญา 103:21–40

พระเจ้าทรงเปิดเผยวิธีไถ่แผ่นดินแห่งไซอัน

ก่อนชั้นเรียนให้ทำป้ายที่อ่านว่า ต้องการอาสาสมัคร! ติดป้ายนี้ไว้ในจุดที่นักเรียนมองเห็น นอกจากนี้ ให้เตรียม คำประกาศ ต่อไปนี้ไว้บนแผ่นกระดาษด้วย

ต้องการอาสาสมัคร! เพื่อนวิสุทธิชนในเทศมณฑลแจ็คสัน มิสซูรีถูกกลุ่มคนอำมหิตใช้กำลังไล่ออกจากที่ดินของพวกเขา เชิญมาร่วมบรรเทาทุกข์ให้วิสุทธิชนเหล่านี้และช่วยคุ้มครองพวกเขาขณะพวกเขาทวงแผ่นดินแห่งไซอันคืน เดินทางออกจากเคิร์ทแลนด์ โอไฮโฮ วันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 1834

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 103:21–23 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาสิ่งที่พระเจ้าทรงแนะนำให้ผู้นำศาสนจักรทำเพื่อไถ่แผ่นดินแห่งไซอัน ขอให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ

ขอให้นักเรียนคนหนึ่งยืนใกล้ป้ายที่อ่านว่า ต้องการอาสาสมัคร! ให้คำประกาศที่ท่านเตรียมไว้ก่อนชั้นเรียน และขอให้นักเรียนคนนั้นอ่านออกเสียง จากนั้นให้ถามชั้นเรียนดังนี้

  • ท่านคิดว่าท่านจะเต็มใจไปเทศมณฑลแจ็คสันเพื่อช่วยวิสุทธิชนหรือไม่ เหตุใดจึงเต็มใจหรือเหตุใดจึงไม่เต็มใจ

อธิบายว่าชายกลุ่มที่โจเซฟ สมิธจะพาไปมิสซูรีเป็นที่รู้กันในชื่อว่าค่ายไซอัน (ท่านอาจต้องอธิบายว่า ค่าย เป็นอีกคำหนึ่งของกองทัพ [ดู Noah Webster, An American Dictionary of the English Language, facsimile of the first edition (1828; repr., 1967), “Camp”]) สมาชิกของค่ายไซอันมีจุดประสงค์หลักสองประการ หนึ่ง พวกเขาต้องนำสิ่งของไปบรรเทาทุกข์ให้วิสุทธิชนในมิสซูรี ช่วยให้คนเหล่านั้นได้กลับบ้านและซื้อที่ดินเพิ่ม สอง ตามที่ได้รับมอบอำนาจจากผู้ว่าการดาเนียล ดังคลินของรัฐมิสซูรี หลังจากกองทหารอาสาของรัฐมิสซูรีคุ้มกันวิสุทธิชนกลับไปเทศมณฑลแจ็คสันแล้ว สมาชิกของค่ายไซอันจะต้องอยู่ช่วยรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยและความสงบที่นั่น

  • หากท่านเป็นสมาชิกของศาสนจักรช่วงเวลานี้ ท่านอาจจะมีข้อกังวลอะไรเกี่ยวกับการอาสาเข้าสมทบกับค่ายไซอัน

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 103:20 ในใจ

  • สัญญาในข้อนี้จะส่งผลต่อการตัดสินใจเป็นอาสาสมัครของท่านอย่างไร

อธิบายว่าการสมทบกับค่ายไซอันเรียกร้องให้จากครอบครัวและงานในหน้าที่รับผิดชอบเพื่อเดินทัพราว 900 ไมล์ (1,450 กิโลเมตร) ฝ่าสภาพตรากตรำลำบากเข้าไปในสภาพแวดล้อมที่อันตรายและไม่เป็นมิตร เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 103:27–28 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาสิ่งที่พระเจ้าตรัสกับคนที่จะสมทบกับค่ายไซอัน ขอให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ

  • ท่านคิดว่าวลี “พลีชีวิตของตนเพื่อเห็นแก่เรา” หมายความว่าอย่างไร

  • ตามที่กล่าวไว้ในข้อเหล่านี้ พระเจ้าทรงเรียกคนที่เต็มใจพลีชีวิตของเขาเพื่อเห็นแก่พระเจ้าว่าอะไร (หลังจากนักเรียนตอบแล้ว ให้เขียนบนกระดานดังนี้: สานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์เต็มใจพลีชีวิตของพวกเขาเพื่อเห็นแก่พระองค์)

