เซมินารี
บทที่ 147: ออกจากนอวู


บทที่ 147

ออกจากนอวู

คำนำ

หลังจากศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธสิ้นชีวิตเป็นมรณสักขี โควรัมอัครสาวกสิบสองภายใต้การกำกับดูแลของบริคัม ยังก์ประธานโควรัมนำศาสนจักรและดำเนินงานของพระเจ้า พวกท่านกระตุ้นให้วิสุทธิชนสร้างพระวิหารนอวูให้เสร็จ เพราะการข่มเหงยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง พวกท่านจึงแนะนำวิสุทธิชนให้เตรียมย้ายไปตะวันตก

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

วิสุทธิชนทำงานอย่างขยันหมั่นเพียรเพื่อรับพรของพระวิหาร

ขอให้นักเรียนนึกถึงเวลาที่พวกเขาทำงานยากบางอย่างที่พวกเขารู้ว่าผลลัพธ์จะคุ้มกับความพยายาม ท่านอาจจะแบ่งปันประสบการณ์ส่วนตัวกับชั้นเรียน จากนั้นให้นักเรียนสองสามคนแบ่งปันประสบการณ์ของพวกเขา

อธิบายว่าหลังจากมรณกรรมของศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ วิสุทธิชนมีงานยากต้องทำคือสร้างพระวิหารนอวูให้เสร็จ

  • ท่านคิดว่าเหตุใดจึงยากที่วิสุทธิชนจะทำตามพระบัญชาผ่านโจเซฟ สมิธ

ให้ดูภาพ พระวิหารนอวู อิลลินอยส์ ยุคปัจจุบัน (ดู หนังสือภาพพระกิตติคุณ [2009], ภาพที่ 118; ดู LDS.orgด้วย) อธิบายว่าวิสุทธิชนต้องเสียสละมากเพื่อสร้างพระวิหารนอวู เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงย่อหน้าต่อไปนี้ ขอให้ชั้นเรียนฟังการเสียสละของวิสุทธิชนเพื่อสร้างพระวิหารแห่งแรกในนอวู

ภาพ
พระวิหารนอวู อิลลินอยส์

ในการประชุมใหญ่สามัญเดือนตุลาคม ค.ศ. 1844 ประธานบริคัม ยังก์ขอให้วิสุทธิชนจ่ายส่วนสิบและเงินบริจาคเพื่อสร้างพระวิหาร พี่น้องสตรีสมาคมสงเคราะห์แต่ละคนขานรับคำขอดังกล่าวโดยบริจาคสัปดาห์ละหนึ่งเพนนีเป็นค่าวัสดุก่อสร้าง ชายหลายคนสละเวลาหนึ่งในสิบโดยทำงานสร้างพระวิหารหนึ่งวันจากทุกๆ สิบวัน อีกหลายคนสละรายได้ของพวกเขามากกว่าหนึ่งส่วนสิบ โจเซฟ โตรอนโตมอบทองให้บริคัม ยังก์ 2,500 ดอลลาร์และกล่าวว่าเขาต้องการมอบทั้งหมดที่มีเพื่อสร้างอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า (ดู ประวัติศาสนาจักรในความสมบูรณ์แห่งเวลา คู่มือครู, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 [คู่มือระบบการศึกษาของศาสนจักร, 2003], 321; มรดกของเรา [1996], 68)

  • ท่านคิดว่าเหตุใดวิสุทธิชนจึงเต็มใจเสียสละมากเพื่อสร้างพระวิหาร

หลังจากนักเรียนสนทนาคำถามนี้ ให้อธิบายว่าการข่มเหงทำให้พระวิหารนอวูสร้างเสร็จได้ยาก ศัตรูจำนวนมากของศาสนจักรคิดว่าทันทีที่โจเซฟ สมิธถูกสังหาร ศาสนจักรจะล่มสลาย อย่างไรก็ตาม เมื่อศาสนจักรเติบโตและเจริญรุ่งเรืองอย่างต่อเนื่อง ศัตรูของศาสนจักรพยายามมากขึ้นไปอีกเพื่อขับไล่วิสุทธิชนออกจากอิลลินอยส์

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงย่อหน้าต่อไปนี้ ขอให้ชั้นเรียนฟังว่าศัตรูของศาสนจักรทำอะไรเพื่อพยายามทำลายศาสนจักร

ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1844 พันเอกลีไว วิลเลียมส์ หนึ่งในคนที่ถูกชี้ตัวภายหลังว่าเป็นฆาตกรฆ่าโจเซฟกับไฮรัม สมิธ ได้จัดการรณรงค์ครั้งใหญ่ทางทหารเพื่อบีบบังคับให้วิสุทธิชนยุคสุดท้ายออกจากอิลลินอยส์ โดยประกาศว่าการรณรงค์ครั้งนี้เป็น “การล่าสุนัขป่าครั้งใหญ่ในเทศมณฑลแฮนค็อค” (David E. Miller and Della S. Miller, Nauvoo: The City of Joseph [1974], 186) พอทราบข่าวนี้ ผู้ว่าการโธมัส ฟอร์ดแห่งอิลลินอยส์ส่งนายพลจอห์น ฮาร์ดินของทหารประจำรัฐไปเทศมณฑลนั้นเพื่อรักษาความสงบ หนึ่งปีต่อมา ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1845 พันเอกวิลเลียมส์นำกลุ่มชายฉกรรจ์ 300 คนบุกถิ่นฐานของวิสุทธิชนยุคสุดท้ายในเขตรอบนอก เผาบ้านเรือนหลายหลังที่ไม่มีคนคุ้มกัน โรงเรือน โรงโม่ และกองธัญพืช กลางเดือนกันยายน ประธานบริคัม ยังก์ขออาสาสมัครไปช่วยชีวิตวิสุทธิชนเหล่านั้น วิสุทธิชนในนอวูเตรียมเกวียน 134 เล่มเพื่อพาครอบครัวในถิ่นฐานรอบนอกไปนอวูอย่างปลอดภัย (ดู History of the Church, 7:45–46; ประวัติศาสนาจักรในความสมบูรณ์แห่งเวลา คู่มือนักเรียน, 301; David E. Miller and Della S. Miller, Nauvoo: The City of Joseph, 185–186)

  • การโจมตีเหล่านี้จะทำให้การสร้างพระวิหารดำเนินต่อไปได้ยากอย่างไร

อธิบายว่าคนมากมายที่อาศัยอยู่ในอิลลินอยส์เกรงว่าการที่วิสุทธิชนยุคสุดท้ายอยู่ที่นั่นจะนำไปสู่สงครามกลางเมือง พวกเขาขอให้วิสุทธิชนออกจากรัฐ 24 กันยายน ปี 1845 โควรัมอัครสาวกสิบสองจัดพิมพ์จดหมายโดยสัญญาว่าศาสนจักรจะออกจากรัฐในฤดูใบไม้ผลิถัดไป

  • เหตุใดเรื่องนี้จึงเป็นการตัดสินใจที่ยาก

  • ท่านคิดว่าการตัดสินใจออกจากนอวูน่าจะส่งผลอย่างไรต่อความพยายามของวิสุทธิชนที่จะสร้างพระวิหารให้เสร็จ

หลังจากนักเรียนสนทนาคำถามนี้ ให้อธิบายว่าถึงแม้วิสุทธิชนรู้ว่าพวกเขาจะต้องออกจากอิลลินอยส์ แต่พวกเขายังคงสร้างพระวิหารต่อ

  • ท่านคิดว่าเหตุใดวิสุทธิชนจึงสร้างพระวิหารต่อทั้งที่รู้ว่าพวกเขาจะต้องออกจากรัฐ

เตือนความจำนักเรียนว่าเวลานั้นศาสนพิธีพระวิหารที่จำเป็นต่อความสูงส่งยังไม่มีให้สมาชิกทั่วไปของศาสนจักร ในการเปิดเผยของปี 1841 พระเจ้าทรงสัญญากับวิสุทธิชนว่าหากพวกเขาสร้างพระวิหารนอวู พวกเขาจะได้รับศาสนพิธีเหล่านั้น (ดู คพ. 124:27–44)