ชี้ให้เห็นว่าสำหรับค่ายไซอัน โอกาสพลีชีวิตมีแน่นอน แม้เราจะไม่ประสบภยันตรายแบบเดียวกัน แต่ความจริงนี้ยังคงประยุกต์ใช้กับเราได้ เชื่อเชิญให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานเจมส์ อี. เฟาสท์แห่งฝ่ายประธานสูงสุด ขอให้ชั้นเรียนฟังวิธีหนึ่งที่เราทุกคนสามารถพลีชีวิตเพื่อเห็นแก่พระเจ้า

ภาพ
ประธานเจมส์ อี. เฟาสท์

“สำหรับพวกเราส่วนใหญ่ สิ่งที่เรียกร้องจากเราไม่ใช่ ตาย เพื่อศาสนจักรแต่ มีชีวิต เพื่อศาสนจักร สำหรับหลายคน การดำเนินชีวิตเหมือนพระคริสต์ทุกวันอาจจะยากยิ่งกว่าการพลีชีวิตเสียอีก” (“การเป็นสานุศิษย์,” เลียโฮนา, พ.ย. 2006, 26)

  • ท่านคิดว่าเหตุใดการมีชีวิตเพื่อพระเจ้าจึงยากยิ่งกว่าการตายเพื่อพระองค์

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 103:30–34 ในใจโดยดูว่าพระเจ้าทรงต้องการอาสาสมัครสำหรับค่ายไซอันกี่คน

  • พระเจ้าทรงต้องการอาสาสมัครกี่คน (500 คน) จำนวนต่ำสุดที่พระเจ้าทรงต้องการคือเท่าใด (100 คน)

อธิบายว่าเมื่อสิ้นสุดการประชุมสภาสูงซึ่งผู้นำศาสนจักรสนทนาสถานการณ์ของวิสุทธิชนมิสซูรี โจเซฟ สมิธกล่าวว่าท่านจะเดินทางไปไซอันและช่วยไถ่ไซอัน ชายประมาณ 30 ถึง 40 คน ที่นั่นอาสาด้วย จากนั้นพระเจ้าทรงมอบหมายให้ชาย 8 คนไปทั่วที่ประชุมของศาสนจักรเพื่อเกณฑ์อาสาสมัครไปค่ายไซอันและขอบริจาคเสบียงและเงินให้วิสุทธิชนในมิสซูรี (ดู คพ. 103:37–40) มีอาสาสมัครประมาณ 200 คนไปกับค่ายไซอัน รวมทั้งสตรีและเด็กบางคนด้วย

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 103:35–36 ขอให้ชั้นเรียนระบุสิ่งที่วิสุทธิชนต้องทำเพื่อประสบผลสำเร็จในการพยายามไถ่ไซอัน

  • จากสัญญาของพระเจ้าในข้อเหล่านี้ เราสามารถเรียนรู้หลักธรรมอะไรเกี่ยวกับวิธีที่เราจะได้ชัยชนะและรัศมีภาพทั้งปวง (นักเรียนควรระบุหลักธรรมต่อไปนี้: ชัยชนะและรัศมีภาพทั้งปวงเกิดกับเราโดยผ่านความขยันหมั่นเพียร ความซื่อสัตย์ และคำสวดอ้อนวอนจากศรัทธาของเรา)

เป็นพยานว่าเราจะมีชัยชนะเหนือศัตรูของพระเจ้าขณะที่เราเพียรพยายามและเชื่อฟังพระคำทั้งหมดของพระเจ้าอย่างซื่อสัตย์ กระตุ้นให้นักเรียนประยุกต์ใช้ “นับแต่โมงนี้” ที่พวกเขาเขียนไว้ในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขา

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

หลักคำสอนและพันธสัญญา 103 ดาเนียล ดังคลินผู้ว่าการรัฐมิสซูรี

ขณะที่วิสุทธิชนอดทนต่อความไม่เป็นมิตรจากการต่อต้านมอรมอนในมิสซูรีปี 1833 และ 1834 ผู้นำศาสนจักรขอความช่วยเหลือหลายครั้งจากหัวหน้าฝ่ายปกครองภาครัฐและสหพันธรัฐ รวมทั้งดาเนียล ดังคลินผู้ว่าการรัฐมิสซูรีด้วย ผู้ว่าการดังคลินให้ความช่วยเหลือเล็กน้อยตามคำร้องทุกข์ของวิสุทธิชน ในเดือนตุลาคม ปี 1833 เขาแนะนำผู้นำศาสนจักรให้ขอการชดใช้และความคุ้มครองผ่านศาลในเทศมณฑลแจ็คสัน เขาสัญญาว่าหากความพยายามเหล่านี้ล้มเหลว เขาจะหาวิธีอื่นบังคับใช้กฎหมาย คำแนะนำของผู้ว่าการดังคลินพิสูจน์แล้วว่าไม่เกิดผลและไม่ได้ผลจริงเพราะเจ้าหน้าที่ศาลหลายคนในเทศมณฑลแจ็คสันอยู่ในกลุ่มคนที่พยายามบีบให้ชาวมอรมอนออกไป (ดู ประวัติศาสนาจักรในความสมบูรณ์แห่งเวลา คู่มือนักเรียน, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 [คู่มือระบบการศึกษาของศาสนจักร, 2003] 136–137)

ปลายฤดูใบไม้ร่วง ปี 1833 วิสุทธิชนถูกบังคับให้ออกจากเทศมณฑลแจ็คสัน พวกเขาส่วนใหญ่พบแหล่งพักชั่วคราวในเทศมณฑลเคลย์ที่อยู่ติดกัน ส่วนที่เหลือพบที่พักในเทศมณฑลอื่นที่อยู่ใกล้เคียง ฤดูใบไม้ผลิต่อมา เมื่อตั้งค่ายไซอันและเริ่มเดินทัพไปมิสซูรี ผู้นำศาสนจักรยังคงขอร้องเรียนให้ผู้ว่าการดังคลินรับรองว่าเขาจะให้การสนับสนุนช่วยเหลือวิสุทธิชนให้ได้บ้านและทรัพย์สินคืนมาและอยู่อย่างสงบในเทศมณฑลแจ็คสัน ผู้ว่าการยอมรับว่าวิสุทธิชนถูกใส่ความ และเขาทราบดีว่าจะต้องให้รัฐส่งกองกำลังติดอาวุธมาพาชาวมอรมอนกลับไปที่ดินของพวกเขาและคุ้มครองพวกเขาขณะศาลตัดสินประเด็นทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง (ดู ประวัติศาสนาจักรในความสมบูรณ์แห่งเวลา, 137–139)

อย่างไรก็ดี ในเดือนมิถุนายน ปี 1834 ผู้ว่าการดังคลินเปลี่ยนจุดยืนของเขา เขาอ้างว่าการเรียกทหารอาสามาช่วยอาจจะทำให้รัฐกระโจนเข้าสู่สงคราม แทนที่จะให้การสนับสนุน เขากลับแนะนำวิสุทธิชนว่าเพื่อหลีกเลี่ยงการนองเลือดพวกเขาควรสละสิทธิ์ ขายที่ดิน และไปตั้งรกรากที่อื่น เขาแนะนำด้วยว่าให้อุทธรณ์ต่อศาลอีกครั้ง ผู้นำศาสนจักรไม่ยอมรับข้อเสนอเหล่านี้ และความหวังของพวกเขาที่ว่าวิสุทธิชนจะได้รับอนุญาตให้กลับบ้านอย่างสงบสลายไปสิ้น (ดู ประวัติศาสนาจักรในความสมบูรณ์แห่งเวลา, 148–149)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 103:1, 13 การไถ่ไซอัน

สุดท้ายแล้วการไถ่ไซอันไม่เพียงเกี่ยวกับการได้ถือครองที่ดินเหมือนเดิมเท่านั้น ไซอันเป็นทั้งที่ตั้งทางกายภาพและสังคมอันประกอบด้วยคนประเภทหนึ่ง ก่อนทวงแผ่นดินแห่งไซอันคืนและสร้างนครแห่งไซอัน ผู้คนของพระเจ้าต้องได้รับการชำระให้บริสุทธิ์

เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายว่า

ภาพ
เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สัน

“ไซอันเป็นไซอันเพราะอุปนิสัย คุณลักษณะ และความซื่อสัตย์ของพลเมือง พึงระลึกว่า ‘พระเจ้าทรงเรียกผู้คนของพระองค์ว่าไซอัน, เพราะพวกเขามีจิตใจเดียวและความคิดเดียว, และดำรงอยู่ในความชอบธรรม; และไม่มีคนจนในบรรดาพวกเขา’ (โมเสส 7:18) หากเราจะสถาปนาไซอันในบ้าน สาขา วอร์ด และสเตค เราต้องลุกขึ้นมารับมาตรฐานนี้ ซึ่งจำเป็นต่อการ (1) เป็นเอกภาพในใจเดียวและความคิดเดียว (2) เป็นคนบริสุทธิ์ ทั้งส่วนตัวและส่วนรวม และ (3) ดูแลคนจนและคนขัดสนอย่างมีประสิทธิผลจนขจัดความยากไร้ออกไปจากพวกเรา เราจะรอจนกว่าไซอันมาแล้วค่อยทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นไม่ได้—ไซอันจะมาก็ต่อเมื่อทั้งหมดนี้เกิดขึ้น” (“มาสู่ไซอัน,” เลียโฮนา, พ.ย. 2008, 47)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 103:15–18 “การไถ่ไซอันจำเป็นว่าต้องมาโดยอำนาจ”

จุดประสงค์ของค่ายไซอันไม่ใช่เพื่อให้วิสุทธิชนได้ถือครองที่ดินของตนในเทศมณฑลแจ็คสันอีกครั้งโดยอำนาจทหารเท่านั้น ถึงแม้สมาชิกบางคนของค่ายจะเชื่อว่านั่นคือจุดประสงค์ก็ตาม ค่ายเตรียมผู้ชายให้พร้อมต่อสู้หากชีวิตพวกเขาถูกคุกคาม แต่พระเจ้าไม่จำเป็นต้องพึ่งอำนาจของมนุษย์ให้ไถ่ไซอัน

ประธานโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธเขียนถึงอำนาจที่จะทรงใช้ไถ่ไซอันดังนี้

ภาพ
ประธานโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ

“การไถ่ไซอันจำเป็นว่าต้องมาโดยอำนาจ ไม่ใช่อำนาจของอาวุธและการหลั่งเลือด แต่อำนาจของพระเจ้า” (Church History and Modern Revelation, 2 vols. [1953], 1:323)

พระเจ้าทรงอ้างถึงบทบาทอำนาจของพระองค์ในการไถ่ไซอันเมื่อพระองค์ตรัสว่าพระองค์จะทรง “นำ [วิสุทธิชน] ให้พ้นจากความเป็นทาสโดยอำนาจ, และด้วยแขนที่ยื่นออกไป” (คพ. 103:17) “แขนที่ยื่นออกไป” เป็นคำสัญลักษณ์ที่หมายถึงพระผู้เป็นเจ้าทรงใช้อำนาจของพระองค์ (สัญลักษณ์คือแขนของพระองค์) เพื่อประโยชน์ของผู้คนของพระองค์ วิสุทธิชนจะได้ชัยชนะในการไถ่ไซอันโดยผ่านอำนาจของพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น และพวกเขาจะได้อำนาจนี้โดยเชื่อฟังพระคำทั้งหมดของพระองค์

หลักคำสอนและพันธสัญญา 103:27 “ผู้ใดที่พลีชีวิตของตนเพื่อเห็นแก่เราจะพบชีวิตอีก”

เอ็ลเดอร์แฟรงคลิน ดี. ริชาร์ดส์แห่งสาวกเจ็ดสิบอธิบายสิ่งที่จะเกิดขึ้นหากเราพลีชีวิตเพื่อพระผู้เป็นเจ้า

ภาพ
ประธานแฟรงคลิน ดี. ริชาร์ดส์

“เห็นชัดว่าการเชื่อฟังกฎนิรันดร์ของการเสียสละกำหนดพรยิ่งใหญ่มากมายไว้

“พระผู้ช่วยให้รอดตรัสว่า ‘อย่าให้มนุษย์คนใดกลัวที่จะพลีชีวิตของตนเพื่อเห็นแก่เรา; เพราะผู้ใดที่พลีชีวิตของตนเพื่อเห็นแก่เราจะพบชีวิตอีก.’ (คพ. 103:27)

“ด้วยเหตุนี้การเสียสละชีวิตอันเป็นการเสียสละสูงสุดจะให้รางวัลบุคคลนั้นคือเขาจะพบชีวิตเขาอีกครั้ง ‘แม้นิรันดรแห่งชีวิต’ (คพ. 98:13)” (ใน Conference Report, Oct. 1967, 75.)