  • เรื่องราวการเสียสละและความยากลำบากของวิสุทธิชนในการสร้างพระวิหารจะสอนเราได้อย่างไร (นักเรียนอาจระบุหลักธรรมต่างกัน เช่น การได้รับศาสนพิธีพระวิหารคุ้มกับความพยายามที่ชอบธรรมและการเสียสละทั้งหมดของเรา เขียนหลักธรรมนี้และหลักธรรมอื่นที่นักเรียนระบุไว้บนกระดาน)

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานโธมัส เอส. มอนสัน ขอให้ชั้นเรียนฟังการเสียสละที่วิสุทธิชนยุคปัจจุบันบางคนทำเพื่อให้ได้รับศาสนพิธีพระวิหาร

ภาพ
ประธานโธมัส เอส. มอนสัน

“หลายปีก่อนข้าพเจ้าอ่านรื่องของสมาชิกกลุ่มหนึ่งราวหนึ่งร้อยกว่าคนที่ออกจากมาเนาส์ใจกลางป่าฝนแอมะซอนเดินทางไปพระวิหารใกล้ที่สุดสมัยนั้นซึ่งตั้งอยู่ในเซาเปาลู บราซิล—ราว 2,500 ไมล์ (4,000 กิโลเมตร) วิสุทธิชนที่ซื่อสัตย์เหล่านั้นนั่งเรือสี่วันไปตามแม่น้ำแอมะซอนและแควเล็กแควน้อย หลังจากนั่งเรือแล้วพวกเขาต้องขึ้นรถโดยสารเดินทางอีกสามวัน—ไปตามถนนขรุขระเป็นหลุมเป็นบ่อ มีอาหารน้อยมากและไม่มีที่สบายให้หลับนอน หลังจากเดินทางเจ็ดวันเจ็ดคืนพวกเขามาถึงพระวิหารในเซาเปาลูเพื่อทำศาสนพิธีที่มีผลนิรันดร์ แน่นอนว่าการเดินทางกลับของพวกเขายากลำบากเช่นกัน แต่พวกเขาได้รับศาสนพิธีและพรของพระวิหารแล้ว และถึงแม้กระเป๋าเงินจะว่างเปล่า แต่พวกเขาเปี่ยมด้วยวิญญาณของพระวิหารและความสำนึกคุณต่อพรที่ได้รับ” (“พระวิหารศักดิ์สิทธิ์—ประภาคารส่องโลก,” เลียโฮนา, พ.ค. 2011, 114)

  • วิสุทธิชนจากมาเนาส์เสียสละอะไรเพื่อรับศาสนพิธีพระวิหาร

เชิญนักเรียนสามคนออกมาหน้าชั้นและอ่านออกเสียง เรื่องราวต่อไปนี้ ขอให้ชั้นเรียนฟังความพยายามอันชอบธรรมของวิสุทธิชนนอวูเพื่อรับศาสนพิธีพระวิหาร

  1. ผู้นำศาสนจักรอุทิศห้องต่างๆ ในพระวิหารเมื่อสร้างเสร็จเพื่อให้งานศาสนพิธีเริ่มได้เร็วที่สุด ห้องใต้หลังคาของพระวิหารได้รับการอุทิศเพื่องานศาสนพิธีเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน ค.ศ. 1845 วิสุทธิชนเริ่มได้รับเอ็นดาวเม้นท์ของตนช่วงเย็นวันที่ 10 ธันวาคม ภาคเอ็นดาวเม้นท์ดำเนินต่อเนื่องจนถึง 3:00 น. ของวันที่ 11 ธันวาคม (ดู ประวัติศาสนจักรในความสมบูรณ์แห่งเวลา คู่มือนักเรียน, 321)

  2. ราวปลายปี 1845 สมาชิก 1,000 กว่าคนได้รับศาสนพิธีพระวิหาร ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1846 ประธานบริคัม ยังก์บันทึกว่า “เหล่าวิสุทธิชนได้แสดงให้เห็นว่าพวกเขามุ่งหวังจะรับศาสนพิธี [ของพระวิหาร] และเรามุ่งหวังจะประกอบศาสนพิธีให้พวกเขาเช่นกันถึงขนาดว่าข้าพเจ้าทุ่มสุดตัวเพื่องานของพระเจ้าในพระวิหาร ทั้งกลางวันและกลางคืน ใช้เวลานอนโดยเฉลี่ยไม่เกินวันละสี่ชั่วโมง และกลับบ้านสัปดาห์ละครั้ง” (ใน History of the Church, 7:567) ชายหญิงจำนวนมากอุทิศถวายโดยซักอาภรณ์พระวิหารทุกคืนเพื่อให้งานเช้าวันรุ่งขึ้นดำเนินต่อไปได้โดยไม่เสียเวลา (ดู ประวัติศาสนจักรในความสมบูรณ์แห่งเวลา คู่มือนักเรียน, 321)

  3. วันที่ 3 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1846 ประธานยังก์ออกจากพระวิหารเพื่อท่านจะได้เตรียมออกจากนอวูวันถัดไป แต่ขณะเดินออกมาข้างนอก ท่านเห็นคนกลุ่มใหญ่ยังรอรับศาสนพิธีของพวกเขา เพราะสงสารเพื่อนวิสุทธิชน ท่านจึงกลับเข้าไปในพระวิหารเพื่อรับใช้พวกเขา ท่านไม่สามารถออกจากนอวูได้จนอีกสองสัปดาห์ต่อมา บันทึกพระวิหารแสดงให้เห็นว่า วิสุทธิชน 5,615 คนได้รับเอ็นดาวเม้นท์ก่อนไปตะวันตก (ดู ประวัติศาสนจักรในความสมบูรณ์แห่งเวลา คู่มือนักเรียน, 322)

  • ท่านประทับใจอะไรเกี่ยวกับการที่วิสุทธิชนพยายามรับศาสนพิธีพระวิหาร

เพื่อช่วยให้นักเรียนรู้สึกถึงความจริงและความสำคัญของหลักธรรมที่ท่านเขียนไว้บนกระดานและช่วยพวกเขาประยุกต์ใช้หลักธรรมเหล่านี้ในชีวิต ให้พวกเขาตอบคำถามต่อไปนี้ลง ในสมุดจดในชั้นเรียน หรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขา (เขียน คำถาม ไว้บนกระดาน)

เราต้องทำการเสียสละและพยายามทำอะไรบ้างเพื่อรับศาสนพิธีพระวิหาร

ท่านคิดว่าเหตุใดการได้รับศาสนพิธีของพระวิหารจึงคุ้มกับการทำงานหนักและการเสียสละ

ท่านต้องทำอะไรจึงจะได้รับศาสนพิธีพระวิหาร (ท่านต้องหยุดทำหรือเริ่มทำอะไร)

หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว ขอให้อาสาสมัครสองสามคนแบ่งปันคำตอบของคำถามข้อสอง

วิสุทธิชนออกจากนอวู

อธิบายว่าหลังจากได้รับศาสนพิธีพระวิหาร วิสุทธิชนเริ่มออกจากนอวูในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1846 ตลอดหลายเดือนต่อจากนั้น พวกเขายังคงออกจากนอวู และกลุ่มต่างๆ ตั้งถิ่นฐานชั่วคราวตรงข้ามรัฐไอโอวา ภายในสิ้นเดือนเมษายน วิสุทธิชนส่วนใหญ่ออกจากนอวู แต่ใช่ว่าสมาชิกศาสนจักรทุกคนจะออกไปได้ จำนวนไม่มากยังอยู่ในนอวูช่วงฤดูร้อนของปี 1846 เพราะพวกเขาป่วยหรืออ่อนแอเกินกว่าจะเดินทางไกล อีกไม่กี่คนเลือกอยู่ต่อ

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงย่อหน้าต่อไปนี้ ซึ่งเล่าเหตุการณ์ที่เกิดกับหลายคนที่ยังอยู่ต่อ

ในเดือนกันยายน ปี 1846 ฝูงชนประมาณ 800 คนพร้อมปืนใหญ่หกลำเตรียมโจมตีนอวู วิสุทธิชนที่เหลือและพลเมืองที่มาใหม่บางคนเตรียมปกป้องเมือง นับเฉพาะนักสู้ได้ราว 150 คน หลังจากต่อสู้ได้ไม่กี่วัน วิสุทธิชนถูกบังคับให้ยอมแพ้และต้องออกจากเมืองทันที จากนั้นกลุ่มคนร้ายเข้าเมือง ปล้นบ้าน และทำลายพระวิหาร วิสุทธิชนบางคนที่ไม่สามารถหนีได้เร็วพอถูกทุบตีหรือไม่ก็ถูกโยนลงแม่น้ำมิสซิสซิปปี หลังจากวิสุทธิชนที่เหลือเหล่านี้ถูกบังคับให้ออกจากนอวู พวกเขาตั้งค่ายลี้ภัยเรียงรายริมแม่น้ำฝั่งไอโอวา พวกเขามีอาหาร เสบียง หรือเรี่ยวแรงไม่พอประทังชีวิต (ดู ประวัติศาสนาจักรในความสมบูรณ์แห่งเวลา คู่มือนักเรียน, 339)

อธิบายว่าผู้นำศาสนจักรส่งกลุ่มช่วยชีวิตข้ามไอโอวากลับไปช่วยวิสุทธิชนที่กำลังทนทุกข์

  • ท่านคิดว่าท่านจะรู้สึกอย่างไรหากท่านได้รับเรียกให้กลับไปนอวู

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงข่าวสารที่บริคัม ยังก์ส่งให้คนที่รับผิดชอบเรื่องการเกณฑ์คนช่วยชีวิต

ภาพ
ประธานบริคัม ยังก์

“จงให้ไฟแห่งพันธสัญญาซึ่งท่านทำไว้ในพระนิเวศน์ของพระเจ้าเผาไหม้ในใจท่านเหมือนเปลวเพลิงที่ไม่รู้ดับจนท่าน … ค้นหาทุกคน … ที่ [ไปได้] และแบ่งไฟให้จิตวิญญาณเขา จนเขาจะลุกขึ้น … ไปทันทีและพากลุ่มคนจนจากนอวูกลับมา …

“… นี่คือวันแห่งการลงมือทำ” (Journal History of The Church of Jesus Christ of Latter-day Saints, Sept. 28, 1846, 5–6, Church History Library, Salt Lake City)

  • คำกล่าวของบริคัม ยังก์สอนอะไรเราเกี่ยวกับพันธสัญญาที่เราทำ (นักเรียนพึงเข้าใจว่าการทำพันธสัญญาเท่านั้นไม่พอ—เราต้องรักษาพันธสัญญาด้วย เขียนความจริงต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: พระเจ้าทรงเรียกร้องให้เราดำเนินชีวิตตามพันธสัญญาที่เราทำ)

เขียน คำถามต่อไปนี้ ไว้บนกระดาน

ท่านเสียสละอะไรบ้างเพื่อรักษาพันธสัญญา

ท่านประสบพรอะไรบ้างเพราะท่านดำเนินชีวิตตามพันธสัญญาที่ท่านทำไว้

แบ่งนักเรียนออกเป็นคู่ๆ เชื้อเชิญให้พวกเขาเลือกหนึ่งคำถามและสนทนาคำตอบกับคู่ ท่านอาจต้องการเชิญนักเรียนสองสามคนแบ่งปันคำตอบของพวกเขากับชั้นเรียน

สรุปโดยขอให้นักเรียนพิจารณาสิ่งที่พวกเขาต้องทำเพื่อดำเนินชีวิตตามพันธสัญญาที่ทำไว้ เป็นพยานถึงพรของการรักษาพันธสัญญาของเรา